« ตอบกลับ #1 เมื่อ: เมษายน 02, 2014, 06:49:25 pm »
0
วัดเหมอัศวารามวัดม้าขาว 白马寺วัดไป๋หม่าซื่อ (วัดม้าขาว) เมืองลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน ประเทศจีน
แม้จะยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าศาสนาพุทธเผยแพร่เข้ามาในจีนเป็นครั้งแรกเมื่อไหร่ แต่ถึงปัจจุบันก็ถือกันว่าน่าจะเข้ามาในประเทศจีนเป็นครั้งแรกใน สมัยฮั่นตะวันออก (东汉; ค.ศ.25-220) ราวครึ่งแรกของศตวรรษที่ 1 โดยการเผยแพร่เข้ามานั้นเป็นการเผยแพร่แบบแทรกซึมเข้ามาอย่างช้าๆ
หลักฐานชิ้นสำคัญของพุทธศาสนาในประเทศจีนก็คืออารามที่ชื่อ วัดม้าขาว (白马寺) นี่เอง .....
ตำนานความเป็นมาของ ไป๋หม่าซื่อ (白马寺) หรือ วัดม้าขาว นั้นเกิดขึ้นเมื่อ คืนหนึ่งเมื่อเกือบสองพันปีก่อน ฮ่องเต้ฮั่นหมิงตี้ (汉明帝; ครองราชย์ในช่วง ค.ศ.58-75) แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ทรงพระสุบิน(ฝัน)ไปว่ามีบุรุษทองคำเหาะไปทางทิศตะวันตก เมื่อพระองค์ตื่นขึ้นจึงสอบถามกับขุนนางว่า ฝันเช่นนี้มีความหมายว่าอย่างไร ขุนนางผู้หนึ่งจึงตอบไปว่าทางทิศตะวันตกมียอดคนถือกำเนิดขึ้น เมื่อได้ยินเช่นนั้นพระองค์จึงรับสั่งให้ขุนนางสิบกว่าคนออกเดินทางไปยังทิศตะวันตกเพื่อเสาะหายอดคนผู้นั้น
เมื่อขุนนางเดินทางไปถึงดินแดนที่ปัจจุบันคือ อัฟกานิสถาน จึงได้พบกับพระสงฆ์สองรูป คือ พระกาศยปมาตังคะ (เส้อม๋อเถิง:摄摩腾) และ พระธรรมรักษ์ (จู๋ฝ่าหลาน:竺法兰) โดยพระสงฆ์สองรูปนี้นำพระคัมภีร์และพระพุทธรูป มาด้วยจำนวนหนึ่ง ดังนั้น บรรดาขุนนางราชวงศ์จึงนิมนต์พระสงฆ์สองรูป และใช้ 'ม้าขาว' บรรทุกพระคัมภีร์และพระพุทธรูป มายังนครหลวงในขณะนั้น ซึ่งก็คือ เมืองลั่วหยาง
ด้านฮ่องเต้ฮั่นหมิงตี้ เมื่อพบทราบเข้าก็พอพระทัยอย่างมาก และรับสั่งให้มีการสร้างวัดขึ้นที่ด้านนอกของประตูเมืองหย่งเหมิน (雍门) นครลั่วหยาง โดยให้ชื่อวัดแห่งนี้ว่า "วัดม้าขาว"
วัดม้าขาวถือว่าเป็นปฐมสังฆาราม หรือ วัดพุทธแห่งแรก ในประเทศจีน โดยกว่า 2,000 ปีที่ผ่านมา วัดแห่งนี้ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย ผ่านยุคสมัยรุ่งเรือง และร่วงโรยของพุทธศาสนาในประเทศจีนมาก็มาก กระทั่งปัจจุบัน อารามที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนั้นต่างก่อสร้างขึ้นในสมัยหมิงและชิงทั้งสิ้น โดย วิหารพระใหญ่ (大佛殿) เป็นสิ่งก่อสร้างหลักของวัด
อีก 300 ปีต่อมา ใน พ.ศ. 942 เป็นยุคราชวงศ์จิ้น มีหลวงจีนรูปหนึ่งชื่อ “ฟาเหียน” ได้เดินทางโดยทางเรือไปอินเดียเพื่อศึกษาพุทธศาสนาเพิ่มเติม ในยุคนั้น ศาสนาพุทธในประเทศอินเดียกำลังรุ่งเรืองมาก โดยใช้เวลาอยู่ 15 ปี จึงได้กลับมาพร้อมด้วยพระไตรปิฎก
พ.ศ. 1070 เป็นยุคเริ่มต้นของราชวงศ์เหลียง มีพระภิกษุจากอินเดียเดินทางมาประเทศจีน พระภิกษุรูปนี้ชาวจีนเรียกท่านว่า “ตั๊กม้อโจ๊วซือ” สำหรับผู้ที่ชอบดูหนังกำลังภายใน ก็คงคุ้นเคยกับ “ปรมาจารย์ตั๊กม้อ” เป็นอย่างดี ตั๊กม้อ คำนี้ ชาวบ้านบางพื้นที่แปลตรงตัวว่า ผมพิษ หมายถึง ผมดกมาก เพราะท่านเป็นแขกนั่นเอง แต่ในทางวิชาการ ตั๊กม้อมาจากชื่ออินเดียของท่านว่า ตมะ ปรมาจารย์ตั๊กม้อนี้ จึงมีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์จีน โดยท่านได้ชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดนิกายเซนในประเทศจีน เพราะเป็นผู้นำการวิปัสสนาและการบำเพ็ญฌานสมาบัติมาเผยแพร่ และเป็นผู้วางระเบียบแบบแผนประเพณีนิยมทางพุทธศาสนาในประเทศจีน ที่ยังคงสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้
รูปปั้นพระถังซำจั๋ง ณ เจดีย์ห่านป่าใหญ่ (ต้าเอี้ยนถ่า) วัดต้าฉือเอิน เมืองซีอาน จวบจน พ.ศ. 1172 เป็นสมัยพระเจ้าถังไท้จง (唐太宗) แห่งราชวงศ์ถัง หลวงจีนเสวียนจั้ง(玄奘) (หรือ พระถังซำจั๋ง) ได้เดินทางไปจาริกแสวงบุญในอินเดีย โดยท่านเลือกเดินทางเท้าผ่านทะเลทรายโกบี ผ่านแคว้นซินเกียง ข้ามภูเขาหิมาลัย ผ่านประเทศอาฟกานิสถาน ที่สุดก็เข้าถึงประเทศอินเดีย
ซึ่งท่านได้เดินทางไปจนทั่วอินเดีย ใช้เวลาทั้งหมดศึกษาพระพุทธศาสนาและคัดลอกพระไตรปิฎก แล้วจึงเดินทางกลับประเทศจีน โดยผ่านประเทศเนปาล เมืองซินเกียงและทะเลทรายโกบี รวมเวลาทั้งหมด 16 ปี
“พระถังซำจั๋ง” (唐 三 藏)
เมื่อกลับมาอยู่ที่ประเทศจีน ท่านก็ได้เริ่มแปลพระคัมภีร์สูตรต่างๆ จากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาจีนอยู่หลายปี จนเสร็จสมบูรณ์ได้เป็นหนังสือรวม 1,335 หมวดหมู่ ซึ่งในปัจจุบัน พระไตรปิฎกฉบับแปลโดย พระเสวียนจั้ง ดังกล่าวก็ยังคงใช้กันอย่างแพร่หลายในวงพุทธศาสนาของประเทศจีน
นอกจากพระไตรปิฎกฉบับแปลเป็นภาษาจีน ที่พระเสวียนจั้งได้ทิ้งไว้เป็นมรดกอันล้ำค่าสำหรับชาวจีนและชาวเอเชียตะวันออกแล้ว ท่านยังได้ทิ้ง 'บันทึกดินแดนตะวันตกในสมัยถัง (大唐西域记)' บันทึกประวัติศาสตร์อันมีค่ามหาศาลไว้เป็นมรดกทาง วัฒนธรรม สำหรับชาวโลกรุ่นหลังอีกด้วย
ซึ่งในยุคของราชวงศ์ถังเป็นช่วงที่พระพุทธศาสนาในประเทศจีนเจริญรุ่งเรืองที่สุด นาม “พระถังซำจั๋ง” ของหลวงจีนเสวียนจั้ง ก็เป็นฉายาที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ราชวงศ์ถังนั่นเอง
http://www.palungdham.com/t799.html
http://dday.exteen.com/20080212/entry