« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กันยายน 17, 2014, 08:43:46 pm »
0

เรื่องของพระมหาอุปคุตเถระอรหันต์ผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์ และพญามารวัสวดีราชาธิราชเป็นผู้ไม่เลื่อมใสความดี คอยรังควานการทำบุญกุศลของมนุษย์ ได้มีการเวียนว่ายตายเกิดมาหลายภพหลายชาติ กาลครั้งนั้น พระมหาอุปคุต ถือกำเนิดเป็นชายที่ศรัทธาต่อบวรพุทธศาสนา ถึงกับได้บรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่ยังเป็นเด็ก พอเติบใหญ่ถึงบั้นปลายในชีวิต จึงได้เป็นสมภารเจ้าอาวาสปกครองดูแลภิกษุสามเณร และลูกวัด มากมายหลายรูป หลายคน พญามารวัสวดีก็เกิดเป็นชายเหมือนกัน พอโตสมควรบรรพชาเป็นสามเณร ณ พระอารามที่พระมหาอุปคุตได้เป็นเจ้าอาวาสอยู่ ท่านสมภารได้ปกครองดูแลวัดวาอารามด้วยความเรียบร้อยพยายามอบรมสั่งสอน ให้ทุกคนหมั่นทำความดี และมอบหมาย หน้าที่การงานให้แต่ละคนที่อยู่ในวัดดูแลรับผิดชอบอย่างทั่วถึงกัน สำหรับสามเณรวัสวดีมีหน้าที่ดูแลทำความสะอาดบริเวณรอบๆองค์พระเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุ ทุกอย่างดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย
อยู่มาวันหนึ่ง ท่านสมภารอุปคุตได้เดินออกไปตรวจรอบๆบริเวณวัด เมื่อมาถึงองค์พระเจดีย์ก็พบว่ายังมีมูลสุนัขถ่ายทิ้งไว้อยู่กองหนึ่ง จึงสั่งให้ศิษย์ตามสามเณรวัสวดีมาสอบถาม พอสามเณรวัสวดีมาถึง สมภารอุปคุตได้สอบถามว่า ฉันสั่งให้คอยดูแลความสะอาดเรียบร้อย ทำไมถึงละเลยไม่ปฏิบัติตาม สามเณรน้อยตอบว่า ผมได้ดูแลเก็บกวาดเรียบร้อย แลสุนัขได้มาถ่ายทิ้งไว้ในภายหลัง พอสมภารฟังเณรน้อยเถียงแก้ตัวจึงใช้ด้ามไม้กวาดตีศีรษะ และกล่าวขึ้นว่า เจ้ามันก็ดีแต่แก้ตัว พร้อมกับสั่งให้สามเณรไปเก็บกวาดให้เรียบร้อย สามเณรวัสวดีน้อยใจ และช้ำใจที่อุตส่าห์ทำอย่างดี แล้วยังถูกด่ากับถูกทำโทษอีก ขณะที่ทำความสะอาดไป ก็ร่ำไห้ไปด้วยความคับแค้นใจ จึงพูดเปรยๆออกมาว่า ดีละถ้าท่านสมภารถือว่าตนมีอำนาจข่มเหงได้ก็ข่มเหงไป ถ้าหากข้าพเจ้าเกิดในชาติต่อๆ ไปก็ขอให้เป็นผู้มีฤทธิ์และมีอำนาจจนใครๆสู้ไม่ได้ก็แล้วกัน พอสามเณรกล่าวจบก็ก้มกราบลงที่ฐานพระเจดีย์โดยประกาศว่า เพื่อขอให้คำอธิษฐานเป็นความจริง ข้าพเจ้าจะสร้างบอกไฟขึ้นไว้จุดถวายเป็นพุทธบูชา
หลังจากนั้นสามเณรก็เริ่ม รวบรวมจัดหาถ่านกำมะถัน ดินประสิว กระบอกไม้ไผ่ รวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ ฝ่ายศิษย์อื่นๆ ที่ได้ยินสามเณรอธิฐานคำอาฆาต โดยจะจัดทำบอกไฟจุดเป็นพุทธบูชา จึงนำความเรื่องนี้ไปแจ้งให้สมภารทราบ พอสมภารทราบความจากคำบอกเล่าก็เฝ้าแต่ครุ่นคิดว่าตนจะแก้ไขอย่างไร ในที่สุดก็คิดได้ว่า บอกไฟที่ขึ้นสู่ฟ้าได้นั้นจำเป็นต้องใช้หวายคาดผูกให้แน่น ท่านจึงสั่งให้ศิษย์ออกกว้านเก็บหวายที่มีอยู่ในละแวกนั้นจนหมดสิ้น เมื่อสามเณรออกไปหาปรากฏว่าหวายต่างๆที่มีอยู่ถูกสมภารเก็บเอาไปจนหมดทำให้ตนไม่สามารถหาหวายมามัดบอกไฟของตนได้ ถ้าขาดหวายบอกไฟก็ยิงไม่ขึ้นความตั้งใจของตนคงต้องล้มเหลว
สามเณร จำใจต้องเข้าไปสารภาพผิดของตน พร้อมกับขอหวายจากสมภารอาจารย์ของตน ท่านสมภารตกลงจะให้หวายตามที่ต้องการแต่ขอให้รอสักประเดี๋ยวหนึ่ง โดยขอให้สามเณรวัสวดีไปคอยอยู่ข้างนอก พอสามเณรผู้เป็นศิษย์เดินออกไปท่านสมภารก็จับหวายที่จะมอบให้ยกขึ้นเหนือศีรษะพร้อมกับอธิฐานว่า ดัวยสัจจะอธิฐานที่ข้าพเจ้ากล่าวนี้ขออำนาจแห่งคุณพระเกศาธาตุเจ้าจงดลบันดาลให้ข้าพเจ้ามีอำนาจและฤทธิ์เดชยิ่งกว่าสามเณรเปรียบประดุจหวายที่ผูกมัดบอกไฟนี้ฉันใดที่บอกไฟจะมีอำนาจฤทธิ์เดชขึ้นสูงเพียงใด ขอให้อยู่ใต้อำนาจของหวายที่ผูกมัดบอกไฟไว้ฉันนั้น พออธิฐานเสร็จท่านสมภารก็อาหวายมาให้สามเณร และบอกว่าถ้าต้องการเท่าไรก็เชิญเอาไปตามความต้องการ สามเณรก็นำหวายเหล่านั้นไปคาด และผูกมัดบอกไฟของตน พอเสร็จสามเณรก็ จุดบอกไฟเป็นพุทธบูชา ด้วยอำนาจฤทธิ์ของบอกไฟที่พุ่งสู้ท้องฟ้า ในชาติต่อมาจึงส่งผลให้สามเณรองค์นั้นกลับมาเกิดเป็นพญามาร ผู้กระทำตนคอยเกะกะระรานผู้กระทำบุญกุศลทั้งหลาย
ดั่งครั้งที่เจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งเบื่อหน่ายในกามสุขจึงได้เสด็จออกผนวชแสวงหาทางหลุดพ้นจากกิเลสโดยประทับอยู่ใต้ต้นไม้ศรีมหาโพธิ์ที่ริมฝั่งน้ำเนรัญชรา และตั้งพระทัยมั่นว่าหากไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้วจะไม่ลุกขึ้นแม้ว่าเนื้อและเลือดในพระสรีระจะเหือดแห้งไปจนหมดสิ้นคงเหลือแต่หนังหมุ้กระดูกก็ตามทำให้บรรดาทวยเทพต่างได้พากันมาห้อมล้อมพระหาบุรุษอยู่ ฝ่ายพญามารได้ไปจุติเป็นเทพชั้นปรนิมวัสวดีแต่เป็นเทพผิดปกติ คือ ไม่ต้องการให้มนุษย์สร้างความดี เมื่อเห็นเจ้าชายสิทธัตถะจะทรงตรัสรู้ก็ทนไม่ได้ คิดว่าถ้าไม่ทำลายความตั้งใจของพระมหาบุรุษในครั้งนี้ ต่อไปก็จะพ้นจากอำนาจของตน จึงได้รวบรวมเสนามาร และไพล่พลทั้งหมดยกทัพมาหมายจะปราบ
กล่าวกันว่า ก่อนเสด็จดับขันธ์ปรินิพาน พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เทศนาโปรด นาคชื่ออปลาละ, ช่างปั้นหม้อ, หญิงจัณฑาล และนางโคบาล แล้วเสด็จสู่เมืองมถุรา ณ ที่นั้นได้มีพระดำรัสกับ พระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ ณ นครมถุรานี้อีกร้อยปีแต่ตถาคตนิพพานแล้ว จะมีพ่อค้าขายน้ำหอมชื่อคุปตะเขาจะมีบุตร ชื่ออุปคุตซึ่งได้เป็นอนุพุทธที่ปราศจากมหาปุริสลักษณะ ท่านผู้นี้จะทำงานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อไป เทศนาของท่านจะช่วยให้พระภิกษุเป็นอันมากเอาชนะกิเลสได้จนเข้าถึงพระอรหัตผล พระอรหันต์จะมีมากจนประมาณเต็มถ้ำ อานนท์ นอกจากนี้แล้ว พระอุปคุตรูปนี้ จะเป็นเอตทัคคะในบรรดาธรรมกถึกทั้งหลายของเรา ดูก่อนอานนท์ เธอแลเห็นเส้นทางยาวสุดสายตาโน้นไหม ข้าพระองค์เห็นอยู่ พระพุทธเจ้าข้า นั้นแลอานนท์ คือภูเขาชื่ออุรุมมุณฑะ อีกร้อยปีแต่ตถาคตนิพพานแล้ว พระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ ศาณกวาสิน จะสร้างวัดขึ้นที่นั่นแล้วจะให้อุปสมบทแก่อุปคุต อานนท์ นอกไปจากนี้แล้วที่นครมถุรานี้จะมีนายช่าง ๒ คนเป็นพี่น้องกัน ชื่อ นาฎะ กับ ภฎะ ซึ่งจะได้สร้างวัดบนภูเขาอุรุมมุณฑะ วัดนี้จะชื่อว่า นฎภฎิกะ จะเป็นอรัญญิกาวาสที่วิเศษสุด ทั้งเตียงและตั่งจะเหมาะสำหรับผู้เจริญวิปัสสนาธุระ
ลำดับนั้นพระอานนท์เถระเจ้าได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญนับว่าวิเศษแท้ที่พระอุปคุตจะได้ทำสิ่งต่างๆให้เป็นคุณประโยชน์แก่มหาชน พระผู้เป็นเจ้าตรัสตอบว่า ดูก่อนอานนท์ไม่แต่เวลานั้นเท่านั้น แม้ในอดีตชาติ ซึ่งบัดนี้หาร่างกายอันมิได้อีกแล้ว อุปคุตก็ได้ทำการที่นี้ เพื่อประโยชน์ของมหาชน ในอดีตนั้นบนไหล่เขาทั้ง ๓ ของภูเขาอุรุมมุณฑะ พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ พระองค์อยู่ ณ ไหล่เขาแห่งหนึ่ง ฤาษี ๕๐๐ ตน อยู่ ณ ไหล่เขาอีกแห่งหนึ่ง วานร ๕๐๐ ตัวอยู่บนไหล่เขาที่สามวันพญาวานร และบริวารทั้ง ๕๐๐ไปยังไหล่เขาที่พระปัจเจกพุทธเจ้าอาศัยอยู่เมื่อเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นพญาวานรได้บังเกิดศรัทธาปสาทะนำใบไม้ที่ตกหล่นรวมทั้งรากไม้และผลไม้ไปถวายเมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นเจริญสมาธิภาวนา พญาวานรได้กราบลงยังพระองค์สูงสุด แล้วไปทางซ้ายของพระองค์ที่อ่อนอาวุโสตามลำดับ พญาวานรได้นั่งสมาธิด้วยบ้างเหมือนกัน
ไม่นานหลังจากนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งสิ้นก็ได้เสด็จเข้าสู่มหาปรินิพพาน พญาวานรยังเอาใบไม้ที่ตกลงแล้วรวมทั้งรากไม้และผลไปถวายพระคุณท่านอีกแต่เมื่อท่านไม่รับประเคนพญาวานรจึงไปจับจีวรแล้วจับเบื้องพระบาท จึงรู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าเหล่านั้นนิพพานเสียแล้ว พญาวานรเศร้าโศกเสียใจ ร้องไห้แล้วไปยังไหล่เขาอีกแห่งหนึ่งซึ่งฤาษีทั้ง ๕๐๐ พำนักอยู่ ฤาษีเหล่านั้นบางตนเอาหนามติดรอบกาย บางตนมีเตียงเป็นขี้เถ้า บางตนยื่นมือชี้ฟ้า หรือไม่ก็ทรมานตนด้วยวิธีต่างๆโดยมีกองกูณฑ์ ๕ ล้อมรอบ (คือกองไฟทั้ง ๔ ทิศรอบตน และให้พระอาทิตย์แผดเผาอยู่เหนือศรีษะอีก ๑) เมื่อพญาวานรทำลายตบะวิธีของฤาษีเหล่านั้นแล้วได้นั่งสมาธิต่อหน้าฤาษีเหล่านั้น ฤาษีรายงานการกระทำของวานรให้อาจารย์ของพวกตนทราบ อาจารย์จึงแนะให้บรรดาฤาษีนั่งสมาธิบ้างฤาษีทั้ง ๕๐๐ ตน จึงนั่งสมาธิ ด้วยบุญบารมีที่ได้บำเพ็ญมา ฤาษีเหล่านั้นก็เข้าใจ โพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ประการ อันเป็นทางนำไปสู่การตรัสรู้ แล้วได้ตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
ต่อมาท่านเหล่านั้นดำริว่าเราได้บรรลุถึงพระบรมธรรมอันวิเศษสุดเพราะอาศัยวานรตัวนี้นี่แล บรรดาพระคุณเจ้าเหล่านั้นจึงปรนนิบัติพญาวานรด้วยรากไม้และผลไม้ และเมื่อพญาวานรถึงกาลกิริยา พระคุณเจ้าเหล่านั้นก็ปลงศพให้โดยใช้ไม้หอมมาประชุมเพลิง ดูก่อน อานนท์ เธอรู้หรือไม่ว่าพญาวานรตนนี้แล คือ อุปคุตแม้ในอดีตชาติ อันรูปกายแตกทำลายขันธ์ไปแล้ว ก็ได้ทำคุณให้แก่มหาชนบนยอดเขาอุรุมมุฑะนี้ ในชาติต่อไปร้อยปี แต่ตถาคตปรินิพพานล่วงไปแล้วอุปคุตก็จะมาทำการเพื่อประโยชน์แก่มหาชนอีก ณ ที่แห่งเดิมนี้เอง
เมื่อพระศาณกวาสินเถระ ให้สร้างวัดบนภูเขาอุรุมมุณฑะนั้น พระคุณเจ้ากำหนดจิตทราบว่าพ่อค้าน้ำหอม ที่ชื่อคุปตะได้ถือกำเนิดแล้วพระคุณเจ้าจึงกำหนดจิตต่อไปว่าบุตรของเขาที่ชื่อ อุปคุต ถือกำเนิดหรือยัง เพราะมีพุทธพยากรณ์ว่า เขาผู้นี้จักได้เป็นอนุพุทธ เพื่อประกอบกรณียกิจของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าร้อยปีแต่พุทธปรินิพพานล่วงแล้ว และก็ปรากฏแก่ญาณว่าเขายังไม่มาเกิดด้วยกุศโลบาย ในไม่ช้า คุปตะพ่อค้าน้ำหอมก็มีความเลื่อมใสในพระธรรมคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า วันหนึ่งพระศาณกวาสินได้เข้าไปสู่คฤหาสน์ของเขาพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ แล้วอีกวันหนึ่งพระเถระเจ้าได้ไปกับภิกษุอีกรูปหนึ่ง ครั้นวันที่สามพระคุณเจ้าได้ไปรูปเดียวเท่านั้น เมื่ออุปตะเห็นพระศาณกวาสินเถระมาแต่เพียงลำพัง จึงถามขึ้นว่า เหตุไฉนพระผู้เป็น เจ้าจึงปราศจากปัจฉาสมถะ(ผู้คอยรับใช้) พระเถระเจ้าตอบว่า อาตมาผู้ซึ่งชราภาพครอบงำแล้ว จำต้องมีผู้ติดตามด้วยหรือก็ถ้าใครคนใดคนหนึ่งถึงพร้อมด้วยความเลื่อมใส และได้เข้ามาสู่เพศพรหมจรรย์ เขาผู้นั้นแลจึงควรเป็นผู้อุปัฎฐาก และติดตามอาตมา พ่อค้าน้ำหอมตอบว่าข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าเป็นผู้ชอบอยู่ด้วยชีวิตของคฤหัสถ์ และยินดีในกามคุณทั้งห้า ไม่สมควรที่คนอย่างข้าพเจ้าจะออกบวชเพื่อมีชีวิตอย่างสมถะ แต่เมื่อใดข้าพเจ้ามีบุตร ข้าพเจ้าจะถวายให้เป็นอุปัฎฐากของพระคุณเจ้า พระเถระเจ้าจึงกล่าวว่าดีแล้วอุบาสกท่านต้องจำคำกล่าวนี้ไว้ให้มั่น
ต่อมาคุปตะพ่อค้าน้ำหอมได้บุตร ซึ่งได้ชื่อว่าอัศวคุปต์ พอเด็กคนนี้โตขึ้น ท่านพระศาณกวาสินได้ไปหา อุปตะแล้วกล่าวว่า อุบาสกเคยสัญญาว่ามีบุตรแล้วจะอนุญาตให้เขาบวชอาตมาจะได้พาเขาไปให้ดำรงเพศพรหมจรรย์ พ่อค้าน้ำหอมตอบว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้ามีบุตรเป็นชายคนเดียว ขอพระคุณเจ้าจงงดคนนี้ไว้ก่อนเถิดหากข้าพเจ้ามีบุตรอีกจะถวายคนที่สองให้เป็นศิษย์อีกคอยติดต่อมาพระคุณเจ้า ลำดับนั้น พระศาณกวาสินจึงกำหนดจิต เพ่งดูว่าเด็กคนนี้คืออุปคุตหรือมิใช่ ครั้นทราบว่าไม่ใช่พระคุณเจ้าจึงกล่าวว่า ก็ได้ขอให้เป็นไปตามนั้น
ต่อจากนั้นมา อีกไม่นาน คุปตะพ่อค้าน้ำหอมก็ได้บุตรอีกตั้งชื่อว่าธนคุปต์พอเด็กคนนี้โตขึ้น พระศาณกวาสินเถระเจ้าก็ได้ไปหาคุปตะอีก พลางกล่าวว่า อุบาสก ท่านสัญญาว่าถ้าท่านมีบุตรเป็นชายอีก จะถวายคนที่สอง ให้เป็นศิษย์ คอยติดตามรับใช้ บัดนี้ท่านมีบุตรอีกแล้ว จงยอมให้เขาบวชเพื่ออาตมาจะได้ให้เขาดำรงสมณะเพศภายในพระอาราม พ่อค้าน้ำหอมตอบว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ขอเว้นคนนี้ด้วยเถิด คนโตต้องไปหาซื้อของจากเมืองไกล คนที่สองต้องให้คอยเฝ้าเหย้าเรือน ถึงอย่างไรข้าพเจ้าก็จะต้องมีบุตรชายเป็นคนที่สาม แล้วจะถวายลูกคนนั้นแก่พระผู้เป็นเจ้าแน่ พระศาณกวาสินกำหนดจิตเพ่งดูว่าเด็กคนนี้ใช่อุปคุตหรือไม่ครั้นทราบว่าไม่ใช่ จึงว่า เป็นอันตกลงตามที่ท่านว่า
ในที่สุด คุปตะ พ่อค้าน้ำหอมได้บุตรเป็นคนที่สาม เป็นเด็กชายน่ารักงดงามก่อให้เกิดความยินดีแก่ผู้พบเห็น มีรูปลักษณ์ดีกว่าใครๆ มีเรือนร่างดังเทพเจ้า เมื่อถึงกำหนดทำขวัญ ได้ตั้งชื่อว่า อุปคุต (ภาษาสันกฤษเขียนว่า อุปคุปต์ แปลว่า ผู้คุ้มครองรักษา) เมื่อเขาเจริญวัยขึ้น ท่านพระศาณกวาสินได้ไปยังบ้านของอุปตะพ่อค้าน้ำหอมอีก แล้วกล่าวว่า อุบาสก ท่านสัญญาว่า เมื่อมีบุตรชายคนที่สาม จะถวายให้เป็น ศิษย์ คอยติดตามอาตมา บัดนี้ท่าน มีบุตรคนที่สามแล้ว จงอนุญาตให้เขาบวชเถิด อาตมาจะได้ให้เขาได้เป็นสมณะดำรงเพศพรหมจรรย์ คุปตะกล่าวว่า ตกลงพระคุณเจ้า เมื่อใดลูกคนนี้ไม่เป็นผลในทางกำไรหรือขาดทุน ข้าพเจ้าจะให้เขาบวชได้
เมื่อตกลงกันเช่นนี้ไม่นานนัก พญามารได้เข้ามาทำนครมถุราให้เต็มไปดัวยกลิ่นเหม็น ชาวเมืองจึงพากันมาซื้อน้ำหอมจากอุปคุต ซึ่งขายได้กำไรมาก พระศาณกวาสินจึงได้ไปหาอุปคุตผู้ซึ้งกำลงขายน้ำหอมอยู่อย่างตรงไปตรงมาที่ตลาด พระเถระพูดกับเขาว่า ลูกเอ๋ยสภาพทางจิตของเจ้าเป็นไฉน เป็นกุศลหรืออกุศล อุปคุตตอบว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าไม่รู้เลยว่า สภาพอย่างไหนเป็นกุศล อย่างไหนเป็นอกุศลท่านพระศาณกวาสินจึงบอกว่า ลูกเอ๋ย ถ้าเจ้าจับความคิดได้แม้ชั่วขณะหนี่ง เจ้าก็สามารถชนะอุปสรรคได้ ว่าแล้วพระเถระเจ้าก็ให้ผ้าขาวและผ้าดำ อย่างละหลายๆผืน แล้วสอนเขาว่า ถ้าความคิดเกิดในทางอกุศลเกิดขึ้น จงวางผ้าดำลง ถ้าความคิดในทางกุศลเกิดขึ้น จงวางผ้าขาวลง ให้เจริญอสุภกรรมฐาน และพุทธนุสติกรรมฐาน เพราะเหตุในทางความคิด ในทางอกุศลเกิดขึ้นบ่อย อุปคุตจึงวางผ้าดำลงสองผืน กว่าจะวางผ้าขาวลงผืนหนึ่ง แต่ภาวนาอยู่ได้ไม่นานเขาก็วางเพียงผ้าดำครึ่งผืน ผ้าขาวครึ่งผืน จากนี้ก็สามารถวางผ้าขาวได้ ๒ ผืน ก่อนจะวางผ้าดำลงได้ผืนหนึ่ง และแล้วความคิดของเขาก็บริสุทธิ์ผุดผ่องจนวางลงแต่เพียงผ้าขาวเท่านั้น
อุปคุตค้าขายตากระแสแห่งพระธรรมนั่นเอง นางวาสวทัตตา ในนครมถุรา มีคณิกานางหนึ่งชื่อนามวาสวทัตตา วันหนึ่ง สาวใช้ของนางได้ไปซื้อน้ำหอมกับอุปคุต เมื่อสาวใช้กลับมาแล้ววาสวทัตตาได้กล่าวกับนางว่า สาวน้อยเจ้าคงไปโกงพ่อค้ามาเพราะเจ้าเอาน้ำหอมมามากเสียเหลือเกิน สาวใช้ตอบว่านายหญิง บุตรพ่อค้าน้ำหอมชื่ออุปคุต เป็นชายหนุ่มรูปงาม ทั้งเฉลียวฉลาดและสุภาพน่ารัก ได้ขายให้อย่างตรงไปตรงมา เมื่อวาสวทัตตาได้ยินเข้านางเกิดความปฏิพัทธ์ในตัวอุปคุต นางส่งสาวใช้กลับไปหาเขา ให้บอกแก่เขาว่านางจะไปพบด้วย ต้องประสงค์จะหาความสุขสำราญกับเขา แต่เมื่อสาวใช้เอาความข้อนี้ไปบอกแก่เขา อุปคุตเพียงตอบว่ายังไม่ถึงเวลาที่นางจะได้พบเขา ราคาค่าตัวของนางวาสวทัตตานั้น ๕๐๐ ตำลึงทอง นางดำริว่าอุปคุตคงไม่มีเงินเพียงพอนางจึงส่งสาวใช้ให้กลับไปใหม่ให้บอกเขาว่านางไม่ต้องการเงินแม้แต่เหรียญกษาปณ์เดียวจากเขา นางเพรียงต้องการความสุขจากเขาเท่านั้น แต่เมื่อสาวใช้กลับไปบอกความข้อนี้แก่อุปคุต เขาก็ยืนยันตามเดิมว่า ยังไม่ถึงเวลาที่นางจะได้พบเขา
ต่อแต่นั้นมาอีกไม่นาน บุตรนายช่างคนสำคัญผู้หนึ่งได้มาพัก ณ สำนักของนางวาสวทัตตา พอดีมีพ่อค้าจับม้าป่าได้ ๕๐๐ ตัว จากทางภาคเหนือ เอามาขายในนครมถุราพ่อค้านั้นถามว่า นางคณิกาคนใดยอดเยี่ยมที่สุดในที่นี้ ครั้นได้ทราบว่า ชื่อนางวาสวทัตตา พ่อค้าคนนั้นจึงนำเงิน ๕๐๐ ตำลึงทองพร้อมด้วยของขวัญอันมีค่ามากมายมุ่งไปสู่สำนักของนาง เมื่อนางวาสวทัตตาได้ข่าวการมาของเขา โลภจริตของนางได้กำเริบขึ้น นางจึงได้ทุบตีบุตรนายช่าง แล้วเอาไปใส่ไว้ในกองมูลฝอย แล้วนางก็มาหาความสุขสำราญกับพ่อค้าม้า เมื่อญาติของนายช่างได้ทราบเรืองราวเข้าพากันไปเอาเด็กหนุ่มคนนั้น มาจากกองมูลฝอย แล้วนำเรื่องนี้ไปทูลฟ้องพระราชา พระราชาจึงโปรดให้ ราชบุตรไปจับตัวนางวาสวทัตตามาเพื่อตัดมือ ตัดเท้า ตัดจมูก ตัดหู แล้วนำไปทิ้งไว้ที่เชิงตะกอน
ครั้นเมื่ออุปคุตได้ทราบ เขาจึงดำริว่าก่อนนี้นางประสงค์จะพบเราด้วยเหตุผลในทางกาม บัดนี้ มือ เท้า จมูก และหูของนางถูกตัด เขากล่าวเป็นคาถาว่า เมื่อเรือนร่างของนางปกคลุมด้วยเสื้อผ้าอันวิจิตรประดับด้วยอาภรณ์อันมีค่าต่างๆ ผู้ที่ต้องประสงค์ จะออกจากวัฏสงสารเพื่อการไม่เกิด อันจะได้เข้าสู่โมกขธรรมเขาผู้นั้นไม่ควรไปพบนาง แต่บัดนี้ นางปราศจากความยิ่งผยองแล้ว แม้ราคะตัณหา และกามฉันทะก็ถูกคมมีดกรีดเสียจนมีแต่ความเจ็บปวดนี้แลคือเวลาที่ควรไปหานาง จะได้เห็นนางตามสภาพที่จริงโดยธรรมชาติ อุปคุตออกเดินทางไปสู่เชิงตะกอน เพียงมีบ่าวตามกางร่มไปให้แต่ผู้เดียว เขาไปด้วยความสงบ และมีมนสิการในทางธรรมดังสมณะ ทาสีของนางวาสวทัตตาผู้ซึ่งระลึกถึงคุณความดี ของนายหญิงมาก่อน ยังคงอยู่กับนางคนนี้ เพื่อคอยไล่ฝูงกาและนกอื่นๆที่ชอบกินศพเป็นอาหาร เมื่อนางทาสีเห็นอุปคุตเดินมา จึงบอกนางวาสวทัตตาว่า ข้าแต่นายหญิง อุปคุตที่นายหญิงเคยส่งข้าพเจ้าไปเชื้อเชิญเขาครั้งแล้วครั้งเล่านั้น บัดนี้เขามาถึงที่นี่แล้ว เขาย่อมต้องมาเพราะกระตุ้นแห่งกามตัณหาโดยแท้ เมื่อนางวาสวทัตตาได้ยินความข้อนี้จึงกล่าวว่า เขาจะมีตัณหาหรือราคะได้อย่างไรเมื่อเขาเห็นข้าที่เชิงตะกอนมีตัวเปื้อนเลือด ความงามไม่เหลืออีกแล้ว มีแต่ความทุกข์ทรมาน นางบอกทาสีให้เก็บเอามือเท้าจมูก และหูที่ถูกตัดออกมาจากกายมาห่อรวมไว้
เมื่ออุปคุตมาถึง และยืนอยู่หน้านางวาสวทัตตาซึ่งแลเห็นเขายืนอยู่ จึงกล่าวว่า ข้าแต่พนาย เมื่อร่างกายของดิฉันยังไม่เสียรูปทรงและดิฉันมุ่งทางกามฉันทะ ดิฉันได้ส่งสาวใช้ไปเชื้อเชิญท่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ท่านก็บอกว่า น้องหญิง ยังไม่ถึงเวลาจะพบฉัน มาบัดนี้ มือของดิฉัน เท้าของดิฉัน จมูกของดิฉัน และหูของดิฉัน ถูกตัดออกหมดแล้ว ดิฉันนั่งจมกองเลือดของตนเองอยู่ แล้วทำไม่ท่านจึงไม่มาหาดิฉันเล่า เธอกล่าวเสริมต่อว่า เมื่อร่างกายดิฉันเหมาะสมควรแก่การทอดทัศนาอ่อนนุ่นดังดอกบัว ประดับไปด้วยเสื้อผ้าและอาภรณ์อันหาค่ามิได้ แต่แล้วเป็นที่น่าเสียดายนักที่ดิฉันไม่ได้พบท่าน ทำไมท่านจึงมาดูแลดิฉันในบัดนี้ ในขณะที่ร่างกายของดิฉันไม่ควรที่จะมีใครมาแลมองด้วยมีแต่เลือดและโคลนตมล้อมรอบ กายอันน่าสะพรึงกลัวร่างนี้ไม่มีอะไรให้น่าพิศมัย ไม่น่าสนุก ไม่น่าหฤหรรษ์ และไม่น่าเกิดสุขอีกแล้ว
อุปคุตตอบว่าน้องหญิงฉันไม่ได้มาหาเธอเพราะแรงกระตุ้นแห่งตัณหา หากแต่ฉันมาดูสภาพที่แท้ของธรรมชาติที่ห่อหุ้มร่างกายไว้ด้วยกิเลส และตัณหาเมื่อเธอห่อหุ้มร่างไว้ด้วยพัสตราภรณ์ และเครื่องประดับภายนอกอื่นๆอันมีค่า ย่อมช่วยยั่วยวนให้เกิดตัณหาแก่ผู้ซึ่งมองดูเธอ เพราะเขาแลไม่เห็นเธอตามสภาพที่แท้จริง แม้เขาจะพยายามเพ่งพินิจก็ตาม แต่บัดนี้ เธอปลอดจากเครื่องล่อลวง ต่างๆ แล้วอาจมองเห็นร่างของเธอได้ ตามสภาพที่แท้จริง คนที่แสวงหากามสุขจากเรือนร่างอันหยาบนี้ช่างโง่เขลาเสียจริงๆ ใครเล่าจะมีความรู้สึกต่อร่างกายซึ่งมีแต่หนังห่อหุ้มไว้เต็มไปด้วยกองเลือดรอบๆตัว ทั้งยังเปื้อนผิวหนัง ด้วยแลเห็นเนื้อเป็นก้อนๆโยงไปยังกล้ามเนื้อและเส้นเลือด
ยิ่งไปกว่านี้ คนพาลแลเห็นความสวยงามจากรูปภายนอกแล้วย่อมเกิดปฏิพัทธ์ผูกพันโดยที่เขาควรจะรู้ว่าภายในนั้นเน่าเหม็น ผู้รู้จึงไม่ยึดติดในสิ่งเหล่านี้ ซากศพย่อมโสโครกและน่าเกลียด โดยที่ความบริสุทธิ์จะมีได้ก็ต่อเมื่อระงับตัณหาเสียได้ ผู้ซึ้งระงับยับยั้งได้ก็จะรู้ว่า ที่แท้กลิ่นเหม็นย่อมประกอบไปด้วยกลิ่นหอม เป็นอันมากที่รวมตัวกัน แม้น้ำหอมก็คือการกันของความบริสุทธิ์ การเอาเสื้อผ้าและเครื่องประดับมา สวมใส่นั้นช่วยได้แต่การแสดงออกภายนอกเท่านั้น แต่ความโสโครกภายในหาแก้ไขอะไรได้ไม่โดยที่เหงื่อไคลและฝุ่นละอองก็ยังมีอยู่กับร่างกาย แม้จะชำระล้างได้ดัวยน้ำเป็นครั้งคราวก็ตาม ด้วยเหตุฉะนี้ คนพาลจึงหลงอยู่กับโครงกระดูกอันน่าโสโครกด้วยไปยึดติดกับตัณหา สำหรับผู้ที่ละตัณหาเสียได้ ย่อมรู้ว่านั่นคือการคลุกเคล้าไปด้วยความน่าเบื่อ ความโศกและความทุกข์นี่มิใช่สิ่งที่วิญญูชน จะพึงสรรเสริญเขา ย่อมออกสู่ป่าอันสงัดมีจิตใจมุ่งไปสู่ความพ้นทุกข์ละเสียซึ่งตัณหา เพื่อเขาจะข้ามพ้นไปสู่ฝั่งโน้นละเสียได้ จากโอฆะสงสาร การเวียนว่าย ตาย เกิด เขาย่อมจะถือเอามรรคเป็นนาวาย่อมสดับและประพฤติปฏิบัติตาม พระวจนขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงพระคุณพระคุณอันประเสริฐ
เมื่อนางวาสวทัตตาได้ยินคำกล่าว นางรู้สึกสะพรึงกลัวในวัฏสงสารจิตใจของนางอ่อนน้อมและสงบลง เมื่อรำลึกถึงพระพุทธคุณ นางรำพันขึ้นว่าที่ว่ามานั้นสมควรแก่คำของท่านผู้เป็นปราชญ์ พอดิฉันได้พบท่านก็ได้รับพระคุณจากท่านให้ได้ยินพระพุทธวจนะอุปคุตจึงเริ่มเทศนาอนุปุพิกถาให้นางเข้าใจในเรื่องของ ทาน ศีล ภาวนา โทษของกาม และทางออกจากกาม ตัวเขาเองก็เข้าใจซึ้งถึงธรรมชาติ ที่แท้จริงแห่งร่างกายของนางวาสวทัตตาจนเกิดความรังเกียจในกามภพการที่เขาใจในสัจธรรมนั้นก็ด้วยการที่เขาแสดงธรรมนั่นเอง อุปคุตได้สำเร็จเป็นพระอนาคามี ณ ที่นั้นเอง โดยที่นางก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เมื่อนางได้ดวงตาเห็นธรรมนางได้รำพันบุญคุณของ อุปคุตว่าขอขอบพระคุณท่านที่ช่วยให้ดิฉันพ้น จากอบายภูมิอันน่ากลัว และการไปสู่ภพใหม่อันต่ำทรามอันจักต้องทุกข์ทรมานยิ่งนัก บัดนี้ สุคติภูมิได้เปิดให้ดิฉันแล้ว และดิฉันก็มีโอกาสไต่เต่าตามกระแสพระอริยะมรรค สู่พระนิพพานด้วย
จากนั้นนางได้บอกเขาว่า บัดนี้ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นสรณะพร้อมด้วยพระธรรมและสงฆ์ นางได้พรรณาต่อไปอีกว่าข้าพเจ้าขอถือพระชินเจ้าเป็นสรณะ พระชินเจ้านั้นมีพระเนตรอันสุกสกาวเบิกบานดังดอกบัวแรกแย้ม ทรงแวดล้อมไปด้วยหมู่อมรพระมุนี ข้าพเจ้าขอถือเอาพระอริยสงฆ์เป็นสรณะด้วย เมื่ออุปคุตแสดงธรรมแก่นางวาสวทัตตาจบลงแล้วก็กลับไปจากนั้นไม่นาน นางก็ถึงกาลกิริยา แล้วไปเกิดในหมู่ทวยเทพในนครมถุรา บรรดาเทวดาประกาศว่า เมื่อนางวาสวทัตตาได้ฟังอุปคุตแสดงธรรมแล้วนั้น นางได้ดวงตาเห็นธรรม บัดนี้นางได้ตายไปแล้ว และได้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เมื่อชาวเมืองนครมถุราได้ยินคำของทวยเทพ ชาวเมืองจึงพากันไปบูชาสักการะรูปกายของนางวาสวทัตตา
อุปคุตออกบวชลำดับนั้น ท่านพระศาณกวาสินได้ไปยังคุปตะพ่อค้าน้ำหอมพลางกล่าวว่าจงอนุญาตเถิด อาตมาจะได้ให้อุปคุตบวช คุปตะตอบว่าข้าแต่พระเจ้าผู้เจริญข้อตกลงมีอยู่ว่าเมื่อข้าพเจ้าไม่ได้กำไรหรือขาดทุนจะย่อมอนุญาตให้เขาบวช พระศาณกวาสินเถระจึงใช้อิทธิฤทธิ์ไม่ไห้คุปตะได้กำไรหรือขาดทุน คุปตะนับแล้วชั่งก็แล้วตวงก็แล้วไม่ปรากฏว่าเขาได้กำไรหรือขาดทุน พระศาณกวาสินเถระ จึงบอกเขาว่า แท้จริงแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงมีพุทธพยากรณ์ไว้เกี่ยวกับลูกชายของท่าน พระองค์ตรัสว่าร้อยปีแต่ปรินิพพานไปเขาผู้นี้แหละจะรับงานของพระบรมศาสดามาดำเนินต่อไปขอให้อาตมาได้บวชให้เขาเพื่อทำกิจของพระศาสนาเถิด ในที่สุดคุปตะพ่อค้าน้ำหอมจึงยอมอนุญาตให้อุปคุตบวชพระศาณกวาสิน จึงพาอุปคุตไปยังวัดนฏภฏิกะอรัญญิกาวาสให้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ
ท่านพระอุปคุตได้ปฏิบัติจนสามารถชนะกองกิเลสได้หมด ตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ขีณาสพองค์หนึ่งในโลก พระศาณกวาสินเถระเจ้าจึงกล่าวว่า ดูก่อน อุปคุต ผู้เป็นสัทธิวิหาริก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพุทธพยากรณ์ไว้เกี่ยวกับตัวเธอ พระองค์ตรัสว่าร้อยปีแต่พุทธปรินิพพาน จะมีภิกษุชื่อว่า อุปคุต ซึ่งจะตรัสรู้เป็นอนุพุทธ แล จะรับพุทธกิจมากระทำต่อไป โดยจะได้เป็นเอตทัตคะในบรรดา ธรรมกถึกทั้งหลาย ฉะนั้นขอเธอ จงยังกิจเพื่อสัตถุศาสนาเถิดพระอุปคุตรับคำว่า สาธุพระคุณเจ้า
พระเจ้าศรีธรรมมาโศกราชสร้างพระสถูปเจดีย์ เมื่อพระเจ้าศรีธรรมมาโศกราช ทรงสร้างพระสถูปเจดีย์ เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุจำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์ ครั้นบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเรียบร้อยแล้วทรงมีพระราชประสงค์จะจัดงานฉลองสมโภชพระมหาเจดีย์ ให้สมพระราชศรัทธา โดยจะจัดฉลองเป็นเวลาถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ทรงเห็นว่างานสมโภชพระมหาธาตุนี้เป็นงานใหญ่เกรงว่าจะมีอันตราย และความขัดข้อง ทรงข้อให้คณะสงฆ์หาทางช่วยป้องกันโดยขอให้คัดเลือกพระเถระผู้มีความสามารถมาช่วยป้องกันภัยอันตราย พระเถรานุเถระทั้งหลายเข้าญาณพิจารนา ก็ทราบด้วยญาณของตนเองว่าภัยจะเกิดมีเนื่องในงานสมโภชพระมหาเจดีย์ครั้งนี้ต่างก็หาผู้ช่วยป้องกัน พระเถรานุเถระประมาณกำลังตนก็รู้ว่าไม่สามารถ และก็รู้ว่ามีพุทธพยากรณ์ไว้แล้วว่า ท่านพระมหาอุปคุตเถระเจ้ามีหน้าที่ในการนี้โดยเฉพาะ จึงไม่มีพระเถระองค์ใดรับภาระป้องกัน พระเถระทั้งหลายจึงให้พระภิกษุหนุ่ม ๒ รูปผู้ทรงอภิญาณสมาบัติไปอาราธนาพระอุปคุตมหาเถระ (ชื่อเต็มว่า พระกีสะนาคะอุปคุตมหาเถระ) มาสู่ที่ประชุม
พระภิกษุหนุ่ม ๒ รูปนั้น จึงเข้าญาณสมาบัติระเบิดน้ำลงไปหาท่านพระอุปคุต แล้วแจ้งให้ทราบว่า บัดนี้พระเถระทั้งหลายมีบัญชาให้ข้าพเจ้าทั้งสองมาอาราธนาพระคุณท่าน ไปร่วมประชุมเพื่อปรึกษางานพระพุทธศาสนา พระอุปคุตมหาเถระทราบสังฆบัญชาเช่นนั้นคิดว่าจะต้องไปร่วมประชุมในครั้งนี้ จะขัดสังฆบัญชาไม่ได้ต้องเคารพอำนาจแห่งหมู่สงฆ์ และงานนี้ก็เป็นงานพระพุทธศาสนา ครั้นดำริดังนั้นแล้วพระอุปคุตเถระจึงบอกภิกษุ ๒ รูปนั้นว่าท่านจงกลับไปก่อนเถิดเราจะตามไปที่หลัง พระภิกษุหนุ่ม ๒ รูปนั้นกราบลาเดินทางล่วงหน้ามาก่อน พระอุปคุตจึงเข้าฌาญสมาบัติมาถึงสำนักพระเถรานุเถระทั้งหลายก่อนพระภิกษุหนุ่ม ๒ รูปนั้นอีก
พระสังฆ์เถระประชุมสงฆ์จึงกล่าวแก่พระอุปคุตว่าคณะสงฆ์จะลงทัณฑ์กรรมแก่ท่าน เพราะความผิดที่ท่านไม่สามารถสังฆกรรมทำอุโบสถฟังพระปาติโมกข์ร่วมกับคณะสงฆ์ พระอุปคุตจึงกล่าวว่าข้าพเจ้ายินดีรับทัณฑ์กรรมที่คณะสงฆ์จะลงโทษขอพระคุณเจ้าแจ้งมาว่าจะให้ข้าพเจ้าทำประการใด พระสังฆ์เถระประชุมสงฆ์แล้วว่า บัดนี้พระเจ้าศรีธรรมมาโศกราชทรงปรารถนาจะทำการสมโภชพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมธาตุ ๘๔,๐๐๐ องค์ที่ทรงสร้างไว้ในชมพูทวีปทั้งหมด ต้องใช้เวลาถึง ๗ ปี๗ เดือน ๗ วัน ให้สมพระราชศรัทธา แต่เกรงว่าการสมโภชอันมีเกียรตินั้นจะไม่พ้นภัย เกรงว่าพญามารจะขัดขวางทำลายไม่ให้ราชพิธีสมโภชนั้นไปด้วยดี พระศรีธรรมมาโศกราชตรัสให้คณะสงฆ์ช่วยป้องกัน แต่มิใคร่ความสามารถจะช่วยได้ เห็นมีแต่ท่านผู้เดียว ฉะนั้น คณะสงฆ์จะลงทัณฑ์กรรมแก่ท่านโดยให้ท่านเป็นธุระ ป้องกันภัยอันตรายในงานสมโภชครั้งนี้ เพราะท่านห่างเหินการปกครองของคณะสงฆ์ และไม่มาร่วมทำอุโบสถสังฆกรรม ตามพระราชบัญญัติ พระอุปคุตจึงยอกรอัญชลีสงฆ์ ก้มลงกราบแล้วกล่าวว่า ข้าพเจ้ายินดีรับทัณฑ์กรรมนั้น
เมื่อได้ผู้ป้องกันภัยอันตรายในการบำเพ็ญกุศลแล้ว พระเถรานุเถระทั้งหลายก็วางใจคณะสงฆ์โดยมีพระโมกคัลลีบุตรติสสะเถระเป็นประธาน จึงถวายพระพรให้พระเจ้าศรีธรรมมาโศกราชทรงโสมนัสยิ่งนัก แต่ครั้นทอดพระเนตรเห็นองค์พระอุปคุตมหาเถระเจ้าแล้วก็ทรงหนักพระหฤทัย เพราะท่านมีร่างกายผ่ายผอมแทบจะปลิวไปตามลมครั้นรุ่งเช้าทอดพระเนตรเห็นพระอุปคุตเดินไปบิณฑบาตทรงมีพระราชบัญชาสั่งให้พนักงานเลี้ยงช้างปล่อยช้างตกมันไล่พระอุปคุตมหาเถระเพื่อทดสอบ พระอุปคุตมหาเถระเห็นช้างวิ่งไล่มาข้างหลังจึงเข้าฌาญสมาบัติอธิฐานจิตให้ช้างตัวนั้นแข็งดุจหินไม่ขยับเยื้อนได้ พระเจ้าศรีธรรมมาโศกราชทอดพระเนตรเห็นดังนั้นจึงทรงขอขมาและทรงพอพระหทัยยิ่งนัก เกิดความเคารพนับถือพระมหาอุปคุตเป็นอันมาก
http://santitham.co.nf/upakutfull.htm