ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: 3 “พ่อเจ้า” ผู้ยิ่งใหญ่ ทรงอิทธิพลเหนือยุคสมัย  (อ่าน 3991 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


3 “พ่อเจ้า” ผู้ยิ่งใหญ่ ทรงอิทธิพลเหนือยุคสมัย

คำว่า “พ่อ” ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึง พ่อที่เป็นสามัญชนธรรมดา หรือพ่อบังเกิดเกล้าของเรา แต่หมายถึง พ่อผู้เป็นพระบิดาเป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน เจ้าชีวิต และเป็นเจ้าแห่งธรรม ทรงอิทธิพลยิ่งใหญ่เหนือกาลยุคสมัย 3 พระองค์
       
       พ่อเจ้าพระองค์แรก เป็นพ่อผู้ให้กำเนิดจอมศาสดาเอกของโลก
       
       พ่อเจ้าพระองค์ที่สอง คือ พระพุทธเจ้า เป็นพ่อทางธรรมของพุทธบุตร แต่เป็นพ่อผู้ก่อกำเนิดเจ้าชายราหุลกุมาร ซึ่งเป็นสามเณรองค์แรกของโลก และเป็นเอตทัคคะทางด้านรักการศึกษาเรียนรู้
       
       พ่อเจ้าพระองค์ที่สาม เป็นพ่อของแผ่นดินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ลูกๆปวงชนชาวสยามขนานนามท่านว่า “พ่อหลวง...หลวงพ่อของแผ่นดิน” หลวงพ่อพระองค์นี้มิได้ครองไตรจีวร แต่ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม

       

       • พระบิดาของจอมศาสดา
       
       พ่อเจ้าพระองค์แรกนั้น ทรงพระนามว่า “พระเจ้าสุทโธทนะ” มีราชสกุลว่า “โคตมะ” เป็นมหากษัตริย์แห่งแคว้นสักกะ กรุงกบิลพัสดุ์ ทรงเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสีหหนุกับพระนางกัญจนา มีพระอนุชาและพระกนิษฐาร่วมพระชนกชนนีอีก 6 พระองค์
       
       พระเจ้าสุทโธทนะทรงเป็นกษัตริย์ที่ปกครองแผ่นดินโดยธรรม และยึดมั่นอยู่ในราชประเพณี ทำให้ไพร่ฟ้าประชาชนอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุขตลอดรัชสมัยของพระองค์
       
       ทรงมีพระอัครมเหสีนามว่า “พระนางสิริมหามายา” เจ้าหญิงผู้สูงศักดิ์แห่งโกลิยวงศ์ กรุงเทวทหะ ทั้งสองพระองค์ทรงอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข จวบกระทั่งพระเทวี ทรงมีพระครรภ์แก่จวนจะประสูติ พระนางได้รับพระราชานุญาตจากพระสวามี ให้แปรพระราชฐานไปประทับที่กรุงเทวทหะ ตามประเพณีนิยมสมัยนั้


        :25: :25: :25: :25: :25:

       เมื่อขบวนเสด็จผ่านมาถึงสวนลุมพินี พระนางได้ประทับพักผ่อนพระอิริยาบถ และได้ประสูติพระโอรสใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีแห่งนี้ ครั้นพระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบข่าว จึงตรัสสั่งให้เชิญพระนางและพระราชกุมารเสด็จกลับคืนกรุงกบิลพัสดุ์ทันที
       
       ข่าวการประสูติแพร่ไปถึง “อสิตดาบส” ซึ่งมีความคุ้นเคยกับราชสำนักของพระเจ้าสุทโธทนะเป็นอย่างดี ทันทีที่ทราบข่าวการประสูติของพระราชกุมาร อสิตดาบสจึงเข้าไปเยี่ยมเยียนในราชสำนัก ท่านมีความรู้เกี่ยวกับการทำนายมหาปุริสลักษณะ ดังนั้น เมื่อเห็นพระราชกุมาร ก็พยากรณ์ได้ทันทีว่า นี่คือผู้ที่จักมาตรัสรู้เป็น “พระพุทธเจ้า”

       
อสิตดาบสทำนายมหาปุริสลักษณะ

       ขนานพระนามโอรส “สิทธัตถะ”
       
       เมื่อพระกุมารประสูติได้ 5 วัน พระเจ้าสุทโธทนะโปรดให้ประกอบพิธีเฉลิมฉลองรับขวัญ และขนานพระนาม โดยเชิญพราหมณ์ 108 คน ผู้เชี่ยวชาญไตรเพท มาบริโภคโภชนาหาร แล้วถวายพระนามว่า “สิทธัตถะ” แปลว่า “สมประสงค์” แล้วพราหมณ์ในจำนวนนั้น 7 คน ก็ได้ทำนายว่า พระกุมารสิทธัตถะ ถ้าขึ้นครองราชย์สมบัติ จะได้เป็นมหาจักรพรรดิ แต่ถ้าออกผนวชจะได้เป็นศาสดาเอกในโลก ส่วนพราหมณ์อีก 1 คนทำนายว่า จะได้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน
       
       หลังจากเจ้าชายสิทธัตถะราชกุมารประสูติได้เพียง 7 วัน พระนางสิริมหามายาก็สวรรคต พระเจ้าสุทโธทนะจึงอภิเษกสมรสใหม่กับพระนางมหาปชาบดีโคตมี ซึ่งเป็นพระขนิษฐภคินี(น้องสาว)ของพระนางสิริมหามายา มีพระโอรสคือ “เจ้าชายนันทะ” และพระธิดาคือ “เจ้าหญิงรูปนันทา”
       
       เจ้าชายสิทธัตถะทรงเปี่ยมไปด้วยความบริบูรณ์พูนสุขตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อทรงเจริญวัย พระราชบิดาจึงส่งไปศึกษาศิลปวิทยา เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการครองราชสมบัติ

       
พราหมณ์ทั้ง 8 ทำนายมหาปุริสลักษณะ

       ครั้นเจ้าชายมีพระชันษาได้ 16 ปี พระบิดาจึงทรงให้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงพิมพายโสธรา แห่งกรุงเทวทหะ พร้อมกับทรงสั่งให้สร้างปราสาท 3 ฤดู เพื่อให้เจ้าชายและพระมเหสีได้เสวยสุข เพราะทรงหวั่นเกรงคำทำนายของอสิตดาบส และพราหมณ์ทั้ง 8 ว่า พระโอรสอาจเป็นศาสดาเอกของโลก แต่ในฐานะพระบิดา พระองค์ย่อมปรารถนาให้พระโอรสได้เสวยราชสมบัติสืบต่อจากพระองค์ จึงต้องทรงทำทุกอย่างเพื่อผูกพันพระโอรสไว้
       
       แต่ในที่สุด ชีวิตในพระราชวังที่มีแต่ความสุขสบาย ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะรู้สึกเบื่อหน่าย และเมื่อวันหนึ่งเจ้าชายได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูต 4 คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ ก็ทรงพอใจในสมณเพศ ทรงเห็นว่า สมณเพศน่าจะเป็นโอกาสอันงามที่จะทำชีวิตให้บริสุทธิ์ หลุดพ้นจากความแก่ ความเจ็บ และความตายได้ เจ้าชายสิทธัตถะจึงคิดจะเสด็จออกผนวช

       
เจ้าชายสิทธัตถะทรงยืนอยู่หน้าห้องพระบรรทมพระนางพิมพาและพระโอรส ก่อนเสด็จออกผนวช

       • พระบิดาแห่งพุทธธรรม
       
       พ่อเจ้าพระองค์ที่สอง คือ พระบรมศาสดา พระบิดาแห่งพุทธธรรมนั่นเอง
       
       ความคิดที่จะออกผนวชอยู่ในใจพระองค์ตลอดเวลา ดังนั้น เมื่อพระชนมายุได้ 29 พรรษา เจ้าชายสิทธัตถะจึงตัดสินใจเสด็จออกผนวช ซึ่งวันที่ออกผนวชนั้นตรงกับวันที่พระนางพิมพาประสูติพระโอรส คือ “ราหุล” แปลว่า “บ่วง”
       
       ก่อนเสด็จไป พระองค์เสด็จไปยังห้องพระโอรสและมเหสี เพื่อจะอุ้มพระราหุลขึ้นเชยชมเป็นครั้งสุดท้าย แต่เมื่อเห็นพระนางพิมพาบรรทมหลับสนิทกอดโอรสอยู่ ก็เกรงว่าพระนางจะตื่น และเป็นอุปสรรคขัดขวางการเสด็จออกบรรพชา จึงทรงตัดพระทัยหันกลับเดินทางออกไป
       
       เจ้าชายสิทธัตถะใช้เวลาแสวงหาสัจธรรมอยู่เป็นเวลา 6 ปี ทั้งจากการเรียนรู้ในสำนักของอาจารย์ และเรียนรู้ด้วยตนเองโดยการบำเพ็ญทุกรกริยา(ทรมานกาย) กระทั่งในที่สุดได้ค้นพบว่า การบำเพ็ญทุกรกิริยานี้ ไม่ใช่หนทางแห่งการตรัสรู้


        st12 st12 st12 st12 st12

       แต่หลังจากทรงเกิดนิมิตว่า มีท้าวสักกเทวราชมาดีดพิณถวาย ด้วยการดีด 3 ครั้งจากสายที่ตั้งไว้สามลักษณะแตกต่างกันคือ
       
       ดีดครั้งที่ 1 จากสายที่ตั้งไว้ตึง พอลงมือดีดสายพิณก็ขาด
       ดีดครั้งที่ 2 จากสายที่ตั้งไว้หย่อน เสียงขาดความไพเราะ
       ดีดครั้งที่ 3 จากสายที่ตั้งไว้พอดี เสียงพิณจึงดังไพเราะเสนาะโสต


        st11 st11 st11 st11 st11

       เมื่อทรงสดับแล้ว พระองค์จึงเปลี่ยนสมมติฐานใหม่ โดยการเปรียบเทียบกับเสียงพิณ ทำให้ยิ่งแน่พระทัยว่า การบำเพ็ญเพียรทางจิตโดยยึดหลักมัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลาง ที่ไม่ตึงหรือหย่อนเกินไป เป็นข้อปฏิบัติ จะเป็นหนทางบรรลุสู่พระโพธิญาณ จึงทรงเริ่มฉันอาหารและบำเพ็ญเพียรทางจิต
       
       ในที่สุดก็ได้ตรัสรู้อริยสัจสี่คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เมื่อพระชนมายุได้ 36 พรรษา จากนั้นพระพุทธองค์จึงเสด็จออกประกาศพระสัทธรรมที่ทรงค้นพบให้ชาวโลกรับรู้

       
พระสารีบุตรเป็นอุปัชฌาย์บวชพระราหุลเป็นสามเณร


       โปรดพุทธบิดาจนบรรลุธรรม
       
       ต่อมาภายหลังพระเจ้าสุทโธทนะทราบว่า เจ้าชายสิทธัตถะได้บรรลุโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จึงส่งอำมาตย์ไปทูลเชิญจอมศาสดากลับมาที่กรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อพระบรมศาสดาได้เสด็จกลับมายังกรุงกบิลพัสดุ์แล้ว ทรงประทับอยู่ที่นิโครธาราม พร้อมด้วยคณะภิกษุสงฆ์ผู้ติดตาม
       
       เช้าวันรุ่งขึ้นพระพุทธองค์ได้เสด็จเข้าไปรับบิณฑบาตในนครกบิลพัสดุ์ พร้อมเหล่าภิกษุสงฆ์ เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะทราบข่าว ก็ทรงเสียพระทัย เพราะเห็นว่าการออกบิณฑบาตตามถนนหลวงเช่นนี้ เป็นการทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ทั้งจะทำให้ชาวเมืองดูหมิ่นได้ว่า เหล่าพระประยูรญาติและพระราชบิดา ตั้งข้อรังเกียจ มิได้ให้ความอุปถัมภ์
       
       พระองค์จึงรีบเสด็จมาหยุดอยู่ที่หน้าพระพักตร์ของพระบรมศาสดา แล้วตัดพ้อว่า “ทำไมพระองค์ต้องทำเช่นนี้ ไม่รู้หรือว่าการเดินขอเขากินแบบนี้ มันเป็นความอัปยศ ทำให้เสื่อมเสียแก่วงศ์ตระกูล”


        :25: :25: :25: :25: :25:

       พระพุทธเจ้าจึงทรงอธิบายว่า “การเที่ยวบิณฑบาตแบบนี้ เป็นจารีตประเพณีของตถาคต และภิกษุสงฆ์ที่สืบสายแห่งพุทธวงศ์”
       
       เมื่อพระพุทธองค์ตรัสเช่นนี้แล้ว จึงแสดงธรรมโปรดพระบิดา ในขณะทื่ยืนถือบาตรอยู่บนถนน ณ ที่นั้น ครั้นจบพระธรรมเทศนา พระบิดาก็ทรงบรรลุโสดาปัตติผล
       
       จากนั้นพระเจ้าสุทโธทนะจึงทูลอาราธนา ให้พระพุทธองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จขึ้นพระราชนิเวศน์ พระพุทธเจ้าได้ตรัสพระธรรมเทศนาโปรดพระบิดาเช่นนี้อยู่สามวัน กระทั่งในที่สุดพระเจ้าสุทโธทนะ จึงทรงบรรลุเข้าสู่อนาคามีผล

       
พระพุทธองค์โปรดพระราชบิดาขณะประชวร

       กระทั่งถึงพรรษาที่ 5 พระพุทธเจ้าทรงทราบข่าวว่า พระเจ้าสุทโธทนะ พระราชบิดา ทรงประชวรหนักด้วยโรคชรา และทรงปรารถนาจะได้เฝ้าพระพุทธเจ้า ตลอดถึงพระภิกษุสงฆ์ที่เป็นศากยวงศ์ และพระญาติอีกหลายรูปที่เสด็จออกบวชตาม พระพุทธเจ้าจึงทรงรับสั่งให้พระอานนท์แจ้งพระสงฆ์ เรื่องที่พระองค์จะเสด็จกลับกรุงบิลพัสดุ์อีกวาระหนึ่ง     

       เมื่อเสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงได้เข้าพบพระบิดา ซึ่งมีพระอาการทรุดหนักแล้ว ทรงแสดงธรรมโปรดพระบิดาอีกครั้ง ด้วยเรื่องความเป็นอนิจจังของสังขาร ใจความว่า
       
       “ดูก่อนมหาบพิตร อันชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายนี้น้อยสั้นนัก ดำรงอยู่เพียงชั่วขณะ มิได้ยั่งยืนยาวนาน ดุจฟ้าแลบซึ่งปรากฏได้ไม่นาน ฉะนั้น”


        :96: :96: :96: :96: :96:

       ครั้นพระเจ้าสุทโธทนะได้สดับพระธรรมเทศนาแล้ว จึงสำเร็จอรหันต์ หลังจากนั้นอีก 7 วันต่อมา พระองค์ก็ทรงสิ้นพระชนม์ ละทิ้งกายสังขารไปด้วยความสงบ ท่ามกลางความโศกเศร้าเสียใจของพระประยูรญาติ
       
       พระพุทธเจ้าได้เสด็จสรงน้ำพระศพของพระบิดา และถวายพระเพลิง พร้อมด้วยพระสงฆ์ พระประยูรญาติชาวศากยะทั้งมวล กระทั่งเสร็จสิ้นพิธีอย่างสมพระเกียรติ

       

       อุบายธรรมอบรมบุตรอันเหนือชั้น
       
       เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ได้เสด็จโปรดพระประยูรญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์นั้น พระนางพิมพามเหสีได้ส่งพระราหุล ซึ่งมีอายุ 7 ปี ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อทูลขอราชสมบัติจากพระบิดา
       
       พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่า ทรัพย์สมบัติทั้งหลายในโลกนี้ ที่จะมั่นคงถาวร และประเสริฐยิ่งกว่าอริยทรัพย์นั้นไม่มี เมื่อทรงดำริเช่นนี้แล้ว จึงประทานอริยทรัพย์ให้พระโอรส ด้วยการให้พระสารีบุตรบวชเจ้าชายราหุล เป็นสามเณร
       
       พระพุทธองค์ในฐานะพุทธบิดาของพระราหุล ได้กล่าวโอวาทสอนสั่งพระราหุลอยู่เนืองๆ วันหนึ่งพระองค์ได้เสด็จไปยังที่อยู่ของสามเณรราหุล โดยก่อนจะขึ้นไปประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดถวาย สามเณรราหุลได้ทรงล้างพระบาทพระพุทธองค์ด้วยน้ำ ซึ่งใส่ไว้ในภาชนะที่ตั้งเตรียมไว้ ครั้นประทับนั่งแล้วจึงตรัสให้สามเณรราหุลมองดูภาชนะใส่น้ำที่เทล้างพระบาทแล้ว ทรงถามว่ามีน้ำเหลืออยู่ในภาชนะนั้นเท่าไหร่

       
        ans1 ans1 ans1 ans1 ans1

       เณรราหุลตอบว่า “เหลือติดอยู่เพียงเล็กน้อย”
       
       พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “การพูดเท็จทั้งที่รู้อยู่ ย่อมทำให้ไม่มีความเป็นสมณะ ที่แปลว่าผู้สงบ” (หรือพูดด้วยภาษาปัจจุบันก็คือ ไม่มีความเป็นพระ เป็นเณร หรือคฤหัสถ์ก็ไม่มีความเป็นสาธุชน)
       
       ครั้นแล้วทรงสั่งเทน้ำออกจากภาชนะนั้นให้หมดสิ้น แล้วตรัสถามว่า “ในภาชนะนั้นมีน้ำเหลืออยู่อีกหรือไม่?” เณรราหุลกราบทูลว่าไม่มี
       
       พระพุทธเจ้าจึงตรัสอบรมว่า “ย่อมไม่มีความเป็นสมณะ ในบุคคลผู้ไร้ความละอายในการกล่าวคำเท็จทั้งที่รู้อยู่ เหมือนอย่างภาชนะที่ปราศจากน้ำเหลืออยู่นี้”
       
       จากนั้นทรงสั่งให้คว่ำภาชนะนั้น แล้วก็สั่งให้หงายภาชนะขึ้น แล้วตรัสว่า “มีน้ำอยู่ในภาชนะทั้งที่คว่ำลงและหงายขึ้น เหลือติดอยู่ในภาชนะนั้นหรือไม่?” เณรราหุลกราบทูลว่าไม่มี
       
       พระพุทธองค์ก็ตรัสอบรมว่า “ย่อมไม่มีความเป็นสมณะ แก่ผู้ที่พูดเท็จทั้งที่รู้อยู่ เหมือนกับภาชนะนั้น ไม่ว่าจะคว่ำหรือหงายขึ้นก็ตาม ย่อมเป็นภาชนะเปล่า ฉะนั้น”

        :25: :25: :25: :25: :25:

       ครั้นแล้วจึงตรัสอุปมาต่อไปอีกว่า
       
       “ช้างศึกของพระราชาที่ฝึกหัดให้เป็นผู้ที่เสียสละร่างกาย ในเวลาเป็นราชพาหนะเข้าสู่สงครามเพื่อพระราชา ช้างที่ฝึกหัดแล้วนั้น ย่อมเสียสละกายได้ สละเท้าหน้าทั้งสองได้ สละเท้าหลังทั้งสองได้ สละศีรษะ หูทั้งสอง งาทั้งสองได้ สละหางได้ แต่ยังรักษางวงไว้ ยังไม่ยอมสละงวง ก็ยังไม่ชื่อว่าได้สละชีวิตเพื่อพระราชา ต่อเมื่อช้างศึกเชือกนั้นสละได้ทุกอย่าง คือยอมสละงวงได้ จึงจะชื่อว่าสละชีวิตเพื่อพระราชาได้อย่างแท้จริง”
       
       หลังจากที่พระราหุลอุปสมบทเป็นภิกษุได้ครึ่งพรรษา พระพุทธองค์ได้แสดงจุลลราหุโลวาทสูตร อันเกี่ยวเนื่องด้วยวิปัสสนา แก่พระราหุล เมื่อพระราหุลฟังแล้ว น้อมจิตพิจารณาไปตามพระธรรมเทศนา ก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล


        st11 st11 st11 st11 st11

       ตลอดระยะเวลา 45 พรรษา หลังจากตรัสรู้แล้ว พระพุทธองค์ได้เดินทางเสด็จไปประกาศหลักธรรมแด่ชาวโลก จวบกระทั่งวาระสุดท้ายแห่งชีวิต ได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อพระชนมายุได้ 80 ปี ในวันขึ้น 15ค่ำ เดือน 6 ซึ่งเป็นที่มาของวันวิสาขบูชา ณ สวนสาลวโนทยาน เมืองกุสินารา ใต้ต้นสาละ
       
       ก่อนดับขันธปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงให้ปัจฉิมโอวาทแก่พุทธบุตรผู้เป็นสาวกทั้งหลายว่า
       
       “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งปวงมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังกิจของตนและผู้อื่น ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด”


       ....ยังมีต่อ
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: 3 “พ่อเจ้า” ผู้ยิ่งใหญ่ ทรงอิทธิพลเหนือยุคสมัย
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: ธันวาคม 03, 2014, 08:38:19 am »
0


       • “พ่อหลวง” ของแผ่นดิน
       
       มาถึงพ่อเจ้าพระองค์ที่สาม “พระบาทสมเด็พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช” ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ณ โรงพยาบาลเมานท์ออเบอร์น รัฐแมสสาชูเซตต์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
       
       พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 จากนั้นทรงอภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 ณ วังสระปทุม ทั้งสองพระองค์มีพระราชธิดาและพระราชโอรส 4 พระองค์ คือ
       
       1. ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี
       2. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณฯ สยามมกุฎราชกุมาร
       3. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
       4. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

       

       ต่อมาวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ทรงประกอบพิธีบรมราชาภิเษก ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง เฉลิมพระปรมาภิไธยตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ” พร้อมกับพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการเป็นสัจวาจาว่า
       
       “เราจักครองแผ่นดินโดยธรรม
       เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม”
       
       แต่ทว่ามหาชนชาวสยาม ซึ่งถือเป็นลูกๆอันเป็นที่รักยิ่งของพระองค์กว่า 65 ล้านชีวิต นิยมเรียกขานนามของพระองค์ว่า “ในหลวง”, “พ่อหลวง” หรือ “หลวงพ่อของแผ่นดิน”
       
       พระองค์มักเสด็จแปรพระราชฐานไปทรงประทับพักผ่อน ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน และที่นี่เองที่เป็นจุดกำเนิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริโครงการแรกคือ พระราชทาน “ถนนห้วยมงคล” ให้แก่ “ลุงรวย” และชาวบ้านที่มาช่วยกันเข็นรถพระที่นั่งขึ้นจากหล่มดิน
       
       ถนนห้วยมงคลสายนี้ จึงถือว่าเป็นถนนสายสำคัญที่นำพระองค์ไปสู่โครงการในพระราชดำริ เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่พสกนิกรชาวไทยอีกจำนวนกว่า 4,000 โครงการอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

       

       พระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงบัลลังก์อยู่ในใจคน
       
       พ่อหลวงทรงได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลต้นแบบในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดนตรี กีฬา ด้วยพระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพแทบทุกด้าน แต่ที่งดงามตราตรึงประทับอยู่ในใจของลูกไทยทั้งผองก็คือ พ่อหลวงทรงให้เกียรติกับทุกคน
       
       “ความอ่อนน้อมถ่อมตน” คือคุณสมบัติที่เราทุกคนควรดูในหลวงเป็นแบบอย่าง พระองค์ท่านชื่อว่า เป็นพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวสยาม ก็เพราะความเป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตน
       
       ครั้งหนึ่งพ่อหลวงได้เสด็จพระราชดำเนินไปต่างจังหวัด โดยที่ไม่มีอยู่ในหมายกำหนดการ มีประชาชนเรือนแสนเฝ้ารับเสด็จ จู่ๆก็มีเด็กตัวกะเปี๊ยกเข้ามานั่งอยู่หน้าพระบาทบนพรมสีแดง


        :25: :25: :25: :25: :25:

       เมื่อพระองค์ท่านทรงพระดำเนินไปถึง เด็กคนนี้ก็ขยับมานั่งขวางไว้ พนมมือกราบพระองค์ แล้วบอกว่า “ขอเดชะ ผมป่วยมานานแล้ว อยากให้พระองค์ทรงเป่ากระหม่อมให้หน่อยครับ”
       
       พวกราชองครักษ์เห็นแล้วไม่พอใจ เพราะไม่มีอยู่ในหมาย ถามกันว่าเด็กคนนี้โผล่มานั่งขวางในหลวงตรงนี้ได้อย่างไร
       
       ขณะที่ในหลวงทรงก้มลงเป่ากระหม่อมให้เด็กคนนั้นตามที่เขาขอ พร้อมกับตรัสว่า “ขอให้หายนะลูก”
       
       เสร็จแล้วชักพระบาทจะดำเนินต่อ เจ้าหนูคนนี้บอกว่า “ขออีกสักครั้งเถอะครับ”

        st12 st12 st12 st12 st12

       พระองค์ก็ทรงก้มลงไปเป่ากระหม่อมให้อีกครั้งตามคำร้องขอ หลังจากนั้นก็ทรงชักพระบาทเตรียมพระดำเนินต่อ เจ้าหนูคนนี้ก็เอ่ยขึ้นอีกว่า
       
       “ไหนๆก็ไหนๆแล้ว ขอให้ครบสามครั้งเถิดนะครับ”
       
       พระองค์ทรงแย้มพระสรวล แล้วก็ทรงก้มลงมาเป่าให้อีกเป็นครั้งที่สาม หนูน้อยก้มลงกราบแทบพระบาทด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น

       

       เหตุการณ์นี้ไม่อยู่ในจดหมายเหตุราชกิจรายวัน แต่ยังอยู่ในใจของเด็กน้อยตลอดมา แม้ว่าเวลาล่วงเลยไป 50-60 ปีแล้ว
       
       เพราะเมื่อปี 2556 เจ้าหนูคนนั้นบัดนี้มีอายุ 70 กว่าปี ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์บอกว่า
       
       “ผมรักในหลวงมาก ในหลวงให้ไปตายผมก็ไป ในหลวงจะเอาชีวิตผมก็ยอม เพราะอะไร ก็เพราะว่าตอนที่ผมยังเด็ก ในหลวงทรงให้เกียรติผมมาก ผมขอให้เป่ากระหม่อม พระองค์ก็ทรงเสียเวลากับเด็กเล็กๆอย่างผม นั่นเป็นครั้งเดียวที่ทรงเป่ากระหม่อมผม แต่ทรงเข้าไปอยู่ในใจผมจากวันนั้นจวบจนถึงวันนี้”
       
       นี่คือคำตอบที่ว่า ทำไมคนไทยทั้งชาติจึงรักพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 9 เหลือเกิน นั่นก็เพราะพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่มีบัลลังก์อยู่ในหัวใจคนนั่นเอง

       
จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 168 ธันวาคม 2557 โดย พระเจนสมุทร
http://www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9570000137440
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ