นักโบราณคดีฟันธง..ซากมหาวิทยาลัยเตลฮารา เก่าแก่กว่านาลันทาและวิกรมศิลา อินเดีย : ทีมนักโบราณคดีเมืองปัตนะ รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ค้นพบความจริงที่เผยให้เห็นว่า เมล็ดพันธุ์แห่งการศึกษาขั้นสูงของอินเดียนั้น หยั่งรากลึกเกินกว่าที่เคยเข้าใจกัน เนื่องจากการขุดสำรวจล่าสุด พบหลักฐานชิ้นสำคัญที่ยืนยันว่า ซากปรักหักพังของมหาวิทยาลัยเตลฮารา ในรัฐพิหาร มีอายุมากกว่ามหาวิทยาลัยนาลันทาและวิกรมศิลา
“ทีมนักโบราณคดีขุดพบตราประจำวัด 4 อัน ในเขตนาลันทา ทำด้วยกระเบื้องดินเผา จารึกชื่อของมหาวิทยาลัยด้วยภาษาบาลีว่า 'ศรีประทัมชีวปุระ มหาวิหาร ภิกษุ สังฆะ' ซึ่งเป็นชื่อจริงของมหาวิทยาลัยเตลฮารา”
อานันท์ คิชอร์ รัฐมนตรีด้านงานศิลปวัฒนธรรม และเยาวชน แห่งรัฐพิหาร กล่าว และเสริมว่า พระเสวียนจั้ง (พระถังซัมจั๋ง) ภิกษุจีนเขียนบันทึกไว้ว่า เคยเดินทางมายังเตลฮาราในคริสต์ศตวรรษที่ 7 ซึ่งท่านเรียกว่า “เตเลียดากา” 
นอกจากนี้ ยังขุดพบก้อนอิฐที่ใช้ก่อสร้างตัวฐานรากของมหาวิทยาลัย ขนาด 42x32x6 ซม. ทำในยุคจักรวรรดิกุษาณะ ราวคริสต์ศตวรรษที่ 1 อันเป็นหลักฐานสำคัญที่ชี้ว่า มหาวิทยาลัยเตลฮารามีอายุมากกว่ามหาวิทยาลัยนาลันทา ซึ่งสร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 5 และมหาวิทยาลัยวิกรมศิลา ซึ่งสร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 8-9 และยังลบล้างความเชื่อก่อนหน้านี้ที่ระบุว่า เตลฮาราสร้างในสมัยจักรวรรดิคุปตะ (คริสต์ศตวรรษที่ 4-7)
ทั้งนี้ การขุดสำรวจพื้นที่เตลฮาราเริ่มขึ้นในปี 2009 พบซากมหาวิทยาลัยเตลฮารา พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์และหิน และดวงตรากว่า 100 อัน จมอยู่ในเนินดินสูง 45 ฟุต นับเป็นซากมหาวิทยาลัยสมัยโบราณแห่งที่ 3 ที่ขุดพบในรัฐพิหาร นอกเหนือจากซากมหาวิทยาลัยนาลันทาและวิกรมศิลา จาก Thenewsreports.com
จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 170 กุมภาพันธ์ 2558 โดย เภตรา
http://manager.co.th/Dhamma/viewnews.aspx?NewsID=9580000012688