ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: สมเด็จพระพุฒาจารย์(ศรี) องค์เดียวที่บรรจุฮวงซุ้ย  (อ่าน 4019 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29288
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

สมเด็จพระพุฒาจารย์(ศรี) องค์เดียวที่บรรจุฮวงซุ้ย
โดย...สมานสุดโต

ในบรรดาพระมหาเถระระดับสมเด็จพระราชาคณะนั้น ถ้ามรณภาพแล้ว จะต้องได้รับพระราชทานโกศบรรจุศพ พร้อมเครื่องประกอบเกียรติยศอย่างสมเกียรติ และจะได้รับการพระราชทานเพลิงศพเมื่อออกเมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์  แต่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สี หรือศรี) แห่งวัดปทุมคงคา เขตสัมพันธวงศ์ ได้รับพระราชทานดินบรรจุศพ เพราะก่อนมรณภาพท่านสั่งให้บรรจุศพในฮวงซุ้ย เนื่องจากเป็นชาวจีน จึงเป็นพระมหาเถระเพียงรูปเดียวที่ได้รับการบรรจุศพแบบจีน

วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีพระพรหมเสนาบดีเป็นเจ้าอาวาสเป็นวัดโบราณ มีชื่อเดิมว่า วัดสำเพ็ง มีประวัติศาสตร์ที่น่าศึกษามากมายหลายเรื่อง คอลัมน์นี้เคยเสนอไปแล้วเช่น เรื่องแท่นหินที่ใช้รองรับในการสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ต่อหม่อมไกรสร หรือกรมหลวงรักษ์รณเรศ อดีตเจ้ากรม สังฆการี ที่จงรักภักดีต่อพระศาสนา เมื่อวันพุธ เดือนอ้าย แรม 3 ค่ำ ปีวอก สัมฤทธิศก จ.ศ. 1210 ตรงกับวันที่ 13 ธ.ค. พ.ศ. 2391 รวมพระชันษา 56 ปี และเป็นพระราชวงศ์องค์สุดท้ายที่ถูกสำเร็จโทษด้วยวิธีนี้

ท่านเป็นต้นตระกูลพึ่งบุญ ณ อยุธยา ลูกหลานตระกูลนี้ เช่น ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้สร้างศาลากรมหลวงรักษ์รณเรศ เพื่อประดิษฐานแท่นหินประวัติศาสตร์ที่มีชิ้นเดียวในโลกที่วัดปทุมคงคาแห่งนี้


วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร ขอบคุณภาพจากเฟซบุ้ควัดปทุมคงคาราชวรวิหาร


เมื่อข้ามถนนทรงวาดไปอีกฟากหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงเรียนมัธยมปทุมคงคามาแต่เดิม  ปัจจุบันเป็นโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร แต่อาคารเรียนชื่อว่า ตึกจีนเทียนประสิทธิ์ พ.ศ. 2472 กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ซึ่งมี 2 อาคารด้วยกัน สวยงามเป็นอย่างยิ่ง

ณ ด้านหนึ่งของอาคารเรียนโบราณสถานแห่งนี้ มีฮวงซุ้ยบรรจุศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ศรี อโนมสิริ) อดีตเจ้าอาวาสวัดปทุมคงคา ในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งมรณภาพเมื่อ 6 พ.ย. พ.ศ. 2437 ในรัชกาลที่ 5 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานดินบรรจุศพ ในฮวงซุ้ยที่ก่อสร้างแบบจีนผสมไทย เนื่องด้วยมีเจดีย์ประดิษฐานอยู่ด้วย จึงนับว่าเป็นพระมหาเถระเพียงรูปเดียวที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณในการพระราชทานดินบรรจุศพ

นอกจากนั้นท่านยังเป็นพระเถระที่มีคุณสมบัติพิเศษที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรด โดยพระราชทานเปรียญธรรมเพิ่มให้อีก 1 ประโยค เพื่อให้เป็นมหา 9 ประโยค นับเป็นพระเถระเพียงรูปเดียวในยุครัตนโกสินทร์ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณนี้  ทั้งนี้ เพราะความรู้ท่านเป็นที่ยอมรับว่าเป็นเปรียญธรรม 9 ประโยค แต่ไม่ยอมแปลให้ได้ชั้นสูงสุด พอแปลได้ 8 ประโยคก็หยุด

ยิ่งกว่านั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์(ศรี) บวชเป็นมหานิกายที่วัดปทุมคงคา แล้วไปถวายตัวกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร แล้วแปลงเป็นพระธรรมยุตอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหารนั้นเอง


อุโบสถวัดปทุมคงคาราชวรวิหาร ขอบคุณภาพจากเฟซบุ้ควัดปทุมคงคาราชวรวิหาร


    ซึ่งพระมหาปกรณ์ กิตติธโร ป.ธ.9 เขียนไว้ว่า
    สมเด็จพระพุฒาจารย์ นามเดิมว่า สี หรือ ศรี เกิดในรัชกาลที่ 2 เมื่อปีจอ พ.ศ. 2357 ณ บ้านตำบลสำเพ็ง บิดาเป็นชาวจีนแซ่อึ้ง ในรัชกาลที่ 3 บวชเป็นสามเณรที่วัดปทุมคงคา และได้อุปสมบทที่วัดปทุมคงคา
    เมื่อ พ.ศ. 2377 แล้วได้เข้าแปลปริยัติธรรม ได้เป็นเปรียญ 3 ประโยค ภายหลังเข้าถวายตัวเป็นศิษย์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งยังทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศ ต่อมาบวชแปลงเป็นธรรมยุติกา อยู่ที่วัดบวรนิเวศ จากนั้นเข้าแปลพระปริยัติธรรมอีกได้ 5 ประโยครวมเป็น 8 ประโยค
    รัชกาลที่ 4 พระราชดำริว่า ความรู้ของท่านควรถึง 9 ประโยค แต่ไม่แปลต่อไป จึงพระราชทานเติมให้อีก 1 ประโยค รวมเป็น 9 ประโยคพร้อมกับทรงตั้งเป็นพระครูฐานานุกรมของพระองค์ที่พระครูอโนมสาวัน

    เมื่อทรงลาสิกขามาครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงตั้งให้เป็นพระราชาคณะฤกษ์ที่พระวรญาณมุนี ภายหลังเปลี่ยนราชทินนามเป็น พระอโนมมุนี พร้อมกับอาราธนาไปครองวัดปทุมคงคา
    ถึงรัชกาลที่ 5 โปรดให้เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ที่พระพรหมมุนี
    ต่อมา พ.ศ. 2430 ทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์


พระประธานในอุโบสถวัดปทุมคงคาราชวรวิหาร ขอบคุณภาพจากเฟซบุ้ควัดปทุมคงคาราชวรวิหาร


    วิจิตร สมบัติบริบูรณ์ ป.ธ.9 เขียนไว้ในทำเนียบเปรียญธรรม 9 ประโยค สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ว่า
    สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ศรี อโนมสิริ) วัดปทุมคงคา สอบได้เปรียญธรรม 8 ประโยค ในสมัยรัชกาลที่ 3 แล้วไม่ยอมเข้าสอบอีก เป็นพระครูอโนมสาวัน ตำแหน่งพระครูคู่สวดฐานานุกรมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งทรงผนวช จนตลอดรัชกาลที่ 3
    ถึงรัชกาลที่ 4 ทรงพระดำริว่า ความรู้ท่านถึงภูมิเปรียญธรรม 9 ประโยค แต่หากไม่แปลเอง จึงพระราชทานเพิ่มเติมให้อีก 1 ประโยค รวมเป็น 9 ประโยค และทรงตั้งให้เป็นพระราชาคณะฤกษ์ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อปีกุน พ.ศ. 2394 ที่พระวรญาณมุนี และในปีเดียวกันก็ทรงเปลี่ยนราชทินนามให้ใหม่ว่า พระอโนมมุนี

    รุ่งขึ้นปีชวด พ.ศ. 2395 โปรดให้ท่านเป็นหัวหน้าสมณทูตเดินทางไปลังกาทวีป และโปรดให้ย้ายจากวัดบวรนิเวศไปเป็นเจ้าอาวาสวัดปทุมคงคา พ.ศ. 2415 เป็น พระพรหมมุนี และ พ.ศ. 2430 เป็น สมเด็จพระพุฒาจารย์
    เล่ากันว่า ในสมัยสอบแปลปากเปล่า ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสอบรูปหนึ่ง และมักพบคู่กับ พระสาสนโสภณ(สา) ท่านเคร่งครัดในการแปลมาก เป็นที่เกรงขามของภิกษุสามเณร ผู้เข้าสอบถึงกับเรียกขานท่านกรรมการทั้งสองว่า ยักษ์สา ยักษ์ศรี
    เฉพาะพระสาสนโสภณ(สา) ไม่เข้มงวดกวดขันมากนัก แต่พระอโนมมุนี(ศรี) เข้มงวดกวดขันไม่ผ่อนผันให้ง่ายๆ เลย


     st12 st12 st12 st12 st12

    เล่ากันว่า ภายหลังจากสอบไล่เสร็จประจำวันแล้ว ท่านมักเดินเปลี่ยนเส้นทางกลับวัดเสมอ
    เพราะท่านได้รับบัตรสนเท่ห์อยู่เนืองๆว่า ระวังตัวให้ดีจะถูกลอบทำร้ายเวลากลับวัด
    ทั้งนี้เกิดจากภิกษุสามเณรที่ไม่พอใจในความเข้มงวดกวดขันของท่าน

    เนื่องจากท่านมีเชื้อสายเป็นคนจีน เมื่อจวนจะมรณภาพท่านได้สั่งไว้ว่า
    ให้ฝังศพท่านตามประเพณีจีนเมื่อท่านมรณภาพเมื่อวันอังคาร ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 12 ปีมะเมีย พ.ศ. 2437 สิริอายุ 81 ปี พรรษา 61 ศพของท่านจึงฝังอยู่ที่ฮวงซุ้ยที่วัดปทุมคงคาจนปัจจุบันนี้


ขอบคุณภาพและบทความจาก
www.posttoday.com/ธรรมะ-จิตใจ/341777/สมเด็จพระพุฒาจารย์-ศรี-องค์เดียวที่บรรจุฮวงซุ้ย
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 05, 2015, 11:39:02 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ