แห่นาคโหด-ต้นผึ้ง ตะลึงแห่อีสาน
โดย...กาญจน์ อายุ
ฉันเห็นนาคลอยในอากาศ ฉันเห็นพระธาตุกลางต้นผึ้ง นี่ไม่ใช่ภาพนิมิตแต่เจอมากับตัวที่งานแห่นาคโหด จ.ชัยภูมิ และงานบูชาพระธาตุศรีสองรัก จ.เลย ทั้งสองประเพณีจัดต่อเนื่องกันช่วงงานบุญเดือน 6 ของชาวอีสานหรือวันหยุดยาวที่ผ่านมา
2 พ.ค. 2558 แห่นาคโหด
งานบวชนาคมีอยู่ทั่วไปทุกจังหวัด เป็นพิธีกรรมของชายวัย 20 ปีขึ้นไปที่จะบวชเพื่อทดแทนคุณพ่อแม่แต่ที่บ้านโนนเสลา-โนนทัน จ.ชัยภูมิ มีวิธีการแห่นาคที่ไม่ธรรมดา จากปกติที่นาคจะนั่งอยู่บนแคร่หรือรถยนต์อย่างสงบนิ่ง เป็นต้องยื้อยุดตัวเองไม่ให้ตกจากแคร่
นาคจับเชือกสองข้างไว้เพื่อพยุงตัวเองไม่ให้หลุดจากที่นั่ง
งานแห่นาคโหดเริ่มต้นเมื่อปี 2514 เมื่อนักเลงหัวไม้ประจำหมู่บ้านชื่อ โอด ขวัญกล้า นุ่งชุดนาคถูกแห่ไปยังวัดตาแขก (วัดประจำหมู่บ้าน) เกิดนึกสนุกตะโกนให้คนหามโยกแคร่แรงๆ ตามประสานักเลง “ใครไม่ทำจะไม่แจกขนม” เขาว่าอย่างนั้น ทุกคนจึงโยกแห่ไปตลอดทาง ซึ่งนับตั้งแต่นั้นมาก็กลายเป็นเรื่องสนุกสนานสืบทอดถึงปัจจุบัน
ตอนนี้ผู้กำเนิดแห่นาคโหดอายุ 64 ปีแล้วแต่ยังสัมผัสได้ถึงนิสัยนักเลงของตาโอด เขามาร่วมงานปีนี้ด้วยความรู้สึกผิดหวังเล็กน้อยที่มีนาคเพียง 9 องค์ เพราะทุกปีมีถึง 20 องค์ ไม่อยากจะนึกภาพว่าถ้านาค 20 องค์ถูกแห่โหดพร้อมกันแล้วจะเกิดอะไรขึ้น แค่นี้คนก็ล้นวัดแล้วนาคจับเชือกสองข้างไว้เพื่อพยุงตัวเองไม่ให้หลุดจากที่นั่ง
อย่างไรก็ตาม วิธีแห่โหดไม่ได้บังคับให้นาคทุกองค์ทำ ถ้านาคองค์ไหนมีปัญหาด้านสุขภาพหรือไม่ประสงค์จะทำก็ไม่ต้องทำและขึ้นรถแห่ตามปกติก็ได้ ปีนี้ก็มี 1 องค์ที่ทำแบบนั้น
ขั้นตอนการบวชนาคเริ่มจากที่บ้านญาติผู้ใหญ่จะมาตัดผมให้ นำเงินและหมอนขิดมาให้พ่อแม่นาคเพื่อร่วมทำบุญ เจ้าภาพจะให้ขนมและเนื้อสดเป็นการตอบแทน การแลกเปลี่ยนกันนี้เรียกว่า “เรียกพี่เรียกน้อง” หมอนขิดที่นำมาร่วมกองบุญถือว่าจะได้บุญมากเพราะเป็นสิ่งของที่ทำได้ยาก แต่ปัจจุบันน่าจะซื้อแบบสำเร็จรูปมาแล้วโยกจะหงายท้อง
จากนั้นจะเดินไปขอขมาญาติพี่น้องตามบ้าน เดินไปคารวะปู่ตาเจ้าบ้าน ต่อด้วยคารวะหลักเสหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในวัดตาแขก ขึ้นศาลาการเปรียญเพื่อทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ และจบที่ขึ้นแคร่รอการแห่นาคโหด
แคร่สำหรับแห่ทำจากไม้ไผ่ ตรงกลางเป็นที่นั่งปูด้วยเบาะหลายชั้นเพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อนาคกระแทกแล้วจะไม่เจ็บ ที่นั่งกับคานถูกยึดอย่างแน่นหนาด้วยเชือก ไม่มีร่มบังแดดแต่มีเชือกให้จับสองข้างนาค 9 องค์เข้าพิธีบายศรีสู่ขวัญ
นาคจะถอดชุดเหลือแต่กางเกงและผ้าเฉียงไหล่ซ้ายขวา ใส่ถุงมืออย่างหนา นั่งขัดสมาธิและจับเชือกสองข้างไว้ คนหามสัก 20 คนได้ยกแคร่เหนือหัวพาหมุนเป็นวงกลม จากนั้นวินาทีสำคัญก็มาถึง คนหามส่งสัญญาณ นาคกำเชือกแน่น “เฮ้ย เฮ้ย เฮ้ย” นาคตัวลอยตามแรงโน้มถ่วงโลก คนหามโยกขึ้น-ลง 3 หนหรือมากกว่านั้น แต่โดยมากจะไม่เกินนี้เพราะนาคจะกระเด็นไปเสียก่อน
คนหามสนุกกันใหญ่ แต่นาคไม่สนุกด้วย ยังจำสีหน้านาคที่ถูกแห่โหดครั้งแรกได้ มันประกอบด้วยหลายอารมณ์ทั้งกลัว งง และเจ็บ ครั้งแรกยังตั้งตัวไม่ถูกกับความแรงของชายฉกรรจ์ 20 คน ซึ่งกว่าจะรู้จังหวะหน้าก็มีแผลถลอกไปแล้วนาคยินดีที่ญาติๆ มาตัดผมให้
ขบวนแห่นาคจะออกจากวัด วนรอบหมู่บ้าน และกลับมาวัด การแห่โหดจะมีตลอดเส้นทางแล้วแต่อารมณ์ของคนหามว่าอยากจะโหดตอนไหน แต่ก็มีหลายองค์ที่เปลี่ยนไปนั่งท้ายรถกระบะแทนเพราะแคร่หลุดบ้าง ได้รับบาดเจ็บบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ความผิดอะไรและไม่มีผลต่อการบวช
จากนั้นเมื่อนาคมาถึงวัดจะพักผ่อนและนอนบนศาลาการเปรียญข้ามคืนเพื่อเตรียมพร้อมบวชเป็นพระในเช้ามืดวันถัดไปเวลาตี 3 นาคจะเข้าพิธีบวชพระตามพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา เป็นอันเสร็จพิธีหมอนขิดที่ญาติพี่น้องนำมาถวายนาค
จากความคิดพิเรนทร์ของนักเลงกลายเป็นประเพณีแปลกที่มีหนึ่งเดียวในโลก และความเชื่อบางอย่างก็ถูกปรุงแต่งขึ้นมา อย่างความเชื่อเกี่ยวกับแคร่ที่เปรียบเหมือนเวลาแม่คลอดลูกจะต้องอยู่ไฟบนแคร่อย่างทรมาน การแห่นาคโหดก็เพื่อทดสอบว่าสามารถทนความลำบากบนแคร่เช่นมารดาได้หรือไม่และให้รู้ซึ้งถึงบุญคุณพ่อแม่ก่อนจะลาบวชเข้าสู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์
ถ้าใครได้เห็นการแห่นาคโหดของจริงจะรู้ว่าโหดจริง เจ็บจริง ซึ่งบางคนอาจมองว่าเป็นการทรมานร่างกาย แต่ถ้าบอกว่านี่คือประเพณีหรือสิ่งที่สืบทอดกันมาน่าจะทำให้ไร้ข้อกังขา มันคือวิถีชีวิตของชาวโนนเสลา-โนนทัน ที่ต้องทำเช่นนี้ทุกปีๆ โดยที่ไม่มีใครบังคับ และจะยังเกิดขึ้นไปจนกว่าคนในชุมชนไม่ต้องการเสียเองโยนต้นผึ้งบูชาพระธาตุศรีสองรัก
3 พ.ค. 2558 แห่ต้นผึ้ง
คนด่านซ้าย จ.เลย พากันเดินทางไปที่พระธาตุศรีสองรัก ผู้หญิงถือชะลอมใส่อาหาร ผู้ชายถือต้นผึ้งเทินไหล่ คนทั่วสารทิศมุ่งหน้าไปที่เดียวกันเนื่องในวันบูชาพระธาตุศรีสองรักประจำปี
ชาวบ้านจะหาร่มไม้ ปูเสื่อ นั่งปั่นเทียนติดต้นผึ้ง ต้นผึ้งทำจากกาบกล้วย ฐานเป็นสี่เหลี่ยม มีกระโดง4 ด้านมัดยอดบน ประดับด้วยเทียนแผ่นทำเป็นวงกลมบ้าง สามเหลี่ยมบ้าง ดอกไม้บ้าง (สมัยก่อนจะใช้ขี้ผึ้งอันเป็นสาเหตุของต้นผึ้ง) บ้างว่าเป็นสัญลักษณ์แทนปราสาทผึ้งที่มีขนาดใหญ่กว่า เมื่อทำเสร็จแล้วจะนำไปวางไว้บนลานทางขึ้นพระธาตุเพื่อรอให้เจ้าพ่อกวนมาทำพิธีเทียนทรงดอกไม้
งานนี้ผู้นำพิธีคือเจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียม ทั้งสองเป็นผู้นำความเชื่อของชาวด่านซ้าย เมื่อคณะเจ้าพ่อกวนมาถึงจะเดินเวียนรอบพระธาตุ 3 รอบ จากนั้นขบวนนาคเดินแห่ 3 รอบ แล้วเข้าทำพิธีกรรมในศาลาหน้าพระธาตุ หลังจากตรงนี้ประชาชนที่นำต้นผึ้งมาจะขึ้นไปแห่รอบพระธาตุ 3 รอบเมื่อครบผู้ชายจะนำต้นผึ้งไปไว้ที่ฐานพระธาตุ
จากเดิมที่ครอบครัวหนึ่งจะทำต้นผึ้งหนึ่งต้น ตอนนี้กลายเป็นทำ 3 ต้นหรือ 9 ต้นแล้วแต่ความเชื่อความสบายใจ ทำให้ต้นผึ้งมีจำนวนมากกองพะเนินสูงจนเกือบถึงกึ่งกลางพระธาตุ กลุ่มแรกๆ ที่วางต้นผึ้งยังคงเป็นระเบียบสวยงาม แต่เมื่อคนหลั่งไหลมาไม่ขาดสาย (ไม่ขาดสายเลยตลอด 3 ชม.)ทำให้คนหลังๆ ไม่มีที่วางจนต้องโยนต้นผึ้งขึ้นไปซ้อนกันคุณยายปิดทองที่กำแพงพระธาตุ
เมื่อคนสุดท้ายถวายต้นผึ้งเสร็จ เจ้าพ่อกวนจะกล่าวคำบูชาพระธาตุ และเริ่มพิธีสรงน้ำ ผู้ชายสามารถเข้าไปรอบฐานพระธาตุ แต่ผู้หญิงจะต้องอยู่ภายนอก ใช้ใบไม้จุ่มน้ำอบแล้วซิด (ซิดเป็นภาษาอีสานแปลว่าสลัด) ไปยังพระธาตุ วนรอบพระธาตุ 3 รอบ ตัวชาวบ้านเปียกโชกเหมือนเล่นน้ำสงกรานต์ และจบพิธีด้วยการเวียนเทียนรอบพระธาตุ 3 รอบเสร็จเวลาประมาณ 16.00 น.
เช้าจรดเย็นมีชาวบ้านจำนวนมากโดยเฉพาะคนแก่เข้าร่วมพิธีตั้งแต่ต้นจนจบ วันนั้นแดดร้อนจัดจนกระเบื้องร้อนผ่าวแทบเดินไม่ได้ ร่มไม้มีคนทุกระเบียดจนไม่อาจเบียดเสียดเข้าไป แต่ด้วยใจที่มาเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกันทำให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างใจเย็น นอกจากนี้ฉันยังเห็นพลังศรัทธา ก่อนจากลามองไปที่ต้นผึ้งสูงเกินครึ่งพระธาตุ นั่นคือรูปธรรมของความศรัทธาที่มากมายก่ายกองยกต้นผึ้งเทินหัวแห่รอบพระธาตุ
เจ้าแม่นางเทียมสรงน้ำอยู่ด้านนอกกำแพงพระธาตุ
เทียนไขเล่มยาวจำนวนมากนำมาถวาย
ขอบคุณภาพและบทความจาก
www.posttoday.com/กิน-เที่ยว/เที่ยวทั่วไทย/363888/แห่นาคโหด-ต้นผึ้ง-ตะลึงแห่อีสาน