ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ทุบ ‘อนารยสถาปัตย์’ วัดกัลยาณ์ปิดฉาก กรณีพิพาท ‘บ้าน-พระ’..!?!  (อ่าน 1083 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29346
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


ทุบ ‘อนารยสถาปัตย์’ วัดกัลยาณ์ปิดฉาก กรณีพิพาท ‘บ้าน-พระ’..!?!
สุพินดา ณ มหาไชย : รายงาน

คงเป็นปฏิบัติการที่ไม่ค่อยจะน่าดูสักเท่าไร กับภาพข้าราชการระดับสูงนำเจ้าหน้าที่เข้าทุบทำลายถาวรวัตถุภายในเขตพัทธสีมา ถ้าหากว่า การกระทำเช่นว่า ไม่เป็นไปเพื่อยุติข้อขัดแย้งในระดับสูงสุดระหว่างวัดกับบ้าน และเรียกคืน สถาปัตยกรรมล้ำค่าในอดีตกลับมา หลังจากที่ชาวบ้าน-ชาววัด ระหองระแหงกระทบกระทั่งกันมายาวนานหลายปี
   
ชื่อของ "วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร" เมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา ขจรขจายในอีกแง่มุมไปทั่วทุกสื่อ เมื่อกรมศิลปากรประกาศเดินหน้าเอาความกับเจ้าอาวาสวัด ผู้ไม่สนใจไยดีกับเสียงคัดค้านของชาวชุมชนที่ร้องขอให้ยุติการทุบทำลายโบราณสถานและโบราณวัตถุภายในวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระอารามหลวงแห่งนี้ ดำรงความยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ด้านศาสนา ความสวยสดงดงามด้วยศิลปะล้ำค่า เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธไตรรัตนนายก หรือหลวงพ่อโต พระพุทธรูปอนุสรณ์ของขันทีซำปอกง จนได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตั้งแต่ปี 2492 ภายใต้ชื่อวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร อันหมายความว่า พื้นที่บริเวณวัดทั้งหมดกว่า 10 ไร่ ทั้งเขตพุทธาวาส สังฆาวาส ถือเป็นเขตโบราณสถานที่ได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุฯ

   


อาคารศาลาราย 2 หลัง และสิ่งก่อสร้างอีก 20 หลังที่วัดสร้างขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งถูกระบุว่าขัดต่อ พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 เพราะสร้างขึ้นโดยทุบทำลายโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนไว้ นั่นหมายความถ้าหากคดีสิ้นสุด สิ่งปลูกสร้างหรืออาจจะจำกัดความว่าเป็น "อนารยสถาปัตย์" เหล่านี้ก็จะต้องถูกรื้อถอน
   
กรมศิลปากรได้มีหนังสือแจ้งเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรถึงทางวัดตั้งแต่ปี 2552 ไม่ให้ก่อสร้างอาคารเช่นว่า แต่ทางวัดก็ยังคงเดินหน้างานโยธาต่อไปจนแล้วเสร็จด้วยเหตุผลที่ว่า ต้องการบูรณะซ่อมแซมเพราะโบราณสถานเหล่านั้นชำรุดทรุดโทรม ขาดการเอาใจใส่จากกรมศิลปากร

   


วัดกัลยาณมิตรได้ฟ้องร้องต่อศาลปกครองว่า กรมศิลปากรไม่มีอำนาจขึ้นทะเบียนวัดเป็นโบราณสถาน อย่างไรก็ตาม ที่สุดศาลมีคำพิพากษาให้กรมศิลปากรมีอำนาจขึ้นทะเบียนและให้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย นั่นคือเข้ารื้อถอนศาลารายทั้ง 2 หลัง และสิ่งก่อสร้างอีก 20 หลังในลำดับต่อไป
   
14.00 น. วันที่ 24 กรกฎาคม 2558 บวรเวท รุ่งรจี อธิบดีกรมศิลปากร พร้อมด้วยบริษัท ซิตี้เซเว่น จำกัด และกำลังทหารจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 19 จำนวน 6 นาย ตำรวจจาก สน.บุปผารามอีก 20 นาย เดินทางไปยังวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหารเพื่อลงมือปฏิบัติการตามกฎหมาย หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ยุติการกระทำที่ชาวชุมชนย่านวัดกัลยาณ์ไม่อาจจะยอมรับได้อีกต่อไป แน่นอนว่า เหตุการณ์ในวันนี้นอกจากจะไม่มีแรงต่อต้านใดๆ จากภายในวัดแล้ว ชาวบ้านผู้อาศัยอยู่ในย่านละแวกผู้พามาดูเหตุการณ์ ก็เหมือนกับจะพอใจกับชัยชนะที่พวกเขาร่วมกันต่อสู้มาอย่างยาวนาน เพียงแต่กรมศิลปากรเข้ามาทำหน้าที่ "ปิดจ๊อบ" ในเวลาต่อมา

   


มีตัวแทนกรรมการวัดลงมาพยายามขอเจรจากับอธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมไม่มีผลใดๆ เกิดขึ้น แม้ว่า วัดจะได้ติดป้ายประกาศไว้ที่ศาลารายว่า ศาลารายนี้สร้างด้วยเงินบริจาค เป็นศาสนสมบัติของพุทธศาสนาและสมบัติของวัด เพื่อการศึกษาพระปริยัติธรรมของพระภิกษุสามเณร ผู้ใดเจตนาทุบรื้อทำลาย มีความผิดตามกฎหมาย ทางวัดจะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้นั้นทันที
   
ซึ่งนั่นก็เป็นเพียงแต่คำขู่ผ่านตัวอักษรที่ไม่มีกฎหมายข้อใดรองรับ จึงเป็นธรรมดาอยู่เอง เมื่อเจ้าหน้าที่ของบริษัทเอกชนลงมือทุบอาคารศาลาราย ก็ไม่ได้มีใครออกมาต่อต้านเหมือนคำขู่ที่ประกาศเอาไว้ 
   
“ทางเราจะรื้อถอนอย่างดี สิ่งไหนที่ยังใช้ได้ก็จะกรองเก็บไว้ให้วัด ถ้าภายใน 15 วัน ทางวัดไม่มาทำการใดๆ ก็จะนำออกขายทอดตลาด เพื่อหักเป็นค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน ซึ่งการรื้อถอนศาลาราย 2 หลังนี้ ใช้เงิน 4 แสนบาท และคาดว่าจะดำเนินการรื้อถอนได้เสร็จภายใน 1 เดือน” บวรเวทกล่าว

   


บวรเวท ยืนยันว่า ก่อนเข้ารื้อถอนได้ทำหนังสือแจ้งมายังทางวัดตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมา และเจ้าหน้าที่ของวัดเซ็นหนังสือรับทราบแล้ว ซึ่งในทางกลับกัน หากกรมศิลปากรไม่ดำเนินการใดๆ ก็จะถูกฟ้องร้องเช่นกันว่า ละเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ อีกทั้งการดำเนินการครั้งนี้ก็เพื่อปกป้องโบราณสถาน
   
"หากทุบทำลายโบราณสถานแล้วกรมศิลปากรไม่ดำเนินการใดๆ โบราณสถานก็จะถูกทุบทำลายอยู่ตลอดเวลา จนสุดท้ายก็จะไม่เหลือโบราณสถาน"
   
ยังมีคำถามว่า เมื่อทุบทำลายสิ่งปลูกสร้างเสร็จแล้ว ภาพอดีตของวัดกัลยาณมิตร โบราณสถานสำคัญตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 3 จะเป็นเช่นไร บวรเวทยืนยันว่า กรมศิลปากรจะก่อสร้างศาลารายตามแบบที่ขึ้นทะเบียนไว้ขึ้นมาใหม่ พร้อมกันนั้น ก็จะฟ้องร้องทางแพ่งกับการกระทำความผิด เพื่อเรียกค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างต่อไปอีกด้วย

   


ด้าน วัชรา พรหมเจริญ ประธานกรรมการที่ปรึกษาวัดกัลยาณมิตรให้สัมภาษณ์ว่า เขาพยายามที่จะขอคุยกับอธิบดีกรมศิลปากรก่อน แต่ก็ได้รับการปฏิเสธซึ่งก็ไม่รู้จะทำอย่างไร
   
"จริงๆ แล้ว วันนี้ก็ยังตั้งตัวไม่ทัน และได้ปรึกษากับเจ้าอาวาสแล้วว่า คงไม่สามารถไปขัดขวางการรื้อถอนได้ เพราะกรมศิลปากรได้แจ้งว่า การเข้าขัดขวางเจ้าหน้าที่จะต้องโทษ มีความผิดตามกฎหมาย" นายวัชรายอมรับโดยไม่มีทางเลือกอื่น นอกเสียจากปล่อยไปก่อน และจะรอปรึกษากับฝ่ายกฎหมายก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไรกับการที่กรมศิลปากรบอกว่า จะรื้อถอนอาคารอีกถึง 20 หลัง
   
ความระหองระแหงระหว่างชาวบ้านกับชาววัดจะยุติลงหลังจากนี้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป เพราะถึงอย่างไรก็คงไม่มีชาวพุทธคนไหน ทนเห็นภาพที่พระสงฆ์จากวัดกัลยาณมิตรไม่สามารถออกบิณฑบาตตามชุมชนรอบวัดได้อีก ขณะที่ชาวบ้านเองก็บอกว่า เมื่อต้องประกอบพิธีกรรมทางศาสนาโดยเฉพาะงานฌาปนกิจศพ ก็ต้องไปอาศัยเมรุเผาศพจากวัดอื่นแทน เพราะนับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา เมรุเดิมของวัดถูกทุบลงพร้อมๆ กับการมาถึงของเจ้าอาวาสรูปใหม่ ที่กลายเป็นคู่ขัดแย้งของชาวบ้านในเวลาต่อมา


ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://www.komchadluek.net/detail/20150725/210410.html
ขอบคุณภาพจาก
http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000083992
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ