« เมื่อ: สิงหาคม 20, 2015, 10:18:55 am »
0
"พระพรหมเอราวัณ" พลิกปูมศรัทธาและความเลื่อมใสของคนจีน
การเกิดเหตุระเบิดที่สี่แยกราชประสงค์ใกล้กับศาลพระพรหมเอราวัณนั้น ทำให้คนไทยและนักท่องเที่ยวชาวจีนเสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก แต่องค์พระพรหมได้รับแรงระเบิดจนเกิดความเสียหายน้อยมาก ทั้งที่อยู่บริเวณเดียวกัน ทำให้มีการกล่าวถึงปาฏิหาริย์ของ*องค์พระพรหมเอราวัณ*กันหนาหูผ่านปากต่อปากและทางโซเขียล เน็ตเวิร์ค กันมากมาย
แน่นอน ความเชื่อความศรัทธาไม่มีเส้นแบ่งของเชื้อชาติและพรมแดน ความศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระพรหมเอราวัณเกิดขึ้นได้อย่างไร? มีที่มาที่ไปน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
จากเหตุการณ์นี้มีหลายคนในโลกออนไลน์ หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไปต่างจับกลุ่มพูดคุย หลายคนพยายามตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ “องค์พระพรหมเอราวัณ” ว่า แรงระเบิดทรงพลานุภาพขนาดนี้ทำไมพระพรหมถึงไม่เป็นอะไรเลย
นั่นก็เป็นสิทธิของคนที่อยากรู้ คำตอบก็คงมีหลากหลายแตกต่างกัน ตามความเชื่อและความเห็นของแต่ละคน ความคิดเห็นถึงเรื่องพระพรหมเอราวัณไม่เสียหายมากจากเฟซบุ๊กมีที่น่าสนใจอยู่หลายบัญชีรายชื่อ แต่จากบุคคลที่ใช้ชื่อว่า Dawaraga Faey Awatayabura มีมุมมองที่น่าสนใจและอยู่พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่อธิบายได้อยู่พอสมควร
"ที่ฮือฮาปาฏิหาริย์พระพรหมโดนระเบิดใกล้ๆ ทำไมไม่เป็นอะไรเลย (ยกเว้นคางโดนเสยแหว่งไปราวกับโดนหมัดเด็ดของไมค์ ไทสัน เอ๊ย อันนั้นมันหู) ผมว่าไม่ใช่ปาฏิหาริย์นะฮะ ถ้าลองมองดูจริงๆว่าระเบิดนั้นถูก ‘วาง’ โดยจงใจให้ทิศการแผ่พุ่งของรัศมีระเบิดพุ่งออกด้านนอกรั้วเป็นหลัก ก็น่าจะพอเข้าใจได้ว่าทำไมพระพรหมไม่ค่อยจะโดนอะไร (แน่นอนว่าไอ้ที่ตายรอบๆ พระพรหมนี่ไม่เกี่ยวนะฮะ แรงอัด + สะเก็ดมันกระจายออกรอบๆ แต่ถ้าดูแนวรั้วจะเห็นว่าโป่งออกไปทางถนน...
ผมไม่รู้ว่าไอ้ระเบิดอีกลูกสองลูกนั้นอยู่ตำแหน่งไหนกันแน่อย่างชัดเจน และไม่รู้ว่าเพราะอะไรมันถึงไม่ระเบิด แต่ถ้าหากคิดในรูปแบบสงครามกองโจร ระเบิดลูกแรกไม่เพียงแต่ต้องการทำลายชีวิตเท่านั้น ยังต้องการให้เกิดการแตกซ่านของฝูงชนไปยังทิศที่ ‘เชื่อว่าปลอดภัย’ ซึ่งโดยทั่วไปคนมักหนีไปในทิศตรงกันข้ามกับสถานที่เกิดเพราะเชื่อว่าปลอดภัยกว่า แล้วระเบิดหรือกับดักที่วางไว้ในจุดนั้นก็จะทำงาน...สร้างโกโก้ครั้นช์ต่อไป
ที่เขียนมาเรื่อยเปื่อยนี่ไม่ใช่อะไรนะฮะ แค่อยากจะบอกว่า
1. พระพรหมไม่พังไม่ใช่ปาฏิหาริย์ แต่ ‘น่าจะเป็น’ การวางระเบิดแบบกำหนดทิศทางเป้าหมายอย่างมงายกับเรื่องปาฏิหาริย์จนลืมสาระสำคัญของเหตุการณ์
2. คนทำวางแผนมาแน่นอน และยังสำรวจภูมิสถานมาอย่างดี มีกลยุทธ์แบบมืออาชีพ
แน่นอน ทุกอย่างผมอาศัยข้อสันนิษฐานจากภาพข่าวต่างๆครับ
โปรดอย่าเชื่อโดยไม่ไตร่ตรอง"

จากจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บมีนักท่องเที่ยวชาวจีนอยู่ไม่น้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นชัดเจนมาหลายสิบปีแล้วว่า แรงศรัทธาและความเชื่อของนักท่องเที่ยวชาวจีนในประเทศแถบเอเชียแปซิฟิคต่อองค์พระพรหมเอราวัณนั้นล้นหลาม ทั้งนักธุรกิจ นักการเมือง ดารา ไฮโซ เซเลบบริตี้และคนทั่วไปต่างเดินทางมาสักการะบูชาไม่ขาดสาย รวมทั้งมีการจัดทัวร์มาไหว้พระพรหมโดยเฉพาะก็มี
พวกเขามาเพราะความเชื่อและศรัทธา!
พวกเขาเชื่อว่า พระพรหมเอราวัณ ที่ราชประสงค์นี้ ช่วยเขาได้ และให้สำเร็จในสิ่งต้องการ ในสิ่งที่ขอและบนบานศาลกล่าว
เรื่องที่ขอหรือบนบานศาลกล่าวจากองค์พระพรหมนั้น มีหลากหลายตามแต่ผู้ขอหรือบนบานต้องการขอเช่น ไม่มีลูกอยากได้ลูก ขายบ้านไม่ออกอยากขายได้ มีปัญหาธุรกิจอยากให้ธุรกิจราบรื่นรุ่งเรือง ตกงานอยากเปลี่ยนงานใหม่ขอให้ได้งาน เจ็บป่วยเป็นไข้ก็ขอให้หาย หรือนักศึกษาขอให้สอบผ่าน ดาราขอให้ได้งานดีๆ เข้ามาเยอะๆ บางคนก็ขอให้ชีวิตมีความสุข เป็นต้น

จุดเริ่มต้นเท่าที่สืบค้นได้ ในกระทู้หัวข้อ ‘ท้าวมหาพรหมเอราวัณ พระพรหมแห่งภาคพื้นเอเชีย’ ในเว็บไซต์เรือนไทย.วิชาการ.คอม ได้ให้ข้อมูลว่าในปี 2499 มีการในยุคนั้นการสร้างท้าวมหาพรหมถึง 3 แห่ง คือ
1.พระพรหม โรงแรมเอราวัณ
2.พระพรหม ทำเนียบรัฐบาล และ
3.พระพรหมโบสถ์พราหมณ์
พระพรหมที่โรงแรมเอราวัณ สร้างโดยกรมศิลปากร ฝีมืออาจารย์จิตร พิมพ์โกวิท จากกองหัตถศิลป์การปั้นหุ่นองค์พระพรหมด้วยปูนพลาสเตอร์จากฝรั่งเศส ครั้นขึ้นหุ่นแล้วพร้อมที่จะนำเข้าหล่อโลหะปรากฏว่าทางโรงแรมต้องการอัญเชิญไปตั้งเพื่อจะประกอบพิธี จึงได้อัญเชิญท้าวมหาพรหมขึ้นประดิษฐานในซุ้ม 4 หน้าและเมื่อการบวงสรวงเสร็จสิ้นลง ก็ไม่ได้นำพระพรหมกลับไปเพื่อทำงานเททองเป็นองค์โลหะ จึงยังคงประดิษฐานสืบมา ส่วนตัวศาลา 4 หน้านั้นออกแบบโดย ม.ล. ปุ้ม มาลากุล และนาลจุลรวี ชมเสวี เป็นซุ้มทรงปราสาทสีหน้าทาสีขาว และมาประดับกระจกภายหลัง

สำหรับศาลพระพรหมเอราวัณ แยกราชประสงค์นี้ ถูกสร้างขึ้นมาอันเนื่องมาจากการที่พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ มีกำหนดให้มีการก่อสร้างโรงแรมเอราวัณ ขึ้นบริเวณสี่แยกราชประสงค์ เพื่อรองรับแขกต่างประเทศในปี 2494
แต่ในช่วงแรกของการก่อสร้างได้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง แต่หลังก่อสร้างเสร็จในปลายปี 2499 ผู้บริหารโรงแรมจึงได้ติดต่อ พลเรือตรีหลวงสุวิชานแพทย์ ร.น. นายแพทย์ใหญ่ กองทัพเรือ ซึ่งชำนาญในการนั่งทางในและการให้ฤกษ์ ได้หาฤกษ์วันเปิดโรงแรม
ปรากฏพลเรือตรีหลวงสุวิชานแพทย์ได้ท้วงติงการก่อสร้างโรงแรมไม่ได้มีการทำพิธีบอกสิ่งศักดิ์สิทธิ์บริเวณดังกล่าว อีกทั้งฤกษ์ในการวางศิลาฤกษ์ของโรงแรมก็ไม่ถูกต้อง
นอกจากนี้ชื่อโรงแรมยังเป็นชื่อของช้างทรงของพระอินทร์ (ท้าวสักกะ) ด้วยและถือเป็นชื่อที่ศักดิ์สิทธิ์ดังนั้น จึงควรต้องทำให้ถูกต้องและเหมาะสม
พลเรือตรีหลวงสุวิชานแพทย์จึงแนะวิธีแก้ ด้วยการให้ตั้งศาลพระพรหมทันทีหลังการก่อสร้างโรงแรมเสร็จ นี่คือที่มา

สำหรับลักษณะของพระพรหมองค์นี้ กายสีทอง สี่พักตร์ (สี่หน้า) แปดกร (8 มือ) ในแต่ละกรทรงอาวุธที่แตกต่างกันออกไป อาทิ คทา จักร แว่นแก้ว สายประคำ ธารพระกรไม้เท้า ช้อน หม้อน้ำคัมภีร์พระเวท ทรงหงส์เป็นพาหนะ และมีพระสุรัสวดีเป็นพระมเหสี
ส่วนวิธีบูชาที่ปฏิบัติกันมาคือ ความที่พระพรหมมี 4 พักตร์ 4 ทิศ การบูชาจึงต้องบูชาให้ครบทั้ง 4พักตร์ 4 ทิศ ด้วยธูป 9 ดอก เทียน 2 เล่ม และเตรียมของในการสักการบูชาให้ครบ 4 ธาตุก่อนซึ่งธาตุที่ว่าก็มีดิน น้ำ ลม ไฟ จากนั้นจึงไหว้ให้ครบทั้ง 4 ทิศ

ความเชื่อและความเลื่อมใสศรัทธาได้เกิดขึ้นมาจาก “พรขอ” ของผู้ที่อยากให้พระพรหมช่วยดลบันดาลประทานพรให้สมปรารถนา และพรขอเหล่านี้มักจะสำเร็จตามที่ผู้ขอต้องการ ซึ่งสามารถเห็นได้จากมีผู้ที่สมปรารถนาเดินทางมาแก้บนอยู่ทุกวันท่ามกลางผู้มาไหว้และขอพรมากมายทุกวัน
เมื่อย้อนไปปี 2549 เชื่อว่าหลายคนยังคงจำได้ มีชายคนหนึ่งไปทำลายองค์พระพรหมองค์นี้จนได้รับความเสียหายมาแล้ว และได้มีสร้างองค์ท้าวมหาพรหมเอราวัณขึ้นมาใหม่ โดยช่างสิบหมู่ของกรมศิลปากร ซึ่งวัสดุที่จะใช้ในการจัดสร้างยังคงใช้นวโลหะมงคล 9 อย่าง และมีการนำเนื้อขององค์เก่า หรือชิ้นส่วนมาบรรจุไว้ในองค์
ซึ่งพระราชครูวามเทพมุนี หัวหน้าคณะพราหมณ์ประจำเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เป็นผู้นำสูงสุดแห่งลัทธิพราหมณ์ในประเทศไทย ได้แนะแนวทางว่า ควรที่จะมีการบรรจุองค์เดิม โดยบดให้เป็นเนื้อละเอียดเหมือนเม็ดทรายบรรจุลงในภาชนะแล้วใส่ไว้ในองค์เดิมและดำเนินการจัดสร้างอย่างประณีตและตรงตามหลักของศาสนาพราหมณ์และฮินดู
หลังจากนั้นก็จะนำไปบรรจุไว้ที่ตัวฐานของท้าวมหาพรหม เนื่องจากตามหลักศาสนาพราหมณ์มีความเชื่อเปรียบได้กับการนำกระแสแห่งความดีของท้าวมหาพรหมตั้งแต่สมัยโบราณที่ได้ก่อตั้งมา รวมทั้งการที่มีประชาชน
เข้ามากราบไหว้บูชาที่ศาลเหมือนเดิม ดังนั้นพลังงานและอณูความดีทั้งหลายก็จะแผ่กระจายออกมาในองค์ที่จะเทหล่อขึ้นใหม่โดยเป็นสัญลักษณ์แห่งการทำความดี คือ พรหมธรรม 4 ประการ และเป็นองค์ที่ประดิษฐานอยู่ในปัจจุบันนี้

โดยดั้งเดิมเมื่อเปิดศาลท่านท้าวมหาพรหมเอราวัณ ยังคงไม่มีอะไรทั้งสิ้น มีเพียงศาล พร้อมกระถางธูปหัวสิงโตทองเหลืองใบใหญ่และต้นไม้ตัดทรงพุ่มเตี้ย ๆ เท่านั้น แขกที่พักชาวต่างชาติหากเป็นชาวยุโรปก็ไม่สนใจ มีแต่คนไทยที่เดินผ่าน เจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ก็พากันมาไหว้เท่านั้น และเมื่อราว 40ปีก่อน เมื่อผู้มาสักการะเกิดประสบความสำเร็จในการที่ได้บนบานไว้ ก็หาละครมารำแก้บนถวายเป็นครั้งคราว โดยติดต่อไปยังเจ้าหน้าที่คุมศาลพระพรหม ซึ่งเจ้าหน้าที่เหล่านี้มาจากเจ้าหน้าที่ของโรงแรมเอราวัณ ที่ลงชื่อหมุนเวียนมาทำความสะอาด มาดูแลบริเวณศาล เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ของโรงแรมเอราวัณ
ละครรำสมัย 40 ปีก่อนรำถวายแก้บนแล้วก็กลับบ้านไป ไม่ได้มีประจำเหมือนอย่างปัจจุบันนี้ นาน ๆจะมีคนมาจ้างหาไปรำถวายสักรอบ

ชาวฮ่องกงผู้มาเข้าพักที่โรงแรมเอราวัณ ผู้ที่เข้ามาขอพรท้าวมหาพรหม เกิดประสบความสำเร็จในด้านธุรกิจ และได้บอกต่อไปยังเพื่อนพ้องว่า ให้มาไหว้พระสี่หน้า (ซี่ เมี่ยน ฝู) ที่เมืองไทยแล้วคุณจะโชคดีประสบความสำเร็จ และให้หาละครรำแก้บน (หว่านซั่น) ด้วยจึงจะโชคดี จึงเป็นที่มาของการละครที่เริ่มเข้ามามีบทบาท เนื่องจากผู้คนชาวไทย และต่างชาติเริ่มมีการให้มีการรำละครแก้บนหน้าองค์พระเกิดขึ้น
รวมถึงมีสามีภรรยาชาวฮ่องกงคู่หนึ่งอยู่กันมานานไม่มีบุตรสืบสกุลสักที มาเที่ยวเมืองไทย ก็เลยลองไหว้ขอลูกกับพระพรหม ปรากฏว่าเมื่อกลับฮ่องกงไป แกได้ลูกสมความปรารถนา ก็เลยเป็นเรื่องฮือฮากันมากจากนั้นก็เลยเป็นที่นิยมกันในฮ่องกงและไต้หวันว่าใครมีลูกยากอยากมีลูก ให้มาขอที่พระพรหมหน้าโรงแรมเอราวัณ เมืองไทย และส่วนมากที่มาไหว้ขอ ก็มักจะสมปรารถนาทั้งหมด ทำให้กลายเป็นกระแสของคนจีนที่อยู่ในแถบเอเชียแปซิฟิค เมื่อเดินทางมาเที่ยวเมืองไทยก็มักจะมาสักการะพระพรหมเอราวัณเพื่อของพร และเมื่อสำเร็จดังมุ่งหมายก็กลับมาแก้บนด้วยละครรำจนถึงปัจจุบัน
สำหรับการบนบานการขอบุตรนั้น ปัจจุบันชาวจีนโพ้นทะเล ไม่ว่าที่มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนิเซียมาเก๊า ฮ่องกง จะนิยมมาขอเป็นอย่างสูง บางครั้งก็จะนำลูกที่ขอนั้นนำกลับมาแสดงความเคารพ บ้างก็คุยให้รู้ไปทั่วเลยเพราะดีใจขนาดหนักว่า ตนเองได้ลูกชายแล้ว เพราะติดยากมาก มาขอท่านแป๊บเดียวได้ลูกสมใจอยากในที่สุด

การที่เรียกพระพรหมเอราวัณว่าเป็น ‘พระพรหมแห่งภาคพื้นเอเชีย’ เนื่องจากสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ ต้องมาของทัวร์จีน และทัวร์ไหว้เจ้าของประเทศฮ่องกง, ไต้หวัน, จีน (บางพื้นที่), มาเก๊า, เกาะไหหลำ, เวียดนาม, พม่า, มาเลเซีย (ปีนัง - กัวลาลัมเปอร์), สิงคโปร์, อินโดนิเซีย (สุราบายา - บาหลี - จาร์กาตา), ชาวจีนโพ้นทะเลที่สหรัฐอเมริกา, อินเดีย
ส่วนองค์พระพรหมเอราวัณที่ได้จำลองรูปแบบไปประดิษฐานยังต่างประเทศนั้น มีหลายประเทศเช่นที่ไต้หวัน ฮ่องกง (วัดต้าไม) สหรัฐอเมริกา (ที่ลาสเวกัส และไทยแลนด์พลาซ่า ฮอลีวู๊ด) และประเทศจีน (วัดม้าขาว กรุงปักกิ่ง)ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://www.posttoday.com/analysis/report/382763