ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: 'โรงเรียนพระปริยัติธรรม' ประทีปดวงน้อยของผู้ขาดแคลน  (อ่าน 1599 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

'โรงเรียนพระปริยัติธรรม' ประทีปดวงน้อยของผู้ขาดแคลน

นักเรียนในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาส่วนใหญ่ จะเป็นสามเณร จากลูกชาวเขาชาวดอย ลูกตาสีตาสาที่ยากจน ขาดแคลน ขาดโอกาสทางการศึกษา จะได้เรียนหนังสือโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

เมื่อเร็ว ๆ นี้ เดินทางไปยังจังหวัดน่าน กับกลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กองกลาง สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เยี่ยมชมการดำเนินงานโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ในโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตามโครงการศึกษาดูงาน “ตามรอยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กับพระคุณูปการด้านพระพุทธศาสนา” ใน 4 โรงเรียน

ได้แก่ โรงเรียนนันทบุรีวิทยา พระปริยัติธรรม ในอำเภอเมืองน่าน ซึ่งมีความโดดเด่นทางด้านสุขอนามัย โรงเรียนวัดดอนมงคลสันติสุขวิทยา พระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในอำเภอสันติสุข ซึ่งมีความโดดเด่นด้านเทคโนโลยี โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดภูเก็ต ในอำเภอปัว ซึ่งมีความโดดเด่นทางด้านงานช่างสิบหมู่ และโรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดพระธาตุแช่แห้ง ในอำเภอภูเพียง ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นแบบศาสนทายาท


 :25: :25: :25: :25:

หลายคนอาจจะสงสัยว่า โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ต่างจากโรงเรียนทั่วไปอย่างไร ซึ่งโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษานั้น เป็นโรงเรียนที่คณะสงฆ์โดยมหาเถรสมาคม (มส.) จัดตั้งขึ้นตามตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา พ.ศ. 2514 และ พ.ศ. 2535 ซึ่งปัจจุบันใช้ระเบียบสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติว่าด้วยโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา พ.ศ. 2546 ทำหน้าที่ให้การศึกษาแก่พระภิกษุ สามเณร ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ และใช้หลักธรรมคำสอนแห่งพระพุทธศาสนา อบรมให้ผู้เรียนได้มีศีลธรรมสมกับที่ประเทศไทยเป็นเมืองแห่งพระพุทธศาสนา

นักเรียนในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาส่วนใหญ่ จะเป็นสามเณร จากลูกชาวเขาชาวดอย ลูกตาสีตาสาที่ยากจน ขาดแคลน ขาดโอกาสทางการศึกษา จะได้เรียนหนังสือโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น มีอาหารการกินมีที่พักพร้อม เรียกได้ว่า เรียนฟรีแบบ 100% โดยกำลังสนับสนุนของคณะสงฆ์ พุทธศาสนิกชน และงบประมาณอีกน้อยนิดจากรัฐบาล แต่จะมีใครรู้หรือไม่ว่า โรงเรียนแห่งนี้ ได้กล่อมเกลาศีลธรรม ฝึกอาชีพ ความรู้ให้แก่นักเรียนได้เป็นอย่างดี จนสามารถเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้มากมายหลายรูป ทั้งที่โรงเรียนพระปริยัติธรรมบางแห่งไม่ได้สมบูรณ์แบบเหมือนโรงเรียนของทางโลกเลย

 st12 st12 st12 st12

สิ่งที่พวกเราได้สัมผัสเมื่อเดินทางไปถึงโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา แห่งแรก ซึ่งมีนายวรเดช ช่างบุ ผอ.สำนักงานพุทธมณฑล ผู้แทน นายพนม ศรศิลป์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นหัวหน้าคณะ ซึ่งในระหว่างการเข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานโรงเรียนนันทบุรีวิทยา พระปริยัติธรรม ซึ่งเปิดสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 สำหรับพระภิกษุสามเณร มีพระครูบวรเจติยารักษ์ (อินเดช) เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนนั้น ทางโรงเรียนได้มีการนำเสนอผลงานของพระภิกษุสามเณรที่เข้าเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะทางด้านวิชาการ พบว่า

ปีการศึกษา 2554-2557 มีพระ เณร ซึ่งเป็นนักเรียนของโรงเรียนสอบเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยของรัฐได้มากถึง 60 รูป เช่น วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยพะเยา วิศวกรรมศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร วิศวกรรมศาสตร์ สาขาเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นต้น

 st11 st11 st11 st11

มีกิจกรรมหนึ่งที่สร้างความทึ่งให้แก่คณะผู้เยี่ยมชมในครั้งนี้ คือ การให้สามเณรออกกำลังกายด้วยการฝึกท่าโยคะ เพื่อออกกำลังกายลดความอ้วน ลดความหนาว โดย พระปลัดธเนศ ธนมงฺคโล ครูสอนด้านสุขอนามัยโรงเรียนนันทบุรีวิทยาฯ เล่าให้ฟังว่า การนำโยคะมาให้สามเณรออกกำลังกายนั้น เริ่มมาตั้งแต่ปี 2545 เนื่องจากเห็นว่า

วิธีการออกกำลังกายของสามเณรที่ดูเหมาะสมกับสมณสารูปมากที่สุด คือ โยคะ ส่วนของท่าโยคะที่นำมาใช้นั้น จะมีท่าต้นไม้ ท่าตาย ท่าดึงข้อ และท่ายืดเอ็น โดยผู้ที่สอนสามเณรก็จะเป็นสามเณรด้วยกัน ทั้งนี้การที่ทางโรงเรียนเน้นให้สามเณรออกกำลังกาย เพราะโรงเรียนอยู่ในโครงการพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และทุกครั้งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จฯ มาเยี่ยมชมที่โรงเรียนก็จะทรงมีรับสั่งเป็นห่วงถึงความอ้วนของสามเณรทุกครั้ง

 ans1 ans1 ans1 ans1

สามเณรทรงศักดิ์ กล้าหาญ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนนันทบุรีวิทยา พระปริยัติธรรม บอกว่า บวชเป็นสามเณรตั้งแต่จบ ม.3 ซึ่งที่บ้านมีฐานะยากจน จึงไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ จึงอยากบวชและได้มาเรียนต่อที่นี่ตั้งแต่ ม.4 ซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัวได้มากเพราะที่นี่เรียนฟรีจริง ๆ ที่สำคัญยังได้เรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม ตอนนี้ได้นักธรรมโทแล้ว โดยตั้งใจว่าเมื่อจบ ม.6 แล้วจะไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) รวมทั้งตั้งใจว่าจะบวชเพื่อเป็นศาสนทายาท และอยากกลับไปสร้างวัด เปิดสำนักปฏิบัติธรรม เพื่อเผยแพร่หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไปสู่ญาติโยมด้วย

“ที่นี่ต่างจากโรงเรียนทางโลก ซึ่งนักเรียนที่นี่จะได้ศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ได้ฝึกโยคะออกกำลังกายตามสมณสารูป ได้ฝึกวิปัสสนากรรมฐาน ที่จะสามารถกล่อมเกลาจิตใจ รวมทั้งยังฝึกตนให้อยู่ในระเบียบวินัยตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา โดยไม่มีแบ่งชนชั้นวรรณะ สูงต่ำ ชาวเขาชาวดอย และรู้สึกภูมิใจที่ได้มาเรียนที่นี่ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงอุปถัมภ์และทรงห่วงใย สามเณร ที่ขาดโอกาสทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่า จะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลแค่ไหน พระองค์ก็ไม่เคยทอดทิ้ง”

แค่เพียงโรงเรียนแรกก็รู้สึกอิ่มเอิบใจในพระมหากรุณาของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รวมทั้งเห็นถึงความตั้งใจของคณะสงฆ์ที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ผืนแผ่นดินไทยและผู้ด้อยโอกาสที่บางครั้งสังคมได้มองข้ามพวกเขาไป


 ask1 ask1 ask1 ask1

คณะของเราได้ออกเดินทางต่อไปอีกหลายสิบกิโลเมตร ผ่านภูเขา เส้นทางคดเคี้ยว เพื่อไปยังโรงเรียนดอนมงคลสันติสุขวิทยา โรงเรียนแห่งนี้มีความโดดเด่นทางด้านเทคโนโลยี โดยพระครูถาวรรัตนานุกิจ ผอ.โรงเรียน ในฐานะประธานกลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา กลุ่มที่ 6 เล่าให้ฟังว่า เนื่องจากในปี 2535 เป็นต้นมาได้เกิดวิกฤติการขาดแคลนพระภิกษุสามเณรในแต่ละวัด จึงได้ตั้งโรงเรียนดังกล่าวขึ้นมา เพื่อสร้างศาสนทายาทแก่พระพุทธศาสนา ซึ่งโรงเรียนเราได้พัฒนาด้าน ไอซีที ตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา

ด้วยการจัดกิจกรรมชุมนุมคอมพิวเตอร์ในโรงเรียน ส่งผลให้นักเรียนสามเณรร้อยละ 95 มีความรู้ในการบำรุงรักษาแก้ไขซ่อมเครื่องคอมพิวเตอร์เบื้องต้นได้ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการถ่ายทอดความรู้จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง และสร้างความเข้มแข็งในการดูแลระบบคอมพิวเตอร์ การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ต่อยอดการทำโครงงานคอมพิวเตอร์สิ่งประดิษฐ์ ฝึกทักษะคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา ทำงานเป็นทีม อันเป็นทักษะที่จำเป็นในศตวรรษนี้

 :25: :25: :25: :25:

พอได้เห็นกระบวนการเรียนการสอนของโรงเรียนแห่งที่ 2 ก็ยิ่งประทับใจ ถึงแม้เครื่องคอมพิวเตอร์จะได้รับบริจาคมาเป็นมือที่เท่าไหร่ก็ไม่รู้ หมดคุณค่าต่อคนอีกกลุ่ม แต่ก็สร้างประโยชน์ให้แก่คนอีกกลุ่มได้อย่างมหาศาล

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวตัวอย่างของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาในพื้นที่จังหวัดน่านถึงแม้จะนำมาบรรยายได้ไม่หมดทั้ง 4 แห่ง แต่ทุกที่ได้สร้างประโยชน์ต่อวงการศึกษา ต่อพระพุทธศาสนา และต่อประเทศชาติ ซึ่งในปัจจุบันมีโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาอยู่ทั่วประเทศถึง 408 แห่ง มีสามเณรในระบบการศึกษากว่า 50,000 รูป ลองจินตนาการดูว่า หากเด็กเหล่านี้ไม่ได้รับโอกาส เขาจะเป็นเช่นไร สังคมของเราจะเกิดอะไรขึ้น โรงเรียนพระปริยัติธรรม ถึงแม้ว่า จะไม่ใช่โรงเรียนใหญ่โต ไม่มีชื่อเสียง ไม่มีอุปกรณ์การสอนครบครัน ขาดแคลนครู แต่โรงเรียนแห่งนี้ ก็เหมือนแสงประทีปดวงน้อย ๆ ที่ส่องทางด้วยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาให้แก่ผู้ด้อยโอกาส คนขาดแคลนที่ยังมีอยู่จริงแบบไม่มโนในสยามประเทศแห่งนี้.


   มนตรี ประทุม


ขอบคุณภาพและบทความจาก : http://www.dailynews.co.th/education/353867
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ