พระเจ้าทรงธรรม
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ.! ศาลยึดโองการพระเจ้าทรงธรรมเมื่อ ๔๐๐ ปีก่อน
เหนือกว่าโฉนดปัจจุบัน ให้วัดพระพุทธบาทสระบุรีครองที่ดินรัศมี ๑ โยชน์.!
โดย โรม บุนนาค
ไม่น่าเชื่อ แต่ก็เป็นไปแล้ว ทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ต่างยึดพระบรมราชโองการพระเจ้าทรงธรรมเมื่อเกือบ ๔๐๐ ปีก่อน ที่ทรงอุทิศถวายที่ดินให้วัดพระบาทสระบุรีมีรัศมี ๑ โยชน์ ทำให้โฉนดกรมที่ดินที่ออกให้ราษฎรในรัศมี ๑๖ กิโลเมตรต้องเป็นโมฆะ กลายเป็นที่บุกรุกธรณีสงฆ์!!!
พระพุทธบาทสระบุรีถูกค้นพบราว พ.ศ.๒๑๖๕ ครั้งกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งลาสิขาบทจากสมณศักดิ์พระพิมลธรรม มาครองราชย์ในช่วง พ.ศ.๒๑๖๓ – ๒๑๗๑ ได้ทรงทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก ส่งสมณทูตไปศึกษาพระธรรมวินัยที่ลังกาเป็นประจำ และทุกคณะจะอุสาหะขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาทบนเขาสุมนกูฏ ต่อมาได้รับคำแนะนำจากพระเถระในลังกาว่า เขาสุวรรณบรรพตตามชื่อในภาษาบาลีก็มีอยู่ในสยามประเทศ น่าจะมีรอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่ก็เป็นได้ เมื่อนำความมากราบบังคมทูลพระเจ้าทรงธรรม จึงโปรดให้มีท้องตราไปยังเจ้าเมืองทั้งหลายให้สืบหารอยพระพุทธบาท จนได้พบบนเขาสัจจพันธ์ในเมืองสระบุรี มณฑปพระพุทธบาทสระบุรี
ตำนานการพบพระพุทธบาทสระบุรีนี้กล่าวว่า “พรานบุญ” ซึ่งเป็นพรานป่าในย่านนั้น ได้ยิงเนื้อตัวหนึ่งบาดเจ็บ วิ่งหนีเข้าไปในพุ่มไม้บนไหล่เขา เมื่อพรานบุญตามเข้าไปก็เห็นเนื้อตัวนั้นกลับออกมาโดยไม่มีบาดแผลเหลืออยู่ พรานบุญประหลาดใจจึงตามเข้าไปดูในพุ่มไม้ ก็เห็นพื้นหินเป็นรอยลึกลงไปมีน้ำขังอยู่ คาดเดาว่าเนื้อคงจะดื่มน้ำในแอ่งนี้จึงหายบาดเจ็บ เลยลองวักดื่มดูบ้างและลูบไล้ไปตามตัว ก็ปรากฏว่ากรากเกลื้อนตามผิวหนังได้หายไป จึงได้วิดน้ำทั้งหมดออกดู ก็เห็นเป็นรอยเท้าคน จึงนำเรื่องแจ้งต่อเจ้าเมืองสระบุรี
พระเจ้าทรงธรรมเสด็จไปทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง โดยมีพรานบุญเป็นมัคคุเทศก์ ทรงพบว่าเป็นรอยพระพุทธบาทมีรอยกงจักรประกอบมงคล ๑๐๘ ประการตรงตามที่ฝ่ายลังกาบอกมา ทรงโสมนัสปราโมทย์ สักการบูชาด้วยธูปเทียนหอมนับมิได้ พระพุทธบาทภายในมณฑป
พงศาวดารบันทึกไว้ว่า
“....สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว อุทิศถวายวนาสณฑ์เป็นบริเวณออกไปโยชน์หนึ่งโดยล้อมรอบ แล้วทรงพระกรุณาตรัสสั่งให้ช่างจับการสถาปนาเป็นมณฑปสวมพระพุทธบาท แล้วสร้างพระอุโบสถพระวิหารการเปรียญตึกกว้าน กุฎีสงฆ์เป็นอเนกประการ แล้วให้ฝรั่งส่องกล้องตัดทางสถลมารคกว้างสิบวาตรงตลอดถึงท่าเรือ....”
ทรงยกบริเวณนั้นขึ้นเป็นเมืองพระพุทธบาท มีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นจัตวา ใช้เวลาก่อสร้างถึง ๔ ปีจึงเสร็จ ทรงเสด็จไปนมัสการและสมโภชเป็นเวลา ๗ วัน นับแต่นั้นมาได้ถือเป็นพระราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์จะต้องเสด็จมานมัสการและสมโภชเป็นประจำทุกปี สืบมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
บริเวณโดยรอบพระพุทธบาทจึงเป็นชุมชนที่มีราษฎรเข้าอยู่อาศัย บ้างก็แผ้วถางที่รกร้างเป็นที่ทำมาหากิน ซึ่งทางราชการก็ได้ออกเอกสารสิทธิ์ให้ผู้ครอบครองตามกฎหมาย ลายพระพุทธบาท
ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๗๙ รัฐบาลของ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา เห็นว่าควรจะหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าบริเวณพระพุทธบาทสระบุรีนี้ไว้เพื่อประโยชน์แก่การพุทธศาสนา จึงได้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามขึ้น แต่คำนวณตามแผนที่ประกอบพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้แล้ว ก็มีพื้นที่เพียง ๘,๕๑๓ ไร่เท่านั้น ไม่ครบตามที่พระเจ้าทรงธรรมอุทิศไว้ อีกทั้งต่อมาในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามยังได้เวนคืนที่ดินจำนวนนี้ไป ๒,๐๐๐ ไร่ ให้กรมประชาสงเคราะห์จัดตั้งเป็นนิคมสร้างตนเองพระพุทธบาท สำหรับกรรมกรสามล้อในกรุงเทพฯที่เดือดร้อนจากการให้เลิกสามล้อใช้เป็นที่ทำกินด้วย
ถึงอย่างไรราษฎรที่อยู่รอบวัดพระพุทธบาทก็ครอบครองที่ดินสืบทอดกันมาอย่างปกติสุข จนราว พ.ศ.๒๕๑๖ จึงเกิดเป็นคดีความกันขึ้นเมื่อวัดพระพุทธบาทโดยกรมการศาสนาเป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้ถือโฉนดในรัศมี ๑ โยชน์ ๒ คดี ในข้อหาว่าเอาที่ของวัดไปขอออกโฉนดโดยมิชอบ ขอให้ศาลเพิกถอนโฉนดที่ ๘๕๒๘ สำหรับคดีแรก และเพิกถอนโฉนดที่ ๘๕๒๑ และ ๘๕๒๒ สำหรับคดีหลัง ปรากฏว่าสู้คดีกันถึง ๓ ศาล และศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ต่างก็เห็นพ้องต้องกัน ให้จำเลยแพ้ความทั้งหมด โดยศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายไว้ว่า 
วัดพระพุทธบาทครองที่ดินรัศมี ๑ โยชน์