ในระหว่างการฟัง ถ้าจำไม่ผิดจะมีการกำหนด วิถีธรรม 2 อย่างคะ
1. โยนิโสมนสิการ กระทำไว้ในใจโดยแยบคาย
2. นิสัมมะกะระณังเสยโย กระทำให้เกิดการรู้แจ้ง
เรื่องของ บารมี น่าจะมีส่วนน่าจะเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยการสั่งสมบารมีไว้แล้ว
เช่นพระปัญจวัคคีย์ พระสารีบุตร ทั้ง 5 เป็นต้น จัดเป็นอุคคิตัญญู

ไม่มีธรรมอื่นอีกแล้ว ที่ขจัดข้อสงสัยได้เหมือน “โยนิโสมนสิการ”
หากท่านใด มีข้อสงสัยในข้อธรรมใดๆ พระพุทธเจ้าแนะนำให้ใช้ โยนิโสมนสิการ
แก้ข้อสงสัยนั้น เพื่อนๆท่านใดยังไม่เข้าใจคำว่า “โยนิโสมนสิการ” เชิญพิจารณาได้เลยครับ
โยนิโสมนสิการ การใช้ความคิดถูกวิธี คือ
- การกระทำในใจโดยแยบคาย
- มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณาสืบค้นถึงต้นเค้า สาวหาเหตุผลจนตลอดสาย
- แยกแยะออก พิเคราะห์ดูด้วยปัญญาที่คิดเป็นระเบียบ และโดยอุบายวิธีให้เห็นสิ่งนั้น ๆ หรือปัญหานั้นๆ ตามสภาวะและตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย
- โยนิโสมนสิการนี้ อยู่ใน ฝ่ายปัญญาพระพุทธพจน์ที่กล่าวถึง โยนิโสมนสิการ มีดังนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็นบุพนิมิต ฉันใด ความถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการ ก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิต แห่งการเกิดขึ้นของอารยอัษฎางคิกมรรค(มรรคมีองค์ ๘) แก่ภิกษุ ฉันนั้น”
“เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบภายในอื่นแม้สักอย่างเดียว ที่มีประโยชน์มากสำหรับภิกษุผู้เป็นเสขะ เหมือนโยนิโสมนสิการ ภิกษุผู้มีโยนิโสมนสิการ ย่อมกำจัดอกุศลได้ และย่อมยังกุศลให้เกิดขึ้น”
“เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้สักข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้สัมมาทิฏฐิที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็เจริญยิ่งขึ้น เหมือนโยนิโสมนสิการเลย” “เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้สักข้อหนึ่ง ซึ่งจะเป็นเหตุให้ความสงสัยที่ยังไม่เกิด ก็ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ถูกขจัดเสียได้ เหมือนโยนิโสมนสิการเลย”
“โยนิโสมนสิการ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่, เพื่อความดำรงมั่นไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธานแห่งสัทธรรม” ฯลฯ ธรรมข้ออื่น ที่ได้รับยกย่องคล้ายกับโยนิโสมนสิการนี้ ในบางแง่ ได้แก่
อัปปมาทะ (ความไม่ประมาท),
วิริยารัมภะ (การปรารภความเพียร, ทำความเพียรมุ่งมั่น),
อัปปิจฉตา (ความมักน้อย, ไม่เห็นแก่ได้),
สันตุฏฐี (ความสันโดษ),
สัมปชัญญะ (ความรู้ตัว, สำนึกตระหนักชัดด้วยปัญญา);
กุสลธัมมานุโยค (การหมั่นประกอบกุศลธรรม);
ฉันทสัมปทา (ความถึงพร้อมแห่งฉันทะ),
อัตตสัมปทา (ความถึงพร้อมแห่งตนคือมีจิตใจซึ่งพัฒนาเต็มที่แล้ว),
ทิฏฐิสัมปทา (ความถึงพร้อมแห่งทิฏฐิ),
และ อัปปมาทสัมปทา (ความถึงพร้อมแห่งอัปปมาทะ) อ้างอิง สํ.ม.๑๙/๕-๑๒๙/๒-๓๖; องฺ.เอก.๒๐/๖๐-๑๘๖/๑๓-๔๑; ขุ.อิติ. ๒๕/๑๙๔/๒๓๖
ที่มา พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม (ป.อ.ปยุตโต)
พุทธศาสนสุภาษิต
นิสมฺม กรณํ เสยฺโย (อ่านว่า นิดสำมะ กะระนัง เสยโย)
ใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำดีกว่า ที่มา http://www.oknation.net/blog/Atata/2009/10/30/entry-1