ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: รัฐกับการแบ่งนิกายของสงฆ์  (อ่าน 1749 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
รัฐกับการแบ่งนิกายของสงฆ์
« เมื่อ: สิงหาคม 01, 2016, 09:32:53 pm »
0



รัฐกับการแบ่งนิกายของสงฆ์

บทความต่างๆ ในหนังสือเรื่อง How Theravada is Theravada? ซึ่งนาย Peter Skilling และคณะเป็น บ.ก. ทำให้ผมเข้าใจแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังการแบ่งนิกายในพระพุทธศาสนายุคโบราณขึ้นอย่างมาก

ความคิดเรื่อง “นิกาย” เป็นความคิดที่เกิดขึ้นทางศาสนาในยุโรป จริงๆ แล้วแม้แต่จะหาคำไทยมาพูดถึงการแตกแยกทางศาสนาออกเป็นฝ่ายต่างๆ ก็ยังไม่มีด้วยซ้ำ เราเอาคำว่านิกายในภาษาบาลีมาใช้ ซึ่งท่านหมายความเพียงพวก, หมวดหมู่, กอง ฯลฯ อย่างที่แบ่งพระสุตตันตปิฎกออกเป็นหมวดต่างๆ เช่นทีฆนิกาย หมวดที่เนื้อความยาว, มัชฌิมนิกาย หมวดที่เนื้อความยาวปานกลาง ฯลฯ เป็นต้น

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าไม่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในพุทธศาสนา โดยเฉพาะในหมู่นักบวช แต่ฝักฝ่ายหรือพวกในพุทธศาสนาถือว่าบวชเป็นภิกษุมาในสายไหนเป็นสำคัญ ในพุทธศาสนาฝ่ายใต้ (ที่ปัจจุบันเรียกว่าเถรวาท) มักเรียกว่า “วงศ์” (lineage) วรรณกรรมบาลีรุ่นเก่าในลังกาเรียกพระสงฆ์ของวัดมหาวิหารว่าเป็น “เถรวงศ์” คือบวชสืบมาจากมหาเถระที่ทำสังคายนาครั้งแรกคือพระมหากัสสป สืบมาจนถึงพระโมคคัลลีบุตรติสสะ มหาเถระในสมัยพระเจ้าอโศกซึ่งส่งสมณทูตมาประกาศพระศาสนาในลังกา


 :96: :96: :96: :96:

ผมจึงเพิ่งเข้าใจว่า วรรณกรรมบาลีที่มีชื่อลงท้ายว่าวงศ์นั้น ก็เพราะแต่เดิมเขาจะเล่าการสืบสายการบวชของคณะสงฆ์ในดินแดนใดดินแดนหนึ่ง จนมาถึงสมัยที่เขียน มาในภายหลังก็ขยายความให้วงศ์หมายถึงเรื่องเล่าเกี่ยวกับสิ่งนั้นสิ่งนี้ด้วย เช่น จามเทวีวงศ์ ก็คือเรื่องของพระนางจามเทวีและลูกหลาน สังคีติยวงศ์คือเรื่องราวของการทำสังคายนาครั้งต่างๆ ตามลำดับ

ถ้าสืบวงศ์ของพระภิกษุสงฆ์ว่าย้อนกลับไปถึงพระมหากัสสปในการทำสังคายนาครั้งแรก ก็หมายความว่าพระสงฆ์ในสายนี้ต้องยอมรับพระวินัยตามที่พระมหาอุบาลีได้สวดหรือสาธยายให้ฟังในการทำสังคายนาครั้งนั้นด้วย

ดังนั้น ผมจึงเข้าใจจากประวัติความแบ่งแยกคณะสงฆ์ในลังกาว่า สิ่งสำคัญสองอย่างของการนับพระภิกษุว่าอยู่ในคณะสงฆ์เดียวกันคือ หนึ่งบวชอยู่ในสายของคณะสงฆ์เดียวกัน ฉะนั้น อุปสมบทกรรม หรือพิธีกรรมการบวชต้องถูกต้องตรงกัน และกระทำโดยพระอุปัชฌาย์ที่ได้บวชถูกต้องตามสายนั้นสืบมาอย่างหนึ่ง กับอย่างที่สองคือยึดถือพระวินัยชุดเดียวกันและต้องตีความพระวินัยตรงกันด้วย

 :25: :25: :25: :25:

นักวิชาการฝรั่งที่เขียนเรื่องการตั้งธรรมยุติกนิกายหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ไม่มีการตีความหลักธรรมคำสอนของธรรมยุติที่แตกต่างไปจากนิกายเดิมแต่อย่างไร ความแตกต่างเป็นเรื่องของพิธีกรรมและการตีความพระวินัยปลีกย่อยเท่านั้น

แต่นั่นแหละครับคือเรื่องใหญ่ตามประเพณีของพุทธศาสนา ถ้าพิธีกรรมการบวช (นับตั้งแต่การผูกพัทธสีมาของพระอุโบสถที่ใช้ทำสังฆกรรมถูกต้องหรือไม่ ไปจนถึงการเปล่งเสียงบาลีได้ตรงหรือไม่) ไม่อยู่ใน “วงศ์” เดียวกัน ก็เป็นพระภิกษุคนละวงศ์เท่านั้น หรือถ้าตีความพระวินัยไม่ตรงกัน (เช่น รับเงินได้หรือไม่ เข้าสู่คามนิคมสวมรองเท้าได้หรือไม่ ฯลฯ) ก็แสดงว่าอยู่คนละวงศ์อีกนั่นแหละ

    เราไปเรียกพระภิกษุในกลุ่มเดิมและกลุ่มใหม่ว่าเป็นคนละ “นิกาย” ซ้ำไปเข้าใจคำนิกายว่าตรงกับ Sect ในภาษาอังกฤษเสียอีก ก็เลยมองไม่เห็นว่าพระภิกษุสองพวกนี้ต่างกันในสาระสำคัญอย่างไร ถ้าพูดคำว่า “วงศ์” ของภาษาบาลีโบราณให้ตรงกับภาษาไทยสมัยใหม่ ก็คือ “สำนักอาจารย์” หรือ “โรงเรียน” มหานิกายและธรรมยุติเป็นพระในสองสำนักอาจารย์หรือสองโรงเรียนเท่านั้น จะเรียกว่าสองนิกายก็ได้ แต่นิกายในที่นี้ไม่ได้แปลว่า Sect ในภาษาอังกฤษ แต่ต้องแปลแบบบาลีคือพวก, กลุ่ม, หมวด อะไรทำนองนั้น


 :sign0144: :sign0144: :sign0144: :sign0144:

สํานักอาจารย์หรือโรงเรียนนี้เป็นพื้นฐานของการจัดองค์กรคณะสงฆ์ในพุทธศาสนา จากวัดที่เป็นของอาจารย์คนหนึ่ง ลูกศิษย์ก็อาจกระจายไปสร้างวัดในที่อื่นอีก แต่ก็เป็นวัดที่สังกัดอยู่ในหมวดเดียวกับวัดของอาจารย์ เช่น วัดมหาวิหารในลังกาสมัยอนุราธปุระ ก็มีวัดในสังกัดสำนักอาจารย์เดียวกันนี้ในที่อื่นๆ บนเกาะลังกาอีก วัดอาจารย์นั้นในเชียงใหม่สมัยก่อนเขาเรียกว่าหัวหมวดวัด ซึ่งอาจทำกิจกรรมบางอย่างร่วมกันกับวัดในสำนักเดียวกันอื่นๆ

การจัดองค์กรในลักษณะนี้ย่อมเอื้อให้เกิดวงศ์หรือสำนักอาจารย์ที่หลากหลาย เพราะมีเหตุที่พระภิกษุบางรูปจะขัดแย้งกับการตีความพระวินัยหรือเห็นชอบกับพิธีกรรมที่แตกต่างกัน ถ้าดู “นิกาย” ต่างๆ ของคณะสงฆ์ในอินเดียหลังพุทธปรินิพพาน ก็จะเห็นว่าแบ่งแยกออกเป็นหลายนิกายมาก อาจจะมากกว่าศาสนาใดๆ ในโลกด้วยกระมัง ผมจำได้ว่านักวิชาการฝรั่งเศสคนหนึ่ง ศึกษาคัมภีร์ประเภทต่างๆ ทั้งบาลี, สันสกฤต และจีน แล้วสามารถบรรยาย “นิกาย” ในพุทธศาสนาสายที่เรียกในปัจจุบันว่าเถรวาทออกมาได้กว่า 100 นิกาย นี่ยังไม่พูดถึงการแตกนิกายในสายมหายานซึ่งก็มีอีกไม่รู้จะกี่สำนักอาจารย์

 ask1 ans1 ask1 ans1

ทำไมถึงเป็นเช่นนี้

คําตอบง่ายๆ ก็คือ การจัดองค์กรของคณะสงฆ์ในพุทธศาสนา ทั้งในอินเดียและนอกอินเดีย ไม่มีองค์กรกลางคอยกำกับ ซึ่งมักจะบังคับให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวในรูปแบบขึ้น (uniformity) ตามคัมภีร์บาลีของลังกาเล่าว่า วัดอภัยคีรีซึ่งแยกตัวออกจากวัดมหาวิหารนั้น เกิดขึ้นเพราะพระภิกษุรูปหนึ่งตีความพระวินัยบางข้อไม่ตรงกับสำนักมหาวิหาร จึงแยกไปตั้งวัดใหม่ของตนเอง (หลักฐานนอกลังกาและหลักฐานโบราณคดีกล่าวถึงการแยกสำนักไว้ไม่ตรงกับที่คัมภีร์บาลีในลังกากล่าวไว้) กลายเป็นสำนักอาจารย์ใหม่ อยู่มาสำนักอาจารย์วัดอภัยคีรีก็เกิดการแตกตัวออกอีก กลายเป็นสำนักอาจารย์วัดเชตวัน

ดังแล้วแยกวงกันง่ายๆ เหมือนนักร้องนักดนตรีสมัยนี้แหละครับ

แม้ว่าแยกวงแล้วอาจขัดแย้งกันหรือเหยียดหยามกัน เช่น วัดมหาวิหารก็เหยียดวัดอภัยคีรีว่าไม่ใช่ “เถริยะ” คือไม่ได้อยู่ในวงศ์ของพระเถระซึ่งสืบมาจากพระมหากัสสป แต่พระสงฆ์นอกลังกา เช่นในอินเดียกลางและใต้ เมื่อพูดถึงพระสงฆ์ในลังกาว่าแบ่งออกเป็นสามสำนักอาจารย์ แต่ทั้งสามสำนักล้วนเป็น “เถริยะ” หรือสืบทอดวงศ์มาจากพระเถระตั้งแต่ครั้งพุทธกาลทั้งสิ้น แม้ในลังกาเอง สำนักวัดมหาวิหารก็เอาชนะสำนักวัดอภัยคีรีได้ในที่สุด ไม่ใช่ด้วยการยกกำลังไปปราบปราม หากด้วยการกลืนเอาพิธีกรรมและการตีความพระวินัยบางส่วนของสำนักอภัยคีรีเข้ามาเป็นของตน


 :s_hi: :s_hi: :s_hi: :s_hi:

ในประวัติศาสตร์ของคณะสงฆ์ในพุทธศาสนา จึงไม่มีสงครามร้อยปีต่อสู้กันระหว่างนิกายศาสนาอย่างในยุโรป (ซึ่งที่จริงก็ทำสงครามกันด้วยเหตุอื่นมากกว่าความขัดแย้งทางศาสนา เพียงแต่อ้างศาสนาขึ้นมาเป็นเหตุเท่านั้น) ทำให้บางคนเข้าใจผิดว่าพุทธศาสนาของเอเชียเป็นศาสนาของสันติ เราไม่ค่อยรบกันด้วยเรื่องการแบ่งแยกสำนักอาจารย์

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าชาวพุทธไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องอื่นๆ เลย

แนวโน้มของการแตกแยกนิกายหรือสำนักอาจารย์ในหมู่คณะสงฆ์มีมาแต่พุทธปรินิพพาน สังคายนาครั้งแรกเกิดขึ้นเพราะภิกษุบางรูปยินดีที่พระพุทธเจ้าไม่มีอยู่แล้ว จะได้ไม่มีใครมาคอยตำหนิติเตียนว่ากล่าว ส่วนสังคายนาครั้งที่สองตามประวัติที่พวกเถรวาทเล่าไว้ ก็ว่า เกิดความแตกแยกในการสังคายนา เพราะภิกษุในกลุ่มที่เรียกว่าวัชชีบุตรพากันออกมาตั้งสำนักอาจารย์มหาสังฆิกะ หลังสังคายนาครั้งที่สามในสมัยพระเจ้าอโศก ก็เกิดสำนักอาจารย์ขึ้นอีกหลายสำนัก ในอรรถกถาของกถาวัตถุว่ามี 18 สำนัก แต่ตอนบรรยายถึงสำนักเหล่านี้กลับมีถึง 24 แสดงว่าอย่าถือตัวเลขมากนัก เอาเป็นว่าแตกกันออกไปอีกหลายสิบสำนักอาจารย์ก็แล้วกัน

ทั้งหมดนี้ดูเป็นปรกติธรรมดาของคณะสงฆ์ แต่เท่าที่ผมทราบ ไม่เห็นมีใครโจมตีใครว่าเป็นผู้ทำสังฆเภท ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในอนันตริยกรรม

 :91: :91: :91: :91:

สังฆเภทคืออะไรกันแน่ ในความคิดของชาวพุทธโบราณ กรณีที่ถือเป็นแบบฉบับก็คือกรณีของพระเทวทัต ซึ่งไม่ได้เพียงแต่ตั้งสำนักอาจารย์ของตนเองขึ้น (อันเป็นสิ่งที่พระสาวกอีกหลายรูปก็คงทำ แม้ในช่วงพุทธกาล) แต่มุ่งสอนธรรมที่ไม่อาจอ้างได้ว่าเป็นของพระพุทธเจ้า (อาจเปลี่ยนจุดเน้น หรือตีความบางเรื่องบางส่วนไม่ตรงกับพุทโธวาท) มีพระภิกษุบางส่วนหันไปศรัทธาเลื่อมใสคำสอนนี้จนทำให้สงฆ์แตกแยก (คือแตกแยกออกไปจากพระพุทธศาสนาเลยทีเดียว)

ถ้าถือการกระทำเหล่านี้ของพระเทวทัตว่าเป็นสังฆเภท ก็คงไม่มีการแยกสำนักอาจารย์ของพระสงฆ์ครั้งไหนที่ถึงกับปฏิเสธพระพุทธเจ้าหรือพระธรรมของพระพุทธเจ้าขนาดนี้ ดังนั้นก็อาจถือได้ว่าไม่เคยมีกรณีสังฆเภทเกิดขึ้นอีกเลยก็ได้

ดังนั้น การแยกตัวตั้งขึ้นเป็นสำนักอาจารย์ในประเพณีของสงฆ์ชาวพุทธ จึงดูจะไม่ใช่เรื่องใหญ่นัก คู่ขัดแย้งอาจโจมตีกันและกันอย่างรุนแรง แต่ในสายตาของโลกพุทธศาสนาร่วมสมัย ก็ไม่เห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่อะไร เพราะไม่กระทบแก่นแท้ของหลักธรรมคำสอน


 st12 st12 st12 st12

เรื่องแก่นแท้ของหลักธรรมคำสอนนี้ หากดูคำอธิบายของนักวิชาการด้านพุทธศาสนาที่เป็นชาวตะวันตก ก็มักจะเห็นตรงกันว่า แม้มหายาน, วชิรญาณ และเถรวาทจะดูต่างกันมากเพียงไร แต่แก่นแท้ของคำสอนก็ไม่ได้ต่างอะไรกันนัก เช่น ทุกนิกายต่างให้ความสำคัญแก่พระอริยสัจเหมือนกันทุกนิกายต่างถือความไม่ใช่ตัวกูของกูเหมือนกัน ที่แตกต่างกันคือ กลวิธีที่จะเข้าถึงความจริงอันนำไปสู่ความหลุดพ้นต่างหาก

คัมภีร์บาลีของลังกาเรียกกลวิธีของสำนักอาจารย์ฝ่ายเถริยะ หรือที่สืบวงศ์มาจากมหาเถระในอดีตนี้ว่า “วิภัชชวาท” คือ กลวิธีที่อาศัยการวิเคราะห์แยกแยะเป็นหนทางคลายความยึดมั่นถือมั่น

(ผมควรกล่าวไว้ด้วยว่า คัมภีร์บาลีฝ่ายลังกาทำให้เข้าใจว่าพระเจ้าอโศกบำรุงแต่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวงศ์ แต่จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี แสดงว่าทรงบำรุง “นิกาย” อื่นด้วย ยิ่งกว่านั้นยังทรงบำรุงแม้แต่หลักความเชื่ออื่นๆ ที่ไม่ใช่พุทธ เช่น เชน, พราหมณ์, ฯลฯ เป็นต้น กลายเป็นแบบอย่างของมหาราชพุทธในเวลาต่อมา เช่น ในสมัยอนุราธปุระของลังกา ก็มีหลักฐานว่ามีนักบวชหรือผู้ปฏิบัติธรรมในระบบความเชื่ออื่นตั้งอยู่จำนวนมากทางตอนเหนือของเมือง ในคัมภีร์บาลีเองกล่าวถึงนิครนถ์, พราหมณ์, ปฏิคาหก, ฯลฯ พูดภาษาปัจจุบันก็คือ พุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาประจำชาติ แต่ได้รับสถานะพิเศษในรัฐ)

 st11 st11 st11 st11

ผมคิดว่าขันติธรรมต่อความแตกต่างของพระสงฆ์ในพุทธศาสนาเช่นนี้ เกิดขึ้นได้ก็เพราะไม่มีอำนาจกลาง (โดยเฉพาะอำนาจทางโลก) ที่จะคอยกำกับควบคุมการจัดองค์กรของคณะสงฆ์ เพราะไม่มีฝ่ายใดมีกำลังอำนาจพอจะปราบอีกฝ่ายหนึ่งได้จริง

แต่นี่ก็ไม่แน่เหมือนกัน เพราะมีในบางสังคมและบางสมัย ที่วัดในพุทธศาสนากลายเป็นป้อมปราการ ทำสงครามกันกับวัดอื่น ต่างมีลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมากเหมือนกัน จึงรบราฆ่าฟันกันเป็นสงครามกลางเมือง โดยเฉพาะในช่วงที่รัฐอ่อนแอ

บทบาทของรัฐพุทธต่อศาสนาและคณะสงฆ์คืออะไร คำอธิบายที่เราคุ้นเคยในเมืองไทยมักจะพูดเฉพาะมิติทางศาสนาของรัฐ ซึ่งก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐย่อมมีมิติทางศาสนาอยู่ด้วย แต่มิติทางศาสนานั้นไม่อาจแยกออกจากมิติทางการเมืองได้แน่ ในที่นี้ผมจึงจะพูดถึงด้านที่ถูกพูดถึงน้อยนี้

อย่างกรณีวัดทำสงครามกัน แม้ต่างก็อ้างความขัดแย้งทางศาสนา แต่มันก็มีอำนาจทางการเมืองแฝงอยู่ และอาจขยายไปสู่การเมืองนอกวงการพระสงฆ์ด้วยได้ ดังนั้น รัฐหรือสมัยนั้นคือพระเจ้าแผ่นดินย่อมเป็นกังวลกับความขัดแย้งของวัดในลักษณะที่ซ่องสุมผู้คนและอาวุธเข้าต่อสู้กันเช่นนี้เป็นธรรมดา เพราะย่อมมองเห็นภยันตรายทางการเมืองของวัดอย่างชัดเจน จึงต้องแทรกเข้ามาปราบปราม

แน่นอนหากจะปราบพระสงฆ์ ข้ออ้างที่ฟังดูดีที่สุดก็คือ เพื่อบำรุงรักษาปกป้องพระศาสนาให้บริสุทธิ์


     ยังมีต่อ....
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 01, 2016, 09:40:53 pm โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: รัฐกับการแบ่งนิกายของสงฆ์
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: สิงหาคม 01, 2016, 09:33:46 pm »
0



พระราชภารกิจของรัฐพุทธโบราณที่ทำเป็นประจำ คือคอยดูแลให้คณะสงฆ์ประพฤติปฏิบัติให้ต้องตรงพระธรรมวินัย ดังนั้นการ “ชำระ” คณะสงฆ์ให้บริสุทธิ์ จึงเป็นพระราชกรณียกิจของมหาราช นับตั้งแต่พระเจ้าอโศก พระเจ้าแผ่นดินลังกา และพระเจ้าแผ่นดินพม่าและไทย แต่นอกจากมิติทางศาสนาแล้ว ยังมีมิติทางการเมืองแฝงอยู่อย่างน้อยสองด้าน ภารกิจนี้เป็นข้ออ้างอย่างดีให้พระเจ้าแผ่นดินจัดองค์กรเพื่อควบคุมคณะสงฆ์ กล่าวคือ เอาอำนาจทางโลกไปค้ำจุนพระธรรมวินัย และอำนาจของสงฆ์ที่รัฐรับรองหรือแต่งตั้งขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว รัฐโบราณเหล่านี้ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ดีพอจะควบคุมดูแลพระสงฆ์ได้ทั่วถึงหรอก การ “ชำระ” พระสงฆ์เป็นครั้งคราว นอกจากถือเป็นบุญกิริยาอันยิ่งใหญ่แล้ว ยังได้บั่นรอนการสะสมกำลังของฝ่ายสงฆ์ซึ่งเป็นอันตรายต่ออำนาจบ้านเมืองลงเป็นครั้งคราวด้วย

    อีกด้านหนึ่งของมิติทางการเมืองก็คือ นับตั้งแต่พระเจ้าอโศกลงมาจนถึงพระนารายณ์แห่งอยุธยา ซึ่งได้ “ชำระ” พระสงฆ์ในราชอาณาจักรของตน คนนอกศาสนาซึ่งมาปลอมบวชเพื่อหาประโยชน์จากพระบรมราชูปถัมภ์ของพระเจ้าอโศก เมื่อถูกบังคับให้สึกแล้วจะกลายเป็นอะไร ตอบอย่างกว้างๆ คือกลับมาเป็นข้าแผ่นดินของพระเจ้าอโศกนั่นเอง ผมไม่มีความรู้ว่ารัฐเมารยะของพระเจ้าอโศกจัดการควบคุมประชากรอย่างไร แต่อย่างไรเสียกำลังแรงงานของราษฎรย่อมเป็นกำลังของพระเจ้าแผ่นดินแน่ ฉะนั้น ภิกษุที่ถูกจับสึกในครั้งนั้น ก็คงต้องเป็นอะไรสักอย่างที่พระเจ้าอโศกสามารถได้ประโยชน์จากกำลังแรงงานของพวกเขา

    พระราชพงศาวดารอยุธยาและหลักฐานฝรั่งบอกชัดเจนว่า เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ชำระพระสงฆ์แล้ว บังคับให้ภิกษุซึ่งไม่มีความรู้และไม่ใส่ใจปฏิบัติตามพระธรรมวินัยสึกออกมา แล้วนำตัวไปขึ้นทะเบียนเป็นไพร่หลวงทั้งหมด นั่นคือกำลังคนที่เป็นของกษัตริย์โดยตรงทีเดียว

 ans1 ans1 ans1 ans1 ans1

กล่าวโดยสรุป ก่อนที่จะเข้ามาสู่รัฐสมัยใหม่ พุทธศาสนาในรัฐพุทธต่างๆ ล้วนมีหลายสำนักอาจารย์ ซึ่งอาจตีความพระวินัยต่างกันบ้าง และเน้นคำสอนที่ไม่ตรงกันนัก รัฐไม่รู้สึกเดือดร้อนกับความแตกแยกนี้นัก เพราะความแตกต่างหลากหลายเหล่านี้ไม่ได้แสดงความล้มเหลวในการทำนุบำรุงศาสนาของรัฐ และไม่มีภัยทางการเมืองต่ออำนาจของรัฐ พระภิกษุของสำนักอาจารย์ต่างๆ ก็ไม่รู้สึกว่า สำนักอาจารย์อื่นกำลังทำสังฆเภท หรือกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิไป ยังคงนับว่าอยู่ในเถรวงศ์เหมือนกัน

สภาพเช่นนี้จะเปลี่ยนไปเมื่อรัฐได้เปลี่ยนมาเป็นรัฐสมัยใหม่

การแบ่งนิกายศาสนาอย่างชัดเจนเริ่มขึ้นในยุโรปสมัยปฏิรูปศาสนา (Reformation) ก่อน คำว่าอย่างชัดเจนในที่นี้ ผมหมายความว่า มีการแบ่งแยกในหลักคำสอนที่เป็นสาระสำคัญของศาสนา ทำให้พิธีกรรมและองค์กรศาสนาเปลี่ยนไป

การแบ่งแยกนิกายในพุทธศาสนาก่อนสมัยใหม่ จะว่าไม่กระทบต่อหลักคำสอนเลยก็ไม่เชิง เพียงแต่ว่าส่วนใหญ่แล้วไม่เกี่ยวกับหลักคำสอนอันเป็นสาระสำคัญ ขอยกตัวอย่างความขัดแย้งในการตีความพระธรรมของฝ่ายมหาวิหารและฝ่ายอภัยคีรีวิหารในลังกาให้ดูเป็นตัวอย่างหนึ่งในความขัดแย้งในเรื่องหลักธรรม เท่าที่นักวิชาการสามารถค้นหาร่องรอยได้ (L. S. Cousins, “The Teachings of the Abhayagiri School,” ในหนังสือที่ได้อ้างอิงไปก่อน)
     เช่น ฝ่ายอภัยคีรีอ้างว่า มิทธะหรือความง่วงเหงาหาวนอน หนึ่งในนิวรณ์ห้า เป็นนามไม่ใช่รูป หมายความว่าไม่ใช่อาการอันเกิดแก่ร่างกาย แต่เป็นสิ่งที่อยู่ในความคิดต่างหากเป็นต้น ความขัดแย้งระหว่างสองสำนักอาจารย์นี้เกี่ยวกับเรื่องอะไรคือรูป อะไรคือนาม ยังมีในเรื่องอื่นๆ อีก ผมไม่ปฏิเสธว่าหากคิดเรื่องรูป-นามที่ต่างกันไปให้ทะลุ ย่อมกระทบต่อการปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น
     ดังนั้น ฝ่ายอภัยคีรีจึงไม่รับคัมภีร์วิสุทธิมรรค หากมีคัมภีร์ของตนเองชื่อว่า วิมุตติมรรค ซึ่งไม่มีฉบับบาลีเหลืออยู่แล้ว เรารู้เนื้อความได้จากบทในภาษาจีน


 :96: :96: :96: :96:

เงื่อนไขความจำเป็นในช่วงปฏิรูปศาสนาในยุโรป บังคับให้ต้องขีดเส้นกั้นพรมแดนระหว่างระบบความเชื่อต่างๆ ให้ชัด แค่ไหนจึงเป็นโปรเตสแตนต์ (คาลวินิสม์, ลุทเธอรัน, ฯลฯ) และแค่ไหนจึงยังเป็นคาทอลิกอยู่ ผมคิดว่าศาสนาในโลกก่อนหน้านั้น แม้แต่ในยุโรปเอง ก็มักไม่มีเส้นพรมแดนที่ชัดนัก ยิ่งในชีวิตชาวบ้านอุษาคเนย์ พรมแดนของศาสนายิ่งเบาบาง จนผู้คนข้ามกันไปข้ามกันมาเป็นปรกติ

ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากการยอมรับสิทธิเสมอภาคของคนต่างศาสนา แต่เพราะศาสนาไม่ได้เรียกร้องอย่างชัดเจนนักเกี่ยวกับระบบความเชื่อ ซึ่งกระทบต่อพิธีกรรมและแบบปฏิบัติในชีวิตประจำวันที่ไม่จำเป็นต้องเคร่งครัดนัก ดังนั้นหากจะพูดว่าคนแถบนี้มีขันติธรรมทางศาสนา ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าเป็นขันติธรรมทางศาสนาที่มีความหมายต่างจากที่เราเข้าใจในปัจจุบัน

ดังนั้น หากจะมีการแบ่งแยกสำนักอาจารย์ในพุทธศาสนา ผมเข้าใจว่าประชาชนทั่วไปคงไม่เห็นเป็นเรื่องใหญ่อะไรนัก ที่เล่ากันว่าเมื่อเกิดธรรมยุติกนิกายขึ้น มีผู้เอาข้าวต้มร้อนๆ ตักบาตรพระธรรมยุต แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่ชาวบ้านทั่วไปทำ หากกลายเป็นเรื่องแย่งสถานะทางการเมืองกันในหมู่พวกเจ้านาย

แม้แต่เรื่องในประวัติศาสตร์พม่าและล้านนาว่า พระเจ้าแผ่นดินลงมารังแกพระที่สังกัดสำนักซึ่งไม่พอพระทัย ก็เข้าใจว่าเกี่ยวกับการเมืองในหมู่ชนชั้นสูงมากกว่าเป็นเรื่องของชาวบ้านทั่วไป

 st12 st12 st12 st12

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เปลี่ยนไป เมื่อผู้คนในภูมิภาคนี้รับเอาคติการแบ่งแยก “นิกาย” แบบตะวันตกเข้ามา ซ้ำร้ายกว่านั้นก็คือ รัฐในอุษาคเนย์ก็เปลี่ยนตัวเองเป็นรัฐแบบใหม่เหมือนตะวันตก แนวคิดเรื่องรัฐชาติเริ่มก่อตัวขึ้นในรัฐอาณานิคมแบบใหม่และในรัฐไทย

เจ้าอาณานิคมไม่สนใจศาสนาของประชาชน อย่างน้อยก็เพราะในฐานะคนนอกศาสนา จึงไม่อาจใช้ประโยชน์ศาสนาในการควบคุมทางการเมืองของตนได้ การเข้าสู่ความทันสมัยจึงเป็นผลงานของรัฐและทุนล้วนๆ โดยศาสนาไม่ได้มีบทบาทในการสื่อความทันสมัยที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐแบบนี้

ศาสนาเข้าไปมีบทบาทอย่างมากในการสร้างความทันสมัยอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือสัมพันธ์เชื่อมโยงกับลัทธิชาตินิยม-ศาสนนิยม ซึ่งมีคนหนุ่มสาวที่ได้รับการศึกษาแผนตะวันตกเป็นผู้นำ ศาสนาและองค์กรศาสนาช่วยแพร่กระจายความคิดต่อต้านจักรวรรดินิยมไปในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะในเขตเมืองได้อย่างกว้างขวาง เราพบปรากฏการณ์เช่นนี้ได้ในพม่า, กัมพูชา, เวียดนาม, และอินโดนีเซีย

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ศาสนาในสังคมอุษาคเนย์ยิ่งแตกตัวออกเป็นหลาย “สำนักอาจารย์” (ในเวียดนามอาจพูดว่าหลายนิกายตามความหมายตะวันตกก็ได้) เพราะได้รับอิทธิพลจากภายนอกหลายแหล่ง จากอินเดียถึงไคโร และจากจีนถึงปารีสและลอนดอน


 :s_hi: :s_hi: :s_hi: :s_hi:

และเพราะศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อกู้เอกราช จึงเป็นธรรมดาที่ศาสนาในพม่า, อินโดนีเซีย, และกัมพูชา มีแนวโน้มค่อนข้างกีดกันคนนอกศาสนา ในพม่าพวกผู้นำกะเหรี่ยงและกะฉิ่นกลายเป็นคริสต์ จึงไม่ค่อยได้รับความไว้วางใจจากชาวพุทธพม่า ซึ่งในภายหลังเมื่อได้เอกราชแล้ว ก็หันมาสู่ความรังเกียจมุสลิมอย่างรุนแรงในปัจจุบัน อินโดนีเซียรังเกียจจีนซึ่งเป็นเครื่องมือของรัฐและทุนตะวันตกในการเอารัดเอาเปรียบชาวบ้านซึ่งเป็นมุสลิม และรังเกียจชาวคริสต์ซึ่งกลายเป็นอภิสิทธิ์ชนกลายๆ ในสมัยอาณานิคม ความแตกต่างทางศาสนาระหว่างชาวเขมรและชาวจามในกัมพูชา ทำให้ชาวจามไม่ถูกผนวกรวมอยู่ในชาติอย่างเท่าเทียมสืบมา

ในขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืมด้วยว่า การนิยามความเชื่อและพิธีกรรมให้มีเส้นพรมแดนชัดเจน ทำให้ “สำนักอาจารย์” ก็มีเส้นพรมแดนของความเชื่อและพิธีกรรมที่ชัดเจนไปด้วย จึงยากที่จะผนวกรวมเอาศาสนิกใน “สำนักอาจารย์” อื่นได้

มีสองประเทศในอุษาคเนย์ ที่แม้มีการแตกตัวของสำนักอาจารย์เพิ่มมากขึ้นในช่วงนี้เหมือนกัน แต่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายอำนาจที่เชื่อมโยงกับจักรวรรดินิยม นั่นคือฟิลิปปินส์และไทย

เจ้าอาณานิคมเสปนเผยแพร่และบังคับให้ชาวพื้นเมืองกลายเป็นคาทอลิก ใช้ศาสนาเและองค์กรศาสนาป็นเครื่องมือในการปกครองควบคุม และหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ดังนั้นองค์กรศาสนาจึงมีอิทธิพลทางการเมืองอย่างมากสืบมา แม้เมื่อสหรัฐเข้าครอบครองฟิลิปปินส์แล้ว ก็ไม่เป็นอริกับองค์กรศาสนา

ขบวนการชาตินิยมฟิลิปปินส์จึงไม่ค่อยได้เชื่อมโยงกับศาสนานัก กลายเป็นพื้นที่ของพวกอิลลัสตราโดส์เชื้อสายจีน เข้าไปมีบทบาทอย่างเต็มที่

 :49: :49: :49: :49:

    สถานการณ์ในสยามคล้ายๆ กัน ชนชั้นนำตามจารีตเข้าไปยึดกุมการนำในวงการพุทธศาสนามาตั้งแต่ยังไม่เปิดประเทศ ในช่วงที่พยายามรวมศูนย์การปกครองตามแบบรัฐสมัยใหม่ ก็ได้ปฏิรูปองค์กรคณะสงฆ์ให้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐอย่างใกล้ชิด สำนักอาจารย์อันหลากหลายถูกผนวกกลืนเข้ามาในกรอบของคณะสงฆ์ที่รัฐวางไว้ แม้มีสำนักอาจารย์เกิดขึ้นอีก ต่างก็ล้วนต้องอยู่ในกรอบนั้น แม้มีประเพณีปฏิบัติหรือคำสอนที่ต่างกันไปก็ตาม เช่นกลุ่มพระป่าสายธรรมยุต, ส่วนใหญ่ของศิษย์หาของครูบาศรีวิชัย, สวนโมกขพลาราม ฯลฯ เป็นต้น

ไม่มีองค์กรศาสนาในชาติอุษาคเนย์ใดที่จะตกอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างรัดกุมของรัฐยิ่งไปกว่าไทย องค์กรสงฆ์ไทยซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ชนชั้นปกครองไทยของรัฐรวมศูนย์แบบใหม่เพิ่งสร้างขึ้นในปลาย ร.5 ทำให้องค์กรสงฆ์ไทยไม่มีบทบาทอิสระของตนเอง เป็นแต่เครื่องมือของรัฐเท่านั้น เปรียบเทียบกับองค์กรสงฆ์ของฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นองค์กรรวมศูนย์เช่นเดียวกัน แต่อยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของศาสนจักรซึ่งมีศูนย์อยู่ที่วาติกัน ทำให้รัฐฟิลิปปินส์ไม่สามารถกำกับควบคุมคณะสงฆ์ได้อย่างรัฐไทย

หลัง 2475 มีการเคลื่อนไหวของสงฆ์ไทยให้แก้ไขการปกครองภายในขององค์กรสงฆ์ โดยเลียนการจัดแบ่งและถ่วงดุลอำนาจจากรัฐในระบอบประชาธิปไตย ในที่สุดก็มีการออกกฎหมายการปกครองคณะสงฆ์ใหม่ใน พ.ศ.2484 เปลี่ยนการปกครองคณะสงฆ์ให้มีการถ่วงดุลภายในมากขึ้น


 :96: :96: :96: :96:

พ.ร.บ.สงฆ์ 2484 ไม่ถึงกับปลดปล่อยคณะสงฆ์จากการกำกับของรัฐเสียทีเดียว แต่ก็เปิดช่องให้คณะสงฆ์อาจมีมติหรือดำเนินการอย่างเป็นอิสระบ้าง และหากใช้ช่องทางนี้ไปเรื่อยๆ ก็เป็นไปได้ที่จะหลุดออกจากการควบคุมของรัฐได้สิ้นเชิงในอนาคต

แต่ดูเหมือนการเป็นอิสระจากรัฐไม่ได้อยู่ในความคิดของสงฆ์ไทยมาแต่ต้น กลุ่มพระที่เคลื่อนไหวผลักดันให้แก้ไขปรับปรุงการปกครองคณะสงฆ์คิดเรื่องการถ่วงดุลอำนาจภายในองค์กรมากกว่า อาจารย์โยเนโอ อิชิอิ เล่าว่า เพียงไม่กี่วันหลังการปฏิวัติ 2475 เมื่ออำนาจของฝ่ายคณะราษฎรดูจะมั่นคงขึ้นแล้ว คณะสงฆ์ก็ออกประกาศสนับสนุนการปฏิวัติ หลังประกาศใช้ พ.ร.บ.สงฆ์ 2484 คณะสงฆ์ก็ประกาศเปลี่ยนการแบ่งเขตบริหารของตนออกเป็นภาค แต่ใช้ได้ไม่นานก็เปลี่ยนตามการแบ่งเขตของกระทรวงมหาดไทย ราชการเปลี่ยนไปอย่างไร คณะสงฆ์ก็เปลี่ยนตามไปเรื่อย (Sangha, State, and Society)

    อย่างไรก็ตาม เพื่อความเป็นธรรมควรกล่าวไว้ด้วยว่า ระหว่าง 22 ปีที่มีการใช้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2484 แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างคณะสงฆ์กับรัฐไม่สู้จะแตกต่างจากเดิม แต่ในช่วงนี้ คณะสงฆ์กลับสร้างความสัมพันธ์กับสังคมมากขึ้น ด้วยการจัดกิจกรรมใหม่ๆ ที่เหมาะกับศาสนาในสังคมสมัยใหม่มากขึ้น เช่นเปิดการอภิปรายถกเถียงด้านธรรมะในเวทีต่างๆ ทั้งที่เป็นของพระและฆราวาส (เช่นลานอโศกในวัดมหาธาตุ, พุทธสมาคม, ยุวพุทธิกสมาคม) และผู้อภิปรายเองก็มีทั้งที่เป็นพระและฆราวาส ธรรมกถึกที่มีชื่อเสียงเกิดขึ้นในยุคนี้หลายรูป

การที่รัฐไปสร้างให้คณะสงฆ์กลายเป็นองค์กรอันหนึ่งอันเดียวกันนี้ ทำให้รัฐเองก็ระแวงภัยอำนาจขององค์กรคณะสงฆ์ ไม่ว่าจะเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือหลังจากนั้น รัฐจึงต้องกำกับองค์กรสงฆ์อย่างใกล้ชิด เพราะพระสงฆ์ได้รับความเคารพศรัทธาอย่างสูงจากประชาชนทั่วไป เมื่อกลายเป็นองค์กรขึ้นมา หากเป็นอิสระก็อาจขัดขวางอำนาจรัฐได้มาก

 :sign0144: :sign0144: :sign0144: :sign0144:

อันที่จริงประโยชน์ทางการเมืองของพระสงฆ์ที่มีต่อรัฐนั้น ไม่ใช่ช่วยผดุงความสงบเรียบร้อย เพราะศาสนาผีและการจัดองค์กรทางสังคมของชาวบ้านทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว ภารกิจสำคัญของพระสงฆ์ต่อการเมืองของรัฐอยู่ที่ด้านอุดมการณ์ครับ พระสงฆ์ช่วยเสริมสร้างความชอบธรรมของอำนาจรัฐจารีต ซึ่งง่ายที่จะดัดแปลงมาทำหน้าที่อย่างเดียวกันคือเสริมสร้างความชอบธรรมแก่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเป็นเครื่องมือการขยายอำนาจของรัฐแบบใหม่นี้ไปทั้งทางกว้างและทางลึก จึงจำเป็นต้องจัดให้พระสงฆ์เข้ามาอยู่ในองค์กรรวมศูนย์ที่รัฐสามารถกำกับควบคุมได้

แต่เพราะถูกจัดเป็นองค์กรรวมศูนย์เสียแล้วเช่นนี้ จึงทำให้เกิดความอุ้ยอ้าย ปรับตัวไม่ค่อยได้ แม้ว่าอำนาจทางการเมืองในประเทศไทยได้เปลี่ยนไปกว่า 80 ปีแล้ว บทบาทด้านอุดมการณ์ของพระสงฆ์ไทยก็ยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง คือยังเป็นผู้ให้ความชอบธรรมต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เหมือนเดิม

หากพระสงฆ์ในพุทธศาสนายังจัดองค์กรแบบเดิม คือมีสำนักอาจารย์ที่หลากหลาย บวชกุลบุตร(ธิดา)ตามสายสำนักอาจารย์ สืบ “วงศ์” กันมา โดยไม่มีองค์กรรวมศูนย์ของรัฐมาคอยควบคุมดูแล อย่างไรเสียก็ต้องมีสำนักอาจารย์บางแห่งที่มองเห็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคม, เศรษฐกิจ และการเมืองซึ่งเกิดขึ้น จึงปรับเปลี่ยนบทบาทของตนจากการเป็นผู้เสริมสร้างอุดมการณ์ของสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นผู้เสริมสร้างอุดมการณ์ประชาธิปไตยบ้าง

อย่างน้อยก็เพราะความเป็นสำนักอาจารย์ที่หลากหลายนั้น ย่อมมีการแข่งขันกันในทีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


 ans1 ans1 ans1 ans1

ควรกล่าวไว้ด้วยว่า แม้มีการจัดองค์กรรวมศูนย์ แต่ธรรมชาติของพระสงฆ์ในการสืบต่อพระพุทธศาสนา ทำให้การเกิดสำนักอาจารย์เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ในสมัยแรกๆ ที่มีการจัดองค์กรคณะสงฆ์รวมศูนย์ สำนักอาจารย์ก็เน้นเรื่องการสอบบาลี จึงมีสำนักสอนบาลีมีชื่อเสียงเกิดขึ้นหลายสำนัก ในเวลาต่อมา (หลัง 2475) สำนักอาจารย์แปรเปลี่ยนไปเป็นการนำเสนอการตีความธรรมะ บางสำนักเน้นพระอภิธรรม บางสำนักเน้นการนำเอาคำสอนของมหายานมาเป็นประทีปส่องทาง บางสำนักเน้นความมีเหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ บางสำนักเน้นเรื่องกรรม บางสำนักเน้นกรรมฐาน บางสำนักเน้นวิปัสสนา ฯลฯ

ความเปลี่ยนแปลงอย่างที่สองซึ่งเกิดในช่วงนี้คือ สำนักอาจารย์ไม่ได้มุ่งสถาปนา “วงศ์” ของพระสงฆ์ แต่สร้างความนิยมเลื่อมใสในหมู่คนทั่วไปด้วย ดังนั้นบางทีเจ้าสำนักจึงไม่จำเป็นต้องเป็นพระภิกษุ อาจเป็นฆราวาสได้ ทั้งอุบาสกและอุบาสิกา

ในระยะต่อมา (หลัง 2500) สำนักอาจารย์ที่มีชื่อเสียงหันมาอธิบายธรรมะให้สอดคล้องกับชีวิตของคนสมัยใหม่มากขึ้น เช่น ใช้เป็นหลักในการปฏิบัติงานของผู้พิพากษา, นิสิตนักศึกษา, ครูบาอาจารย์ ฯลฯ เป็นต้น

แต่สืบมาจนถึงช่วงนี้ สำนักอาจารย์ต่างๆ ยังไม่มีบทบาททางการเมืองโดยตรง เมื่อใดที่ต้องพูดถึงการเมือง เมื่อนั้นก็จะยึดมั่นกับอุดมคติการเมืองของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เช่นเมื่อมีธรรมราชาแล้ว ก็อาจเป็นเผด็จการโดยธรรมได้ ซึ่งเกือบไม่ต่างอะไรกับ “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” เพราะถึงเป็นธรรมราชาก็ยังต้องใช้ “ทัณฑะ” อยู่นั่นเอง

 :25: :25: :25: :25:

หลังจากนั้นลงมาอีก (หลัง 2520 โดยประมาณ) สำนักอาจารย์ในพุทธศาสนาไทย ขยายบทบาทของตนไปสู่ปฏิบัติการทางสังคมโดยตรง และด้วยเหตุดังนั้นจึงเข้าไปในปริมณฑลของการเมืองด้วย (จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม)

แต่อุดมการณ์ทางการเมืองของสำนักอาจารย์เหล่านี้ ก็ยังไปไม่พ้นการเสริมสร้างความชอบธรรมแก่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือสมบูรณาญาสิทธิ์ในรูปแบบอื่น

ในขณะเดียวกันก็มีพระภิกษุบางรูปที่ต่อต้านระบอบเผด็จการ และส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย เพียงแต่ว่าพระภิกษุเหล่านี้ยังไม่มีชื่อเสียงพอจะเป็นภัยคุกคามแก่สำนักอาจารย์ต่างๆ เท่านั้น

โดยสรุปแล้ว การจัดองค์กรคณะสงฆ์เพื่อให้รัฐสามารถกำกับควบคุมได้นั้น พอจะมองเห็นแล้วว่าจะไม่มีทางบรรลุวัตถุประสงค์อีกแล้ว เพราะพระภิกษุสามารถติดต่อสื่อสารกับสังคมในรูปแบบอื่นๆ ได้เพิ่มขึ้น เกินกว่าที่รัฐหรือคณะสงฆ์จะดูแลได้ทั่วถึง สำนักอาจารย์ที่จะเกิดใหม่ในอนาคตก็อาจไม่ได้มีลักษณะเหมือนเดิมอีกแล้ว เช่น เป็นสำนักอาจารย์บนไซเบอร์ เป็นต้น



ผู้เขียน : นิธิ เอียวศรีวงศ์
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์
เผยแพร่ : 15 ก.ค. 59
มติชนสุดสัปดาห์ 15-21; 22-28 กรกฎาคม 2559
http://www.matichon.co.th/news/229463
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 01, 2016, 09:38:13 pm โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

ธัมมะวังโส

  • ธัมมะวังโส
  • ผู้บริหารเว็บ
  • โยคาวจรผล
  • *
  • ผลบุญ: +180/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 7283
  • Respect: +6
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
Re: รัฐกับการแบ่งนิกายของสงฆ์
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: สิงหาคม 02, 2016, 08:10:43 am »
0
อ้างจาก: ข้อความโดย: raponsan ผู้เขียน : นิธิ เอียวศรีวงศ์
หลังจากนั้นลงมาอีก (หลัง 2520 โดยประมาณ) สำนักอาจารย์ในพุทธศาสนาไทย ขยายบทบาทของตนไปสู่ปฏิบัติการทางสังคมโดยตรง และด้วยเหตุดังนั้นจึงเข้าไปในปริมณฑลของการเมืองด้วย (จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม)

แต่อุดมการณ์ทางการเมืองของสำนักอาจารย์เหล่านี้ ก็ยังไปไม่พ้นการเสริมสร้างความชอบธรรมแก่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือสมบูรณาญาสิทธิ์ในรูปแบบอื่น

ในขณะเดียวกันก็มีพระภิกษุบางรูปที่ต่อต้านระบอบเผด็จการ และส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย เพียงแต่ว่าพระภิกษุเหล่านี้ยังไม่มีชื่อเสียงพอจะเป็นภัยคุกคามแก่สำนักอาจารย์ต่างๆ เท่านั้น

โดยสรุปแล้ว การจัดองค์กรคณะสงฆ์เพื่อให้รัฐสามารถกำกับควบคุมได้นั้น พอจะมองเห็นแล้วว่าจะไม่มีทางบรรลุวัตถุประสงค์อีกแล้ว เพราะพระภิกษุสามารถติดต่อสื่อสารกับสังคมในรูปแบบอื่นๆ ได้เพิ่มขึ้น เกินกว่าที่รัฐหรือคณะสงฆ์จะดูแลได้ทั่วถึง สำนักอาจารย์ที่จะเกิดใหม่ในอนาคตก็อาจไม่ได้มีลักษณะเหมือนเดิมอีกแล้ว เช่น เป็นสำนักอาจารย์บนไซเบอร์ เป็นต้น

 ข้อความตรงนี้จะนำมาซึ่งอันตรายแก่ พระสงฆ์ที่เผยแผ่ ธรรม ในอนาคต และจะกระเทือน เว็บที่นี่ด้วย ถึงไม่เกี่ยวข้องในส่ิงที่เขากล่าวไว้อย่างนั้น

  มัชฌิมา โอ อาร์ จี มีไว้เพื่อสนับสนุน คนไปสู่ นิพพาน อิสสระจากทางการเมือง และ ระบบมหาเถรสมาคม แต่อิงความถูกต้องตามหลักธรรม และ วินัย ไม่เข้าข้างฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง แต่ยืนหยัดด้วยการทำงานปิดทองหลังพระ

  ถึงแม้จะรู้ว่า แนวความคิดอย่างนี้มีอันตราย และ นำมาซึ่งภัยในอนาคต แต่เว็บเราไม่สามารถปิดกั้นเรื่องพวกนี้ได้ เป็นไปตามความชอบ ของแต่ละบุคคลที่จะเสพธรรม ในอนาคตพระสงฆ์ จะถูกกวาดล้าง เพราะสื่อที่แฝงจากหลักการอุดมการณ์ ของ คอมมิวนิสต์ และ การแฝงเร้นของศาสนาลัทธินิกายอื่น รวมทั้งระบบการเมือง

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 02, 2016, 08:15:21 am โดย ธัมมะวังโส »
บันทึกการเข้า
เว ทา สา กุ กุ สา ทา เว ทา ยะ สา ตะ ตะ สา ยะ ทา สา สา ทิ กุ กุ ทิ สา สา กุ ตะ กุ ภู ภู กุ ตะ กุ

PRAMOTE(aaaa)

  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรผล
  • *****
  • ผลบุญ: +5/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: ชาย
  • กระทู้: 3598
  • ความศรัทธาคือเชื่อเรื่องการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: รัฐกับการแบ่งนิกายของสงฆ์
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: สิงหาคม 02, 2016, 09:14:19 pm »
0

    อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา


     เมื่อมีความเจริญก็ต้องมีเสื่อม


   เมื่อมีความเกิดก็ต้องมีดับ


    สุดท้ายก็ต้องขอบารมีครูและเดินตามคำของครูอาจารย์เป็นดีที่สุด
บันทึกการเข้า
การมีกัลยาณมิตร ครูบาอาจารย์ ที่สั่งสอนธรรม เป็นเรื่องที่ดี
..เชื่อเรื่องการตรัสรู้ธรรม ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
...และเชื่อในพระธรรมที่เป็นตัวแทนของพระศาสดา