ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: การกราบครั้งสุดท้าย.!! "หลวงปู่เสาร์กราบพระ ๓ ครั้ง ก่อนละสังขาร"  (อ่าน 1085 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


การกราบครั้งสุดท้าย.!! "หลวงปู่เสาร์กราบพระ ๓ ครั้ง ก่อนละสังขาร" ความงามสง่าและกล้าหาญที่หลวงตาบัวบอกว่า...จงดูเป็นตัวอย่าง

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ได้เล่าถึงเหตุการณ์ละสังขารของ "หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล" ไว้ในการเทศนาธรรมตอนหนึ่ง ดังนี้

พระอาจารย์เสาร์นั้น เมื่อถึงมรณกาลของท่าน ท่านก็ไม่ทิ้งลวดลายของนักปฏิบัติ วาดภาพอันดีเด่นไว้ให้แก่หูแก่ตาของบรรดาศิษย์ผู้ใกล้ชิดในเวลานั้นอย่างเปิดเผย และขณะจะมรณภาพก็เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย...เป็นที่น่าเลื่อมใสยิ่งนัก

จริงๆ แล้ว พระอาจารย์เสาร์ตั้งใจจะมรณภาพที่นครจำปาศักดิ์ซึ่งเวลานั้นเป็นของฝรั่งเศส  แต่บรรดาลูกศิษย์ทั้งพระและประชาชนจำนวนมากต่างก็ขออาราธนานิมนต์ท่านให้กลับมามรณภาพที่ฝั่งไทย

เมื่อคณะลูกศิษย์ที่มีจำนวนมากอาราธนาวิงวอน พระอาจารย์เสาร์ทนไม่ไหวก็จำต้องรับคำ  การทอดอาลัยในชีวิตซึ่งปลงใจจะปล่อยวางสังขารลงที่นครจำปาศักดิ์จึงได้ถอดถอนล้มเลิกไป จำต้องปฏิบัติตามความเห็นและเจตนาหวังดีของคนหมู่มาก ยอมรับปากคำและเตรียมลงเรือข้ามฝั่งลำแม่น้ำโขงกลับมาฝั่งไทย


@@@@@@

พอมาถึงท่าวัดศิริอำมาตย์ จังหวัดอุบลราชธานี ญาติโยมก็อาราธนาท่านขึ้นบนแคร่ แล้วหามท่านขึ้นไปสู่วัดนั้น  พอก้าวขึ้นสู่วัดและปลงท่านลงที่ลานวัดเท่านั้น ญาติโยมก็กราบเรียนท่านว่า
    "บัดนี้มาถึงวัดศิริอำมาตย์ในเขตเมืองไทยเราแล้ว ท่านอาจารย์"

เวลานั้นพระอาจารย์เสาร์นอนหลับตาเนื่องจากพยายามพยุงธาตุขันธ์มาตลอดทาง  จากนั้นท่านก็ลืมตาขึ้นแล้วถามว่า
   "ถึงสถานที่แล้วหรือยัง.?"

ญาติโยมจึงกราบเรียนถวายท่านว่า
   "ถึงที่แล้วครับ"

ท่านก็พูดขึ้นมาว่า
    "ถ้าเช่นนั้นจงพยุงผมลุกขึ้นนั่ง ผมจะกราบพระ"

พอเขาพยุงพระอาจารย์เสาร์ลุกขึ้นนั่งแล้ว ท่านก็ก้มกราบพระสามครั้ง  พอจบครั้งที่สามแล้วเท่านั้น ท่านก็สิ้นในขณะนั้นเอง ไม่อยู่เป็นเวลานาน.!!

@@@@@@

ขณะที่พระอาจารย์เสาร์จะสิ้นก็สิ้นด้วยความสงบเรียบร้อย และมีท่าทางอันองอาจกล้าหาญต่อมรณภัย ซึ่งมีลักษณะเหมือนม้าอาชาไนย ไม่มีความหวั่นไหวต่อความตายซึ่งสัตว์โลกทั้งหลายกลัวกันยิ่งนัก เพราะเมื่อท่านปฏิบัติจนรู้ถึงหลักความจริงแล้วย่อมถือเป็นคติธรรมดาว่า มาแล้วต้องไป เกิดแล้วต้องตาย จะให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้  สติปัญญาที่ฝึกหัดอบรมมาจากหลักธรรมทุกแขนงก็ฝึกหัดอบรมมาเพื่อให้รู้ตามหลักความจริงที่มีอยู่กับตัว ก็เมื่อการไปการมา การเกิดการตาย เป็นหลักความจริงประจำตัวแล้วก็ต้องยอมรับหลักการด้วยปัญญาอันเป็นหลักความจริงฝ่ายพิสูจน์เช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้น  ท่านที่เรียนและปฏิบัติจนรู้ถึงขั้นนั้นแล้วจึงไม่มีความหวั่นไหวต่อการไปการมา การเกิดการตาย การสลายพลัดพรากจากสัตว์และสังขารทั้งของท่านและของผู้อื่น  ท่านจึงได้ชื่อว่าเรียนและปฏิบัติเพื่อ "สุคโต" (ไปดีแล้ว) อีกทั้งยังเป็นคติตัวอย่างอันดีแก่คนรุ่นหลังตลอดมาจนบัดนี้

นี่เป็นประวัติของท่านพระอาจารย์เสาร์ที่วาดภาพอันดีและชัดเจนไว้แก่พวกเราเพื่อยึดเป็นคติเครื่องสอนคนต่อไปไม่อยากให้เป็นทำนองว่า เวลามามีความยิ้มแย้ม แต่เวลาไปก็มีความเศร้าโศก



ที่มา : ส่วนหนึ่งของพระธรรมเทศนา หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ ณ วัดป่าบ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี
เรียบเรียงโดยจินต์จุฑา เจนสระคู : สำนักข่าวทีนิวส์
http://www.tnews.co.th/contents/351390
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 03, 2017, 07:47:22 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ