เกลียดขี้หน้าใครจนทุกข์ใจบ้างไหม? ผู้ที่ผูกเวรกันมาก่อน จิตใต้สำนึกจะรู้สึกเกลียดชังขึ้นมาเอง หลวงปู่เทสก์สอนวิธีละเวรกรรม ทำชีวิตดีเวรน่ากลัวยิ่งกว่ากรรม
เมื่อพูดถึงกรรมแล้ว จะต้องพูดถึงเวรด้วยจึงจะเข้าใจดี กรรม คือ การกระทำของบุคคลด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ ในทางดีและไม่ดี เรียกว่า กรรม กรรมนี้เมื่อบุคคลทำลงไปแล้วย่อมให้ผลตามมาไม่ชาตินี้ก็ชาติหน้า หรือชาติต่อๆ ไป ดังได้อธิบายแล้ว และไม่จำเป็นที่ผู้นั้นหรือสิ่งนั้นๆ จะต้องมาให้ผลกรรมที่ทำไว้ ตัวอย่างเช่น
นายแดงไปดักสัตว์ในป่า มีอีเก้งตัวหนึ่งมาติดบ่วงแล้วตาย นายแดงเลยไปเอามากิน นายแดงนั้นผู้ทำกรรมแล้ว เพราะไปดักอีเก้งจึงตาย กรรมนั้นตามทันให้นายแดงได้รับผลกรรม แต่มิใช่อีเก้งตัวนั้นจะมาทำกรรมให้นายแดงได้รับกรรม คือ ดักบ่วงให้นายแดงมาถูกบ่วง อย่างนายแดงทำให้แก่อีเก้งตัวนั้น อาจเป็นเรื่องอื่น เป็นต้นว่า เกิดมาอายุสั้นตายเร็ว หรือตายเพราะตกต้นไม่ หรือตกบันได ฟ้าผ่า ควายขวิด ตกหลุมบ่อก็ได้ อันนี้เรียกว่า กรรม
@@@@@@
เวรนั้นต้องมีจิตมุ่งมั่นอาฆาต ปรารถนามุ่งร้ายต่อกันและกัน ด้วยเหตุขัดเคืองเคียดแค้นต่อกันอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วผูกอาฆาตจองเวรกัน เช่น นายเหม็นไปทำร้ายร่างกายนายหอม โดยที่นายหอมไม่ได้ทำอะไรให้นายเหม็นเลย นายหอมต่อว่านายเหม็น นายเหม็นเลยโกรธเอานายหอม จึงเป็นเรื่องใหญ่โตขึ้น คราวนี้ต่างคนต่างก็ไม่ยอมซึ่งกันและกัน ต่างหมายมั่นปั้นมือว่า วันหนึ่งข้างหน้า หรือเดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง ชาติหนึ่งข้างหน้า เมื่อกูได้โอกาสกูจะต้องทำร้ายมึงให้ถึงแก่ความฉิบหายให้ได้ แน่นอนทีเดียว
เมื่อคนเรามีจิตแน่วแน่จองเวรในบุคคลใดแล้ว ถึงแม้จะตายไปเกิดเปลี่ยนสภาพร่างกายไปเป็นร่างอื่นก็ตาม ผู้ที่เป็นเวรต่อกัน เมื่อเห็นกันเข้าแล้ว จิตใต้สำนึกจะรู้สึกขึ้นมาให้น่าเกลียดน่าชัง โดยที่ไม่คำนึงถึงรูปร่างลักษณะเลย ได้โอกาสเมื่อไรแล้วจะเข้าประหัตประหารให้สาสมแก่ใจที่ผูกโกรธไว้นั้น
เวรนี้เป็นของน่ากลัวที่สุด จองเวรซึ่งกันและกันหาที่สิ้นสุดไม่ได้ ด้วยจิตที่อาฆาตไม่ปรารถนาหวังดีต่อกัน มีโมหจริตเป็นมูลฐาน
กรรมและเวรเป็นของร้ายกาจมาก เมื่อบุคคลทำลงไปแล้วย่อมติดตามไปหาที่สิ้นสุดมิได้ เวรเป็นของน่ากลัวยิ่งกว่ากรรม เพราะเวรที่บุคคลทำด้วยจิตอาฆาตพยาบาทจองเวรในบุคคลโดยเฉพาะ เมื่อบุคคลทำเวรต่อกันจะมีชีวิตอยู่หรือตายไปแล้ว ถ้าไปเกิดยังมีรูปนามอยู่ จำเป็นที่เวรจะต้องติดตามไปสนองอยู่ตลอดเวลา ส่วนกรรมนั้นถ้าเป็นกรรมเบาเราทำดีก็อาจจะหายไปได้บ้าง
วิธีแก้กรรมเวรในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าสอนให้ละเวรละกรรมด้วยจิตใจเห็นโทษนั้นๆ แล้วมีเมตตาต่อกันไม่ทำกรรมและเวรนั้นอีก เมื่อคู่กรรมและเวรนั้นยังมีชีวิตอยู่ ต่างก็เห็นซึ่งกรรมและเวรที่ตนกระทำนั้น แล้วพร้อมหน้ากันให้อโหสิกรรมซึ่งกันและกัน กรรมและเวรนั้นเป็นอันสิ้นลงเพียงแค่นั้น ถ้าอีกฝ่ายไม่ยอมอโหสิกรรมให้ กรรมนั้นก็ต้องจองเวรกันต่อไป
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสีที่ FB : เพจเกร็ดธรรมะ ประวัติ พระกรรมฐาน
เรียบเรียงโดยกิตติ จิตรพรหม
http://www.tnews.co.th/contents/407980