วัดเขาแก้ววรวิหาร
พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ ๑ ตำบล ต้นตาล อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี เดิมเป็นราษฎร์ สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๑๗๑ สมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม ต่อมาในรัชกาลที่๔ กรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์เสด็จนมัสการพระพุทธบาทและจะเสด็จนมัสการพระพุทธฉายทรงแวะไพร่พล ขบวนราบที่พลับพลาท่าหินลาดหน้าวัดเขาแก้ว ได้ทอดพระเนตรทรงเห็นว่าเป็นชัยภูมิที่เหมาะสม ตั้งอยู่บนเขาเล็กๆแวดล้อมด้วยธรรมชาติที่งดงามเป็นที่สงบเหมาะสำหรับการ บำเพ็ญสมณธรรม พระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาที่จะบูรณะปฏิสังขรณ์ จึงทรงรับสั่งให้เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) เป็นแม่กองควบ คุมการก่อสร้าง เจ้าพระยานิกรบดินทร์ ได้จัดการให้พนักงานนำเครื่องงาน และสิ่งก่อสร้างจากกรุงเทพฯ มาบูรณปฏิสังขรณ์ พระอุโบสถปรับปรุงขยายให้ใหญ่กว่าเดิม ก่อกำแพงรอบของ พระอุโบสถขึ้นใหม่ สร้างกุฏิไว้ด้านทิศเหนือของพระเจดีย์ บูรณะองค์พระเจดีย์ให้มั่นคง และทรงสถาปนาวัดเขาแก้วขึ้นเป็น พระอารามหลวง พระราชทานนามว่า วัดคีรีรัตนาราม
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๖ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรม พระยาวชิรญาณวโรรสองค์สังฆประมุข เสด็จออกตรวจการณ์ คณะสงฆ์จังหวัดสระบุรี เสด็จทอดพระเนตรวัดเขาแก้ว ทรงเห็นป้ายที่ติดไว้ที่ท่าหินลาดหน้าวัดว่า วัดคีรีรัตนาราม รับสั่งว่าเป็นคำมคธทรงให้เรียกเป็นคำไทยว่า วัดเขาแก้ว ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
สภาพฐานะและที่ตั้งวัด
อาณาเขต
* ทิศเหนือ ติดกับที่นาเอกชน
* ทิศใต้ ติดกับที่นาเอกชน
* ทิศตะวันออก ติดกับที่นาเอกชน
* ทิศตะวันตก ติดกับที่นาเอกชน
ลักษณะโดยทั่วไปของบริเวณที่ตั้งวัดเขาแก้ววรวิหารอยู่บนภูเขาลูกเล็ก ๆ ซึ่งมีลักษณะรูปทรงกลม เป็นดินปูนสูงจากพื้นดินประมาณ ๑๕ เมตร ห่างจากแม่น้ำป่าสักประมาณ ๒๐๐ เมตร มีพื้นที่ราบบนภูเขาอันเป็นที่ตั้งของวัด ๒ ไร่ ๓ งาน ๗๕ ตารางวา เนื้อที่โดยรอบเชิงเขา ๒๕ ไร่ ๒ งาน ๘๒ ตารางวา ตามไหล่เขามีต้นสักขึ้นอยู่โดยรอบทั่วไป พื้นที่รอบภูเขาเป็นที่นา
โบราณสถานวัดเขาแก้ววรวิหาร
* พระเจดีย์
* พระพุทธบาทจำลอง
* พระอุโบสถ
พระเจดีย์
รูปทรงไทย ๕ ยอด ชนิดมีเรือนทาสแบบย่อมุมไม้สิบสองทิ้งบนฐานทักษิณ ๓ ชั้น ประกอบด้วยมุขจระนำ ๔ ด้านด้านทิศตะวันตกออกแบบประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามญาติด้านทิศเหนือ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางรำพึงด้านทิศตะวันตก ประดิษฐานพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร ด้านทิศใต้ประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลา องค์ระฆังกลมประกอบด้วยบัวกลุ่มปลียอดพระเจดีย์สูง ๓๔ เมตร กว้างโดยรอบ ๓๔.๕๐ เมตร ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุสาวก
พระปรางค์

รูปลักษณะ ๕ ยอด มี ๓ มุข มุขกลางด้านทิศใต้ ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง ด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระพุทธรูปปางปาสิไลยก์ ด้านทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร