ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ดำน้ำ ลุยไฟ จุ่มมือในกระทะน้ำมันเดือด กลืนข้าวศักดิ์สิทธิ์ วิธียุติคดีของศาลไทย  (อ่าน 876 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28595
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

การแสดงลุยไฟในยุคปัจจุบัน


ดำน้ำ ลุยไฟ จุ่มมือในกระทะน้ำมันเดือด กลืนข้าวศักดิ์สิทธิ์! วิธียุติคดีของศาลไทยในอดีต!!

ดำน้ำ ลุยไฟ เอามือจุ่มในกระทะน้ำมันเดือดๆ หรือการกลืนข้าวศักดิ์สิทธิ์ ที่เล่าๆกันมาว่าเป็นวิธีพิสูจน์หาความจริงในคดีที่หาข้อยุติไม่ได้ อย่าคิดเป็นเรื่องนิยายนิทาน ผู้เล่าในครั้งนี้เป็นบุคคลที่ปรากฏชื่อในประวัติศาสตร์ และเป็นฝรั่งที่มาใช้ชีวิตร่วมกับชาวกรุงศรีอยุธยาถึง ๘ ปี นำประสบการณ์กลับไปเขียนเล่าให้ชาวยุโรปฟัง เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่พอเชื่อถือได้ว่ารู้เห็นเหตุการณ์จริงและไม่ได้ใส่ไข่ระบายสี

ผู้เล่าเรื่องนี้ก็คือ โยส เซาเต็น ผู้จัดการบริษัทดัทช์อินเดียตะวันออกที่มาประจำอยู่กรุงศรีอยุธยา ๒ สมัย คือสมัยพระเจ้าทรงธรรมครั้งหนึ่ง กับสมัยพระเจ้าปราสาททองอีกครั้งหนึ่ง รวมเวลา ๘ ปีด้วยกัน ได้เคยเข้าเฝ้าพระเจ้าปราสาททองหลายครั้ง ในฐานะที่เป็นผู้เชิญพระราชสาสน์มาจากพระเจ้ากรุงฮอลันดาเข้ามาถวาย ครั้นถึง พ.ศ.๒๑๗๙ โยส เซาเต็นได้กลับออกไปโดยมี นายฟอน ฟลีต หรือ วันวลิต มาแทน และได้ไปเขียนจดหมายแหตุฉบับนี้ขึ้น มีผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษ พิมพ์ออกจำหน่ายที่กรุงลอนดอนในปี พ.ศ.๒๒๐๖ ซึ่งศาสตราจารย์พิเศษ ขจร สุขพานิช นักประวัติศาสตร์คนสำคัญ ได้แปลไว้เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๓ รวมอยู่ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๗๖


@@@@@@

โยส เซาเต็นได้เขียนถึงภูมิประเทศ การปกครอง ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกรุงศรีอยุธยาในช่วงที่เขามาทำงานอยู่ที่นี่ ส่วนในหัวข้อเกี่ยวกับการพิจารณาคดีในศาลและการพิสูจน์ความผิดที่คณะผู้พิพากษาไม่สามารถหาข้อยุติได้ ต้องหาวิธีปิดคดีที่โจทก์และจำเลยยอมรับ โยส เซาเต็นเล่าไว้ว่า

“ศาลแพ่งและศาลอาญาทั่วราชอาณาจักร มีผู้พิพากษาซึ่งประเพณีและกฎหมายแต่โบราณกำหนดไว้เป็นผู้นั่งพิจารณาคดีเฉพาะในกรุงศรีอยุธยานั้น นอกจากศาลต่างๆ และผู้พิพากษาตามธรรมดาแล้ว ยังมีคณะลูกขุนอีก ๑๒ ท่าน ประกอบด้วยข้าราชการผู้ใหญ่ผู้หนึ่งเป็นประธาน ตั้งขึ้นไว้ประดุจศาลสูง ณ ศาลสูงนี้ผู้ไม่พอใจในคำตัดสินศาลชั้นต้น ย่อมอุทธรณ์ขึ้นมาให้ศาลสูงพิจารณาใหม่ได้ โดยมากศาลสูงมักจะพิพากษาตามมติของศาลชั้นต้น

@@@@@@

ในศาลสูงและศาลชั้นต้น โจทก์จำเลยต้องให้การผ่านทนายความ เป็นคำให้การด้วยปากเปล่าๆ ก็มี ด้วยลายลักษณ์อักษรก็มี การพิจารณาคู่คดีและพยานมีเสมียนศาลคอยจดบันทึกคำให้การไว้ในสมุด ซึ่งคู่ความจะต้องเซ็นเป็นหลักฐาน และผู้พิพากษาก็นำสมุดนี้ไปเก็บไว้จนถึงนัดหน้า ในการพิจารณานัดใหม่ ผู้พิพากษาจะนำสมุดดังกล่าวมาเปิดให้คู่คดีได้รู้เห็น แล้วจึงดำเนินการพิจารณาต่อไป ข้อความที่คู่คดีกล่าวอย่างใดเสมียนศาลก็จดลงไว้อีกและให้คู่คดีเซ็นชื่อ ด้วยเหตุนี้ข้อพิพาทเป็นอันมากกว่าจะพิจารณาเสร็จสิ้นก็กินเวลานาน บางคดีกว่าจะตัดสินได้กินเวลาเป็นปีๆ ทีเดียว และทั้งโจทก์จำเลยก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมาย แต่ในที่สุดคดีก็จะมาถึงศาลสูง ลูกขุนทั้ง ๑๒ ท่านพร้อมด้วยท่านประธานก็จะเข้าประชุมพิจารณาปรึกษาโทษให้เด็ดขาดไป คำตัดสินของศาลสูงนี้เป็นที่สิ้นสุด

ในคดีความอาญา เช่น หมิ่นประมาท ลักขโมย ฆาตกรรม ขบถ ฯลฯ ผู้ถูกกล่าวหาจะถูกจับกุมตัวนำมากักขังไว้ แล้วจึงมีการเบิกตัวให้ผู้พิพากษาพิจารณาโทษเมื่อมีหลักฐานอย่างแจ่มชัด แต่จำเลยยังยืนยันปฏิเสธความผิด จำเลยจะถูกทรมานให้รับสารภาพ คำให้การใดๆ ในขณะถูกทรมาน เสมียนศาลก็จะจดเอาไว้ในสมุดและนำไปให้ที่ประชุมผู้พิพากษา ครั้นแล้วจึงมีการพิพากษาและนำตัวไปลงโทษ แต่ถ้าหากว่าเป็นคดีร้ายแรงซึ่งจะต้องถูกลงโทษด้วยการประหาร คดีเหล่านี้ไม่อยู่ในอำนาจของคณะลูกขุน พระมหากษัตริย์เท่านั้นที่จะเป็นผู้ทรงโปรดให้ลงโทษประหารหรือลดโทษเป็นอย่างอื่น หรือจะทรงปล่อยตัวไปก็ได้ทั้งนั้น สุดแล้วแต่น้ำพระทัยของพระองค์ ถ้าพระมหากษัตริย์เป็นผู้ร้อนแรงด้วยอารมณ์ หรือพระองค์เป็นผู้ประกอบไปด้วยเมตตา คนโทษก็จะถูกประหาร หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือลดหย่อนผ่อนโทษ หรือได้รับการปลดปล่อยตามแต่พระอุปนิสัยของพระมหากษัตริย์


@@@@@@

กล่าวโดยทั่วไปแล้ว ความผิดชั้นอุกฤษฏ์เช่นนี้ มักจะถูกลงโทษตามความหนักเบาของความผิด เช่นจะถูกปรับ ถูกปลดจากตำแหน่ง ถูกเนรเทศไปอยู่ในแดนทุรกันดาร ถูกจับตัวเป็นทาส ถูกริบทรัพย์สมบัติ ถูกตัดมือตัดเท้า ถูกต้มน้ำร้อน ถูกตัดขาผ่าอก หรือถูกลงโทษอย่างทารุณกรรมอื่นๆ คนโทษใดถูกประหารหรือถูกเนรเทศ ทรัพย์สมบัติของเขาจะถูกริบเข้าพระคลังมหาสมบัติ

ในการพิจารณาความผิดโดยการให้พิสูจน์ ไม่ว่าจะเป็นความแพ่งหรือความอาญา และจำเป็นต้องใช้วิธีการพิสูจน์เป็นทางเดียวที่จะทราบความจริง เช่นในกรณีที่ไม่มีพยานหลักฐานที่จะชี้ให้เห็นว่าเป็นผู้ผิดหรือเป็นผู้ไม่ผิด คณะผู้พิพากษาเมื่อไม่สามารถจะพิพากษาให้เด็ดขาดไปได้ และถ้าทั้งฝ่ายโจทก์จำเลยขอร้องให้ใช้วิธีพิสูจน์ คณะผู้พิพากษาก็จะอนุมัติได้ การพิสูจน์ความบริสุทธิ์นั้นมีทำกันหลายอย่างเช่น ดำน้ำ ลุยไฟ เอามือจุ่มในกระทะน้ำมันเดือดๆ หรือการกลืนข้าวศักดิ์สิทธิ์ วิธีการพิสูจน์ดังกล่าวจำต้องมีพิธีการและต้องทำกันในที่เปิดเผยต่อหน้าคณะผู้พิพากษาและประชาชน

@@@@@@

การพิสูจน์ด้วยวิธีดำน้ำเขากระทำกันดังนี้ ปักเสาสองเสาลงในน้ำแล้วให้คู่พิพาททั้งสองเกาะเสาดำลงไปใต้น้ำให้พร้อมกัน ผู้ที่อยู่ใต้น้ำได้นานกว่า ผู้นั้นชนะคดี ผู้ที่โผล่ขึ้นมาก่อนเป็นผู้แพ้

การพิสูจน์โดยวิธีอื่นเช่นกัน เช่นการจุ่มมือลงในกระทะน้ำมันเดือด มือของใครพองน้อยกว่า เป็นผู้ชนะ

ในการเดินลุยไฟเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์นั้น คู่ความจะต้องลุยไฟโดยมีเจ้าหน้าที่คอยกดบ่าไว้ทั้งสองข้าง ผู้ที่เดินลุยไปได้ตลอดโดยบาดเจ็บน้อยกว่า ผู้นั้นชนะ

ส่วนการพิสูจน์โดยการกลืนข้าวศักดิ์สิทธิ์นั้น มีการประกอบพิธีให้ขลังโดยพระภิกษุสงฆ์ คู่ความผู้ที่กลืนข้าวนั้นได้โดยไม่อาเจียนออกมาหรืออาเจียนน้อยกว่า เป็นผู้ชนะ

เมื่อการพิสูจน์โดยวิธีการต่างๆ ปรากฏผลแพ้ชนะกันไปเช่นนี้ ฝ่ายชนะจะได้รับการปลดปล่อยทันที และประชาชนญาติพี่น้องเพื่อนฝูงก็จะแห่แหนพาเขากลับบ้าน ส่วนผู้แพ้ถ้าเป็นคดีอาญาก็จะถูกลงโทษตามความผิดมากหรือน้อย แต่ถ้าเป็นคดีแพ่งจะถูกปรับไหมหรืออาจจะถูกจับขังด้วย

นี่ก็เป็นการตัดสินคดีเมื่อราว ๔๐๐ ปีที่แล้ว ซึ่งนำมาเล่าโดยบุคคลร่วมสมัย ก็น่าเชื่อว่าเป็นเรื่องใกล้ความจริงที่สุด


ขอบคุณเนื้อหาและภาพจาก : https://mgronline.com/onlinesection/detail/9610000049268
เผยแพร่ : 18 พ.ค. 2561 13:58  ,โดย : โรม บุนนาค
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

sinsae

  • พอพึ่งพาได้
  • ***
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 277
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
บันทึกการเข้า