« เมื่อ: กรกฎาคม 20, 2018, 06:22:08 am »
0
ทำความรู้จัก 'รามัญญะรัฎฐะ' มหาวิทยาลัยสงฆ์ในรัฐมอญสัปดาห์นี้ทำความรู้จัก มหาวิทยาลัยสงฆ์ “รามัญญะรัฎฐะ” แห่งรัฐมอญ ประเทศเมียนมาร์ ก่อตั้งโดยพระนักเทศน์ชื่อดัง “พระศีลาจาระ”
การเดินทางไปบริจาคน้ำท่วม ในรัฐมอญ ประเทศเมียนมาร์ ในนาม “มูลนิธิรามัญรักษ์” และภาคีเครือข่าย เมื่อช่วงต้นเดือนนี้ คณะของเราประกอบด้วยพระสงฆ์และฆราวาส ประมาณ 20 ท่าน เป้าหมายที่พักและสถานที่เก็บของบริจาคของเราในครั้งนี้ คือ มหาวิทยาลัยแห่งคณะสงฆ์มอญ ชื่อ มหาวิทยาลัยรามัญญะรัฎฐะ
มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ มีเนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ ตั้งอยู่ในเมือง เมาะละแหม่ง มีอาคาร 5 หลังใหญ่ ประกอบด้วย สำนักงานอธิการบดีเป็นอาคารสูง 4 ชั้น ศาลาสวดมนต์และปฏิบัติ เป็นอาคารข้างในตบแต่งวิจิตรสวยงาม มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ สานด้วยไม้ไผ่แล้วปิดด้วยทองคำเปลว อาคารหอฉันและโรงครัวบรรจุคนได้เป็นพันคน อาคารหอพักเป็นอาคารสูง 5 ชั้น สำหรับพระภิกษุสามเณรที่มาเรียนหนังสือ และอาคารเรียนกำลังก่อสร้าง เป็นอาคารสูง 5 ชั้น คณะเราพักที่นี้แบ่งเป็นสัดส่วนที่พักสำหรับพระภิกษุ ที่พักสำหรับผู้ชายและผู้หญิง มีห้องน้ำสะอาดแบ่งเป็นสัดส่วน แต่ละหลังสวยงามและใหญ่โต
ผู้ริ่เริ่มในการต่อตั้งและสร้างมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ เป็นพระนักเทศน์ชื่อดังของมอญ ชื่อ พระศีลาจาระ คนมอญนิยมเรียกโดยทั่วไปชื่อ “กุ้นแหม่ะ” จุดเริ่มต้นในการก่อสร้างท่านเล่าว่า เมื่อ 6 ปีที่แล้วเดินทางเข้ามาเทศน์ในประเทศไทย และมีโอกาสไปเยี่ยมชม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เห็นการบริหารจัดการและความยิ่งใหญ่ของมหาจุฬาฯ
จึงคิดว่า การก่อสร้างวัด สร้างเจดีย์ เป็นสิ่งที่ง่าย แต่การสร้างคน สร้างสถานที่เพื่อพัฒนาคนแบบมหาจุฬาฯ เป็นสิ่งที่ท้าทายเป็นอย่างมาก และอนาคตพุทธศาสนาจะมั่นคงและยืนยาวได้ พระสงฆ์ต้องมีองค์ความรู้ และมีศักยภาพ ทั้งทางโลกและทางธรรม เมื่อกลับไปจึงได้หาสถานที่จัดสร้าง ด้วยเงินที่ท่านได้รับจากการแสดงธรรมจากทั่วโลก
ปัจจุบันเท่าที่สังเกตและสอบถามจาก พระสงฆ์มอญ มหาวิทยลัยสงฆ์มอญ การบริหารจัดการยังไม่สมบูรณ์แบบดั่งความตั้งใจของพระศีลาจาระ มีหลักสูตรสำหรับพระภิกษุสามเณรถึงแค่ระดับอนุปริญญา และหลักสูตรสอนภาษาอังกฤษให้กับกลุ่มเด็กและเยาวชนเท่านั้น แม้แต่พระคุณเจ้าศีลาจาระ ท่านก็ปรารภตอนที่เข้าพบ พระพรหมบัณฑิต (ศ.ดร.ราชบัณฑิต) รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยว่า ปัจจุบันการเรียนการสอนยังไม่สมบูรณ์แบบ และท่านได้มอบมหาวิทยาลัยรามัญญะรัฎฐะ ให้แก่ คณะสงฆ์รามัญนิกาย เข้ามาบริหารจัดการ และตัวท่านมีความตั้งใจอยากเห็นมหาวิทยาลัยสงฆ์มอญแห่งนี้ มีความสมบูรณ์แบบ เหมือนมหาจุฬาฯ ทั้งด้านโครงสร้างการบริหารจัดการ และหลักสูตรการเรียนการสอน
คณะอาจารย์ จึงขอการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 2 เรื่อง คือ
1.ช่วยส่งเสริมสนับสนุน ให้มหาวิทยาลัยรามัญญะรัฎฐะ เป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์
2.ขออนุเคราะห์ให้มหาจุฬาฯ ช่วยพัฒนาบุคลากรผู้บริหารของมหาวิทยาลัยรามัญญะรัฎฐะ
โดยแนวคิดการริ่เริ่มก่อสร้างมหาวิทยาลัยรามัญญะรัฎฐะ ท่านเจ้าคุณพระพรหมบัณฑิต ได้ชื่นชมความตั้งใจของ พระศีลาจาระ ที่ตั้งใจต้องการพัฒนาศักยภาพพระภิกษุสามเณรและชาวพุทธมอญ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยยินดีสนับสนุนทั้ง 2 ประเด็นที่ขอให้ช่วย
ทั้งนี้พระเดชพระคุณสั่งการให้ วิทยาลัยพุทธศาสนานานาชาติ (International Buddhist Studies College : IBSC) ภายใต้การบริหารของ พระมหาหรรษา ธมฺมหาโร (รศ.ดร.) มือฉมังครบเครื่องทั้งด้านวิชาการ บริหาร และการปฎิบัติ ที่เพิ่งเดินทางกลับจากลงนาม MOU ระหว่างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศยุโรป เป็นผู้ประสานงานหลักเชื่อมโยง ช่วยเหลือ พัฒนา เต็มเติมสิ่งที่ขาดบกพร่องเพื่อความสมบูรณ์ ระหว่างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยรามัญญะรัฎฐะ ต่อไป
พร้อมกันนี้อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ฝากแนวคิดให้มหาวิทยาลัยรามัญญะรัฎฐะ ควรเป็นหลักรักษาพุทธศาสนาแบบมอญ และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ประเพณี อัตลักษณ์ความเป็นมอญเอาไว้
การช่วยเหลือและสนับสนุนแบบนี้ ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ปัจจุบันเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลกต้องการ เพราะศาสนาพุทธเป็นศาสนาเดียวในโลก ที่สอนให้เรารักสันติ สอนให้เดินทางสายกลาง สอนให้รู้จักประณีประนอม และเป็นศาสนาเดียวในโลกที่สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ เชิญมาพิสูจน์ได้ทุกเมื่อทุกเวลา และชาวพุทธไทยเราควรภูมิใจร่วมกันว่า...
ประเทศไทยเราโชคดีที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระปรีชาสามารถที่ต้องการให้คณะสงฆ์ ได้ศึกษาเล่าเรียนพระพุทธศาสนาและศาสตร์ชั้นสูง จึงทรงมีพระราชดำริก่อตั้งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่มีสาขาและสถาบันสมทบกระจายทั่วมุมโลก มีพระนิสิต มีนักศึกษาจากทั่วโลกเดินทางมาศึกษา สมแล้วที่ชาวพุทธทั่วโลกขนานนามว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยนาลันทาแห่งที่ 2
.......................
คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง
โดย “เปรียญ10” :
riwpaalueng@gmail.comขอบคุณที่มา :
https://www.dailynews.co.th/article/655432พุธที่ 18 กรกฎาคม 2561 เวลา 10.00 น.