(...ต่อจากด้านบน)
:: พิธีกรรมการปลุกเสกดาบสรีกัญไชย :::ในส่วนของกรรมวิธีการปลุกเสกก็คล้ายกับพระคาถาที่ลงดาบ แต่ละสำนักก็ปลุกเสกด้วยพระคาถาที่แตกต่างกันไป ตามที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา
อาจารย์ปริญญา ณ เชียงใหม่ ปราชญ์ล้านนาผู้ศึกษาเรื่องดาบสรีกัญไชยมาเป็นเวลานาน ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับคาถาที่ครูบาอาจารย์ล้านนาใช้ปลุกเสกดาบสรีกัญไชย แตกต่างกันว่า
“ในเรื่องคาถาดาบสรีกัญไชยนี้ ผมเคยเห็นครูบาอาจารย์หลายท่านใช้แตกต่างกันไปในบทปลุกเสก เช่น
ครูบาคำ สํวโร ท่านจะปลุกเสกขึ้นต้นด้วย ‘อม เทปะสวาหังมัง ดาบสรีกัญไชยกูนี้.....’ ไปจนถึงลงด้วย ‘อมสวาหะเท็ก’
ส่วนครูบาคำหล้าท่านจะเสกด้วยสรีกัญไชยบท ‘อมนะโมนะมาสุภาษิตเทศน์แสนตอนจักรวาฬ....’ และลงด้วย ‘อมธุ ธะ ธา อะ ปิด ธะ ธา อม สังถะ’ เป็นต้น
@@@@@@
นอกจากนี้ผมยังเคยเห็นยันต์ชนิดนี้ลงเป็นดาบสี่เล่ม ผมเคยลองถามอาจารย์ณรงค์ชัย ท่านบอกว่าเป็นยันต์ลงดาบสรีกัญไชยสีเถื่อน ตามความเชื่อที่เล่ามาว่า ดาบทั้งสี่นี้เป็นของท้าวโลกบาล หรือที่คนเหนือเรียก ‘ท้าวทั้งสี่’ ส่วนคาถาปลุกเสกเคยเห็นท่านอาจารย์บุญเลิศบันทึกเอาไว้ เป็นบทสรีกัญไชยสีเถื่อนเหมือนกัน ใช้เสกมีดและไม้เท้า ดีทางข่มผีปีศาจ มีอำนาจเหนือคนทั้งปวง”
ย่อมเป็นข้อสรุปได้ว่า พระคาถาที่ใช้ปลุกเสกของแต่ละสำนัก แต่ละพระเกจิอาจารย์ ล้วนแตกต่างกัน ซึ่งรวมไปถึงพิธีการปลุกเสกก็แตกต่างกัน อาทิเช่น
บางแห่งต้องมีการตั้งขันครู ชุมนุมเทวดา มีเครื่องเซ่นสังเวย
ตำรับเมืองน่านที่บันทึกโดยหนานบุญเมือง ได้ระบุถึงพิธีกรรมที่ต้องเตรียมเครื่องสักการะ ไว้ชัดเจน เช่น ผ้าขาว ผ้าแดง หมาก กล้วย อ้อย ข้าวเปลือก ข้าวสาร อาหารคาวหวาน ทำพิธีในเขตที่ล้อมรอบด้วยราชวัตร ฉัตร ธง มีเครื่องพลีแม่พระธรณี เป็นต้น
ในขณะที่พิธีกรรมปลุกเสกของหลวงปู่ครูบาอิน เริ่มต้นที่การเลือกวันที่ฤกษ์ยามดี จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ขันข้าวตอกดอกไม้ เครื่องสักการะ แล้วก็ทำพิธีปลุกเสกเดี่ยวได้เลย
บางครั้งก็มีการนำเอาดาบสรีกัญไชยที่จัดสร้าง และลงอักขระเรียบร้อยแล้วเข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษก ร่วมกับวัตถุมงคลอื่นๆ เช่นพิธีพุทธาภิเษกตามวัดวาอารามต่างๆ ที่นิมนต์พระเกจิอาจารย์มาร่วมปลุกเสก หรือเข้าร่วมพิธีเข้านิโรธกรรมเช่น ดาบสรีกัญไชยของครูบาน้อยวัดศรีดอนมูลเป็นต้น ซึ่งไม่ว่า จะปลุกเสกด้วยพิธีกรรมแบบไหนก็สามารถให้ผลที่ดีตามปรารถนาได้เช่นเดียวกัน

ครูบาคำ สํวโร วัดศรีดอนตัน จ.ลำพูน
::: วิธีการบูชาดาบสรีกัญไชย:::
อาจารย์ปริญญา ณ เชียงใหม่ ได้กล่าวถึงวิธีการบูชาดาบสรีกัญไชยของวัดต้นแก้วตามแบบโบราณไว้โดยละเอียดว่า
๑. ให้จัดที่บูชาดาบ ให้มีหิ้งบูชา หรือเก็บเอาไว้สูงเกินศีรษะของผู้เป็นเจ้าของ
๒. ห้ามนำดาบมาเล่น หรือชักดาบออกจากฝัก เว้นแต่ใช้ปราบผี ให้ชักออกจากฝักแล้วทำน้ำมนต์ ภาวนาด้วยคาถา “เวสสะธัมมะ ราชาสุวัณโณ กะระหิติ” ๗ ครั้ง ผีออกแล
๓. ปรารถนาความรุ่งเรือง ให้บูชาด้วยดอกมะลิ ๙ พวงทุกวันพระ
๔. ทุกวันพญาวัน ๑๕ เมษายน ของทุกปี หรือตามกำหนดปฏิทินล้านนา ควรมีน้ำส้มป่อยพรมดาบ ภาวนาคาถานวหรคุณ “อะสังวิสุโลปุสะภุพะ” ๗ ครั้ง ดาบจะมีอานุภาพไม่เสื่อมคลาย
๕. ดาบนี้อยู่ในเคหะหอเรือนใด อธิษฐานป้องกันคุณไสย คุณผี คุณคน ได้ทั้งปวง
๖. ดาบนี้ใช้ข่มอาถรรพ์ ตลอดจนล้างความข่ามคงของศัตรูผู้คิดร้ายได้
๗. หากปรารถนาพันช่วงเจริญรุ่งเรือง ให้ภาวนาด้วยบทสรีกัญไชยพระเจ้า ๓-๕-๗-๙ ครั้ง ดังนี้
“ติวิตีธะนุเจต๋า ธะราอาวุธทา จักกาเกปินิกุกุ สังระยะนะจัง นัมปะโยโหนตุเมนิจัง”
@@@@@@
สำหรับวิธีการอธิษฐานใช้ดาบของหลวงปู่ครูบาอิน ท่านให้แขวนหันออกหน้าบ้าน เพื่อป้องกันสิ่งอัปมงคลชั่วร้ายที่จะมากล้ำกลาย ไม่ว่าจะเป็นคุณไสยที่ถูกส่งมา หรือลมเพลมพัดที่มาตามอากาศก็ดี ถ้าเจ็บป่วยก็ให้เอาดาบไปแช่ทำน้ำมนต์ แล้วเอาไปดื่ม-อาบ พร้อมทั้งอธิษฐานขอบารมีหลวงปู่ครูบาอิน อินโท ท่านช่วยก่อนใช้ดาบ สำหรับผู้ที่ถูกภูตผี ให้อธิษฐานใช้ดาบทำน้ำมนต์ มารดราดผู้ถูกผี ถูกของ ก็จะได้ผล
อธิษฐานเป็นประจำด้วยคาถา
“โอม ปัตโต เภตะสะหะจักกะวะโร พุทธะมังคะละ สักกัสสามิ ทะสะ เอเก จัมหิ ปะวุดฑิฆัง นะมามิหัง สวาหาย สิโลมัง สะเหเห กาเว ติสสันโต มัทธิญาโณ ยันโต ทัสสะ ธะนะสิทธิ สะวิสปะเร เอเตนะสัจจะ วัชเชนะ ไชยยะโสตถิ ภะวันตุสัปปะทา สวาหายะฯ”
เพื่อเพิ่มพุทธคุณแก่ดาบที่สักการบูชา วันศีลวันพระบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน และประพรมด้วยน้ำขมิ้นส้มป่อย ในวันพญาวัน ๑๕ เมษายน ของทุกปี ซึ่งถือว่าเป็นวันมงคลมหาฤกษ์แห่งปี ควรแก่การสระสรงพระเครื่องวัตถุมงคล ให้มีความศักดิ์สิทธิ์คงทน ตลอดไป
@@@@@@
เมื่อพูดถึงดาบสรีกัญไชย คนเหนือรู้จักกันดี แต่สำหรับเรื่องราวของดาบสรีกัญไชยที่นำมาเสนอนี้ เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบถึงที่มาที่ไปในเชิงลึก อุปเท่ห์การสร้าง เสก และสักการบูชาเพื่อให้เกิดผลต่อผู้ใช้อย่างสมบูรณ์ที่สุด แต่ทั้งนี้ ขอให้พึงทราบไว้ประการหนึ่งว่า
ของดีสิ่งวิเศษตลอดคุณพระต่างๆ จะดีได้ก็ต่อเมื่อ ผู้ครอบครองมีความเชื่อมั่น และดำรงตนอยู่ในคุณความดีเท่านั้น หากไม่ปฏิบัติรักษาศีล วัตถุมงคลใดๆ ก็ไม่อาจจะคุ้มครองรักษาเจ้าของได้
จงหมั่นสักการบูชาด้วยความเชื่อมั่นนับถือ และรักษาตนให้ห่างไกลจากสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง ดาบสรีกัญไชย สิ่งสูงสุดแห่งพระเวทย์ล้านนานี้ก็จะปกปักรักษา เสริมดวงชะตาของผู้ใช้ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไปได้อย่างแน่นอน....................................................
เรียบเรียงโดย: ธีระยุทธ ไขยวงศ์, webmaster
ขอบคุณเนื้อหาและภาพจาก :
http://krubain.awardspace.com/trimas46_srigunchaistory.htm ข้อมูลอ้างอิง :-
- ปริญญา ณ เชียงใหม่, “ดาบสะหลี๋กัญไชย”, คอลัมน์พระเวทย์ล้านา, อุณมิลิต ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒๗ เดือนสิงหาคม ๒๕๔๘
- ปริญญา ณ เชียงใหม่, “ยันต์ก๋าสะท้อน”, คอลัมน์พระเวทย์ล้านา, อุณมิลิต ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๓๖ เดือนเมษายน ๒๕๔๙
- พระมหาบุญหมั้น สุนทรธมฺมโม, “เรื่องเล่าของพระขรรค์ไชยศรี และดาบสรี๋กัญไชย”, อุณมิลิต ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๓๘ เดือนกรกฎาคม ๒๕๔๙
- วัดคันธาวาส (ทุ่งปุย), “เอกสารสั่งจองวัตถุมงคลรุ่นไตรมาส สืบชาตาหลวง ๒๕๔๖” หลวงปู่ครูบาอิน อินฺโท, ๒๕๔๖
- วิลักษณ์ ศรีป่าซาง, “เรื่องเล่าชุดชายหาญล้านนา: ตอน ดาบหาญล้านนา” อุณมิลิต ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔๐ เดือนกันยายน ๒๕๔๙
- หนานบุญ เมืองงาช้างดำ, “ยันต์มีดดาบสหลีกัญไชย (มีดดาบกายสิทธิ์) ฉบับเมืองงาช้างดำ” อุณมิลิต ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๓๙ เดือนสิงหาคม และ ฉบับที่ ๔๐ เดือนกันยายน ๒๕๔๙
- อมเรศ, “พระครูปัญญาวชิรธรรม เจ้าอาวาสวัดรัตนาราม (ต้นแก้ว)” อุณมิลิต ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๓๖ เดือนพฤษภาคม และ ฉบับที่ ๓๗ เดือนมิถุนายน ๒๕๔๙