ความหมายของ "การส่ายหน้า" ของ "อุปกาชีวก"มีนักบวช (ในคัมภีร์เรียกว่า “อาชีวก” (อา-ชี-วะ-กะ หรือ อา-ชี-วก) หมายถึงนักบวชนอกพุทธศาสนา) มีชื่อว่า “อุปกะ” แต่นิยมเรียกว่า “ อุปกาชีวก ” ( อุ-ปะ-กา-ชี-วะ-กะ หรือ อุ-ปะ-กา-ชี-วก) ได้พบพระพุทธเจ้า
อุปกาชีวกทูลถามพระพุทธเจ้าว่า
“ข้าแต่ผู้มีอายุ (อาวุโส) ร่างกายของท่านผ่องใสมาก ผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่องยิ่งนัก ท่านบวชเพื่ออุทิศบุญให้ใครกัน และใครเป็นพระศาสดาของท่าน แล้วท่านชอบธรรมะของใครโปรดบอกแก่ข้าด้วย”
พระพุทธเจ้าตรัสตอบอุปกาชีวกว่า
“เราเป็นผู้รู้ธรรม (ความจริง) ทั้งปวง (ที่เป็นปรมัตถ์) เราไม่แปดเปื้อนในธรรม (วัตถุ) ทั้งปวง เราละธรรมทั้งปวงได้อย่างสิ้นเชิง หลุดพ้นเพราะเราไม่มีตัณหา ตรัสรู้ด้วยตัวเราเอง เราจะกล่าวอ้างว่ารู้ธรรมนี้จากใครได้ เราไม่มีอาจารย์ ในมนุษยโลกและเทวโลกไม่มีใครเสมอเหมือนเรา เราเป็นอรหันต์ เราเป็นศาสดาผู้ยอดเยี่ยม เราเป็นผู้ที่เยือกเย็นดับกิเลสแล้วจากโลกนี้ เรากำลังไปเมืองพาราณสี เพื่อประกาศธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ประกาศชัยของอมตธรรมไปในโลกที่มืดมนนี้”
@@@@
จากนั้นอุปกาชีวกกล่าวขึ้นว่า
“ผู้มีอายุ(อาวุโส) ท่านสมควรอย่างยิ่งแล้ว ที่เป็นตามที่ท่านกล่าว”
พระพุทธเจ้าตรัสต่อว่า
“ชนใดสิ้นกิเลสแล้ว ชนนั้นย่อมเป็นผู้ชนะเช่นเดียวกับเรา อุปกะ เราชนะความชั่วได้แล้ว เพราะเช่นนั้น เราจึงชื่อว่าเป็นผู้ชนะ”
เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสจบ อุปกาชีวกกล่าวขึ้นว่า
“ผู้มีอายุ ท่านสมควรแล้ว ท่านสมควรแล้ว” กล่าวจบก็ส่ายหน้าไปมา เหมือนท่าปฏิเสธอแล้วเดินจากไป
@@@@@@
ในพระสูตรที่มีชื่อว่า โพธิราชกุมารสูตร
พระพุทธเจ้าตรัสเล่าเรื่องราวการเสด็จออกผนวชของพระองค์จนมาถึงเหตุการณ์หลังจากท้าวสหัสบดีพรหม ทรงขอร้องให้พระองค์เสด็จออกโปรดสรรพสัตว์ ให้โลกที่มืดมนอนธการนี้ สว่างไสวด้วยธรรมะที่ค้นพบของพระองค์ ขณะที่พระองค์กำลังไปเมืองพาราณสี หรือป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ได้พบกับอุปกาชีวก หลังจากสนทนากันเสร็จ อุปกาชีวกกลับแสดงอาการส่ายหน้าและแลบลิ้นแล้วเดินจากไป
หลังจากอุปกาชีวกแยกทางจากพระพุทธเจ้า ก็แต่งงานกับลูกสาวของพรานนกชื่อว่า “นางปาจา” จึงละชีวิตทางธรรมมาเป็นฆราวาส แล้วถูกภรรยาพูดดูถูกต่าง ๆ นานาจึงได้มีสติแล้วบอกภรรยาว่าจะไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อขอบวช อุปกาชีวกได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าก็บรรลุเป็นพระอนาคามีทันที จากนั้นก็บวชเป็นพระภิกษุ ส่วนนางปาจาก็ออกบวชเป็นภิกษุณีได้บรรลุอรหัตตผลในที่สุด
@@@@
ย้อนกลับไปเรื่องอุปกาชีวกที่แสดงอาการไม่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้สำเร็จ จึงไม่ทูลขอธรรมะจากพระองค์ หรือบวชติดตามพระองค์เพื่อไปสู่ความหลุดพ้น แถมยังส่ายหน้า แสดงถึงความไม่เชื่อซ้ำเข้าไปอีก
เสฐียรพงษ์ วรรณปก อธิบายความหมายการส่ายหน้าของอุปกาชีวกไว้ว่า การส่ายหน้ามีความหมายเท่ากับว่า “ใช่” หรือหมายถึงว่าฉันเข้าใจแล้ว ฉันเชื่อแล้ว ตรงกับประโยคภาษาอังกฤษว่า “I see” แต่เมื่ออุปกาชีวกเชื่อว่าบุรุษที่ตนสนทนาด้วยเป็นพระพุทธเจ้า ทำไมไม่ขอบวชติดตามพระพุทธเจ้าตามอย่างปัญจวัคคีย์
@@@@
เหตุการณ์นี้พอจะอธิบายได้ด้วยเรื่องของผลบุญว่า ต้องย้อนกลับไปถึงอดีตชาติของอัญญาโกณฑัญญะ ที่เคยตั้งอธิษฐานไว้ว่า ขอเป็นคนแรกที่ได้เข้าถึงพระธรรมของพระพุทธเจ้า ถ้าอุปกาชีวกขอธรรมะจากพระพุทธเจ้าในตอนนั้น แถมยังขอบวชด้วย สิ่งที่อัญญาโกณฑัญญะปรารถนามาตั้งแต่อดีตชาติก็จะไม่สำเร็จ
จึงตอบได้ว่า การส่ายหน้าของอุปกาชีวกบ่งบอกได้ว่า อุปกาชีวกเชื่อว่าพระองค์คือพระพุทธเจ้า แต่เหตุที่ไม่ขอธรรมะหรือบวชกับพระพุทธเจ้าในตอนนั้น เพราะธรรมะและการเป็นพระสงฆ์รูปแรกในพระพุทธศาสนาเป็นโอกาสของอัญญาโกณฑัญญะนั่นเองที่มา : สวนทางนิพพาน โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก (อุปกาชีวกในพระวินัยปิฎก โพธิราชกุมารสูตร ปาจาเถรีคาถา)
ขอบคุณเว้บไซต์ :
https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/118525.htmlคอลัมน์ธรรมะ : ความหมายของการส่ายหน้าของ อุปกาชีวก
By Alternative Textnintara1991 ,26 October 2018