ช่วยคนที่ตกทุกข์ เพราะกรรมเก่า เป็นการ "แทรกแซงกฎแห่งกรรม" หรือไม่.?ผู้อ่านถาม : เมื่อเจอคนที่กำลังตกทุกข์ ซึ่งอาจเป็นเพราะ กรรมเก่า หรืออาจเป็นผลกรรมในปัจจุบันของเขา แล้วเราช่วยให้เขาพ้นทุกข์ ถือเป็นการสร้างกุศลหรือเป็นการแทรกแซงกฎแห่งกรรมคะ แล้วกรณีใดจึงจะเรียกว่าแทรกแซงกฎแห่งกรรม
@@@@@@
พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ตอบ : เป็นเรื่องที่วินิจฉัยยากว่าสิ่งดีๆ หรือสิ่งที่ไม่ดีซึ่งกำลังเกิดขึ้นกับคนที่อยู่เบื้องหน้าของเรานั้นเป็นผลมาจาก “กรรมเก่า” ของเขาเอง ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดก็คือ หากเราเห็นว่าใครกำลังตกทุกข์ได้ยาก เราก็ควรพิจารณาอย่างรอบคอบที่สุดแล้วจึงช่วยเหลือเขา เมื่อช่วยอย่างถึงที่สุดแล้วช่วยไม่ได้ก็จึงปล่อยวางโดยถือหลัก “สุดมือสอยก็ปล่อยมันไป”
การแทรกแซงกฎแห่งกรรมจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราเห็นอยู่ซึ่งๆ หน้าแล้วว่า คนที่กำลังตกทุกข์ได้ยากนั้นเขาทำ “เหตุ” ที่เลวมาก่อนหน้านั้นอย่างชัดเจน แต่ครั้นตกทุกข์ได้ยากแล้ว เรากลับเข้าไปช่วยด้วยเมตตา (แต่ขาดปัญญาที่เป็นกลาง) อย่างนี้จึงถือเป็นการแทรกแซงกฎแห่งกรรม เช่น ลูกไปเที่ยวผับแล้วชกต่อยกัน เกิดยิงคนตายขึ้นมา กฎหมายนำตัวลูกไปขังคุก รอวันพิพากษา แต่แม่กลับพยายามใช้เงิน “ง้างกฎหมาย” ด้วยการแทรกแซงการพิพากษา จนทำให้การลงโทษนั้นผิดจากดำกลายเป็นขาว คนผิดพ้นผิด (หนีกฎหมายได้ แต่หนีกฎแห่งกรรมไม่ได้) การทำการในลักษณะนี้เรียกว่าแทรกแซงกฎแห่งกรรม
@@@@@@
แต่ก่อนที่เราจะสรุปว่าเราแทรกแซงกฎแห่งกรรมหรือไม่ สิ่งสำคัญที่สุดต้องใช้ปัญญาพิจารณาอย่างดีที่สุดก่อนเสมอ เพราะหากเราไปตั้งแง่ว่า ทุกคนที่กำลังได้รับผลร้ายในชีวิตเป็นเพราะกรรมชั่วไปเสียทั้งหมด เราก็เลยไม่อยากช่วย เพราะเกรงว่าการช่วยจะเป็นการแทรกแซง การคิดอย่างนี้ถือว่าประมาทอย่างยิ่ง คนที่คิดอย่างนี้มีโอกาสสูงที่จะกลายเป็นคนใจไม้ไส้ระกำ ยอมปล่อยให้มนุษย์เผชิญชะตากรรมเลวร้ายโดยไม่ช่วยเหลือเกื้อกูล
ด้วยเหตุดังนั้น เวลาเห็นใครตกทุกข์ได้ยาก ลำบากแทบล้มประดาตาย ก็จงใช้ปัญญาพิจารณาหาเหตุผลอย่างดีที่สุดเสมอ เมื่อพิจารณาถี่ถ้วนแล้วจึงช่วยหรือจึงไม่ช่วยด้วยปัญญา ไม่ใช่ด้วย “อคติ” ที่เข้าใจไปเองจากปรากฏการณ์ที่เห็นอยู่เบื้องหน้าในขณะนั้น ขอบบคุณภาพและเนื้อหาจาก
https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/dhamma/30497.htmlคอลัมน์ธรรมะ : ช่วยคนที่ตกทุกข์ เพราะ กรรมเก่า เป็นการแทรกแซงกฎแห่งกรรมหรือไม่
By pitch ,29 October 2018