ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: 'ภัย' ของ การตกเป็นทาส “ขยะข้อมูล ปฏิกูลข่าวสาร”  (อ่าน 898 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



'ภัย' ของ การตกเป็นทาส “ขยะข้อมูล ปฏิกูลข่าวสาร” 

ปัจจุบัน เรากำลังเสพสื่อสังคมออนไลน์มากเกินไป จนกลายเป็นว่า เรารับเอาขยะข้อมูล ปฏิกูลข่าวสารมามากเกินไปหรือเปล่า แล้วเราควรแก้ปัญหานี้อย่างไร ร่วมหาคำตอบได้ในบทความดีๆ จาก ท่าน ว.วชิรเมธี

@@@@

ปุณณ์และปัณณ์หลานรัก

ทุกวันนี้ เราอยู่ในยุคที่ “สื่อสังคมออนไลน์” หรือ “Social Media” กำลังมีอิทธิพลมาก มากเสียจน “สื่อเก่า” อย่างสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ โทรทัศน์ เริ่มไม่มีคนสนใจ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ที่เคยมีอิทธิพลทั้งในระดับโลก ระดับประเทศต่างก็ทยอยปิดตัวไปตาม ๆ กัน รายการวิทยุและโทรทัศน์ก็ไม่ต่างกัน

การเกิดขึ้นของสื่อใหม่อย่างเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ ยูทูบ เป็นต้น ทำให้ผู้คนทั่วโลกที่มีสมาร์ตโฟนอยู่ในมือ ต่างก็เฝ้าติดตามข้อมูลข่าวสารรายการบันเทิงต่าง ๆ ผ่านหน้าจอโทรศัพท์ของตัวเองเป็นหลัก

@@@@

ท่ามกลางมหาสึนามิแห่งข้อมูลข่าวสารที่ไหลบ่ามาอย่างรวดเร็วและเชี่ยวกรากในแต่ละวันนั้น หากเราไม่มีสติ เราก็จะตกเป็นทาสของ “ขยะข้อมูล ปฏิกูลข่าวสาร” ได้อย่างง่ายดาย หลานลองสังเกตดูเถิด แทบทุกวันจะมีเรื่องราว “ดราม่า” (เรื่องที่ก่อให้เกิดวิวาทะถกเถียง ความเข้าใจผิด กระทบกระทั่งเสียดสี สาดโคลน Hate speech) เกิดขึ้นในสื่อสังคมออนไลน์มากมาย ในสถานการณ์เช่นนี้ ถ้าหลานไม่หมั่นเจริญสติไว้ให้ดี หลานก็จะตกเป็นทาสของขยะข้อมูล ปฏิกูลข่าวสารได้อย่างง่ายดาย

อาการอย่างหนึ่งของการบริโภคสื่อสังคมออนไลน์อย่างขาดสติก็คือการเป็นโรค “ด่วนตัดสิน” หมายความว่า พอเห็นข่าวหรือมีใครส่งข้อมูล ข้อความ ภาพ คลิปมาให้ก็พร้อมที่จะ “เชื่อ” และ “คล้อยตาม” หรือ “ผสมโรง” ทันที โดยไม่สนใจจะสืบสาวราวเรื่องให้ได้ข้อเท็จจริงอย่างถ่องแท้เสียก่อน

โรคด่วนตัดสินนี่แหละ คือที่มาของ “ความทุกข์ออนไลน์” ของผู้คนบนโลกเสมือนจริงในทุกวันนี้ หลานรัก เพื่อให้หลานทั้งสองมีภูมิคุ้มกัน ไม่ตกเป็นเหยื่อของสื่อสังคมออนไลน์ง่าย ๆ ปู่ขอมอบนิทานดังต่อไปนี้ให้หลานทั้งสองเอาไว้เตือนตัวเองทุกครั้ง ยามเข้าสู่เครือข่ายสังคมออนไลน์ นิทานนี้มีชื่อเรื่องว่า “อย่าด่วนตัดสิน”

@@@@

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว…มีเรื่องเล่ากันสืบมาว่า สองสามีภรรยาเลี้ยงพังพอนไว้ตัวหนึ่งพวกเขารักมันเหมือนลูก ต่อมาทั้งสองมีลูกด้วยกัน จึงเลี้ยงลูกและพังพอนให้เป็นเพื่อนกัน อยู่มาวันหนึ่ง สองสามีภรรยาต้องออกไปดำนา จึงผูกเปลญวนไว้ใต้ต้นไม้ใหญ่ วางลูกน้อยกลอยใจวัยหนึ่งขวบไว้ในเปล ทารกน้อยหลับปุ๋ยอย่างมีความสุขเจ้าพังพอนก็วิ่งเล่นอยู่ใกล้ๆ ใต้เปลญวน

ทันใดนั้นเอง มีงูเห่าตัวหนึ่งเลื้อยเข้ามาใกล้ ๆ เปล พังพอนเห็นดังนั้นจึงวิ่งเข้าไปกัดงูเห่าหมายปกป้องชีวิตทารกน้อย ทั้งสองสู้กันโดยมีชีวิตเด็กน้อยเป็นเดิมพัน ในที่สุดพังพอนชนะ งูเห่านอนตายอยู่ใต้เปล เจ้าพังพอนดีใจมากที่ช่วยชีวิตนายน้อยของมันได้ จึงวิ่งไปวิ่งมาอยู่แถวนั้นอย่างมีความสุข


@@@@

พอดีถึงเวลาอาหารกลางวัน สองสามีภรรยากลับขึ้นมาจากท้องนา เจ้าพังพอนดีใจจึงวิ่งไปต้อนรับ แต่เมื่อสองสามีภรรยาเห็นพังพอนตัวเปื้อนเลือด(งู)ไปทั้งตัว พวกเขาจึง “สร้างมโนภาพ” ไปในทางลบทันทีว่า “เลือดที่เห็นคงเกิดจากพังพอนกัดลูกน้อยของตนจนด่าวดิ้นดับชีวิตทันที”

ฝ่ายภรรยาก็รีบวิ่งไปหมายจะช่วยลูกแต่เมื่อไปถึงนางกลับเห็นลูกน้อยยังคงหลับสบายอยู่ในเปล เลยออกไปจากเปลเล็กน้อยนางเห็นซากงูเห่าขนาดเขื่องตัวหนึ่งนอนตายจมกองเลือดอยู่

นาทีนั้น นางจึงสว่างโพลงขึ้นมาว่าเจ้าพังพอนคงกัดกับงูเห่าเพื่อปกป้องชีวิตลูกน้อยของตัวเอง นางกึ่งเดินกึ่งวิ่งไปหาสามีซึ่งกำลังขุดหลุมฝังพังพอนด้วยความโกรธแค้นพลางเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง

@@@@

เมื่อความจริง “เป็นอีกอย่างหนึ่ง” อย่างชนิดตรงกันข้าม สองสามีภรรยาจึงทรุดลงร้องไห้อยู่หน้าหลุมศพของพังพอนด้วยความรู้สึกผิด พลางคร่ำครวญหวนไห้ว่า “เราฆ่าผู้มีพระคุณยิ่งใหญ่ เพียงเพราะอาศัยการตัดสินอย่างผิวเผิน จากนี้ไปเราจะอยู่อย่างไรในเมื่อผู้มีพระคุณยิ่งใหญ่นั้นจากไปอย่างไม่มีวันกลับอีกแล้ว”

การ “รู้ผิด คิดเอา เดาเอง” คือจุดเริ่มต้นของการด่วนตัดสินผู้อื่นอย่างผิดพลาด กี่ครั้งและกี่คนแล้วที่ต้องมานั่งเสียใจเพียงเพราะการ “ด่วนตัดสิน” อย่างหุนหัน-พลันแล่นของตัวเอง โดยไม่ยอมฟังเหตุผลของผู้อื่น หรือโดยไม่ยอมศึกษาค้นคว้าหาข้อเท็จจริงที่รายล้อมอยู่อย่างรอบคอบรอบด้าน


@@@@

      คนที่ด่วนตัดสินก็ดี คนที่ถูกตัดสินอย่างไม่ยุติธรรมก็ดี กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้วก็ทุกข์ด้วยกันทั้งคู่ 
      ดังนั้นเราจึงไม่ควรด่วนตัดสินใครหรืออะไร ปู่ขอให้หลานคิดถึงคำพูดของเจ้าชายน้อยในหนังสือชื่อ “The Little Prince” ที่ว่า 

     “You can only see things clearly with your heart. What is essential is invisible to the eye.”
     “สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นด้วยตา แต่ต้องสัมผัสด้วยหัวใจ” เอาไว้ให้ดี


     คำพูดประโยคนี้จะป้องกันไม่ให้เราตัดสินใครอย่างตื้นเขินอีกต่อไป 




บทความดีๆ จาก ท่าน ว.วชิรเมธี
ขอบคุณ : https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/dhamma/77442.html
By Issara ,31 January 2019
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 01, 2019, 07:17:32 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ