ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เชียงใหม่จัดพิธีกรรมแบบล้านนา ‘แห่ปลาช่อนขอฝน’ หลังภัยแล้งเริ่มลาม  (อ่าน 774 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29314
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


เชียงใหม่จัดพิธีกรรมแบบล้านนา ‘แห่ปลาช่อนขอฝน’ หลังภัยแล้งเริ่มลาม


วันที่ 22 กรกฎาคม 2562 หลังจังหวัดเชียงใหม่เริ่มประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร และสถานการณ์น้ำในเขื่อนมีปริมาณต่ำกว่าเกณฑ์ จนสำนักงานชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ ต้องประกาศขอให้เกษตรกรและประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ก่อนเกิดภัยแล้งลุกลามนั้น

ล่าสุดในช่วงบ่ายวันที่ 21 กรกฎาคมผ่านมา ประชาชนในหลายพื้นที่เริ่มมองหาวิธีในการแก้ไขปัญหาด้วยการหันไปพึ่งวิถีโบราณเก่าแก่ที่สืบทอดกันมายาวนาน เช่น การแห่ปลาช่อน ทั้งในพื้นที่บ้านป่าเปา ต.ออนใต้ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ที่ชาวบ้านบอกว่า ไม่เคยฝนแล้งขนาดนี้มาก่อน ฝนไม่ตกมาตั้งแต่ก่อนเข้าพรรษาจนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกใจมาก ชาวบ้านจึงหันพึ่งวิถีเก่าแก่ในการเรียกฝนซึ่งน่าจะเป็นความหวังสุดท้าย

@@@@@@

ในขณะที่บริเวณสันอ่างเก็บน้ำห้วยช้างสี ต.แม่นาวาง อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ คณะสงฆ์ ผู้นำท้องถิ่นกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำ และประชาชนในพื้นที่ร่วมกันประกอบพิธีฟังพระธรรมเทศนากัณฑ์ที่ชื่อ ‘มัจฉาพระยาปลาจ่อน’ โดยพระครูประภัตรสีลาภรณ์ รองเจ้าคณะตำบลแม่นาวาง เป็นประธานฝ่ายสงฆ์นายประสิทธิ์ วุฒินันชัย สส.เชียงใหม่ เขต 7 เป็นประธานฝ่ายฆราวาส และนายอมร ชัยนาม ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำห้วยช้างสี ร่วมพิธี

ทั้งนี้ ภายในบริเวณพิธีมีเตรียมเครื่องสังเวยเป็นรูปพญานาคซึ่งทำจากฟางข้าว ปลาช่อนซึ่งทำจากไม้พร้อมด้วยเครื่องประกอบจำนวนมากวางบนแพไม้ไผ่ โดยชาวบ้านร่วมกันแห่ขบวนออกมาจากวัดสีลาอาสน์ ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านคายนอก ต.แม่นาวาง ระยะทางห่างจากอ่างเก็บน้ำห้วยช้างสีประมาณ 4กิโลเมตร มาถึงสันอ่างสถานที่ประกอบพิธีก่อนที่จะช่วยกันชักลากแพเครื่องสังเวยเข้าสู่ปรัมพิธี ก่อนเริ่มประกอบพิธีทางศาสนา สวดชัยมงคล และเทศนาธรรมกัณฑ์ ‘มัจฉาพระยาปลาจ่อน’ โดยพระสันติวิรัตน์ วัดสีลาอาสน์




ซึ่งรองเจ้าคณะตำบลแม่นาวาง เจริญพรว่า ตั้งแต่อาตมาบวชมากว่า 28 พรรษา การประกอบพิธีเพื่อขอฝนโดยการเทศนาธรรมมัจฉาพระยาปลาจ่อน ณ อ่างเก็บน้ำห้วยช้างสีครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่เข้าร่วมพิธี ก่อนหน้านั้นทราบว่ามีการประกอบพิธีบ้างในบางปี

“อย่างไรก็ตาม การเทศนาธรรมมัจฉาพระยาปลาจ่อน นิยมจัดขึ้นในสภาวะที่บ้านเมืองมีความเดือดร้อนแห้งแล้ง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ไม่ได้ทำนา เกิดทุพภิกขภัย ข้าวยากหมากแพง เป็นพยาธิโรคา มักเจ็บไข้ได้ป่วยเพราะเหตุต่างๆ ที่ไม่ค่อยบังเกิดก็บังเกิดมี จึงมีพิธีการ ‘ขอฝน’ ตามพิธีกรรมล้านนา โดยให้แต่งเครื่องบูชาปัชชุนนะเทวบุตร และฟังธรรมพระยาปลาช่อน ตามที่เคยปฏิบัติกันมาแต่เก่าก่อน ด้วยสัจจะเคารพ ก็จักพ้นจากสรรพภัยอันตราย และอยู่เย็นเป็นสุขต่อไป” พระครูประภัตรสีลาภรณ์กล่าว

@@@@@@

ส่วนประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำห้วยช้างสี กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่น้ำในอ่างห้วยช้างสีแห้งมาก จนประชาชนในพื้นที่ต้องประกอบพิธีฟังธรรมคาถาปลาช่อนเพื่อขอฝน ตั้งอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ก่อสร้างเสร็จและเก็บน้ำได้ตั้งแต่ปี 2538 ไม่เคยแห้งขนาดนี้มาก่อน แม้ในปี 2558 ที่น้ำน้อยก็ยังไม่น้อยเท่าปีนี้ เรียกว่าน้อยมากจนเห็นดินทราย ดินเลนที่อยู่ก้นอ่าง ซึ่งประชาชนได้ร้องขอให้ทางชลประทานทำการขุดลอก โดยจะมีการบรรจุไว้ในแผนการใช้งบประมาณในปี 2563 ต่อไป

ทั้งนี้ อ่างเก็บน้ำห้วยช้างสี เป็นอ่างเก็บน้ำที่กรมชลประทานสร้างขึ้นเมื่อปี 2537 ทำนบดินมีขนาดกว้าง 6.00 เมตร สูง 17.70 เมตร ยาว 318.00 เมตร ความจุอ่างฯ 1.63 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในเขตตำบลแม่นาวาง ได้ประมาณ 6,000 ไร่ ผ่านทางลำน้ำเดิมยาวประมาณ 9,000 เมตร ตั้งอยู่ในเขตบ้านห้วยหลวงพัฒนา หมู่ที่ 13 ตำบลแม่นาวาง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ บริเวณที่ตั้งโครงการอยู่ในเขตพื้นที่ป่าแม่สาวฝั่งซ้าย และป่าแม่กกฝั่งขวาเป็นพื้นที่ในเขตป่าลุ่มน้ำชั้น 3 อยู่ในกลุ่มป่าโซน E เขตป่าเพื่อการเศรษฐกิจ




ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังพิธีกรรมดังกล่าวในช่วงเย็นได้เกิดฝนตกลงมาทั่วทั้งเมืองเชียงใหม่ ซึ่งอาจเป็นไปตามความเชื่อ หรือเป็นไปตามการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาที่ระบุว่า จะมีฝนตกในหลายพื้นที่ระหว่างวันที่ 21-23 กรกฎาคมนี้ ก่อนที่จะแล้งต่อเนื่องไปจนถึงต้นเดือนสิงหาคม 2562


ขอบคุณ : https://www.matichon.co.th/region/news_1592072
วันที่ 22 กรกฎาคม 2562 - 13:00 น.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ