 | การเข้าดำเนินการกับสถานรับ “ทำแท้ง” ผิดกฎหมาย ยังคงปรากฏเป็นข่าวเป็นระยะ ล่าสุดก็เมื่อวันที่ 11 ม.ค. แถวย่านบางพลัด ในกรุงเทพฯ ซึ่งนี่ก็เป็นจุดหนึ่งที่สะท้อนว่าการเอาจริงกับการ “แก้ปัญหา” นี้เริ่มมีมากขึ้น อย่างไรก็ดี ปัญหานี้ สำคัญที่สุดคือการแก้ไขโดยความร่วมมือของทุกฝ่ายอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นทาง และ ณ ที่นี้ในวันนี้ ก็มีข้อเสนอแนะมาสะท้อนอีก... ทั้งนี้ กับเรื่องนี้ ศ.นพ.สมบูรณ์ คุณาธิคม ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ได้แสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจผ่านมาทาง “เดลินิวส์” ซึ่งโดยสรุปคือ... ในประเทศไทยปัจจุบัน แต่ละปีมีการตั้งครรภ์ราว 1,040,000 ราย จากสถิติการคลอดเมื่อปี 2552 มีเด็กเกิดใหม่ราว 800,000 คน ดังนั้น จึงมีการแท้งราว 240,000 ราย เมื่อหักการแท้งโดยธรรมชาติที่เกิดขึ้นร้อยละ 12-15 หรือจำนวน 96,000-120,000 ราย จึงเหลือจำนวนที่มีการทำแท้ง 120,000-144,000 ราย ซึ่งในจำนวนที่ทำแท้งนี้ก็มีส่วนหนึ่งที่แพทย์ทำแท้งให้เพราะมีข้อบ่งชี้ และเป็นไปตามกฎหมายอาญามาตรา 305 ได้แก่ การตั้งครรภ์ที่จะมีผลต่อสุขภาพของหญิงที่ตั้งครรภ์ เด็กในครรภ์มีความพิการรุนแรง หรือการตั้งครรภ์ที่เกิดจากการถูกข่มขืน โดยทั่วไป จะอยู่ที่ร้อยละ 1 หรือราว 10,000 รายเศษ จึงมีจำนวนที่ทำแท้งโดยกฎหมายไม่ได้อนุญาตปีละ 110,000-130,000 ราย ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนมากจนน่าตกใจ และซากศพทารก 2,002 ศพ ที่พบที่วัดไผ่เงินฯ เป็นเพียงร้อยละ 1.5 เท่านั้น!! |
ศ.นพ.สมบูรณ์ระบุอีกว่า... หากลองวิเคราะห์ดูว่ากลุ่มที่ทำแท้งผิดกฎหมายเป็นใครกันบ้าง คิดว่าอย่างน้อยน่าจะมี 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ 1. กลุ่มที่มีครอบครัวและคุมกำเนิดอยู่ แต่เกิดตั้งครรภ์ เพราะการคุมกำเนิดมีอัตราความล้มเหลวที่เกิดขึ้นได้ กลุ่มนี้ไม่พร้อมที่จะมีบุตรในขณะนั้น ซึ่งส่วนหนึ่งจะหาทางยุติการตั้งครรภ์ 2. กลุ่มที่รักสนุก ปล่อยเนื้อปล่อยตัว กลุ่มนี้มักจะรู้วิธีคุมกำเนิด แต่อาจพลาดจากความล้มเหลวของวิธีคุมกำเนิด กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะหาทางทำแท้ง 3. กลุ่มที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ อาจจะจากแฟนที่คบหากัน ผู้ที่อยู่ในที่ทำงานเดียวกัน คนในครอบครัว คนรู้จัก ฯลฯ ซึ่งแน่นอนกลุ่มนี้จะไม่มีการคุมกำเนิด
สำหรับกลุ่มที่ 3 ด้วยความอาย ความกลัว กลุ่มนี้มักจะทำแท้งเมื่ออายุครรภ์มากแล้ว ซึ่งอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ตกเลือด ติดเชื้อรุนแรง มดลูกทะลุ เป็นต้น อาจต้องผ่าตัดมดลูกออก หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ เมื่อรักษาหายโดยไม่ต้องผ่าตัด ก็อาจ ปวดท้องน้อยเรื้อรัง เกิดภาวะมีบุตรยาก เป็นต้น
ทั้งนี้ ศ.นพ.สมบูรณ์ยังระบุถึงแนวทางแก้ไขปัญหาทำแท้งผิดกฎหมายว่า... มีหลายแนวทาง บางส่วนก็มีการพูดกันมานานแล้ว แต่ปัญหาดูเหมือนจะไม่เคยลดลง ดังนั้น ลองมาพิจารณาดูเพิ่มอีกสัก 2 แนวทาง คือ...
1. ปรับปรุงกฎหมายให้มีความชัดเจนมากขึ้น ไม่ได้หมายความว่าให้มีกฎหมายทำแท้งเสรี ทั้งนี้ กฎหมายอาญามาตรา 305 อนุญาตให้ทำแท้งใน 2 กรณีคือ เพื่อสุขภาพของหญิงมีครรภ์ หญิงตั้งครรภ์จากการถูกข่มขืน บังคับใช้เมื่อปี 2500 กว่า 50 ปีมาแล้ว ซึ่งต้องยอมรับว่าหลายเรื่องกฎหมายตามความก้าวหน้าทางการแพทย์ไม่ทัน ปัจจุบันความพิการของเด็กสามารถวินิจฉัยได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 3-4 เดือน กรณีเช่นนี้ก็เป็นข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่จะมีการยุติการตั้งครรภ์ให้อยู่ แล้ว แต่ก็ควรออกเป็นกฎหมายให้ชัดเจนขึ้น หรือกรณีถูกข่มขืน ในกรณีของกลุ่มที่ 3 ดังที่ได้ระบุแต่ต้น คือถูกล่วงละเมิดทางเพศ แม้จะเข้าหลักมาตรา 305 แต่เมื่อไม่ได้แจ้งความแต่แรก พอตั้งครรภ์ก็ไม่สามารถยุติการตั้งครรภ์ตามกฎหมายได้ และยังมีอีกหลายกรณีทางการแพทย์ที่ต้องไปถกอภิปรายหาข้อสรุปกัน เช่น ผ่าตัดทำหมันแล้วตั้งครรภ์ ได้รับรังสีเอกซเรย์ในช่วงการตั้งครรภ์ เป็นต้น
2. สายด่วนให้คำปรึกษาหลังมีเพศสัมพันธ์แล้วกลัวตั้งครรภ์ ปัจจุบันมีศูนย์ให้คำปรึกษาหรือสายด่วนต่าง ๆ แต่มักให้คำปรึกษาหลังจากตั้งครรภ์แล้ว ส่วนใหญ่จะให้คำแนะนำให้ตั้งครรภ์ต่อไป แต่เชื่อได้เลยว่ามีส่วนน้อยที่ตั้งครรภ์ต่อ ส่วนใหญ่ก็ไปหาทางทำแท้ง ซึ่งถ้ามีสายด่วนให้คำปรึกษาเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ น่าจะช่วยลดปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมและต้องไปทำแท้งให้น้อยลง อาจตั้งสโลแกนให้จำง่าย-ติดปาก เช่น “พลาดท่ากลัวท้อง ต้องโทร.1323” หรือ “ไม่อยากท้อง ต้องโทร.1323 ภายใน 72 ชั่วโมง” เป็นต้น ซึ่งจะสามารถแนะนำให้ไปซื้อยาคุมกำเนิดฉุกเฉินจากร้านขายยา โดยต้องกินภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์จึงจะได้ผล ส่วนการ อบรมเจ้าหน้าที่รับโทรศัพท์ก็ไม่ยุ่งยาก ให้รู้วิธีซักประวัติประจำเดือนและช่วงเวลาที่มีเพศสัมพันธ์ก็พอ และถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น ก็ควรจะให้ มีศูนย์บริการสาธารณสุขขึ้นมารองรับกลุ่มที่มีเพศสัมพันธ์เกิน 72 ชั่วโมงด้วย
“แนวทางทั้งสองที่กล่าวมาข้างต้น น่าจะลดจำนวนการทำแท้งที่ผิดกฎหมายลงไปได้ไม่น้อย หากทำควบคู่ไปกับการให้ความอบอุ่นในครอบครัว การให้ความรู้ในสถานศึกษาอย่างจริงจัง ภาพความสะเทือนใจอย่างที่เห็นในวัดไผ่เงินฯ หรือภาพเด็กแรกเกิดที่ถูกทิ้งในถังขยะ ในป่าละเมาะ ในที่สาธารณะ ก็คงจะค่อย ๆ มีจำนวนลดน้อยลง” ...ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุ
ก็เป็นอีกข้อเสนอที่สร้างสรรค์ เพื่อ “แก้ปัญหาทำแท้ง”
ณ ที่นี้ก็นำมาสะท้อน เพื่อร่วม “สร้างสรรค์สังคมไทย”.
ที่มาข่าว
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=23&contentId=115248