ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: สุนทรภู่ดังไปถึงเพื่อนบ้าน "แบบเรียนลาว" มีเรื่องของ ”สุนทอนพู่”  (อ่าน 1016 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0





สุนทรภู่ดังไปถึงเพื่อนบ้าน "แบบเรียนลาว" มีเรื่องของ ”สุนทอนพู่”

ในสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน อาจจะพบว่าเรามีสินค้าส่งออกโดยเฉพาะงานศิลปะจำนวนไม่น้อย เช่น ผ้าไทย จิตรกรรม ประติมากรรมไทย ทว่าเราอาจจะยังไม่ทราบว่างานศิลปะไทยอีกประเภทหนึ่งที่มีการส่งออกและเป็นที่รับรู้อยู่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านนั้น มีการส่งออกงานศิลปะประเภท วรรณคดี รวมอยู่ด้วย

วรรณคดีที่มีการส่งออกไปยังต่างประเทศดังจะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นผลงานของท่านผู้ที่รับยกย่องว่าเป็นกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์คนหนึ่ง มีชื่อเสียงแผ่ขยายไปทั่วแม้ในประเทศเพื่อนบ้าน กวีท่านนี้ก็คือ สุนทรภู่ มหากวี “ยอดนิยม” ของคนไทยทุกยุคทุกสมัย

ในประเทศลาวนั้นมีการตีพิมพ์วรรณคดีของสุนทรภู่ในแบบเรียนระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 โดยรัฐบาลลาว (ในความรับผิดชอบของกระทรวงศึกษาธิการ) อันนับได้ว่าเป็นการเผยแพร่งานของสุนทรภู่ในวงกว้าง

@@@@@@

ประวัติ “สุนทรภู่” ในแบบเรียนลาว

ในแบบเรียนภาษาและวรรณคดีลาว ส่วนที่ว่าด้วยวรรณคดี ภาคที่ 2 “วันนะคะดีต่างปะเทด” นั้น “วันนะคะดีไท ‘นิลาดเมืองแกลง’ ของสุนทอนพู่” ได้รับเลือกให้เป็นวรรณคดีต่างชาติเรื่องแรกที่นำมาเรียนในฐานะ “ตัวแทนจากประเทศไทย” โดยคณะผู้จัดทำได้แบ่งการนำเสนอออกเป็น 5 ส่วน ได้แก่ บางจุดเกี่ยวกับนักกะวี, เนื้อในหย้อของ “นิลาดเมืองแกลง”, นิลาดเมืองแกลง (คัดตอน), อะทิบายสับ, และ คำถาม

ในหัวข้อ “บางจุดเกี่ยวกับนักกะวี” มีการเรียบเรียงประวัติของสุนทรภู่ไว้โดยสังเขป เพื่อเป็นข้อมูลให้กับการศึกษาผลงานของสุนทรภู่ ดังนี้

สุนทอนพู่ เป็นนักกะวีเอกของไท เซิ่งได้ดำลงชีวิดอยู่ตั้งแต่ลัดชะกานที่ 1 เถิงลัดชะกานที่ 4 (พ.ส. 2329 เถิง พ.ส. 2398) ของกุงลัดตะนะโกสิน สุนทอนพู่เกิดในปี พ.ส. 2329 ที่กุงเทบมะหานะคอน ชื่อเดิมแม่น “พู่” ท่านมีความสามาดค่องแค่วในวิชาอักสอนสาด มีความสามาดเป็นพิเสดในการแต่งกอน ท่านได้แต่งนิทานคำกอนเลื่องทำอิดออกให้ชื่อว่า “โคบุด” คนทั้งหลายได้อ่านแล้วจึ่งนิยมเอิ้นท่านว่า “สุนทอนพู่”

สุนทอนพู่เป็นนักจดนักเขียน บ่ว่าจะเดินทางไปใส เมืองใดก็จดบันทึกไว้ และแต่งเป็นบดกอนขึ้น เวียกงานของสุนทอนพู่จึ่งบ่ได้เป็นเพียงบดกะวีแต่อย่างเดียว หากยังเป็นทังบทบันทึก, พูมสาด, ปะหวัดสาด, วัดทะนะทำ, สินทำ, จะลิยะทำ, ปัดชะยา และอื่น ๆ

ผนงานการปะพันของท่านมีย่างหลวงหลายด้วยกันเช่น จำพวกนิลาดมีอยู่ 8 เรื่อง ได้แก่นิลาดเมืองแกลง นิลาดพะบาท นิลาดพูเขาทอง นิลาดเมืองเพ็ด และอื่น ๆ อีก จำพวกคำกอนนิทาน เช่น นิทานคำกอนโคบุด นิทานคำกอนเลื่องพะไชยะสุลิยา แลเลื่องพะอะไพมะนี นอกจากนี้ยังได้แต่งกอนอื่น ๆ อีกเช่น คำกอนสุพาสิดสอนผู้ยิง, สุพาสิดเลื่องสะหวัดดิรักสา, เพลงยาวถวายโอวาด, บดลิเกเลื่องขุนช้างขุนแผน, บดลิเกเลื่องพะลาชะพงสาวะดาน, บดละครเลื่องอะไพนุลาด เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกาบเซิ้งก่อมบันเทิง, กาบเซิ้งเลื่องจับละบำ กาบเซิ้งเลื่องกากี, กาบเซิ้งเลื่องอะไพมะนี และกาบเซิ้งเลื่องโคบุด เป็นต้น


ปก “แบบเรียนพาสาลาวและวันนะคะดี” ชั้นมัดทะยมปีที่สาม

จากประวัติของสุนทรภู่ฉบับแบบเรียนภาษาลาวข้างต้นจะเห็นว่าเป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับปีเกิดและปีตายตลอดจนผลงานของสุนทรภู่เป็นการเขียนประวัติในเชิงยกย่อง

อนึ่ง ประวัติสุนทรภู่ที่เรียบเรียงขึ้นนี้ มีความคลาดเคลื่อนจากองค์ความรู้เรื่องสุนทรภู่ที่มีการศึกษาค้นคว้าอยู่ในประเทศไทยในบางประเด็น ได้แก่

ประเด็นเรื่องที่มาของชื่อ “สุนทรภู่”
ในแบบเรียนลาวกล่าวว่า เหตุที่ นายภู่ ได้รับสมญาว่า สุนทรภู่ นั้น เนื่องจากท่านได้ประพันธ์เรื่อง โคบุตร ซึ่งเป็นที่นิยมของคนทั้งหลายมาก คนทั้งหลายจึงเรียกท่านว่า สุนทรภู่ ขณะที่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่องชีวิตและงานของสุนทรภู่ ว่า

“ดูประหนึ่งว่า ถึงรัชกาลที่ 3 [สุนทรภู่] ถูกถอดจากที่ขุนสุนทรโวหาร น่าจะเป็นเช่นนั้นจริง คนทั้งหลายจึงได้เรียกกันว่า  สุนทรภู่” ซึ่งความเห็นของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพน่าเชื่อถือกว่ามาก เพราะขณะที่แต่งและเผยแพร่เรื่องโคบุตร (พ.ศ. 2349) นั้น สุนทรภู่ยังหาได้รับราชการไม่ กว่าจะได้รับราชการและได้รับพระราชทานราชทินนาม “ขุนสุนทรโวหาร” ก็ล่วงเข้า พ.ศ. 2464 คือห่างกันถึง 15 ปี จึงไม่มีเหตุอันสมควรที่จะนำคำ “สุนทร” มานำหน้าชื่อ “ภู่”

บทเกริ่นประวัติของ สุนทอนพู่ ในแบบเรียนลาว

ประเด็นเรื่องจำนวนผลงานนิราศ
ผลงานนิราศของสุนทรภู่ที่กล่าวถึงในแบบเรียนลาวนั้นว่ามีเพียง 8 เรื่อง ซึ่งต่างไปจากจำนวนนิราศของสุนทรภู่ที่รับรู้กันในประเทศไทย ทั้งการศึกษาในสมัยแรกและสมัยหลัง กล่าวคือ ในพระนิพนธ์เรื่องชีวิตและผลงานของสุนทรภู่ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่เป็นงานระยะแรกก็ทรงไว้ว่ามี 9 เรื่อง คือทรงรวมนิราศพระแท่นดงรังไว้ด้วย

ต่อมา นายธนิต อยู่โพธิ์ พบว่านิราศพระแท่นดงรังมี 2 สำนวน สำนวนหนึ่งเป็นของนายมี และอีกสำนวนหนึ่งเป็นของสามเณรกลั่น ไม่ใช่ของสุนทรภู่” ส่วนการศึกษาในสมัยต่อมาที่พบว่ามีงานของสุนทรภู่เพิ่มมาอีก 1 เรื่อง คือรำพันพิลาป ทำให้นิราศของสุนทรภู่มีทั้งสิ้น 9 เรื่องเช่นกัน ดังนั้นการที่ในแบบเรียนกล่าวว่ามีนิราศ 8 เรื่องนั้นอาจเกิดจากความเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือใช้เอกสารต่างฉบับกันก็เป็นไปได้

ประเด็นเรื่องผลงานที่ยอมรับว่าเป็นงานสุนทรภู่
ในแบบเรียนเล่มนี้ได้นับเรื่องสุภาษิตสอนหญิงเข้าไว้ในจำนวนผลงานของสุนทรภู่ด้วย ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ศึกษาแล้วพบว่าเรื่องดังกล่าวไม่ใช่สำนวนของสุนทรภู่
 
ประเด็นเรื่องชื่อเรียกประเภทของผลงาน
ในแบบเรียนลาวเรียก บทเสภา ว่าบทลิเก เช่นบทลิเกเรื่องขุนช้างขุนแผน บทลิเกเรื่องพระราชพงศาวดาร นอกจากนี้ยังเรียกบทเห่กล่อมพระบรรทม ว่า กาพย์เซิ้งกล่อมบันเทิง เช่น กาพย์เซิ้งเรื่องจับระบำ กาพย์เซิ้งเรื่องกากี กาพย์เซิ้งเรื่องอภัยมณี กาพย์เซิ้งเรื่องโคบุตร ทั้งยังเรียกว่า นิทานคำกลอนเรื่องพระไชยสุริยา ไม่เรียกกาพย์พระไชยสุริยา ดังที่คนไทยรับรู้กัน

จากความคลาดเคลื่อนที่เสนอมาข้างต้นโดยเฉพาะประเด็นเรื่องผลงานของสุนทรภู่ ทำให้ผู้เขียนสันนิษฐานว่า คณะผู้เรียบเรียงอาจใช้ ประวัติสุนทรภู่ พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฉบับพิมพ์ ก่อน พ.ศ. 2485 ก็เป็นได้ เนื่องจากประวัติสุนทรภู่ฉบับนั้นยังไม่มีเชิงอรรถและบันทึกอธิบายของ นายธนิต อยู่โพธิ์ ที่ได้ปรับปรุงข้อมูลบางส่วนตามหลักฐานที่พบเจอเพิ่มเติมในชั้นหลัง



คัดลอกส่วนหนึ่งจากบทความ :  “ ‘สุนทรภู่’ กับธุรกิจส่งออกวรรณกรรมที่เมืองลาว” เขียนโดย อภิลักษณ์ เกษมผลกูล ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม มิถุนายน 2551)
ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2551
ผู้เขียน : อภิลักษณ์ เกษมผลกูล
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2563
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ : เมื่อ 23 มิถุนายน พ.ศ.2562
ขอบคุณ : https://www.silpa-mag.com/culture/article_20671
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ