ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย มรดกโลกทางวัฒนธรรม  (อ่าน 1152 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




ภาพมุมสูงวัดช้างล้อม อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย (ภาพจากเพจ : กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร)


อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย มรดกโลกทางวัฒนธรรม

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ที่ตั้ง ครอบคลุมพื้นที่เขตตำบลศรีสัชนาลัย ตำบลสารจิตร ตำบลหนองอ้อ ตำบลท่าชัย โดยตัวเมืองโบราณศรีสัชนาลัย อยู่ในเขตตำบลศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

วัดช้างล้อม อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย (ภาพจากเพจ : อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย)

ประวัติและความสำคัญ

ศรีสัชนาลัย มีพัฒนาการมาแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ประมาณ ๒,๓๐๐ – ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว โดยปรากฏชื่อควบคู่ไปกับเมืองสุโขทัยที่เป็นราชธานี สันนิษฐานว่าเมืองศรีสัชนาลัยมีความสำคัญในฐานะแหล่งผลิตเครื่องสังคโลกในสมัยสุโขทัยต่อเนื่องถึงสมัยอยุธยา หลักฐานจากแหล่งเรือจมในอ่าวไทย พบเครื่องสังคโลกจากเมืองศรีสัชนาลัย เป็นหลักฐานยืนยันถึงความสำคัญของเครื่องถ้วยประเภทนี้ในการค้าระหว่างสุโขทัยและภูมิภาคโพ้นทะเลเมื่อครั้งอดีต

เมืองศรีสัชนาลัยเป็นเมืองที่ปกครองโดยเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงในสมัยสุโขทัย ก่อนจะถูกยึดครองโดยรัฐต่างๆ ที่เข้มแข็งกว่าในเวลาต่อมา เช่น ล้านนา เรียกเมืองนี้ว่า “เชียงชื่น” และกรุงศรีอยุธยาเรียกเมืองนี้ว่า “สวรรคโลก” แต่หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๑ ใน พ.ศ.๒๑๑๒ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องสังคโลกที่เมืองศรีสัชนาลัยได้หมดความสำคัญลง ส่งผลให้ฐานะของเมืองศรีสัชนาลัยลดลงเป็นเพียงหัวเมืองชั้นโท


วัดเจดีย์เจ็ดแถว อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย (ภาพจากเพจ : อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย)

จนกระทั่งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ.๒๓๑๐ เมืองศรีสัชนาลัยจึงถูกทิ้งร้างไปโดยสิ้นเชิง ผู้คนได้อพยพไปตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณบ้านวังไม้ขอน อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน

ภายในเมืองศรีสัชนาลัย พบโบราณสถานราว ๒๗๘ แห่ง อาทิ วัดช้างล้อม วัดเจดีย์เจ็ดแถว วัดนางพญา วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง กลุ่มเตาเผาสังคโลก เตาทุเรียงบ้านป่ายาง บ้านเกาะน้อย และแหล่งโบราณคดีวัดชมชื่น เป็นต้น

กรมศิลปากรได้บูรณะโบราณสถานเมืองศรีสัชนาลัย นับแต่ พ.ศ.๒๔๙๖ และได้นำเสนอโครงการอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๕ (พ.ศ.๒๕๒๕ – ๒๕๒๙) ส่งผลให้มีการบูรณะโบราณสถานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๓ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยอย่างเป็นทางการ


ภาพมุมสูงวัดช้างล้อม อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย (ภาพจากเพจ : กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร)

เมืองศรีสัชนาลัยเป็นเมืองบริวารเมืองหนึ่งของสุโขทัย ซึ่งได้รับการอนุรักษ์และพัฒนาเป็นอย่างดี โดยกรมศิลปากร และมีการบริหารจัดการในรูปแบบอุทยานประวัติศาสตร์ จนได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมนับตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๔ เป็นต้นมา


ขอบคุณภาพและข้อมูลจากเพจ : กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร และเพจอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย
ที่มา : กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร
เผยแพร่ : วันพฤหัสที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ.2563
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ : เมื่อ 18 มีนาคม พ.ศ.2562
ขอบคุณ : https://www.silpa-mag.com/history/article_16730
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ