พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเธอรำเพยภมราภิรมย บรมราชินี
หม่อมเจ้าหญิงรำเพย (สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี สมเด็จพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) พระธิดาองค์ที่ ๒ ในสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ ประสูติแต่พระชนนีน้อยเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๗๗
หม่อมน้อยหรือพระชนนีน้อย เป็นธิดาของท่านบุศย์และท่านแจ่ม บรรพชนของท่านบุศย์นั้นไม่มีหลักฐานปรากฏสกุลวงศ์ของท่าน ส่วนท่านแจ่มเป็นชาวมอญซึ่งสืบขึ้นไปได้ถึงพระยารัตนจักร (หงส์ทอง) เจ้ากรมอาทฆาตในกองมอญอาสา
หม่อมเจ้าหญิงรำเพย (สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี) ทรงกำพร้าทั้งพระชนกและพระชนนีตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ สมเด็จพระบรมอัยกาธิราช คือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้อยู่ในพระอภิบาลของพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงลม่อม ซึ่งเป็นพระขนิษฐาร่วมเจ้าจอมมารดาในพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์
เมื่อหม่อมเจ้าหญิงรำเพยเสด็จเข้าประทับ ณ พระตำหนักตึกในพระบรมมหาราชวัง พระปิตุจฉาคือพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงลม่อม ได้พาขึ้นเฝ้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่เนืองนิจ ทรงสอนให้รู้จักวิธีถวายอยู่งานพัด ซึ่งหม่อมเจ้าหญิงองค์น้อยก็สามารถทำได้ดี ถูกระเบียบแบบแผนเป็นที่โปรดปรานยิ่งนัก จึงได้พระราชทานพระนามว่า “หม่อมเจ้าหญิงรำเพย”
เมื่อหม่อมเจ้าหญิงรำเพยทรงเจริญพระชันษามากยิ่งขึ้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทรงย้ายไปประทับกับพระเจ้าอัยยิกาเธอ พระองค์เจ้าหญิงบุตรี กรมหลวงวรเสรฐสุดา ณ ตำหนักต้นจำปี เพื่อทรงศึกษาอักขรวิธีและโบราณราชประเพณี
ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าหญิงรำเพยเสด็จกลับมาประทับ ณ พระตำหนักตึกดังเดิม และหม่อมเจ้าหญิงรำเพยได้รับราชการเป็นพระราชนารีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ปี พ.ศ. ๒๓๙๕ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมมตยาภิเษกหม่อมเจ้าหญิงรำเพยเป็นพระราชเทวี ทรงพระนามว่า พระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ และพระราชทานพระอิสริยยศเป็นที่ สมเด็จพระนางรำเพยภมราภิรมย์
สมเด็จพระนางรำเพยภมราภิรมย์เป็นขัตติยนารี ทรงมีพระจริยาวัตรที่เรียบร้อยงดงาม เป็นที่สนิทเสน่หาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยิ่งนัก ทรงโปรดเรียกขานว่า “แม่เพย” บ้าง “แม่รำเพย” บ้าง ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาหลายฉบับ
ภายหลังการประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ แล้ว ๒ ปี สมเด็จพระนางรำเพยภมราภิรมย์ทรงพระประชวรพระยอดเม็ดเล็ก ทรงพระกาสะเป็นโลหิตติดระคนเสมหะออกมา ทรงพระประชวรอยู่หลายเดือน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดหมอหลวง หมอฝรั่งมาถวายการรักษาพยาบาล แต่พระอาการมีแต่ทรงกับทรุด และสิ้นพระชนม์ ณ วันจันทร์ เดือน ๑๐ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๐๔ พระชนมายุได้ ๒๘ ปี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระบรมศพ ณ หอธรรมสังเวศ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวงในช่วงสงกรานต์ของศกต่อมา
และเนื่องด้วยสมเด็จพระนางรำเพยภมราภิรมย์ ทรงมีเชื้อสายมอญ ในงานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีปี่พาทย์มอญวงของชาวบ้านมาบรรเลง มิใช่วงของหลวง ทั้งนี้เนื่องจากกรมพิณพาทย์ไม่มีวงปี่พาทย์มอญ และงานพระศพพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีปี่พาทย์มอญเพิ่มขึ้น ด้วยเป็นเชื้อสายของสมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี และอีกประการหนึ่งยังเกิดค่านิยมที่ผิดๆ กันขึ้น ว่าถ้างานศพใดใช้วงปี่พาทย์มอญบรรเลงในงาน แสดงว่าเป็นงานศพของผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ หรือผู้มีอันจะกิน
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาเข้าเขตเบญจเพสมงคล เพื่อเป็นการถวายพระราชกุศลสนองพระคุณแด่สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอารามหลวงขึ้นแห่งหนึ่ง เป็นอนุสรณ์แห่งพระกตเวทิตาธรรมในสมเด็จพระบรมราชชนนี พระราชทานนามพระอารามหลวงแห่งนี้ว่าวัดเทพศิรินทราวาส โดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น ๓ กรมขุนเจริญผลพูลสวัสดิ์ เป็นแม่กองสร้างพระอาราม เริ่มแต่ปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙
วัดเทพศิรินทราวาส มีเนื้อที่ ๓๑ ไร่เศษ พื้นที่เมื่อก่อนสร้างวัดนี้ บริเวณใกล้คลองผดุงกรุงเกษมเป็นนา ด้านตะวันตกพ้นถนนพลับพลาชัยออกไปเป็นสวนมะลิ ถัดไปด้านเหนือเป็นตำบลยศเส ด้านทิศใต้ตอนใกล้คลองผดุงกรุงเกษมมีป้อมซึ่งสร้างรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ ป้อมผลาญศัตรูราบ ทิศตะวันตกเป็นวัดพลับพลาชัย พื้นที่ตั้งวัดเทพศิรินทราวาสเป็นที่ต้องพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดเทพศิรินทราวาสเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร
สกุลจีนที่สัมพันธ์กับราชินีกุลรัชกาลที่ ๕ คือหม่อมกิม ในสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ บรรพชนของหม่อมกิมเป็นชาวจีนแซ่ลี้ หม่อมกิมประสูติพระธิดา ๑ องค์ คือ หม่อมเจ้าหญิงพรรณราย พระนามเดิมคือหม่อมเจ้าหญิงแฉ่
หม่อมเจ้าหญิงพรรณรายเป็นกนิษฐภคินีต่างพระชนนีกับสมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี สมเด็จพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เดิมหม่อมเจ้าหญิงพรรณรายประทับอยู่กับพระเจ้าราชวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงลม่อม (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยุร) ภายหลังเมื่อเป็นพระราชนารีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประทับ ณ ตำหนักต่างหาก
หม่อมเจ้าหญิงพรรณราย ซึ่งภายหลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็น พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย ประสูติพระราชโอรสและธิดา ๒ พระองค์คือ
๑. พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงกรรณิกาแก้ว (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนขัตติยกัลยา)
๒. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ (พลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ต้นราชสกุลจิตรพงศ์ ณ อยุธยา)
(ซ้าย) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องต้นในพระราชพิธีโสกันต์ เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๐๘ พระชนมายุ ๑๓ พรรษา
(ขวา) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงรับพระราชทานพระสุพรรณบัฏเป็นกรมหมื่น
พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงกรรณิกาแก้ว ประสูติเมื่อวันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๒ ค่ำ ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๙๘ สิ้นพระชนม์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๒๕ พระชันษา ๒๘ ปี ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอัฐิ ขึ้นเป็นพระเจ้าน้องเธอ กรมขุนขัตติยกัลยา และทรงสถาปนาเป็นเจ้าฟ้าเมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๔๓๐
พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ ประสูติเมื่อวันอังคาร เดือน ๖ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีกุน ตรงกับวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๐๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนนริศรานุวัดติวงษ เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๒๘ จากนั้นอีก ๒ ปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็นเจ้าฟ้า กรมขุน (เจ้าฟ้าชั้นโท) ทรงรับราชการในตำแหน่งที่สำคัญ คือ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เสนาบดีกระทรวงกลาโหม เสนาบดีกระทรวงวัง ถึงปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๔๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงษ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระ มีพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ทรงรับราชการเป็นอภิรัฐมนตรี เป็นอุปนายกราชบัณฑิตสภา และเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อคราวเสด็จประพาสประเทศอังกฤษ ปีระกา พ.ศ. ๒๔๗๖ และเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศสละราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระอัฐมราชาธิบดินทร์ รัชกาลที่ ๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระอิสริยยศเป็น พลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
เมื่อทรงลาออกจากราชการแล้ว ได้ทรงย้ายที่ประทับจากวังท่าพระ มาประทับที่ตำหนักปลายเนิน คลองเตย ดำเนินพระชนมชีพอย่างเรียบง่าย สมถะ ภายหลังประชวรด้วยพระโรคชรา และสิ้นพระชนม์ ณ ตำหนักปลายเนินเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ปีกุน พ.ศ. ๒๔๙๐ พระชันษาได้ ๘๔ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ในการพระศพ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระโกศทองน้อยประกอบพระศพ พร้อมเครื่องประกอบพระอิสริยยศ ในงานออกพระเมรุทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระโกศทองใหญ่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวงต่อท้ายงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระอัฐมราชาธิบดินทร์ เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ปีขาล พ.ศ. ๒๔๙๓ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระอัฐิประดิษฐาน ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท มุขตะวันตก

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉายเมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑
เนื่องด้วยบรรพชนของหม่อมกิมในสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ เป็นจีนพ่อค้า เดินเรือสำเภาค้าขายระหว่างเมืองไทยกับเมืองจีน ครั้งหนึ่งเรือถูกพายุหนักก็หลบเข้าไปอาศัยเกาะกำบังลม แต่เคราะห์ร้ายท้องเรือกระทบหินจนแตกรั่วน้ำไหลเข้าในอับเฉามากมาย พยายามวิดน้ำอุดยาแก้ไขอย่างใดๆ ก็ไม่สำเร็จ เห็นว่าเรือจะจมเป็นแน่ จึงบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขอให้ช่วยคุ้มครอง หากรอดพ้นภยันตรายไปได้จะทำบุญทำทานให้หนักหนา สักครู่หนึ่งเรือก็หยุดรั่วไปเองโดยไม่มีเหตุผล พอลมพายุผ่านพ้นไปแล้วก็รีบซ่อมแซมเรือเดินทางกลับเข้าท่าได้โดยสวัสดิภาพ เมื่อจัดแจงขนสินค้าขึ้นแล้ว จึงเอาเรือเข้าอู่ซ่อม ก็ได้พบว่ามีปลาสีเสียดแทรกตัวเข้าไปฝังแน่นอยู่ในรอยไม้ที่แตกนั้น จึงได้ทำให้เรือหยุดรั่ว พ่อค้าจีนนั้นได้ทำบุญทำทานเป็นอันมาก แล้วสั่งไว้ว่าปลาสีเสียดมีบุญคุณแก่บรรพบุรุษ เพราะฉะนั้นห้ามมิให้ลูกหลานต่อจากท่านไปเจ็ดชั่วโคตรกินปลาสีเสียด ทั้งสาปแช่งไว้ด้วยว่าหากผู้ใดอกตัญญูฝ่าฝืนคำสั่ง ขอให้เป็นขี้เรื้อนกุฏฐัง พลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงระวังยิ่งนักเมื่อจะเสวยปลา
ข้อห้ามเรื่องปลาสีเสียดนี้ เป็นข้อห้ามในราชสกุลศิริวงศ์ ณ อยุธยา ราชสกุลกุญชร ณ อยุธยา ราชสกุลในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้งหมด ราชสกุลจักรพันธ์ ณ อยุธยา ราชสกุลภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา ราชสกุลจิตรพงศ์ ณ อยุธยา และสายสกุลศิริสัมพันธ์ ซึ่งเกี่ยวเนื่องด้วยเจ้าจอมมารดาทรัพย์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวหนังสือประกอบการเขียน :-
- ชุมนุมบทละคอนและคอนเสิตพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์. กรมศิลปากรจัดพิมพ์อุทิศถวายในงานฉลองครบรอบร้อยปีแห่งวันประสูติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ วันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๖.
- จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว. รัฐบาลจัดพิมพ์ทูลเกล้าฯ ถวายสนองพระมหากรุณาธิคุณในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทานในมหามงคลเฉลิมพระเกียรติวันพระบรมราชสมภพครบ ๒๐๐ ปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วันอังคารที่ ๓๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๓๐.
- ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓. องค์การค้าของคุรุสภาจัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๐๔.
- ดวงจิตร จิตรพงศ์, หม่อมเจ้าหญิง. ป้าป้อนหลาน. พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระชันษาครบ ๕ รอบ วันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๑.
- ภาณุรังษีสว่างวงษ กรมพระยาภาณุพันธุวงศวรเดช, จอมพล จอมพลเรือ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้า. ราชินิกูลรัชกาลที่ ๓. มูลนิธิเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดพิมพ์ ๒๕๓๕.
- __________. ราชินิกูลรัชกาลที่ ๕. หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงพระศพพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารำไพประภา ณ พระเมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ๗ สิงหาคม ๒๕๒๒.
ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2546
ผู้เขียน : เล็ก พงษ์สมัครไทย
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ.2563
เผยแพร่ครั้งแรก : เมื่อ 6 มีนาคม 2560
ขอบคุณ :
https://www.silpa-mag.com/history/article_7099