ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: โศกนาฏกรรมตำนานรัก เที่ยววัดพนัญเชิง ไหว้หลวงพ่อโตองค์ใหญ่  (อ่าน 982 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


โศกนาฏกรรมตำนานรัก เที่ยววัดพนัญเชิง ไหว้หลวงพ่อโตองค์ใหญ่

วันหยุดเสาร์-อาทิตย์นี้ ใครกำลังจะจัดทริปไปไหว้พระเพื่อเสริมสิริมงคลแก่ตัวเองและครอบครัวที่อยุธยา หนึ่งในวัดที่ต้องมา คือ วัดพนัญเชิงวรวิหาร เพราะนอกจากเป็นวัดเก่าแก่ที่สุดอีกแห่งในเมืองเก่าอยุธยาแล้ว วัดแห่งนี้ยังเป็นที่หลอมรวมใจทั้งชาวไทยและชาวไทยเชื้อสายจีน ว่ากันว่าหากใครได้มาสักการะองค์ "หลวงพ่อโต" และถวายผ้าห่มองค์พระที่วัดพนัญเชิง จะถือเป็นการทำบุญครั้งใหญ่

เรื่องราวประวัติความเป็นมาของวัดพนัญเชิงฯ นั้นน่าสนใจทีเดียว เราไปทำความรู้จัก เตรียมความรู้ให้แน่นปึ้ก ก่อนเดินทางไปเที่ยวมาฝากค่ะ



: ประวัติความเป็นมา ชื่อวัดพนัญเชิงเกิดจากโศกนาฏกรรมตำนานรัก :

วัดพนัญเชิง เป็นวัดที่มีประวัติอันยาวนานและเป็นวัดที่เลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนชาวไทย-จีน ตั้งอยู่ตำบล คลองสวนพลู ริมแม่น้ำป่าสัก ทางทิศใต้ฝั่งตรงข้ามของเกาะเมือง ห่างจากตัวเมืองราว 5 กิโลเมตร วัดพนัญเชิง เป็นวัดที่มีมาก่อนการสร้างกรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง

ชื่อ “วัดพนัญเชิง” เกิดจากโศกนาฏกรรมตำนานรัก ตามพงศาวดารเหนือบันทึกไว้ว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้ง กษัตริย์ผู้ครองอโยธยาเป็นผู้สร้างขึ้น ณ บริเวณพระราชทานเพลิงพระศพ พระนางสร้อยดอกหมาก พระราชธิดาบุญธรรมของพระเจ้ากรุงจีน ที่ยกให้อภิเษกสมรสกับพระเจ้าสายน้ำผึ้ง

หลังรับตัวพระนางสร้อยดอกหมากจากจีนมาถึงอโยธยา พระเจ้าสายน้ำผึ้งรับสั่งให้พระนางรออยู่ในเรือพระที่นั่งและจะทรงจัดขบวนมารับเข้าวัง แต่พระเจ้าสายน้ำผึ้งมิได้เสด็จมารับว่าที่พระอัครมเหสีด้วยพระองค์เอง พระนางสร้อยดอกหมากจึงไม่ยอมขึ้นจากเรือ



เหตุการณ์เป็นเช่นนี้อยู่ 2 ครั้ง พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงรับสั่งสัพยอกทั้ง 2 ครั้งว่า "เมื่อไม่ขึ้นก็จงอยู่ที่นี่เถิด" ด้วยความน้อยพระทัย พระนางสร้อยดอกหมากกลั้นพระทัยถึงแก่สวรรคตทันที จึงเป็นที่มาของชื่อวัดว่า “วัดพระนางเชิง” ต่อมากลายเป็นชื่อ “วัดพนัญเชิง” ซึ่งปัจจุบันภายในวัดยังมีตำหนักเจ้าแม่สร้อยดอกหมากริมแม่น้ำป่าสัก สถานที่ประดิษฐานรูปปั้นเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก หรือชาวจีนเรียกว่า จู๊แซเนี้ย

ในสมัยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 วัดพนัญเชิงได้รับความเสียหาย และบูรณะซ่อมแซมมาตลอด กระทั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ได้บูรณะใหม่ครั้งใหญ่ ทั้งพระพุทธรูปประจำวัดพนัญเชิงทั้งหมดทุกองค์ รวมถึงอาคารอื่นๆ ภายในวัด ทำให้วัดพนัญเชิงอยู่ในสภาพดีจนถึงปัจจุบัน และมีสถานะเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร


: ประวัติสุดอัศจรรย์ หลวงพ่อโต พระพุทธรูปประจำวัดพนัญเชิง :

ภายในวิหารวัดพนัญเชิงฯ มีจุดโดดเด่นสำคัญ คือ “หลวงพ่อโต” พระพุทธรูปขนาดใหญ่ เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองอยุธยามาช้านาน แต่เดิมชื่อ พระเจ้าพแนงเชิง ชาวจีนนิยมเรียก “เจ้าพ่อซำปอกง” หมายถึงผู้คุ้มครองการเดินทางทางทะเล ต่อมารัชกาลที่ 4 พระราชทานนามใหม่ว่า พระพุทธไตรรัตนนายก

พระพุทธรูป “หลวงพ่อโต” ตามพงศาวดารกล่าวว่า สร้างขึ้นใน พ.ศ.1867 ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา 26 ปี เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ศิลปะอู่ทองตอนปลาย ปางมารวิชัยขัดสมาธิราบ ขนาดหน้าตักกว้าง 14 เมตร สูง 19.13 เมตร นับว่าเป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยาที่ขนาดใหญ่สุดในประเทศไทย

เสาเขียนสีลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่งสีแดง หัวเสาประดับปูนปั้นรูปบัวกลุ่มกลีบซ้อนกันหลายชั้น บานประตูไม้แกะสลักลอยตัวเป็นลายก้านขดยกดอกนูนออกมา ผนัง 4 ด้านเจาะช่องบรรจุพระพุทธรูป 84,000 องค์เท่าจำนวนพระธรรมขันธ์ เรียกว่า พระงั่ง งดงามชวนตะลึงยิ่งนัก ตามคำให้การชาวกรุงเก่ายังบันทึกไว้ด้วยว่า เมื่อคราวจะเสียกรุงใน พ.ศ.2310 หลวงพ่อโตมีน้ำตาไหลออกมาเป็นสาย เป็นที่อัศจรรย์นัก



: สถานที่สำคัญอื่นๆ วัดพนัญเชิง ไม่ควรพลาดสักการะ :

ภายในวัดพนัญเชิง ยังมีจุดสำคัญที่ต้องไม่พลาดกราบไหว้ คือ พระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปทอง ปูนและนาค ซึ่งเดิมทีเป็นเพียงพระพุทธรูปปูนปั้นทั้ง 3 องค์ แต่เพิ่งค้นพบภายหลังว่าเป็นทองและนาคเมื่อปูนกะเทาะออก จึงสันนิษฐานว่าก่อนเสียกรุง ชาวบ้านนำปูนมาพอกองค์พระไว้เพื่อป้องกันไม่ให้พม่าเผาลอกเอาทองพระไป

รวมถึงยังมี “วิหารเซียน” อาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหน้าพระวิหารหลวง เดิมมีภาพจิตรกรรมฝาผนังงดงามทั้ง 4 ด้าน แต่ถูกโบกปูนทับเมื่อคราวปฏิสังขรณ์ และมีศาลาการเปรียญ เป็นศาลาไม้ทรงไทย หน้าบันประดับช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ มีภาพพุทธประวัติบนผ้าติดไว้ที่ขื่อ พร้อมลง พ.ศ.2472 กำกับไว้ ภายในมีธรรมาสน์สลักลวดลายแบบรัตนโกสินทร์สวยงามมาก



นอกจากนี้ยังมีจุดสำคัญๆ แสดงถึงความเชื่อ ความศรัทธาของคนไทยเชื้อสายจีน อาทิ ศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก ศาลเจ้าแม่กวนอิม สิ่งเคารพสักการะ เทพเจ้าทางจีนให้กราบไว้ขอพรตามความศรัทธา หลังกราบไหว้ ทำบุญ ถวายสังฆทาน รับพรจากพระสงฆ์ รับสายสิญจน์ รับพรมน้ำมนต์ ไหว้จุดสำคัญๆ ต่างๆ ของวัดแล้ว ยังสามารถทำทานให้อาหารปลาบริเวณท่าน้ำได้


: การเดินทางไปวัดพนัญเชิง :

วัดพนัญเชิง เปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่ 07.00 - 17.00 น. คนไทยเปิดเข้าชมฟรี สำหรับชาวต่างชาติเสียค่าเข้าชม 20 บาท นอกจากเดินทางมาท่องเที่ยวในวันที่สะดวกแล้ว ทุกๆ ปี ทางวัดพนัญเชิงก็จัดงานประจำปีอันยิ่งใหญ่ 4 ครั้ง ได้แก่ งานมหาสงกรานต์ งานสรงน้ำและห่มผ้าถวายวันแรม 8 ค่ำ เดือนเมษายน งานทิ้งกระจาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเมืองไทย งานตรุษจีน เปิดวิหารหลวงให้นมัสการหลวงพ่อโตถึง 5 วัน 5 คืน



สำหรับการเดินทางมาวัดพนัญเชิง สามารถใช้บริการเหมารถตุ๊กๆ ภายในตัวเมืองอยุธยา หรือเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ หากขับรถยนต์ส่วนตัว ให้มุ่งหน้ามาทางวงเวียนเจดีย์วัดสามปลื้ม จากนั้นเลี้ยวซ้ายจนพบวัดใหญ่ชัยมงคล แล้วเลี้ยวขวา และขับรถตรงไปก็จะพบวัดพนัญเชิง


: 7 มาตรฐาน SHA วัดพนัญเชิง ป้องกันโควิด :

สำหรับการท่องเที่ยวในช่วงสถานการณ์โควิด-19 (COVID-19) เพื่อความปลอดภัย ทางวัดพนัญเชิงได้มีมาตรการป้องกันตามมาตรฐานท่องเที่ยวปลอดภัยด้านสุขอนามัย (SHA) ดังนี้

1. มีจุดให้บริการเจลแอลกอฮอล์ หรือจุดล้างมือ
2. ทำความสะอาดสถานที่อย่างสม่ำเสมอ
3. มีจุดตรวจวัดอุณหภูมิ
4. มีการเช็กอินไทยชนะ
5. นักท่องเที่ยวต้องสวมหน้ากากอนามัย
6. พนักงานต้องสวมหน้ากากอนามัย
7. รักษาระยะห่าง เช่น มีแผ่นกั้นที่เคาน์เตอร์




ขอบคุณข้อมูล : www.tourismthailand.org, www.palanla.com
ขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/lifestyle/1982471?cx_testId=38&cx_testVariant=cx_1&cx_artPos=5#cxrecs_s 
ไลฟ์สไตล์ ,ไทยรัฐออนไลน์ ,27 พ.ย. 2563, 15:35 น.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ