ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ปริยัติกับปฏิบัติ ต่างก็สำคัญและอิงอาศัยกัน | ผลเสียของการทะนงตนว่าเป็นพหูสูตร  (อ่าน 2450 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


ปริยัติกับปฏิบัติ ต่างก็สำคัญและอิงอาศัยกัน | การทะนงตนว่าเป็นพหูสูตร อาจเป็นอุปสรรคต่อวิปัสสนาธุระได้

นัยการปฏิบัติธรรม สำคัญเป็นไฉน.? มีนักวิชาการบางท่าน เช่น นักวิชาการการว่ายน้ำรอบรู้ทฤษฎีการว่ายน้ำเป็นอย่างดี แต่พอลงไปว่ายน้ำกลับว่ายไม่ได้ก็มีให้เห็น ที่ว่ายได้ดีจนเป็นแชมป์ก็มีให้เห็นเช่นกัน ในทางธรรมะ ปริยัติกับปฏิบัติก็ต้องอิงอาศัยกันเช่นกัน ส่วนทักษะประสพการณ์และเท็คนิก(วิธีการ) นักว่ายน้ำได้รับจากโค้ช

นักปฏิบัติธรรมก็ได้รับจากกัลยาณมิตรผู้พ่านเหตุการณ์การปฏิบัติมาเช่นกัน ดังจะขอสาธกนำเอาเรื่องของพระโปฐิละที่ท่านเล่าไว้ ในอรรถกถาธรรมบท(ธมฺมปทฏฺฐกถา 7/73) มาแสดงเป็นนิทัสสนะ

มีเรื่องว่า พระเถระนั้น เป็นผู้เชี่ยวชาญแตกฉานพระไตรปิฎก เป็นอาจารย์บอกกล่าวสั่งสอนภิกษุประมาณ 500 รูป แม้ว่าศิษย์ของท่านหลายรูปมิได้ขวนขวายเฉพาะในคันถธุระศึกษาคัมภีร์เท่านั้น แต่ทว่ายังขวนขวายในวิปัสสนาธุระ ปรารภการปฏิบัติอีกด้วย จนสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลไปหลายรูปก็ตาม ตัวท่านเองก็ไม่คิดที่จะปฏิบัติเลย ยินดีพอใจอยู่แต่ในความเป็นพหูสูตของตนเท่านั้น แล้วสำคัญตัว ถือตัวอยู่ว่า ”เรามีความรู้มาก” ด้วยความรู้ในปริยัตินั้น

พระศาสดาทรงมีพระมหากรุณาใคร่ที่จะให้ท่านได้เป็นผู้มีตนเป็นที่พึ่งอย่างแท้จริง ทรงประสงค์จะเตือนสติพระเถระให้เกิดความละอายสลดสังเวชใจ เวลาที่พระเถระเข้ามาเฝ้าก็ดี ทูลลากลับไปก็ดี ก็จะรับสั่งกะพระเถระว่า ”มาสิ พ่อใบลานเปล่า, นั่งลงสิ พ่อใบลานเปล่า,ไปเถอะ พ่อใบลานเปล่า” ดังนี้อยู่เสมอๆ

@@@@@@@

พระเถระได้สดับอย่างนี้อยู่บ่อยๆ ก็ได้สติ สำนึกตัวว่า ”การที่พระศาสดารับสั่งอย่างนี้ เป็นเพราะเรามีแต่ความรู้จากตำราเท่านั้น หาได้มีความรู้ความเห็นอันเป็นคุณพิเศษที่เกิดจากการปฏิบัติแต่ประการใดไม่” ดังนี้แล้วก็เกิดความละอาย สลดสังเวชใจ คิดจะเข้าป่าปฏิบัติ ก็แลท่านพระเถระ

แม้ว่าเป็นพหูสูตแตกฉานพระไตรปิฎกเห็นปานนั้น พอถึงคราวจะปฏิบัติเข้าจริงๆ ก็รู้สึกมืดมน มองไม่เห็นเงื่อนงำของการปฏิบัติว่ามีต้นมีปลายอย่างไร อะไรควรมนสิการก่อน อะไรควรมนสิการที่หลังเป็นต้น จึงเที่ยวแสวงหากัลยาณมิตรไป

ท่านเข้าไปหาพระภิกษุผู้เป็นอาจารย์สอนการปฏิบัติรูปใดก็ตาม เมื่อภิกษุรูปนั้นพิจารณาเห็นว่าท่านมีความรู้ด้านปริยัติแตกฉานมาก มีมานะถือตัวว่ามีความรู้มาก ซึ่งข้อนี้จะเป็นเหตุให้เป็นคนที่ใครๆสอนยาก ใจไม่ค่อยจะน้อมไปในอันที่จะเชื่อถือคำพูดของผู้อื่นเท่าที่ควร ดังนี้แล้ว ก็กลัวความยากลำบากในการแนะนำสั่งสอน จึงปฏิเสธบ่ายเบียง ไม่ยอมรับสอนเป็นอาจารย์

พูดเป็นทำนองว่า พระเถระมีความรู้แตกฉานมากกว่าท่านนักหนา จะให้สอนท่าน แนะนำท่านเรื่องอะไรได้อีก พร้อมกันนั้น ก็แนะนำให้พระเถระเข้าไปหาภิกษุผู้เป็นอาจารย์ท่านอื่นอีก โดยอุบายนี้ พระเถระจึงไม่ได้ภิกษุรูปใดๆเป็นอาจารย์เลย


@@@@@@@

ในที่สุดก็เข้าไปหาสามเณรน้อยเพิ่งบวชใหม่ ขอร้องให้สามเณรเป็นอาจารย์ ทีแรกสามเณรเห็นว่าท่านเป็นอาจารย์ใหญ่ บอกกล่าวสั่งสอนศิษย์มากมาย ก็บ่ายเบียงไม่ยอมรับ ด้วยเกรงว่าท่านจะไม่มอบตัวเป็นศิษย์ด้วยใจจริง แต่พอถูกท่านอ้อนวอนมากเข้าก็ยอมรับ โดยมีข้อแม้ว่า พระเถระจะต้องอดทนต่อโอวาท ทำตามคำสั่งสอนทุกอย่างเท่านั้น พระเถระยินดียอมทำตามทุกอย่าง สามเณรประสงค์จะทดสอบมานะความเป็นอาจารย์มีความรู้มากของท่าน จึงสั่งให้ท่านลงไปเดินลุยน้ำในสระ ทั้งๆที่ท่านยังนุ่งห่มจีวรอยู่อย่างนั้น

พระเถระทำตามคำของสามเณรทันทีโดยไม่ลังเลใจเลย สามเณรเห็นว่าท่านบรรเทามานะลงไปมากแล้ว จึงบอกกรรมฐานเป็นนัยให้พระเถระไปปฏิบัติว่า

   ”จอมปลวกแห่งหนึ่ง มีรูอยู่ 6 รู เหี้ยเข้าไปอยู่ในจอมปลวกนั้นทางรูหนึ่ง ผู้ต้องการจะจับเหี้ยตัวนั้นพึงปิดรูเสีย 5 รู เหลือไว้เพียงรูเดียว ล้วงมือเข้าไปทางรูที่ 6 นั้น ก็จะจับเหี้ยตัวนั้นได้ ฉันใด, เมื่อมีอารมณ์ทางทวารทั้ง 6 ท่านจงปิดทวาร 5 ที่เหลือเสีย แล้วตั้งการงานในมโนทวารเท่านั้น ฉันนั้นเถิด” ดังนี้.

พระเถระผู้เป็นพระหูสูตฟังความเพียงแค่นี้ ก็เข้าใจนัยการปฏิบัติได้แจ่มแจ้ง สามารถปฏิบัติตามได้ ขณะนั้นพระศาสดาทรงทราบความเป็นไปของเธอด้วยพระญาณ จึงทรงแผ่พระโอภาสกระทำพระองค์เองให้ปรากฏเบื้องหน้าพระเถระ ตรัสพระคาถาว่า ”โยคา เว ชายเต ภูริ“ เป็นต้น ในที่สุดแห่งพระคาถา พระโปฐิลเถระก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล.

ในนืสสยอักษรปัลลวะ อักษรสิงหล อักษรขอมกล่าวว่า ความรู้ด้านปริยัติ(คันถธุระ)และความรู้ด้านปฏิบัติ(วิปัสสนาธุระ) ต่างก็สำคัญและก็อิงอาศัยกันด้วย แม้กัลยาณมิตรผู้ผ่านประสพการณ์การปฏิบัติมาก็เช่นกัน  ผู้ประสงค์ความหลุดพ้นจากวัฏฏทุกข์ พีงให้ความสำคัญเถิด




ขอบคุณ : dhamma.serichon.us/2020/12/18/นัยการปฏิบัติธรรมสำคัญ/
บทความ : นัยการปฏิบัติธรรมสำคัญเป็นไฉน? เขียนโดย สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ
18 ธันวาคม 2020 ,โพสต์โดย admin   
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 28, 2020, 09:22:57 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ