ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เปิดร่องรอย ท่ากราบ แบบ “อัษฎางคประดิษฐ์” ในศิลปะเขมร  (อ่าน 921 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29315
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


ภาพสลักบนผนังระเบียงคดชั้นในด้านทิศใต้ของปราสาทบายน (ภาพจาก เพจห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ / ได้รับอนุญาตให้นำมาเผยแพร่ต่อ)


เปิดร่องรอย ท่ากราบ แบบ “อัษฎางคประดิษฐ์” ในศิลปะเขมร

การกราบอีกแบบหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็นท่ายากที่สุดท่าหนึ่งในบรรดาท่ากราบทั้งหมด เพราะต้องทุ่มเท แรงกายและใจในการกราบมากกว่าท่าทั่วไป นั่นคือ ท่า “อัษฎางคประดิษฐ์”

การกราบแบบอัษฎางคประดิษฐ์ คือ การกราบโดยให้องคาพยพทั้ง 8 ตำแหน่งของร่างกาย อันได้แก่
    - หน้าผาก 1
    - หน้าอก (บางแห่งว่าหน้าท้อง) 1
    - ฝ่ามือทั้ง 2
    - เข่าทั้ง 2 และ
    - ปลายเท้าทั้ง 2 สัมผัสธรณี

มักเข้าใจและเรียกกันว่าเป็นการกราบแบบธิเบต แต่อันที่จริงแล้วเป็นท่านมัสการที่แพร่หลายทั่วไปอยู่แล้วในกลุ่มผู้นับพุทธศาสนิกชนที่นับถือลัทธิตันตรยานหรือวัชรยาน เช่น ในอินเดีย กัมพูชาสมัยเมืองพระนคร กระทั่งธิเบต เนปาล และภูฏานทุกวันนี้ก็ยังทำกันอยู่เป็นกิจวัตร ท่านี้น่าจะใช้มาตั้งแต่แรกสถาปนาลัทธิตันตรยานในอินเดียเมื่อราวกลางพุทธศตวรรษที่ 13 กันเลยทีเดียว โดยน่าจะขอยืมมาจากท่านมัสการของศาสนาพราหมณ์

ในที่นี้ขอนำตัวอย่างของการกราบอัษฎางคประดิษฐ์ ที่เป็นภาพสลักในศิลปะกัมพูชา มาให้ดูกัน 3 ภาพ ดังนี้




ตัวอย่างที่ 1.
ทับหลังที่สลักเสร็จไปครึ่งเดียวจากปราสาทพิมาย จ.นครราชสีมา จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย ศิลปะนครวัด ราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 17 แสดงภาพบุรุษสูงศักดิ์ที่อาจได้แก่พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 แห่งดินแดนมหิธรปุระ ผู้ทรงสร้างปราสาทประธานของปราสาทพิมาย ทรงทอดพระวรกายรับหรือถวายพระเต้า (หม้อน้ำ) ที่น่าจะบรรจุน้ำพระพุทธมนตร์ศักดิ์สิทธิ์จากพระกัมรเตงชคตวิมายะ หรือ พระวิมายะ พระประธานของปราสาทพิมาย พระนามของพระองค์เป็นชื่อของปราสาทและเมืองพิมายจนทุกวันนี้

ตัวอย่างที่ 2.
หน้าบันของปราสาทตาพรม จ.เสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา ทับหลังแสดงภาพบุรุษสูงศักดิ์กำลังนมัสการรูปพระตถาคตที่ตอนบนของทับหลังซึ่งถูกทำลายไปแล้ว อาจมุ่งให้หมายถึงการนมัสการรูปพระตถาคตของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ผู้ทรงสร้างปราสาทแห่งนี้ถวายพระราชชนนีศรีชัยราชจุฑามณี ในรูปพระนางปรัชญาปารมิตาเมื่อ พ.ศ. 1729

ตัวอย่างที่ 3.
ภาพสลักบนผนังระเบียงคดชั้นในด้านทิศใต้ของปราสาทบายน สันนิษฐานว่าสลักขึ้นในรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 ผู้ทรงนับถือศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวะอย่างแรงกล้า แสดงภาพบุรุษสูงศักดิ์ที่อาจมุ่งให้หมายถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 ทรงนมัสการรูปพระวิษณุในเทวาลัยด้วยท่าอัษฎางคประดิษฐ์ จะเห็นว่าแม้ในศาสนาพราหมณ์ก็ยังใช้ท่าอัษฎางคประดิษฐ์ในการแสดงความเคารพสูงสุดเช่นกัน


@@@@@@@

ส่วนความหมายและองค์คุณของการกราบแบบอัษฎางคประดิษฐ์ ผู้รู้หลายท่านต่างอธิบายไว้อย่างมากมายขึ้นอยู่กับวินิจฉัยและการตีความของแต่ละท่าน




ขอบคุณเพจ : ห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ ที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่ต่อ https://www.facebook.com/ArtHistoryClassroom/
ผู้เขียน : ห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์
เผยแพร่: วันพฤหัสที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564
แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์ : เมื่อ 1 ตุลาคม 2561
ขอบคุณ : https://www.silpa-mag.com/history/article_4131
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ