พระธาตุเกิดขึ้นได้อย่างไรครูบาอาจารย์ ท่านกล่าวไว้ว่า เหตุการเกิดพระธาตุเท่าที่พบเกิดขึ้นได้ ๓ เหตุ
๑. เกิดจากอานิสงส์ ผลจากการปฏิบัติธรรมอันยิ่งยวด
๒. เกิดจากพระผู้มีคุณธรรมอันวิเศษ ทำให้เกิด
๓. เกิดจากการอัญเชิญมาจากอากาศ
๑. เกิดจากอานิสงส์การปฏิบัติธรรมอันยิ่งยวด เรื่องนี้เป็นเรื่องที่นักปฏิบัติเท่านั้นถึงจะเข้าใจ ผลการเกิดพระธาตุในลักษณะนี้ จะเกิดจากผลการปฏิบัติตามภูมิธรรมยังภูมิของท่านนั้น ๆ มีภูมิธรรมที่บรรลุถึงจุดสูงสุด
พระธาตุของท่านสัณฐานใสเป็นเพชร เป็นแก้ว อัญมณี ครูบาอาจารย์ที่ท่านเริ่มจากการพิจารณาว่า คนเราเกิดจากการประชุมกันหรือการร่วมกันของธาตุ มีพื้นฐานจากธาตุ ๔ และธาตุ ๖ ธาตุ ๔ หมายถึง ดิน น้ำ ลม ไฟ รวมกันเกิดเป็นร่างกาย ร่วมกับธาตุ ๖ เพียงแต่เพิ่มอีก ๒ ธาตุคือ อากาศธาตุ และวิญญาณธาตุ
ทำให้เกิดชีวิตอากาศธาตุ เหมือนกันกับเครื่องยนต์กลไก เลือดลม ที่สูบฉีดเลี้ยงร่างกาย ร่วมกับวิญญาณธาตุ หรือธาตุรู้ นี่คือการประชุมกันเพื่อให้เกิดร่างกายขึ้นมา ครูบาอาจารย์ทั้งหลายท่านได้เห็นในส่วนนี้นำมาพิจารณาโดยแยกกันเป็น ๒ ส่วน จิตกับกาย
จิตมีธาตุรู้วิญญาณธาตุ อาศัยกายที่ประกอบจากธาตุ ๔ เป็นเครื่องพิจารณา จิตได้ความรู้จากกาย โดยท่านอาศัยข้อพิจารณาธรรมจากสติปัฏฐาน ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม
กาย ท่านพิจารณาเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปของร่างกาย ยึดไว้ก็เป็นทุกข์ เป็นอนิจจัง เมื่อพิจารณาท่านก็ปล่อยวางไม่ยึดมั่นถือมั่น
เวทนา ท่านพิจารณาความสุข ความทุกข์ ความไม่สุข ไม่ทุกข์ (ที่ไม่ใช่อุเบกขา)
จิต จิตของเราความรู้สึกดีชั่ว
ธรรม กิเลส กิเลสไม่เกิดขึ้นได้ ส่วนดี ส่วนที่เสีย ก็ดับไป
เมื่อจิตใจท่านขัดเกลา โลภะ โมหะ โทสะ หรือเรียกว่า ฟัดกับกิเลส จิตใจ สะอาดขึ้น ละเอียดขึ้นจากผิวหนังไปถึงใต้ผิวหนัง ถึงเนื้อจนถึงกระดูก ธาตุขันธ์จะสะอาดเป็นอานิสงส์ ร่างกายได้รับอานิสงส์ เริ่มสู่ความเป็นอริยบุคคล เข้าสู่ชั้นโสดาบัน
เมื่อภูมิธรรมการปฏิบัติของท่านนั้น ๆ สูงขั้นตามธาตุขันธ์ ร่างกายยิ่งสะอาด ปฏิบัติขัดเกลาลดน้อยลงเหลือแต่สิ่งที่ดี จนถึงขั้นไกลจากกิเลสวรรณะ ความสดใสของกายเหมือนดั่งทองคำ
เคยมีครั้งหนึ่งเป็นเรื่องที่เล่าว่า หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค จ.อยุธยา ท่านกล่าวว่า หลวงพ่อเนียม วัดน้อย จ.สุพรรณบุรี ท่านจะมีวรรณะ ผิวพรรณที่ผ่องใส ในตามีความสุกสกาวเหมือนท้องฟ้า มีใบหน้ายิ้มแย้ม แสดงถึงความร่มเย็น ที่มาจากผลานิสงส์แห่งการปฏิบัติธรรมอันยิ่งยวด
เมื่อท่านเหล่านั้นได้ละสังขารไป อัฐิของท่านอัศจรรย์เป็นพระธาตุเหมือนกับอัญมณีสดใส บางองค์อัฐิธาตุของท่านเกิดเป็นพระธาตุขึ้นเลยทันที บางองค์หลังจากนั้นไม่นาน อัฐิธาตุของท่านก็ค่อย ๆ แปรสภาพเป็นพระธาตุไปตามกาลเวลา ส่วนใหญ่ พบเห็นมากในพระวิปัสสนาจารย์สายพระป่า
บางองค์สังขารของท่านเป็นพระธาตุ ทั้ง ๆ ที่ท่านยังไม่ได้มรณภาพไป อย่างเช่น หลวงปู่เขียว วัดหรงบน จ.นครศรีธรรมราช ท่านถอนฟันและให้ลูกศิษย์เก็บไว้ ต่อมาฟันนี้ได้เกิดเป็นพระธาตุแก้วผลึกใส
หลวงปู่แหวน วัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่ ท่านเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาล พยาบาลท่านหนึ่งเก็บชิ้นส่วนกระดูกอ่อนที่หลังจากผ่าตัดเอาไว้ ปรากฏว่าชิ้นกระดูกนั้นกลายเป็นผลึกแก้วใส หรือพระธาตุนั่นเอง ยังความศรัทธาอย่างสูงของชาวเชียงใหม่
หลวงปู่เจี๊ยะ เคยได้รับฟันของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ต่อมาฟันนั้นก็กลายเป็นผลึกแก้วใสเหมือนกัน
ฉะนั้นแล้ว เหตุที่เกิดจากอานิสงส์ ผลการปฏิบัติธรรมอันยิ่งยวดจนร่างกายเป็นพระธาตุ ส่วนใหญ่จะปรากฏขึ้นในนักปฏิบัติ แต่มิใช่หมายถึงแต่พระสงฆ์เท่านั้น ยังเกิดขึ้นกับปุถุชนคนทั่วไปได้ แต่ต้องเป็นนักปฏิบัติธรรม
ถึงแม้เกิดเป็นผู้หญิงเองก็อาจได้รับอานิสงส์แบบนี้ เหมือนกับท่านอุบาสิกาบุญเรือน วัดอาวุธฯ บางพลัด ท่านก็สำเร็จภูมิธรรมชั้นสูง มีอัฐิกลายเป็นพระธาตุ ฉะนั้นแล้วการปฏิบัติธรรมตามหลักพระพุทธศาสนาให้เกิดผลสูงสุดจึงไม่มีความเกี่ยวข้องในการแบ่งชนชั้นวรรณะ หรือเพศชายหญิงเลย
๒. เกิดจากพระผู้มีคุณธรรมอันวิเศษ ทำให้เกิดพื้นฐานก็มาจากอย่างแรกต้องบรรลุภูมิธรรมชั้นสูง นอกจากสังขารของท่าน บังเกิดเป็นพระธาตุแล้ว ยังให้สิ่งอื่น ๆ เกิดเป็นพระธาตุได้จิตตานุภาพ อย่างเช่น หลวงปู่เขียน วัดหรงบน ท่านฉันภัตตาหารเกิดก้างปลาติดฟัน และท่านได้นำก้างปลาที่ติดฟันออก แล้วให้ลูกศิษย์เก็บก้างปลาไว้
ซึ่งต่อมาก้างปลาชิ้นนี้กลายเป็นพระธาตุผลึกแก้วใส หลวงปู่ดู่ วัดสะแก จ.อยุธยา ท่านชอบสร้างพระเนื้อผงสีขาว แต่ทำไมพระเครื่องท่านจึงขึ้นพระธาตุได้ พระธาตุที่ขึ้นกับพระเครื่องหลวงปู่ดู่ จะขึ้นเป็นเกล็ดใส ๆ แวววาว คล้าย ๆ ผลึกน้ำแข็ง
ซึ่งพระของท่านก็เป็นเนื้อผงสีขาว ๆ คล้ายชอล์ก ไม่มีส่วนผสมอื่น ๆ ที่แปลกไปกว่านั้น ที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีได้ แต่พระท่านก็เกิดอัศจรรย์ขึ้นพระธาตุได้
แต่มีข้อแม้ว่า ผู้ที่เป็นเจ้าของพระของท่านที่ขึ้นพระธาตุส่วนใหญ่จะเป็นนักปฏิบัติธรรม อย่างนี้ก็เป็นเรื่องของจิตตานุภาพเหมือนกัน
เป็นเรื่องแปลกอีกอย่างหนึ่ง ที่ครูบาอาจารย์ท่านอธิบายไว้ว่า พระผู้มีกายสะอาดขึ้นถึงเป็นพระธาตุ ขี้หรืออุจจาระ ท่านจะหอม หรืออุจจาระท่านจะไม่มีกลิ่นเหม็น น่ารังเกียจเหมือนคนทั่ว ๆ ไป เพราะการบริโภคอาหารของท่าน
เมื่อสังขารของท่านสะอาด การบริโภคอาหารผ่านร่างกายของท่านที่สะอาด ผ่องใส กากอาหารที่ผ่านร่างกายนั่นจะเป็นกากอาหารที่ไม่มีกลิ่นสกปรก น่ารังเกียจเหมือนปุถุชนคนทั่วไป อย่างเช่น หลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค จ.นครสวรรค์ ขี้ท่านหอม อาจจะด้วยสังขาร อายุเกิน ๑๐๐ ปี การขบฉันจึงไม่เต็มที่เหมือนคนทั่วไป
๓. เกิดจากการอัญเชิญมาจากอากาศ โบราณมีความเชื่อว่าพระธาตุท่านจะเสด็จมาได้ตามอากาศ โดยท่านมาจากพระธาตุในส่วนที่ตกเรี่ยราด ผู้รักษาเกศาไว้ไม่ดี รักษาไม่สะอาด จนเขากล่าวไว้ว่าพระธาตุเมื่อรักษาดี ท่านจะเสด็จมาและเพิ่มได้ ถ้ารักษาไว้ไม่ดี ท่านก็จะค่อย ๆ หายไป
เรื่องนี้มีข้อพิสูจน์ได้จากหลาย ๆ ท่านได้พิสูจน์มาแล้วว่า พระธาตุเสด็จมาเองโดยผู้ที่ศรัทธา ผู้นั้นเตรียมอัญเชิญพระธาตุ โดยวิธีการเตรียมผอบ ปูด้วยผ้าขาว ดอกไม้หอม ตั้งไว้ในที่สะอาด สวดมนต์ ภาวนาอัญเชิญพระธาตุด้วยบท อิติปิโสเรือนเตี้ย
ถือศีลภาวนาแล้วพระธาตุจะเสด็จมาเอง แต่ทั้งนี้ผู้นั้นต้องศรัทธาอย่างแน่วแน่และแท้จริง เรื่องนี้ได้มีการพิสูจน์มาแล้ว สมัยหลวงปู่ลี วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ ท่านได้อัญเชิญโดยวิธีนี้
ปรากฏว่าอัญเชิญอาราธนาสำเร็จ พระธาตุเสด็จมาได้จริง ๆ ท่านจึงได้สร้างพระธาตุเจดีย์ขนาดใหญ่ เพื่อประดิษฐานพระธาตุองค์นี้ ให้ได้สักการะดังที่เห็นในปัจจุบัน
ชาวพุทธนับถือพระธาตุสูงสุด สร้างเจดีย์ก็จะบรรจุพระธาตุไว้บนยอด นิยมนำของที่มีค่าและวิจิตรอลังการ ถวายเป็นเครื่องบูชา ดั่งที่ดู ได้จากพิพิธภัณฑ์วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช จัดแสดงสิ่งของที่นำมาบูชาพระบรมธาตุ ตั้งแต่ครั้งในอดีต
อาทิ ต้นไม้เงินต้นไม้ทอง มงคลวัตถุ และเครื่องรางของขลัง เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องประดับอันมีค่า ศิลปวัตถุและโบราณวัตถุ เครื่องเงิน เครื่องทองรูปพรรณ เครื่องถม ตลอดจนสิ่งของที่แปลกผิดธรรมชาติ ล้วนแต่สะท้อนให้เห็นถึงศรัทธาอันยิ่งใหญ่ของบรรพชนได้อย่างดี
ถึงแม้ในปัจจุบันการบูชาเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย แทนที่จะสรรหาหรือจัดทำสิ่งของนำมาถวายมักใช้ถวายด้วยเงินบำรุงแทนดูไม่ยิ่งใหญ่เหมือนในอดีต
ตามความเชื่อที่ว่า พระธาตุ หมายถึงสิ่งแทนความศักดิ์สิทธิ์อันสูงสุด แม้บรรจุไว้ในเจดีย์ยังต้องไว้ที่บนยอดสุด จึงไม่มีใครนิยมนำติดตัวไว้เหมือนพระเครื่อง เพราะคนเราอาจจะเข้าไปในสถานที่ที่สกปรก ที่ไม่สมควร หรือที่อโคจร จะเกิดกรรมแก่ทั้งตัวเองและผู้อื่น
เช่น ใส่พระธาตุไปลอดราวผ้า หรือไปลอดในสถานที่ ที่มีผู้อื่นอยู่สูงกว่า เท่ากับว่าเรานำพระธาตุไปลอดใต้สถานที่นั้น ๆ นอกจากเกิดกรรมแก่เราแล้ว บุคคลอื่น ๆ ที่อยู่สูงกว่า พาต้องรับกรรมไปด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้คือเรื่องของความเชื่อใน "พระธาตุ" มาแต่โบราณ
อนาคตของพระบรมธาตุเมื่อกาลเวลาล่วงเลยไปจนถึง พ.ศ. ๕๐๐๐ พระบรมธาตุทั้งหลายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเสด็จไปสู่ที่พระเจดียฐาน ณ เกาะลังกา และดำรงคงอยู่ตลอด เพื่อจะทรงสงเคราะห์ชาวสิงหฬ ให้เกิดสวัสดิมงคล ด้วยการกระทำพิธีสักการบูชาพระคุณพระองค์ท่านก่อนพระพุทธศาสนาใกล้จะสูญสิ้นไป
ครั้นถึง พ.ศ.๔๙๙๙ และล่วงได้ ๑๑ เดือน กับ ๒๒ วัน ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๙ ค่ำ เป็นเวลาคิมหันต์ฤดู ปีชวด นักษัตรอัฐศก เวลารุ่งอรุณ พระบรมธาตุทุกพระองค์จะเสด็จไปยังสถานที่ประชุมทันที แล้วทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์
ด้วยพุทธฤทธิ์อันวิเศษ บังเกิดเป็นพระพุทธนิเวศน์ และพระวรกายสูง ๑๘ ศอก เปล่งรัศมีอก ๖ ประการ มีพระบวรสัณฐานงดงามยิ่งนัก ดวงพระพักตร์ผุดผ่อง ดังสีสุวรรณ พระรูปองค์เสด็จขึ้นประทับบนบัลลังก์ในควงต้นพระศรีมหาโพธิ์
ทรงพระสมาธิและกระทำยมกปาฏิหาริย์ โปรด สัตว์ คนธรรพ์ เทวดา ฤาษี กินนร นาคราช ทั้งอสูรพร้อมหน้านั่งแน่นเหนือแผ่นดิน พระองค์ตรัสพระธรรมเทศนา โปรดสัตว์อยู่ ๗ วัน มีผู้ฟังในครั้งนั้นถึงสี่อสงไขยสองล้านสามแสนหกสิบเจ็ดพันโกฏิ แล้วพระเพลิงก็พวยพุ่งขึ้นเผาพลาญพระรูปองค์ให้หมดสิ้นไป ในวันพุทธ เดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีชวด นักษัตร อัฐศก พระพุทธศาสนาก็สิ้นสุดลงเพียง ๕๐๐๐ ปีเต็ม...พระบรมสารีริกธาตุเมื่อพระพุทธองค์ทรงเสด็จสู่พระปรินิพพานแล้ว มีพระพุทธสรีธาตุเหลืออยู่ ๗ องค์ คือ
๑. พระรากขวัญ (ไหปลาร้า) ๒ องค์ คือ
- พระรากขวัญเบื้องซ้าย ๑ องค์
- พระรากขวัญเบื้องขวา ๑ องค์
๒. พระเขี้ยวแก้ว หรือ พระทันตธาตุ ๔ องค์ คือ
- พระเขี้ยวแก้วซ้ายบน ๑ องค์ ล่าง ๑ องค์
- พระเขี้ยวแก้วขวาบน ๑ องค์ ล่าง ๑ องค์
๓. พระอุณหิส หรือ พระนลาฏอุณหิส ๑ องค์
พระพุทธสรีรธาตุ ทั้ง ๗ องค์นี้ คงสภาพเดิมเมื่อพระเพลิงเผาก็ไม่เปลี่ยนแปลง และได้ถูกอัญเชิญเสด็จไปประดิษฐาน เพื่อเป็นที่สักการบูชาของเทพยดา และมนุษย์ในที่ต่าง ๆ กัน คือ
๑. พระรากขวัญเบื้องซ้าย ประดิษฐานอยู่ ณ เทวโลก
๒. พระรากขวัญเบื้องขวา และ
๓. พระอุณหิส ประดิษฐานอยู่ ณ เมืองอนุราชสิงหฬ
๔. พระเขี้ยวแก้วซ้ายบน ประดิษฐานอยู่ ณ เมืองคันธารราช
๕. พระเขี้ยวแก้วซ้ายล่าง ประดิษฐานอยู่ ณ เมืองนาคพิภพ
๖. พระเขี้ยวแก้วขวาบน ประดิษฐานอยู่ ณ ดาวดึงส์เทวโลก
๗. พระเขี้ยวแก้วขวาล่าง ประดิษฐานอยู่ ณ เกาะลังกาสิงหฬพระบรมสารีริกธาตุเมื่ออัฐิน้อยใหญ่ ทั้งหลายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เว้นพระสรีรธาตุทั้ง ๗ องค์ ถูกพระเพลิงเผาไหม้ได้แหลกละเอียดลงเหลือเป็น พระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งตักตวงได้ ๑๖ ทะนาน มี ๓ ขนาด คือ
๑. ขนาดเล็ก เท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด มีจำนวน ๖ ทะนาน มีวรรณะดังสีดอกพิกุล
๒. ขนาดกลาง เท่าเมล็ดข้าวสารหัก มีจำนวน ๕ ทะนาน มีวรรณะดังสีแก้วผลึก
๓. ขนาดใหญ่ เท่าเมล็ดถั่วหัก มีจำนวน ๕ ทะนาน มีวรรณะดังสีทองอุไร
พระบรมสารีริกธาตุทั้ง ๑๖ ทะนานนี้ ประดิษฐานอยู่บนพื้นพิภพที่มีอยู่มาก ๘ แห่งคือ
๑. เมืองราชคฤห์
๒. เมืองเวสาลี
๓. เมืองกบิลพัสดุ์
๔. เมืองอัลปัปปะบุรี
๕. บ้านพรหมณนิคม
๖. เมืองเทวทหะราฐ
๗. เมืองปาวาขะบุรี
๘. เมืองนครกุสินารา
นอกจากพระพุทธสรีรธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุที่กล่าวแล้ว ยังมีพระเกศา โลมา นขา ทันตา ทั้งหลายของพระองค์ท่านเรี่ยรายประดิษฐานอยู่ทุกทิศทั่วทั้งจักรวาล กำเนิดพระธาตุเมื่อได้ทราบถึงประวัติตั้งแต่ต้นของพระบรมสารีริกธาตุขององค์พระสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้ากันแล้ว ต่อไปน่าจะกล่าวถึงพระอรหันตธาตุ หรือพระธาตุพระสาวกของพระพุทธองค์
เมื่อถึงซึ่งพระปรินิพพานไปแล้วมีอยู่ ๘๐ องค์ เรียกว่า พระอสีติมหาสาวก ตามตำนาน พระอัฐิธาตุหรือพระธาตุอรหันต์มีเหลืออยู่ และประดิษฐานในที่ต่างกัน เพื่อให้เป็นที่เคารพสักการบูชาแก่เทพยดาและมนุษย์ ตามความเชื่อพระธาตุของพระอรหันต์แต่ละองค์จะมีสัณฐานและวรรณแตกต่างกัน
พระธาตุพระสารีบุตร สัณฐาน กลม รี เป็นไข่จิ้งจก เป็นดังรูปบาตรคว่ำ
วรรณะ ขาวดังสีสังข์ เหลืองดังหวายตะค้า สีดอกพิกุลแห้ง
พระธาตุพระโมคคัลลานะ สัณฐาน กลม รี เป็นผลมะตูม รีเป็นเมล็ดทองหลาง รีเป็นเมล็ดข้าวสาร
วรรณะ ดำ ขาว เหลือง ดังหวายตะค้า
พระธาตุพระสีวลี สัณฐาน เป็นดังเมล็ดในพุทรา เป็นดังผลยอป่า เป็นดังเมล็ดมะละกอ
วรรณะ เขียวดังดอกผักตบ แดงดังสีหม้อใหม่ เหลืองดังหวายตะค้า ขาวดังสีสังข์ สีดอกพิกุลแห้ง
พระธาตุพระองคุลิมาละ สัณฐาน คอดดังคอสากที่มีรูปโปร่ง ตลอดเส้นผลลอดได้ก็มี
วรรณะ ขาวดังสีสังข์ เหลืองดังดอกจำปา สีฟ้าหมอก
พระธาตุพระอัญญาโกณฑัญญะ สัณฐาน งอนช้อยดังงาช้าง
วรรณะ ขาวดังดอกมะลิตูม เหลือง ดำ
ที่กล่าวมาทั้ง ๕ องค์ใน ๘๐ องค์ ตำนานได้กล่าวแยกแยะจากสัณฐานและวรรณะขององค์พระธาตุโดยแตกต่างจากพระบรมสารีริกธาตุพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีสัณฐานคล้ายเมล็ดข้าวสารหัก วรรณะดังสีแก้วผลึก แตกต่างจากพระอรหันตธาตุ ทั้งนี้เป็นเรื่องที่ตำนานได้กล่าวไว้
ท่านทั้งหลายที่เคยไปสักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตามวัดวาอารามต่าง ๆ หลายแห่ง จะกล่าวถึงสถานที่นี้ ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุให้ท่านได้สักการบูชา ถ้าถามว่ารู้ได้อย่างไรว่า พระบรมสารีริกธาตุนั้น เป็นพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
อาศัยโบราณจารย์ท่านอุปมาตามสัณฐานและวรรณะที่ตำนานได้กล่าวไว้ ถ้าต้องตามลักษณะสัณฐานและวรรณะ จึงยึดถือพระบรมสารีริกธาตุตามความเชื่อนั้น
อั๋น พระรามแปดหนังสืออ้างอิง
คงเดช ประพัฒน์ทอง,โบราณคดีประวัติศาสตร์ กรุงเทพฯ
: กรมศิลปากร ๒๕๒๙ สำนักพิมพ์สารคดี, นครศรีธรรมราช กรุงเทพฯ :๒๕๓๗
พล.อ.จ.สดับ ธีระบุตร, พระบรมธาตุพระธาตุอรหันตสาวก. กรุงเทพฯ:๒๕๐๑
--------------------------------------
คัดลอกจาก: ภควา ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๖
ประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๗
ที่มา
http://www.dharma-gateway.com/misc/misc-misc-index-page.htmที่มา ภาพประกอบจากเว็บธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=18&t=22328