‘จันทโรตตรา’ ลูกสาว ‘วิมลเกียรติ’ผมได้กล่าวถึงพระสูตรฝ่ายมหายานชื่อ “วิมลเกียรตินิทเทสสูตร” ไว้ในมติชนสุดสัปดาห์มาแล้วสองครั้ง ครั้งล่าสุดกล่าวถึงด้วยความตื่นเต้นว่าได้มีการแปลจากต้นฉบับภาษาสันสกฤต เกิดขึ้นแล้วในภาคภาษาไทย และนำเอาเนื้อหาบางส่วนมาแสดงต่อผู้อ่าน
ชะรอยท่านวิมลเกียรติมหาโพธิสัตว์จะมีเมตตาต่อผมก็หาทราบได้ไม่ ในระหว่างที่วิจักขณ์ พานิช และผมกำลังจัดคอร์สออนไลน์เรื่องวิมลเกียรตินิทเทสสูตรไปตลอดทั้งเดือนมิถุนายนนี้ ได้มีเพจให้ความรู้ทางฝ่ายมหายาน คือเพจ “เสถียร โพธินันทะ พุทธวจนะมหายาน” โพสต์ว่ายังมีพระสูตรเกี่ยวกับท่านวิมลเกียรติคฤหบดีอีกสองพระสูตรนะ
เอาละสิ อันนี้เป็นสิ่งที่ผมไม่เคยทราบมาก่อน ท่านว่ามีพระสูตรที่กล่าวถึง “ลูกชาย” และ “ลูกสาว” ของวิมลเกียรติอีก
พระสูตรแรกกล่าวถึงลูกชายของท่านผู้มีนามว่าสุจินตะ หรือเขียนอย่างไทยๆ ว่า สุจินต์ พระสูตรนี้ชื่อ “สุจินตกุมารสูตร” ความยาวเพียงสองผูก พระชญานคุปตะซึ่งมีชีวิตในคริสต์ศตวรรษที่หก ได้แปลสู่พากย์จีนในสมัยราชวงศ์สุย ปัจจุบันยังมีอยู่ในพระไตรปิฎกฉบับไทโช
ทางเพจเขาสรุปเนื้อความพระสุจินตกุมารสูตรไว้ว่า พระพุทธองค์เดินทางไปยังบ้านของวิมลเกียรติแล้วได้พบกับสุจินต์ กุมารน้อยผู้ได้สั่งสมบุญมาแต่ปางก่อนจึงได้ถวายดอกไม้แล้วขอถึงพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณในอนาคต จากนั้นจึงเป็นการถาม-ตอบข้อธรรมต่างๆ
ผมยังไม่มีโอกาสอ่านพระสูตรนี้ และเข้าใจว่ายังไม่มีการแปลสู่ภาษาอังกฤษจึงยังไม่ได้เห็นเนื้อหาโดยตรง ก็เล่าตามที่เขาเล่ามาอีกทีนะครับ
@@@@@@@
อีกพระสูตรนี่สิที่น่าสนใจมากๆ คือพระสูตรที่ว่าด้วย “ลูกสาว” ของวิมลเกียรติ เพราะเหตุว่าพระสูตรของคนพ่อคือวิมลเกียรติเองยังมีการตั้งคำถามกับอคติต่อสตรีเพศ แล้วถ้าเป็นพระสูตรของลูกสาวจะขนาดไหน
ลูกสาวของวิมลเกียรติมีนามว่า “จันทโรตตรา” แปลง่ายๆ ว่า ยิ่งกว่าจันทร์ คืองามกว่าจันทร์เห็นจะปานนั้น ถ้าเธอมีชื่อไทยคงชื่อ จันทร์อุดร เพียงจันทร์ อะไรแนวๆ นั้นละครับ
พระสูตรนี้ชื่อในภาษาสันสกฤตว่า “จันทโรตตราทาริกาปริปฤจฉาสูตร” แต่ในฉบับแปลภาษาอังกฤษเรียกเพียงสั้นๆ ว่า “จันทโรตราทาริกาสูตร”
พระชญานคุปตะได้แปลจากสันสกฤตสู่พากย์จีนในสมัยราชวงศ์สุยเช่นเดียวกับพระสูตรสุจินตกุมาร และมีตีพิมพ์อยู่ในพระไตรปิฎกฉบับไทโชเช่นกัน ในปัจจุบันไม่มีต้นฉบับสันสกฤตหลงเหลือมาแล้วทั้งสองพระสูตร
“จันทโรตตราทาริกาปริปฤจฉาสูตร” ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ “The Sutra of the Girl Candrottara” (พระสูตรแห่งจันทโรตราทาริกา) ตีพิมพ์ในหนังสือ “The Scripture of Master of Medicine, Beryl Radiance Tathagata & The Sutra of the Girl Candrottara” รวมกับพระสูตรไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา โดย Nobumi Iyanaga และ Rolf W. Giebel
ตัวละครหลักที่แสดงธรรมในพระสูตรนี้ ก็คือคุณจันทโรตตรานี่แหละครับ
@@@@@@@
ผมขอเล่าเนื้อความของพระสูตรนี้พอเป็นอรรถรสแด่ท่านผู้อ่านนะครับ หากเมล็ดพันธุ์ความใฝ่รู้หรือกุศลเกิดมีขึ้นจากการเล่าพระสูตรย่อๆ นี้ก็ขอให้ทุกท่านผ่านพ้นทุกข์และโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวง
ครอบครัวของวิมลเกียรติคหบดีซึ่งเป็นพวก “ลิจฉวี” อาศัยอยู่ในเมืองไพศาลี ประกอบด้วยคุณพ่อวิมลเกียรติ คุณแม่วิมาลา และคุณลูกสาวคือ จันทโรตตรา (พระสูตรนี้ไม่กล่าวถึงสุจินต์)
จันทโรตตราทาริกาเกิดมาโดยมีนิมิตมงคลหลายประการ อันสำแดงว่ามีบุญญาธิการมาแต่ก่อน เมื่อเธอเกิดมาได้ไม่นานนัก เธอก็กลายเป็นเด็กสาวอายุแปดปี มีหน้าตาสวยงามกว่าใครในเมืองไพศาลี
ความงามมหัศจรรย์ของเธอ ทำให้หนุ่มๆ ทั้งหลายตลอดจนถึงราชกุมารแว่นแคว้นต่างๆ อยากได้เธอเป็นคู่ครอง (ผมเข้าใจว่าในสมัยโบราณคงมีการจับคู่แต่งงานตั้งแต่เด็ก เพราะเมื่อมีระดูครั้งแรกก็ถือว่าพ้นจากความเป็นเด็กแล้ว วัยแปดขวบในวรรณคดีเก่าๆ ของอินเดียอาจเป็นวัยเตรียมจะออกเรือนกระมัง)
@@@@@@@
อาการ “คลั่งรัก” ของหนุ่มๆ ไพศาลีหนักข้อมาก ถึงขนาดพากันไปยังบ้านวิมลเกียรติ เอาของกำนัลไปให้ รบเร้าวิงวอน แต่ที่ข่มขู่ก็มี บอกว่าหากวิมลเกียรติไม่ยกลูกสาวให้ ตนก็จะมาฆ่าหรือทำร้าย
วิมลเกียรติได้ฟังเช่นนั้นก็กลุ้มใจ ไม่รู้จะทำอย่างไรดี (วิมลเกียรติในเรื่องนี้จะไม่เหมือนวิมลเกียรติคนเท่ในพระสูตรวิมลเกียรตินิทเทสสูตรนะครับ จึงมีนักวิชาการสันนิษฐานว่า พระสูตรจันทโรตตราอาจเกิดก่อน แล้ววิมลเกียรตินิทเทสสูตรเกิดทีหลัง จึงมีการปรับบทบาทของวิมลเกียรติให้ดีขึ้น เท่ขึ้น)
ลูกสาวคนสวยจึงบอกคุณพ่อว่า ไม่ต้องกลุ้มใจไปดอกค่ะคุณพ่อเจ้าขา ให้ไปบอกหนุ่มๆ กลัดมันพวกนั้นว่า อีกเจ็ดวันฉันจะจัดงานเลือกคู่เอง เมื่อประกาศออกไป เด็กหนุ่มพวกนั้นก็พากันกลับบ้าน
คืนสุดท้ายก่อนวันงานเลือกคู่ ขณะที่จันทโรตตรากำลังสวดมนต์ไหว้พระเข้าที่ภาวนา พระพุทธองค์ได้ส่ง “ทูต” ด้วยพุทธานุภาพมาปรากฏบนฝ่ามือของจันทโรตตรา ทูตนั้นมีลักษณะเหมือนพระพุทธองค์ทุกประการ เมื่อได้สนทนาธรรมกันแล้วพุทธทูตนั้นก็หายวับไป
@@@@@@@
เช้าวันงาน เมื่อหนุ่มๆ แห่แหนกันมา จันทโรตตราพร้อมด้วยดอกไม้ธูปเทียนและทิพยดนตรีได้แสดงฤทธาภินิหารเหาะลอยขึ้นไปท่ามกลางชนกลุ่มนั้นถึงยอดลำตาล แล้วเทศนาให้เห็นภัยแห่งกามคุณ บรรดาหนุ่มๆ จึงละวางกามคุณเสียได้ พากันก้มกราบสักการะทาริกานั้น
เธอปรารถนาจะไปเฝ้าพระพุทธองค์ที่เวฬุวันวิหาร บรรดาหนุ่มๆ จึงพากันตามจันทโรตตราไปด้วย ระหว่างทางเธอสวนกับพระสารีบุตรผู้กำลังจะออกไปบิณฑบาต พระสารีบุตรปรารถนาจะทดสอบเด็กสาวผู้นี้ จึงได้ชวนสนทนากัน
ฉากนี้จึงเป็นการปะทะคารมครั้งแรกกันระหว่างจันทโรตตราและพระสารีบุตรเกี่ยวกับทัศนะแห่งพุทธธรรม ยานใหญ่ ยานน้อยทั้งหลายอย่างออกรส
สุดท้ายเธอก็ได้ไปถึงเวฬุวันวิหาร ได้โต้ตอบกับเหล่าพระโพธิสัตว์ทั้งหลายถึงข้อธรรมต่างๆ จันทโรตตราจึงได้โยนดอกไม้ไปบูชายังศีรษะของพระพุทธะ ดอกไม้เหล่านั้นได้กลายเป็นฉัตรเบื้องบนสูงขึ้นไปถึงเจ็ดชั้น และเมื่อเกิดฉัตรขึ้นชั้นใด จันทโรตตราก็บรรลุธรรมขั้นสูงไปทีละขั้น
@@@@@@
พระพุทธะได้พยากรณ์ว่า ในอนาคตเธอก็จะบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธะอีกองค์หนึ่ง ด้วยความปีติจันทโรตตราได้เหาะลอยขึ้นไปร่ายรำสูงถึงเจ็ดลำตาล แล้วเมื่อปีติคลายลงเธอจึงลงมาอยู่ที่เดิม
เธอได้ปะทะคารมกับพระสารีบุตรอีกรอบหนึ่งในหลายประเด็น อาทิ เพศภาวะอันเป็นสิ่งสมมุติ หรือแม้เมื่อพระสารีบุตรถามว่า เมื่อเธอบรรลุเป็นพระพุทธะแล้ว พุทธเกษตรของเธอจะเป็นเช่นไร เธอก็ตอบแสบๆ ในทำนองว่า คงไม่คับแคบอย่างทัศนะพระคุณเจ้าหรอกค่ะ อะไรแบบนั้น
ฉากชวนพิศวงเกิดขึ้นในตอนจบ สาวน้อยจันทโรตตราได้แปลงร่างเป็นบุรุษ กลายเป็นพระโพธิสัตว์จันทโรตระ (ตัดเสียงสั้นเป็นคำนามเพศชาย) ขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักพระศาสดา เพราะไม่ประสงค์จะใช้ชีวิตเยี่ยงฆราวาสอีกต่อไป
จบแบบปล่อยให้คนดูยืนงงเลยอ่ะครับ แต่ผมคิดว่า ท่านคงพยายามจะแสดงอะไรบางอย่างจึงมีฉากจบแบบนั้น ขอไว้พิจารณาพระสูตรให้ละเอียดแล้วค่อยนำมาบอกเล่ากันต่อ
@@@@@@@
การศึกษาพระสูตร แม้ว่าจะเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ แต่หากเราลองอ่านด้วยสายตาพินิจวรรณกรรม เอาตัวเองและประสบการณ์ชีวิตเข้าไปอยู่ในพระสูตรนั้น ผมคิดว่าพระสูตรก็จะมามีชีวิตโลดเล่นอยู่ในชีวิตของเราแต่ละคน ไม่ใช่หนังสือตายด้านเอาไว้กราบไหว้อย่างคติโบราณ
จะสนุกและดีเพียงไรหากเราได้สนทนากับครอบครัวนี้ ครอบครัวแสนสนุกของวิมลเกียรติโพธิสัตว์ ผู้แม้จะแสบสันแต่ก็เปี่ยมไปด้วยข้อธรรมล้ำลึกหลายประการให้เราตรึก
ทั้งยิ่งตอกย้ำให้เราผู้เป็นฆราวาสทั้งหลายเห็นคุณค่าของชีวิตฆราวาส ชีวิตโลกๆ เห็นคุณค่าของทุกเพศภาวะ ไม่มีใครต้อยต่ำกว่าใคร
เมื่อได้พบคุณจันทโรตตราแล้ว ผมนี่รอลุ้นว่าท่านวิมลเกียรติอาจส่งอะไรสนุกๆ มาให้ผมอีก จะได้มีอะไรมาเล่าให้ท่านผู้อ่านเพลินใจกันครับ
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 - 24 มิถุนายน 2564
คอลัมน์ : ผี-พราหมณ์-พุทธ
ผู้เขียน : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
เผยแพร่ : วันพฤหัสที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2564
ขอบคุณ :
https://www.matichonweekly.com/religion/article_436770