ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ความซับซ้อนของ ‘นิ้วมือ’ : วิทยาศาสตร์แห่งผัสสะ  (อ่าน 1048 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29312
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




ความซับซ้อนของ ‘นิ้วมือ’ : วิทยาศาสตร์แห่งผัสสะ

Summary

    - Small Science เป็นคอลัมน์ชวนอ่านฆ่าเวลาของ โตมร ศุขปรีชา ว่าด้วยเกร็ดความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์เล็กๆ น้อยๆ ที่ซุกซ่อนอยู่ในทุกสรรพสิ่งรอบตัวเรา จากสสาร สิ่งประดิษฐ์ ไปจนถึงสิ่งมีชีวิตในกิจวัตรประจำวันของมนุษย์

    - สำหรับสัปดาห์นี้ โตมรเล่าถึงวิทยาศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลัง ‘นิ้วมือ’ อันเป็นอวัยวะที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตประจำวันของเรา และยังส่งผลอย่างมากต่อวิวัฒนาการของสมองมนุษย์​ เนื่องจากนิ้วมือของมนุษย์นั้น มีการทำงานที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อนมากกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ




Illustration : Nuttal-Thanatpohn Dejkunchorn

‘นิ้วมือ’ คืออวัยวะที่น่าทึ่งมากๆ มันมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตประจำวันของเรา เวลาพูดถึงนิ้วมือ หลายคนเลยมักนึกถึงแต่มนุษย์ หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม หรือสัตว์ประเภทไพรเมต แต่ไม่ค่อยนึกว่า สัตว์อื่นๆ ก็มี ‘นิ้วมือ’ หรืออวัยวะที่คล้ายๆ นิ้วมืออยู่เหมือนกัน

แน่นอน ในไพรเมตอย่างลิง หรือมนุษย์นั้น เราจะมีมือในแบบที่เราคุ้นเคยอยู่แล้ว แต่ลองนึกถึงสัตว์อื่นดูบ้าง ว่ามันมีนิ้วมือแบบไหน และน่าทึ่งเพียงใด ตัวอย่างเช่น นิ้วมือของแมวที่มีเล็บเก็บซ่อนได้, นิ้วมือของนก หรือที่เรียกว่ากรงเล็บ ก็จะมีเอาไว้สำหรับยึดเกาะ แถมยังเป็นส่วนที่ช่วยให้เกิดสมดุลขณะบินด้วย นกบางชนิดหลับได้ทั้งๆ ที่เกาะคอนอยู่ ก็เพราะมันมีนิ้วมือพิเศษนี่แหละครับ ซึ่งก็จะคล้ายๆ กับนิ้วมือ หรือกรงเล็บของสัตว์เลื้อยคลานเหมือนกัน เพราะนกกับสัตว์เลื้อยคลานมีวิวัฒนาการร่วมกันมาก่อน แต่มีการใช้ทำหน้าที่แตกต่างกัน อย่างในสัตว์เลื้อยคลานจะใช้กรงเล็บเพื่อตะกุยหรือปีน มากกว่ายึดเกาะ

แต่ถ้าว่ากันเฉพาะนิ้วมือของมนุษย์เรานั้น ต้องบอกว่ามันเป็นอวัยวะสุดแสนมหัศจรรย์นะครับ เพราะนิ้วมือนั้นประกอบไปด้วยกระดูก, ข้อต่อ, กล้ามเนื้อ, เนื้อเยื่อเกี่ยวพันต่างๆ เช่น เอ็น (Tendon), เอ็นยึด (Ligament) และเซลล์ประสาทที่ทำงานเชื่อมโยงไปจนถึงสมอง

มือมนุษย์มีกระดูก 27 ชิ้น โดย 14 ชิ้น คือส่วนของกระดูกนิ้วมือ แต่ละนิ้วมีกระดูกสามชิ้น เรียกว่า Phalanges มีอยู่นิ้วเดียวที่มีกระดูกแค่สองชิ้น คือ นิ้วหัวแม่โป้ง โดยกระดูก Phalanges จะเชื่อมต่อกันด้วยข้อต่อ ทำให้นิ้วของเรางอและยืดได้

นิ้วมือไม่ได้อยู่โดดๆ ตัดขาดจากส่วนอื่นของร่างกายนะครับ เพราะมันเชื่อมโยงเข้ากับกล้ามเนื้อแขน ถ้าใครเคยไปนวด บางครั้งหมอนวดก็จะกดแขนเราแล้วทำให้รู้สึก ‘จี๊ด’ ไปจนถึงปลายนิ้วได้เลย นั่นแหละครับคือการทำงานเชื่อมโยงกันของร่างกายที่มีเอ็น (Tendon) เชื่อมไป โดยกล้ามเนื้อและเอ็นจะทำงานร่วมกัน ทำให้มือของเราสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างซับซ้อน งานหนึ่งที่ซับซ้อนเอามากๆ ก็คือการพิมพ์แป้นคีย์บอร์ด หรือการเล่นดนตรีนี่แหละครับ

@@@@@@@

ที่สำคัญก็คือ นิ้วมือยังเต็มไปด้วยประสาทสัมผัส พูดอีกอย่างหนึ่งคือมันมีตัวรับสัมผัส หรือ Sensory Receptors จำนวนมาก คือ รับทั้งสัมผัส แรงกด และรับรู้การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิภายนอกด้วย แล้วส่งสัญญาณเหล่านี้ไปยังสมอง ทำให้เรารับรู้ได้หลายอย่าง ทั้งพื้นผิว (Texture), อุณหภูมิ และความแรงของการสัมผัสนั้นๆ

    "ความที่นิ้วมือมีตัวรับสัมผัสมาก แล้วตัวรับสัมผัสเหล่านี้ส่งสัญญาณกลับไปยังสมอง มันจึงมีบทบาทสำคัญมากๆ ต่อวิวัฒนาการของสมองมนุษย์ โดยมีการศึกษาระบุว่า ทักษะการขยับที่ละเอียดอ่อนของนิ้วมือนั้น สัมพันธ์กับพัฒนาการการรับรู้ หรือ Cognitive Development ของสมองมากๆ"

นิ้วมือมีหน้าที่เยอะมากนะครับ ทั้งการทำงานง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การหยิบอาหารเข้าปาก, การเสยผม, การจับโน่นนี่ ไล่ไปจนถึงการทำกิจกรรมเฉพาะทางอย่างการวาดภาพ หรือการผ่าตัด แถมยังใช้เพื่อการสื่อสารด้วย ซึ่งถ้าใครเคยดูละครเพลง อาจคุ้นเคยกับการใช้นิ้วมือและมือ แสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึก หรือถ้าใครสื่อสารด้วยภาษามือ จะรู้เลยว่านิ้วมือนั้นสำคัญมากขนาดไหน

แต่ที่สำคัญกว่าเรื่องเหล่านั้นก็คือ ความที่นิ้วมือมีตัวรับสัมผัสมาก แล้วตัวรับสัมผัสเหล่านี้ส่งสัญญาณกลับไปยังสมอง มันจึงมีบทบาทสำคัญมากๆ ต่อวิวัฒนาการของสมองมนุษย์ โดยมีการศึกษาระบุว่า ทักษะการขยับที่ละเอียดอ่อนของนิ้วมือนั้น สัมพันธ์กับพัฒนาการการรับรู้ หรือ Cognitive Development ของสมองมากๆ รวมไปถึงพัฒนาการทางภาษาและคณิตศาสตร์ด้วย ซึ่งหลายคนอาจนึกไม่ถึงว่าสิ่งเหล่านี้จะเกี่ยวข้องกันได้




ต่อไปนี้คือ 8 เรื่องของนิ้วมือ ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

1) อย่างที่บอก นิ้วมืออัดแน่นไปด้วยตัวรับสัมผัส หรือ Sensory Receptors แต่ถามว่ามากแค่ไหน ต้องบอกคุณว่า มากในระดับที่มี ‘ตัวรับ’ เหล่านี้ราวๆ 100 จุดต่อหนึ่งตารางเซนติเมตร มันจึง ‘ไว’ ต่อสัมผัสเอามากๆ

2) นิ้วมือสามารถใช้ทำนายความสำเร็จในอนาคตได้ด้วย มีการสำรวจพบว่า เด็กที่มีความสามารถในเรื่องของการ ‘ใช้นิ้ว’ หมายถึง การขยับนิ้วกับงานที่ละเอียดอ่อนมากๆ ซึ่งเด็กๆ อาจจะทำได้ยาก อย่างเช่น การผูกเชือกรองเท้า, การติดกระดุมเสื้อ หรือไล่เลยไปถึงการฝึกให้เด็กสนเข็ม, ผูกเงื่อน ฯลฯ สามารถทำนายความสำเร็จในอนาคตที่เกี่ยวข้องกับทักษะการเคลื่อนไหว (Motor Skills) ได้ด้วย เช่น เด็กที่พิมพ์ดีดเก่ง ถ้าไปเล่นดนตรี ก็มักจะเล่นได้เก่ง เป็นต้น

3) นิ้วมือมี ‘รอยนิ้วมือ’ ที่ไม่เหมือนใครเลย แต่ละนิ้วมือมีรูปแบบของรอยนิ้วมือไม่เหมือนกัน เกิดจากการฟอร์มผิวหนังที่ไม่เหมือนกัน โดยเจ้า ‘รอยนิ้วมือ’ นี้ ก่อตัวมาตั้งแต่ในครรภ์ โดยได้รับอิทธิพลจากพันธุกรรมและสภาพแวดล้อมในครรภ์ ดังนั้น มันจึงมีลักษณะที่แตกต่างกันไปโดยสิ้นเชิง สามารถใช้ระบุอัตลักษณ์บุคคลได้เลย

4) นิ้วหัวแม่โป้งนั้นไม่เหมือนใคร เพราะนอกจากจะมีกระดูกแค่สองชิ้นแล้ว มันยังเป็นนิ้วที่มีการเคลื่อนไหวพิเศษด้วย คือหมุนได้โดยรอบในระนาบ ความพิเศษนี้ทำให้เราสามารถหยิบจับสิ่งของต่างๆ ได้ และพูดได้เลยว่า นิ้วหัวแม่โป้งทำให้วิวัฒนาการของสมองมนุษย์ดำเนินมาได้ไกลถึงขนาดที่เป็นอยู่ เพราะมันช่วยให้เราประดิษฐ์และใช้เครื่องมือต่างๆ ได้

    "นิ้วมือทำให้เราอ่อนเยาว์ได้ เรื่องนี้อาจจะฟังดูแปลกๆ หน่อย แต่ว่าการทำกิจกรรมที่ทำให้เราได้ฝึกทักษะการเคลื่อนไหว (Motor Skills) หลายๆ อย่าง เช่น การเล่นดนตรี, การทำงานฝีมือ จะช่วยให้สมองของเราทำงานไปพร้อมกับการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็กต่างๆ ก่อให้เกิดการเรียนรู้ฐานสมอง ซึ่งช่วยให้สมองของเราอ่อนเยาว์ เสื่อมช้าลง"

5) นิ้วมือนั้นแข็งแรงมาก แม้ว่าจะมีขนาดเล็ก แต่เชื่อไหมว่านิ้วมือแต่ละนิ้วสามารถรับแรงกดได้มากถึงกว่า 6 กิโลกรัม เมื่อนิ้วมือแข็งแรงก็ทำให้มือของเราแข็งแรงตามไปด้วย มนุษย์จึงใช้ประโยชน์จากมือได้ไม่เหมือนสัตว์ต่างๆ ที่มักจะเอาไว้ใช้ประโยชน์ไม่กี่อย่าง เช่น การเดิน, การเกาะคอน หรือการตะกุย

6) นิ้วมือสามารถบิดเบี้ยวผิดรูปได้หลายแบบมาก แบบหนึ่งที่หลายคนไม่ค่อยนึกถึง คือการนิ้วติดกันตั้งแต่กำเนิด หรือ Webbed Fingers ที่พบมากที่สุดคือนิ้วกลางติดกับนิ้วนาง ซึ่งเป็นอาการทางพันธุกรรม หรืออาจจะเชื่อมโยงกับอาการอื่นๆ เช่น กลุ่มอาการคาร์เพนเตอร์ (Carpenter syndrome) ที่อาจทำให้มีนิ้วมือคด หรือมือสั้นร่วมด้วย

7) มนุษย์ใช้นิ้วมือเพื่อการสื่อสารมากกว่าที่เราคิด โดยเฉพาะในภาษาสัญลักษณ์ หรือภาษาที่เป็นอวัจนภาษาต่างๆ เราใช้นิ้วมือเพื่อบอกรัก (เช่น การทำมินิฮาร์ต) ใช้นิ้วกลางเพื่อสื่อสารถึงการตำหนิ หรือด่าทอ และอื่นๆ อีกมากมาย

8) นิ้วมือทำให้เราอ่อนเยาว์ได้ เรื่องนี้อาจจะฟังดูแปลกๆ หน่อย แต่ว่าการทำกิจกรรมที่ทำให้เราได้ฝึกทักษะการเคลื่อนไหว (Motor Skills) หลายๆ อย่าง เช่น การเล่นดนตรี, การทำงานฝีมือ จะช่วยให้สมองของเราทำงานไปพร้อมกับการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็กต่างๆ ก่อให้เกิดการเรียนรู้ฐานสมอง หรือ Brain-Based Learning ซึ่งช่วยให้สมองของเราอ่อนเยาว์ เสื่อมช้าลง แถมยังช่วยให้นิ้วมือแข็งแรง ป้องกันโรคข้อต่างๆ ที่จะเกิดกับนิ้วมือได้ด้วย

เห็นไหมครับว่านิ้วมือของเรานั้นสารพัดประโยชน์จริงๆ ดังนั้น ถ้าอยู่ว่างๆ คุณอาจลองยกมือของคุณขึ้นมาพินิจพิจารณา แล้วลองบอกรักมือของคุณดูบ้างก็ได้นะครับ





Thank to : https://plus.thairath.co.th/topic/spark/103010#aWQ9NjI2NzczNmExNGY1MTkwMDEyMzRkYWRmJnBvcz0yJnJ1bGU9MQ==
Thairath Plus › Spark  › Science & Tech | 7 เม.ย. 66 | creator : โตมร ศุขปรีชา
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ