บทที่ 2 : ความหมาย ความเป็นมา และหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับการบนการบน(Vows) ถือเป็นสิ่งที่พบเห็นได้โดยทั่วไปในสังคมไทย มักปรากฏให้เห็นในทุกสถานที่ที่กล่าวขานว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นสามารถทำให้มนุษย์ยอมกระทำในสิ่งที่บางครั้งตนเองยังไม่ทราบสาเหตุหรือความหมาย ตลอดจนมิทราบที่มาของการบนก็มี เช่น ในการบนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ แล้วมีการแก้บนด้วยการจุดประทัด การเปลื้องผ้า หรือการถวายไข่ดิบ
สิ่งเหล่านี้อาจกล่าวได้ว่า คนที่บนส่วนใหญ่มักไม่ได้ให้ความสนใจถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการแก้บน เพราะหวังเพียงให้ได้รับสิ่งที่ตนบนไว้นั้นสมปรารถนา ซึ่งในบทนี้จะนำเรื่องความหมาย ความเป็นมาของการบนสิ่งศักดิ์สิทธิ์และหลักคำสอนที่เกี่ยวข้องกับการบนมาอภิปรายเพื่อเป็นพื้นฐานในการศึกษาเรื่องนี้ต่อไป
@@@@@@@
2.1 ความหมายและความเป็นมาของการบน
2.1.1 ความหมายของการบน
คำว่า การบน การบนบาน หรือ การบนบานศาลกล่าว หมายถึง การขอร้องและอ้อนวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยเหลือ หากสิ่งนั้นสำเร็จ ผู้ที่บนบานก็จะนำสิ่งของมาตอบแทนหรือทำตามสัญญาที่ให้ไว้ (ราชบัณฑิตยสถาน, 2525, น.460)
พระครูสิริรัตนานุวัตร กล่าวว่า การบนบาน หมายถึง การขอให้ได้ในสิ่งที่ตนหวังกับองค์เทพที่ศักดิ์สิทธิ์องค์ใดองค์หนึ่ง เมื่อได้ตามที่บนบานแล้วก็นาสิ่งของที่บนบานไว้นั้นมาแก้บนตามสัญญา การบนบานนี้จะมีเครื่องบนบานเป็นสิ่งมีชีวิตที่ตายและสุกแล้ว มีหัวหมู ไข่ต้ม ดอกไม้ แต่ผลไม้จะเป็นผลไม้ที่ดิบและสด หรือขึ้นอยู่กับองค์เคารพนั้นๆ (พระครูสิริรัตนานุวัตร, 2558, น.5)
ทัศภรณ์ แซ่ตั้ง กล่าวว่า การบนบานถือได้ว่า เป็นยาทางใจอย่างหนึ่ง สาหรับผู้ที่ต้องการที่พึ่งหรือที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ และเมื่อใดที่ชาวบ้านรู้สึกว่า ตนเองกาลังขาดความมั่นใจในด้านต่างๆ แล้ว การบนบานคงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดความเครียดทางอารมณ์ได้ ถึงแม้ว่าการบนบานจะไม่ได้รับความสำเร็จตามที่มุ่งหวังเอาไว้ทุกครั้งที่บนก็ตาม (ทัศภรณ์ แซ่ตั้ง, 2544, น.98)
ดังนั้น ผู้วิจัยจะขอสรุปความหมายของการบนว่า การบน หรือการบนบานศาลกล่าว หมายถึง การขอร้องอ้อนวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งในพระพุทธศาสนาและนอกศาสนา ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นช่วยเหลือตน ถ้าหากสิ่งที่บนขอสำเร็จ ผู้ที่บนก็จะมีสิ่งของมาตอบแทนหรือทำตามสัญญาที่ให้ไว้
2.1.2 ความเป็นมาของการบน
การบน เป็นพิธีกรรมที่มีมาตั้งแต่ยุคสังคมชนเผ่า เป็นช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ ยกตัวอย่างเช่น ในสังคมของชาวลักบาลา (Lugbara) ชายผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวจะเซ่นไหว้บนบานและขอให้วิญญาณของพ่อตนบันดาลให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บหรือเคราะห์ร้ายแก่ลูกหลานบางคนที่ไม่เคารพในกฎระเบียบของวงศ์ตระกูล และเมื่อเกิดโรคภัยไข้เจ็บหรือสมาชิกคนใด เกิดประสบภัยพิบัติต่างๆ หัวหน้าครอบครัวก็จะต้องทำพิธีเช่นไหว้และขอขมาต่อดวงวิญญาณบรรพบุรุษ
เช่นเดียวกันกับชาวกูรูรุมบา (Gururumba) ในนิวกินี ที่มีความเชื่อว่า หากสมาชิกของสังคมละเมิดกฎข้อห้ามหรือมีพฤติกรรมล่วงละเมิดต่อวิญญาณบรรพบุรุษ วิญญาณจะลงโทษซึ่งอาจดลบันดาลให้เกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยหรือภัยพิบัติอื่นๆ ได้ ฉะนั้น ชาวกุรุรุมบาจึงทำพิธีฆ่าหมูเพื่อสังเวยและบนบานแก่ดวงวิญญาณบรรพบุรุษของตน (ยศ สันตสมบัติ, 2556, น.282-285)
หรืออย่างกรณีการบูชา “วีนัสแห่งวิลเลนดอร์ฟ” (Venus of Willendorf) ที่มีปรากฏในอังกฤษ สเปน รัสเซีย จนถึงทวีปแอฟริกา เป็นความเชื่อที่เกิดขึ้นในช่วงปลายยุคหินเก่าที่สร้างเป็นรูปผู้หญิงที่กำลังจะตั้งครรภ์ นักมานุษยวิทยาได้ตั้งข้อสัญนิษฐานว่า รูปแกะสลักนี้เป็นสัญลักษณ์ของเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ ที่พวกมนุษย์หินเก่าได้สร้างขึ้นเพื่อประกอบพิธีบนบานศาลกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้ผู้หญิงคลอดบุตรได้อย่างปลอดภัย(คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2540, น.14-15)
อารยธรรมกรีกโบราณก็มีความเชื่อเกี่ยวกับการบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์เช่นกัน ดังมีปรากฏในมหากาพย์อีเลียด (Iliad) ว่า พระนางเฮคิวบา (Hecuba) ทรงบนบานต่อเทวีอะเธนี(Athena) ด้วยแม่วัวจำนวนสิบสองตัว หากกองทัพทรอยได้ชัยชนะเหนือกรีก (นายตารา ณ เมืองใต้(แปล), 2547, น. 61)
ชาวอารยัน (Aryan) หรือที่นักมานุษวิทยาเรียกว่า “เชื้อชาติอินโด-ยูโรป”(Indo-European) ที่อพยพเข้ามายังอนุทวีป (อินเดีย) (คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,ม.ป.ป., น. 15) มีบรรพบุรุษร่วมกับอารยธรรมกรีกโบราณ จึงส่งผลให้สังคมอินเดียมีความเชื่อเรื่องนี้ด้วย ดังตัวอย่างเช่น
ในสมัยพุทธกาลก็มีหญิงสาวผู้หนึ่งนามว่า สุชาดา เป็นธิดาของเศรษฐีในตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ได้บนรุกขเทวดาที่สถิตในต้นไทรไว้ว่า ขอให้ได้สามีที่มีชาติสกุลเสมอกัน และมีบุตรคนแรกเป็นผู้ชาย จนกระทั่งนางสมปรารถนาตามที่นางขอไว้ นางจึงทำข้าวมธุปายาสไปถวายรุกขเทวดาตามที่ได้บนไว้ ขณะนั้นพระพุทธเจ้าประทับที่โคนต้นไทร นางเข้าใจว่า พระองค์เป็นเทวดาจึงถวายข้าวมธุปายาสแด่พระองค์ (ขุ.อป. 25/354/137-138)
เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า สังคมอินเดียในขณะนั้นมีความเชื่อเกี่ยวกับการบนบานศาลกล่าว ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาปรากฏเรื่องราวเกี่ยวกับการบนไว้หลายเรื่อง เช่น อรรถกถา ขุททกนิกาย ธรรมบท กล่าวว่า
เศรษฐีนามว่า “มหาสุวรรณ” แต่งงานกับภรรยามานานหลายปีแล้วแต่ไม่มีบุตรด้วยกันเสียที วันหนึ่งหลังจากเศรษฐีอาบน้ำเสร็จ ได้เห็นต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งมีลักษณะแตกต่างจากต้นไม้อื่นทั่วไป จึงคิดว่า ต้นไม้นี้ต้องมีเทวดาสถิตอยู่ เศรษฐีจึงบนว่า “หากข้าพเจ้าได้บุตรหรือธิดาแล้ว จะจัดเครื่องสักการะบูชาอย่างยิ่งใหญ่มาถวายแด่ท่าน” ไม่นานนักภรรยาก็ตั้งครรภ์ แล้วให้กำเนิดบุตรชาย เศรษฐีตั้งชื่อบุตรชายว่า “ปาละ” ซึ่งต่อมาถูกเรียกว่า “มหาปาละ” เพราะเศรษฐีมีบุตรชายคนเล็กอีกคนชื่อว่า “จุลปาละ” (ขุ.ธ.อ. 40/11/8-9)
อนึ่ง ความเชื่อเกี่ยวกับการบนก็มีปรากฏในศิลาจารึกของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (จารึกวัดโพธิ์) เรื่องตำนานมหาสงกรานต์ว่า มีเศรษฐีคนหนึ่งไม่มีบุตร วันหนึ่งถูกเพื่อนบ้านที่เป็นนักเลงสุรากล่าวสบประมาทว่า “ท่านมีสมบัติมากก็จริง แต่หามีบุตรไม่ เมื่อท่านตายไปสมบัติก็ตกเป็นของผู้อื่น สู้เราก็ไม่ได้ ถึงแม้จะยากจนแต่ก็มีบุตรคอยดูแลรักษายามเจ็บไข้ และรักษาทรัพย์สมบัติในยามที่เราสิ้นใจ”
เศรษฐีได้ยินดังนี้ ก็เกิดความทุกข์ใจเป็นอย่างมาก ท่านเศรษฐีให้บริวารล้างข้าวสารด้วยน้ำสะอาด 7 ครั้งก่อนแล้วหุงจนสุก เศรษฐีนำข้าวสุกนี้ไปถวายเทวดาประจำต้นไทรพร้อมกับอธิษฐานขอบุตร หลังจากนั้นภรรยาของเศรษฐีก็ตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตรชาย เศรษฐีตั้งชื่อบุตรชายคนนี้ว่า “ธรรมบาลกุมาร” (นิยะดา เหล่าสุนทร, 2544, น.289)
จากเหตุการณ์ทั้งหมดที่กล่าวมาชี้ให้เห็นว่า การบนมีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เช่น การบนวิญญาณบรรพบุรุษ พลังแห่งธรรมชาติ และเทพยดา ความเชื่อเช่นนี้มีกระจายอยู่ในทุกมุมของโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แม้กระทั่งในสมัยพุทธกาลก็มีความเชื่อนี้ปรากฏ แม้กระทั่งคัมภีร์พระพุทธศาสนายังกล่าวถึงเป็นหลักฐาน เช่น การบนรุกขเทวดาของนางสุชาดากับมหาสุวรรณเศรษฐี (บิดาของมหาปาละ หรือพระจักขุปาลเถระ) และเศรษฐีในตานานมหาสงกรานต์ ซึ่งเป็นการกระทำที่แสดงออกให้เห็นถึงความต้องการที่พึ่งทางใจของมนุษย์2.2 หลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับการบน
การบนโดยทั่วไปเป็นลักษณะของการอ้อนวอนขอต่ออานาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์บางอย่าง ซึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นมีทั้งในและนอกพระพุทธศาสนา ทำให้มีความเชื่อมโยงและผสานกันระหว่างความเชื่อทั้ง พุทธ พราหมณ์ และผี ในที่นี้จึงแบ่งหลักธรรมในพระพุทธศาสนาเป็น 6 หัวข้อ เพื่อหาความสอดคล้องและไม่สอดคล้องของหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ดังนี้
2.2.1 เทวดา
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ได้ให้ความหมายของ “เทวดา” ไว้ว่า ชาวสวรรค์มีกายทิพย์ ตาทิพย์ หูทิพย์ และอาหารทิพย์ เป็นโอปปาติกะ (ราชบัณฑิตยสถาน,2556, น. 582)
ส่วนพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พ.ศ. 2556 ให้ความหมายของ “เทวดา” ว่า หมู่เทพชาวสวรรค์ เป็นคำรวม เรียกชาวสวรรค์ ทั้งเพศชายและเพศหญิง (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต), 2556, น.138)
นอกจากนี้ เทวดา ยังหมายถึง ชื่อของอุบัติเทพ ซึ่งเป็นเทพจำนวนหนึ่งในเทพ 3 จำพวกคือ
- สมมติเทพ เป็นเทวดาโดยสมมติ เช่น พระราชา พระเทวี พระราชกุมาร พระราชธิดา
- อุบัติเทพ เป็นเทวดาโดยกำเนิด คือ เทวดาในสวรรค์และพรหมโลก และ
- วิสุทธิเทพ เป็นเทพโดยความบริสุทธิ์ คือ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย (มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2528, น.201)
ตามคำอธิบายนี้แสดงว่า เทวดาในความหมายกว้างครอบคลุมทั้งเทวดาในสวรรค์และพระพรหมในพรหมโลกด้วย
พระมหาเกรียงไกร แก้วไชยะ ได้ให้ความหมาย คาว่า “เทวะหรือเทวดา” ไว้ว่า หมายถึง ผู้ที่เป็นใหญ่ หรือผู้ทีประเสริฐ และหรือผู้ที่เพลิดเพลินอยู่ด้วยกามคุณ หมายเอาทั้งผู้ที่เป็นอยู่ในโลกมนุษย์และที่เป็นอยู่ในโลกสวรรค์
ส่วนพระธรรมโกศาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) ได้ให้คำอธิบายที่แตกต่างออกไปว่า อุบัติเทวดา คือ การเกิดขึ้นของจิตที่ดีงามมิใช่เทวดาในสวรรค์ เราควรสร้างจิตให้เป็นพรหมเป็นเทวดา เป็นผู้ประเสริฐสร้างธรรมะขึ้นในจิตใจ (ปัญญานันทภิกขุ, 2510, น.43)
ซึ่งในการปฏิบัติต่อเทวดานั้นตามหลักของพระพุทธศาสนาเถรวาท ถือว่าเทวดามี 3 จาพวก ดังที่ได้อธิบายมาอุบัติเทพ ก็คือ เทวดาในสวรรค์ เราควรปฏิบัติด้วยการอุทิศส่วนกุศลไปให้ แต่ถ้าหวังความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ควรปฏิบัติตนด้วยการรักษาศีล 5 เพื่อจะได้ไปเกิดในสวรรค์ร่วมกับเทวดา ดังพุทธพจน์ที่ว่า
"ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม 5 ประการ ย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์ เหมือนได้รับเชิญไปประดิษฐานไว้ ธรรม 5 ประการ คือ
1. เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์
2. เป็นผู้เว้นขาดจากการลักทรัพย์
3. เป็นผู้เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม
4. เป็นผู้เว้นจากการพูดเท็จ
5. เป็นผู้เว้นจากการเสพของมึนเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท" (องฺ.ปญฺจก.22/145/242)
ผู้ที่จะเป็นเทวดาต้องรักษาศีล 5 เพื่อทำกาย วาจา มีความเรียบร้อย แต่โดยสรุปแล้ว ก็คือต้องประพฤติปฏิบัติตามคุณธรรมของเทวดา ด้วยการมีหิริหรือความละอายแก่บาป และโอตตัปปะคือความเกรงกลัวต่อบาป ดังที่พระโพธิสัตว์ได้แสดงเทวธรรมแก่ยักษ์ตนหนึ่งว่า
"บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยหิริและโอตตัปปะ ตั้งมั่นอยู่ในสุกกธรรม (กุศลธรรม) เป็นผู้สงบระงับ เป็นคนดีงาม ท่านเรียกว่า ผู้มีเทวธรรมในโลก" (ขุ.ชา.27/6/3)
เมื่อชาวพุทธได้ ประพฤติปฏิบัติด้วยความมีหิริโอตตัปปะ ย่อมทำให้มีความสะอาดบริสุทธิ์ มีความประเสริฐในโลกมนุษย์นี้ และเมื่อตายไปแล้วย่อมส่งผลให้บังเกิดเป็นเทวดาในสรวงสวรรค์ (พระมหาเกรียงไกร แก้วไชยะ, 2546, น.96)
เทวดาตามคำสอนของพระพุทธศาสนามีหลายระดับ เพราะสวรรค์มี 6 ชั้น และพรหมโลก โดยเฉพาะรูปพรหมมีถึง 16 ชั้น เทวดาจึงมีฤทธานุภาพต่างกันไป แต่กล่าวโดยรวมได้ว่า เทวดาสามารถให้คุณและโทษหรือสามารถทำร้ายและช่วยเหลือมนุษย์ได้
ดังปรากฏเรื่องเล่าในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา เช่น เทวดาบางองค์ที่เป็นเทวดาอันธพาลหรือเทวดาที่เป็นมิจฉาทิฏฐิแกล้งให้คนระแวงกันก็มี เทวดาที่เป็นมารในสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตีจะคอยขัดขวางไม่ให้คนทำดี ส่วนเทวดาที่มีความโดดเด่นในการช่วยเหลือมนุษย์คือ ท้าวสักกะหรือพระอินทร์ (พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต), 2555, น. 956-958)
จากเนื้อหาที่กล่าวมา สังเกตได้ว่า คำสอนที่เกี่ยวเนื่องกับเทวดาในลักษณะที่เทวดาสามารถช่วยเหลือคนได้ ความเชื่อนี้ ก็อาจเป็นความเชื่อหนึ่งของการบนบานศาลกล่าวก็เป็นได้ ทั้งนี้ความเชื่อเรื่องการบนจะมีความสอดคล้องกับคำสอนเรื่องเทวดาในพระพุทธศาสนาหรือไม่อย่างไร ซึ่งจะกล่าวถึงในบทที่ 4 ต่อไป
@@@@@@@
2.2.2 พุทธานุภาพ
พุทธานุภาพ คือ ความศักดิ์สิทธิ์อันเกิดจากพระพุทธเจ้า (เปลื้อง ณ นคร, 2548,น.348) หมายถึง พลังหรืออำนาจพิเศษหรืออำนาจลี้ลับของพระพุทธเจ้า ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์และอิทธิวิธีในพระพุทธศาสนา ซึ่งตามความเชื่อหรือคำสอนนี้ พระพุทธเจ้ารวมทั้งพระภิกษุที่ได้อภิญญาจะมีอานาจพิเศษหรือฤทธิ์ที่จะดลบันดาลให้เกิดสิ่งที่คนธรรมดาทำไม่ได้ และตามความเชื่อของชาวพุทธ พลังอานาจดังกล่าวยังคงอยู่แม้ในปัจจุบัน และปัจจุบันยัง หมายถึง พลังศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในวัตถุมงคลอย่างพระเครื่อง ที่เกิดจากการปลุกเสกของพระเกจิอาจารย์ที่ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับแนวคิดเรื่อง อิทธิปาฏิหาริย์
ทั้งนี้ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน ภาค 2 มีปรากฏเนื้อความที่กล่าวถึงพุทธานุภาพของพุทธองค์ว่า ด้วยพุทธานุภาพ พิณที่ไม่ถูกทำเพลง ไม่ถูกเคาะ ก็บรรเลงขึ้นได้เอง ป่าใหญ่โพลงไป ด้วยพุทธานุภาพ เราเห็นปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้า ได้โดยสะดวกทีเดียว ด้วยพุทธานุภาพ พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ครั้งนั้น เราเห็นพุทธานุภาพนั้นแล้ว เป็นผู้อัศจรรย์ใจ จึงได้บรรพชานั้น เราได้พบพุทธานุภาพจึงออกบวช เราเจริญธรรม 4 ประการ มาด้วยพุทธานุภาพ บางพวกที่ฉลาดในฤทธิ์ก็มาด้วยฤทธิ์ต่างช่วยกัน หม่อมฉันได้เห็นพระพุทธานุภาพและได้ฟังธรรมมีคุณเป็นที่ประชุม (ขุ.อป. 23/28/63)
ทั้งนี้พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ ได้อธิบาย ถึงพุทธานุภาพ ในความหมายที่ว่า อานุภาพของพระพุทธเจ้ายังคงมีอยู่ในโลก อาจสังเกตได้ เช่น คนที่มีความทุกข์ร้อนขุ่นหมอง เมื่อเข้าไปในโบสถ์แล้วเห็นพุทธปฏิมา ความทุกข์ร้อนอาจคลายลงไปได้ ซึ่งผิดกับการเห็นรูปปั้นหินศิลาหรือรูปปั้นอื่นๆ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะอานุภาพของพระพุทธเจ้าที่สิงสถิตอยู่ในรูปของพระองค์ หรือแม้กระทั่งคนที่เจ็บใกล้ถึงมรณกรรมแล้ว ญาติพี่น้องนิมนต์พระมาสวดต่ออายุ ก็เคยมี บางครั้งที่คนเหล่านั้นมีชีวิตยืนยาวไปอีกได้ กระนั้น ผู้ที่จะสามารถได้รับผลแห่งพุทธานุภาพได้ ก็จำเป็นต้องเป็นผู้มีพุทธานุสติ ระลึกถึงพระองค์อยู่เสมอ และการยกมือไหว้พระ หรือเคารพนบนอบบูชาพระพุทธปฏิมากร เจดียสถาน อันเป็นอนุสาวรีย์สาหรับพระพุทธเจ้านั้นเป็นทางที่เราจะได้ระลึกถึงพระองค์ และที่จะได้รับอานุภาพของพระองค์มาคุ้มครองได้ (พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ,2514, น.110-112)
ทรรศนะดังกล่าว เป็นความเชื่อที่มีอยู่ในสังคมไทยคือ เชื่อว่ามีพลังหรืออำนาจพิเศษที่ไม่สามารถมองได้ด้วยตาเปล่า หนึ่งในนั้นคือ พลังอำนาจของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า “พุทธานุภาพ” พุทธานุภาพ คือ พลังของพระพุทธเจ้าที่บริสุทธิ์ การที่พลังของพระองค์ช่วยให้ผู้อื่นสมหวังตามที่ปรารถนาได้หรือไม่ และจะเป็นการแย้งกับคำสอนเรื่องกรรมของพระองค์หรือไม่ ซึ่งจะกล่าวถึงในบทที่ 4 ต่อไป
2.2.3 บูชา
พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายคำว่า บูชา ว่า การแสดงความเคารพบุคคลหรือสิ่งที่นับถือด้วยเครื่องสักการะ มีดอกไม้ธูปเทียน เป็นต้น เช่นบูชาพระ บูชาเทวดาบูชาไฟ การยกย่องเทิดทูนด้วยความนับถือหรือเลื่อมใสในความรู้ ความสามารถ เช่นบูชาวีรบุรุษ บูชาความรู้ บูชาฝีมือ (ราชบัณฑิตยสถาน, 2542,น.634)
ส่วน ปิ่น มุทุกันต์ ได้อธิบายว่า การบูชา หมายถึง การปฏิบัติ 3 อย่าง คือ
1. ปัคคัยหะ คือ การยกย่องเชิดชู สนับสนุน เชียร์
2. สักการะ คือ การบูชาด้วยสิ่งของมีดอกไม้ ธูป เทียน โคมไฟ ธงทิว และอื่นๆ ตามความนิยม
3. สัมมานะ คือ การบูชาด้วยการยอมรับนับถือ เช่น ชาวพุทธยอมรับนับถือพระรัตนตรัย ชาวคริสต์ยอมรับนับถือพระยะโฮวาห์หรือพระเยซู เป็นต้น (ปิ่น มุทุกันต์, 2502, น.160)
ดังนั้นการบูชา จึงหมายถึง การแสดงความเคารพต่อบุคคลหรือสิ่งที่ควรเคารพ ที่แสดงออกด้วยการปฏิบัติ
ส่วนในทางพระพุทธศาสนาได้จำแนกการบูชาออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1) อามิสบูชา หมายถึง การแสดงความเคารพบูชาด้วยวัตถุสิ่งของต่างๆ มีการบูชาด้วยปัจจัย 4 และการ
บูชาด้วยเครื่องสักการะได้แก่ดอกไม้ ธูปเทียน เป็นต้น
2) ปฏิบัติบูชา หมายถึง การแสดงความเคารพ บูชาด้วยการปฏิบัติสิ่งที่เป็นธรรม หรือการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ในพระไตรปิฎกเรียกปฏิบัติบูชาว่า “ธรรมบูชา” (องฺ.ทุก. 20/401/117)
การนำสิ่งของไปบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างพระพุทธรูปในปัจจุบัน จึงจัดเป็นอามิสบูชาแบบหนึ่งได้ ทั้งนี้หลักการบูชาในพระพุทธศาสนายังมีการบูชาในลักษณะ “บูชาบุคคลที่ควรบูชา” ที่จัดอยู่ในมงคล 38 ประการ
จากที่กล่าวมา การบน คือ การขอความสำเร็จสมหวังจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ด้วยการมอบวัตถุเป็นสิ่งตอบแทน เมื่อคำขอนั้นสัมฤทธิ์ผล ซึ่งการถวายของแด่สิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้เรียกว่า “บูชา” ในพระพุทธศาสนามีคำสอนเรื่องการบูชา แต่ในกรณีของการบนจะตรงหรือขัดแย้งกับคำสอนเรื่องนี้หรือไม่ ซึ่งจะกล่าวถึงในบทที่ 4 ต่อไป
2.2.4 อนุสสติ
อนุสติ หมายถึง ความระลึกถึงอารมณ์อันควรระลึกถึงเนืองๆ มี 10 ข้อ ได้แก่
1. พุทธานุสติ ระลึกถึงพระพุทธเจ้า คือ น้อมจิตระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระองค์
2. ธัมมานุสติ ระลึกถึงพระธรรม คือ น้อมจิตระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระธรรม
3. สังฆานุสติ ระลึกถึงพระสงฆ์ คือ น้อมจิตระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระสงฆ์
4. ศีลานุสติ ระลึกถึงศีล คือ น้อมจิตระลึกถึงพิจารณาสิ่งของตนที่ได้ประพฤติปฏิบัติ บริสุทธิ์ ไม่ด่างพร้อย
5. จาคานุสติ ระลึกถึงการบริจาค คือ น้อมใจระลึกถึงทานที่ตนได้บริจาคแล้ว และพิจารณาเห็นคุณธรรมคือความเผื่อแผ่เสียสละนี้ที่มีในตน
6. เทวตานุสติ ระลึกถึงเทวดา คือ น้อมจิตระลึกถึงเทวดาทั้งหลายที่ตนเคยรู้ และพิจารณาเห็นคุณธรรมอันทำบุคคลให้เป็นเทวดานั้นๆ ตามที่มีอยู่ในตน
7. มรณานุสติ ระลึกถึงความตายอันจะต้องมีมาถึงตนเป็นธรรมดา พิจารณาที่จะให้เกิดความไม่ประมาท
8. กายคตาสติ สติอันไปในกาย คือ กำหนดพิจารณากายนี้ ให้เห็นว่าประกอบด้วยส่วนต่างๆ อันไม่สะอาด ไม่งาม น่ารังเกียจ เป็นทางรู้เท่าทันสภาวะของกายนี้ มิให้หลงใหลมัวเมา
9. อานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก
10. อุปสมานุสสติ ระลึกถึงธรรมเป็นที่สงบ คือ ระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระนิพพานอันเป็นที่ระงับกิเลสและความทุกข์ (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), 2553, น.246-247)
จากข้อความข้างต้น ในขณะที่กาลังขอความสำเร็จจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จิตน้อมเป็นกุศล สงบ นิ่ง เพื่อให้มีแรงระลึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขณะนั้นคงไม่ต่างจากการอธิษฐาน การบนจะสามารถสอดคล้องกับคำสอนเรื่องการระลึก(อนุสติ 10) ได้หรือไม่ ซึ่งจะกล่าวถึงในบทที่ 4 ต่อไป2.2.5 หลักกรรมและการพึ่งตนเอง
2.2.5.1 หลักกรรม
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ประมวลธรรม ได้ให้ความหมายของ กรรม ว่าหมายถึง การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา ทางกายก็ตาม ทางวาจาก็ตาม ทางใจก็ตาม ซึ่งประกอบด้วย กุศลกรรมและอกุศลกรรม โดยที่ กุศลกรรม หมายถึง กรรมที่เป็นกุศลหรือกรรมดี และอกุศลกรรม หมายถึง กรรมที่เป็นอกุศลหรือกรรมชั่ว (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต), 2553, น.60)
ดังมีในพุทธพจน์ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่า เป็นกรรม บุคคลคิดแล้ว จึงทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ” (องฺ.ฉก. 22 /63/577)
หมายถึง กรรมที่บุคคลทำโดยมีเจตนา ดังนั้น กรรมจึงเกิดจากการกระทำของตัวเราเอง ไม่ใช่มีใครมากำหนด การกระทำดี เรียกว่า กรรมดีหรือบุญ การกระทำชั่ว เรียกว่า กรรมชั่วหรือบาป ในการกระทำทุกอย่างย่อมมีผล เรียกว่า วิบาก ที่บุคคลผู้กระทำจะต้องเป็นผู้รับ ดังมีข้อความว่า
“บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้ผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้ผลชั่ว” (ส.ส. 15/256/374)
นอกจากนั้นศาสตราจารย์วัชระ งามจิตรเจริญ ได้แสดงทัศนะเรื่องนี้ไว้ว่า ตามคำสอนเรื่องกรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาท มนุษย์ล้วนเป็นไปตาม “กรรมลิขิต” ไม่ใช่ “พรหมลิขิต” หรือ “พระเจ้าลิขิต” และสามารถแก้ไขหรือกำหนดวิถีชีวิตใหม่ได้ ซึ่งจากคำสอนนี้เอง ทำให้มนุษย์มีสถานภาพสูงส่ง เพราะสามารถกำหนดวิถีชีวิตตนเองว่าจะเป็นไปอย่างไร ไม่ต้องอาศัยการอ้อนวอนและการดลบันดาลจากสิ่งอื่นใด
ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในอาหารสูตรว่า เรามี “อารัพภธาตุ” คือ ความริเริ่มหรือการเริ่มต้นใหม่ (ส .ม. 19/232/164) ซึ่งแสดงนัยว่า เราสามารถเลือกหรือกำหนดวิถีชีวิตของตัวเองได้ (วัชระ งามจิตรเจริญ, 2552, น.267)
ทุกคนย่อมเกี่ยวข้องกับกรรมหรือการกระทำที่ตนทำไว้ทั้งสิ้น โดยส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากกรรมเก่าที่เคยกระทำไว้ในอดีตชาติ อีกส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากกรรมใหม่ที่สร้างขึ้นเอง ไม่ว่าจะเป็นทางกายทางวาจาและใจ ซึ่งทำให้ชีวิตของทุกคนแตกต่างกันไป โดยบุคคลจะมีชีวิตที่เจริญขึ้นหรือเสื่อมลง มีทุกข์หรือสุขนั้น ย่อมเป็นผลมาจากกรรมหรือการกระทำของตนเองทั้งสิ้น ไม่มีใครจะสามารถมาดลบันดาลให้เราได้
2.2.5.2 การพึ่งตนเอง
การพึ่งตนเอง หมายถึง การทำตนให้เป็นที่พึ่งของตนได้ พร้อมที่จะรับผิดชอบตนเอง ไม่ทำตัวให้เป็นปัญหาหรือเป็นภาระให้แก่บุคคลอื่น การพึ่งตนเองโดยไม่คอยแต่พึ่งบุคคลอื่น หรือการคอยอ้อนวอนจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ให้ช่วยเหลือตนเอง เมื่อเกิดความลำบาก หรือความทุกข์ใจ ดังมีพุทธสุภาษิตว่า
"ตนแล เป็นที่พึ่งของตน คนอื่น ใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้ ก็บุคคลมีตนฝึกฝนแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งที่ได้ยาก" (ขุ. ธ.25/160/82)
คำว่า ตน นั้น แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ กายกับใจ ประกอบกันเข้า ใน 2 ส่วนนี้ ใจนับว่าเป็นใหญ่ เป็นประธาน ดังคำพังเพยที่ว่า "ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว" คือ ใจเป็นความรู้สึกนึกคิด กายเป็นผู้กระทำตาม เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้ฝึกจิต อบรมจิตให้ตั้งอยู่ในกุศลธรรม คุณงามความดี พยายามอบรมบ่มนิสัยของตนด้วยตนเอง เพราะตนเท่านั้น เป็นที่พึ่งของตนได้ คือ คนทุกคนย่อมจะสร้างบุญกุศล คุณงามความดี ซึ่งได้ชื่อว่าที่พึ่ง เพราะคนอื่นไม่สามารถจะทำที่พึ่งให้กับบุคคลอีกคนหนึ่งได้ เช่น พ่อแม่สั่งสอนอบรมบุตรธิดาให้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ แต่ตรงกันข้ามบุตรธิดากลับประพฤติเลวทราม ผลดีก็ย่อมไม่เกิด
แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสว่า
“เธอทั้งหลายควรทำความเพียรเองเถิด ตถาคตเป็นเพียงผู้ชี้บอกเท่านั้น” (ขุ.ธ. 25/276/117)
พระพุทธดำรัสนี้ชี้ให้เห็นว่า ตนเท่านั้นที่ตนเองจะพึ่งได้ เห็นได้ชัด เช่น การรับประทานอาหาร ตนเองรับประทานเอง ย่อมอิ่มเองและคนอื่นจะรับประทานอิ่มแทนเราก็ไม่ได้ เมื่อพุทธองค์ทรงชี้แนะแล้วพุทธบริษัทก็พึงประพฤติปฏิบัติตามด้วยความเพียร ให้ตั้งอยู่ในศีลในธรรม ผู้ไม่มีศรัทธาให้มีศรัทธา ผู้มีความตระหนี่ให้ถึงพร้อมด้วยการบริจาค ก็จะได้ที่พึ่งที่ได้ยาก คือบุญกุศล ตลอดจนมรรค ผล นิพพาน เป็นที่สุด ซึ่งใครๆก็ไม่สามารถจะดลบันดาลให้ได้นอกจากตัวเราเอง
จากที่กล่าวมาข้างต้น กรรมคือ การกระทำทั้งกุศลและอกุศล ซึ่งสามารถส่งผลให้แก่บุคคลผู้กระทำได้ แต่การส่งผลระหว่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์บันดาลกับกรรมบันดาลที่เกี่ยวเนื่องกับการบน สิ่งใดจะให้ผลหรือจะเป็นไปได้ไหมว่า เรื่องนี้จะเป็นเรื่องเดียวกันกับคำสอนเรื่องกรรม ซึ่งจะกล่าวถึงในบทที่ 4 ต่อไป
@@@@@@@
2.2.6 อธิษฐาน
ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ได้นิยามคำว่า “อธิษฐาน” หมายถึง ความตั้งใจมั่น, การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว, ความมั่นคงเด็ดเดี่ยว, แน่วแน่ในทางดำเนินและจุดมุ่งหมายของตน ในภาษาไทยมักใช้ในความหมายว่า ความตั้งใจมุ่งผลอย่างใดอย่างหนึ่ง, ความตั้งจิตปรารถนา (พระธรรมปิฎก ป.อ.ปยุตโต, 2543, น.364)
ส่วนในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้นิยามความหมายของ “อธิษฐาน” ว่า หมายถึง การตั้งใจมุ่งผลอย่างใดอย่างหนึ่ง, ตั้งจิตปรารถนา, ตั้งจิตขอร้องต่อสิ่งที่ตนถือว่าศักดิ์สิทธิ์เพื่อผลอย่างใดอย่างหนึ่ง (ราชบัณฑิตยสถาน, 2542, น.1325)
อีกทั้งพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้กล่าวถึงเรื่องอธิษฐานกับการอ้อนวอนไว้ว่า เวลานี้ คนไทยทั่วไปก็เข้าใจคาดเคลื่อนผิดพลาดไปในความหมายของ “อธิษฐาน” มักนึกถึงอธิษฐานในความหมายที่เป็นการอ้อนวอนปรารถนา (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), 2541, น.331)
ซึ่งจะเห็นว่า ความหมายแรกตรงกับความหมายของคาสอนทางพระพุทธศาสนา ดังปรากฏในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ที่กล่าวมาแล้ว ส่วนในสองความหมายหลังเป็นความหมายในภาษาไทยหรือตามความเข้าใจของคนไทย
อนึ่ง ในวิทยานิพนธ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ยังให้ความหมายของอธิษฐานตามคำสอนทางพระพุทธศาสนาไว้อีกว่า
1. การยืนหยัดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
2. การกำหนดความตั้งใจ รวมทั้งความคิดหรือความรู้สึกของตนเองอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างมั่นคง
3. การตั้งใจปฏิบัติการหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ตามที่ตนเองกำหนด อย่างมั่นคง (สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2534, น.75-76)
นอกจากนั้น อธิษฐานในพระไตรปิฎกยังหมายถึง ธรรมหรือสิ่งที่ควรตั้งไว้ในใจ มี 4 ประการคือ
1. ปัญญาธิษฐาน (ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ คือ ปัญญา)
2. สัจจาธิษฐาน (ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ คือ สัจจะ)
3. จาคาธิษฐาน (ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ คือ จาคะ)
4. อุปสมาธิษฐาน (ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ คือ อุปสมะ) (ที.ปา. 11/311/290)
พระธรรมปิฎกได้อธิบายขยายความหมายของ อธิฐานธรรม 4 ว่าหมายถึง ธรรมเป็นที่มั่น, ธรรมอันเป็นฐานที่มั่นคงของบุคคล, ธรรมที่ควรใช้เป็นที่ประดิษฐานตน เพื่อให้สามารถยึดเอาผลสาเร็จสูงสุดอันเป็นที่หมายไว้ได้ โดยไม่เกิดความสำคัญตนผิด และไม่เกิดสิ่งมัวหมองหมักหมมทับถมตน, บางทีแปลว่า ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ประกอบด้วย
- ปัญญา (ความรู้ชัด) คือ หยั่งรู้ในเหตุผล พิจารณาให้เข้าใจในสภาวะของ สิ่งทั้งหลายจนเข้าถึงความจริง
- สัจจะ (ความจริง) คือ ดำรงมั่นในความจริงที่รู้ชัดด้วยปัญญา เริ่มแต่จริงวาจาจนถึงปรมัตสัจจะ
- จาคะ (ความสละ) คือ สละสิ่งอันเคยชิน ข้อที่เคยยึดถือไว้ และสิ่งทั้งหลายอันผิดพลาดจากความจริงเสียได้ เริ่มแต่สละอามิสจนถึงสละกิเลส
- อุปสมะ (ความสงบ) คือ ระงับโทษข้อขัดข้องมัวหมองวุ่นวาย อันเกิดจากกิเลสทั้งหลายแล้ว ทำจิตให้สงบได้ (พระธรรมปิฎก, 2546, น.174)
@@@@@@@
จากที่กล่าวมาข้างต้น คำว่า "อธิษฐาน" มีความหมายที่ตรงกันคือการตั้งจิตปรารถนาโดยมีความแน่วแน่ เด็ดเดี่ยวและมีจุดมุ่งหมายเพื่อผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ในตัวอย่างสำคัญของการอธิษฐาน หรือการตั้งใจมั่นในการปฏิบัติธรรมหรือทำในสิ่งที่ดีงาม คือ ในราตรีแห่งวันที่จะตรัสรู้ เมื่อพระโพธิสัตว์ลงประทับนั่งใต้ร่มมหาโพธิ์ ก็ได้อธิษฐานพระทัยว่า ถ้าไม่บรรลุโพธิญาณ จะไม่ทรงลุกขึ้น แม้ว่าเลือดเนื้อจะแห้งเหือดไป (องฺ. ทุก. 20/251)
เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์เมื่อครั้งก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ พุทธองค์ยังคงเป็นพระโพธิสัตว์พระองค์ใช้ปณิธาน คือ ตั้งจิตมุ่งมั่นที่จะกระทำการนั้นๆ และในการตั้งปณิธานนั้น การอธิษฐานเป็นสิ่งที่สาคัญการอธิษฐานจิต คือตั้งใจเด็ดเดี่ยวปักแน่วลงไปที่จุดเริ่มต้นว่า จะต้องทำเป้าหมายนี้ให้สำเร็จ จะต้องทำความดีงามนี้ให้สาเร็จ (พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), 2539, น.231)
สังเกตได้ว่า การขอความสำเร็จสมหวังจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เหมือนจะไม่ต่างจากการมีความตั้งใจให้ไปถึงจุดหมาย ในพระพุทธศาสนาเรียก การตั้งเป้าหมายเพื่อให้ไปถึงนั้นว่า “อธิษฐาน” อธิษฐานในทรรศนะของพระพุทธศาสนา ไม่เหมือนกับความหมายที่เราเข้าใจกันทั่วไป การบนจะสอดคล้องกับคำสอนเรื่องอธิษฐานในพระพุทธศาสนาหรือไม่ ซึ่งจะได้วิเคราะห์ในบทที่ 4 ต่อไปขอขอบคุณที่มา :-
Photo : pinterest
วิทยานิพนธ์ : เรื่อง การบนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธในสังคมไทย โดย นางสาวยุพารักษ์ ชนะบวรวัฒน์
วิทยานิพนธ์นี้วิทยานิพนธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตร ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพุทธศาสนศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2560
URL : ethesisarchive.library.tu.ac.th/thesis/2017/TU_2017_5606031648_7398_8305.pdf