อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
พรหมชาลสูตร
ศีลยังไม่ถึงสมาธิ เป็นอย่างไร? คือว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ในปีที่ ๗ นับแต่ตรัสรู้ ได้ประทับนั่งบนรัตนบัลลังก์ประมาณโยชน์หนึ่ง
ในรัตนมณฑปประมาณ ๑๒ โยชน์ ณ ควงต้นคัณฑามพฤกษ์ ใกล้ประตูนครสาวัตถี เมื่อเทพยดากางกั้นทิพยเศวตฉัตรประมาณ ๓ โยชน์ ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ย่ำยีเดียรถีย์ซึ่งแสดงการทรงถือเอาเป็นส่วนพระองค์ ในบริษัทประมาณ ๑๒ โยชน์ คือ
ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์อันเป็นไปโดยนัยมีอาทิว่า
ท่อไฟพวยพุ่งออกจากพระวรกายส่วนบน
สายน้ำไหลออกจากพระวรกายส่วนล่าง ฯ ล ฯ
ท่อไฟพวยพุ่งออกจากขุมพระโลมาแต่ละขุมๆ
สายน้ำไหลออกจากขุมพระโลมาแต่ละขุม มีวรรณะ ๖ ประการ ดังนี้. พระรัศมีมีวรรณะดุจทองคำ พุ่งขึ้นจากพระสรีระอันมีวรรณะดังทองคำของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น
ไปจนถึงภวัคพรหม เป็นประหนึ่งกาลเป็นที่ประดับหมื่นจักรวาลทั้งสิ้น.
รัศมีอย่างที่สองๆ กับอย่างแรกๆ เหมือนเป็นคู่ๆ พวยพุ่งออกราวกะว่าในขณะเดียวกัน.
อันชื่อว่าจิตสองดวงจะเกิดในขณะเดียวกัน ย่อมมีไม่ได้. แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลาย ทรงมีการพักภวังคจิตเร็ว และทรงมีความชำนาญที่สั่งสมไว้โดยอาการ ๕ อย่าง ดังนั้น พระรัศมีเหล่านั้นจึงเป็นไปราวกะว่าในขณะเดียวกัน. แต่พระรัศมีนั้นๆ ยังมีอาวัชชนะ บริกรรมและอธิษฐาน แยกกันอยู่นั่นเอง คือ
พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระพุทธประสงค์รัศมีสีเขียว ก็ทรงเข้าฌานมีนีลกสิณเป็นอารมณ์
มีพระพุทธประสงค์รัศมีสีเหลือง ก็ทรงเข้าฌานมีปีตกสิณเป็นอารมณ์
มีพระพุทธประสงค์รัศมีสีแดงและสีขาว ก็ทรงเข้าฌานมีโลหิตกสิณเป็นอารมณ์ โอทากสิณเป็นอารมณ์
มีพระพุทธประสงค์ท่อไฟ ก็ทรงเข้าฌานมีเตโชกสิณเป็นอารมณ์
มีพระพุทธประสงค์สายน้ำก็ทรงเข้าฌานมีอาโปกสิณเป็นอารมณ์. พระศาสดาเสด็จจงกรม พระพุทธนฤมิตก็ประทับยืน หรือประทับนั่ง หรือบรรทม.๑-
____________________________
๑- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๒๘๔
บัณฑิตพึงอธิบายให้พิสดารทุกบท ด้วยประการฉะนี้.
ในข้อนี้ กิจแห่งศีลแม้อย่างเดียวก็ไม่มี ทุกอย่างเป็นกิจของสมาธิทั้งนั้น.
ศีลไม่ถึงสมาธิ เป็นอย่างนี้. อนึ่งเล่า ข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมีมาสี่อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัปแล้ว เมื่อกาลที่ทรงมีพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา เสด็จออกจากที่ประทับอันเป็นที่อยู่อาศัยอันเป็นสิริแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ ผนวช ณ ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา ทรงบำเพ็ญเพียรตลอด ๖ พรรษา. ครั้นถึงวันวิสาขบุรณมี ดิถีเพ็ญเดือน ๖ เสวยมธุปายาสใส่ทิพยโอชาซึ่งนางสุชาดา บ้านอุรุเวลคามถวาย
เวลาสายัณหสมัย เสด็จเข้าไปยังโพธิมัณฑสถานทางทิศทักษิณ และทิศอุดร
ทรงทำปทักษิณพญาไม้โพธิใบ ๓ รอบ
แล้วประทับยืน ณ เบื้องทิศอีสาน ทรงลาดสันถัตหญ้า
ทรงขัดสมาธิสามชั้น
ทรงทำกรรมฐานมีเมตตาเป็นอารมณ์อันประกอบด้วยองค์ ๔ ให้เป็นเบื้องต้น
ทรงอธิษฐานความเพียร เสด็จขึ้นสู่บัลลังก์อันประเสริฐ ๑๔ ศอก
ผินพระปฤษฎางค์สู่ลำต้นโพธิ์อันสูง ๕๐ ศอก ราวกะต้นเงินที่ตั้งอยู่บนตั่งทอง
ณ เบื้องบนมีกิ่งโพธิ์กางกั้นอยู่ราวกะฉัตรแก้วมณี
มีหน่อโพธิ์ซึ่งคล้ายแก้วประพาฬหล่นลงที่จีวรซึ่งมีสีเหมือนทอง ยามพระอาทิตย์ใกล้จะอัสดงคต ทรงกำจัดมารและพลมารได้แล้ว
ทรงบรรลุปุพเพนิวาสานุสสติญาณในปฐมยาม
ทรงชำระทิพยจักษุในมัชฌิมยาม
ครั้นเวลาปัจจุสสมัยใกล้รุ่ง
ทรงหยั่งพระปรีชาญาณลงในปัจจยาการที่พระสัพพัญญูพุทธเจ้าทั้งหลายทรงสั่งสมกันมา
ยังจตุตถฌานมีอานาปานสติเป็นอารมณ์ให้บังเกิด
ทรงทำจตุตถฌาณนั้นให้เป็นบาท ทรงเจริญวิปัสสนา ทรงยังกิเลสทั้งปวงให้สิ้นไปด้วยมรรคที่ ๔
ที่พระองค์ทรงบรรลุแล้ว ตามลำดับแห่งมรรค ทรงแทงตลอดพระพุทธคุณทั้งปวง. นี้เป็นกิจแห่งปัญญาของพระองค์. สมาธิไม่ถึงปัญญา เป็นอย่างนี้.
ในข้อนั้น น้ำในมือยังไม่ถึงน้ำในถาด น้ำในถาดยังไม่ถึงน้ำในหม้อ
น้ำในหม้อยังไม่ถึงน้ำในไห น้ำในไหยังไม่ถึงน้ำในตุ่ม
น้ำในตุ่มยังไม่ถึงน้ำในหม้อใหญ่ น้ำในหม้อใหญ่ยังไม่ถึงน้ำในบ่อ
น้ำในบ่อยังไม่ถึงน้ำในลำธาร น้ำในลำธารยังไม่ถึงน้ำในแม่น้ำน้อย
น้ำในแม่น้ำน้อยยังไม่ถึงน้ำในปัญจมหานที น้ำในปัญจมหานทียังไม่ถึงน้ำในมหาสมุทรจักรวาล
น้ำในมหาสมุทรจักรวาลยังไม่ถึงน้ำในมหาสมุทรเชิงเขาสิเนรุ น้ำในมือเทียบน้ำในถาดก็นิดหน่อย ฯ ล ฯ
น้ำในมหาสมุทรจักรวาลเทียบน้ำในมหาสมุทรเชิงเขาสิเนรุ ก็นิดหน่อย
ฉะนั้น น้ำในเบื้องต้นๆ ถึงมาก ก็เป็นน้ำนิดหน่อย โดยเทียบกับน้ำในเบื้องต่อๆ ไป ด้วยประการฉะนี้
ข้อนี้มีอุปมาฉันใด ศีลในเบื้องล่างก็มีอุปไมยฉันนั้นนั่นเทียว พึงทราบว่า
มีประมาณน้อย ยังต่ำนัก โดยเทียบกับคุณในเบื้องบนๆ.
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อปุถุชนกล่าวชมตถาคตจะพึงกล่าวด้วยประการใด
นั่นมีประมาณน้อยนัก ยังต่ำนัก เป็นเพียงศีล ดังนี้.ที่มา http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=09.0&i=1&p=3
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=09&A=1&Z=1071
มาวมญฺเญถ ปุญฺญสฺส น มตฺตํ อาคมิสฺสติ
อุทพินฺทุนิปาเตน อุทกุมฺโภปิ ปูรติ
อาปูรติ ธีโร บุญฺญสฺส โถกํ โถกํปิ อาจินํ
ไม่ควรดูหมิ่นต่อบุญว่ามีประมาณน้อยจักไม่มีมาถึง
แม้หม้อน้ำย่อมเต็มได้ด้วยหยาดน้ำที่ตกลงมาฉันใด
ผู้มีปัญญาสั่งสมบูญแม้ทีละน้อยๆ ย่อมเต็มได้ด้วยบุญ ฉันนั้น
ขุ.ธ. ๒๕/๓๑