ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: อนุโมทนา (สาธุ) | อนุโมทามิ - “ข้าพเจ้าชื่นชมยินดีด้วย”  (อ่าน 4793 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29286
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.



อนุโมทนา / อนุโมทามิ (บาลีวันละคำ 55)

อนุโมทนา / อนุโมทามิ
อ่านว่า อะ-นุ-โม-ทะ-นา / อะ-นุ-โม-ทา-มิ




 st11

“อนุโมทนา” ประกอบด้วย อนุ + มุท + ยุ

“อนุ” แปลว่า ภายหลัง, ตามหลัง, เนืองๆ
“มุท” เป็นธาตุ (= รากศัพท์) แปลว่า ยินดี, ชื่นชม
“ยุ” เป็นปัจจัย (บาลีเป็นภาษาที่มีวิภัตติปัจจัย) แปลว่า การ-, ความ-

อนุ + มุท + ยุ ควรจะได้รูปศัพท์เป็น “อนุมุทยุ” แต่กฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์ยังไม่จบแค่นั้น

ท่านว่าให้แปลง มุท เป็น โมท = อนุ + โมท แล้วแปลง ยุ เป็น “อน” (อะ-นะ) = อนุ + โมท + อน (อ ที่ อน ไม่มีรูป) = อนุโมทน แล้วทำเสียงให้ยาวเป็นอิตถีลิงค์ (= คำที่สมมุติว่าเป็นเพศหญิง) อนุโมทน จึงเป็น “อนุโมทนา”

“อนุโมทนา” แปลว่า

(1) “การชื่นชมยินดีภายหลังจากที่มีเรื่องดีๆ เกิดขึ้น”
(2) “การชื่นชมยินดีภายหลังจากที่รู้หรือเห็นคนอื่นทำความดี”
(3) “เรื่องดีๆ เกิดขึ้นก่อน รู้สึกชื่นชมยินดีตามหลังมา”
(4) “การชื่นชมยินดีอยู่เสมอๆ เมื่อเห็นคนทำดี”

@@@@@@@

ส่วน “อนุโมทามิ” เป็นคำกริยา (verb) ประกอบด้วย อนุ + มุท + มิ = อนุโมทามิ แปลตามตัวว่า “ข้าพเจ้าชื่นชมยินดีด้วย” (เฉพาะ I am … เท่านั้น) มีความหมายเช่นเดียวกับ อนุโมทนา

“อนุโมทนา” หรือไม่ก็ “อนุโมทามิ” (ต่อด้วย “สาธุ” ก็ยิ่งดี)

ไม่ใช่ “อนุโมทนามิ” ระวังอย่าพูดผิด






Thank to : https://dhamtara.com/?p=1074
28 มิถุนายน 2012 | Admin ชมรมธรรมธารา
บาลีวันละคำ (55) 28-6-55





อนุโมทนามิ (บาลีวันละคำ 3,170)

อนุโมทนามิ คำอุตริที่ไม่ควรพูดเล่น

โปรดทราบเป็นหลักความรู้ว่า คำว่า “อนุโมทนามิ” ไม่ใช่คำที่ถูกต้อง เป็นคำบาลีที่ไม่มีในภาษาบาลี คนที่รู้ภาษาบาลีจะรู้ทันทีว่าเป็นคำตลก แต่คนที่ไม่รู้ภาษาบาลีอาจพูดหรือเขียนเช่นนี้โดยซื่อ คือเข้าใจไปว่าเป็นคำบาลีที่ถูกต้อง

จึงต้องย้ำเป็นเบื้องต้นว่า “อนุโมทนามิ” ไม่ใช่คำที่ถูกต้องในภาษาบาลี

“อนุโมทนามิ” เกิดขึ้นมาได้อย่างไร.?
น่าจะเกิดเพราะเอาคำว่า “อนุโมทนา” กับคำว่า “อนุโมทามิ” มาพูดปนกัน

“อนุโมทนา” กับ “อนุโมทามิ” เป็นคำคนละประเภท
“อนุโมทนา” เป็นคำนาม (noun) ในภาษาบาลี
“อนุโมทามิ” เป็นคำกริยา (verb) ในภาษาบาลี

@@@@@@@

(๑) “อนุโมทนา”

บาลีเป็น “อนุโมทน” อ่านว่า อะ-นุ-โม-ทะ-นะ รากศัพท์มาจาก อนุ (คำอุปสรรค = น้อย,ภายหลัง, ตามหลัง, เนืองๆ) + มุทฺ (ธาตุ = ยินดี, ชื่นชม) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง อุ ที่ มุ-(ทฺ) เป็น โอ (มุทฺ > โมท) : อนุ + มุทฺ = อนุมุทฺ + ยุ > อน = อนุมุทน > อนุโมทน แปลตามศัพท์ในความหมายหนึ่งว่า “การพลอยยินดี”

“อนุโมทน” เป็นรูปนปุงสกลิงค์ ศัพท์นี้ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ เป็น “อนุโมทนา” ก็มี

“อนุโมทน” หรือ “อนุโมทนา” มีคำขยายความดังนี้

(1) “การชื่นชมยินดีภายหลังจากที่มีเรื่องดีๆ เกิดขึ้น”
(2) “การชื่นชมยินดีภายหลังจากที่รู้หรือเห็นคนอื่นทำความดี”
(3) “เรื่องดีๆ เกิดขึ้นก่อน รู้สึกชื่นชมยินดีตามหลังมา”
(4) “การชื่นชมยินดีอยู่เสมอๆ เมื่อเห็นคนทำดี”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อนุโมทน” ว่า

“according to taste”, i.e. satisfaction, thanks, esp. after a meal or after receiving gifts = to say grace or benediction, blessing, thanksgiving (“ตามรสนิยม”, คือ ความชื่นชม, การขอบคุณ, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังภัตตาหาร หรือหลังจากที่ได้รับเครื่องไทยทาน = กล่าวอนุโมทนา หรือให้พร, ประสาทพรให้, แสดงความขอบคุณ)

บาลี “อนุโมทน” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อนุโมทนา”
บาลีเป็นคำนาม เอามาใช้ในภาษาไทยเป็นคำกริยา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า

“อนุโมทนา : (คำกริยา) ยินดีตาม, ยินดีด้วย, พลอยยินดี; เรียกคําให้ศีลให้พรของพระว่า คําอนุโมทนา. (ป., ส.).”


@@@@@@@

(๒) “อนุโมทามิ”

เป็นคำกริยา รากศัพท์มาจาก อนุ (คำอุปสรรค = น้อย,ภายหลัง, ตามหลัง, เนืองๆ) + มุทฺ (ธาตุ = ยินดี, ชื่นชม) + อ (อะ) ปัจจัยประจำหมวดธาตุ + มิ วิภัตติอาขยาตหมวดวัตตมานา อุตมบุรุษ เอกพจน์ (ประธานเป็น “อหํ” = ข้าพเจ้า), แผลง อุ ที่ มุ-(ทฺ) เป็น โอ แล้วทีฆะ อะ ที่ (มุ)-ทฺ เป็น อา (มุทฺ > โมท > โมทา) : อนุ + มุทฺ + อ = อนุมุท + มิ = อนุมุทมิ > อนุโมทมิ > อนุโมทามิ แปลตามตัวว่า “ข้าพเจ้าชื่นชมยินดีด้วย” ตรงกับที่เรานิยมพูดกันว่า “ขออนุโมทนา”

จะเห็นได้ว่า “อนุโมทามิ” รูปและเสียงใกล้เคียงกับ “อนุโมทนา” คนไม่รู้บาลีอาจเกิดความสับสนและเข้าใจผิดคิดว่าเป็นคำเดียวกัน

“อนุโมทนา” เป็นคำที่คุ้นอยู่แล้ว จึงเอารูปและเสียงที่แปลกกันคือ “-ามิ” มาต่อท้าย “อนุโมทนา” เกิดคำใหม่เป็น “อนุโมทนามิ”

ฝ่ายคนที่รู้บาลีเห็นแล้วก็คงนึกในทางขำขัน อาจมีใครบางคนหยิบยกขึ้นมาพูดเล่นเป็นคำตลกโดยไม่ได้คิดเป็นอย่างอื่น

แต่คนที่ไม่รู้บาลีก็อาจเชื่ออย่างจริงจังว่าเป็นคำที่ถูกต้อง จนถึงเข้าใจไปว่า คำแสดงความชื่นชมยินดีใช้ได้ทั้ง 2 คำ คือ “อนุโมทนา” ก็ได้ “อนุโมทนามิ” ก็ได้

และถ้าพูดกันมากเข้าจนกลายเป็นคำผิดติดปาก ดีไม่ดี “อนุโมทนามิ” อาจกลายเป็นคำถูกต้องตามความนิยม ทำนองเดียวกับ “อโรคยา ปรมาลาภา” ที่กำลังจะกลายเป็นคำที่ถูกต้องตามความนิยมอยู่ในเวลานี้

@@@@@@@

ดูก่อนภราดา.! เรียนบาลีก็เหมือนเรียนรัก : ถ้ารู้เรียนที่จะรัก : ก็ควรรู้รักที่จะเรียน





Thank to : https://dhamtara.com/?p=11023
15 กุมภาพันธ์ 2021 | tppattaya2343@gmail.com   
#บาลีวันละคำ (3,170) 15-2-64





อนุโมทามิ/อนุโมทนา (บาลีวันละคำ 4,228)

อนุโมทามิ เป็นคำกริยา
อนุโมทนา เป็นคำนาม

“อนุโมทามิ” กับ “อนุโมทนา” เป็นคำที่มีผู้นิยมพูดเมื่ออนุโมนาบุญ แต่ส่วนใหญ่พูดโดยไม่รู้ไม่เข้าใจว่า 2 คำนี้ต่างกันอย่างไร


@@@@@@@

(๑) “อนุโมทามิ” (อะนุโมทามิ) เป็นคำกริยา (verb) (บาลีไวยากรณ์ใช้ว่า “กิริยา”) แปลว่า “ข้าพเจ้าขออนุโมทนา”

“อนุโมทามิ” รากศัพท์มาจาก อนุ (คำอุปสรรค = น้อย,ภายหลัง, ตามหลัง, เนืองๆ) + มุทฺ (ธาตุ = ยินดี, ชื่นชม) + อ (อะ) ปัจจัยประจำหมวดธาตุ + มิ วิภัตติอาขยาตหมวดวัตตมานา อุตมบุรุษ เอกพจน์ (ประธานเป็น “อหํ” = ข้าพเจ้า), แผลง อุ ที่ มุ-(ทฺ) เป็น โอ แล้วทีฆะ อะ ที่ (มุ)-ทฺ เป็น อา (มุทฺ > โมท > โมทา) : อนุ + มุทฺ + อ = อนุมุท + มิ = อนุมุทมิ > อนุโมทมิ > อนุโมทามิ แปลตามตัวว่า “ข้าพเจ้าชื่นชมยินดีด้วย” ตรงกับที่เรานิยมพูดกันว่า “ขออนุโมทนา”

ถ้าจะใช้คำว่า “อนุโมทามิ” ในการกล่าวคำอนุโมทนา ก็พูดเฉพาะ “อนุโมทามิ” เท่านั้นพอ ไม่ต้องมีคำประกอบ เช่นไม่ต้องพูดว่า “ขออนุโมทามิด้วยนะครับ” เพราะคำว่า “อนุโมทามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้าขออนุโมทนา” อยู่แล้วในตัว

ควรทราบเป็นความรู้ไว้อีกว่า “อนุโมทามิ” ใช้สำหรับพูดคนเดียว เพราะคำกริยาลงท้าย “-มิ” เป็นเอกพจน์ ตามหลักที่รู้กันทั่วไปว่า “คนเดียว –มิ หลายคน –มะ” ว่าตามหลักไวยากรณ์ ประธานในประโยคคือ “อหํ” (อะหัง) แปลว่า “ข้าพเจ้า” คำฝรั่งว่า I ใช้ได้ทั้งชายและหญิง

ถ้าพูดพร้อมกันหลายคนใช้ว่า “อนุโมทาม” (อะนุโมทามะ) ประธานในประโยคคือ “มยํ” (มะยัง) แปลว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลาย” หรือ “พวกข้าพเจ้า” คำฝรั่งว่า We





(๒) “อนุโมทนา” (อะนุโมทะนา) เป็นคำนาม (noun) บาลีเป็น “อนุโมทน” อ่านว่า อะ-นุ-โม-ทะ-นะ รากศัพท์มาจาก อนุ (คำอุปสรรค = น้อย,ภายหลัง, ตามหลัง, เนืองๆ) + มุทฺ (ธาตุ = ยินดี, ชื่นชม) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง อุ ที่ มุ-(ทฺ) เป็น โอ (มุทฺ > โมท) : อนุ + มุทฺ = อนุมุทฺ + ยุ > อน = อนุมุทน > อนุโมทน แปลตามศัพท์ในความหมายหนึ่งว่า “การพลอยยินดี”

“อนุโมทน” เป็นรูปนปุงสกลิงค์ ศัพท์นี้ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ เป็น “อนุโมทนา” ก็มี

“อนุโมทน” หรือ “อนุโมทนา” มีคำขยายความดังนี้

(1) “การชื่นชมยินดีภายหลังจากที่มีเรื่องดี ๆ เกิดขึ้น”
(2) “การชื่นชมยินดีภายหลังจากที่รู้หรือเห็นคนอื่นทำความดี”
(3) “เรื่องดี ๆ เกิดขึ้นก่อน รู้สึกชื่นชมยินดีตามหลังมา”
(4) “การชื่นชมยินดีอยู่เสมอ ๆ เมื่อเห็นคนทำดี”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อนุโมทน” ว่า

“according to taste”, i.e. satisfaction, thanks, esp. after a meal or after receiving gifts = to say grace or benediction, blessing, thanksgiving (“ตามรสนิยม”, คือ ความชื่นชม, การขอบคุณ, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังภัตตาหาร หรือหลังจากที่ได้รับเครื่องไทยทาน = กล่าวอนุโมทนา หรือให้พร, ประสาทพรให้, แสดงความขอบคุณ)

บาลี “อนุโมทน” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อนุโมทนา”
บาลีเป็นคำนาม เอามาใช้ในภาษาไทยเป็นคำกริยา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า

“อนุโมทนา : (คำกริยา) ยินดีตาม, ยินดีด้วย, พลอยยินดี; เรียกคำให้ศีลให้พรของพระว่า คำอนุโมทนา. (ป., ส.).”

ถ้าจะใช้คำว่า “อนุโมทนา” ในการกล่าวคำอนุโมทนาบุญกับผู้อื่น ก็มีคำประกอบสั้น ๆ ว่า “ขออนุโมทนาบุญด้วยครับ” “ขออนุโมทนาบุญด้วยค่ะ” เท่านี้ก็น่าจะพอ


@@@@@@@

จะเห็นได้ว่า “อนุโมทามิ” รูปและเสียงใกล้เคียงกับ “อนุโมทนา” คนไม่รู้บาลีอาจเกิดความสับสนและเข้าใจผิดคิดว่าเป็นคำเดียวกัน

“อนุโมทามิ” เป็นคำกริยา
“อนุโมทนา” เป็นคำนาม

“อนุโมทามิ” เป็นคำบาลีประเภทคำกริยา (กิริยา) เป็นภาษาบาลีตรงตัว ตามปกติไม่มีใครพูดในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ก็ไม่ได้เก็บคำนี้ไว้ แต่ผู้ที่รู้บาลีก็สามารถพูดได้

“อนุโมทนา” เป็นคำบาลีประเภทคำนาม เราเอามาใช้พูดในภาษาไทยกันทั่วไป พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ก็เก็บคำนี้ไว้ด้วย

คนทั่วไปที่ไม่รู้บาลีเมื่อกล่าวคำอนุโมทนาบุญกับผู้อื่นนิยมใช้คำว่า “อนุโมทนา” คือ พูดว่า “ขออนุโมทนาบุญด้วยครับ” “ขออนุโมทนาบุญด้วยค่ะ” หรือจะพูดยักเยื้องเป็นอย่างอื่นก็ได้ เช่น “อนุโมทนาสาธุครับ” “อนุโมทนาสาธุค่ะ” บางคนพูดตัดลัดว่า “โมทนา” สั้น ๆ แค่นี้ก็มี

ถ้าลงท้าย “-มิ” ก็คือ “อนุโมทามิ”
ถ้าลงท้าย “-นา” ก็คือ “อนุโมทนา”
จะใช้คำไหนก็เลือกคำประกอบให้ถูกตามที่ควร

อนึ่ง ขอความกรุณาอย่าใช้คำว่า “อนุโมทนามิ” เพราะเป็นคำอุตริ ไม่มีทั้งในภาษาบาลีและภาษาไทย

@@@@@@@

ดูก่อนภราดา.! : พูดผิด ก็อนุโมทนาบุญได้ : แต่อนุโมทนาบุญได้ด้วย พูดถูกด้วย ดีกว่า





Thank to : https://dhamtara.com/?p=29473
23 กันยายน 2024 | suriyan bunthae
#บาลีวันละคำ (4,228) 9-1-67





อนุโมทนาบุญ (บาลีวันละคำ 2,984)

อนุโมทนาบุญ คำไม่ยาก แต่ใช้ไม่ง่าย แยกคำเป็น อนุโมทนา + บุญ

(๑) “อนุโมทนา” บาลีเป็น “อนุโมทน” ประกอบด้วย อนุ + มุทฺ + ยุ

บาลีอ่านว่า อะ-นุ-โม-ทะ-นะ รากศัพท์มาจาก อนุ (คำอุปสรรค = น้อย,ภายหลัง, ตามหลัง, เนืองๆ) + มุทฺ (ธาตุ = ยินดี, ชื่นชม) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง อุ ที่ มุ-(ทฺ) เป็น โอ (มุทฺ > โมท) : อนุ + มุทฺ = อนุมุทฺ + ยุ > อน = อนุมุทน > อนุโมทน แปลตามศัพท์ในความหมายหนึ่งว่า “การพลอยยินดี”

“อนุโมทน” เป็นรูปนปุงสกลิงค์ ศัพท์นี้ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ เป็น “อนุโมทนา” ก็มี

“อนุโมทน” หรือ “อนุโมทนา” มีคำขยายความดังนี้

(1) “การชื่นชมยินดีภายหลังจากที่มีเรื่องดีๆ เกิดขึ้น”
(2) “การชื่นชมยินดีภายหลังจากที่รู้หรือเห็นคนอื่นทำความดี”
(3) “เรื่องดีๆ เกิดขึ้นก่อน รู้สึกชื่นชมยินดีตามหลังมา”
(4) “การชื่นชมยินดีอยู่เสมอๆ เมื่อเห็นคนทำดี”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อนุโมทน” ว่า

“according to taste”, i.e. satisfaction, thanks, esp. after a meal or after receiving gifts = to say grace or benediction, blessing, thanksgiving (“ตามรสนิยม”, คือ ความชื่นชม, การขอบคุณ, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังภัตตาหาร หรือหลังจากที่ได้รับเครื่องไทยทาน = กล่าวอนุโมทนา หรือให้พร, ประสาทพรให้, แสดงความขอบคุณ)

@@@@@@@

(๒) “บุญ” เป็นคำที่เราคุ้นกันดีในภาษาไทย คำนี้บาลีเป็น “ปุญฺญ” อ่านว่า ปุน-ยะ รากศัพท์มาจาก

(1) ปุ (ธาตุ = ชำระ สะอาด) + ณฺย ปัจจัย, ลง น อาคม, ลบ ณฺ, แปลง นฺย (คือ น อาคม + (ณฺ)-ย ปัจจัย) เป็น ญ, ซ้อน ญฺ : ปุ + น + ณฺย = ปุนณฺย > ปุนฺย > (+ ญฺ) ญ = ปุญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “กรรมที่ชำระสันดานของตนให้สะอาด” “กรรมที่ชำระผู้ทำให้สะอาด”

(2) ปุชฺช (น่าบูชา) + ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ชฺช, ช และ ณ, แปลง นฺย เป็น ญ, ซ้อน ญฺ : ปุชฺช + ชนฺ + = ปุชฺชชนฺ + ณฺย = ปุชฺชชนณฺย > ปุชนณฺย > ปุนณฺย > ปุนฺย > (+ ญฺ) ญ = ปุญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “สภาวะอันทำให้เกิดความน่าบูชา”

(3) ปุณฺณ (เต็ม) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺณ, ก และ ณ, แปลง รย (คือ ร ที่ กรฺ + ย ที่ ณฺย) เป็น ญ, ซ้อน ญฺ : ปุณฺณ + กรฺ = ปุณฺณกร + ณฺย = ปุณฺณกรณฺย > ปุกรณฺย > ปุรณฺย > ปุรฺย > ปุ (+ ญฺ) ญ = ปุญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำอันทำให้เต็มอิ่มสมน้ำใจ”

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต แปล “บุญ” เป็นอังกฤษว่า merit; meritorious action; virtue; righteousness; moral acts; good works. adj. meritorious; good.

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปุญฺญ” ว่า merit, meritorious action, virtue (บุญ, กรรมดี, ความดี, กุศล)

“ปุญฺญ” สันสกฤตเป็น “ปุณฺย”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า (สะกดตามต้นฉบับ)

“ปุณฺย : (คำคุณศัพท์) ‘บุณย, บุณย์,’ สาธุ, บริศุทธ์, ธรรมิก ; สวย, น่ารัก; หอม ; virtuous, pure, righteous; beautiful, pleasing ; fragrant ;- (คำนาม) สทาจาร, คุณธรรม ; บุณย์หรือกรรมน์ดี ; ความบริศุทธิ; virtue, moral or religious merit; a good action; purity.”

“ปุญฺญ” ภาษาไทยใช้ว่า “บุญ”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า

“บุญ, บุญ– : (คำนาม) การกระทําดีตามหลักคําสอนในศาสนา; ความดี, คุณงามความดี. (คำวิเศษณ์) ดี เช่น คนใจบุญ, มีคุณงามความดี เช่น คนมีบุญ. (ป. ปุญฺญ; ส. ปุณฺย).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แก้คำนิยามใหม่เป็นว่า

“บุญ, บุญ– : (คำนาม) ความสุข เช่น หน้าตาอิ่มบุญ; การกระทําดีตามหลักคําสอนในพระพุทธศาสนา เช่น ไปทำบุญที่วัด; ความดี เช่น ปล่อยนกปล่อยปลาเอาบุญ, คุณงามความดี เช่น เขาทำบุญช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก, ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น เช่น คนใจบุญ, ผลของการทำความดีจากชาติปางก่อน เช่น เขามีบุญจึงเกิดมาบนกองเงินกองทอง. (ป. ปุญฺญ; ส. ปุณฺย).”




 st11

อนุโมทนา + บุญ = อนุโมทนาบุญ เป็นคำประสมแบบไทย แปลจากหน้าไปหลังว่า “อนุโมทนาซึ่งบุญ” มีความหมายว่า พลอยชื่นชมยินดีที่คนอื่นทำบุญ

วิธีใช้ :-

“อนุโมทนาบุญ” ใช้ในกรณีที่มีผู้ทำบุญ (เขาทำในส่วนของเขาไปเรียบร้อยแล้ว) แล้วมาบอกกล่าวให้เรารับรู้ เรารับรู้แล้วก็อนุโมทนา คือพลอยชื่นชมยินดีไปกับเขา แบบนี้พูดว่า “อนุโมทนาบุญ” พูดเต็มว่า “ขออนุโมทนาบุญด้วย” (“ขออนุโมทนาบุญด้วยครับ” “ขออนุโมทนาบุญด้วยค่ะ”)

แต่ในกรณีที่เราเป็นฝ่ายทำบุญ ทำเสร็จแล้วประสงค์จะบอกกล่าวให้คนอื่นรับรู้เพื่อร่วมอนุโมทนา แบบนี้พูดว่า “อนุโมทนาบุญ” ไม่ถูก เพราะ “อนุโมทนาบุญ” ใช้ในกรณีคนอื่นบอกเรา กรณีเราบอกคนอื่นต้องพูดว่า “ขอแบ่งส่วนส่วนบุญ” (“ขอแบ่งส่วนส่วนบุญให้ด้วยนะครับ” “ขอแบ่งส่วนส่วนบุญให้ด้วยนะคะ”)

ถ้าจะใช้คำว่า “อนุโมทนาบุญ” ต้องพูดให้ครบว่า “ขอเชิญอนุโมทนาบุญร่วมกัน” คือเชิญให้เขาอนุโมทนาบุญกับเรา ไม่ใช่เราไปอนุโมทนาบุญกับเขา

คำที่เป็นหลัก :-

เราทำบุญแล้วบอกคนอื่น เราพูดว่า “ขอแบ่งส่วนบุญ”
คนอื่นทำบุญแล้วบอกเรา เราพูดว่า “ขออนุโมทนาบุญ”

บุญที่เราทำบุญแล้วบอกคนอื่น เรียกว่า “ปัตติทานมัย” (บุญที่สำเร็จด้วยการแบ่งส่วนบุญ)
บุญที่เราอนุโมทนาบุญของคนอื่น เรียกว่า “ปัตตานุโมทนามัย” (บุญที่สำเร็จด้วยการอนุโมทนาบุญ)


@@@@@@@

แถม :-

(๑) “ปัตติทานมัย” (ปัด-ติ-ทา-นะ-ไม)

“ปัตติ” (บาลี “ปตฺติ”) แปลว่า ส่วนบุญ, กำไร, การมอบ, การแนะนำ, การอุทิศส่วนบุญ, ทักษิณา (merit, profit, accrediting, advising, transference of merit, a gift of merit) 

“ทาน” (บาลีอ่านว่า ทา-นะ) แปลว่า การให้, การแจกให้, ของขวัญ; การให้ทาน, การมีใจคอกว้างขวาง (giving, dealing out, gift; almsgiving, liberality, munificence)

ปัตติ + ทาน = ปัตติทาน แปลว่า “การให้ส่วนบุญ” หมายถึง การอุทิศส่วนบุญให้, การให้ส่วนบุญ, การแบ่งส่วนบุญให้ (an assigned or accredited gift, giving of merit, transference of merit)

“-มัย” บาลีเป็น “-มย” (มะ-ยะ) แปลว่า ทำด้วย, ประกอบด้วย (made of, consisting of) ไม่ใช้เดี่ยวๆ แต่ใช้ต่อท้ายคำอื่นเสมอ

(๒) “ปัตตานุโมทนามัย” แยกศัพท์เป็น ปัตติ + อนุโมทนา + มัย

ปัตติ + อนุโมทนา ใช้สูตร “ลบสระหน้า ทีฆะสระหลัง” คือลบ อิ ที่ (ปัต)-ติ (ปัตติ > ปัตต), ทีฆะ อะ ที่ อ-(นุโมทนา) เป็น อา (อนุโมทนา > อานุโมทนา) : ปัตติ > ปัตต + อนุโมทนา = ปัตตานุโมทนา

@@@@@@@

ดูก่อนภราดา.! ยาจกเทียม คือ คนไม่มีจะให้ แน่ๆ : ยาจกแท้ คือ ถึงมีก็ไม่คิด ให้อะไรใคร






Thank to : https://dhamtara.com/?p=10454
13 สิงหาคม 2020 | tppattaya2343@gmail.com   
#บาลีวันละคำ (2,984) 13-8-63
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 30, 2024, 10:18:55 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29286
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
อนุโมทนากถา
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: ตุลาคม 09, 2024, 09:14:32 am »
0
.



อนุโมทนากถา

อนุโมทนากถา เป็นบทสวดมนต์ของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ที่สวดเพื่อมุ่งประสงค์ให้ผู้ถวายทานแก่พระสงฆ์เกิดความยินดีในทาน หรือเพื่อแสดงธรรมแก่ผู้ถวาย ในสมัยพุทธกาล พระสูตรสำคัญ ๆ เกิดจากคำอนุโมทนากถาของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงแก่ผู้ถวายทานตามสถานที่ต่าง ๆ ที่พระองค์เสด็จไปรับบิณฑบาต [1]

ปัจจุบันพระสงฆ์มีบทสวดสำหรับอนุโมทนาโดยเฉพาะ ส่วนใหญ่จะตัดตอนมาจากพระสูตรในพระไตรปิฎก ซึ่งมีบทที่พระสงฆ์ใช้สวดเป็นประจำไม่กี่พระสูตร แต่บทที่พระสงฆ์สวดนำเป็นปกติทุกครั้งก่อนที่จะสวดเนื้อหาในพระสูตรคือ บทอนุโมทนารัมภกถา และบทสามัญญานุโมทนากถา (แปลว่าบทสวดเริ่มต้นและบทสวดปกติ) หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า ยถา-สัพพี ซึ่งเป็นบทสวดที่ไม่ใช่พระพุทธพจน์

โดยบทยถาเป็นการให้พรอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว บทสัพพีมีเนื้อหากล่าวถึงการอำนวยมงคลและอวยพรให้ผู้ถวายทานปราศจากอันตรายทั้งหลาย

อนุโมทนากถา นอกจากจะหมายถึง บทสวดภาษาบาลีของพระสงฆ์แล้ว ยังอาจหมายถึง คำกล่าวของพระสงฆ์ที่แสดงในงานต่าง ๆ เพื่อขอบคุณเจ้าภาพอีกด้วย

@@@@@@@

บทสวดนำ (อนุโมทนารัมภา และ สามัญญานุโมทนกถา)

บทที่เริ่มต้นว่า “ยถา” มีชื่อเรียกว่า บทอนุโมทนารัมภคาถา หมายถึง คาถาที่เริ่มก่อนการอนุโมทนา กล่าวคือ ก่อน ที่พระสงฆ์จะอนุโมทนาในบุญกุศลที่อุบาสกอุบาสิกาได้ทำแล้ว พระสงฆ์จะกล่าวบทอนุโมทนารัมภคาถานี้ เพื่อให้อุบาสกอุบาสิกาได้เตรียมตัวตั้งใจรับพรสืบไป บทนี้เป็นภาษาบาลี ดังนี้

    ยถา วาริวหา ปูรา ปริปูเรนฺติ สาครํ
    เอวเมว อิโต ทินฺนํ เปตานํ อุปกปฺปติ
    อิจฺฉิตํ ปตฺถิตํ ตุมฺหํ ขิปฺปเมว สมิชฺฌตุ
    สพฺเพ ปูเรนฺตุ สงฺกปฺปา จนฺโท ปณฺณรโส ยถา มณิ โชติรโส ยถา

แปลเป็นไทยได้ว่า
   “ห้วงน้ำที่เต็มย่อมยังสมุทรสาครให้บริบูรณ์ได้ฉันใด ทานที่ท่านอุทิศให้แล้วแต่โลกนี้ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่ผู้ที่ละโลกนี้ไปแล้ว ฉันนั้น ขออิทธิผลที่ท่านปรารถนาแล้ว ตั้งใจแล้ว จงสำเร็จโดยฉับพลัน ขอความดำริทั้งปวงจงบริบูรณ์ เหมือนดังพระจันทร์วันเพ็ญ (และ) เหมือนแก้วมณีอันสว่างไสว”

ส่วนบทที่เริ่มต้นว่า “สัพพี” มีชื่อเรียกว่า บทสามัญญานุโมทนาคาถา หมายถึง คาถาที่พระสงฆ์ใช้สวดทุกครั้งที่อนุโมทนาในบุญกุศลที่อุบาสกอุบาสิกาได้ทำแล้ว บทนี้เป็นภาษาบาลี ดังนี้

    สพฺพีติโย วิวชฺชนฺตุ สพฺพโรโค วินสฺสตุ
    มา เต ภวตฺวนฺตราโย สุขี ทีฆายุโก ภว
    อภิวาทนสีลิสฺส นิจฺจํ วุฑฺฒาปจายิโน
    จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ

แปลเป็นไทยได้ว่า
    “ความจัญไรทั้งปวงจงบำราศไป โรคทั้งปวงจงหายไป อันตรายอย่ามีแก่ท่าน ขอท่านจงเป็นผู้มีความสุข มีอายุยืน ธรรม 4 ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีการอภิวาทเป็นปรกติ อ่อนน้อมต่อผู้เจริญเป็นนิตย์”

ซึ่งบทสวดนี้มักเรียกกันตามความหมายของคำอวยพรและผู้ที่จะรับพรนั้นว่า "ยถาให้ผี-สัพพีให้คน"

@@@@@@@

บทสวดอนุโมทนากถาที่มีที่มาจากในพระสูตร

บทสวดในพระสูตรที่พระสงฆ์นิยมนำมาสวดต่อจากบทสามัญญานุโมทนากถา

    • กาลทานสุตฺตกถา (บทสวดที่ขึ้นต้นด้วย : กาเล ททนฺติ สปญฺญํ...)
       บทสวดนี้พระสงฆ์นิยมสวดในงานทำบุญที่กำหนดตามกาล เช่น กฐิน, สลากภัต เป็นต้น
    • โรกุฑฺฑกัณฺฑปจฺฉิมกถา (บทสวดที่ขึ้นต้นด้วย : อทาสิ เม อกาสิ เม...)
       บทสวดนี้พระสงฆ์นิยมสวดในงานศพ และงานทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย

    • อคฺคปฺปทานสุตฺตกถา (บทสวดที่ขึ้นต้นด้วย : อคฺคโต เว ปสนฺนานํ...)
    • โภชนทานานุโมทนกถา (บทสวดที่ขึ้นต้นด้วย : อายุโท พลโท ธีโร...),
       บทสวดนี้พระสงฆ์นิยมสวดหลังฉันอาหารบิณฑบาตทั่วไป

    • อาฏานาฏิยปริตฺตํ (บทสวดที่ขึ้นต้นด้วย : สพฺพโรควินิตฺมุตฺโต...)
       บทนี้พระสงฆ์นิยมสวดหลังฉันอาหารบิณฑบาตทั่วไป โดยไม่ต้องขึ้นอนุโมทนารัมภาสามัญญานุโมทนกถา
    • เทวตาทิสฺสทกฺขิณานุโมทนกถา (บทสวดที่ขึ้นต้นด้วย : ยานีธ ภูตานิ สมาคตานิ...)

    • อาทิยสุตฺตกถา (บทสวดที่ขึ้นต้นด้วย : ภุตฺตา โภคา ภฏา ภจฺจา...)
    • วิหารทานกถา (บทสวดที่ขึ้นต้นด้วย : สีตํ อุณฺหํ ปฏิหนฺติ...)
       บทสวดนี้พระสงฆ์นิยมสวดหลังในงานถวายอาคารเป็นสาธารณะทานหรือถวายแก่สงฆ์ [2]


@@@@@@@

ปัญหาเรื่องสถานที่สวดของภิกษุ

ปัญหาเกิดมาจากหลังจากตักบาตรเสร็จพระภิกษุมักสวดอนุโมทนารมภคาถาและสามัญญานุโมทนาคาถาหรือยถา-สัพพี ให้พรที่ข้างถนน ซึ่งมีผู้ที่แสดงความเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมในเรื่องดังกล่าว อยู่สองฝ่ายด้วยกันคือ

ฝ่ายหนึ่งมองว่า การออก บิณฑบาตร เป็นการออกกำลังกายด้วยความมีสติ เท่ากับเดินจงกรมของพระ และโปรดเวไนยสัตว์ ตลอดจนภูตผี สัมภเวสีเร่ร่อน เทพ เทวา ไปด้วยการแผ่เมตตาไปตลอดทางทั้งขาไป-ขากลับ พระจะ สวดยะถาสัพพี-ให้พรแก่คนตักบาตรทำบุญและผีทั้งหลาย เมื่อฉันอาหารเสร็จแล้วที่วัด ภูตผี วิญญาณเร่ร่อน เปรต ก็มารอขอส่วนบุญกันตอนนั้นเอง จึงไม่ควรสวดข้างถนน

อีกฝ่ายมองว่า เป็นสิ่งที่น่าอนุโมทนายินดีด้วย การบิณฑบาตรตอนเช้าไม่ใช่เพียงแค่คนที่นำอาหารมาใส่บาตรที่จะได้รับอานิสงส์ผลบุญ แต่ถือเป็นการโปรดสัตว์ด้วย

ในต่างจังหวัด เช่นแถวภาคอิสาณหรือภาคเหนือ เช้าตรู่พระท่านเข้าแถวออกบิณฑบาต ผู้คนจะนั่งคุกเข่า ค่อยๆบรรจงหยิบอาหารหรือข้าว ใส่ลงในบาตร เป็นภาพที่สวยงามมาก พอพระท่านรับเสร็จ ท่านก็จะให้พร แต่สิ่งที่สำคัญเราจะลืมไม่ได้ คือ อย่าอยู่สูงกว่าพระ เช่นสวมรองเท้าใส่บาตร หรือบางทีก็ถอด แต่ทว่า ยืนบนรองเท้า แบบนี้จึงจะเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เป็นการไม่เคารพพระ

บางแห่งพระท่านจะเมตตามากกว่านั้นอีก คือ เมื่อรับบาตรเสร็จ ท่านจะนั่งในที่เหมาะสม เช่น ศาลาพักริมถนน ญาติโยมก็จะนั่งประนมมือฟังเทศน์อบรมธรรมะจากท่าน ก่อนที่ท่านจะกลับวัด






ขอบคุณที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/อนุโมทนากถา
ดูเพิ่ม : กถา
อ้างอิง :-
1. อรรถกถา ธรรมบท ธัมมัฏฐวรรควรรณนา เรื่องเดียรถีย์
2. พระวิสุทุธิสมโพธิ (เจีย ป.๙). ชุมนุมสวดมนต์ฉบับหลวง. ๒๕๒๐. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ธรรมบรรณาคาร





กถา

กถา แปลว่า ถ้อยคำ, คำพูด, เรื่อง, การกล่าว, การพูด, การอธิบาย หมายถึง ถ้อยคำที่กล่าวหรือเรื่องแต่งขึ้นเพื่อสื่อความ เพื่ออธิบายความ หรือเพื่อชี้แจงรายละเอียด เป็นต้น เป็นสำนวนร้อยแก้ว คือมีสำนวนภาษาไพเราะสละสลวย เหมาะเจาะด้วยเสียงและความหมาย เช่น บทเทศน์ บทความ คำปรารภ

กถา นิยมใช้ตามหลังคำอื่น ๆ เช่น

    • ธรรมมีกถา หมายถึง การกล่าวธรรม การกล่าวเรื่องราวที่เป็นธรรม
    • ขันติกถา หมายถึง เรื่องราวเกี่ยวกับขันติ
    • อนุโมทนากถา หมายถึง การกล่าวอนุโมทนาถ้อยคำที่แสดงความยินดี
    • อารัมภกถา หมายถึง คำปรารภ คำนำ คำเริ่มต้น




อ้างอิง : พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548
ขอบคุณที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/กถา


 :25: :25: :25:

สัมโมทนียกถา

สัมโมทนียกถา (อ่านว่า สัมโมทะนียะ-) แปลว่า ถ้อยคำอันเป็นที่บันเทิงใจ, คำพูดที่ทำให้ประทับใจ เรียกว่า อนุโมทนากถา ก็ได้

สัมโมทนียกถา ใช้เรียกการที่ภิกษุพูดแสดงความขอบคุณหรือกล่าวถึงประโยชน์และอานิสงส์ของความดีหรือบุญกุศลที่ทายกทายิกาได้ทำ เช่นถวายอาหาร สร้างกุฏิ สร้างหอระฆังไว้ในพระพุทธศาสนาว่า กล่าวสัมโมทนียกถา

สัมโมทนียกถาเป็นเหตุให้ผู้ทำบุญนั้นเกิดความแช่มชื่นเบิกบาน เกิดความอิ่มใจในผลบุญที่ตนทำและปรารถนาจะทำบุญเพิ่มพูนอีก

การกล่าวสัมโมทนียกถาเป็นธรรมเนียมของพระสงฆ์มาแต่โบราณ โดยกล่าวเป็นภาษาไทย ใช้เวลามากน้อยแล้วแต่ผู้กล่าว และปกติจะกล่าวก่อนที่จะอนุโมทนาเป็นภาษาบาลีหรือที่รู้จักกันว่า ยถา-สัพพี





อ้างอิง : พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548
ขอบคุณที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/สัมโมทนียกถา
ขอบคุณภาพจาก : pinterest
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 21, 2025, 11:41:33 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29286
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.



ที่มาของ การกล่าวสัมโมทนียกถา

การกล่าวอนุโมทนาสาหรับพระภิกษุนั้น เป็นพระบรมพุทธานุญาตที่พระพุทธเจ้าตรัสให้ภิกษุสงฆ์ ถือเป็นหลักปฏิบัติ และเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่ต้องทำเป็นกิจวัตรประจำ ซึ่งมีปรากฏหลักฐานในพระวินัยปิฎก จุลวรรค วัตตขันธกะ (1)

    “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อนุโมทนาในโรงฉัน”
    “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้เถระอนุโมทนาในโรงฉัน”
    “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุเถรานุเถระ ๔-๕ รูป รออยู่ในโรงฉัน”

ในงานประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนานั้น มีคาถา หรือถ้อยคำที่พระภิกษุต้องสวด ขาดมิได้ คือ อนุโมทนากถา ซึ่งท่านจะสวดตอนสุดท้ายก่อนเสร็จพิธีสงฆ์ทุกครั้ง ชาวบ้านเรียกว่า พระให้พร และชาวบ้านก็จะตั้งใจ รับพรพระ คือบทขึ้นต้นที่คนส่วนมากพูดติดปากว่า ยถา - สัพพี

@@@@@@@

เมื่อครั้งสมัยพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสอนุโมทนากถา ซึ่งมีปรากฏหลักฐานในพระวินัยปิฎก มหาวรรค เภสัชชขันธกะ (2)

     สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในพระนครพาราณสี ตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จพระพุทธดำเนินมุ่งไปทางอันธกวินทชนบท พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป
     ครั้งนั้น พราหมณ์ผู้หนึ่งได้ถวายยาคูและขนมปรุงด้วยน้ำหวานมากมายด้วยมือของตน โดยมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประมุข เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยเสร็จ ล้างพระหัตถ์แล้ว ทรงนำพระหัตถ์ออกจากบาตร ห้ามภัตแล้วจึงนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระพุทธพจน์นี้กับพราหมณ์ผู้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า

   “ดูก่อนพราหมณ์ ข้าวยาคูมีคุณ ๑๐ อย่าง , ๑๐ อย่างเป็นไฉน คือ
        ผู้ให้ข้าวยาคู ชื่อว่า
        ให้อายุ ๑
        ให้วรรณะ ๑
        ให้สุข ๑
        ให้กำลัง ๑
        ให้ปฏิภาณ ๑
        ข้าวยาคูที่ดื่มแล้วกำจัดความหิว ๑
        บรรเทาความกระหาย ๑
        ทำลมให้เดินคล่อง ๑
        ล้างลำไส้ ๑
        ย่อยอาหารใหม่ที่เหลืออยู่ ๑
   ดูก่อนพราหมณ์ ข้าวยาคูมีคุณ ๑๐ อย่างนี้แล''


@@@@@@@

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงตรัส อนุโมทนากถา ต่อไปนี้

คาถาอนุโมทนา

    "ทายกใด ถวายข้าวยาคู โดยเคารพตามกาล แก่ปฏิคาหก ผู้สำรวมแล้ว บริโภคโภชนะอันผู้อื่นถวาย ทายกนั้นชื่อว่า ให้ซึ่งสถานะ ๑๐ อย่างแก่ปฏิคาหกนั้น อายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณ ย่อมเกิดแก่ปฏิคาหกนั้น
    แต่นั้นยาคูย่อมกำจัดความหิว ความกระหาย ท้าลมให้เดินคล่อง ล้างลำไส้ และย่อยอาหาร
    ยาคูนั้น พระสุคตตรัสสรรเสริญว่า เป็นเภสัช เพราะเหตุนั้นแล มนุษยชนที่ต้องการสุขยั่งยืน ปรารถนาสุขที่เลิศ หรืออยากได้ความงามอันเพริศพริ้งในมนุษย์ จึงควรแท้เพื่อถวายข้าวยาคู"





ความหมาย

อนุโมทนาวิธี คือ วิธีแสดงความยินดี ในเมื่อมีผู้ทําบุญประกอบการกุศล ทำความดี โดยอนุโมทนากถา

สัมโมทนียกถา เป็นคำศัพท์ของพระ มาจากคำว่า
     สํ = พร้อม, กับ, ดี
     โมทนีย = ความบันเทิง, ยินดี, พลอยยินดี
     กถา = ถ้อยคํา, คําพูด
     สัมโมทนียกถา = การกล่าวถ้อยคำที่ทำให้เกิดความยินดี หรือบันเทิงใจโดยพร้อมกัน

สัมโมทนียกถา กับ อนุโมทนากถา มีความหมายเดียวกัน คือ ถ้อยคำสำหรับกล่าวแสดงความยินดี ความพอใจ เป็นคำกล่าวตอบ ทำนองเดียวกับคำว่า ขอบใจ จะต่างกันก็แต่ว่า คำว่า ขอบใจ ผู้กล่าวใช้เมื่อมีผู้ปฏิบัติสิ่งชอบใจแต่ตนโดยเฉพาะ

ส่วนสัมโมทนียกถา ใช้กล่าวเมื่อเห็นชัดว่า มีบุคคลประกอบกรรมดี เป็นกุศลต่อตัวเองหรือต่อสังคม เป็นค่ากล่าวสนับสนุนส่งเสริมให้ภูมิใจในการกระทำนั้น พร้อมกับขออานุภาพคุณของพระรัตนตรัย คุณธรรมความดีนั้นให้คุ้มครองป้องกันภัยพิบัติ อย่างที่ชาวบ้านเรียกว่า ให้พร

______________________________
(1) วัตตขันธกะ มก. ๙/๓๔๓, มจ. ๗/๒๒๘
(2) เภสัชขันธกะ มก. ๗/๑๐๑, มจ.๕/๘๗



ขอบคุณที่มา : https://kalyanamitra.org/th/article_detail.php?i=23115
ขอบคุณภาพจาก : pinterest





ประเภทของการอนุโมทนา

ถ้อยคำที่พระสงฆ์สวดอนุโมทนากถานั้น แยกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ ๒ ประเภท คือ

    • บทอนุโมทนาทั่วไป หรือ สามัญอนุโมทนา
    • บทอนุโมทนาเฉพาะพิธี หรือ วิเศษอนุโมทนา


@@@@@@@

๑. บทอนุโมทนาทั่วไป

บทอนุโมทนาทั่วไป หรือสามัญอนุโมทนา ได้แก่บทที่พระสงฆ์สวดตอนจบพิธีเมื่อมีการสวดหรือ การเจริญพระพุทธมนต์ หรือพิธีที่ทายกถวายสิ่งของตามพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา เช่น การถวายภัตตาหาร ถวายเครื่องไทยธรรม เป็นต้น

คาถาที่พระภิกษุใช้สวดในการอนุโมทนาทั่วไป ตามที่ได้ยินได้ฟังกันอยู่เป็นประจำนั้น ได้แก่ บท “ยถา วาริวหา ฯลฯ” และ “สัพพีติโย ฯลฯ” ตลอดจนถึง “ภวตุ สพ ฯลฯ” ไปจนจบ

มีหลักฐานอ้างอิงอันเป็นที่มาของบทอนุโมทนาสามัญนี้ เท่าที่ปรากฏอยู่ใน อรรถกถาธรรมบท คือ ตำราที่อธิบายเรื่องราวหัวข้อธรรมต่างๆ ในประวัติศาสตร์ทางพระพุทธศาสนาบอกไว้ว่า เป็นคำที่พระปัจเจกพุทธเจ้าใช้อนุโมทนามาก่อน

พระปัจเจกพุทธเจ้า ท่านตรัสรู้เฉพาะตัว ท่านแสดงธรรมสอนคนอื่นอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ไม่มาก เมื่อมีคนมาทำบุญกับท่าน เช่น ตักบาตรถวายทาน เป็นต้น ท่านก็ใช้อนุโมทนาแบบเบ็ดเสร็จ คือ เป็นแบบของพระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆ องค์ เป็นถ้อยคำที่มีข้อความอย่างเดียวกันที่ใช้แก่ทุกคน ทุกๆ งาน ซึ่งพระสงฆ์ใช้เป็นแม่บทในการสวดมนต์ให้พร ดังต่อไปนี้

พระภิกษุประธานสงฆ์สวดนำ

     ยถา วาริวหา ปูรา (1)
     ห้วงน้ำใหญ่เต็มแล้ว
     ปริปูเรนติ สาครํ
     ย่อมไหลไปยังสาคร (มหาสมุทร) ให้เต็มฉันใด

     เอวเมว อิโต ทินฺนํ
     ทานที่ท่านให้แล้วแต่โลกนี้
     เปตานํ อุปกปฺปติ
     ย่อมสำเร็จแก่ญาติผู้ละโลกไปแล้ว ฉันนั้น

     อิจฺฉิตํ ปตฺถิติ ตุมหํ
     ผลที่ท่านต้องการ ที่ท่านปรารถนา
     ขิปฺปเมว สมิชฺฌตุ
     จงสำเร็จแก่ท่านฉับพลัน ทันที
     สพฺเพ ปูเรนฺตุ สงฺกปฺปา
     เหมือนความด่าริทุกอย่างจงบริบูรณ์

     จนฺโท ปณฺณรโส ยถา
     เหมือนดวงจันทร์วันเพ็ญ
     มณีโชติ รโส ยถา (2)
     เหมือนแก้วมณีโชติรส (แก้วสารพัดนึก) อันโชติช่วง ฉะนั้น

_________________________________
(1) เจ้าภาพเริ่มเท กรวด ลงในภาชนะที่รองรับ - เริ่มกรวดน้ำ (อธิษฐาน)
(2) เทน้ำที่เหลือให้หมดลงภาชนะนั้น แล้ววางที่กรวดน้ำ นั่งประนมมือรับพรพระต่อไป

พระภิกษุรูปอื่นในพิธีนั้น สวดต่อพร้อมกันว่า

     สพฺพีติโย วิวชฺชนฺตุ
     ขอเสนียดจัญไรทั้งหลายจงสูญสิ้นไป
     สพฺพโรโค วินสฺสนฺตุ
     ขอสรรพโรคทั้งหลายจงเหือดหายหมดไป

     มา เต ภวตฺวนฺตราโย
     ขออันตรายจงอย่าได้มีแก่ท่าน
     สุขี
     ขอจงมีความสุข
     ทีฆายุโก ภว
     ขอให้มีอายุยืน

     อภิวาทนสีลสฺส นิจฺจํ
     ผู้มีปกติอภิวาทอยู่เป็นเนืองนิจ
     วุฑฺฒาจาปจายิโน
     ผู้ประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ทรงคุณวุฒิ

     จตุตาโร ธมฺมา
     คุณธรรม ๔ ประการ
     วฑฺฒนฺติ
     ย่อมเจริญ (แก่เขา)
     อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ
     คือ อายุ วรรณะ สุขะ และ พละ





๒. บทอนุโมทนาเฉพาะพิธี

บทอนุโมทนาเฉพาะพิธีได้แก่ บทอนุโมทนาที่พระสงฆ์ใช้สวดแทรก เมื่อจบคำว่า อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ  ก่อนจะขึ้นบทว่า ภวตุ สพฺ....

เนื่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามิได้วางระเบียบเกี่ยวกับเรื่องบทอนุโมทนาไว้ จึงเป็นหน้าที่ของพระภิกษุสงฆ์ผู้จะทําอนุโมทนา ต้องเลือกบทพุทธธรรม ที่มีเนื้อความตรงหรือเกี่ยวเนื่องกับงานพิธีนั้นๆ เช่น

    • ยสฺมิง ปเทเส....ฯลฯ
      ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ เปิดที่ทำงานใหม่

    • โส อตฺถลทฺโธ....สา อตฺถลทฺธา....เต อตฺถลทฺธา....ฯลฯ
      ทําบุญวันคล้ายวันเกิด

    • อทาสิเม....ฯลฯ
      ทําบุญอุทิศให้ผู้ตาย

 




ขอบคุณที่มา : https://kalyanamitra.org/th/article_detail.php?i=23116
ขอบคุณภาพจาก : pinterest





หลักการกล่าวสัมโมทนียกถา

การกล่าวสัมโมทนียกถา มีหลักต้องกล่าว ๓ ขั้นตอน ดังนี้

๑. ปรารภเหตุ ได้แก่ เริ่มต้นบอกถึงความรู้สึกของตน

เนื่องในเหตุใด เช่น ยินดีในการต้อนรับ, การได้รับหรือเลื่อนยศตำแหน่ง, การมอบหรือรับสิ่งของ ฯลฯ กล่าวเท้าความถึงความเป็นมาเล็กน้อย เช่น ถ้ากล่าวต้อนรับผู้เยือนวัด ก็อาจกล่าวถึงประวัติวัด, ถ้ากล่าวแสดงความยินดีต่อผู้ฟังที่ได้รับหรือเลื่อนตำแหน่ง ก็เท้าความถึงความสำคัญของยศ ตำแหน่งนั้น

ถ้ากล่าวคําไว้อาลัยผู้จากไป ก็เท้าความถึงความดีของผู้ที่จากไป ฯลฯ

๒. กล่าวยกย่อง หมายถึง แสดงการยกย่องผู้นั้น โดยกล่าวถึงความดีของผู้นั้นตามความเป็นจริง

๓. คล้องน้ำใจ เนื่องจากผู้พูดเป็นพระ ดังนั้นก็ต้องใช้คำของพระเป็นเครื่องคล้องใจผู้นั้นไว้ คำของพระก็คือ ข้อคิด คติธรรมสั้นๆ ที่เหมาะสมกับเหตุการณ์นั้น และลงท้ายด้วยการให้พร คติธรรมกับคําอวยพรถือว่าเป็นมาลัยอันประเสริฐที่มอบให้เป็นการคล้องใจของผู้ฟัง

@@@@@@@

การให้พร

คนไทยโบราณนั้นเมื่อพบกัน ก่อนจะจากกันผู้อาวุโสกว่าจะกล่าวคำอวยพรแก่ผู้ที่จะจากไป แต่ปัจจุบันนิยมให้พรแก่ผู้ที่มอบ (หรือถวาย) ของให้เท่านั้น ที่จริงการให้พรแก่กัน สามารถให้กันได้ทุกโอกาส ไม่จำเป็นต้องให้พรเฉพาะเมื่อมีผู้ให้ของเท่านั้น นี่คือวัฒนธรรมไทย

พร แปลว่า “ประเสริฐ” การให้พรก็คือ การกล่าววาจาที่มุ่งให้เกิดความประเสริฐแก่กัน

พรนี้จะสำเร็จด้วยอานุภาพของบุญ คือ ผลของความดี และอำนาจสัจวาจา เช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสให้พรพระอานนท์ ก่อนที่พระองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า

    “พระอานนท์ตั้งเมตตา ทางกาย วาจา ใจ ในพระองค์มาตลอดกาลนาน ได้ชื่อว่าทำบุญไว้แล้ว จงเริ่มตั้งความเพียรเถิด จะเป็นผู้สิ้นอาสวะโดยพลัน”

หลังจากพุทธปรินิพพานแล้ว พระอานนท์ก็ตั้งความเพียรจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ตามพรที่พระพุทธองค์ตรัสให้ไว้

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ พระองคุลีมาลเห็นหญิงครรภ์แก่ แต่คลอดบุตรไม่ได้ ปรารถนาอนุเคราะห์หญิงนั้น หลังกลับจากบิณฑบาตฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว เข้าไปเฝ้า กราบทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระองค์ตรัสให้พระองคุลีมาลกลับไปหาหญิงนั้นแล้วตั้งสัจวาจาว่า

     “ตั้งแต่เราเกิดแล้วในอริยชาติ จะได้แกล้งปลงสัตว์จากชีวิตหามิได้ ด้วยสัจวาจานี้ขอความสวัสดี จงมีแก่ครรภ์ของน้องหญิงเถิด”

พระองคุลีมาลทําตามที่พระบรมศาสดาตรัสสอน หญิงมีครรภ์แก่ก็คลอดบุตรโดยง่าย


@@@@@@@

ดังนั้น การให้พร หากกระทำถูกต้องตามหลักธรรม ก็จะเป็นพิธีกรรมที่มีความศักดิ์สิทธิ์
ข้อควรระวังในการให้พร คือ ไม่ควรกล่าวคำให้พรโดยเจตนาล้อเล่น
เช่น “ขอให้ท่านมีอายุยืนหลายหมื่นปี” เพราะจะทำให้การให้พรกลายเป็นของเล่น สนุกสนานไป





ขอบคุณที่มา : https://kalyanamitra.org/th/article_detail.php?i=23117
ขอบคุณภาพจาก : pinterest
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 09, 2024, 11:02:04 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ