.
ปมาณิก ๔ | บุคคลผู้เลื่อมใส ๔ แบบ
ผู้ฟังธรรมมีความแตกต่างกันทางด้านสติปัญญาและอัธยาศัย
หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงมุ่งพระหฤทัยที่จะแสดงธรรมแล้ว ก็ทรงพิจาณาเห็นถึง ความแตกต่างทางด้านสิตปัญญาและพื้นฐานของของบุคคลผู้ที่จะฟังธรรม จึงทรงจำแนกประเภทบุคคลไว้ ๔ จำพวก คือ
(๑) อุคฆฏิตัญญู ผู้เข้าใจได้ฉับพลัน
(๒) วิปจิตัญญู ผู้เข้าใจต่อเมื่อขยายความ
(๓) เนยยะ ผู้ที่พอจะแนะนำได้
(๔) ปทปรมะ ผู้ที่สอนให้รู้ได้ เพียงตัวบทคือพยัญชนะ
นอกจากความแตกต่างทางด้านสติปัญญาแล้ว ยังทรงคำนึงถึง ความแตกต่างทางด้านอุปนิสัยและอัธยาศัยของผู้ฟังธรรมด้วย เพราะอุปนิสัยของเหล่าสัตว์นั้นมีความแตกต่างกัน เป็นไปตามจริตของแต่ละบุคคล ซึ่งมีอยู่ ๖ จำพวก คือ
(๑) ราคจริต ประพฤติหนักไปในทางรักสวยรักงาม
(๒) โทสจริต ประพฤติหลักไปทางใจร้อน หงุดหงิด
(๓) โมหจริต ประพฤติหนักไปทางเขลา
(๔) สัทธาจริต ประพฤติหนักไปทางมีจิตซาบซึ้งชื่นบาน น้อมใจเลื่อมใสโดยง่าย
(๕) พุทธิจริต ประพฤติหนักไปในทางใช้ความคิดพิจารณา
(๖) วิตกจริต ประพฤติหนักไปทางนึกคิดจับจดฟุ้งซ่าน
@@@@@@@
แม้ว่าจะแบ่งบุคคลออกเป็น ๔ จำพวกตามสติปัญญา และ ๖ จำพวกตามจริตของแต่ละบุคคลแล้ว ก็ยังมีข้อให้มองอีกด้านหนึ่งของ บุคคลที่มีความเสื่อมใสในสมณะหรือภิกษุสงฆ์ที่แตกต่างกันไป
พระพุทธองค์ทรงจำแนกไว้ในรูปสูตร เรียกว่า "ปมาณิก" คือ บุคคลที่ถือประมาณต่างๆกัน เป็นเครื่องวัดในการให้เกิดความเลื่อมใส มี ๔ จำพวก คือ
(๑) รูปัปปมาณิกา หมายถึง พวกถือรูปภายนอกเป็นประมาณ มีความเลื่อมใสในรูปร่างหน้าตาที่งดงาม เมื่อได้พบเห็น ย่อมเกิดความพึงพอใจ แค่คนประเภทนี้ จะให้ความสนใจในเรื่องเสียงเรื่องรูปแบบ และเรื่องเหตุผลพอประมาณ เช่น พระวักกลิ เลื่อมใสพระพุทธองค์ รูปนันทาเถรีเมื่อยังสาว ก่อนบวชหลงรูปตัวเอง พระโสเรยยะเคยหลงใหลในรูปของพระมหากัจจายนะ เป็นต้น
(๒) โฆสัปปมาณิกา หมายถึง พวกถือเสียงหรือสำเนียงท่วงท่าในการพูดเป็นประมาณ กล่าวคือ มีความศรัทธาเลื่อมใสในเสียงหรือสำเนียงในการพูดอย่างมาก เพราะฉะนั้น คนที่มีเสียงดี มีเสน่ห์ เช่น พูดเพราะ เสียงหวานจนทำให้ผู้ฟังติดใจ ย่อมสามารถดึงดูดคนประเภทนี้ได้เป็นอย่างดี แต่คนประเภทนี้ จะให้ความสนใจในเรื่องรูปร่างหน้าตา เรื่องรูปแบบ และเรื่องเหตุผลพอประมาณ เช่น พระลกุณฎกะภัททิยะ และพระโสณกุฏิกัณณะ ซึ่งมีวาจาไพเราะ มีเสียงเพราะ พระปิณโฑลภาร-ทวาชะ เปล่งวาจาองอาจ เป็นต้น
(๓) ลูขัปปมาณิกา หมายถึง พวกถือรูปแบบ ความเคร่งคัดเป็นประมาณ กล่าวคือ คนพวกนี้ จะมีความศรัทธาเลื่อมใสในบุคคลที่มีความประพฤติที่ดูเคร่งครัด มีความสำรวม มีความขัด เกลา สันโดษพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่อย่างมาก แต่จะให้ความสนใจในเรื่องรูปร่างหน้าตา เรื่องเสียง และเรื่องเหตุผลพอประมาณ เช่น พระมหากัสสปะ พระโมฆราช เป็นต้น
(๔) ธัมมัปปมาณิกา หมายถึง พวกถือเหตุผล ความถูกต้อง ความยุติธรรม เป็นประมาณ กล่าวคือ คนพวกนี้ จะมีความศรัทธาเลื่อมใสในบุคคลที่มีภูมิความรู้สูง มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด พูดอย่างมีเหตุผล ยึดมั่นในหลักการ
@@@@@@@
ความแตกต่างทางด้านสติปัญญาและอัธยาศัยของบุคคล ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้พระพุทธศาสนา จำเป็นต้องมีการประยุกต์ใช้อุปมาธรรมในการสอน เพื่อให้สอดคล้องกับสติปัญญาและอัธยาศัยของบุคคลนั้นๆ เพื่อให้สัมฤทธิ์ผลในการแก้ไขปัญหาความทุกข์ของประชาชนและเวไนยสัตว์ขอขอบคุณ
ภาพจาก : pinterest
บทความ : จากวิทยานิพนธ์ เรื่อง "การศึกษาวิเคราะห์ความสาคัญของการใช้อุปมาเพื่อสื่อธรรม ที่ปรากฏในคัมภีร์โอปัมมวรรค" , โดย พระมหาทองสุข ปญฺญาวณฺโณ (พรหมมีเดช) , วิทยานิพนธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา ตามหลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา บัณฑิตวิทยาลัย , มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พุทธศักราช ๒๕๖๐