ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ว่าด้วย “คาถาชินบัญชร” โดยพิสดาร (๑)  (อ่าน 2045 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29286
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ว่าด้วย “คาถาชินบัญชร” โดยพิสดาร (๑)
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 21, 2025, 07:02:13 am »
0
.



ไขปริศนาคาใจ.! ใครรจนา “คาถาชินบัญชร” เมื่อผู้แต่งไม่ใช่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี).?

ปริศนาโบราณคดีตอนที่ 59 จากมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1639 หน้า 76



 :25: :25: :25:

ถกเถียงกันมานานนับทศวรรษ เกี่ยวกับปริศนาที่ว่า ใครกันแน่เป็นผู้แต่งคาถาชินบัญชร ระหว่าง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรํสี แห่งวัดระฆังโฆษิตาราม กับพระมหาเถระผู้เชี่ยวชาญบาลีปกรณ์รูปหนึ่งจากเชียงใหม่

กรณีของสมเด็จพระพุฒาจารย์โตนั้น ภายหลังเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางแล้วว่า ท่านเป็นเพียงผู้นำคาถาชินบัญชรมาเผยแพร่ให้ผู้คนรู้จักเท่านั้น ทว่ามิได้เป็นผู้เริ่มต้นรจนา

ดังที่บันทึกไว้ว่า ท่่านได้ไปสวดคาถานี้ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีรับสั่งว่าถ้อยคำไพเราะดี ทรงซักถามว่า
   “ขรัวโตได้มาจากไหน แต่งเองหรือเปล่า”

ท่านถวายพระพรตอบว่า
   “หามิได้ เป็นสำนวนเก่าของเมืองเหนือ นำมาแก้ไขดัดแปลงใหม่ ตัดตอนให้สั้นเข้า ของลังกายาวกว่านี้”

ถ้าอย่างนั้น คำตอบก็น่าจะเบนเข็มไปที่ พระภิกษุชาวล้านนารูปหนึ่ง ในยุคทองสมัยพระเจ้าติโลกราชหรือเช่นไร เนื่องจากเป็นยุคสมัยที่มีการสนับสนุนให้พระเถระหลายร้อยรูปเดินทางไปศึกษาพระไตรปิฎกที่ลังกา ครั้นกลับมาแล้วต่างแข่งขันกันรจนาบาลีปกรณ์กันอย่างเอิกเกริก จนกิตติศัพท์ขจรขจายไกลไปถึงพม่า กรุงศรีอยุธยา สิบสองปันนา และล้านช้าง ทำให้เมืองเหล่านั้นต้องขอคัมภีร์ภาษาบาลีที่จารโดยพระภิกษุล้านนาไปศึกษา

ผู้รู้บางคนกล้าฟันธงว่า สำนวนร้อยกรองสุดยอดเช่นนี้ จะเป็นพระภิกษุรูปอื่นใดไปไม่ได้นอกเสียจาก “พระสิริมังคลาจารย์” ปราชญ์เอกแห่งล้านนา ผู้ฝากผลงานคลาสสิกไว้แก่แผ่นดินถึง 4 เรื่อง ได้แก่ มังคลัตถทีปนี เวสสันตรทีปนี จักกวาฬทีปนี และสังขยาปกาสกฎีกา

พระสิริมังคลาจารย์ เป็นผู้รจนาคาถาชินบัญชรจริงล่ะหรือ.? หากเป็นผลงานของท่านแล้วไซร้ ไฉนเลยจึงไม่ใส่ชื่อไว้ให้เป็นอมตะเหมือนดั่งผลงานชิ้นเอกอุอื่นๆ เล่า



ที่มาจาก คุณเพ็ญสุภา


พระสิริมังคลาจารย์แห่งเชียงใหม่ หรือ พระชัยมังคละแห่งลำพูน.?

โปรดสังเกตชื่อของพระภิกษุทั้งสองรูปนี้ให้ดี ว่ามีความละม้ายคล้ายคลึงกันทีเดียว กล่าวคือมีคำว่า “มังคลา-มังคละ” เหมือนๆ กัน

ด้วยเหตุนี้หรือไม่.? ที่ชาวล้านนารุ่นหลังเกิดความสับสนจดจำชื่อของผู้รจนาคาถาชินบัญชรผิด จาก “พระชัยมังคละ” กลายมาเป็นการยกผลประโยชน์ให้ “พระสิริมังคลาจารย์” ยิ่งรูปหลังนี้มีชื่อเสียงโด่งดังในระดับสากลเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งเบียดบังชื่อของพระชัยมังคละให้ลบเลือนหาย


พระชัยมังคละคือใคร เป็นผู้รจนาพระคาถาชินบัญชรจริงหรือ ทำไมคนทั่วไปไม่รู้จัก.?

พระชัยมังคละเป็นพระมหาเถรชาวเมืองหริภุญไชย ในปี พ.ศ. 1981ท่านได้จารคัมภีร์ใบลานด้วยอักษรธรรมล้านนา (ตั๋วเมือง) ไว้ฉบับหนึ่ง ถือว่าเป็นหลักฐานชั้นต้นที่สำคัญอย่างยิ่งยวด สามารถใช้เป็นเครื่องยุติปริศนาข้อที่ว่า ใครรจนาพระคาถาชินบัญชรได้ชะงัดนัก

คัมภีร์ดังกล่าวปัจจุบันอยู่ในความครอบครองของ “อาจารย์ศรีเลา เกษพรหม” ข้าราชการบำนาญ อดีตนักจารึกวิทยา-นักภาษาโบราณแห่งสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เนื้อหาในคัมภีร์กล่าวถึง การเดินทางไปกราบนมัสการพระเขี้ยวแก้วหรือพระทันตธาตุที่เมืองลังกา ณ ที่นั้น พระชัยมังคละได้พบกับครูบานักปราชญ์ชาวลังการูปหนึ่ง ซึ่งได้มอบ “คาถาชัยบัญชร” (คนไทยเรียกชินบัญชร) จำนวน 14 บท พร้อมด้วยประวัติความเป็นมาของการแต่งอีกด้วย

เมื่อพระชัยมังคละเดินทางกลับมาลำพูน ได้สวดถวายแด่พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ล้านนา ในคราวเสด็จมานมัสการพระธาตุหริภุญไชย จากนั้นพระเจ้าติโลกราชโปรดให้นำมาเป็นคาถาสวดประจำราชสำนัก เพื่อปัดเป่าเวทมนตร์คุณไสยเสนียดจัญไรในเชียงใหม่ พร้อมให้คัดลอกเผยแผ่กระจายไปสู่วัดต่างๆ ทั่วภาคเหนือจนถึงราชสำนักอยุธยา ซึ่งตรงกับสมัยพระเจ้าบรมไตรโลกนาถ

แม้แต่ในยุคที่บุเรงนองตีล้านนาแตก แล้วให้โอรสผู้มีนามว่านรธามังช่อ (อโนรธา) ปกครองเชียงใหม่นั้น ทั้งบุเรงนองและอโนรธา ต่างก็นำคาถาชัยบัญชรจากราชสำนักล้านนา มาท่องเป็นคาถาสวดคู่กายในยามออกรบแทนคำสวดมนตรยานดั้งเดิมแบบพม่า



ที่มาจาก คุณเพ็ญสุภา


สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรํสี นำพระคาถาชินบัญชรมาจากไหน.?

เป็นที่แน่นอนแล้วว่า คาถาชินบัญชร มีต้นกำเนิดมาจากลังกา และได้เข้าสู่แผ่นดินสยามครั้งแรกที่เมืองลำพูน จากนั้นก็เผยแพร่ไปยังเมืองต่างๆ

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรํสี ชาตะในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อปี พ.ศ.2331 แสดงว่า คาถาชินบัญชร ที่สมเด็จโตวัดระฆัง สวดตลอดชีวิตนั้น มีมาก่อนแล้ว 350 ปี โดยเอาศักราช 1981 เป็นตัวตั้ง หรือหากนับจนถึงปัจจุบัน คาถาชินบัญชรก็มีอายุครบ 574 ปี

คำถามที่หลายคนสงสัยก็คือ ในเมื่อไม่ได้แต่งเอง แล้วท่านไปนำคาถานี้มาจากใคร ที่ไหน อย่างไร.?

เมื่อศึกษาปูมหลังของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต แล้วพบว่าท่านบรรพชาเป็นสามเณรน้อยด้วยวัยเพียง 5 ขวบ โดยมีสมเด็จพระสังฆราชสุก ไก่เถื่อนเป็นพระอุปัชฌาย์ให้ ในวัย 7 ขวบ สามเณรโตออกเดินธุดงค์ไปในเขตวัดร้างเมืองกำแพงเพชร อันเป็นถิ่นกำเนิดเมืองมารดาของท่านซึ่งเป็นชาวเหนือ มีชื่อว่า นางเกตุ หรือเกสรคำ

ณ เจดีย์ร้างแห่งหนึ่งใกล้ถ้ำอิสีคูหาสวรรค์ ที่เมืองกำแพงเพชรนั้นเอง สามเณรโตได้พบซากคัมภีร์เก่าชำรุด ร้อยเรียงเรื่อง คาถาชัยบัญชร เขียนเป็นภาษาบาลี ด้วยตัวอักษรธรรมล้านนา ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างแรงบันดาลใจให้ท่านต้องหันมาศึกษาภาษาบาลี และอักขระล้านนาตั้งแต่ยังเป็นเณรน้อยอย่างแตกฉาน

ด้วยเหตุที่คัมภีร์ฉบับนั้นไม่ระบุนามผู้รจนา สมเด็จพระพุฒาจารย์โต จึงมิอาจอ้างอิงชื่อผู้ประพันธ์ให้รัชกาลที่ 4 ทรงทราบได้ เมื่อกาลเวลาผ่านผัน คนทั่วไปไม่รู้ที่มาที่ไป ก็ยิ่งคิดกันเอาเองว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์โตคือ ผู้แต่งพระคาถาชินบัญชรนั้น





ปฐมเหตุแห่งการแต่งคาถาชินบัญชรในลังกา

เนื้อหาจากใบลานที่จารโดยพระชัยมังคละ ซึ่งอาจารย์ศรีเลา เกษพรหมได้ถอดความปริวรรตนั้น กล่าวถึงปฐมเหตุแห่งการแต่งคาถาชินบัญชรในประเทศลังกาไว้อย่างละเอียดว่า

เริ่มจากการที่มีพระราชาของลังกาอยู่องค์หนึ่ง ได้ถูกโหรหลวงทำนายทายทักว่า ดวงชะตาของพระโอรสเมื่อมีอายุครบ 7 ปี 7 เดือน ในวันใด ราชกุมารจักถึงฆาตด้วยถูกอัสนีบาต ในช่วงแรกๆ พระราชารู้สึกว่า เป็นเรื่องงมงาย ไร้สาระไม่ทรงเชื่อมากนัก แต่ครั้นเมื่อพระโอรสอายุย่างเข้าสู่ปีที่ 7 กำลังน่ารักน่าชัง พระราชาพลันเกิดความกังวลและเริ่มกลัวคำทำนาย

เมื่อนำข้อปริวิตกไปปรึกษากับพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ ให้ช่วยกันหาทางหลีกเลี่ยงภยันตรายอันจะเกิดขึ้นแก่พระโอรสในอีกไม่ช้า พระมหาเถระลังกาจำนวน 14 รูป จึงได้ประชุมตกลงกันคิดหาหนทางอาราธนาพระพุทธคุณของพระอดีตพุทธ 28 พระองค์ พร้อมกับพระธรรมเจ้า 9 ประการ และบารมีธรรมของพระอรหันตสาวกที่เป็นเอตทัคคะในด้านต่างๆ ให้มาประมวลรวมกันทั้งหมด จนเกิดความขลังสร้างพลังในการปกป้องคุ้มภัยให้แก่ราชบุตร

จากนั้น จึงวางแผนแบ่งหน้าที่ช่วยกันรจนาคาถารูปละ 1 บทรวมเป็น 14 บท เนื่องจากสถานที่รวมตัวกันประพันธ์บทคาถานั้น อยู่ในพระมหาปราสาทชั้นที่ 7 ของพระราชา ตั้งอยู่ใกล้กับ “ปล่องเบ็งชร” (คูหาที่เปิดเป็นช่องหน้าต่าง)

คาถานั้นในลังกาจึงมีชื่อเรียกว่า “ชัยบัญชร”
ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็น “ชินบัญชร”
โดยเชื่อกันว่า เป็นคำที่บัญญัติขึ้นใหม่ โดยสมเด็จโต วัดระฆังฯ

@@@@@@@

ในเมื่อคนทั่วไปไม่ทราบที่มาของชื่อนี้ จึงพยายามให้คำนิยามว่า “ชิน หรือ ชินะ” คือ ชัยชนะของพระชินเจ้า (เมื่อเปรียบเทียบกับคำเดิมคือ “ชัย” พบว่า “ชิน” มีความหมายลึกซึ้งกว่า)

ส่วน “บัญชร” ถูกตีความเป็น ซี่กรงของหน้าต่าง อุปมาอุปไมยดั่งแผงเหล็กหรือเกราะเพชรอันแข็งแกร่งที่ช่วยปกป้องคุ้มกันภยันตรายจากศัตรูหมู่มารทั้งปวง ถือว่าการตีความของคนรุ่นหลังนี้ล้ำลึกไม่เบา

ครั้นแต่งคาถาเสร็จแล้ว พระมหาเถระทั้ง 14 รูปได้มอบให้พระโอรสนำเอาไปท่องบ่นทุกวันจนจำให้ขึ้นใจ
กระทั่งเมื่อถึงวันครบกำหนดคือพระโอรสมีอายุ 7 ปี 7 เดือน พอดิบพอดี ได้เกิดสายฟ้าฟาดผ่าลงมากลางกรุงลังกาอย่างรุนแรงจริงๆ แต่ไม่ตกต้ององค์พระโอรส กลับแฉลบไปผ่าลงเอาหินก้อนหนึ่งซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระราชวัง

เป็นที่ร่ำลือกันทั่วลังกา ว่าเพราะพระโอรสได้ท่องบ่นคาถา “ชัยบัญชร” อย่างอุกฤษฏ์ตลอดระยะเวลาหลายเดือนนั่นเอง จึงแคล้วคลาดจากเคราะห์กรรมไปได้ราวปาฏิหาริย์

น่าเสียดายที่ไม่มีการระบุปีศักราชของเหตุการณ์ รวมทั้งพระนามของกษัตริย์และพระโอรสคู่นั้น เราจึงไม่อาจทราบได้ว่า จุดเริ่มต้นของคาถาชัยบัญชรในลังกานั้น มีขึ้นยุคใด สมัยราชวงศ์อนุราธปุระ หรือโปลนนารุวะ ก่อนหน้าการเดินทางไปศึกษาพระธรรมของพระชัยมังคละนานมาแล้วกี่ร้อยปี

แต่ที่แน่ๆ คาถานี้เกิดขึ้นมาเพื่อหาทางแก้หนักให้เป็นเบา จากคำทำนายของโหรหลวงในราชสำนักลังกา มิได้เกิดจากพุทธวัจนะของพระพุทธเจ้า


@@@@@@@

หันมามองดูศักราชใหม่ปี 2012 นี้บ้าง …ปีที่โลกจะถึงจุดจบตามคำทำนายของปฏิทินชาวมายา ปีที่เด็กชายปลาบู่ร้องทักว่า เมืองไทยจะถึงกาลหายนะ จนเหล่าสลิ่มขวัญอ่อนนอนไม่หลับ ต้องรวมตัวทำพิธีสวดมนต์ข้ามปีกัน ระเบ็งเซ็งแซ่อย่างสาหัสยิ่งกว่าปีใดๆ หวังแก้เคล็ดปัดเป่าเรื่องเลวร้ายอัปมงคล ตามที่หมอดูบอก ไม่ว่าเรื่องเขื่อนยักษ์จักถล่ม น้ำจะท่วมทะลักหนักกว่าปีกลาย กรุงเทพจักจมหายคล้ายท้องทะเล การเมืองสยามจักยิ่งสั่นสยอง เกิดการนองเลือดตายเป็นเบือ

มิน่าเล่า หันไปทิศทางไหน ก็ได้ยินแต่เสียงสวดคาถาชินบัญชรส ลับกับบทสวดพาหุงฯ ดังก้องกระหึ่ม สวดกันชนิดข้ามปีข้ามเดือนเช่นนี้ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า เมื่อปฐมฤกษ์เบิกฟ้าใหม่สู่ปีมะโรงแล้ว พลังการสวดนั้นจักทำให้คนไทยรู้สึกหายขวัญผวาจากเสียงจิ้งจกตุ๊กแกทักขึ้นบ้างแล้ว หรือยัง.?






ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 กรกฎาคม 2561
คอลัมน์ : ปริศนาโบราณคดี
เผยแพร่ : วันพฤหัสที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2561
website : https://www.matichonweekly.com/column/article_117082
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 10, 2025, 10:06:36 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29286
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ว่าด้วย “คาถาชินบัญชร” โดยพิสดาร (๑)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 21, 2025, 08:59:04 am »
0
 :25: :25: :25:

“คาถาชินบัญชร” คาถาศักดิ์สิทธิ์ที่ “สมเด็จพระพุฒาจารย์” หรือ “หลวงพ่อโต” ไม่ได้แต่ง.?


ภาพหลวงพ่อโต จาก : wikicommon



 st12 st12 st12

คาถาชินบัญชรมาจากไหน? “สมเด็จพระพุฒาจารย์” หรือ “หลวงพ่อโต” แต่งจริงหรือไม่.?

“คาถาชินบัญชร” เป็นพระคาถาที่เมื่อคนพูดถึงขึ้นมาก็จะต้องนึกถึง “สมเด็จพระพุฒาจารย์” (โต พฺรหมฺรํสี) หรือ “หลวงพ่อโต” เนื่องจากเป็นพระคาถาอันศักดิ์สิทธิ์ที่มีไว้บริกรรมและปลุกเสกพระเครื่องชื่อดังมากมาย อีกทั้งยังเป็นคาถาที่หลายคนเชื่อว่าช่วยให้แคล้วคลาดจากภัยอันตราย จนเข้าใจกันว่า “หลวงพ่อโต” คือผู้แต่ง “คาถาชินบัญชร” ขึ้น



สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)


แล้วความจริงเป็นอย่างไร ใครคือผู้ริเริ่ม “คาถาชินบัญชร” กันแน่.?

บทความ “เล่าเรื่องเมือง (ศรี) ลังกา คาถาชินบัญชรมาจากไหน.?” โดย ลังกากุมาร พระนิสิตบัณฑิตวิทยาลัย สถาบันบาลีและพุทธศาสตร์ศึกษา มหาวิทยาลัยแกลาณียะ ศรีลังกา ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรมเดือนมีนาคม พ.ศ. 2552 ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียดและน่าสนใจ ว่า

คาถาชินบัญชรมีหลายข้อสันนิษฐานว่า เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใดกันแน่ บางคนก็กล่าวว่า แต่งขึ้นในสมัยอาณาจักรดัมพเดณิยะ (พ.ศ. 1779-1803) บางคนก็บอกว่ามีมาตั้งแต่อาณาจักรคัมโปละ (พ.ศ. 1884-1958) หรือไม่ก็อาณาจักรแคนดี (พ.ศ. 2134-2358)

แม้ยังไม่มีข้อพิสูจน์ แต่สิ่งที่หลายคนเห็นตรงกันคือคาถาชินบัญชร รับความเชื่อมาจาก “พุทธศาสนา ลัทธิมหายานแบบตันตระ” ซึ่งเชื่อมโยงกับ “เทพนาถะ” เทพเจ้าในความเชื่อดังกล่าว ที่เป็นที่พึ่งทางใจให้กับชาวบ้านในขณะที่บ้านเมืองอ่อนแอ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันสงฆ์หรือกษัตริย์ ในช่วงอาณาจักรคัมโปละ (พ.ศ. 1884-1958) และพุ่งทะยานสุดขีดในช่วงอาณาจักรโกฏเก (พ.ศ. 1954/1958-2140)

ลังกากุมาร สันนิษฐานว่า ผู้แต่งคาถาศักดิ์สิทธิ์นี้ คือ “โตฏะคามุเวศรีราหุละ” จอมปราชญ์แห่งยุคโกฏเก ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนความเชื่อเรื่อง “เทพนาถะ” เทพที่ได้รับความนิยมมากในสมัยอาณาจักรคัมโปละ ให้แพร่หลายไปทั่วพื้นที่

ทั้งยังรับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการทำพิธีกรรมบูชาสรรเสริญเทพนาถะด้วยตนเอง และแต่งคัมภีร์หลายเล่มเพื่อสรรเสริญพระองค์ร่วมกับบรรดาศิษย์ เช่น คัมภีร์โกกิลสันเดศยะ, คัมภีร์ติสรสันเดศยะ เป็นต้น

@@@@@@@

ทว่าทุกอย่างยังเป็นเพียงข้อสันนิษฐานจากปัจจัยแวดล้อมเท่านั้น เพราะยังไม่ปรากฏหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ผู้เขียนก็ได้ให้เหตุผลว่า เหตุที่ทำให้เชื่อว่า “โตฏะคามุเวศรีราหุละ” เป็นผู้แต่ง “คาถาชินบัญชร” เพราะดังนี้…

     “น่าเสียดายว่าไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ถ้าศึกษาปัจจัยแวดล้อมสามารถยืนยันว่าคาถาชินบัญชรเกิดขึ้นในยุคท่านแน่นอน ด้วยเหตุว่าเทพนาถะเป็นคติความเชื่อของมหายานแบบตันตระ คาถาที่แต่งสำหรับสวดสรรเสริญจะกล่าวถึงการอ้อนวอน

      อีกทั้งอัญเชิญพระพุทธเจ้าและเหล่าสาวกทั้งปวงมาปกปักรักษาคุ้มครองแลป้องกันผู้บนบานกราบไหว้ตามคติลิทธิตันตระที่เน้นมนตราเป็นจุดเด่น

      เมื่อค้นตามคัมภีร์หลากหลายต่างสรุปเป็นแนวเดียวกันว่าเทพนาถะเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดสมัยพระสังฆราชศรีราหุละนี้เอง

      เพราะจากนั้นไม่นานเกาะลังกาก็ตกอยู่ในสภาพวุ่นวายแตกแยก ทั้งศึกภายในคือชาวสิงหลทำสงครามห้ำหั่นกันเอง อีกทั้งศึกภายนอกคือ โปรตุเกสก็เข้ามารุกรานครอบงำ”



สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหมรํสี)


แล้วคาถาชินบัญชรเข้ามาเผยแพร่ที่ไทย ได้อย่างไร.?

เรื่องนี้ ลังกากุมารกล่าวว่า

    “หลักฐานในคัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์บอกว่า มีพระสงฆ์จากล้านนาประเทศ ๒๕ รูป มีพระมหาธัมมคัมภีร์และพระมหาเมธังกรเป็นหัวหน้า ได้เดินทางมาศึกษาพระธรรมวินัยและอุปสมบท ณ อาณาจักรโกฏเก ภายใต้ความดูแลของพระสังฆราชวนรัตนเถระและความอุปถัมภ์ของกษัตริย์ลังกา

     ก่อนอำลาอุปัชฌาย์เดินทางกลับดินแดนมาตุภูมิ ได้จาริกแสวงบุญกราบไหว้สถานที่สำคัญทั่วเกาะลังกา แลเมื่อเดินทางกลับล้านนาบ้านเกิด ได้อารธนาพระลังการ่วมเดินทางมาด้วย ๒ รูป กล่าวคือ พระมหาวิกกรมพาหุ และพระมหาอุตตมปัญญา

     ความเป็นไปได้ก็คือพระสงฆ์ไทยล้านนาน่าจะมีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระสังฆราชโตฏะคามุเวศรีราหุละ ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะจอมปราชญ์นามอุโฆษ และผู้อุทิศชีวิตเผยแผ่ลิทธิบูชาเทพนาถะ หรือาจจะมีโอกาสร่วมสัมผัสพิธีกรรมสวดสรรเสริญเทพนาถะ เพราะวิชัยพาหุปิริเวณะเป็นสถาบันการศึกษาสงฆ์ที่โด่งดังสูงสุดยุคนั้น

     พระคาถาชินบัญชรน่าจะติดตามพระสงฆ์ไทยกลับล้านนาคราวนั้นเอง”


@@@@@@@

จากหลักฐานดังกล่าวจึงอนุมานได้ว่าคาถาชินบัญชรน่าจะแต่งขึ้นในสมัยยุคโกฏเก โดยพระสังฆราชโตฏะคามุเวศรีราหุละ แต่ก็มีอีกความเห็นหนึ่ง (ซึ่งอ้างอิงจากหลักฐานก่อนหน้าเช่นกัน) ที่คิดว่าไม่ใช่พระสังฆราช แต่เป็น “ศรีรามจันทรา” หรือศิษย์ของพระสังฆราช ก็เป็นได้

เนื่องจากหากดูลักษณะของคาถาแล้ว เป็นคาถาที่ต้องแต่งด้วยไวยากรณ์สูง ซึ่งลูกศิษย์ผู้นี้ก็เปี่ยมไปด้วยความสามารถเรื่องกาพย์กลอน จนแต่งกลอนสรรเสริญเทพนาถะเป็นที่ยกย่องไปทั่วฟ้า อย่าง “วรตรัตนากรปัญจิกา” ได้

อ่านเพิ่มเติม :-

    • พระพุทธรูปที่ลพบุรี อาจสร้างขึ้นครอบ “ไม้กางเขน” โบราณของชาวคริสต์
    • ครั้งหนึ่ง หลวงพ่อโสธร “องค์จำลอง” เป็นที่ศรัทธาล้ำหน้า “องค์จริง”
    • “หลวงพ่อโต” วัดป่าเลไลยก์ ที่สุพรรณบุรี แสดงปางป่าเลไลยก์ตั้งแต่แรก ไม่ใช่ปางประทานปฐมเทศนา?






ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : ปดิวลดา บวรศักดิ์
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2567
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567
website : https://www.silpa-mag.com/history/article_127307
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 10, 2025, 10:06:53 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29286
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ว่าด้วย “คาถาชินบัญชร” โดยพิสดาร (๑)
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 22, 2025, 08:13:06 am »
0



พระวาจาตรัสเรื่องคาถาชินบัญชร
โดย สมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร ตุลาคม ๒๕๑๘

คาถาชินบัญชร เป็นที่นับถือสวดกันอย่างแพร่หลาย กล่าวกันว่าเป็นของเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรํสี) วัดระฆังโฆสิตาราม นายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ เคยได้นำมาขอให้แปล เพื่อพิมพ์ในหนังสือประวัติของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ครั้งหนึ่ง เมื่อนานปีมาแล้ว

แต่ก็ยังสงสัยในถ้อยคำและประโยคหลายแห่ง เพราะไม่อาจจับความได้ ทั้งเมื่อได้พบจากหลายสำนักเข้า ก็ได้พบคำที่ผิดเพี้ยนบ้างเกือบทุกฉบับ ไม่อาจตัดสินได้ว่าที่ถูกต้องเป็นอย่างได้ ได้เคยนึกสงสัยมานานแล้วว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้เรียบเรียงขึ้นเอง หรือได้ต้นฉบับมาจากไหน

เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีผู้นำหนังสือมาให้เล่มหนึ่ง เป็นหนังสือขนาดเล็ก พิมพ์ในประเทศศรีลังกา ชื่อหนังสือ The Mirror of The Dhamma (กระจกธรรม)โดยท่านนารทมหาเถระ และท่านกัสสปเถระ ฉบับที่ได้มานี้พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ (ของศรีลังกา ตรงกับ พ.ศ. ๒๕๐๓ ของไทย) ค.ศ.๑๙๖๑

เป็นแบบหนังสือคู่มือธรรมที่จะใช่สวดและปฏิบัติเป็นประจำได้ เริ่มแต่ นโมพุทฺธ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ คำสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย คำบูชา คำสมาธิภาวนาต่าง ๆ บทสวดมี พาหุง ชินบัญชร มงคลสูตร รัตนสูตร เป็นต้น ตัวบาลีพิมพ์ด้วยอักษรสีหฬและอักษรโรมัน มีคำแปลเป็นภาษาอังกฤษ

@@@@@@@

เมื่อได้อ่านชินบัญชรในหนังสือเล่มนี้แล้ว ก็ได้พบคำและประโยคที่เคยสงสัยในฉบับที่สวดกันในเมืองไทย ซึงจับความได้ หายความข้องใจ จึงได้คิดว่าจะคัดฉบับลังกามาพิมพ์เพื่อผู้ที่ต้องการทราบจะได้อ่านพิจารณา และคิดจะปรับปรุงฉบับที่สวดกันในเมืองไทย อนุวัตรฉบับลังกา เฉพาะที่เห็นว่าสมควรจะปรับปรุงด้วย

ทั้งสองฉบับนี้ เมื่อเทียบกันแล้ว ก็รู้สึกว่า ต้นฉบับเดิมนั้นเป็นอันเดียวกันแน่
     - ฉบับลังกานั้นมี ๒๒ บท ส่วนฉบับที่สวดกันในเมืองไทย มี ๑๔ บท ก็คือ ๑๔ บทข้างต้นของฉบับลังกานั่นเอง เพราะความเดียวกัน ถ้อยคำก็เป็นอันเดียวกันโดยมาก
     - ส่วนคำอธิษฐานท้ายบทที่ ๑๔ ของฉบับที่สวดกันในเมืองไทย ย่อตัดมาอย่างรวบรัดดีมาก
     - คาถาบทที่ ๙ ของฉบับไทย บรรทัดที่ ๒ น่าจะเกินไป แต่จะคงไว้ก็ได้
     - ส่วนคาถาบทที่ ๑๒ และ ๑๓ สับบรรทัดกัน เมื่อแก้ใหม่ตามฉบับที่ปรับปรุงแล้วนี้ จะถูกลำดับดี


ในการพิมพ์ครั้งนี้ เรียงชินบัญชรฉบับที่สวดกันในเมืองไทย ปรับปรุงขึ้นใหม่ อนุวัตรแบบลังกา เฉพาะที่เห็นว่าสมควร และมีคำแปลเป็นภาษาไทย ที่แปลขึ้นใหม่ในคราวนี้เช่นเดียวกัน ในการแปลครั้งนี้ ไม่ได้เทียบกับคำแปลเก่าที่เคยแปลไว้ เพราะไม่พบฉบับที่แปลไว้

บทสวด พาหุง และชินบัญชร เป็นที่นิยมสวดกันในเมืองไทยมาช้านาน แต่บทสวดพาหุง มีถ้อยคำที่ยุติแน่นอน ส่วนบทสวดชินบัญชร แต่ละฉบับ แต่ละสำนัก ยังผิดแผกกันอยู่ ถ้าอาจทำให้ยุติเป็นแบบเดียวกันได้ ก็จะเป็นการดี






หมายเหตุ : ผู้โพสต์ได้ตรวจสอบแล้ว บทความนี้นำมาจาก หนังสือ "ประวัติคาถาชินบัญชร" พระนิพนธ์ของเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก




ขอขอบคุณ :-
บทความ : บอกกล่าวเล่าขาน คำสอนจากแดนไกล , บทสวดมนต์ มนตราแห่งความเป็นมงคล ตอนที่ 23 คาถาชินบัญชร มนตราที่ทำให้เกิดความสิริมงคลแก่ตนเอง ศัตรูไม่กล้ากล้ำกราย มีเมตตามหานิยม ขจัดภัยตลอดจนคุณไสยต่างๆ (คัดมาบางส่วน) | Posted on February 11, 2015 by lapas168   
website : https://khunatham.wordpress.com/2015/02/11/a023/





สอบที่มาคาถาชินบัญชร

เฉกเช่นเดียวกับวัตรปฏิบัติของคณะสงฆ์ธรรมยุตที่มุ่งเน้นการศึกษาคัมภีร์ดั้งเดิมมาแต่ต้นสมเด็จพระญาณสังวรยังได้อุตสาหะสอบสวนเรื่องคาถาชินบัญชรด้วย เรื่องนี้มีปรากฏเป็น “คําชี้แจง” เมื่อมีการจัดพิมพ์คาถาชินบัญชรฉบับของลังกาและฉบับของไทยเปรียบเทียบกันเป็นครั้งแรกในปีพ.ศ. ๒๕๑๘

คาถาชินบัญชรเป็นที่นับถือสวดกันแพร่หลาย กล่าวกันว่าเป็นของเจ้าพระคุณสมเด็จพระ พุฒาจารย์ (โต พรหมรํสี) วัดระฆังโฆสิตาราม ครั้งหนึ่ง นายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ได้เคยนํามาขอให้ ท่านแปลเพื่อพิมพ์ในหนังสือประวัติของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ แต่ในฐานะที่สมเด็จฯ เชี่ยวชาญด้านปริยัติ


@@@@@@@

ท่านพิจารณาแล้ว ยังเกิด
    “สงสัยในถ้อยคําและประโยคหลายแห่ง เพราะไม่อาจจับความได้ ทั้งเมื่อได้ พบจากหลายสำนักเข้า ก็ได้พบคําที่ผิดเพี้ยนบ้างเกือบทุกฉบับ ไม่อาจตัดสินได้ว่าที่ถูกต้องเป็นอย่างใด ได้เคยนึกสงสัยมานานแล้วว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้เรียบเรียงขึ้นเอง หรือได้ต้นฉบับมาจากไหน”

จนเมื่อกาลต่อมา (ราว พ.ศ. ๒๕๑๘ หรือก่อนนั้นไม่นานนัก) ดร. เกษม ศิริสัมพันธ์ อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้นําหนังสือ The Mirror of The Dhamma (กระจกธรรม) มาถวาย หนังสือเล่มนั้นเป็นหนังสือขนาดเล็กๆ เรียบเรียงโดยภิกษุนารทมหาเถระ และกัสสปเถระ พิมพ์ ในประเทศศรีลังกา ฉบับที่ได้มานั้นพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ (ของศรีลังกา ซึ่งนับปีพุทธศักราชเร็วกว่า ไทยไปปีหนึ่ง จึงตรงกับ พ.ศ. ๒๕๐๓ ของไทย)

เป็นแบบหนังสือคู่มือธรรมที่จะใช้สวดและปฏิบัติเป็น ประจําได้ เริ่มแต่ นโม พุทธ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ คําสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย คําบูชา คําสมาธิ ภาวนาต่างๆ บทสวดมี พาหุง ชินบัญชร มงคลสูตร รัตนสูตร เป็นต้น จึงปรากฏว่าการเพียรศึกษา อักษรสีหฬ (สิงหล) ที่ท่านเคยเรียนรู้มาแต่ยังเป็นพระหนุ่ม จึงมามีประโยชน์ในตอนนี้ด้วย เพราะหนังสือ เล่มน้อยนั้นพิมพ์ภาษาบาลี ด้วยอักษรสีหฬและอักษรโรมัน พร้อมคําแปลเป็นภาษาอังกฤษ

@@@@@@@

เมื่ออ่าน คาถาชินบัญชรในหนังสือเล่มนั้นดูแล้ว ปรากฏว่า
    “ก็ได้พบคําและประโยคที่เคยสงสัยในฉบับที่สวดกันในเมืองไทย ซึ่งจับความได้หายความ ข้องใจ จึงได้คิดว่าจะคัดฉบับลังกามาพิมพ์เพื่อผู้ที่ต้องการทราบจะได้อ่านพิจารณา และคิดจะปรับปรุงฉบับที่สวดกันในเมืองไทย อนุวัตรฉบับลังกา เฉพาะที่เห็นว่าสมควรจะปรับปรุงด้วย"

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบฉบับไทยและฉบับลังกาแล้ว สมเด็จพระญาณสังวรจึงสรุปได้ว่า
    “ต้นฉบับ เดิมนั้นเป็นอันเดียวกันแน่ ฉบับลังกานั้นมี ๒๒ บท ส่วนฉบับที่สวดกันในเมืองไทย มี ๑๔ บท ก็คือ ๑๔ บทข้างต้นของฉบับลังกานั่นเอง เพราะความเดียวกัน ถ้อยคําก็เป็นอันเดียวกันโดยมาก
     ส่วนคํา อธิษฐานท้ายบทที่ ๑๔ ของฉบับที่สวดกันในเมืองไทย ย่อตัดมาอย่างรวบรัดดีมาก
     บทคาถาที่ ๔ ของ ฉบับไทย บรรทัดที่ ๒ น่าจะเกินไป แต่จะคงไว้ก็ได้
     ส่วนคาถาบทที่ ๑๒ และ ๑๓ สับบรรทัดกัน เมื่อ แก้ใหม่ตามฉบับที่ปรับปรุงแล้วนี้ จะถูกลําดับดี”


หนังสือเล่มนี้จึงเป็นการประชุมและชําระพระคาถาชินบัญชรสํานวนต่างๆ และให้ความรู้ สมบูรณ์แปลกใหม่กว่าที่เคยทราบกันมา ภายหลังจากการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ยังโปรดให้จัดสัมมนา ณ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๐ ก่อนจะ ตีพิมพ์ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ ๒ เพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเมื่อพิมพ์ครั้งแรกอีกด้วย





ขอบคุณที่มา : หนังสือ "พระผู้สำรวมพร้อม" สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โดย ศรัณย์ ทองปาน
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 10, 2025, 10:07:08 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29286
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ว่าด้วย “คาถาชินบัญชร” โดยพิสดาร (๑)
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 25, 2025, 03:38:48 pm »
0
.

พระราชนิพนธ์ของเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก


คำชี้แจง

คาถาชินบัญชร เป็นที่นับถือสวดกันแพร่หลาย กล่าวกันว่าเป็นของเจ้าพระคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรํสี) วัดระฆังโฆสิตาราม นายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ได้เคยนํามาขอให้แปลเพื่อพิมพ์ในหนังสือ ประวัติของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ครั้งหนึ่ง เมื่อนานปีมาแล้ว แต่ก็ยังสงสัยในถ้อยคําและประโยคหลายแห่ง เพราะไม่อาจจับความได้ ทั้งเมื่อได้พบหลายฉบับจากหลายสํานักเข้า ก็ได้พบคําที่ผิดเพี้ยนบ้างเกือบทุกฉบับ ไม่อาจจะตัดสินได้ว่าที่ถูกเป็นอย่างไร ได้เคยนึกสงสัยมานานแล้วว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้เรียบเรียงขึ้นเอง หรือได้ต้นแบบมาจากไหน

เมื่อไม่นานมานี้ได้มีผู้นําหนังสือมาให้เล่มหนึ่ง เป็นหนังสือขนาดเล็ก พิมพ์ใน ประเทศศรีลังกา ชื่อหนังสือ The Mirror of The Dhamma (กระจกธรรม) โดยท่านนารท มหาเถระ และท่านกัสสปเถระ ฉบับที่ได้มานี้พิมพ์ เมอ พ.ศ. ๒๕๐๔ (ของศรีลังกา ตรงกับ พ.ศ.๒๕๐๓ ของไทย) ค.ศ. ๑๙๖๑

เป็นแบบหนังสือคู่มือธรรมที่จะใช้สวดและปฏิบัติเป็นประจําได้ เริ่มแต่ นโม พุทธ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ คําสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย คําบูชา คําสมาธิภาวนาต่าง ๆ บทสวดมี พาห์ ชิน บัญชร มงคลสูตร รัตนสูตร เป็นต้น ตัวบาลีพิมพ์ด้วยตัวอักษรสีหพและอักษรโรมัน มีคําแปลเป็นภาษาอังกฤษ

เมื่อได้อ่านชินบัญชรในหนังสือนี้แล้ว ก็ได้พบคําและประโยคที่เคยสงสัยในฉบับที่สวดกันในเมืองไทย ซึ่งจับความได้ หายความข้องใจ จึงได้คิดว่าจะคัดฉบับลังกามาพิมพ์ เพื่อผู้ที่ต้องการทราบจะได้อ่านพิจารณา และคิดจะปรับปรุงฉบับที่สวดกันในเมืองไทย อนุวัตรฉบับลังกา เฉพาะที่เห็นว่าสมควรจะปรับปรุงด้วย

ทั้งสองฉบับนี้ เมื่อเทียบกันแล้ว ก็รู้สึกว่า ต้นฉบับเดิมนั้นเป็นอันเดียวกันแน่
    - ฉบับลังกามี ๒๒ บท ส่วนฉบับที่สวดกันในเมืองไทย มี ๑๔ บท ก็คือ ๑๔ บทข้างต้นของฉบับลังกานั้นเอง เพราะความเดียวกัน ถ้อยคําก็เป็นอันเดียวกันโดยมาก
    - ส่วนคําอธิษฐานตอนท้ายบทที่ ๑๔ ของฉบับที่สวดกันในเมืองไทย ย่อตัด มาอย่างรวบรัดดีมาก
    - บทคาถาที่ ๙ ฉบับของไทยบรรทัดที่ ๒ น่าจะเกินไป แต่จะคงไว้ก็ได้
    - ส่วนบทคาถาที่ ๑๒ และ ๑๓ สับบรรทัดกัน เมื่อแก้ใหม่ตามฉบับที่ปรับปรุงแล้วนี้ จะถูกลําดับดี

ในการพิมพ์นี้ เรียงชินบัญชร ฉบับลังกาไว้ก่อน คงไว้ตามต้นฉบับทุกประการ แล้วมีคําแปลเป็นภาษาไทย ซึ่งได้แปลขึ้นในคราวที่พิมพ์นี้ ต่อจากนั้นชินบัญชร ฉบับที่สวดกันในเมืองไทย ปรับปรุงขึ้นใหม่ อนุวัตรแบบลังกาเฉพาะที่เห็นว่าสมควร และมีคําแปลเป็นภาษาไทย ที่แปลขึ้นใหม่ในคราวนี้เช่นเดียวกัน ในการแปลครั้งนี ไม่ได้เทียบกับคําแปลเก่าที่เคยแปลไว้ เพราะไม่พบฉบับที่แปลไว้

บทสวด พาหุ และ ชินบัญชร เป็นที่นิยมสวดกันในเมืองไทยมาช้านาน แต่บทสวดพาหุ มีถ้อยคํา ที่ยุติแน่นอน ส่วนบทสวดชินบัญชร แต่ละฉบับแต่ละสํานักยังผิดแผกกันอยู่ ถ้าอาจทําให้ยุติเป็นแบบเดียวกันได้ ก็จะเป็นการดี

อนึ่ง ในวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๑๘ นี้ ได้จัดพิมพ์ “แสงส่องใจ” ต่อจากคาถาชินบัญชร รวมไว้เล่มเดียวกัน เพื่อเป็นสิ่งตอบแทนท่านผู้เสด็จมาทรงแสดงมาแสดงกัลยาณจิต และขอถวายพระกุศล ขออนุโมทนา ทุกพระองค์ ทุกท่าน

                                                                                 ญส.
                                                                          วัดบวรนิเวศวิหาร
                                                                           ตุลาคม ๒๕๑๘



 :25: :25: :25:






หมายเหตุ : ขออภัยที่ต้องนำเสนอเป็นภาพ เนื่องจากใช้แอพแปลงเป็น word แล้ว ตัวอักษรจัดเรียงไม่ถูกต้อง เพี้ยนเยอะ ผู้โพสต์ไม่สันทัดบาลี ขอเวลาแก้ไขสักระยะ

@@@@@@@

ชินปญฺชร (ฉบับลังกา)

  (๑)  ชยาสนคตา วีรา  เชตฺวา มารํ สวาหินิํ
        จตุสจฺจามตรสํ  เย ปิวิํสุ นราสภา

  (๒)  ตณฺหงฺกราทโย พุทฺธา  อฏฺฐวีสติ นายกา
        สพฺเพ ปติฏฺฐิตา มยฺหํ   มตฺถเก เต มุนิสฺสรา

  (๓)  สิเร ปติฏฺฐิตา พุทฺธา   ธมฺโม จ มม โลจน
        สงฺโฆ ปติฏฺฐิโต มยฺหํ   อุเร สพฺพคุณากโร

  (๔)  หทเย อนุรุทฺโธ จ    สารีปุตฺโต จ ทกฺขิเณ
        โกณฺฑญฺโญ ปิฏฺฐิภาคสฺมิํ   โมคฺคลฺลาโนสิ วามเก

  (๕)  ทกฺขิเณ สวเน มยฺหํ   อาหุํ อานนฺทราหุลา
         กสฺสโป จ มหานาโม   อุโภสุํ วามโสตเก

  (๖)  เกลนฺเต ปิฏฺฐิภาคสฺมิํ   สุริโยว ปภงฺกโร
        นิสินฺโน สิริสมฺปนฺโน   โสภิโต มุนิปุงฺคโว

  (๗)  กุมารกสฺสโป นาม   มเหสี จิตฺรวาทโก
        โส มะหํ วทาน นิจฺจํ   ปติฏฺฐาติ คุณากโร

  (๘)  ปุณฺโณ องฺคุลิมาโล จ   อุปาลี นนฺทสีวลี
        เถรา ปญฺจ อิเม ชาตา   ลลาเฏ ติลกา มม

  (๙)  เสสาสีติ มหาเถรา  วิชิตา ชินสาวกา
         ชลนฺตา สีลเตเชน  องฺคมงฺเคสุ สณฺฐิตา

(๑๐)  รตนํ ปุรโต อาสิ  ทกฺขิเณ เมตฺตสุตฺตกํ
        ธชคฺคํ ปจฺฉโต อาสิ  วาเม องฺคุลิมาลํ

(๑๑)  ขนฺธโมรปริตฺตญฺจ  อาฏานาฏิยสุตฺตกํ
        อากาสจฺนทนํ อาสิ   เสสา ปาการสญฺญิตา

(๑๒)  ชินาณาขลสํยุตฺเต   ธมฺมปาการลงฺกเต
        วสโต เม จตุกิจฺเจน   สทา สมฺพุทฺธปฺญฺชเร

(๑๓)  วาตปิตฺตาทิสญฺชาตา พาหิรชฺณตฺตุปทฺทวา
        อเสสา วินยํ ยนฺุต   อนฺนตคุณเดชสา

(๑๔)  ชินปญฺชรมชฺฌฎฺฐํ   วิหรนฺตํ มหีตเล
        สทา ปาเลนฺตํ มํ   สพฺเพ เต มหาปุริสาสภา

(๑๕)  อิจฺเจวมจฺจนฺตกโต สุรกฺโข
        ชินานุภาเวน ชิตุปปทุทโว
        พุทฺธานุภาเวน หตาริสงฺโฆ
        จรามิ สทฺธมุมนุภาวปาลิโต

(๑๖)  อิจฺเจวมจฺจนฺตกโต สุรกฺโข
        ชินานุภาเวน ชิตุปปทุทโว
        ธมฺมานุภาเวน หตาริสงฺโฆ
        จรามิ สทฺธมฺมนุภาวปาลิโต

(๑๗)  อิจฺเจวมจฺจนฺตกโต สุรกฺโข
         ชินานุภาเวน ชิตุปปทุทโว
         สงฺฆานุภาเวน หตาริสงฺโฆ
         จรามิ สทฺธมฺมนุภาวปาลิโต

(๑๘)   สทฺธมฺมปาการปริกฺขิโตสฺมิ
          อฏฺฐาริยา อฏฺฐทิสาสุ โหนฺติ
          เอตฺถนฺตเร อฏฺฐ นาถา ภวนฺติ
          อุทฺธํ วิตานํว ชินา ฐิตา เม

(๑๙)   ภินฺทนฺโต มารเสนํ มม สิรสิ ฐิโต โพธิมารุยฺห
          สตฺถา โมคฺคลฺลาโนสิ วาเม วสติ ภุชตเฏ
         ทกฺขิเณ สาริปุตฺโต
         ธมฺโม มชฺเฌ อุรสฺมิํ วิหรติ ภวโต โมกฺขโต
         โมรโยนิํ สมฺปตฺโต โพธิสตฺโต จรณยุคคโต
         ภานุ โลเกกนาโถ

(๒๐)   สพฺพาวมงฺคลมุปทฺทวทุนฺนิมิตฺตํ
         สพฺพีติโรคคหโทสมเสสนินฺทา
         สพฺพนฺตรายภยทุสฺสุปินํ อกนฺตํ
         พุทฺธานุภาวปวเรน ปยาต นาสํ

(๒๑)   สพฺพาวมงฺคลมุปทฺทวทุนฺนิมิตฺตํ
         สพฺพีติโรคคหโทสมเสสนินฺทํ
         สพฺพนฺตรายภยทุสฺสุปินํ อกนฺตํ
         ธัมฺมานุภาวาเรน ปยาตุ นาสํ

(๒๒)   สพฺพาวมงฺคลมุปทฺทวทุนฺนิมิตฺตํ
         สพฺพีติโรคคหโทสมเสสนินฺทํ
         สพฺพนฺตรายภยทุสฺสุปินํ อกนฺตํ
         สงฺฆานุภาวปวเรน ปยาตุ นาสํ

หมายเหตุ : เท่าที่สังเกต ต้นฉบับในหนังสือนี้ อาจจะผิดบางจุด ผู้รู้ช่วยตรวจสอบด้วยครับ

@@@@@@@

คําแปลคาถาชินบัญชร ฉบับลังกา

๑. พระวีรพุทธะทั้งหลาย ทรงชนะมารพร้อมทั้งเสนาพาหนะ เสด็จสู่พระที่นั่งแห่งชัยชนะแล้ว พระพุทธวีระเหล่าใดเล่า ทรงเป็นผู้ประเสริฐแห่งนรชน ทรงดื่มอมตรสแห่งสัจจะทั้งสี่แล้ว.

๒. พระพุทธะทั้งหลาย ๒๘ พระองค์ มีพระตัณหังกรเป็นต้น ทรงเป็นพระนายกผู้นําโลก พระ มุเนศวรจอมมุนีทุกพระองค์นั้น ทรงสถิตประทับบนกระหม่อมแห่งข้าพระเจ้า

๓. พระพุทธะทั้งหลายทรงสถิตประทับบนเศียรเกล้า พระธรรมสถิตประทับที่ดวงตาของข้าพระเจ้า พระสงฆ์ผู้เป็นบ่อเกิดแห่งคุณทั้งปวงสถิตประทับที่อุระของข้าพระเจ้า

๔. พระอนุรุทธะประทับที่หทัย พระสารีบุตรประทับที่เบื้องขวา พระโกณฑัญญะประทับที่เบื้องหลัง พระโมคคัลลานะประทับที่เบื้องซ้าย

๕. พระอานนท์และพระราหุลประทับที่หูเบื้องขวาของข้าพระเจ้า พระกัสสปะและพระมหานามทั้งสองประทับที่หูเบื้องซ้าย

๖. พระโสภิตผู้เป็นมุนีที่แกล้วกล้า ถึงพร้อมด้วยสิริ เหมือนอย่างดวงอาทิตย์ส่องแสงสว่าง ประทับที่สุดผมส่วนเบื้องหลัง

๗. พระผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ผู้มีวาทะอันวิจิตร ชื่อพระกุมารกัสสป ผู้เป็นบ่อเกิดแห่งคุณนั้น ประทับที่ปากของข้าพระเจ้าเป็นนิตย์

๘. พระเถระห้าพระองค์เหล่านี้ คือ พระปุณณะ พระอังคุลิมาล พระอุบาลี พระนันทะ พระสีวลี เกิดเหมือนอย่างดิลก (รอยเจิม) ที่หน้าผากของข้าพระเจ้า

๙. พระมหาเถระทั้งหลาย ๘๐ ที่เหลือจากนี้ ผู้ชนะ ผู้เป็นสาวกของพระพุทธะผู้ทรงชนะ รุ่งเรืองอยู่ด้วยเดช แห่งศีล สถิตอยู่ที่อังคาพยพทั้งหลาย

๑๐. พระรัตนสูตรประจุอยู่เบื้องหน้า พระเมตตสูตรประจุอยู่เบื้องขวา พระธชัคคสูตรประจุอยู่เบื้องหลัง พระอังคุลีมาลสูตรประจุอยู่เบื้องซ้าย

๑๑. พระขันธปริตร พระโมรปริตร และพระอาฏานาฏิยสูตร เป็นเหมือนอย่างฟ้าครอบ พระสูตรปริตรทั้งหลายที่เหลือกําหนดหมายเป็นปราการ

๑๒. เมื่อข้าพระเจ้าอาศัยอยู่ด้วยกิจทั้ง ๔ อย่าง ในบัญชรแห่งพระสัมพุทธะ ประกอบด้วยลานเขตแห่งอาณาอํานาจแห่งพระพุทธะผู้ทรงชนะ ประดับด้วยปราการ คือ พระธรรม ทุกเมื่อ

๑๓. ขออุปัทวะทั้งภายนอกทั้งภายในทั้งหลาย ที่เกิดจากลมและน้ําดีเป็นต้น จงถึงความสิ้นไป ไม่มีเหลือ ด้วยเดชแห่งพระชินะผู้มีคุณอันไม่มีที่สุด

๑๔. ขอพระมหาบุรุษผู้เลิศกล้าทั้งหลายทั้งปวงนั้น โปรดอภิบาลข้าพระเจ้าผู้สถิตในท่ามกลางแห่งพระชิน
บัญชรอยู่บนพื้นแผ่นดิน.

๑๕. ข้าพระเจ้าผู้มีการรักษาดีโดยทําให้ครบถ้วน ทุกทางอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้ ขอจงชนะอุปัทวันตราย ด้วยอานุภาพแห่งพระชินะ ทําลายหมู่แห่งข้าศึก (คือ กิเลส) ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธะ อันอานุภาพแห่งพระสัทธรรมอภิบาล ประพฤติอยู่

๑๖. ข้าพระเจ้าผู้มีการรักษาดีโดยทําให้ครบถ้วน ทุกทางอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้ ขอจงชนะอุปัทวันตราย ด้วยอานุภาพแห่งพระชินะ ทําลายหมู่แห่งข้าศึก (คือ กิเลส) ด้วยอานุภาพแห่งพระธรรม อันอานุภาพแห่งพระสัทธรรมอภิบาล ประพฤติอยู่

๑๗. ข้าพระเจ้ามีการรักษา โดยทําให้ครบถ้วนทุก ทางอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้ ขอจงชนะอุปัทวันตราย ด้วยอานุภาพแห่งพระชินะ ทําลายหมู่แห่งข้าศึก (คือ กิเลส) ด้วยอานุภาพแห่งพระสงฆ์ อันอานุภาพแห่งพระสัทธรรมอภิบาล ประพฤติอยู่

๑๘. ข้าพระเจ้าผู้อันปราการคือ พระสัทธรรมแวดล้อม พระอริยะทั้งหลายแปดประทับอยู่ในทิศทั้งแปด พระนาถะคือ ที่พึ่งทั้งหลายแปดประทับอยู่ในระหว่างนี้ พระชินะทั้งหลายสถิตประทับเหมือนอย่างเพดานเบื้องบนข้าพระเจ้า.

๑๙. พระศาสดาเสด็จขึ้นสู่โพธิ์ ทรงทําลายมาร และเสนามาร ทรงสถิตประทับบนเศียรเกล้าของข้าพระเจ้า พระโมคคัลลานะประทับบนบ่าเบื้องซ้าย พระสารีบุตรประทับบนบ่าเบื้องขวา พระธรรมประจุอยู่ที่อุระในท่ามกลาง พระโพธิสัตว์ผู้ถึงกําเนิดนกยูง ส่องสว่าง เป็นพระนาถะเอกแห่งโลก ไปกับด้วยจรณะคือเท้าทั้งคู่ เพื่อพ้นจากภพ

๒๐. ขอปวงอวมงคล อุปัทวะ นิมิตร้าย จัญไร โรค เคราะห์ โทษ นินทาสารพัด อันตราย ภัย ฝันร้าย ที่ไม่ชอบใจทุกประการ จงถึงความสิ้นสูญไป ด้วยอานุภาพอันบวรแห่งพระพุทธะ

๒๑. ขอปวงอวมงคล อุปัทวะ นิมิตร้าย จัญไร โรค เคราะห์ โทษ นินทาสารพัด อันตราย ภัย ฝันร้าย ที่ไม่ชอบใจ ทุกประการ จึงถึงความสิ้นสูญไป ด้วยอานุภาพอันบวรแห่งพระธรรม

๒๒. ขอปวงอวมงคล อุปัทวะ นิมิตร้าย จัญไร โรค เคราะห์ โทษ นินทาสารพัด อันตราย ภัย ฝันร้าย ที่ไม่ชอบใจ ทุกประการ จงถึงความสิ้นสูญไป ด้วยอานุภาพอันบวรแห่งพระสงฆ์ เทอญ

หมายเหตุ : เมื่อสวดให้แก่ผู้อื่น
                ใช้ เต แทน เม
                ใช้ ตัว แทน มม
                ใช้ ตุยฺหํ แทน มยฺหํ
                ใช้ จราหิ แทน จรามิ
                และ คําแปล ใช้ ท่าน แทน ข้าพระเจ้า ในที่ทุกแห่ง.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 10, 2025, 10:07:23 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29286
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ว่าด้วย “คาถาชินบัญชร” โดยพิสดาร (๑)
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 28, 2025, 10:43:32 am »
0
.

พระราชนิพนธ์ของเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก





คาถาชินบัญชร (ฉบับที่สวดกันในเมืองไทย แต่ปรับปรุงใหม่เฉพาะบางแห่งตามฉบับลังกา)

  (๑)  ชยาสนคตา พุทฺธา  เชตฺวา มารํ สวาหินิํ
        จตุสจฺจามตรสํ        เย ปิวิํสุ นราสภา

  (๒)  ตณฺหงฺกราทโย พุทฺธา  อฏฺฐวีสติ นายกา
        สพฺเพ ปติฏฺฐิตา มยฺหํ    มตฺถเก เต มุนิสฺสรา

  (๓)  สิเร ปติฏฺฐิตา พุทฺธา  ธมฺโม จ มม โลจเน
         สงฺโฆ ปติฏฺฐิโต มยฺหํ  อุเร สพฺพคุณากโร

  (๔)  หทเย เม อนุรุทฺโธ  สารีปุตฺโต จ ทกฺขิเณ
         โกณฺฑญฺโญ ปิฏฺฐิภาคสฺมิํ  โมคฺคลฺลาโนสิ วามเก

  (๕)  ทกฺขิเณ สวเน มยฺหํ   อาสํุ อานนฺทราหุลา
         กสฺสโป จ มหานาโม  อุโภสํุ วามโสตเก

  (๖)  เกลนฺเต ปิฏฺฐิภาคสฺมิํ  สุริโยว ปภงฺกโร
        นิสินฺโน สิริสมฺปนฺโน   โสภิโต มุนิปุงฺคโว

  (๗)  กุมารกัสฺสโป เถโร  มเหสี จิตฺตวาทโก
         โส มยฺหํ วทเน นิจฺจํ  ปติฏฺฐาติ คุณากโร

  (๘)  ปุณฺโณ องฺคุลิมาโล จ  อุปาลี นนฺทสีวลี
         เถรา ปญฺจ อิเม ชาตา  นลาเฏ ติลกา มม

  (๙)  เสสาสีติ มหาเถรา  วิชิตา ชินสาวกา (-๑-)
         ชลนฺตา สีลเตเชน  องฺคมงฺเคสุ สณฺฐิตา

(๑๐)  รตนํ ปุรโต อาสิ   ทกฺขิเณ เมตฺตสุตฺตกํ
        ธชคฺคํ ปจฺฉโต อาสิ   วาเม องฺคุลิมาลกํ

(๑๑)  ขนฺธโมรปริตฺตญฺจ   อาฏานาฏิยสุตฺตกํ
        อากาสจฺฉทนํ อาสิ  เสสา ปาการสญฺญิตา

(๑๒)  ชินาณาขลสํยุตฺเต  ธมฺมปาการลงฺกเต
        วสโต เม จตุกิจฺเจน  สทา สมฺพุทฺธปญฺชเร

(๑๓)  วาตปิตฺตาทิสญฺชาตา  พาหิรชฺฌตฺตุปทฺทวา
        อเสสา วินยํ ยนฺตุ      อนนฺตชินเตชสา

(๑๔)  ชินปญฺชรมชฺฌฏฺฐํ วิหรนฺตํ มหีตเล
         สทา ปาเลนฺตุ มํ สพฺเพ เต มหาปุริสาสภา
         อิจเจวมจฺจนฺตกโต สุรกฺโข
         ชินานุภาเวน ชิตุปทฺทโว
         ธมฺมานุภาเวน ชิตาริสงฺโค
         สงฺฆานุภาเวน ชิตนฺตราโย
         สทฺธมฺมานุภาวปาลิโต จรามิ ชินปญฺชเร
_______________________________

(-๑-)ต่อจากนี้ฉบับไทยบางฉบับ มีอีก ๑ บรรทัดว่า เอเตสีติ มหาเถรา ชิตวนฺโต ชิโนรสา

 :25: :25: :25:

คําแปลคาถาชินบัญชร ฉบับไทย (แต่ปรับปรุงใหม่เฉพาะบางแห่งตามฉบับลังกา)

๑. พระพุทธะทั้งหลายทรงชนะมารพร้อมทั้งเสนา พาหนะ เสด็จสู่พระที่นั่งแห่งชัยชนะแล้ว พระพุทธะเหล่าใดเล่าทรงเป็นผู้ประเสริฐแห่งนรชน อมตรสแห่งสัจจะทั้งสี่แล้ว

๒. พระพุทธะทั้งหลาย ๒๘ พระองค์ มีพระตัณหังกรเป็นต้น ทรงเป็นพระนายกผู้นําโลก พระเนศวรจอมมุนีทุกพระองค์นั้น ทรงสถิตประทับบนกระหม่อมแห่งข้าพระเจ้า

๓. พระพุทธะทั้งหลายทรงสถิตประทับบนศีรษะ พระธรรมสถิตประทับที่ดวงตาของข้าพระเจ้า พระสงฆ์ผู้เป็นบ่อเกิดแห่งคุณทั้งปวงสถิตประทับที่อุระของข้าพระเจ้า

๔. พระอนุรุทธประทับที่หทัยของข้าพระเจ้า พระสารีบุตรประทับที่เบื้องขวา พระโกณฑัญญะประทับที่ เบื้องหลัง พระโมคคัลลานะประทับที่เบื้องซ้าย

๕. พระอานนท์และพระราหุลประทับทีหูเบื้องขวาของข้าพระเจ้า พระกัสสปะและพระมหานาม ทั้งสองประทับที่หูเบื้องซ้าย

๖. พระโสภิตผู้เป็นมุนีที่แกล้วกล้า ถึงพร้อมด้วยสิริ เหมือนอย่างดวงอาทิตย์ส่องแสงสว่าง ประทับที่สุดผมส่วนเบื้องหลัง

๗. พระเถระผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ผู้มีวาทะอันวิจิตร ชื่อพระกุมารกัสสป ผู้เป็นบ่อเกิดแห่งคุณนั้น ประทับที่ปากของข้าพระเจ้าเป็นนิตย์

๘. พระเถระห้าพระองค์เหล่านี้ คือ พระปุณณะ พระอังคุลิมาล พระอุบาลี พระนันทะ พระสีวลี เกิดเหมือนอย่างดิลก(รอยเจิม) ที่หน้าผากของข้าพระเจ้า

๙. พระมหาเถระทั้งหลาย ๘๐ ที่เหลือจากนี้ ผู้ชนะ ผู้เป็นสาวกของพระพุทธะผู้ทรงชนะ(-๑-) รุ่งเรืองอยู่ ด้วยเดชแห่งศีล สถิตอยู่ที่อังคาพยพทั้งหลาย

๑๐. พระรตนสูตรประจุอยู่เบื้องหน้า พระเมตตสูตรประจุอยู่เบื้องขวา พระธชัคคสูตรประจุอยู่เบื้องหลัง พระอังคุลิมาลสูตรประจุอยู่เบื้องซ้าย

___________________________________
(-๑-) ต่อจากนี้ฉบับไทยมีอีก ๑ บรรทัด แปลว่า พระมหาเถระทั้ง ๘๐ เหล่านี้ผู้มีความชนะ เป็นโอรสพระพุทธชินะ


๑๑. พระขันธปริตร พระโมรปริตร และพระอาฏานาฏิยสูตร เป็นเหมือนอย่างฟ้าครอบ พระสูตรปริตรทั้งหลายที่เหลือกําหนดหมายเป็นปราการ

๑๒. เมื่อข้าพระเจ้าอาศัยอยู่ด้วยกิจทั้ง ๔ อย่าง ในบัญชรแห่งพระสัมพุทธะ ประกอบด้วยลานเขตแห่งอาณาอ่านาจแห่งพระพุทธะผู้ทรงชนะ ประดับด้วยปราการคือพระธรรมทุกเมื่อ

๑๓. ขออุปัทวะ (เครื่องขัดข้อง) ทั้งภายนอกทั้งภายในทั้งหลาย ที่เกิดจากลมและน้ําดีเป็นต้น ถึงความสิ้นไป ไม่มีเหลือ ด้วยเดชแห่งพระชินะผู้ไม่มีที่สุด

๑๔. ขอพระมหาบุรุษผู้เลิศกล้าทั้งหลายทั้งปวงนั้น โปรดอภิบาลข้าพระเจ้า ผู้สถิตในท่ามกลางแห่งพระชินบัญชรอยู่บนพื้นแผ่นดิน
      ข้าพระเจ้ามีความรักษาดี โดยทําให้ครบถ้วนทุกทางอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้
      ขอจงชนะอุปัทวะด้วยอานุภาพพระพุทธะผู้ทรงชนะ
      ชนะข้าศึกขัดข้องด้วยอานุภาพแห่งพระธรรม
      ชนะอันตรายด้วยอานุภาพแห่งพระสงฆ์
      อันอานุภาพแห่งพระสัทธรรมอภิบาล ประพฤติอยู่ในพระชินบัญชรเทอญ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 10, 2025, 10:07:42 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29286
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ว่าด้วย “คาถาชินบัญชร” โดยพิสดาร (๑)
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: มีนาคม 03, 2025, 09:49:02 am »
0
.



ประวัติคาถาชินบัญชร
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย | 14 สิงหาคม 2559

หากถามว่า คาถาใดบ้างที่นิยมสวดกันมากที่สุดในประเทศไทย คาถาชินบัญชรย่อมอยู่ในอันดับต้นๆอย่างแน่นอน คาถานี้ว่ากันว่า เป็นของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) วัดระฆังโฆสิตาราม พระมหาเถระผู้มีชีวิตในยุค ๕ แผ่นดินแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย

อาจด้วยเหตุที่เล่าลือกันว่า คาถานี้จะช่วยคุ้มครองให้ผู้สวดปลอดภัยจากภยันตรายใดๆทั้งปวง เพราะเนื้อความในคาถาเป็นการอัญเชิญพระอรหันตเถระมาสถิตยังอวัยวะต่างๆของร่างกายและอัญเชิญพระปริตรทั้งหลายมาปกป้องรอบทิศ อย่างไรก็ตาม คาถานี้ มีประวัติความเป็นมาอย่างไร กลับมีผู้ทราบไม่มากนัก

จากหนังสือ ประวัติคาถาชินบัญชร เรียบเรียงโดย สุเชาวน์ พลอยชุม จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๒๙ (ต่อมาได้แก้ไขปรับปรุงและจัดพิมพ์อีกหลายครั้ง โดยฉบับที่อ้างอิงในบทความนี้คือ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๕ เมื่อปี ๒๕๔๓) ได้รวบรวมที่มาที่ไปของคาถานี้โดยละเอียด แม้ว่ายังไม่ได้หลักฐานข้อสรุปที่แน่นอน แต่พอเห็นภาพที่ชัดเจน จึงขอนำมาเล่าโดยสรุปดังนี้

คาถานี้เป็นที่แพร่หลาย ไม่เฉพาะในไทย แต่ยังแพร่หลายในพม่า และศรีลังกาอีกด้วย ในพม่าเรียกกันว่า “รตนาชวยใช่” แปลว่า กรงทองแห่งพระรัตนตรัย มีคาถา ๑๔ บท ส่วนในศรีลังกา มีการจัดพิมพ์อยู่ในหนังสือ The Mirror of the Dhamma (กระจกธรรม) ซึ่งพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ ของศรีลังกา (ตรงกับ พ.ศ.๒๕๐๓ ของไทย) เรียกว่า ชินบัญชร เช่นกัน แต่มีทั้งหมดคาถา ๒๒ บท โดย ๑๔ บทแรกตรงกับของไทยและพม่า (จำนวนบทตรงกัน แต่มีข้อแตกต่างในรายละเอียด)



ประวัติคาถาชินปัญชร โดย สุเชาวน์ พลอยชุม , กรุงเทพฯ มหามกุฎราชวิทยาลัย, 2543 ,132 หน้า
ที่มา : https://mrigadayavan.library.plus/cgi-bin/koha/opac-detail.pl?biblionumber=4789



คาถาชินบัญชรนี้ เจ้าประคุณสมเด็จฯโต ไม่ได้เป็นผู้รจนาขึ้นใหม่ทั้งหมด แต่นำเอาคาถาที่มีมาแต่เดิมมาปรับปรุงแก้ไข ตัวคาถาเดิมนั้นเป็นที่แพร่หลายในหมู่ประชาชนทางเมืองเหนือมาแต่โบราณ รู้จักกันในนามว่า “สูตรเชยยเบงชร” หรือออกเสียงตามสำเนียงพื้นเมืองว่า “ไจยะเบงจร” มีการจดจารึกด้วยอักษรล้านนา ฉบับเก่าแก่ที่สุดที่สำรวจพบตอนนี้คือ ฉบับของวัดชัยมงคลเวียงใต้ จังหวัดน่าน เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๔ แต่คาถานี้เกิดมาก่อนหน้านั้น ไม่น้อยกว่า ๔๐๐ ปีมาแล้ว

คุณสุเชาวน์ พลอยชุม สันนิษฐานว่า น่าจะแต่งขึ้นที่เมืองเชียงใหม่ อย่างช้าไม่เกินสมัยพระเจ้าติโลกราชมหาราช อย่างเร็วไม่เกินสมัยพระเจ้าอโนรธา นั่นคือ คาถานี้น่าจะแต่งขึ้น ระหว่าง พ.ศ. ๑๙๘๒-๒๑๕๐ และคงแต่งโดย พระเถระชาวล้านนาซึ่งไม่ปรากฏชื่อแน่ชัด เมื่อเป็นที่นิยมในล้านนา ก็ได้แพร่หลายไปในพม่าและศรีลังกา ต่อมา เจ้าประคุณสมเด็จฯ โต ได้นำมาปรับปรุงแก้ไขพร้อมเรียกชื่อเสียใหม่ว่า “ชินบัญชร” จนเป็นที่นิยมในไทย

ชาวเมืองเหนือมีความศรัทธาเชื่อถือในคาถานี้อย่างกว้างขวาง ใช้ในพิธีกรรมสำคัญต่างๆ เช่น สวดสืบชาตา ขึ้นบ้านใหม่ ขึ้นธาตุ ขึ้นถ้ำ สวดขอฝน นอกจากนี้ ยังนิยมเอาบางตอนของคาถานี้ (คือคาถาที่ ๑๐, ๑๑, ๑๒) มาเขียนย่อเป็นยันต์ลงในแผ่นกระดาษหรือแผ่นผ้าขนาดสี่เหลี่ยมสำหรับติดที่ปลายเสาดั้งของบ้านเรือน โบสถ์ วิหาร เพื่อป้องกันฟ้าผ่า ไฟไหม้ เรียกว่า “ยันต์เทียนหัวเสา” บ้าง “ยันต์เสาดั้ง” บ้าง “ยันต์ฟ้าฟิก” บ้าง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทว่า “ระตะนัง ปุระโต อาสิ” ของคาถาชินบัญชรนั้นถือกันว่าเป็นหัวใจของคาถาชินบัญชร ถือกันในทางไสยศาสตร์ว่าขลังนัก เรียกกันว่า “คาถาตาลเหี้ยน” เพราะอยู่ยงคงกระพันถึงขนาดยิงจนยอดตาลเหี้ยนก็ไม่เป็นอันตราย

เนื่องจาก คาถาชินบัญชร ฉบับวัดระฆังโฆสิตาราม เป็นที่แพร่หลายในเมืองไทยมากอยู่แล้ว ผมขอนำคาถาชินบัญชร ฉบับปรับปรุงแก้ไขโดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ วัดบวรนิเวศวิหาร จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาลง ณ ที่นี้ (โดยพิมพ์เป็นตัวอ่านแบบไทยเพื่อความสะดวกในการสวด) เพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย





คาถาชินบัญชร ฉบับปรับปรุงโดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ

ก่อนสวด ให้ตั้ง นะโมฯ ๓ จบ

  ๑. ชะยาสะนะคะตาพุทธา  เชตะวามารังสวาหินิง
      จะตุสัจจามะตะระสัง  เยปิวิงสุนะราสะภา

  ๒. ตัณหังกะราทะโยพุทธา  อัฏฐะวีสะตินายะกา
      สัพเพปะติฏฐิตามัยหัง  มัตถะเกเตมุนิสสะรา

  ๓. สิเรปะติฏฐิโตพุทโธ  ธัมโมจะมะมะโลจะเน
      สังโฆปะติฏฐิโตมัยหัง  อุเรสัพพะคุณากะโร

  ๔. หะทะเยเมอะนุรุทโธ  สารีปุตโตจะทักขิเณ
      โกณฑัญโญปิฏฐิภาคัสมิง  โมคคัลลาโนสิวามะเก

  ๕. ทักขิเณสะวะเนมัยหัง  อาสุงอานันทะราหุลา
      กัสสะโปจะมะหานาโม  อุโภสุงวามะโสตะเก

  ๖. เกสันเตปิฏฐิภาคัสมิง สุริโยวะปะภังกะโร
      นิสินโนสิริสัมปันโน  โสภิโตมุนิปุงคะโว

  ๗. กุมาระกัสสะโปเถโร มะเหสีจิตตะวาทะโก
      โสมัยหังวะทะเนนิจจัง  ปะติฏฐาติคุณากะโร

  ๘. ปุณโณอังคุลิมาโลจะ  อุปาลีนันทะสีวะลี
       เถราปัญจะอิเมชาตา  นะลาเฏติละกามะมะ

  ๙. เสสาสีติมะหาเถรา  วิชิตาชินะสาวะกา
       ชะลันตาสีละเตเชนะ  อังคะมังเคสุสัณฐิตา

๑๐. ระตะนังปุระโตอาสิ  ทักขิเณเมตตะสุตตะกัง
     ธะชัคคังปัจฉะโตอาสิ  วาเมอังคุลิมาละกัง

๑๑. ขันโธโมระปะริตตัญจะ  อาฏานาฏิยะสุตตะกัง
     อากาสัจฉะทะนังอาสิ  เสสาปาการะสัญญิตา

๑๒. ชินาณาขะละสังยุตเต  ธัมมะปาการะลังกะเต
     วะสะโตเมจะตุกิจเจนะ  สะทาสัมพุทธะปัญชะเร

๑๓. วาตะปิตตาทิสัญชาตา  พาหิรัชฌัตตุปัททะวา
     อะเสสาวินะยังยันตุ  อนันตะชินะเตชะสา

๑๔. ชินะปัญชะระมัชฌัฏฐัง  วิหะรันตังมะหีตะเล
     สะทาปาเลนตุมังสัพเพ  เตมะหาปุริสาสะภา

     อิจเจวะมัจจันตะกะโตสุรักโข
     ชินานุภาเวนะชิตุปัททะโว
     ธัมมนานุภาเวนะชิตาริสังโค
     สังฆานุภาเวนะชิตันตะราโย
     สัทธัมมานุภาวะปาลิโต จะรามิ ชินะปัญชะเร.



ประวัติคาถาชินปัญชร โดย สุเชาวน์ พลอยชุม , กรุงเทพฯ มหามกุฎราชวิทยาลัย, 2543 ,132 หน้า
ที่มา : https://mrigadayavan.library.plus/cgi-bin/koha/opac-detail.pl?biblionumber=4789



คำแปลคาถาชินบัญชร

  ๑. พระพุทธะทั้งหลายทรงชนะมารพร้อมทั้งเสนาพาหนะเสด็จสู่พระที่นั่งแห่งชัยชนะแล้ว พระพุทธะเหล่าใดเล่าทรงเป็นผู้ประเสริฐแห่งนรชน ทรงดื่มอมตรสแห่งสัจจะทั้ง ๔ แล้ว

  ๒. พระพุทธะทั้งหลาย ๒๘ พระองค์ มีพระตัณหังกร เป็นต้น ทรงเป็นพระนายกผู้นำโลก พระมุเนศวรจอมมุนี ทุกพระองค์นั้น ทรงสถิตประทับบนกระหม่อมแห่งข้าพระเจ้า

  ๓. พระพุทธะทั้งหลายทรงสถิตประทับบนศีรษะ พระธรรมสถิตประทับที่ดวงตาของข้าพระเจ้า พระสงฆ์ผู้เป็นบ่อเกิดแห่งคุณทั้งปวงสถิตประทับที่อุระของข้าพระเจ้า

  ๔. พระอนุรุทธะประทับที่หทัย พระสารีบุตรประทับที่เบื้องขวา พระโกณฑัญญะประทับที่เบื้องหลัง พระโมคคัลลานะประทับที่เบื้องซ้าย

  ๕. พระอานนท์และพระราหุลประทับที่หูเบื้องขวาของข้าพระเจ้า พระกัสสปะและพระมหานามทั้ง ๒ ประทับที่หูเบื้องซ้าย

  ๖. พระโสภิตผู้เป็นมุนีที่แกล้วกล้า ถึงพร้อมด้วยสิริเหมือนอย่างดวงอาทิตย์ส่องแสงสว่าง ประทับที่สุดผมส่วนเบื้องหลัง

  ๗. พระเถระผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ผู้มีวาทะอันวิจิตรชื่อพระกุมาระกัสสปะ ผู้เป็นบ่อเกิดแห่งคุณนั้น ประทับที่ปากของข้าพระเจ้าเป็นนิตย์

  ๘. พระเถระ ๕ พระองค์เหล่านี้ คือ พระปุณณะ พระอังคุลิมาล พระอุบาลี พระนันทะ พระสีวลี เกิดเหมือนอย่างดิลก (รอยเจิม) ที่หน้าผากของข้าพระเจ้า

  ๙. พระมหาเถระทั้งหลาย ๘๐ ที่เหลือจากนี้ ผู้ชนะ ผู้เป็นสาวกของพระพุทธะผู้ทรงชนะ รุ่งเรืองอยู่ด้วยเดชแห่งศีลสถิตอยู่ที่อังคาพยพทั้งหลาย

๑๐. พระรตนสูตรประจุอยู่เบื้องหน้า พระเมตตสูตร ประจุอยู่เบื้องขวา พระธชัคคสูตรประจุอยู่เบื้องหลัง พระอังคุลิมาลสูตรประจุอยู่เบื้องซ้าย

๑๑. พระขันธปริตร พระโมรปริตร และพระอาฏานาฏิยสูตร เป็นเหมือนอย่างฟ้าครอบ พระสูตรปริตรทั้งหลายที่เหลือกำหนดหมายเป็นปราการ

๑๒. เมื่อข้าพระเจ้าอาศัยอยู่ด้วยกิจทั้ง ๔ อย่าง ในบัญชรแห่งพระสัมพุทธะ ประกอบด้วยลานเขตแห่งอาณาอำนาจแห่งพระพุทธะผู้ทรงชนะ ประดับด้วยปราการ คือ พระธรรม ทุกเมื่อ

๑๓. ขออุปัทวะ (เครื่องขัดข้อง) ทั้งภายนอกทั้งภายในทั้งหลาย ที่เกิดจากลมและน้ำดีเป็นต้น จงถึงความสิ้นไป ไม่มีเหลือด้วยเดชแห่งพระชินะผู้ไม่มีที่สุด

๑๔. ขอพระมหาบุรุษผู้เลิศกล้าทั้งหลายทั้งปวงนั้น โปรดอภิบาลข้าพระเจ้าผู้สถิตในท่ามกลางแห่งพระชินบัญชรอยู่บนพื้นแผ่นดินทุกเมื่อ

ข้าพระเจ้ามีความรักษาดี โดยทำให้ครบถ้วนทุกทางอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้ ขอจงชนะอุปัทวะด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธะผู้ทรงชนะ ชนะข้าศึกขัดข้องด้วยอานุภาพแห่งพระธรรม ชนะอันตรายด้วยอานุภาพแห่งพระสงฆ์ อันอานุภาพแห่งพระสัทธรรมอภิบาล ประพฤติอยู่ในพระชินบัญชร เทอญ.

 




ขอขอบคุณ :-
ที่มา : https://thestarseer.com/tag/คาถาชินบัญชร/
ประวัติคาถาชินบัญชร | ส่งเมื่อ ่14 สิงหาคม, 2016
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย | 14 สิงหาคม 2559
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 10, 2025, 10:07:57 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29286
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ว่าด้วย “คาถาชินบัญชร” โดยพิสดาร (๑)
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: มีนาคม 03, 2025, 10:38:22 am »
0
 :25: :25: :25:










































ประวัติคาถาชินปัญชร ผู้เรียบเรียง สุเชาว์ พลอยชุม เป็นหนังสือสภาพใหม่ หนังสือหนา 148 หน้าและเป็นหนังสือเก่าหายากไม่มีวางขายในตลาด พิมพ์ครั้งที่ 4 ปี 2540 จำหน่ายราคา 250 บาท


ขอบคุณที่มา :-
www.thebookbun.com/product/17892/ประวัติ-คาถาชินปีญชร-ผู้เรรยบเรียง-สุเชาว์-พลอยชุม
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 10, 2025, 10:08:16 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29286
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ว่าด้วย “คาถาชินบัญชร” โดยพิสดาร (๑)
« ตอบกลับ #7 เมื่อ: มีนาคม 10, 2025, 10:05:01 am »
0
 st12 st12 st12

ติดตามตอนต่อไป ได้ที่...

ว่าด้วย “คาถาชินบัญชร” โดยพิสดาร (๒)
https://www.madchima.org/forum/index.php?topic=34778.0
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 10, 2025, 10:08:41 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ