.
ประวัติ สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๔
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ของ มูลนิธิสมเด็จพระสังฆราชวัดบวร
www.มูลนิธิสมเด็จพระสังฆราชวัดบวร.com/document/sangkaracha19/sangkaracha4.pdf

ภูมิลําเนาเดิม : (ไม่ปรากฏ)
วันประสูติ : วันศุกร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือนยี่ ปีฉลู เบญจศก จ.ศ. ๑๐๙๕
ตรงกับวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๒๗๖
ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา
วันสถาปนา : วันพฤหัสบดี ขึ้น ๒ คํ่ำ เดือนอ้าย ปีมะโรง โทศก จ.ศ. ๑๑๘๒
ตรงกับวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๖๓ ในรัชกาลที่ ๒
วันสิ้นพระชนม์ : วันพุธ ๑ แรม ๔ คํ่า เดือน ๑๐ ปีมะเมีย จัตวาศก จ.ศ. ๑๑๘๔
ตรงกับวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๓๖๕ ในรัชกาลที่ ๒
พระชนมายุ : ๙๐ พรรษา
ทรงดํารงตําแหน่งสมเด็จพระสังฆราช : ๑ ปี ๑๐ เดือน
@@@@@@@
พระประวัติเบื้องต้น
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) ประสูติ(๑-) เมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๑๐ คํ่า เดือนยี่ ปีฉลู เบญจศก จ.ศ. ๑๐๙๕ ตรงกับวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๒๗๖ ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา ในสมัยกรุงธนบุรีได้เป็นพระอธิการอยู่วัดท่าหอย ริมคลองคูจาม แขวงกรุงเก่า มีพระเกียรติคุณในด้านวิปัสสนาธุระ_______________________________
(๑-) พระราช พงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฯ รัชกาลที่ ๒ ว่า “วันศุกร์ เดือน ๑๐ แรม ๔ คํ่า” และมีเชิงอรรถว่า “เดือน ๑๐ แรม ๔ คํ่า ตรงกับวันพุธ”
พ.ศ. ๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในการทรงทํานุบํารุงพระพุทธศาสนา จึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระราชาคณะในตําแหน่งต่าง ๆ และได้ทรงโปรดให้อาราธนาสมเด็จพระสังฆราช (สุก) ซึ่งขณะนั้นทรงเป็นพระอาจารย์อยู่วัดท่าหอย ให้มาอยู่ที่วัดพลับและโปรดตั้งให้เป็นที่ พระญาณสังวรเถร เพื่อช่วยรับภารธุระทางพระพุทธศาสนาสืบไป
สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ทรงเป็นพระอาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มาแต่ครั้งยังอยู่ที่วัดท่าหอย การที่โปรดให้นิมนต์มาอยู่ที่วัดพลับ ก็เนื่องจากเป็นวัดสําคัญฝ่ายอรัญวาสีของกรุงธนบุรี และเพื่อให้สมพระเกียรติที่ทรงเป็นพระอาจารย์ของพระมหากษัตริย์
จึงได้โปรดให้สร้างวัดพระราชทานขึ้นใหม่ในพื้นที่ติดกับวัดพลับ และได้โปรดให้รวมวัดพลับเข้าไว้ในเขตของพระอารามใหม่นั้นด้วย โดยโปรดให้ใช้ชื่อว่าวัดพลับดังเดิม ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามใหม่ว่า วัดราชสิทธาราม ดังที่ปรากฏสืบมาจนบัดนี้
สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ทรงเป็นที่เคารพนับถือของพระบรมราชวงศ์มาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ ๑ ในจดหมายเหตุทรงผนวชเจ้านายในรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ จึงปรากฏพระนาม พระญาณสังวรเถร เป็นพระกรรมวาจารย์แทบทุกพระองค์
• พ.ศ. ๒๓๓๑ ทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ขณะทรงดํารงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิสรสุนทร เมื่อครั้งทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
• พ.ศ. ๒๓๓๗ ทรงเป็นพระกรรมวาจาจารย์ของสมเด็จพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ ๒ ขณะทรงดํารงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์ เมื่อครั้งทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
• พ.ศ. ๒๓๓๘ ทรงเป็นพระกรรมวาจาจารย์ของ สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เมื่อครั้งทรงผนวช ณ วัดพระศรีสรรเพชญ์ (วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ในปัจจุบัน)
• พ.ศ. ๒๓๔๕ ทรงเป็นพระกรรมวาจาจารย์ของสมเด็จพระเจ้าหลาน เธอกรมพระราชวังหลังในรัชกาลที่ ๑ เมื่อครั้งทรงผนวชเป็นพระภิกษุ
• ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดํารงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทับ เมื่อครั้งทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
• พ.ศ. ๒๓๖๐ ทรงเป็นพระอาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงดํารงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมุติเทวาวงศ์เมื่อครั้งทรงผนวชเป็นสามเณร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
หลังจากสมเด็จพระสังฆราช (มี) สิ้นพระชนม์ ในปี พ.ศ. ๒๓๖๒ แต่เดิมพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชดําริที่จะตั้ง สมเด็จพระพนรัตน(อาจ) วัดสระเกศ เป็นสมเด็จพระสังฆราช แต่ยังมิทันจะได้ทรงตั้ง ก็เกิดอธิกรณ์ขึ้นเสียก่อน จึงถูกถอดจากตําแหน่งพระราชาคณะ และเนรเทศไปจากพระอารามหลวง
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชดําริว่า สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) ทรงเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ และได้เป็นพระอาจารย์เป็นที่เคารพในพระราชวงศ์ จึงทรงโปรดให้แห่สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) จากวัดราชสิทธาราม มาสถิต ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๒ คํ่า เดือนอ้าย ปีมะโรง โทศก จ.ศ. ๑๑๘๒ ตรงกับวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๖๓
@@@@@@@
พระเกียรติคุณ
1. การสังคายนาสวดมนต์
การทําสังคายนาสวดมนต์ครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระกรุณาโปรดให้ทําขึ้นในสมัยของสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๔ (ตามความในหมายรับสั้ง จ.ศ. ๑๑๘๓) จากพระบรมราชาธิบายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระอธิบายของสมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ
ซึ่งพอจะสรุปกิจกรรมสําคัญในการสังคายนาในครั้งนี้ได้ คือ การคัดพระพุทธมนต์ต่าง ๆ จากอักษรขอมออกเป็นอักษรไทย ตรวจชําระให้ถูกต้อง แล้วแปลออกเป็นภาษาไทย แล้วจึงนํามาท่องบ่นและสวดสาธยาย นับเป็นครั้งแรกที่มีการแปลพระพุทธมนต์ อันได้แก่ พระสูตรและบทสวดต่าง ๆ ที่ใช้สวดหรือสาธยายในพิธีต่าง ๆ เป็นภาษาไทย และทําให้เกิดประเพณีสวดมนต์แปล คือการสวดทั้งคําบาลีและคําแปลภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรก ดังที่บางวัดยังนิยมสวดกันอยู่ในปัจจุบัน
2. ทรงตั้งพระอาจารย์บอกพระกรรมฐานประจําวัด ทั่วราชอาณาจักร
ในสมัยของสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงมีพระราชดําริให้มีการแต่งตั้งพระสังฆราชาคณะเจ้าอธิการ ไปเป็นอาจารย์บอกพระกรรมฐานประจําวัดต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมือง เพื้อเป็นการส่งเสริมการศึกษา และปฏิบัติธรรมฝ่ายวิปัสสนาธุระโดยตรง
ในปลายปี พ.ศ. ๒๓๖๔ ได้มีพระราชโองการให้อาราธนาพระสงฆ์ผู้ทรงคุณทางวิปัสสนาธุระ ทั่วพระราชอาณาจักร เข้ามารับพระราชทานเครื่องอัฐบริขาร และทรงตั้งแต่งไปเป็นพระอาจารย์บอกพระกรรมฐานแก่พระภิกษุสามเถร และพุทธศาสนิกชนทั่วไปประจําวัดนั้น ๆ รวมทั้งสิ้น ๗๖ รูป
3. พระสังฆราชไก่เถื่อน
สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) ทรงเป็นพระมหาเถระที่ทรงพระเกียรติคุณเป็นที่เลื่องลือพระองค์หนึ่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงพระคุณพิเศษในทางวิปัสสนาธุระ ทรงมีเมตตาจิตสูงส่งสามาร ถแผ่พรหมวิหารธรรมทําให้ไก่ ป่าเชื่องเป็นไก่บ้านได้ จนได้รับการถวายสมัญญาว่า “พระสังฆราชไก่เถื่อน”
สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) ทรงเป็นพระมหาเถระฝ่ายอรัญวาสีพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช และตําแหน่งพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร นับว่าเป็นตําแหน่งพิเศษ เป็นตําแหน่งที่พระราชทานสถาปนาแก่พระเถระผู้ทรงคุณทางวิปัสสนาธุระโดยเฉพาะ และมิได้โปรดพระราชทานสถาปนาพระรูปใดอีกเลย นับแต่รัชกาลที่ ๒ เป็นต้นมา เป็นเวลากว่า ๑๕๐ ปี
กระทั้งถึงรัชกาลปัจจุบัน จึงได้โปรดสถาปนาพระสาสนโสภณ (สุวฑฺฒโน เจริญ คชวัตร) วัดบวรนิเวศวิหาร ในราชทินนามที่ สมเด็จพระญาณสังวรในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕
4. พระเครื่องสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)
สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) เมื่อครั้งยังสถิตอยู่ ณ วัดราชสิทธาราม (วัดพลับ) ได้ทรงสร้าง
วัตถุมงคลไว้หลายชนิด แม้กระทั่งรูปแบบพระพิมพ์ที่เรียกกันว่า พระสมเด็จ (พระสมเด็จพระพุฒาจารย์
(โต)) ก็ได้แบบอย่างมาจากพระพิมพ์ที่สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) ทรงสร้างไว้ วัตถุมงคลที่สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) ทรงสร้างขึ้นนั้นมีหลายอย่างและหลายแบบ แต่แบบที่นิยมกันในหมู่ผู้รู้ด้านนี้ คือ สมเด็จอรหํ กับ พระสมเด็จวัดพลับ
@@@@@@@
พระอวสานกาล
สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) สิ้นพระชนม์ เมื่อวันพุธ แรม ๔ คํ่า เดือน ๑๐ ปีมะเมีย จัตวาศก จ.ศ. ๑๑๘๔ ตรงกับวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๓๖๕ สิริพระชนมายุได้ ๙๐ พรรษา ทรงดํารงตําแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเป็นเวลา ๑ ปี ๑๐ เดือน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชทานพระโกศทองใหญ่ให้ทรงพระศพ เมื่อตั้งที่พระเมรุท้องสนามหลวง
พระโกศองค์นี้ นอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ที่พระเกียรติยศสูงบางพระองค์ ปรากฏว่า ได้ทรงแต่งพระศพสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้พระองค์เดียว นับเป็นการถวายพระเกียรติอย่างสูง ด้วยทรงเป็นที่ทรงเคารพนับถืออย่างยิ่งของพระบรมวงศานุวงศ์นั่นเอง
ส่วนการพระเมรุนั้นโปรดให้ทําเมรุผ้าขาวที่ท้องสนามหลวง พระราชทานเพลิงพระศพ เมื่อเดือน ๑๒ พ.ศ. ๒๓๖๕ หลังจากการพระราชทานเพลิงพระศพแล้ว ได้โปรดให้ปั้นพระรูปบรรจุพระอัฐิประดิษฐานไว้ในกุฏิกรรมฐานหลังหนึ่ง บริเวณด้านหน้าพระอุโบสถวัดราชสิทธาราม
ต่อมา ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้ช่างหล่อพระรูปสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) ขนาดย่อมขึ้นอีก เพื่อนําไปประดิษฐานไว้ในหอพระนาก พร้อมกับรูปสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) วัดโมลีโลกยาราม ซึ่งเป็นพระกรรมวาจาจารย์ของพระองค์ และในปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๘๗ ได้โปรดให้หล่อพระรูปสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) ขึ้นอีกพระองค์หนึ่ง เพื่อนําไปประดิษฐาน ณ วัดมหาธาตุยวราชรังสฤษฎิ์ แต่ยังมิทันได้อัญเชิญไปประดิษฐาน พระองค์ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้แห่ไปประดิษฐาน ณ วัดมหาธาตุยวราชรังสฤษฎิ์ เมื่อวันแรม ๒ คํ่า เดือน ๔ ปีชวด จัตวาศก จ.ศ. ๑๒๑๔ ตรงกับปี พ.ศ. ๒๓๙๕
@@@@@@@
หมายเหตุ : อ่านประวัติ สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (มีเพียง ๑๙ องค์) ได้ที่....
https://www.มูลนิธิสมเด็จพระสังฆราชวัดบวร.com/sangkaracha-19.php
ขอบคุณที่มา :
www.มูลนิธิสมเด็จพระสังฆราชวัดบวร.com/document/sangkaracha19/sangkaracha4.pdf