.
กรุงศรีอยุธยามุมกว้างที่มองจากบ้านฮอลันดา ชุมชนสถานีการค้าของชาวยุโรปที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเกาะเมืองอยุธยา ภาพ "กรุงศรีอยุธยาท่ามกลางพายุ" โดย ฟาน เดอ อา ในหนังสือ กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง ของ ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช สำนักพิมพ์มติชนสุจิตต์ วงษ์เทศ : ‘ความตายสีดำ’ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจอโยธยา-อยุธยาอโยธยาเป็นรัฐเริ่มแรกของคนไทย ชาวสยาม แล้วสืบเนื่องเป็นอยุธยาราชอาณาจักรสยามแห่งแรกของไทย โดยมีหลักฐานวิชาการโบราณคดีและประวัติศาสตร์สนับสนุนเต็มไปหมด ตั้งแต่ผลงานของจิตร ภูมิศักดิ์, ศรีศักร วัลลิโภดม ฯลฯ ล่าสุด รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล (มหาวิทยาลัยรามคำแหง)
ส่วนสุโขทัยเติบโตเป็นรัฐจากการหนุนหลังของอโยธธา ดังนั้นสุโขทัยจึงไม่ใช่รัฐเริ่มแรกของคนไทย ชาวสยาม และไม่ใช่ราชอาณาจักรสยามแห่งแรก
“สตอรี่” ของอโยธยา-อยุธยา มีมากนับไม่ถ้วน ล้วนมีพลังดึงดูดนักท่องเที่ยวสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจยาวนาน โดยเฉพาะโรคระบาดในประวัติศาสตร์โลก
BLACK DEATH ตามหลักฐานวิชาการที่รับรู้ต่อๆ กันมาคือกาฬโรค หรือ “ความตายสีดำ” อยู่ในประวัติศาสตร์โลก เริ่มระบาดครั้งใหญ่ในยุโรปแล้วแพร่ไปทั่วโลกถึงจีน และอุษาคเนย์ ผู้คนล้มตายเป็นก่ายกองเมื่อช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ. 1889-1894
@@@@@@@
การระบาดของ BLACK DEATH ตรงกับไทยในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดี กษัตริย์รัฐอโยธยาตอนปลาย ต่อเนื่องสถาปนารัฐอยุธยา
อโยธยาเป็นรัฐเริ่มแรกของคนพูดภาษาไทย เรียกตนเองว่าไทย เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์โลก ย่อมหนีไม่พ้นการระบาดของความตายสีดำ จึงมีคนตายมากทั้งเจ้านายและประชาชน ซึ่งคนสมัยนั้น (ยังไม่รู้จักวิทยาศาสตร์) เชื่อว่าเป็นการกระทำของผี ซึ่งเรียก “ผีห่า” ต้องแก้เคล็ดด้วยการย้ายที่อยู่ หมายถึงย้ายศูนย์กลางอำนาจ แล้วเรียกนามเมืองที่ผูกขึ้นใหม่ว่า “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา” เรียกสั้นๆ ว่า “อยุธยา”
BLACK DEATH เหตุการณ์ประวัติศาสตร์โลกที่กระทบถึงไทยสมัยอโยธยา-อยุธยา
ส่วนประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักไม่รับรู้ BLACK DEATH จึงไม่มีกาฬโรคระบาดในประวัติศาสตร์ช่วงรอยต่อ แต่กลับสร้างสตอรี่เป็นเอกเทศว่า “อหิวาต์ระบาด” ซึ่งขัดแย้งหลักฐานภูมิภาคและประวัติศาสตร์โลก
BLACK DEATH ในประวัติศาสตร์โลก มีหลักฐานในหนังสือร้อยพันเรื่องราวในประวัติศาสตร์โลก (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2567) ซึ่งควรร่วมกันทำความเข้าใจเรื่องจริงของโลก ที่ส่งผลสะเทือนถึงไทยในประวัติศาสตร์การสลายตัวของอโยธยาและการตั้งต้นของอยุธยา
“ความตายสีดำ” เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นนิรันดร์ให้อโยธยา-อยุธยา แต่ไฉนผู้หวังรวยเฉพาะหน้ามุ่งทำลายซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่จบสิ้นที่อโยธยา-อยุธยา ดังมีเหตุการณ์ต่อไปนี้
@@@@@@@
ยกเลิกพื้นที่สีเขียว-ทำอุตสาหกรรม
ด้านตะวันออกของเมืองอโยธา-อยุธยาเป็นทุ่งนาโล่งกว้างไกล แหล่งปลูกข้าวสมัยอโยธยา-อยุธยา เคยถูกเรียก “ทุ่งหลวง” (พบในนิราศเจ้าฟ้ากุ้งของสุนทรภู่)
มีวัดวาอารามและชุมชนสืบเนื่องสมัยอโยธยา-อยุธยา เคยเป็นสนามรบหลายครั้งหลายหน และเคยมีประวัติศาสตร์ทับซ้อนหลายยุคหลายสมัย
เคยมีกฎหมายเป็นพื้นที่สีเขียวเพื่อเกษตรกรรม แต่ยกเลิกไปเพื่อทำเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ซึ่งเท่ากับทำลายหลักฐานประวัติศาสตร์อโยธยา-อยุธยานับไม่ถ้วน ที่ควรรักษาคุณค่าเพื่อสร้างมูลค่าทางการท่องเที่ยวตลอดกาล จะขอสรุปจากเอกสารทางการมาให้อ่านดังนี้
“จ.พระนครศรีอยุธยา ในระยะประมาณ 37 ปีที่แล้ว ตั้งแต่ พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา การอุตสาหกรรมขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพราะมีการคมนาคมสะดวก และอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ รวมทั้งทางรัฐบาลได้ส่งเสริมการลงทุนด้วยการประกาศยกเลิกพื้นที่สีเขียวที่เคยสงวนไว้สำหรับการเกษตรกรรม และกำหนดให้อยุธยาเป็นเขตส่งเสริมการลงทุน
อยุธยาจึงกลายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม และมีอุตสาหกรรมใหม่เกิดขึ้นอย่างมากมาย
มีทั้งอุตสาหกรรมบริการ, อุตสาหกรรมการเกษตร, อุตสาหกรรมผลิตอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีพื้นที่เพื่ออุตสาหกรรมประมาณ 60.65 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 2.37 ของพื้นที่จังหวัด ซึ่งประกอบด้วยนิคมอุตสาหกรรม โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกับภาคเอกชน ได้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมที่ จ. พระนครศรีอยุธยา จำนวน 3 แห่ง สวนอุตสาหกรรม 1 แห่ง และเขตอุตสาหกรรมอีก 1 แห่ง
จ. พระนครศรีอยุธยา กำลังเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็วท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ชาวอยุธยาจะต้องเผชิญกับผลกระทบต่างๆ หลายด้าน”
[จากหนังสือ วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รัฐบาลพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2542 หน้า 9-10]
กรุงศรีอยุธยามุมกว้างที่มองจากบ้านฮอลันดา ชุมชนสถานีการค้าของชาวยุโรปที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเกาะเมืองอยุธยา ภาพ "กรุงศรีอยุธยาท่ามกลางพายุ" โดย ฟาน เดอ อา ในหนังสือ กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง ของ ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช สำนักพิมพ์มติชนทำลายแล้ว ทำลายอีก และทำลายต่อไป
เพิ่งอ่านข้อมูลของ “นายช่าง” ในข่าวสด พบว่ามีความพยายามทำลายอโยธยา-อยุธยาซ้ำอีก จะคัดมาทั้งหมดดังนี้
นอกเกาะเมืองอยุธยา
จากผังเมืองฉบับปี 2552 ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ระบุถึงการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณเกาะเมืองเป็นพื้นที่สีชมพู หรือชุมชนเพื่อการอยู่อาศัย
ปัจจุบันนี้กรมโยธาธิการและการผังเมืองได้จัดทำร่างผังเมืองรวมพระนครศรีอยุธยาขึ้นใหม่ เรียกว่า “โครงการศึกษาพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง” ตั้งแต่ปี 2562 และยังมิได้ประกาศบังคับใช้ได้ ปรับปรุงเป็นร่างผังพัฒนาผังเมืองขึ้น โดยมีสาระสำคัญของการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน 3 ประเภทหลัก ได้แก่
1. ศูนย์กลางพาณิชยกรรมและบริการท่องเที่ยว
2. พื้นที่รองรับการขยายตัวของพื้นที่อยู่อาศัย
3. พื้นที่เพื่อการอนุรักษ์และส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านท่องเที่ยวในเขตอุทยานประวัติศาสตร์
แต่การกำหนดครั้งนี้ละเลยพื้นที่ที่มีอาคารชุมชนทางประวัติศาสตร์ที่อยู่นอกเกาะเมือง หรือตำบลนอกมือง เช่น หันตรา หรือเมืองอโยธยาเดิมซึ่งมีอาคารโบราณสถานเก่าแก่อยู่เป็นจำนวนมาก กลับเปลี่ยนเป็นพื้นที่เพื่อการพาณิชยกรรม ซึ่งน่าวิตก
เพราะอยุธยาอยู่ในฐานะเมืองหลวงมีอายุกว่า 400 ปี และมีอายุเกือบ 700 ปีมีเรื่องราวที่ต้องศึกษาทำความเข้าใจเรียนรู้ เพื่อเป็นฐานของการพัฒนาสังคม พื้นที่ และวิถีชีวิต เพื่อเป็นแนวทางจัดการการอนุรักษ์
การกำหนดเขตพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์อย่างเดียวจึงไม่พอ จำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ระเบียบในการใช้ประโยชน์ในอาคารเก่า ระเบียบวิธีการบำรุงรักษาและการสร้างอาคารบ้านเรือนที่มีคุณลักษณะเฉพาะ ซึ่งเท่าที่กำหนดไว้ในการพัฒนาเมืองคงไม่พอ จำเป็นต้องมีกฎกระทรวงควบคุมอาคารในพื้นที่นั้นให้ชัดเจนมากกว่าที่กำหนดไว้ในทางผังเมือง
@@@@@@@
เรื่องสำคัญต่อมาคือ การกำหนดแผนผังสำหรับการจราจรขนส่งที่เป็นโครงข่ายสำหรับการท่องเที่ยวที่ต่อเนื่องสัมพันธ์กัน ก็จะต้องจัดทำและจัดวางให้ชัดเจน เพราะ ทุกวันนี้ไม่ปรากฏแผนที่ แผนผัง และเรื่องราวที่มาของอาคารทางประวัติศาสตร์นั้นให้มากพอ พร้อมข้อมูลทั้งทางเดินทางและความสัมพันธ์ของโยงใยข้อมูลทางประวัติศาสตร์และสังคมได้ชัดเจน
ต้องกลับไปทำรายละเอียดเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจน มิฉะนั้นภายใต้โครงข่ายคมนาคมขนส่ง โครงข่ายสาธารณูปโภคที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะเป็นอุปสรรคและข้อขัดข้องที่จะเรียนรู้ความเป็นอยุธยาเมืองที่ยิ่งใหญ่ในอดีตไป
นักท่องเที่ยวประเภทอนุรักษ์ที่อยากเรียนรู้ความเป็นประวัติศาสตร์ของอยุธยา จึงกลายเป็นนักท่องเที่ยวที่ไร้จุดหมาย นอกจากไปดูของเก่าแล้วอุทานชื่นชมพร้อมกับ เหยียบอิฐเก่าไปเท่านั้น
และนั่นคือผังเมืองที่กำลังจะประกาศใช้
งานลอยกระทงล่าสุดนี้ที่เขตอุทยานประวัติศาสตร์ รวมถึงวัดไชยวัฒนาราม การเข้าถึงวัดยุ่งยาก สับสน จนหลงทาง รถติดจนขยับไม่ได้ ที่จอดรถไม่พอ ไม่มีแผนที่เล่าเรื่องราวของประวัติศาสตร์ และความสำคัญของพื้นที่ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการให้ความรู้ทางการท่องเที่ยว
หากยังชวนให้คนมาเที่ยวแล้วเจอสภาพอย่างนี้ คงตอบสนองนโยบายของจังหวัดได้ยากว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพของการท่องเที่ยวได้อย่างไร
ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : สุจิตต์ วงษ์เทศ | วันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 - 16:59 น.
ที่มา : คอลัมน์เลาะรั้ว โดย “นายช่าง” ใน ข่าวสด ฉบับวันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2567 หน้า 4)
URL :
https://www.matichon.co.th/columnists/news_4919668