ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ว่าด้วย จิตตก  (อ่าน 133 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29314
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ว่าด้วย จิตตก
« เมื่อ: พฤษภาคม 13, 2025, 07:15:19 am »
0
.



พุทธภาษิตสอนใจ : "จิตตก"

หลายคนเข้าใจว่า เป็นภาวะที่จิตใจย่ำแย่ สับสน วุ่นวาย คิดมาก แต่ในความเป็นจริง หมายถึง จิตที่คิดอกุศล หรือคิดในทางไม่ดี ซึ่งจิตที่คิดในทางไม่ดีมี ๓ อย่างเท่านั้น คือ

   (๑) คิดโลภ อยากมี อยากได้เกินความเป็นไปได้
   (๒) คิดอาฆาต พยาบาท เคียดแค้น ผูกเวร
   (๓) คิดผิด (มิจฉาทิฏิ) คิดอคติ

ความคิดที่เป็นอกุศล หรือคิดไม่ดี ถือว่าเป็นความคิดที่ต่ำกว่ามาตรฐาน หรือว่าต่ำกว่าเกณฑ์ ต่ำกว่าปกติ ยิ่งเอามาคิดมากเท่าไร ก็ยิ่งทำร้ายสุขภาพจิตมากเท่านั้น

ดังนั้น เพื่อสุขภาพจิตที่ดีของตัวเราเอง จึงควรระวังอย่าให้ "จิตตก" และหากจิตเราคิดสูงกว่ามาตรฐาน โดยไม่คิดอกุศลทั้ง ๓ อย่าง หรือ หันมาฝึกคิดสิ่งที่เป็นกุศลทั้ง ๓ อย่างแทน ภาวะที่คิดว่าจิตตก คือ ย่ำแย่ สับสน วุ่นวาย คิดมาก ก็จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน





ขอบคุณ : https://kalyanamitra.org/th/article_detail.php?i=9498
บทความประจำวัน | พุทธพจน์ - "จิตตก" | วันที่ 01 กย. พ.ศ.2558





ดวงตก แต่จิตไม่ตก

ในทางพุทธเป็นเรื่องจริง เป็นวาระที่วิบากแห่งบาปกรรมเก่าเล่นงาน เป็นสิ่งที่แสดงอยู่ในลายมือ, DNA และดวงดาว เป็นอะไรที่วัดใจว่า คนคนหนึ่งดวงตกแล้ว จะทำกรรมอะไรต่อ

บางตำราถึงขั้นกล่าวว่า ช่วงดวงตกถึงขีดสุด บาปเคราะห์ทุกชนิดดาหน้ามาประชุมกัน แม้ทำคุณคนก็ทำไม่ขึ้น ต้องเจอเนรคุณ ไปสะเดาะเคราะห์ที่วัดก็เกิดอุบัติเหตุ ทำให้จิตตก พยายามไกล่เกลี่ยกับศัตรู ก็โดนซ้ำเติม พูดง่ายๆ เหมือนชีวิตไม่เหลืออะไรดีสักอย่าง

@@@@@@@

มาทำความเข้าใจแบบพุทธกัน ดวงตกมีหลายแบบ แต่ละแบบเกิดจากบาปเก่าคนละชนิด และมี ‘บุญใหม่’ ที่สมน้ำสมเนื้อกันช่วยได้เสมอ

     ประเภทแรก ดวงตกทั่วไป คือ วิบากของบาปเล็กน้อย เกิดจากการเคยรบกวนจิตใจคนอื่นนิดหน่อย
เลยถูกรบกวนจิตใจนิดหน่อยบ้าง เช่น เคยขโมยของไม่สำคัญถึงเวลาบาปเผล็ดผล ของไม่สำคัญก็โดนขโมย ทำให้หงุดหงิด อารมณ์เสียเข้าให้บ้าง แต่ไม่ได้ก่อความเสียหายใดๆให้ชีวิต จึงไม่ต้องพยายามแก้ดวงใดๆ ลืมเมื่อไหร่ ก็เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย

     ประเภทที่สอง ดวงตกแบบยกให้ขึ้นง่าย คือ วิบากของบาปปานกลาง ประทุษร้ายคนอื่นเขาไว้แบบชั่วครั้งชั่วคราว พอเขาขอความเมตตาให้ละเว้น ก็ใจอ่อนละเว้นให้ เช่นนี้ เมื่อบาปเผล็ดผล แม้หนักก็ไม่สุด หรือพยายามวิ่งเต้นแก้ไขได้ไม่ยาก เป็นต้นว่า เกิดเรื่องเกิดราว ส่อเค้าว่าจะต้องติดคุก ทว่าเพียงแก้ต่างหรือแก้ตัว อธิบายที่มาที่ไป อุทธรณ์ขอความเมตตาจากศาลหรือคณะลูกขุน ก็ได้รับความเห็นใจ บรรเทาโทษ หรือปล่อยตัวไป เป็นต้น

     ประเภทสุดท้าย ดวงตกแบบยกขึ้นยาก หรือเจอแต่ทางตัน มืดแปดด้าน คือ วิบากของบาปที่ทำไว้หนัก หรือยืดเยื้อยาวนาน เช่น ปล้นแบบยกเค้า ไม่เหลืออะไรไว้เลย ไม่เห็นใจเจ้าทรัพย์เลย หรือทำร้ายจิตใจใครโดยหวังให้เขาเจ็บช้ำแรมปี เขาขอเลิกราก็ไม่ยอมอ่อนข้อให้ เช่นนี้ เมื่อบาปเผล็ดผล ก็มักเป็นชะตาชีวิตที่ล็อกไว้เหมือนไม่มีสิ่งใดช่วยได้ คล้ายมีใครแอบกลั่นแกล้ง แบบไม่เปิดช่องให้ทำอะไรได้ดีขึ้น


@@@@@@@

ขนาดอยากทำบุญ ยังโดนบั่นทอนกำลังใจราวกับภูตผีปิดกั้นทางไป ในระดับดวงตกสุดขีด ไม่ใช่ไม่มีบุญใหม่ช่วยได้ แต่เป็นบุญภายใน ไม่ใช่บุญภายนอก กล่าว คือ เมื่อทำอะไรให้คนอื่นแล้วไม่ได้ผล หรือเหมือนมีอุปสรรคขัดขวางบุญตลอด ก็ให้ทำบุญกับจิตตัวเองดูบ้าง

การทำบุญกับจิตตัวเองแบบพุทธ คือ บุญขั้นสูงสุด ตั้งต้นจากการทำความเข้าใจว่า กายนี้ ใจนี้ ถือกำเนิดจากพ่อแม่คู่นี้ เพราะกองบุญกองบาปในชาติก่อนๆ เป็นตัวกำหนดยุติธรรมที่สุดแล้ว ได้รับความเป็นธรรมที่สุดแล้ว เกิดใหม่ทุกครั้ง คือ การหลงยึดเหยื่อ คือ กายใจในอัตภาพใหม่ทุกครั้ง เมื่อหลงยึด ก็หลงสะสมบุญ สะสมบาป เป็นเหตุให้เกิดกายใจใหม่ไปเรื่อยๆไม่มีที่สิ้นสุด

เมื่อทำไว้ในใจอย่างนี้แล้วทุกข์บรรเทาลง ก็เรียกว่า สติเกิด โดยมีฐานเป็นความเชื่อ ความศรัทธา และเมื่อรู้เข้ามา ในภาวะทางกายใจอันไม่น่าเอา อาจนับเริ่มจากมีสติเห็นความทุกข์ในวันดวงตก เห็นว่า ทุกข์หนึ่งๆ ไม่ได้เกิดเองลอยๆ แต่เกิดเพราะมีเหตุบีบคั้น เห็นว่าทุกข์นั้นๆ ตั้งอยู่ไม่นานก็เสื่อมลงไปเอง ทุกข์ไม่ใช่ของเรา ทุกข์ไม่ใช่ตัวเราจะเลี้ยงไว้ก็ไม่ได้ ต้องหายไปเป็นธรรมดา

เมื่อเห็นทุกข์ทางใจไม่เที่ยงได้บ่อยๆ อุปาทานยึดกายยึดใจก็เบาบางลง เช่นนั้น ก็ทราบชัดกับตนว่า ดวงตกแต่จิตไม่ตก ก็เหมือนดวงขึ้น และเป็นดวงขึ้นทางธรรมขั้นสูงสุดด้วย ใครทำได้ ก็เรียกว่า สติเกิด โดยมีฐานเป็นปัญญา





ขอบคุณที่มา : https://www.facebook.com/dungtrin/posts/ดวงตกในทางพุทธเป็นเรื่องจริงเป็นวาระที่วิบากแห่งบาปกรรมเก่าเล่นงานเป็นสิ่งที่แสด/3481971888526611/
Facebook Dungtrin · 30 กันยายน 2020
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 13, 2025, 11:19:12 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29314
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ว่าด้วย จิตตก
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: พฤษภาคม 13, 2025, 10:36:47 am »
0
.



“เครียด หงุดหงิด จิตตก” ถึงเวลาพบจิตแพทย์หรือยัง.?

เนื่องจากสภาวะการณ์รอบตัวของแต่ละคนนั้น แตกต่างกันตามพื้นฐานครอบครัวและสังคมที่ต้องพบเจอในชีวิตประจำวัน เรื่องราวต่าง ๆ อาจจะส่งผลกระทบโดยตรง ต่อทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ

หากสังเกตตัวเอง และคนใกล้ชิดว่า…เขาเริ่มมีพฤติกรรมการแสดงออกทางอารมณ์ และการเข้าสังคม ที่แปลกไป ถึงเวลาหรือยัง ? ที่จะลองแนะนำให้เขาเข้าไปปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อลองมาสังเกตอาการผิดปกติกัน และช่วยให้เขากลับมามีสุขภาพกายและจิตที่เป็นปกติ

จะรู้ตัวตอนไหนว่า “คุณ” เข้าข่ายต้องปรึกษาจิตแพทย์

    1. อารมณ์สวิง เปลี่ยนแปลง ขึ้นลงง่าย
    2. อดทนต่อสภาวะรอบตัวได้ยากขึ้น
    3. ไม่มีสมาธิในการทำกิจกรรม หรือการงานต่าง ๆ
    4. เครียด ใจสั่น หัวใจเต้นแรง ตื่นเต้นกับทุกเหตุการณ์รอบตัว
    5. มีอารมณ์ทั้งเศร้า เหงา หรือจิตตก อยากแต่จะหาคนระบายให้ฟัง
    6. อยากแยกตัวกับสังคม เก็บตัว พูดคุยน้อยลง
    7. ไม่อยากทำอะไร ขี้เกียจ เบื่อโลกและผู้คน
    8. อยากนอน มีอาการการนอนที่ผิดปกติไป หรือ อาจจะนอนไม่หลับ
    9. ทำอะไรที่ไม่เคยทำ มีพฤติกรรมก้าวร้าว หรือ การใช้จ่ายที่แปลกไป
  10. กลัวสื่งใดสิ่งหนึ่ง ย้ำคิดย้ำทำ หวาดระแวง หูแว่ว เห็นภาพหลอน
  11. ไม่อยากมีชีวิตอยู่ เริ่มมีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง และพยายามอยากจะคิดสั้นฆ่าตัวตาย

…หากสังเกตตัวเองว่า “เริ่มเข้าข่ายที่มีพฤติกรรมดังกล่าว” ควรถึงเวลาแล้วล่ะ ที่คุณควรที่จะต้องไปปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อดูว่าในกลุ่มอาการของโรคที่คุณเป็น เข้าข่ายอาการของกลุ่มอาการของโรคจิตเวชประเภทใด





หลายคนอาจจะคิดว่า “อาการทางจิต” ที่เกิดขึ้น เป็นแค่เพียงอารมณ์ชั่ววูบ มีแต่คนที่เป็นโรคหรือคนใกล้ชิดเท่านั้น ที่จะรับรู้ว่าได้ว่า ตนเองเริ่มมีสัณญาณเตือนที่ผิดแปลกไปจากเดิม แต่โรคทางจิตเวชนั้น มีกลุ่มอาการของโรคที่หลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น

กลุ่มอาการของโรคจิตเวชที่พบ ได้แก่

    1. โรคแพนิก
    2. โรคซึมเศร้า
    3. โรคจิตเภท
    4. โรคอารมณ์สองขั้ว หรือ ไบโพลาร์
    5. โรคสมองเสื่อม
    6. โรคจิตหลงผิด
    7. โรคเครียดจากเหตุการณ์ร้ายแรง ฯลฯ

…หากคุณหรือคนใกล้ชิดมีอาการดังกล่าว อย่าปล่อยอาการเหล่านี้ไว้ ควรรีบไปพบจิตแพทย์ เพื่อเข้ารับคำปรึกษา โดยจิตแพทย์อาจจะร่วมมือกับนักจิตวิทยา ในการช่วยเหลือให้คำแนะนำ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น พร้อมปรับพฤติกรรม หรือให้ยารักษาโรค เพื่อปรับสารเคมีในสมองให้แก่ผู้ป่วย…เพื่อการดูแลตัวเองให้เต็มประสิทธิภาพต่อไป





ขอบคุณ : https://www.princsuvarnabhumi.com/articles/content-mental-illness
บทความสุขภาพ | โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ




ทำอย่างไร.? เมื่อจิตตก

เคยหรือไม่กับความเครียดที่เกิดจากปัญหาของสิ่งต่าง ๆ รอบตัวทั้งเรื่องงาน เรื่องเงิน เรื่องครอบครัว หรือแม้แต่เรื่องความรัก และไม่ว่าจะเป็นปัญหาแบบใด หากเราจมอยู่กับความคิดนั้นจนรู้สึกแย่ และไม่สามารถหาทางออกได้ อาจทำให้เราเสี่ยงเป็นสภาวะ “จิตตก” ได้

ซึ่งสภาวะดังกล่าวสามารถส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันได้ และด้วยความที่สภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้ง่าย หากเราขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมัน บทความนี้จึงจะพาคุณไปรู้จักกับสภาวะจิตตกกัน

@@@@@@@
 
อาการของสภาวะจิตตก

ในระยะแรก ๆ จะรู้สึกเป็นกังวลเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ อย่างมาก เริ่มกลัวและคิดถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นในแง่ลบ ซึ่งอาจมีอาการอื่น ๆ ตามมาในภายหลัง เช่น นอนไม่หลับ ใจสั่น ไม่มีสมาธิ  ระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติ เป็นต้น หากอาการอยู่ในระดับรุนแรงอาจทำให้คิดถึงขั้นว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

นอกจากนี้ในบางรายอาจมีอาการทางจิตร่วมด้วย เช่น หวาดระแวง หูแว่ว และประสาทหลอน เป็นต้น และเนื่องจากโรคนี้ไม่สามารถป้องกันได้โดยตรง อีกทั้งยังไม่สามารถรู้ได้ล่วงหน้าว่าจะเกิดขึ้นตอนไหน เพราะต้องขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันที่เราต้องเจอด้วย ดังนั้นการเตรียมพร้อมรับมือกับอาการจิตตกจึงเป็นสิ่งที่เราควรรู้เอาไว้
 
เตรียมรับมือกับอาการจิตตกได้อย่างไร

หากเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงเรื่องราวหรือเหตุการณ์ร้าย ๆ ได้ เราก็ควรดูแลตนเองในทุกสภาวะในทุก ๆ วัน เพื่อไม่ให้เกิดความเครียดจากเรื่องรอบตัวมากจนเกินไป เช่น การพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะหากร่างกายของเราได้รับการพักผ่อนน้อยจะส่งผลถึงความคิด และอารมณ์ในทางอ้อมได้

นอกจากนี้การหากิจกรรมอื่น ๆ ทำเพื่อพักผ่อนร่างกายก็สามารถช่วยได้ เช่น การออกกำลังกายเพื่อให้สมองหลั่งฮอร์โมนเอ็นดอร์ฟินที่สามารถช่วยให้เราผ่อนคลายขึ้นได้ หรือจะดูหนัง ฟังเพลง ก็ถือเป็นการพักผ่อนทางจิตใจได้เช่นเดียวกัน





เมื่ออยู่ในสภาวะจิตตกควรทำอย่างไร

เมื่อตกอยู่ในสภาวะดังกล่าวเราต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ และความคิดต่อเรื่องนั้น ๆ ทั้งการเชื่อมั่นในตนเอง เชื่อว่าปัญหาจะมีทางออก มองหาแง่บวกของเรื่องนั้น ๆ จัดลำดับขั้นตอนของปัญหา และไล่แก้ไขทีละเรื่องไปตามขั้นตอนที่วางเอาไว้

แต่ถ้ามั่นใจแล้วว่าไม่สามารถผ่านพ้นปัญหาเหล่านั้นได้ การให้เพื่อน หรือคนในครอบครัวเข้ามาช่วยก็เป็นทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่งเหมือนกัน

แต่ถ้าหากยังไม่สามารถหาทางออกได้อีก ให้เข้าพบแพทย์ด้านจิตวิทยา หรือจิตแพทย์เพื่อรับการปรึกษา พูดคุยเพื่อหาทางออกเกี่ยวกับปัญหาเหล่านั้นให้จงได้

ปัญหาสภาวะจิตตกถือเป็นเรื่องไม่ไกลตัว ดังนั้นการเตรียมรับมือ และกำลังใจจากผู้คนรอบข้างในการเจอปัญหาต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราผ่านพ้นปัญหาต่าง ๆ ไปได้




แหล่งข้อมูลอ้างอิง : สสส.
ขอบคุณ : https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/depressed_moment
02 มิถุนายน 2563 • รวมบทความสุขภาพ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 13, 2025, 10:41:46 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29314
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ว่าด้วย จิตตก
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: พฤษภาคม 13, 2025, 11:15:34 am »
0
.

พระอาจารย์ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาาณวชิโร) ในขณะนั้น (ภาพในอดีต)


จิตตกภวังค์ คืออะไร.?

ทีนี้ก็มาถึงเรื่องจิตตกภวังค์ ผู้ปฏิบัติสมาธิมักจะได้ยินคำนี้อยู่บ่อยๆ ซึ่งครูบาอาจารย์ท่านใช้อธิบายสภาวะจิตขณะดำเนินไปสู่ความสงบ แต่เกิดเผลอสติทำให้วูบดิ่งลงไปอย่างเร็วชั่วขณะ เหมือนลิฟต์ดิ่งลงแบบไม่ชะลอลง บางขณะเหมือนจิตตกวูบลงมาจากที่สูง ชั่วขณะจิตหนึ่งก็สะดุ้งขึ้นมามีอาการเหมือนคนโงกง่วงวูบไปชั่วขณะก็สะดุ้งขึ้นมา

    “แต่อย่างไรก็ตาม ก็อย่าไปใส่ใจว่าจะเป็นอะไร เพราะแม้จะอธิบายเป็นจิตตกภวังค์ หรือโงกง่วง ก็เป็นเพียงอาการหนึ่งของจิตที่ต้องรู้เท่านั้น”
                                  พระอาจารย์ญาณวชิระ

พอจิตตกลงไป ก็คือไม่รู้ นั่นแหละอวิชชาปรากฏ จะอธิบายให้ดูเป็นคำแปลกขึ้นมาในทางสมาธิ ก็เป็นเพียงอาการของจิตที่เผลอสติจึงปล่อยให้วูบไป ที่นำมาอธิบายไว้ก็เพื่อจะให้รู้ไว้เท่านั้น เมื่อมีการพูดถึงคำนี้ก็จะได้เข้าใจความหมายของภาษาที่ใช้สื่อสารกันในหมู่ผู้ปฏิบัติสมาธิ ไม่ใช่คำที่วิเศษออกไปแต่อย่างไร

    “จิตตกภวังค์หรือจิตตก เพราะโงกง่วง ก็คือจิตเผลอสติ”
                                        พระอาจารย์ญาณวชิระ

จิตไม่อยู่กับปัจจุบันขณะ เป็นจิตมีโมหะ มีถีนมิททะ มีอุทธัจจะกุกกุจจะ จึงเผลอสติ รวมความก็คือเป็นจิตมีลักษณะแห่งอวิชชาไม่รู้ปัจจุบันขณะ เพราะไม่ตั้งมั่นในอารมณ์พระกรรมฐาน

อาการของจิตตกภวังค์กับอาการของจิตสัปหงกโงกง่วง จะมีอาการคล้ายๆ กัน คือ อาการเผลอเลอลืมสติ แต่ก็มีความต่างกัน คือ เมื่อมีความง่วงเราก็จะรู้สึกว่าง่วงนอนมาก พยายามฝืนความง่วง พอเผลอสติก็สัปหงกโงกง่วงไป ก็สะดุ้งสุดตัว

ส่วนจิตตกภวังค์ เมื่อกำหนดภาวนาไปพอเกิดเบาสบาย เพราะจิตกำลังรวมดวงดำเนินไปสู่ความสงบ เกิดเผลอสติเพราะอารมณ์เบาสบาย ขาดสติกำหนดองค์พระกรรมฐาน ขาดความรู้ตัวทั่วพร้อม ก็วูบลงสู่ภวังค์ชั่วขณะ คือ จิตตกลงสู่ภวังค์แบบขาดสติ จึงไม่มีสติเป็นเครื่องชะลอลง ก็สะดุ้งกลับขึ้นมา เหมือนเวลาจับเชือกหย่อนของหนักๆ ลง เราก็ค่อยๆ ชะลอลง ถ้าไม่ชะลอลง ปล่อยเชือกเสียก็ร่วงลงที่เดียว

    “สติก็หมือนเชือก ที่คอยชะลอจิตขณะรวมดวงสู่ภวังค์”
                                       พระอาจารย์ญาณวชิระ



พระอาจารย์ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาาณวชิโร) ในขณะนั้น (ภาพในอดีต)


จิตตกภวังค์จึงเป็นคำเรียกสภาวะจิตนี้ในหมู่ผู้ปฏิบัติสมาธิ โดยนำคำว่า “ภวังคจิต” ที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระอภิธรรม ที่อธิบายกระบวนการทำงานตามธรรมชาติของจิต มาอธิบายสภาวะจิตขณะปฏิบัติสมาธิแล้ววูบไปชั่วขณะ บางทีก็อธิบายว่า จิตตกภวังค์ คือจิตตกลงสู่ภพเดิมของตนเอง หรือจิตดั้งเดิม ภพเดิมของจิตมีธรรมชาติเป็นปภัสสร

แต่การที่จิตตกภวังค์เข้าสู่ภพเดิมแบบกระทันหันจะเป็นเพียงชั่ววูบเดียว เพราะเผลอสติจิตจึงร่วงลงสู่ภพเดิม แล้วสะดุ้งขึ้นมา ไม่ใช่การเข้าสู่ภพเดิมแบบมีสติสมบูรณ์ อยู่กับสภาวะปัจจุบันขณะดำเนินไปสู่ความสงบ จิตตกภวังค์จะคล้ายๆ อาการสะดุ้งตื่นจากอาการสัปหงกโงกง่วง วูบหลับไปแล้วสะดุ้งตื่น บางทีก็เหมือนได้นอนตื่นหนึ่ง จิตก็จะมีกำลังขึ้นมา มีความตื่นตัวเหมือนนอนอิ่ม

เพียงแต่จิตตกภวังค์ใช้อธิบายอาการสภาวะจิตขณะปฏิบัติสมาธิแล้วจิตวูบไปเพราะเผลอสติชั่วขณะหนึ่งก็ยกจิตขึ้นมาแล้วกำหนดองค์ภาวนาต่อไป ความต่างกันระหว่างความโงกง่วงกับจิตตกภวังค์ คือ  เมื่อภาวนาไปเกิดความง่วงซึ่งเกิดจากความอ่อนเพลียของร่างกาย ก็จะรู้สึกว่าง่วงเราก็ฝืนใจที่จะปฏิบัติสมาธิต่อ จึงสัปหงกโงกง่วงไป แล้วสะดุ้งทั้งตัว


@@@@@@@

ส่วนจิตตกภวังค์ ผู้ปฏิบัติอยู่ในอาการเบาสบาย เพราะจิตกำลังรวมดวงดำเนินเข้าสู่ความสงบ ความเบาสบายทำให้เผลอเลอลืมสติขาดการกำหนดรู้สภาวะที่เป็นปัจจุบัน ความรู้สึกเบา เบากายเบาใจ เพราะความสงบทำให้สติอ่อนกำลัง จึงเป็นจิตที่มีลักษณะถูกโมหะเข้าครอบ ถูกถีนมิททะ ถูกอุททัจจะกุกกุจจะเข้าครอบ ทำให้เป็นจิตฟุ้งๆเบลอๆ  เลื่อนลอยอ่อนกำลัง มีความไม่ชัดเจน สติก็ไม่แจ่มชัด สมาธิก็ไม่ชัดเจน มีความคิดปนอยู่ด้วย แต่ไม่ชัดว่าคิดอะไร 

จิตอ่อนกำลังจึงตก เหมือนคนป่วยหนักอ่อนกำลังกำลังจึงตก พยายามที่จะฝืนกำลังกลับขึ้นมา พอฝืนขึ้นมากำลังก็ตกลงไปอีก ถ้าฝืนใจยกกำลังกลับขึ้นมาอยู่เรื่อย กำลังใจก็จะกล้าแข็งขึ้นเรื่อยๆ จนกำลังคงที่ เหมือนคนออกกำลังกายบ่อยกล้ามเนื้อก็แข็งแรง

เมื่อจิตจะเข้าสู่ภพเดิมก็สามารถเข้าแบบชะลอตัวค่อยๆ เข้าไป เป็นการเข้าไปแบบประคองตัว โดยมีสติคอยกำกับ

      อาการที่จิตตกวูบเรียกว่า  “จิตตกภวังค์”
                     พระอาจารย์ญาณวชิระ

แต่ถ้าตกไปแล้ว สามารถชะลอจิตให้เบาผ่านไปได้จนจิตมีกำลัง ก็จะสามารถประคองจิตเข้าสู่ความเป็นเอกภาพ มีความว่างภายในได้ คือจิตกำลังดิ่งอยู่ แต่เผลอสติปล่อยให้ตกวูบลงไปทีเดียว ก็เรียกว่า ขาดสติประคองจิต อาการนี้เป็นอาการของจิตที่เจือด้วยถีนมิททะ อุททัจจะกุกกุจจะ มีความโงกง่วง ฟุ้งๆ เบลอๆ เพราะสติไม่บริบูรณ์





ขอบคุณที่มา :-
บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๓๘) จิตตกภวังค์คืออะไร เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร)
https://www.manasikul.com/บันทึกธรรม-สัมมาสมาธิ-บ-37/
โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ - ธันวาคม 27, 2021


 :25: :25: :25:

ภวังคจิต  คือ จิตที่เป็นองค์แห่งภพ

ตามหลักอภิธรรมว่า จิตที่เป็นพื้นอยู่ระหว่างปฏิสนธิและจุติ คือ ตั้งแต่เกิดจนถึงตาย ในเวลาที่มิได้เสวยอารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ มีจักขุทวาร เป็นต้น

แต่เมื่อใดมีการรับรู้อารมณ์ เช่น เกิดการเห็น การได้ยิน เป็นต้น ก็เกิดเป็นวิถีจิตแทนภวังคจิต เมื่อวิถีจิตดับหมดไป ก็เกิดเป็นภวังคจิตขึ้นอย่างเดิม

       ภวังคจิต นี้ คือ มโน ที่เป็นอายตนะที่ ๖ หรือ มโนทวาร อันเป็นวิบาก เป็นอัพยากฤต ซึ่งเป็นจิตตามสภาพ หรือตามปกติของมัน ยังไม่ขึ้นสู่วิถีรับรู้อารมณ์ (เป็นเพียงมโน ยังไม่เป็นมโนวิญญาณ)

       พุทธพจน์ว่า “จิตนี้ประภัสสร (ผุดผ่อง ผ่องใส บริสุทธิ์) แต่เศร้าหมองเพราะอุปกิเลสที่จรมา”
       มีความหมายว่า จิตนี้โดยธรรมชาติของมันเอง มิใช่เป็นสภาวะที่แปดเปื้อนสกปรก หรือมีสิ่งเศร้าหมองเจือปนอยู่ แต่สภาพเศร้าหมองนั้น เป็นของแปลกปลอมเข้ามา
       ฉะนั้น การชำระจิตให้สะอาดหมดจด จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้
       จิตที่ประภัสสรนี้ พระอรรถกถาจารย์อธิบายว่า ได้แก่ ภวังคจิต




ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
https://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ภวังคจิต
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ