ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: สัพเพ ปุถุชชนา อุมมัตตกา : “ปุถุชนทั้งหลายมีภาวะวิกลจริต”  (อ่าน 188 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29314
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.
 :25: :25: :25:

ความเข้าใจแนวพุทธ เกี่ยวกับความผิดปกติทางจิตใจ
โดย จําลอง ดิษยวณิช พบ., M.S.
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ที่มา : วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2551 ; 53(3) : 243-255



 :49:

บทคัดย่อ

ตามหลักคําสอนในพุทธศาสนา มีโรคอยู่สองชนิด คือ โรคทางกาย และโรคทางใจ มนุษย์ทุกคน เป็นโรคทางใจหรือความผิดปกติทางจิตใจด้วยกันทั้งนั้น ยกเว้นพระอรหันต์ ผู้ทําลายอาสวะกิเลสได้โดยสิ้นเชิง

ในจิตวิทยาตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตวิเคราะห์ ฟรอยด์ (Freud) ไม่เชื่อในเรื่องของ สุขภาพจิตที่สมบูรณ์ที่สุด และยังได้ยืนยันว่า มนุษย์ทุกคนไม่สามารถขจัดความขัดแย้งในจิตไร้สํานึก และความวิตกกังวลสากลได้

ตามทรรศนะทางพุทธศาสนา แรงขับในจิตไร้สํานึกและความวิตกกังวล พื้นฐานมีสาเหตุมาจากกิเลสที่เป็นรากเหง้าในส่วนลึกของจิตใจ พระอรหันต์คืออริยะบุคคลที่บรรลุ ความมีสุขภาพจิตที่สูงและสมบูรณ์ที่สุด เพราะว่ากิเลสอย่างละเอียด (อนุสัย) ในจิตใจ ได้ถูกขจัดออกไปอย่างหมดสิ้น

ในมุมมองแนวพุทธ สาเหตุของความผิดปกติทางจิตใจหรือ “อุมมัตตกะ” ในภาษาบาลีมีอยู่ 8 อย่าง ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีผลทําให้เกิดอาการบ้า วิกลจริต หรือโรคจิต สาเหตุเหล่านี้ได้แก่

     1) กามุมมัตตกะ คือ ภาวะวิกลจริตที่สัมพันธ์กับความอยาก (โลภะ)
     2) โกธัมมัตตกะ คือ ภาวะวิกลจริต ที่สัมพันธ์กับความโกรธ (โทสะ)
     3) โมหุมมัตตกะ คือ ภาวะวิกลจริตที่สัมพันธ์กับความหลง (โมหะ)
     4) ทิฏฐมมัตตกะ คือ ภาวะวิกลจริตที่สัมพันธ์กับความเห็นผิด
     5) ปิตตุมมัตตกะ คือ ภาวะวิกลจริตที่ สัมพันธ์กับโรคทางร่างกาย
     6) สุขุมมัตตกะ คือ ภาวะวิกลจริตที่สัมพันธ์กับสุราและสารเสพติดอื่นๆ
     7) พยสนุมมัตตกะ คือ ภาวะวิกลจริตที่สัมพันธ์กับเคราะห์ร้ายหรือการสูญเสีย และ
     8) ยักขุมมัตตกะ คือ ภาวะวิกลจริตที่สัมพันธ์กับภูติผีหรือปีศาจร้าย

ปัจจุบันมีการจําแนกโรคออกเป็นสามชนิด คือ โรคทางกาย โรคทางจิตใจ และโรคทางจิตวิญญาณ
.
ความหมายเดิมของโรคทางใจ (mental disease) ในคําสอนทางพุทธศาสนาสอดคล้องกับความหมายของโรคทางจิตวิญญาณ (spiritual disease) เนื่องจากโรคทางใจหรือโรคทางจิตวิญญาณ เกิดจากความยึดมั่น ในเบญจขันธ์ (อุปาทานขันธ์) และอนุสัยกิเลส
.
วิธีที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคนี้ คือ การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ตามแนวสติปัฏฐานสี่

                                                     - จบบทคัดย่อ -





 :25: :25: :25:

ในมุมมองทางพุทธศาสตร์มีโรคอยู่สองอย่าง คือ โรคทางกายและโรคทางใจ มนุษย์ทุกคนเป็นโรคทางใจ ด้วยกันทั้งนั้น ยกเว้นพระอรหันต์ พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสไว้ในสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาตว่า

    “ดูกรภิกษุทั้งหลาย โรค 2 อย่างนี้ 2 อย่างเป็น ไฉน คือ โรคทางกาย 1 โรคทางใจ 1”
    “ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายผู้ปฏิญาณความไม่มีโรคด้วยโรคทางกายตลอดปีหนึ่งมีปรากฏ ผู้ปฏิญาณความไม่มีโรคตลอด 2 ปีบ้าง 3 ปีบ้าง 4 ปีบ้าง 10 ปีบ้าง 20 ปีบ้าง 30 ปีบ้าง 40 ปีบ้าง 50 ปีบ้าง ผู้ปฏิญาณความไม่มีโรคแม้กว่า 100 ปีบ้าง มีปรากฏ”
    “ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่าใด ปฏิญาณความไม่มีโรคทางใจแม้ครู่หนึ่ง สัตว์เหล่านั้น หาได้ยากในโลก เว้นแต่พระขีณาสพ (ผู้สิ้นอาสวะกิเลส) เท่านัน”
(1,2-)

ความหมายของโรคทางใจหรือความผิดปกติทางจิตใจ

คําว่า “อาสวะ” ตามศัพท์หมายถึง “influx” ซึ่งแปลว่า การไหลบ่าเข้ามา หรือการทะลักเข้ามา กล่าวคือ เป็นการทะลักเข้าของกิเลสสู่จิตใจเมื่อประสบ กับอารมณ์ต่างๆ จนกลายเป็นสิ่งหมักดองอยู่ในส่วนลึก ของจิตใจ มีอยู่สี่อย่าง คือ
    (1) กามาสวะ อาสวะ คือ กาม
    (2) ภวาสวะ อาสวะ คือ ภพ
    (3) ทิฏฐาสวะ อาสวะ คือ ทิฏฐิ และ
    (4) อวิชชาสวะ อาสวะ คือ อวิชชา

จากคําสอนของพระพุทธเจ้า โรคทางใจหรือความผิดปกติทางจิตใจถือว่าเป็นความแปรปรวนทางจิตอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจิตใจมีความสัมพันธ์กับ อาสวะกิเลส ดังนั้นมนุษย์ทุกคนในโลกนี้รวมทั้ง พระอริยบุคคลบางประเภทนับตั้งแต่พระโสดาบัน พระสกทาคามี จนถึงพระอนาคามีล้วนแต่เป็นโรคประเภทนี้ทั้งสิ้น ยกเว้นพระอรหันต์ ผู้สามารถทําลายอาสวะ ทั้งสี่อย่างได้โดยสิ้นเชิง

@@@@@@@

แนวคิดของสุขภาพในจิตวิทยาตะวันตก

สุขภาพ คือ คุณภาพชีวิตอย่างหนึ่ง ซึ่งยากที่จะ ให้คําจํากัดความหรือนิยาม นอกจากนั้นยังไม่สามารถ ที่จะวัด (ประเมิน) ให้เห็นได้ชัดเจน องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ขยายนิยามของคําว่าสุขภาพเดิมเมื่อ 50 ปีที่แล้ว โดยเสนอแนะว่า

    “สุขภาพ คือ ภาวะ เชิงพลศาสตร์ (หรืออันตรกิริยา) ของความสุขสมบูรณ์ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ไม่เพียง แต่ความปราศจากโรค หรือทุพพลภาพเท่านั้น” (4,5-)

จิตวิญญาณ คือ ส่วนที่เพิ่มเข้ามาในมุมมองของสุขภาพ ยิ่งกว่านั้นการสํารวจขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับคําบรรยายของสุขภาพ ยังได้ขยายจุดความสนใจจากเรื่องโรคไปยังการกระทําหรือหน้าที่และมุมมองเชิงบวก อื่นๆ ของสุขภาพ สิ่งหนึ่งคือคุณภาพชีวิตซึ่งสามารถ ประเมินได้อย่างชัดเจนโดยบุคคลแต่ละคนที่เกี่ยวข้อง ในการวางสูตรของนโยบายสุขภาพดีถ้วนหน้าในศตวรรษ ที่ 21 องค์การอนามัยโลกยังได้รวมเรื่อง จริยธรรม ความเที่ยงธรรม (สมธรรม) และสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่สําคัญเข้าไว้ด้วย(4-)

ตัวแบบองค์รวมได้ให้นิยามของ “สุขภาพ” ในลักษณะที่เกี่ยวข้องกับคนทั้งคน ไม่ใช่เป็นแต่เพียง ส่วนของร่างกายที่เกิดโรค ตัวแบบนี้ครอบคลุมทั้งในส่วน ของสรีรวิทยา จิตใจ อารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณ รวมทั้งมุมทางสิ่งแวดล้อมของบุคคล ครอบครัว และชุมชน มีการมุ่งเน้นไปที่เรื่องของสุขภาพที่เหมาะสมที่สุด ภาวะปกติ การป้องกันโรค รวมทั้งภาวะทางจิตใจ และอารมณ์ที่ดี (6,7-)

อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้มีความพยายาม ที่สอดคล้องกันในการให้นิยามของคําว่า สุขภาพ (health) และภาวะปกติ มีความเข้าใจที่บอกเป็นนัยว่า สุขภาพจิต หมายถึง สิ่งที่ตรงกันข้ามกับโรคทางใจ หรือความผิดปกติทางจิตใจ เมื่อวางสมมติฐานไว้เช่นนี้ ความไม่มีจิตพยาธิวิทยาที่ชัดเจนมักจะได้รับการยอมรับว่า เหมือนกับบุคลิกภาพปกติ ดังนั้นแนวคิดเช่นนี้ จึงถูกจํากัดขอบเขตโดยการให้นิยามของสุขภาพจิตว่า เป็นแต่เพียงความปราศจากโรคทางใจหรือความผิดปกติทางจิตใจ (8-)

ซึ่งในมุมมองหนึ่ง ภาวะปกติก็เหมือนกับสุขภาพ สุขภาพก็เป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งของคนเรา ผลที่ ตามมา คือ พฤติกรรมที่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติเกิดขึ้น เมื่อไม่มีอาการหรืออาการแสดงของความแปรปรวน ทางจิตใจ ในแบบที่ง่ายที่สุด คนที่มีสุขภาพจิตดี คือ คนที่ไม่มีความทุกข์ ความอึดอัดใจและความพิการ (ทั้งทางร่างกายและจิตใจ)

ในอีกมุมมองหนึ่งภาวะปกติถือว่า เป็นอุตมรัฐ (Utopia) คําว่า “Utopia” เป็นดินแดนหรือภาวะใน จินตนาการที่มีทุกสิ่งทุกอย่างสมบูรณ์ที่สุด สามารถมองได้ว่าภาวะปกติเป็นส่วนผสมขององค์ประกอบที่แตกต่าง ในอุดมคติที่มีสุขภาพจิตสมบูรณ์ที่สุดนั้นมิใช่เป็นแต่เพียง กันหลายรูปแบบของจิตใจที่ลงเอยด้วยการกระทําที่ เหมาะสมที่สุด แนวทางเช่นนี้คือการแสวงหาบุคคลใน อุดมคติที่มีภาวะปกติที่สัมบูรณ์ (absolute normality)

อย่างไรก็ตามเมื่อพูดถึงภาวะปกติในมุมมองเช่นนี้ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) กล่าวว่า “อัตตา หรือตัวตนที่ปกติก็เหมือนกับภาวะปกติโดยทั่วไป คือ เป็นแต่เพียงสิ่งสมมุติตามอุดมคติเท่านั้น” ฟรอยด์ ไม่เชื่อในเรื่องของภาวะปกติสัมบูรณ์หรือสุขภาพจิต สมบูรณ์ที่สุด และยังได้ยืนยันว่ามนุษย์ทุกคนไม่สามารถ ทําให้ตนเองเป็นอิสระจากความขัดแย้งในจิตไร้สํานึก ได้ ในจิตวิเคราะห์ความวิตกกังวล (anxiety) เป็น ปรากฏการณ์สากลและไม่มีทางที่มนุษย์จะทําลายอาการเชิงจิตวิสัยนี้ได้อย่างสิ้นเชิง ความเป็นสากลของโรคประสาท และความขัดแย้งในจิตไร้สํานึกเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ (9-11-)

@@@@@@@

บุคคลในอุดมคติที่มีสุขภาพจิตสมบูรณ์ทีสุด

โดยรวม “สุขภาพจิต คือ ภาวะของความผาสุก ทางอารมณ์และจิตใจ ซึ่งบุคคลสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีความสุขกับสิ่งแวดล้อมทางสังคม ประสบผลสําเร็จส่วนตัวตามที่ปรารถนาไว้ มีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น และสามารถจัดการกับปัญหาต่างๆ ได้ อย่างน่าพึงพอใจ” ในพุทธศาสนา ภาวะของสุขภาพจิต มีส่วนสัมพันธ์กับระดับของกิเลสภายในจิตใจ

นอกจากนั้นสิ่งที่เรียกว่า “ความวิตกกังวลสากล” หรือ “ความวิตกกังวลพื้นฐาน” มีสาเหตุมาจากความยึดมั่น ในตัวตนที่เป็นรากเหง้าและฝังลึกอยู่ในจิตใจ ความเชื่อ ใน “ฉัน” “ของฉัน” “เธอ” “ของเธอ” อัตตาหรือตัวตน แม้จะก่อให้เกิดความรู้สึกของความมั่นคงในระดับหนึ่ง แต่ก็เป็นสาเหตุสําคัญของความวิตกกังวล (2-)

ดังนั้นผู้ที่มี สุขภาพจิตดีหรือสมบูรณ์ที่สุด คือ ผู้ที่สามารถขจัดกิเลส ภายในจิตใจได้ทั้งหมด ตามแนวนี้จะเห็นได้ว่า บุคคลในอุดมคติที่มีสุขภาพจิตสมบูรณ์มิใช่เป็นแต่เพียงเรื่องเพ้อฝัน หรือจินตนาการเท่านั้น แต่เป็นความจริง พระอรหันต์คือผู้ที่มีสุขภาพจิตดี และสมบูรณ์ที่สุด โดยการที่ท่านได้ทําลายอาสวะกิเลสให้หมดไปโดยสิ้นเชิง และไม่มีความยึดมั่นในตัวตนอีกต่อไป

@@@@@@@

แนวคิดเชิงพุทธของความผิดปกติทางจิตใจ

ในพุทธศาสนาความเครียด ความวิตกกังวล และปฏิกิริยาทางอารมณ์ ถือว่าเป็นปัญหาทางจิตใจ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้มักจะนําไปสู่ความทุกข์ ความเศร้าใจ ความคับข้องใจ และความสิ้นหวัง ถ้าเราไม่รู้วิธีที่ จะจัดการได้อย่างฉลาด สิ่งเหล่านี้ยังทําให้เกิดผลเสีย ต่อสุขภาพกายและจิตได้ สิ่งดังกล่าวมีต้นตอมาจากกิเลส ซึ่งในจิตวิทยาแนวพุทธถือว่าเป็นสาเหตุของความทุกข์สากล (universal suffering)

กิเลสทางใจมีอยู่ 10 อย่าง ที่เรียกว่า กิเลส  เพราะว่า กิเลสทําให้ตัวเองเศร้าหมอง และยังทําให้สิ่งที่ประกอบกับจิตหรือเจตสิกเศร้าหมองด้วย กิเลสเหล่านี้ ได้แก่
     (1) โลภะ ความอยากได้
     (2) โทสะ ความคิดประทุษร้าย
     (3) โมหะ ความหลง
     (4) มานะ ความถือตัว
     (5) ทิฏฐิ ความเห็นผิด
     (6) วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย
     (7) ถีนะมิทธะ ความหดหู่
     (8) อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน
     (9) อหิริกะ ความไม่ละอาย และ
     (10) อโนตตัปปะ ความไม่เกรงกลัวต่อความชั่ว (3,12-)

กิเลสเป็นสาเหตุของ อกุศลกรรม ซึ่งสุดท้ายก็จะนําไปสู่อกุศลวิบาก (3-)

คําว่า กิเลส มาจากภาษาบาลี และมีความหมาย เพราะว่าลักษณะสองอย่าง คือ ทรมาน และเผาไหม้ เฉพาะของกิเลส คือ การทรมานและการเผาไหม้ ผู้ที่ ตกเป็นทาสจึงได้รับความทุกข์จากผลเสียที่เกิดขึ้น กิเลส เป็นสาเหตุของปัญหาหลายอย่างในโลกนี้ ตัวอย่างเช่น ในกรณีของความโลภหรือตัณหา เมื่อตัณหาไม่ได้รับการตอบสนองก็จะเกิดการเผาไหม้ หรือการทรมานใจ และทําให้เกิดความรู้สึกของความขัดข้องใจ เมื่อใครไม่ได้สิ่งในสิ่งที่ตนต้องการก็จะเกิดความทุกข์อย่างที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้ในอริยสัจสี่

ในทางตรงกันข้าม เมื่อตัณหาได้รับการตอบสนอง สิ่งนี้ก็จะนํา ไปสู่ตัณหาและอุปาทานที่เพิ่มมากขึ้น และผลสุดท้าย ก็ทําให้เกิดปัญหาทางจิตใจ ร่างกาย หรือจิตวิญญาณ นานัปการ เมื่อความรู้สึกโกรธหรือเกลียดแสดงออก มาโดยขาดสติ (ความระลึกได้) และสัมปชัญญะ (ความรู้ตัวทั่วพร้อม) มักทําให้เกิดผลเสียในสัมพันธภาพ กับผู้อื่นและสังคม เมื่อความรู้สึกเช่นนี้ถูกระงับหรือ ถูกเก็บกดเอาไว้ก็จะมีไฟภายในเกิดขึ้น ซึ่งอาจมีผลทําให้เกิดความรู้สึกซึมเศร้า (depression) หรือโรคทางกายเหตุจิต (psychosomatic disorders) (4-)

กิเลสเหล่านี้และเจตสิก (สิ่งที่ประกอบกับจิต) ฝ่ายอกุศลเป็นสาเหตุที่สําคัญของความผิดปกติทางจิต ซึ่งบางทีเรียกว่าโรคทางใจหรือความแปรปรวนทางจิตใจ ตามทรรศนะของพุทธศาสนามีสาเหตุของความผิดปกติทางจิตอยู่ 8 อย่าง ซึ่งในรายที่มีอาการรุนแรง อาจทําให้ เกิดความบ้า อาการวิกลจริต หรือโรคจิต ซึ่งเรียกว่า อุมมัตตกะ

คําว่า “อุมมัตตกะ” มาจากภาษาบาลี ซึ่งหมายถึง “ความบ้า วิกลจริต โรคจิต หรือความไร้สติ ความหมายที่แท้จริงของ “อุมมัตตกะ” คล้ายกับ คําว่า “โรคจิต (psychotic disorder)” ในจิตเวชศาสตร์ สมัยใหม่

อย่างไรก็ตามในจิตวิทยาแนวพุทธอุมมัตตกะ ไม่ใช่หมายถึง เฉพาะโรคจิตเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง ความแปรปรวนทางจิตใจชนิดต่างๆ ด้วย อุมมัตตกะ มีอยู่ 8 ชนิด ดังต่อไปนี้ (13-15-)


(ยังมีต่อ..)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 17, 2025, 08:32:37 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29314
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
 :25: :25: :25:

1. กามุมมัตตกะ

ภาวะวิกลจริตชนิดนี้เกี่ยวข้อง กับราคะ กามตัณหา แรงขับทางเพศหรือโลภะ ตาม หลักอภิธรรม (วิภังค์อรรถกถา) และทฤษฎีทางการแพทย์ ความไม่สมดุลของสารน้ํา (humoral imbalance) เป็น สาเหตุอย่างหนึ่งของความวิกลจริต ปัญหาทางจิตใจ และอารมณ์ที่สัมพันธ์กับทฤษฎีสารน้ํา (humural theory) ตามที่นําเสนอโดยกาเลน (Galen) ประมาณศตวรรษที่สอง ได้อธิบายว่า

ภาวะซึมเศร้ารุนแรง (melancholia) เป็นผลมาจากการมีน้ําดีสีดํามากเกินไป และภาวะคลุ้มคลั่ง หรือภาวะฟุ้งพล่าน (mania) เกิดจากการมีน้ําดีสีเหลือง มากเกินไป ทฤษฎีเกี่ยวกับสารน้ําที่ทําให้เกิดโรคต่างๆ ยังรวมถึงธาตุลม (air or wind) น้ําดี (bile) และเสมหะ (phlegm)

โดยทั่วไปเชื่อว่าโรคของธาตุลมเกิดจากการที่ มีตัณหา ราคะ และกามุปาทานมากเกินไป นอกจากความตื่นเต้น และความเศร้าเสียใจแล้ว อาการของความผิดปกติทางจิตที่เกิดจากธาตุลมจะ มีลักษณะดังนี้

ผู้ป่วยพูดมากหรือพูดทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในใจ ขาดสมาธิ และไม่สามารถทําอะไรให้ เสร็จเป็นชิ้นเป็นอันได้ อาจร้องไห้ตลอดเวลา แต่แล้วก็กลับเป็นโกรธทันทีโดยไม่มีเหตุผล ผู้ป่วยจะหงุดหงิด กระวนกระวาย และถูกดึงโดยสิ่งเร้าได้ง่าย ความปวดร้าวทางจิตใจที่ได้รับ จะทําให้สูญเสียสิ่งสนับสนุนของสุขภาพ สองอย่าง คือ อาหารและพฤติกรรม เพราะความเศร้าโศก ผู้ป่วยจะไม่ยอมทานอาหาร และการอดอาหารจะทําให้ธาตุลมเพิ่มขึ้น การนอนไม่หลับจะไปเพิ่มความปั่นป่วนของธาตุลม เพราะอาการนี้ถือว่า เป็นโรคของธาตุลม

ความผิดปกติทางจิตใจแบบนี้สอดคล้องกับ ความแปรปรวนทางอารมณ์ (mood disorder) ในจิตเวชศาสตร์ปัจจุบัน ในช่วงระยะคลุ้มคลั่งผู้ป่วยจะแสดงอารมณ์สนุกสนานครื้นเครง ความคิดแล่นเร็ว นอนไม่หลับ ความภูมิใจแห่งตนเพิ่มขึ้น และมี ความคิดว่าตนยิ่งใหญ่ในทางตรงกันข้ามผู้ป่วยที่มีอารมณ์ ซึมเศร้าจะแสดงพลกําลังและความสนใจในสิ่งต่างๆ ลดลง ความรู้สึกสํานึกผิด ขาดสมาธิ เบื่ออาหาร เบื่อชีวิต หรือบางรายถึงกับทําร้ายตนเอง อาการแสดงและอาการอื่นๆ ได้แก่ ระดับของการเคลื่อนไหว ความสามารถทางความคิดและความจํา การนอนหลับ และกิจกรรมทางเพศลดลง

ความแปรปรวนเหล่านี้มักทําให้เกิดความเสียหายต่อการกระทําหน้าที่ทางสัมพันธภาพระหว่างบุคคล สังคม และอาชีพ การงาน ผู้ป่วยที่แสดงอารมณ์ซึมเศร้าชัดเจน เรียกว่า ความแปรปรวนของอารมณ์ซึมเศร้าอย่างรุนแรง (major depressive disorder) หรือภาวะซึมเศร้าแบบขั้วเดียว (unipolar depression) ส่วนผู้ป่วยที่มีทั้งอาการคลุ้มคลั่ง และอาการซึมเศร้า หรือผู้ป่วยที่มีอาการคลุ้มคลั่งอย่างเดียว เรียกว่า ความแปรปรวนทางอารมณ์ แบบสองขั้ว (bipolar mood disorder)


2. โกธัมมัตตกะ

คือ ความวิกลจริตที่เกี่ยวข้องกับความโกรธ ความเกลียด แรงขับทางก้าวร้าวหรือโทสะ ตามทฤษฎีสารน้ําความแปรปรวนทางจิตเวชแบบนี้ เกิดจากน้ําดีที่ทําให้ผู้ป่วยมีลักษณะของความรุนแรง และความหยาบคาย นําดีมักจะสัมพันธ์กับความก้าวร้าว และความโกรธ ดังนั้นโทสะและความเกลียดชังจะทําให้ มีการผลิตน้ําดีเพิ่มมากขึ้น

ความจริงอาการวิกลจริตที่เกิดจากน้ําดียังเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของธาตุลมด้วย ทําให้เกิดอาการโรคจิตที่มีพฤติกรรมทางเพศรุนแรง และก้าวร้าว” ผู้ป่วยจะพูดหยาบคายรุนแรงและก้าวร้าว ต่อผู้อื่น รบกวนและทําลายข้าวของ และอาจทําร้าย ถึงขั้นฆ่าผู้อื่นได้ มีอารมณ์โกรธที่คงอยู่นาน หมกมุ่น อาการตื่นเต้นที่รุนแรงและการเคลื่อนไหวที่แปลกๆ แต่เรื่องในอดีตที่คอยรบกวนและตึงเครียดอย่างรุนแรง บางเวลาผู้ป่วยอาจเกิดการเคลื่อนไหวที่ไม่มีจุดหมาย ผู้ป่วยพวกนี้อาจต้องได้รับการควบคุมด้วยการผูกมัดและหรือการใช้ยา

@@@@@@@

3. โมหุ้มมัตตกะ

ภาวะวิกลจริตชนิดนี้สัมพันธ์ กับความโง่ ความหลง อวิชชาหรือโมหะ ซึ่งมีส่วนทําให้ การผลิตของเสมหะเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยที่มีอาการวิกลจริต เนื่องจากมีปริมาณของเสมหะเพิ่มขึ้นมักจะแสดงลักษณะ แยกตัวเองอย่างรุนแรง เงียบเฉย ไม่เคลื่อนไหวและ ดื้อเงียบ ผู้ป่วยประเภทนี้ไม่ยอมรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ํา อาจกลอกตาขึ้นข้างบนหรือมีท่าทางสับสน

รูปแบบของภาวะวิกลจริตที่สัมพันธ์กับทฤษฎีสารน้ํา คือ ธาตุลม น้ําดี และเสมหะ มีลักษณะสอดคล้อง กับการจําแนกความแปรปรวนทางจิตสมัยใหม่ตัวอย่าง เช่น ใน DSM-IV-TR (Diagnostic and statistical manual of mental disorders, fourth edition, text revision) ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2000. โรคจิตที่เกิดจากธาตุลมคล้ายกับโรคความแปรปรวนทางอารมณ์ (mood disorders) ดังอธิบายมาแล้ว และโรคจิตเภทตามแบบฉบับ (classical schizophrenia) 1) (18,19 -)

จิตเภทมีลักษณะเฉพาะ คือ ความผิดปกติหรือความแปรปรวนของความคิด มีการแปลความหมายของความจริงผิดไปจากเดิม มักมีอาการหลงผิดและอาการประสาทหลอนร่วมด้วยยังมีการเปลี่ยนแปลงในอารมณ์แสดง (affect) เช่น สองฝักสองฝ่าย บีบคั้น เรียบหรือไร้อารมณ์และ ไม่เหมาะสม และมีพฤติกรรมแยกตัวเอง ก้าวร้าว แปลก และพิลึกพิลั่น อาการของจิตเภทมีผลเสียต่อความคิด ความรู้สึก พฤติกรรม รวมทั้งหน้าที่ทางสังคมและอาชีพการงาน

อาการโรคจิตชนิดก้าวร้าวที่เกิดจากน้ําดี สามารถ เปรียบเทียบได้กับโรคจิตเภทชนิดตัวแข็งทื่อแบบตื่นเต้น วุ่นวาย (catatonic type, excited) ซึ่งแสดงออกโดย การเคลื่อนไหวที่มากเกินไป พฤติกรรมรุนแรงและก้าวร้าว และมีความเสี่ยงที่จะทําร้ายตนเองหรือผู้อื่นได้ ในทางตรงกันข้ามอาการวิกลจริตที่เกิดจากเสมหะจะคล้ายกับ โรคจิตเภทชนิดตัวแข็งทื่อแบบแยกตัวเอง (catatonic type, withdrawn) ซึ่งมีลักษณะเฉพาะคือ ไม่มีการเคลื่อนไหว เลย ตัวแข็งทื่อแบบหุ่นที่ปั้นด้วยขี้ผึ้ง จะดัดให้อยู่ใน ท่าใดก็ได้ (waxy flexibility) นิ่งเฉย ไม่ยอมพูด และ มีอาการต่อต้านที่ชัดเจน

4. ทิฏฐมมัตตกะ

อาการวิกลจริตชนิดนี้ สัมพันธ์กับความเห็นที่ผิด ตัวอย่าง บางครั้งมี ภัยพิบัติธรรมชาติเกิดขึ้น บางคนก็ตําหนิว่าเกิดจาก การกระทําของภูตผีปีศาจ หรือสิ่งที่มีอํานาจเหนือมนุษย์ มีการบูชายัญ และพิธีบวงสรวงเพื่อเอาใจภูติผีและ เทพเจ้า บางคนอาจไปอาบน้ําศักดิ์สิทธิ์เพื่อชําระล้างบาปและเคราะห์ร้ายของตน

มิจฉาทิฏฐิหรือความเห็นผิดยังรวมถึงสัสสตทิฏฐิ ซึ่งเป็นความเชื่อว่าวิญญาณหรืออัตตาเป็นสิ่งที่ เที่ยงแท้ถาวร และยังคงสภาพอยู่ชั่วนิจนิรันดร ภายหลัง ความตาย ความเชื่อนี้จะต้องแยกจากอุจเฉททิฏฐิ ซึ่งเป็นความเชื่อว่าสัตว์ บุคคล หรือตัวตนจะสูญสิ้น ไปหมด ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลยเวลาตาย ความเชื่อที่ ผิดอีกอย่างหนึ่งคือสีลัพพตปรามาส คือ ความยึดมั่น ในศีลพรต และพิธีกรรมบางอย่างว่าเป็นทางที่จะนําไป สู่ความดับทุกข์ รวมทั้งวิธีการปฏิบัติใดๆ ก็ตามที่ไม่ใช่ มรรคมีองค์ 8 ว่าเป็นทางดับทุกข์ได้

เมื่อความเห็นผิดเหนียวแน่นและรุนแรง สิ่งนี้ อาจกลายเป็นอาการหลงผิด (delusion) ได้ (18-20-) อาการหลงผิดเป็นความเชื่อที่ผิด ซึ่งไม่ได้ตั้งอยู่บนรากฐานของ ความเป็นจริงจากภายนอก เป็นความเชื่อที่เหนียวแน่นและคงอยู่นาน แม้จะมีหลักฐานที่ตรงกันข้ามอย่าง ชัดเจน ตัวอย่างอาการหลงผิดแบบคิดว่าตนยิ่งใหญ่ (grandiose delusion) เป็นความเชื่อที่มากเกินขอบเขต เกี่ยวกับความยิ่งใหญ่ อํานาจ ความรู้ เอกลักษณ์ หรือ สัมพันธภาพพิเศษกับเทพเจ้าหรือบุคคลที่มีชื่อเสียง

อาการหลงผิดแบบมีคนปองร้าย (persecutory delusion) มีเนื้อหาหลักที่สําคัญคือตนเอง (หรือบางคนที่อยู่ใกล้ชิด กับตน) กําลังถูกโจมตีข่มขู่ ปองร้าย ฉ้อโกง วางยาพิษ หรือถูกวางแผนร้ายร่วมกัน อาการหลงผิดแบบมีอะไรคอยควบคุม (delusion of control) คือ มีความเชื่อว่า ความรู้สึก แรงขับ ความคิดหรือการกระทําไม่ได้เกิดจากตนเองแต่อยู่ภายใต้การควบคุมของพลังบางอย่าง จากภายนอก อาการหลงผิดหรือความเชื่อที่ผิดนี้มัก พบในจิตเภท หรือโรคจิตอื่นๆ อารมณ์แปรปรวนที่มี ลักษณะโรคจิตร่วมด้วยและโรคจิตที่เกิดจากการใช้สารบางอย่าง

@@@@@@@

5. ปิตุมมัตตกะ

โรคจิตชนิดนี้มักเกิดจาก โรคทางกาย (organic disorders) 1318 เช่น ลมบ้าหมู (โรคลมชัก) ไข้ไทฟอยด์ มาลาเรีย สมองอักเสบ และ การบาดเจ็บทางสมอง ใน DSM-IV-TR เรียกโรคในกลุ่มนี้ว่า “ความแปรปรวนทางจิตใจที่เนื่องมาจาก โรคทางร่างกาย (a mental disorder due to a general medical condition)”19 ความแปรปรวนทางจิตใจ ในการ จําแนกนี้มีลักษณะเฉพาะ คือ การมีอาการทางจิตที่ ตัดสินได้ว่า เป็นผลทางสรีรวิทยาโดยตรงของโรคทาง ร่างกาย

กลุ่มของความผิดปกติทางจิตใจแบบนี้รวมถึงความแปรปรวนที่สัมพันธ์กับซิฟิลิส สมองอักเสบ ฝีหรือการบาดเจ็บในสมอง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคลมชัก เนื้องอกในกะโหลกศีรษะ ความผิดปกติ เกี่ยวกับต่อมไร้ท่อ pellagra ภาวะขาดวิตามิน การติดเชื้อ ตามระบบ (เช่น ไข้ไทฟอยด์ มาลาเรีย) โรคเอดส์ โรคเกี่ยวกับภาวะเสื่อมของระบบประสาทส่วนกลาง (เช่น multiple sclerosis) สภาพของโรคทางร่างกายทั่วไป อาจก่อให้เกิดอาการตัวแข็งทื่อ (catatonia)

ซึ่งมีลักษณะเฉพาะคือ การไม่เคลื่อนไหวของร่างกาย และการเกร็งตัว ของกล้ามเนื้ออันเป็นผลจากโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) หรือการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรม (เช่น เกิดจากเนื้องอกในสมอง) อาการโรคจิตที่เกิดจาก การขาดสารอาหารบางอย่างก็รวมอยู่ในกลุ่มนี้


6. สุรุมมัตตกะ

โรคจิตชนิดนี้สัมพันธ์กับ การใช้สารพิษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุราและสารเสพติด ชนิดต่างๆ กลุ่มนี้คล้ายกับ alcohol-related disorders หรือ substance use disorders (ซึ่งสมัยก่อนเรียกว่า การติดยาหรือการพึ่งยา) ใน DSM-IV-TR19 เหล้า ยาที่ ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท และสารอื่นๆ (เช่น ฝุ่น ยาหลอนประสาท กัญชา ยาบ้า และสารระเหย) อาจก่อ ให้เกิดภาวะเป็นพิษและกลุ่มอาการจากการถอนยา นอกเหนือจากอาการโรคจิต อารมณ์แปรปรวนและอาการวิตกกังวล

@@@@@@@

7. พยสนุมมัตตกะ

ความผิดปกติทางจิตใจ ชนิดนี้เกิดจากเคราะห์ร้ายหรือโชคร้าย เช่น การสูญเสีย คนรัก ของรัก หรือสมาชิกในครอบครัว และการสูญเสีย เงินทอง ทรัพย์สินและชื่อเสียง ความผิดปกติในกลุ่มนี้ ยังรวมการสูญเสียเนื่องจากโรค (เช่น การถูกตัดขา ทั้งสองข้าง) และความเสื่อมโทรมของสุขภาพ การสูญเสีย สมาชิกในครอบครัว ญาติพี่น้องและมิตรสหาย การลักขโมย การจู่โจมทําร้าย โรคระบาด ไฟไหม น้ําท่วมหรือพายุ สามารถทําให้เกิดความเศร้าโศก ความพิไรรําพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และ ความคับแค้นใจ

การสูญเสียในรูปแบบต่างๆ มักเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยของความแปรปรวนทางอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะซึมเศร้าและความแปรปรวนเกี่ยวกับการปรับตัว บางครั้งการสูญเสียคนรัก เกิดขึ้นทันทีทันใดและรุนแรงมากจนกระทั่งทําให้เกิด อาจปรากฏออกมาเป็นโรคทางจิตเวชที่แตกต่างกัน ความผิดปกติอย่างรุนแรงอย่างในกรณีของปฏาจารา

ปฏาจาราเกิดในครอบครัวร่ํารวยที่เมืองสาวัตถี เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นเกิดมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับ ชายหนุ่มคนหนึ่งที่รับใช้อยู่ในบ้าน จนสุดท้ายก็หนีตามกันไป ตามประวัติเธอได้ประสบกับการสูญเสีย อย่างใหญ่หลวงที่เกิดขึ้นทันทีโดยไม่ได้คาดคิดมาก่อน ทั้งกับสามี ลูกน้อยสองคน บิดามารดา และพี่ชาย ในช่วงเวลาอันสั้น สุดท้ายเธอได้เกิดอาการของโรคจิต ที่เรียกว่า “brief psychotic disorders” (การจําแนก ความแปรปรวนทางจิตใจตาม DSM-IV-TR)

เธอเดินไปเรื่อยโดยไม่รู้ตัวว่าผ้านุ่งห่มหลุดจากตัว ชาวบ้านที่เห็นต่างก็หลีกหนีด้วยการขว้างปาเศษขยะและโปรยขี้ฝุ่นบนตัวเธอ จนกระทั่งระดมปาด้วยก้อนดิน โดย มหาพุทธานุภาพของพระพุทธเจ้า เธอได้คืนสติขึ้นมาและ ความเศร้าโศกก็หายไป ปฏาจาราได้บวชเป็นภิกษุณี และบรรลุเป็นพระอรหันต์ในเวลาอันสมควร (22,23-)


8. ยักขุมมัตตกะ

ความวิกลจริตชนิดนี้ เกิดจากปีศาจ (ยักษ์) ผีร้าย หรือวิญญาณร้าย ปีศาจ หรือวิญญาณร้ายที่ทําให้เกิดอาการวิกลจริตเป็น ผลจากการที่ผีร้ายเข้าไปสิ่งในร่างคนและควบคุม การกระทําทุกอย่างทั้งทางกาย วาจาและใจ การแปลความหมายทางจิตวิทยาของคําว่า “ปีศาจ” หรือ “ภูติผี” ในระดับหนึ่งนั้น ถือว่าเป็นเรื่องของบุคคลาธิษฐานของความชั่วภายในจิตใจที่ถูกโยนออกไปสู่ภายนอก

เป็นพลังมืดหรือพลังเชิงลบภายในตัวเรานั่นเอง ที่เรายอมรับไม่ได้และพยายามจะออกมาสู่จิตสํานึก จึงต้องใช้กลไกทางจิตแบบการโยนออกไปภายนอก (projection) และสุดท้ายก็มีการพุ่งเข้าหาตนเอง (introjection) จุง(Jung) อธิบายว่า ปีศาจร้ายเหล่านี้มาจากจิตไร้สํานึกรวม (collective unconscious) และสิ่งที่อยู่ในจิตไร้สํานึก คือ สิ่งที่เข้ามาสิงอยู่ในตัวเรา(17-)

อาการและการแสดงของความผิดปกติทางจิตใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตเภท (schizophrenia) และ ความแปรปรวนที่เป็นภาวะคล้ายถูกผีสิง (dissociative trance disorder) ตาม DSM-IV-TR1 ตัวอย่าง ในภาวะ คล้ายถูกผีสิงจะมีการแทนที่เอกลักษณ์ของบุคคลที่คุ้นเคยโดยเอกลักษณ์ใหม่ เนื่องจากอํานาจของ วิญญาณร้าย ปีศาจ พลังลึกลับ เทพเจ้าหรือบุคคลอื่นๆ และสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวแบบซ้ําๆ โดยไม่ได้ตั้งใจ หรือแม้แต่พฤติกรรมที่ก้าวร้าว ภาวะผีสิงมักจะเกิด ร่วมกับอาการลืมตัวในช่วงระยะที่ร่างใหม่กําลังควบคุม พฤติกรรมเดิมของคนๆ นั้น

(ยังมีต่อ..)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 16, 2025, 10:24:11 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29314
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
 :25: :25:

โรคสามชนิด

โรค คือ สิ่งที่ตรงข้ามกับสุขภาพ โรค คือ ความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับคนเรา และมีมากมายหลายอย่าง อย่างไรก็ตามโรคสามารถจําแนกออกได้ เป็นสามชนิด คือ(25-)

1. โรคทางกาย (Physical disease) มีโรค ทางร่างกายหลายอย่าง เช่น โรคตา หู จมูก ปอด หัวใจ ไต และอื่นๆ ในพุทธศาสนาสาเหตุของโรคทางร่างกาย เกิดจากความไม่สมดุลของธาตุหลักทั้งสี่ คือ ธาตุดิน (ปฐวีธาตุ) ธาตุน้ํา (อาโปธาตุ) ธาตุไฟ (เตโชธาตุ) และ ธาตุลม (วาโยธาตุ) การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล การ ขาดการออกกําลังกายอย่างสม่ําเสมอ การบาดเจ็บ หรืออุบัติเหตุทางร่างกาย การถ่ายทอดทางพันธุกรรม การติดเชื้อ รวมทั้งความคิดและอารมณ์(26-) โรคทางกายมักจะได้รับการรักษาโดยแพทย์ทางกาย หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขา(5-)

2. โรคทางจิต (Mental disease) บางที เรียกว่า ความแปรปรวนทางจิตใจ เป็นความเจ็บป่วยที่มีการแสดงออกทางจิตใจหรือพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับ ความทุกข์ทรมานใจและหน้าที่การงานที่เสียไป มักมี สาเหตุมาจาก ความผิดปกติทางชีวภาพ สังคม จิตใจ กรรมพันธุ์ หรือสารเคมี สามารถวัด (ประเมิน) ได้จาก การเบี่ยงเบนไปจากแนวคิดของภาวะปกติ (18-20-) โรคแต่ละ อย่างมีลักษณะเฉพาะของอาการแสดงและอาการต่างๆ

โรคทางจิตใจชนิดนี้รวมถึงโรคประสาทจิตเภทและโรคจิตอื่นๆ ความแปรปรวนทางอารมณ์ ความแปรปรวน เกี่ยวกับการปรับตัว บุคลิกภาพแปรปรวน และปัจจัย ทางจิตใจที่มีผลต่อสภาวะทางร่างกาย (แต่เดิมเรียกว่า โรคทางกายเหตุจิต) โรคชนิดนี้มักได้รับการรักษาและการจัดการโดยจิตแพทย์ นักจิตวิทยาคลินิก และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตและจิตเวชศาสตร์

3. โรคทางจิตวิญญาณ (Spiritual disease) ตามคําสอนในพุทธศาสนา โรคทางจิตวิญญาณเกิด จากอาสวะกิเลสที่หมักหมม หรืออนุสัยกิเลสซึ่งเป็นกิเลสอย่างละเอียดภายในจิตใจ กิเลสเหล่านี้ถูกเก็บ สั่งสมไว้ในจิตไร้สํานึกหรือภวังคจิต เช่น ความโลภ (โลภะ) ความโกรธ (โทสะ) และความหลง (โมหะ) ดังนั้นโรคทางจิตวิญญาณจึงเหมือนกับโรคทางใจหรือ ความผิดปกติทางจิตใจที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้

เมื่ออนุสัยกิเลสซึ่งเป็นกิเลสอย่างละเอียดถูกกระตุ้นโดยสิ่งเร้าจากภายนอก หรือภายในก็จะ ลอยตัวจากจิตไร้สํานึก และมาปรากฏในจิตสํานึกกลายเป็นปริยุฏฐานกิเลสหรือกิเลสอย่างกลาง ซึ่ง บางทีเรียกว่า นิวรณ์ 5 ทําให้เกิดกามฉันทะ พยาบาท ถีนะมิทธะ อุธัจจะ กกุจจะ และวิจิกิจฉา สุดท้ายนิวรณ์ 5 อาจเปลี่ยนเป็นวีติกมกิเลสหรือกิเลสอย่างหยาบ ที่แสดงออกมาเป็นพฤติกรรมทางกายและทางวาจา เช่น การทําร้ายผู้อื่น การลักขโมย การประพฤติผิด ในกาม การพูดปด การพูดคําหยาบ การพูดส่อเสียด และการพูดเพ้อเจ้อ รวมทั้งการดื่มสุราและการใช้สารเสพติด (11,21,27-)


@@@@@@@

ความจริงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเรื่องโรคทั้งสามอย่างไว้ ในเรื่องของทุกข์ในอริยสัจสี่ดังนี้
    - โรคทางกาย ได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บและความตาย
    - โรคทางจิตใจ ได้แก่ ความเศร้าโศก ความพิไร รําพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ ความประสบกับสิ่งที่ไม่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก และความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น
    - โรคทางจิตวิญญาณ ได้แก่ อุปาทานขันธ์ 5 หรือขันธ์ 5 ที่ประกอบด้วยอุปาทาน

โรคชนิดนี้สัมพันธ์กับแนวคิดของความยึดมั่นใน “อัตตา (ego)” และ “ตัวตน (self)” ซึ่งท้ายที่สุดก็จะนํา ไปสู่ความเห็นแก่ตัว(5,28-)  เป็นความยึดมั่นว่ามีตัวเรา ของเรา ตัวเธอ ของเธอและสัตว์บุคคลอยู่ พูดกันจริงๆ แล้ว โรคทางจิตวิญญาณและโรคทางจิตใจ มีความสัมพันธ์ ซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิด และบ่อยครั้งโรคชนิดแรก มักเป็นสาเหตุหลักของโรคชนิดหลัง เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสว่า มีโรคอยู่สองชนิดคือ โรคทางกายและ โรคทางใจ ความหมายเดิมของโรคทางใจในคําสอนนี้ก็คือ โรคทางจิตวิญญาณนั่นเอง

ในผลงานสําคัญ เรื่อง “จิตวิเคราะห์และศาสนา” อีริค ฟรอมม์ (Erich Fromm) กล่าวว่า นักจิตวิเคราะห์ ไม่เพียงแต่เป็นแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเป็นแพทย์ทางจิตวิญญาณด้วย(27,29-) ขอบเขตของจิตวิเคราะห์ไม่จํากัด อยู่แต่เพียงการรักษาความผิดปกติทางจิตใจและจิตพยาธิวิทยา แต่ยังขยายไปสู่พัฒนาการทาง จิตวิญญาณเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

@@@@@@@

แนวปฏิบัติเชิงพุทธต่อการรักษาความผิดปกติทางจิตใจ

มีค่ากล่าวในสัจพจน์ (axiom) เป็นบาลีว่า(13,15-)
    “สัพเพ ปุถุชชนา อุมมัตตกา” (จากวิภังค์อรรถกถา) แปลว่า “ปุถุชนทั้งหลายมีภาวะวิกลจริต”
     ปุถุชน หมายถึง คนปกติหรือคนธรรมดาที่มี ภาวะปกติหรือสุขภาพจิตตามเกณฑ์เฉลี่ยในบริบทของจิตเวชศาสตร์ตะวันตก

     อย่างไรก็ตามในพุทธศาสนา ปุถุชน หมายถึง สามัญชนที่ยังมีกิเลสหนา หรือผู้ที่มิได้เป็นพระอริยบุคคล มีลักษณะเฉพาะ คือ ตัณหาหรือความอยากในสิ่งต่างๆ ซึ่งตามความเชื่อของของตน จะมีเรื่องของความสวยงาม ความเที่ยงแท้ ความสุข และความมีตัวตนอยู่ด้วย
     ในทางตรงกันข้าม ตามความเป็นจริงสิ่งเหล่านี้กลับมีลักษณะของความน่าเกลียด ความไม่เที่ยงแท้ ความทุกข์ และความไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ความยึดมั่นในสิ่งเหล่านี้เกิดจากอาสวะ อนุสัย และสังโยชน์ที่ผูกมัดให้สัตว์โลกอยู่ในวงจรของการเวียนตายเวียนเกิดหรือของความทุกข์ (1,15,27-)

    ด้วยเหตุนี้จึงมีคํากล่าวว่า
   “สติปัฎฐานสามารถเอาชนะภาวะวิกลจริตได้” (13-)
    จากมหาสติปัฐานสูตร พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่า
   “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางสายเอก เพื่อ ความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อชนะความเศร้าโศก และความพิไรรําพัน เพื่อดับความทุกข์กายและ ความทุกข์ใจ เพื่อบรรลุอริยมรรคและอริยผลและ เพื่อกระทําพระนิพพานให้แจ้ง ทางสายเอกนี้คือ สติปัฏฐานสี่” (30-)
    การเจริญวิปัสสนากรรมฐานตามแนว สติปัฏฐานสี่สามารถนําไปสู่ความดับทุกข์และการขจัดกิเลสได้โดยสิ้นเชิง


@@@@@@

ดังนั้น ความผิดปกติทางจิตใจ หรือ อุมมัตตกะ (ซึ่งความจริงแล้วไม่ได้จํากัดอยู่แต่เฉพาะโรคจิต หรือภาวะวิกลจริตเท่านั้น) โดยเฉพาะโรคทางใจ ตามความหมายที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ สามารถขจัด ได้โดยการเจริญสติปัฏฐานสี่ (30,31-) ตามทรรศนะทางพุทธศาสนา สาเหตุสําคัญของความผิดปกติทางจิตใจหรืออุมมัตตกะ คือ อวิชชาหรือโมหะ หรือ วิปัลลาส

คําว่า “วิปัลลาส” ในภาษาบาลีแปลว่า อาการประสาทหลอน อาการหลงผิด ความบิดเบือน ความวิตถาร หรือความเห็นผิด (17,32-) คํานี้ยังหมายถึง ความเชื่อในสิ่งที่ถูกว่าผิด และความเชื่อในสิ่งที่ ผิดว่าถูก วิปัลลาสมีอยู่ 3 อย่าง คือ
    (1) สัญญาวิปัลลาส
    (2) จิตตวิปัลลาส
    (3) ทิฏฐิวิปัลลาส

ในบรรดาวิปัลลาสทั้ง 3 อย่างนี้ สัญญาวิปัลลาสมีอยู่ 4 อย่าง คือ
    (1) สัญญาวิปัลลาสเห็นสิ่งที่น่าเกลียดว่าเป็น สิ่งที่สวยงาม
    (2) สัญญาวิปัลลาสเห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงเป็นสิ่งที่เที่ยง
    (3) สัญญาวิปัลลาสเห็นสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็น สิ่งที่เป็นสุข
    (4) สัญญาวิปัลลาสเห็นสิ่งที่ไม่มีตัวตนเป็น สิ่งที่มีตัวตน

@@@@@@@

สัญญาวิปัลลาสสามารถกําจัดได้โดยการเจริญวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐานสี่ ดังนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
    1. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติตาม ดูกาย ใช้ในการขจัดสัญญาวิปัลลาสที่เห็นว่าสิ่งที่ น่าเกลียด (อสุภะ) เป็นสิ่งที่สวยงาม (สุภะ)
    2. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติตาม ดูเวทนา ใช้ในการขจัดสัญญาวิปัลลาสที่เห็นว่าสิ่งที่ เป็นทุกข์ (ทุกขัง) เป็นสิ่งที่เป็นสุข (สุขัง)
    3. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติตาม ดูจิต ใช้ในการขจัดสัญญาวิปัลลาสที่เห็นว่าสิ่งที่ไม่เที่ยง (อนิจจัง) เป็นสิ่งที่เที่ยง (นิจจัง)
    4. ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติตาม ดูธรรม ใช้ในการขจัดสัญญาวิปัลลาสที่เห็นว่าสิ่งที่ไม่มี ตัวตน (อนัตตา) เป็นสิ่งที่มีตัวตน (อัตตา)

แนวปฏิบัติแบบพุทธในการรักษาความผิดปกติทางจิตใจ มุ่งไปที่บูรณาการของบุคลิกภาพทั้งหมดของบุคคลในระดับที่สูงกว่า โดยผ่านการฝึกอบรม ในเรื่องของอธิศีล อธิจิต และอธิปัญญา

การเจริญวิปัสสนากรรมฐานสามารถนําไปสู่ความเข้าใจในหลักการของพุทธศาสนาเกี่ยวกับสามัญลักษณะ ซึ่งได้แก่ อนิจจัง (ความไม่เที่ยง) ทุกขัง (ความทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้) และอนัตตา (ความไม่ใช่ตัวตน หรือความไม่ สามารถบังคับบัญชาได้) ความหยั่งเห็นในสามัญลักษณะ (พระไตรลักษณ์) จะทําให้เกิดปฐมนิเทศใหม่ของความคิดและยังนําไปสู่การปล่อยวางของแนวคิดในเรื่อง “อัตตา” หรือ “ตัวตน” ได้ในระดับหนึ่งจนถึงดีที่สุด

สัจพจน์ที่เป็นบาลีว่า “ปุถุชนทั้งหลายมีภาวะ วิกลจริต” หมายความว่า คนธรรมดาทั้งหมดมีอาการ ของโรคจิตหรือความแปรปรวนทางจิตใจ

คําว่า "วิกลจริต" ในที่นี้ไม่เหมือนกับความเป็นบ้า อาการวิกลจริต หรือ โรคจิตในจิตเวชศาสตร์สมัยใหม่ ตามทรรศนะทางพุทธศาสนา คําว่า "วิกลจริต" หรือความแปรปรวนทาง จิตใจในสัจพจน์นี้สัมพันธ์กับกลุ่มของกิเลสที่เรียกว่า "สังโยชน์" (12-)


@@@@@@@

สังโยชน์มีอยู่ 10 ชนิด คือ

ก. โอรัมภาคิยสังโยชน์ คือ สังโยชน์เบื้องต่ํา 5 คือ
    1) สักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดว่าเป็น ตัวตน
    2) วิจิกิจฉา ความสงสัย
    3) สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นในศีลพรตอย่างงมงาย
    4) กามราคะ ความกําหนัดในกาม และ
    5) ปฏิฆะ ความโกรธ

ข. อุทธัมภาคิยสังโยชน์ คือ สังโยชน์ เบื้องสูง 5 คือ
    6) รูปราคะ ความติดใจในอารมณ์แห่ง รูปฌาน
    7) อรูปราคะ ความติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌาน
    8) มานะ ความถือตัว
    9) อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน และ
  10) อวิชชา ความไม่รู้จริง (ความโง่)

ปุถุชนหรือคนธรรมดา คือ ผู้ที่อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย ของภาวะปกติ และมีสังโยชน์ทั้ง 10 ชนิดอยู่ภายในจิตใจ ซึ่งทําให้แยกบุคคลประเภทนี้ออกจากอริยบุคคลหรืออริยชน

อริยบุคคล หมายถึง บุคคลผู้ประเสริฐ หรือผู้ที่เข้าถึงคุณธรรมอันบริสุทธิ์สี่ขั้น ได้แก่
    1) โสดาบัน หรือผู้ถึงกระแส คือ ผู้ที่ได้ทําลายสังโยชน์สามอย่างแรก ให้หมดไป
    2) สกทาคามี หรือผู้กลับมาอีกครั้งเดียว คือ ผู้ที่ได้ทําลายสังโยชน์สองอย่างถัดมาให้อ่อนกําลังลง
    3) อนาคามีหรือผู้ไม่เวียนกลับมาอีก คือ ผู้ที่ทําลาย สังโยชน์เบื้องต่ําห้าอย่างแรกให้หมดไป และ
    4) อรหันต์ หรือผู้หักแห่งสงสารแล้ว คือ ผู้ที่ทําลายสังโยชน์ เบื้องสูงที่เหลืออีกห้าอย่าง คือ ความติดในอารมณ์แห่ง รูปฌาน ความติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌาน มานะ อุทธัจจะ และอวิชชา

ฉะนั้น ผู้ที่บรรลุเป็นพระอรหันต์ ความผิดปกติทางจิตใจหรือโรคทางใจ (ซึ่งบางทีเรียกว่า โรคทางจิตวิญญาณ) จะถูกทําลายลงโดยสิ้นเชิง

                                                           -จบ-
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 16, 2025, 10:51:06 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29314
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
 :25: :25:

แหล่งที่มา :-

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ปีที่ 53 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม - กันยายน 2551
J Psychiatr Assoc Thailand Vol. 53 No. 3 July - October 2008

ความเข้าใจแนวพุทธเกี่ยวกับความผิดปกติทางจิตใจ
จําลอง ดิษยวณิช พบ., M.S.
Buddhist Understanding of Mental Affliction
Chamlong Disayavanish M.D., M.S.


@@@@@@@

เอกสารอ้างอิง

1. สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต (ภาษาไทย). เล่ม 21 ข้อ 157 หน้า 168.
2. de Silva P. An introduction to Buddhist psychology. 3rd ed. London: Macmillan; 2000.
3. Nyanatiloka. Buddhist dictionary: manual of Buddhist terms and doctrines. 4th rev ed. Kandy: Buddhist Publication Society; 1988.
4. Mezzich JE, Berganza CE. International psychiatric diagnosis. In: Sadock BJ, Sadock VA, editors. Comprehensive textbook of psychiatry. Vol 1. 8th ed. Philadelphia: Lippincott Williams & Wilkins; 2005: 1034-52.
5. จําลอง ดิษยวณิช, พริ้มเพรา ดิษยวณิช, ความเครียด
ความวิตกกังวล และสุขภาพ, เชียงใหม่: โรงพิมพ์ แสงศิลป์; 2545.

6. Edlin G, Golanty E, Brown KM. Health and wellness. London: Jones and Barlett Publishers; 1999.
7. McBride JL, Borrks AG, Pilkington L. The relationship between a patient's spirituality and health experiences. Family Medicine 1998; 30:122-6.
8. Vaillant GE, Vaillant CO. Normality and mental health. In: Sadock BJ, Sadock VA, editors. Comprehensive textbook of psychiatry. Vol 1. 8th ed. Philadelphia: Lippincott Williams & Wilkins; 2005: 583-97.
9. Sadock BJ. Signs and symptoms in psychiatry. In: Sadock BJ, Sadock VA, editors. Comprehensive textbook of psychiatry. Vol 1. 8th ed. Philadelphia: Lippincott Williams & Wilkins; 2005: 847-59.
10. Offer D, Sabshin M. Normality. In: Harold IK, Alfred MF, Benjamin JS, editors. Comprehensive textbook of psychiatry. Vol. 1. 3rd ed. Baltimore: Williams & Wilkins; 1980: 608-13.

11. จําลอง ดิษยวณิช, พุทธศาสนาและจิตเวชศาสตร์
12. พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), พจนานุกรม พุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม, พิมพ์ครั้งที่ 13 กรุงเทพฯ: บริษัทเอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมสโปรดักส์ จํากัด; 2005.
13. Sayadaw U Pandita. On the path to freedom: a mind of wise discernment and openness. Selangor (Malasia): Buddhist Wisdom Center; 1995. 14. Koster F. Liberating insight: introduction to Buddhist psychology and insight meditation. Chiang Mai: Silkworm Books; 2004.
15. Story F. (The Anagarika Sugatananda). Buddhist mental therapy. In: Nimalasuria A, editor. Buddha the healer: the mind and its place in Buddhism. Kandy: Buddhist Publication Society; 1980: 23-41.

16. Goodwin KF, Ghaemi S. Mood disorders. In: Gelder MG, Lopez-lbor JJ, Andreasen N, editors. New Oxford textbook of psychiatry. Vol. 2. New Oxford University Press; 2004; 677-82.
17. Clifford T. Tibetan Buddhist medicine & psychiatry: the diamond healing. Delhi: Motilal Banarsidass Publishers; 2001.
18. Sadock BJ, Sadock VA. Synopsis of psychiatry: behavioral sciences/clinical psychiatry. 10th ed. Philadelphia: Lippincott Williams & Wilkins; 2007.
19. American Psychiatric Association. Diagnostic and statistical manual of mental disorders. 4th ed. Text revision (DSM-IV-TR). Washington, DC: American Psychiatric Association; 2000.
20. Shahrokh NC, Hales RE, editors. American psychiatric glossary. 8th ed. Washington, DC: American Psychiatric Association; 2003.

21. Venerable Mahasi Sayadaw. The great discourse on the turning of the wheel of dhamma (Dhammacakkappavattana sutta). Bangkok: Buddhadhamma Foundation; 1996.
22. Pio E. Buddhist psychology: a modern perspective. New Delhi: Abhinav Publications; 1988.
23. จําลอง ดิษยวณิช, จิตวิทยาของความดับทุกข์ เชียงใหม่ : กลางเวียงการพิมพ์ ; 2544.
24. Trungpa Chögyam. The heart of the Buddha. New Delhi: Shambhala South Asia Editions; 1999.
25. พุทธทาสภิกขุ, ธรรมบรรยายระดับมหาวิทยาลัยเล่ม 2. กรุงเทพมหานคร: การพิมพ์พระนคร, 2519.

26. Ranasinghe SM. The science and the art of Buddhism. 3d ed. Dehiwela (Sri Lanka): Global Graphics & Printing (Pvt) Ltd; 2004.
27. จําลอง ดิษยวณิช, จิตวิเคราะห์แนวพุทธเพื่อ คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น, วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่ง ประเทศไทย 2535; 37:170-81.
28. Lama Anagarika Govinda. The psychological attitude of early Buddhist philosophy. 2nd ed. London: Rider & Company; 1969.
29. Fromm E. Psychoanalysis and religion. 8th ed. New York: Bantan Books; 1967.
30. Venerable U Silānanda. The four foundations of mindfulness. Boston: Wisdom Publication; 1990.

31. จําลอง ดิษยวณิช, วิปัสสนากรรมฐาน และ เชาวน์อารมณ์, พิมพ์ครั้งที่ 3. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์ แสงศิลป์; 2006.
32. Venerable Ledi Sayadaw. The manuals of dhamma. Maharastra: Vipassana Research Institute; 1999.
33. Venerable Mahasi Sayadaw. Sallekha sutta (a discourse on the refinement of character). 2nd ed. Bangkok: Buddha dhamma Foundation; 1997.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 16, 2025, 10:49:46 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ