ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: กำเนิดพระสมเด็จวัดระฆังฯ  (อ่าน 18 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29346
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
กำเนิดพระสมเด็จวัดระฆังฯ
« เมื่อ: กรกฎาคม 15, 2025, 09:03:56 am »
0
.



กำเนิดพระสมเด็จวัดระฆังฯ

เรื่องราวของพระสมเด็จวัดระฆังฯ (รวมถึงพระสมเด็จฯ ที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จโตเป็นผู้สร้างทั้งหมด) ว่าจริงๆ แล้วมีความเป็นมาอย่างไรนั้น เป็นที่สนใจใคร่รู้ของคนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้วยมูลเหตุอะไรที่ทำให้ท่านเจ้าประคุณสมเด็จโตมีดำริให้มีการสร้างพระสมเด็จฯ ของท่านขึ้นมา และที่สำคัญก็คือพระสมเด็จฯ ที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จโตสร้างนั้น มีพิมพ์ทรงอะไรบ้าง “ศาสตร์แห่งพระสมเด็จ” ขอเชิญท่านผู้สนใจร่วมรับฟังข้อมูลได้ในตอน “กำเนิดพระสมเด็จวัดระฆังฯ” ดังต่อไปนี้

@@@@@@@

มูลเหตุในการสร้างพระสมเด็จฯ

มูลเหตุที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จโต ได้สร้างพระสมเด็จฯ นั้น มี 2 กระแสหลัก โดยอ้างจากตำรา 2 เล่มคือ หนังสือประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ของพระมหาเฮง อิฐฐาจาโร (พระครูกัลยาณานุกูล) พิมพ์ครั้งที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2495 (พิมพ์ครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2510) และหนังสือปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่อง เล่มที่ 1 ของตรียัมปวาย พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2495

ตำราของพระมหาเฮง อิฐฐาจาโร (พระครูกัลยาณานุกูล) กล่าวไว้ว่า “เหตุที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ จะสร้างพระสมเด็จนั้น สืบเนื่องมาแต่ท่านได้ปรารภถึงพระมหาเถระในปางก่อน ว่ามักนิยมสร้างพระพิมพ์ บรรจุไว้ในปูชนียสถานต่างๆ เพื่อเป็นการสืบต่ออายุพระศาสนาให้ถาวรอยู่ตลอดกาล ท่านปรารภจะทำตามคตินั้น จึงได้จัดการสร้างพระสมเด็จขึ้นไว้เป็นจำนวนมาก ว่าสร้างถึง 84,000 องค์ เท่าจำนวนพระธรรมขันธ์
     ครั้งแรกได้สร้างพระสมเด็จฯ ครบจำนวน 84,000 องค์
     ครั้งที่สอง จะสร้างอีก 84,000 องค์ เป็นพระชนิด 7 ชั้น ด้วยประสงค์จะเอาไปบรรจุไว้ที่วัดไชโย จังหวัดอ่างทอง แต่สร้างได้ยังไม่ครบตามจำนวนที่ต้องการนั้น (สร้างได้เท่าไหร่หาทราบไม่) ...

ท่านบอกกับนายเทศว่า พระของท่านเห็นจะไม่ทันแล้ว เพราะท่านจะถึงมรณภาพเสียก่อน จึงให้เอาพระคะแนนร้อย และคะแนนพันที่สร้างในครั้งแรก มาเพิ่มเข้ากับพระที่สร้างในครั้งหลังจนครบจำนวน 84,000 องค์ แล้วเอาไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์วัดไชโย ต่อมาไม่ช้าท่านก็ถึงมรณภาพ เพราะเหตนี้ พระสมเด็จที่กรุวัดไชโยจึงเป็นพระชนิด 7 ชั้นโดยมาก”

@@@@@@@

ในส่วนของตำราตรียัมปวายนั้น ได้อ้างถึงบันทึกของนายกนก สัชชุกร อดีตผู้ช่วยข้าหลวงตรวจการกระทรวงการคลัง ที่ได้จากการสัมภาษณ์พระธรรมถาวร (ช่วง จันทโชติ) ศิษย์ใกล้ชิดสมเด็จโต เมื่อปี พ.ศ. 2470 (ขณะสัมภาษณ์ท่านเจ้าคุณพระธรรมถาวรอายุได้ 83 ปี) โดยกล่าวไว้ว่า

    “การที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ จะได้ดำริสร้างพระสมเด็จฯ ของท่านขึ้นนั้น เพราะเหตุว่า คราวหนึ่งท่านได้จารึกไปที่เมืองพระตะบอง และมีเจ้าเขมรองค์หนึ่ง ซึ่งสนิทชิดชอบ และเคารพเลื่อมใสในตัวท่าน ได้ปรารภขอให้ท่านสร้างพระเครื่องฯ ของท่านขึ้นไว้ เพื่อจะได้เอาไว้เคารพสักการบูชาป้องกันอันตรายต่างๆ และทั้งเป็นเครื่องระลึกถึงท่านด้วย ดังนั้น ภายหลังที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ กลับจากพระตะบอง ท่านจึงได้สร้างพระสมเด็จ ขึ้นเป็นครั้งแรก”

(“ศาสตร์แห่งพระสมเด็จ” ขออนุญาตตีความว่า คำว่าพระสมเด็จฯ ในคำสัมภาษณ์อันหลังนี้ ไม่น่าจะหมายถึงพระสมเด็จฯ แบบกรอบสี่เหลี่ยมของท่านเจ้าประคุณสมเด็จโต แต่น่าจะเป็นพระพิมพ์ที่ไม่มีรูปแบบตายตัว)





มีการกล่าวกันว่า ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 4 (ครองราชย์ พ.ศ. 2394 - พ.ศ. 2411) ทรงโปรดปรานพระเจ้าแผ่นดินเขมรมาก ในปี พ.ศ. 2400 จึงได้ทรงอาราธนาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เดินทางไปเทศน์โปรดสมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี (นักองค์ด้วง) กษัตริย์เขมร (ครองราช พ.ศ. 2383 – พ.ศ. 2403)

มีบางท่านได้ให้ความเห็นว่าท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้เริ่มสร้างพระสมเด็จฯ ครั้งแรก เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2401 โดยอ้างอิงจากข้อมูลการเดินทางไปเขมรดังกล่าว ประกอบกับการตีความว่า บันทึกการสัมภาษณ์เจ้าคุณพระธรรมถาวร ของพระอาทรพัตรพิสิฐ (เล็ก อุณหะนันท์) ที่เขียนไว้ในตำราตรียัมปวายที่ว่า

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เริ่มสร้างพระสมเด็จฯ หลังจากเจ้าคุณพระธรรมถาวรบวชได้ 2 ปี (เจ้าคุณพระธรรมถาวรบรรพชาเป็นเณรเมื่อปี พ.ศ. 2399 และอุปสมบทเป็นพระเมื่อปี พ.ศ. 2407) หมายถึงการบวชเณร ซึ่งหมายถึงท่านเจ้าประคุณฯ จะเริ่มสร้างพระของสมเด็จฯ ของท่านในปี พ.ศ. 2401 ซึ่งประเด็นนี้ “ศาสตร์แห่งพระสมเด็จ” เห็นว่าจริงๆ แล้วน่าจะหมายถึงหลังบวชพระ 2 ปี มากกว่า โดยพิจารณาจากหลักฐานเพิ่มเติมอื่นที่ช่วยยืนยันในเรื่องของปีที่เริ่มสร้างพระสมเด็จฯ (แบบกรอบสี่เหลี่ยม) ว่าเริ่มประมาณ ปี พ.ศ. 2409 (พระพิมพ์ที่ไม่มีรูปแบบตายตัวนั้น ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้มีการสร้างมาตั้งแต่ก่อนที่จะได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะแล้ว)

@@@@@@@

ข้อมูลที่บอกว่าท่านเจ้าประคุณฯ เริ่มสร้างพระสมเด็จฯ เมื่อกลับจากเขมรนี้ จึงน่าจะยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอที่จะนำมาสรุปได้ว่า ท่านเจ้าประคุณฯ ได้เริ่มสร้างพระเครื่องของท่านในปี พ.ศ. 2401 เนื่องจากท่านเจ้าประคุณฯ อาจจะเดินทางจาริกไปยังเขมร ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 3 (ครองราช พ.ศ. 2367 - พ.ศ. 2394) ด้วยก็เป็นได้

ประกอบกับช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่ท่านได้ถือธุดงควัตรไปตามสถานที่ห่างไกลต่างๆ โดยน่าจะถือว่าเป็นการเร้นตัวไปด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับพระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์ มีการกล่าวว่าท่านยังได้เคยจาริกไปยังเขมรในสมัยช่วงรัชกาลที่ 3 อีกด้วย นอกจากนี้เจ้าเขมรที่สนิทชิดเชื้อกับท่านเจ้าประคุณฯ ตามที่พระธรรมถาวรเล่าให้นายกนก สัชชุกร ฟัง ก็ไม่ชัดเจนว่าเป็นเจ้าองค์ไหน

(มีการบันทึกไว้ว่า พระพิมพ์บางแบบ เช่นพิมพ์หลวงพ่อโตนั้น ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้เคยสร้างไว้สมัยที่ท่านได้จาริกไปอยู่เมืองกรุงเก่า (อยุธยา) และภายหลังท่านก็ได้มาสร้างพระพิมพ์นี้อีกครั้งที่วัดระฆังฯ สมัยดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่พระธรรมกิติ (ช่วงปี พ.ศ. 2395 – 2397))

กล่าวโดยสรุป มูลเหตุแห่งการสร้างพระสมเด็จฯ ที่กล่าวไว้ในตำราของพระมหาเฮงฯ นั้น น่าจะหมายถึงพระสมเด็จฯ แบบกรอบสี่เหลี่ยมเป็นหลัก โดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ สร้างพระประเภทนี้เมื่อได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะแล้ว ส่วนที่ตำราตรียัมปวายบอกว่า พระสมเด็จฯ นั้นเริ่มสร้างหลังจากที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ กลับจากเขมรแล้วนั้น น่าจะหมายถึงการสร้างพระพิมพ์ของท่าน ก่อนที่จะได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ แต่จะสร้างก่อนกี่ปี ย้อนไปถึงสมัยไหนนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด

@@@@@@@

พิมพ์ทรงพระสมเด็จฯ

ตำราของตรียัมปวายยังได้พูดถึงเรื่องชนิดและจำนวนของพระสมเด็จฯ ที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จโตสร้างเมื่อคราวสร้างครั้งใหญ่ทั้งสองครั้งด้วย โดยมีรายละเอียดแตกต่างไปจากตำราของพระมหาเฮงฯ บ้าง โดยอ้างถึงคำกล่าวของพระอาจารย์ขวัญ “วิสิฏโฏ” วัดระฆังฯ ศิษย์พระธรรมถาวร (ช่วง จันทโชติ) ที่กล่าวว่าได้ทราบจากอาจารย์ของท่านว่า “ในการสร้างพระสมเด็จฯ นั้น สร้างได้ครบ 84,000 องค์ แต่การสร้างครั้งหลังได้ไม่ถึง และเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ปรารภกับนายเทดว่า

ฉันเห็นจะสร้างพระได้ไม่ครบ 84,000 องค์เสียแล้ว จึงให้รวบรวมพระสมเด็จรุ่นแรกๆ คัดเอาเฉพาะพิมพ์ทรง 5 ชั้น 6 ชั้น และ 7 ชั้น เข้ากับพระสมเด็จฯ ที่สร้างรุ่นใหม่จนครบ 84,000 องค์ บรรจุไว้ในกรุวัดไชโย อ่างทอง เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้โยมมารดา ... สำหรับแบบพิมพ์ 7 ชั้น รุ่นเดิมของวัดระฆังฯ ที่นำไปบรรจุพร้อมกับพระรุ่นใหม่นั้น องค์พระมีหูประบ่าอย่างธรรมดา ส่วนแบบพิมพ์ 7 ชั้นที่สร้างครั้งหลัง ซึ่งท่านตั้งใจว่าจะนำไปบรรจุโดยเฉพาะนั้น หูกางสูงขึ้นไป ซึ่งเรียกว่า หูบายศรี”





น่าสนใจว่าในการสร้างพระสมเด็จฯ โดยเฉพาะแบบกรอบสี่เหลี่ยมนั้น ท่านเจ้าประคุณสมเด็จโตได้สร้างพระพิมพ์ทรงอะไรไว้บ้าง

ในการสร้างพระสมเด็จฯ ครั้งใหญ่ 2 ครั้ง (อาจถือว่าการสร้างพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมนั้นเป็นการสร้างครั้งใหญ่ครั้งที่ 3) พอจะสรุปได้ว่า

    พระสมเด็จรุ่นแรกๆ (น่าจะสร้างประมาณปี พ.ศ. 2407 หรือก่อนหน้านั้นไม่นาน) ประกอบด้วยแบบพิมพ์ทรง 5 ชั้น 6 ชั้น และ 7 ชั้น (เป็นอย่างน้อย) และน่าจะมีพิมพ์ทรงแบบพระคะแนนอีกจำนวนหนึ่งอีกด้วย ส่วนในการสร้างใหญ่ครั้งที่สองนั้น ท่านเจ้าประคุณฯ น่าจะเน้นในการสร้างพระสมเด็จฯ แบบ 7 ชั้นเป็นหลัก เพื่อเอาไปบรรจุที่วัดไชโยอุทิศส่วนกุศลให้โยมมารดาท่าน

อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาท้ายๆ ของการสร้างพระสมเด็จฯ นั้น ตำราที่น่าเชื่อถือบอกว่าได้มีช่างทองหลวงเข้าช่วยท่านเจ้าประคุณสมเด็จโตสร้างพระสมเด็จฯ ที่ตรียัมปวายเรียกว่าเป็นพิมพ์ทรงมาตรฐานด้วย ด้วยเหตุนี้พระสมเด็จของท่านเจ้าประคุณที่ตั้งใจจะนำไปบรรจุรวมถึงแจกจ่ายที่วัดไชโยนั้นจึงน่าจะรวมเอาพิมพ์ทรงมาตรฐานบางส่วนรวมไปด้วย ดังที่มีหลักฐานปรากฏให้เห็นอยู่

@@@@@@@

ตำราของตรียัมปวายได้พูดถึงบันทึกของนายกนก สัชชุกร ที่ได้สัมภาษณ์พระธรรมถาวร ที่กล่าวไว้ว่า
    “แบบแม่พิมพ์ที่ใช้สร้างพระสมเด็จฯ มีประมาณ 5 แบบด้วยกัน คือแบบ 3 ชั้น 5 ชั้น 6 ชั้น แบบ 7 ชั้น และแบบปรกโพธิ์”

ตำราของตรียัมปวายยังได้พูดถึงบันทึกของพระอาจารย์ขวัญ “วิสิฏโฏ” ที่กล่าวว่า “จากการที่ได้ทราบและได้เห็นจากพระธรรมถาวร พระสมเด็จฯ มีอยู่มากมายหลายแบบพิมพ์ ถ้าจะกล่าวเฉพาะชนิดพิมพ์สี่เหลี่ยมก็มากพิมพ์ เช่น พิมพ์ทรงพระประธาน พิมพ์ทรงเจดีย์ พิมพ์ทรงฐานแซม พิมพ์ทรงเกศบัวตูม พิมพ์ทรงปรกโพธิ์ พิมพ์ทรงเศียรบาตรอกครุฑ (พิมพ์ทรงไกเซอร์) พิมพ์ทรงสังฆาฏิ พิมพ์ทรงเส้นด้าย และพิมพ์ทรงฐานคู่”

ตรียัมปวายได้กำหนดพระสมเด็จฯ พิมพ์ทรงมาตรฐานไว้เป็นจำนวน 9 พิมพ์ทรง สอดคล้องกับข้อมูลของพระอาจารย์ขวัญ “วิสิฏโฏ” ในหนังสือปริอรรถาธบายแห่งพระเครื่อง เล่มที่ 1 โดยได้แยกแยะไว้ด้วยว่า พิมพ์ใดเป็นของวัดระฆังฯ หรือวัดบางขุนพรหม

และต่อมายังได้ตีพิมพ์ภาพพระสมเด็จวัดเกศไชโย แบบ 5 ชั้น 6 ชั้น และ 7 ชั้น ลงในหนังสือพระเครื่องประยุกต์ ของตรียัมปวายเอง พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2507 อีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของนายกนก สัชชุกร ที่บอกว่าพระสมเด็จฯ ของท่านเจ้าประคุณฯ มีแบบ 5 ชั้น 6 ชั้น แบบ 7 ชั้น ด้วยเช่นกัน อาจารย์ประกิต หลิมสกุล หรือ พลายชุมพล แห่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ กรุณาให้ข้อมูลว่า พระสมเด็จฯ แบบ 5 ชั้นในหนังสือเล่มดังกล่าวมีความคล้ายกับพระสมเด็จฯ แบบ 5 ชั้นของวัดอินทรวิหาร

@@@@@@@

อาจารย์ประชุม กาญจนวัฒน์ ได้พูดไว้ในหนังสือ
    “สามสมเด็จ” พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2523 ว่าพระสมเด็จเกศไชโย มีเพียง 2 พิมพ์เท่านั้นก็คือ พระสมเด็จเกศไชโยฐาน 7 ชั้น “พิมพ์ใหญ่” และพระสมเด็จเกศไชโยฐาน 6 ชั้น “พิมพ์เล็ก” โดยไม่พูดถึงพิมพ์ 5 ชั้น

หนังสือพระสมเด็จเกศไชโยและพระเครื่องเมืองอ่างทอง โดยเทศมนตรีเข่ง อ่างทอง อาจารย์อ้า สุพรรณ พิมพ์ปี พ.ศ. 2528 ได้อธิบายว่า พระสมเด็จเกศไชโยนั้น มีทั้งแบบ 7 ชั้น 6 ชั้น และ 5 ชั้น โดยมีทั้งหมด 19 พิมพ์ทรง แยกเป็นแบบ 7 ชั้น จำนวน 12 พิมพ์ทรง แบบ 6 ชั้น จำนวน 6 พิมพ์ทรง และแบบ 5 ชั้น จำนวน 1 พิมพ์ทรง

จากข้อมูลเหล่านี้อาจสรุปในเบื้องต้นได้ว่า ถ้าว่าตามตำราตรียัมปวาย ที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในปัจจุบันนั้น พระสมเด็จพิมพ์ทรงมาตรฐาน จะประกอบด้วยพระสมเด็จฯ แบบ 3 ชั้น 5 ชั้น 6 ชั้น แบบ 7 ชั้น





บทส่งท้าย พิมพ์ทรงพระสมเด็จฯ 29 ชนิดตามตำราพระมหาเฮงฯ

หนังสือประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ของพระมหาเฮง อิฐฐาจาโร (พระครูกัลยาณานุกูล) พิมพ์ครั้งที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2495 (พิมพ์ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2510) ได้ให้รายละเอียด โดยอ้างจากคำบอกเล่าของพระอาจารย์ ขวัญ วิสิฏโฐ ที่บอกว่าเจ้าคุณพระธรรมถาวร ศิษย์ใกล้ชิดสมเด็จโต และพระครูธรรมราด (เที่ยง) ถานานุกรมในสมเด็จพระพุทธโฆษจารย์ (ม.ร.ว. เจริญ อิศรางกูล ณ อยุธยา) นักสะสมพระพิมพ์ชนิดต่าง มีความชำนาญดูพระสมเด็จเป็นพิเศษ (ว่ากันว่าไม่ต้องหยิบพระมาพิจารณา เพียงแต่มองดูห่างๆ ก็สามารถบอกได้ถูกต้อง ว่าเป็นพระสมเด็จแท้หรือไม่ใช่) เป็นผู้เล่า

โดยหนังสือเล่มนี้บอกว่าพระสมเด็จฯ ที่เจ้าประคุณสมเด็จโตสร้างว่ามีถึง 73 ชนิด (เข้าใจว่ารวมถึงพระพิมพ์แบบที่ไม่มีรูปแบบตายตัว ที่ท่านสร้างประมาณช่วงก่อนได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะด้วย โดยหลังจากได้รับสถาปนาฯ ในปี พ.ศ. 2407 แล้วนั้นจะเป็นพระพิมพ์แบบกรอบสี่เหลี่ยมเป็นส่วนใหญ่) โดยบอกว่า ณ เวลานั้น สืบทราบได้ 29 ชนิด “ศาสตร์แห่งพระสมเด็จ” ขออนุญาตแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วยกลุ่มใกล้เคียงพิมพ์ทรงมาตรฐานและกลุ่มพิมพ์ทรงพิเศษ โดยจะขอนำเสนอรายละเอียดในโอกาสต่อไป

@@@@@@@

ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่เพจ พระสมเด็จศาสตร์ ขอขอบคุณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์รังสรรค์ ต่อสุวรรณ ที่กรุณาเอื้อเฟื้อรูปพระสมเด็จวัดระฆังฯ องค์ครูอีกองค์หนึ่ง เพื่อให้ความรู้ และขอขอบคุณท่านเจ้าของพระท่านปัจจุบัน

พระองค์นี้เป็นพระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์ทรงเจดีย์ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดองค์หนึ่งในวงการพระสมเด็จฯ เป็นองค์ตำนาน มีความงดงามมากที่สุดองค์หนึ่ง มีวรรณะขาวสะอาด ไม่ได้จุ่มรัก มีความสมบูรณ์แทบไม่ได้ผ่านการใช้ เรียกว่าเป็นผิวหิ้ง มีคราบแป้งนวลขาวรอบๆ องค์พระ เนื้อมีความละเอียด มีลักษณะของเนื้อปูนนุ่ม มีเม็ดพระธาตุ มีรอยหนอนด้น รอยรูพรุนเข็ม ปรากฏให้เห็น พิมพ์ทรงถูกต้องตามตำรา ด้านหลังเป็นแบบหลังสังขยาผสมหลังเรียบ มีขอบปริกระเทาะ (รอยปูไต่) ทั้งสี่ด้านที่แสดงถึงธรรมชาติความเก่า เป็นองค์ต้นแบบที่ดีเพื่อใช้ในการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพระสมเด็จวัดระฆังฯ





ผู้เขียน พ.ต.ต.คมสัน สนองพงษ์ อดีตตำรวจพิสูจน์หลักฐาน
เพจเฟซบุ๊ก – พระสมเด็จศาสตร์
ขอบคุณ ; https://www.thairath.co.th/lifestyle/amulet/2867991
2 ก.ค. 2568 11:01 น. | ไลฟ์สไตล์ > พระเครื่อง > ไทยรัฐออนไลน์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 15, 2025, 09:14:34 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ