วธ.เจิด! ห้ามสักรูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนร่าง ชี้กระทบความศรัทธา
วธ.ปลุกกระแสโวยต่างชาติแห่สักรูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนร่าง ชี้กระทบต่อความรู้สึก ความศรัทธาที่ต่อศาสนา "นิพิฏฐ์" สั่งเข้มผู้ว่าฯ ตรวจสอบร้านบริการ แจกข้อควรระวัง ห้ามใช้สัญลักษณ์ทางศาสนาเชิงพาณิชย์ รุกเสนอออก กม. เอาผิดทั้งผู้ให้บริการ-ผู้สัก...เมื่อวันที่ 30 พ.ค. นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการศูนย์ปฏิบัติการสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์แห่งชาติครั้งที่ 1/2554 ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถึงประเด็นการร้องเรียนเกี่ยวกับการสักภาพ (Tattoo) พระพุทธรูป และรูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาอื่นๆ บนร่างกายที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่ง วธ.ได้มอบหมายให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ตลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูล ตามสถานประกอบการในเบื้องต้น พบข้อมูลที่น่าตกใจว่า
ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยส่วนใหญ่ ให้ความสนใจมาสักรูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อาทิ พระพุทธรูป พระพิฆเนศวร ไม้กางเขน ไว้ตามร่างกาย เช่น แขน ขา ข้อเท้า หน้าอก เป็นต้น ซึ่งไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรมอันดีงานในสังคมไทย และกระทบต่อความรู้สึก ความศรัทธาที่ต่อศาสนานอกจากนี้ นายนิพิฏฐ์ กล่าวต่อว่า ยังพบข้อมูลการให้บริการสักรูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีราคาแพงสุดถึง 20,000 บาทต่อภาพ ถือว่าแพงกว่ารูปอื่นๆ ทำให้ผู้ประกอบการนิยมที่จะให้บริการ เพราะได้ราคาดี ขณะเดียวกันชาวต่างชาติเห็นว่า การสักรูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นเพียงแฟชั่น ไม่ได้มองถึงความเคารพและอาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติให้แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยว ให้มีการตรวจสอบสถานประกอบการสัก โดยห้ามมิให้มีการบริการสักรูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของทุกศาสนาบนร่างกาย รวมทั้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดประชุมชมรมผู้ประกอบการ เพื่อขอความร่วมมือไม่ให้นำภาพทางศาสนามาให้บริการสักแก่ชาวต่างชาติ อีกทั้ง วธ.จะจัดทำข้อควรระวังในการใช้สัญลักษณ์ทางศาสนา ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ เพื่อป้องกันปัญหาการใช้สัญลักษณ์ทางศาสนาในทางที่ไม่เหมาะสมเชิงพาณิชย์ ทั้งในและต่างประเทศ ส่วนของผู้ใช้บริการก็ขอให้ใช้ภาพอื่นๆ สักแทน
"ที่ประชุมเห็นว่า การสักประเภทนี้มีทั่วประเทศ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยว อย่างที่ถนนข้าวสาร ตะวันนา จตุจักร เชียงใหม่ ภูเก็ต ดังนั้น จึงต้องช่วยกันควบคุมไม่ให้นำรูปที่คนเคารพในทุกศาสนามาสักบนร่างกาย แม้กระทั่งสักบนศีรษะ ใบหน้า หรือขาก็ไม่ควร หากมีพฤติกรรมที่ไม่ดี เช่น ไปนั่งกินเหล้า ทะเลาะวิวาท ภาพนั้นก็จะติดบุคคลนั้นไปด้วย ขณะเดียวกัน บางศาสนา ก็ให้ความสำคัญของการสักภาพที่ไม่เหมาะสมมาก
จนถึงขั้นถ้าพบเห็นจะถูกประณาม และไม่สามารถเดินออกจากร้านได้ ซึ่งขณะนี้ยอมรับว่า ข้อบังคบในประมวลกฎหมายอาญาของไทยยังไม่มีการบังคับในเรื่องดังกล่าว จึงต้องประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการควบคุมการสักรูปเคารพในศาสนา ดังนั้น จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เพื่อขอความเห็นชอบในการออกกฎหมายในการนำสัญลักษณ์ทางศาสนามาใช้ในเชิงพาณิชย์ต่อไป โดยจะเอาผิดทั้งผู้ให้บริการ และผู้ใช้บริการ" รมว.วัฒนธรรม กล่าวน.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผอ.สำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กล่าวว่า ตนได้รับข้อมูลจาก ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา ระบุว่า รูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ถือเป็นความเชื่ออย่างหนึ่งของบบุคคล เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน หากมีการนำไปสักบนเรือนร่าง จะถือว่ามีความไม่เหมาะสม เพราะเรือนร่างของคนจะต้องนำไปใช้ในการกิจกรรมต่างๆ และหากยิ่งพบเห็นการสักรูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในกลุ่มบุคคลที่ใช้เรือนร่างโชว์ เป็นอาชีพ เช่น อาชีพขายบริการ นักเต้นอาโกโก้ ก็ยิ่งจะทำให้ความศรัทธาของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เสื่อมถอยลงด้วย.
ที่มา http://www.thairath.co.th/content/edu/175286
ขอขอบคุณ http://www.onab.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=4750:2011-05-31-03-21-47&catid=62:2009-06-13-17-55-08&Itemid=245