มหาจัตตารีสกสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๑๔
ทรงแสดงธรรมสัมมาทิฏฐิหรือปัญญาเห็นชอบ,เห็นถูกต้องว่ามี ๒ อย่างด้วยกัน คือ อย่างโลกิยะ และอย่างโลกุตระ, ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า เมื่อเป็นสัมมาทิฏฐิที่หมายถึงความคิดความเห็นอันดีงาม,อันถูกต้อง จึงต่างล้วนย่อมดีงาม, ทั้งสองนั้นไม่ใช่ว่า ฝ่ายหนึ่งดีงามและอีกฝ่ายไม่ดีงาม แต่ประการใด เพียงแต่ขึ้นอยู่กับฐานะและจุดประสงค์แห่งตนเป็นสำคัญ
แล้วปฏิบัติให้ถูกต้องแนวทางของฝ่ายนั้นๆเป็นสำคัญนั่นเอง เพราะตามความจริงแล้วต่างล้วนดีงาม ยังประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติหรือมีปัญญาเห็นชอบทั้ง ๒ อย่าง ไม่ว่าจะฝ่ายโลกิยะหรือโลกุตระก็ตามที เพียงแต่ผลที่เกิดขึ้นย่อมมีความแตกต่างกันเป็นธรรมดาไปตามเหตุ, ฝ่ายหนึ่งแม้ยังไม่ถึงขั้นโลกุตระอันเหนือโลกด้วยหลุดพ้นจากกองกิเลสที่ย่อมแน่นอนว่าเป็นสุขอย่างยิ่ง
แต่ฝ่ายโลกิยะก็ย่อมยังประโยชน์อันยิ่งใหญ่ในการดำรงและดำเนินชีวิตอย่างเป็นสุขยิ่งตามขันธ์หรือชีวิตตามฐานะนั้นๆของตน กล่าวคือ จึงย่อมดำเนินขันธ์หรือชีวิตอยู่ในศีลและธรรมฝ่ายดีงามจึงย่อมยังให้เกิดวิบากของกรรมดีขึ้น จึงเป็นไปทั้งเพื่อประโยชน์ตนและโลก คือโลกิยะโดยส่วนรวม(สังคม)ขึ้น
จึงเป็นไปดังที่ผู้เขียนกล่าวอยู่เสมอๆว่า พระองค์ท่านทรงโปรดเวไนยสัตว์ทุกระดับ ด้วยพระมหากรุณาคุณยิ่ง การโปรดหรือแสดงธรรมจึงขึ้นอยู่กับจริต สติ สมาธิ ปัญญา ฐานะแห่งตน เช่นภิกษุหรือฆราวาส ฯ. ของผู้ปฏิบัติ จึงมีการสอนออกไปในรูปแบบต่างๆอย่างมากมาย
จึงมีการสอนที่แสดงทั้งฝ่ายโลกิยะที่ยังประโยชน์ตนและโลกเป็นที่สุด และฝ่ายโลกุตระที่เป็นไปเพื่อความหลุดพ้นจากกองทุกข์อุปาทานคือนิพพาน เหมือนดังเช่นหลักการปฏิบัติเช่นกันที่มีขั้นทาน ศีล สติ สมาธิ และปัญญา,
ดังนั้นการกล่าวสอนดังบันทึกในพระไตรปิฎกหรือพระคัมภีร์มากหลาย ผู้ศึกษาจึงจำต้องแยกแยะจำแนกแตกธรรมด้วยสัมมาทิฏฐิเสียให้ถูกต้องด้วยว่า คำสอนหรือธรรมเดียวกันนี้ล้วนแสดงธรรมที่เป็นไปได้ทั้งสองฝ่ายกล่าวคือทั้งในฝ่ายโลกิยะหรือโลกุตระ
เพราะแม้ว่าล้วนยังประโยชน์ทั้งสองฝ่ายก็ตามที แต่ถ้าตีความผิดเสียแล้ว กลับก่อให้เกิดความผิดพลาดในการปฏิบัติขึ้นได้ ดังเช่นในกรณีของสาติภิกษุใน มหาตัณหาสังขยสูตร ที่เป็นภิกษุ พระองค์ท่านได้ตรัสสั่งสอนภิกษุในเรื่องตัณหาต่างๆในแนวทางโลกุตระหรือปรมัตถ์ยิ่ง
เพื่อความหลุดพ้นเป็นสำคัญ แต่สาติภิกษุกลับไปตีความในเรื่องของวิญญาณอย่างโลกิยะในทางโลกคือเป็นไปในลักษณะของเจตภูตหรือปฏิสนธิวิญญาณ จึงถูกพระองค์ท่านทรงกล่าวโทษไว้อย่างรุนแรงว่าเป็น ทิฏฐิอันลามก ที่หมายถึง เป็นความคิดความเห็นผิดอันชั่วร้าย
เหตุที่พระองค์ท่านกล่าวโทษรุนแรงถึงขั้นนั้น ก็เนื่องด้วยเมื่อเป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างนี้แล้ว ย่อมทำให้ไม่สามารถดำเนินไปได้ตามทางแห่งองค์มรรคเพื่อโลกุตระที่ตนควรดำเนินตามฐานะแห่งตน ด้วยความเป็นภิกษุที่ย่อมควรปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้น จึงไม่ควรมีทิฏฐิอย่างโลกิยะที่ย่อมยังให้เนื่องในโลกด้วยไม่เห็นความจริง
ธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า บางธรรมจึงสามารถจำแนกแตกธรรมออกเป็นไปได้ทั้ง ๒ ลักษณะดังข้างต้น ขึ้นอยู่กับภูมิ หรือจุดประสงค์ของผู้ปฏิบัติเป็นสำคัญอีกด้วย กล่าวคือ ในธรรมเดียวกันนั้นสามารถแสดงหรือตีความหมายได้ทั้ง ๒ ฝ่าย ดังเช่น ปฏิจจสมุปบาท ที่สามารถแสดงได้ทั้ง
ธรรมฝ่ายโลกิยะ เป็นการแสดงธรรมโดยทั่วไปที่เป็นส่วนแห่งบุญ จึงยังผลบุญกุศลต่อขันธ์หรือชีวิตโดยตรง จึงย่อมยังประโยชน์ทั้งต่อตนเองผู้ยังเนื่องอยู่ในโลก ทั้งต่อผู้อื่น และต่อโลกอีกด้วย ที่แสดงการเวียนว่ายตายเกิดจึงเกิดความเกรงกลัวต่อบาปกรรมแห่งตน แต่ย่อมยังเวียนว่ายตายเกิดหรือยังเนื่องอยู่ในโลกหรือโลกิยะอยู่นั่นเอง
ธรรมฝ่ายโลกุตระ เป็นการแสดงอริยมรรคเพื่อความหลุดพ้นจากกองทุกข์หรือการเวียนว่ายตายเกิดในโลก หรือกองทุกข์หรือสังสารวัฏในปัจจุบัน โดยสิ้นเชิง อันเป็นสุข สงบ บริสุทธิ์ยิ่ง
ที่มา
http://nkgen.com/372.htmขอบคุณภาพจากhttp://nkgen.com
ศึกษารายละเอียด "มหาจัตตารีสกสูตร" ได้ที่
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ บรรทัดที่ ๓๗๒๔ - ๓๙๒๓. หน้าที่ ๑๕๘ - ๑๖๖.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=14&A=3724&Z=3923&pagebreak=0ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=252