วัดมหาพฤฒาราม วรวิหาร ตั้งอยู่ 5/7 ถ.มหาพฤฒาราม แขวงมหาพฤฒาราม เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500 โทรศัพท์ : 0-2236-5678 0-2266-2844 รถประจำทางสายที่ผ่านได้แก่สาย 1,16,35,36,75, 93 รถปรับอากาศสาย 93 สามารถโดยสารทางเรือด่วนเจ้าพระยามาลงที่ ท่ากรมเจ้าท่า ท่าสี่พระยา หรือเรือข้ามฝาก ท่าสี่พระยาได้ การเข้าชมวัดมหาพฤฒารามไม่เสียค่าเข้าชม โดยโบสถ์ของวัดเปิดให้เข้าชมเวลา 8.00-18.00น.



ริมสองฝั่งของคลองผดุงกรุงเกษม คลองขุดในสมัยรัชกาลที่ 4 มีวัดวาอารามตั้งอยู่มากมาย แต่ละวัดล้วนแต่เป็นวัดเก่าแก่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ทั้งสิ้น อาทิ วัดเทพศิรินทราวาส วัดโสมนัสราชวรวิหาร หรือแม้แต่ "วัดมหาพฤฒาราม"พระอารามหลวงชั้นตรี เป็นวัดหลวงเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งในเขตบางรัก
ที่เกริ่นนำเช่นนี้เป็นเพราะ เดือนนี้เป็นเดือนที่วันสำคัญทางพุทธศาสนา อย่างวันวิสาขบูชาจะเวียนมาบรรจบ ในวันที่ 19 พ.ค.2551 ที่ใกล้จะมาถึง ฉันในฐานะพุทธศาสนิกชนคนหนึ่ง จึงขอเชิญชวนพ่อแม่พี่น้องไปทำบุญด้วยกันเสียเลย ที่ "วัดมหาพฤฒาราม" วัดที่มีความผูกพันกับรัชกาลที่ 4 อยู่ไม่น้อย
ก่อนจะพาเที่ยวชมบริเวณวัด ฉันขอกล่าวถึงประวัติอันน่าสนใจของวัดแห่งนี้ให้รู้กันเสียก่อน "วัดมหาพฤฒาราม วรวิหาร" นั้นตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของคลองผดุงกรุงเกษม แถวๆบริเวณตลาดน้อย เป็นวัดโบราณที่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานี
วัดนี้แต่เดิมชื่อว่า "วัดท่าเกวียน" เนื่องจากเคยเป็นที่พักแรมของกองเกวียน ที่เดินทางเข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯ ในช่วงสมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่ต่อมาชาวบ้านก็พากันเรียกชื่อวัดนี้ว่า "วัดตะเคียน" สันนิษฐานว่า เรียกชื่อวัดตามต้นตะเคียนที่ขึ้นหนาแน่นอยู่รอบบริเวณวัดที่มีอาณาบริเวณ ถึง 14 ไร่
วัดนี้ได้มีการเปลี่ยนชื่ออีกครั้งหนึ่งเป็น "วัดมหาพฤฒาราม" ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่4 ทรงมีพระราชดำริที่จะให้ชื่อวัดที่ทรงพระราชทานนาม เพื่อเฉลิมฉลองท่านเจ้าอาวาสของวัดที่มีอายุยืนยาวมาถึง 107 ปี ในปีที่มีการพระราชทานนามวัดนั้น
สำหรับความเกี่ยวข้องที่เป็นที่มาของความผูกพันระหว่างรัชกาลที่ 4 และวัดมหาพฤฒารามแห่งนี้ เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่เจ้าฟ้ามงกุฎ หรือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอยู่ในเพศบรรพชิตได้เสด็จมาพระราชทานผ้าป่าที่วัดนี้
ในคราวนั้น พระอธิการแก้วเจ้าอาวาสได้ทูลถวายพยากรณ์ว่า "จะได้เป็นเจ้าชีวิตในเร็วๆนี้" พระองค์จึงทรงรับสั่งว่า "ถ้าได้ครองแผ่นดินจริงจะมาสร้างวัดให้อยู่ใหม่" หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์จึงโปรดเกล้าฯให้สถาปนาวัดขึ้นใหม่