
หากเห็นแก่ตัวแก้ด้วยการละความเห็นแก่ตัว
อุบายการละสักกายทิฏฐิ คือ กลยุธในการสละ ความเห็นว่าเป็นตัวเราของเรา
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเมตตาสอน อุบายการละสักกายทิฏฐิไว้มีดังนี้
๑ ท่านจงพิจารณาความไม่เที่ยงไว้เสมอ ๆ จักได้คลายความยึดมั่นถือมั่นลงได้ด้วยประการทั้งปวง แม้จักละได้ยังไม่สนิท ก็บรรเทาสักกายทิฏฐิลงได้บ้างไม่มากก็น้อย
๒ จงอย่าลืมคำว่าสักกายทิฏฐิเป็นขั้น ๆ ตั้งแต่อย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด คือ ตั้งแต่ปุถุชนมาสู่พระโสดาบัน-พระสกิทาคามี-พระอนาคามี-พระอรหันต์ ล้วนแต่ละสักกายทิฏฐิในระดับนั้น ๆ ทั้งสิ้น
๓ สาเหตุก็เนื่องมาจากการเห็นทุกข์ในความไม่เที่ยง จากการเกิดเป็นทุกข์ แก่เป็นทุกข์ เจ็บเป็นทุกข์ พลัดพรากจากของรักของชอบก็เป็นทุกข์ ความโศกเศร้าเสียใจเป็นทุกข์ แล้วในที่สุดความตายเข้ามาถึงก็เป็นทุกข์ ต่างคนต่างปฏิบัติไป ก็เข้าสู่อริยสัจตามระดับจิตนั้น ๆ โดยเห็นความไม่เที่ยง-เป็นทุกข์-เป็นโทษ จึงพิจารณาสักกายทิฏฐิเพื่อปลดเปลื้องความยึดมั่นถือมั่นในทุกข์นั้นลงเสีย พระพุทธองค์ทรงยกตัวอย่างให้ดู พุทธสาวกทั้งหลาย ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ของพวกเราว่า แม้ท่านจะจบกิจเป็นพระอรหันต์มาหลายสิบปีแล้ว ท่านก็ไม่เคยทิ้งการทำบุญ-ทำทาน-ทำกุศล ให้พวกเราทุกคนปฏิบัติตามท่าน
สรุปว่า
๑ ทรงสอนให้ตัดหรือละสักกายทิฏฐิข้อเดียว ก็จบกิจในพุทธศาสนาได้
๒ คำสั่งสอนของพระองค์มี ๘๔,๐๐๐ บท สรุปแล้วเหลือประโยคเดียวคือ จงอย่าประมาท