มีฤทธิ์มีเดช เป็นได้แค่ผู้วิเศษ หมดกิเลส จึงเป็นพระอรหันต์
หลักการที่ 2 คืออะไร
ในยุคพุทธกาลนั้น คนเขาเชื่อว่าพระอรหันต์คือผู้วิเศษ ผู้วิเศษคือผู้มีฤทธิ์ มีปาฏิหาริย์ ..
จะเห็นได้ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ เสด็จออกประกาศพระศาสนา จะเข้าไปประดิษฐานพระพุทธศาสนาในเมืองราชคฤห์ ก็ทรงพิจารณาว่าจะต้องไปโปรดชฎิล 3 พี่น้องก่อน...เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงให้เห็นว่า พระองค์มีฤทธิ์ มีอิทธิปาฏิหาริย์เหนือกว่าชฎิลเหล่านั้น ชฎิลจึงยอมรับแล้วก็ยอมฟังธรรม
...พระองค์ได้ตรัสหลักการในเรื่องนี้ว่า ปาฏิหาริย์มี 3 อย่าง คือ
1.อิทธิปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คือการแสดงฤทธิ์ได้
2.อาเทศนาปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คือการดักใจ การทายใจ รู้ความคิดของผู้อื่นได้
3.อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คือคำสอนที่ให้เกิดปัญญา รู้เห็นความจริง
แล้วพระองค์ก็ตรัสว่า เรารังเกียจอิทธิปาฏิหาริย์และอาเทศนาปาฏิหาริย์ เราสรรเสริญแต่อนุสาสนีปาฏิหาริย์เท่านั้น
นี้คือหลักการของพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าแม้จะทรงมีอิทธิปาฏิหาริย์ ก็จะทรงใช้ฤทธิ์เฉพาะเมื่อทรงปราบฤทธิ์เท่านั้น เรียกง่ายๆ ว่าใช้ฤทธิ์ปราบฤทธิ์ เมื่อใช้ฤทธิ์ปราบฤทธิ์เสร็จแล้ว พระองค์ก็ไม่ใช้ฤทธิ์อีกเลย คือทรงใช้ฤทธิ์เพื่อให้เขายอมฟังธรรม เมื่อเขายอมแล้ว ต่อจากนั้นพระองค์ก็จะทรงแสดงแต่ธรรมต่อๆ ไป เช่น ทรงใช้ฤทธิ์ปราบชฎิล 3 พี่น้อง พอปราบเสร็จแล้วเขายอมฟังพระองค์ก็เลิกใช้ฤทธิ์ ต่อจากนั้นก็ทรงแสดงธรรมสอนให้ชฎิลเกิดปัญญารู้ความจริงจนบรรลุธรรมสูงสุดด้วยตนเอง
ขอให้สังเกตว่า พระพุทธเจ้าทั้งที่ทรงมีอิทธิปาฏิหาริย์มาก เก่งกว่าผู้วิเศษทั้งหลาย ทรงปราบชฎิลและเทพพรหมยักษ์ที่ฤทธิ์กล้าได้หมด แต่พระองค์ไม่เคยยอมให้ชาวพุทธคนไหนไปหวังพึ่งฤทธิ์ของพระองค์ ไม่ทรงดลบันดาลสิ่งปรารถนาให้แก่สาวกคนใด ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น จะต้องมีเหตุผลในเรื่องนี้
เหตุใดพระพุทธเจ้าจึงทรงรังเกียจอิทธิปาฏิหาริย์และอาเทศนาปาฏิหาริย์
พระพุทธเจ้าสอนคนให้พึ่งตนได้ ให้เขาพัฒนาตนเองจนเป็นอิสระ ไม่ต้องขึ้นต่อพระองค์ คนที่ชอบอิทธิปาฏิหาริย์จะต้องมาขึ้นกับผู้แสดงฤทธิ์เรื่อยไป ไม่รู้จักพึ่งตนเอง ไม่พัฒนา ไม่เป็นอิสระ แต่ถ้าใช้อนุสาสนีปาฏิหาริย์ก็ทำให้เขาเกิดปัญญา รู้เห็นความจริงด้วยตนเอง และทำสิ่งนั้นๆ ได้ด้วยตัวเขาเอง แล้วเขาก็เป็นอิสระ เขาพึ่งตนเองได้...ไม่ใช่ไปหวังพึ่งอิทธิปาฏิหาริย์ของคนอื่น
อย่างไรก็ตาม พระพุทธเจ้าต้องการให้คนมีปัญญาเห็นความจริง อิทธิปาฏิหาริย์ไม่เป็นเครื่องหมายที่จะวัดความเป็นพระอรหันต์ คนที่มีอิทธิปาฏิหาริย์จะเรียกได้แค่ว่าเป็นผู้วิเศษ ความเป็นผู้วิเศษไม่ทำให้เกิดปัญญารู้ธรรม ไม่ทำให้หมดกิเลสหรือหมดความทุกข์ได้...
หลักการที่ 3 คือ หลักคติพระโพธิสัตว์
คติพระโพธ์สัตว์เกิดขึ้นโดยถือว่า พระพุทธเจ้านั้นจะสำเร็จโพธิญาณตรัสรู้ได้ก็เพราะทรงบำเพ็ญเพียร ทำความดีอย่างยิ่งใหญ่ที่เรียกว่า บารมี ซึ่งยากที่ใครจะทำอย่างพระองค์ได้
บารมี คือ คุณธรรมความดีที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวด ยิ่งยวดหมายความว่าเหนือสามัญวิสัยของคนธรรมดา หมายความว่า จะบำเพ็ญคุณความดีข้อไหนก็ทำอย่างเต็มที่ พระพุทธเจ้าทรงเพียรพยายามบำเพ็ญบารมีมาด้วยความยากลำบาก เราจึงมีเรื่องของพระโพธิสัตว์ว่า
ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้นั้น ทรงเป็นพระโพธิสัตว์มาก่อน โดยทรงบำเพ็ญเพียรทำความดีด้วยความเสียสละอย่างยิ่ง ถ้าตกลงว่าจะทำความดีข้อไหนแล้ว ก็จะทำด้วยความเข้มแข็งเต็มที่ ไม่มีการย่อท้อ ไม่มีการถดถอยเลย แม้จะต้องสละชีวิตก็ตามที และการทำความดีอย่างเสียสละเต็มที่นี้ รวมทั้งการเสียสละช่วยเหลือผู้อื่นจนถึงที่สุด แม้จะต้องสละชีวิตของตนก็ยอมได้
พระโพธิสัตว์เป็นคติสำหรับสนับสนุนการระลึกถึงพุทธคุณ การระลึกถึงพระพุทธคุณนั้นเป็นเครื่องเตือนใจเราให้ระลึกถึงความเป็นมนุษย์ และศักยภาพของมนุษย์ที่มีอยู่ในตัวเราว่า เราก็เป็นมนุษย์อย่างพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์
แต่พระองค์มีความเพียรพยายามพัฒนาพระองค์เองจนกระทั่งตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เราก็จะต้องพัฒนาตนเอง ต้องฝึกฝนตนเองอย่างนั้นด้วย นี้เป็นการเตือนให้เราทั้งมีความมั่นใจในความเป็นมนุษย์ที่พัฒนาได้ ทั้งสำนึกในหน้าที่ของตนที่จะต้องพัฒนาตัวเองยิ่งขึ้นไป และทั้งทำให้เกิดกำลังใจในการที่จะฝึกฝนพัฒนาตนเองด้วย พร้อมกันนั้นก็จะได้นำเอาวิธีปฏิบัติพัฒนาของพระองค์ที่ได้ทรงสอนไว้มาใช้ประโยชน์...
หลักการทั้ง 3 นี้ น่าจะเป็นเครื่องสำรวจความเชื่อถือและข้อปฏิบัติของชาวพุทธในปัจจุบัน ว่ายังคงอยู่ในพระพุทธศาสนาหรือไม่ ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://www.posttoday.com/ธรรมะ-จิตใจ/129793/3เครื่องวัด-ความเป็นพุทธ
http://www.gotoknow.org/}http://praima.net/