ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: อาถรรพ์ป่าคำชะโนด : ป่าผืนสุดท้าย ต้นไม้ 2,000 ปี  (อ่าน 12511 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

นิรตา ป้อมนาวิน

  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรผล
  • *****
  • ผลบุญ: +20/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 1212
  • อย่างน้อยชาตินี้ขอปิดอบายภูมิ
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
0
 ชื่อของป่าคำชะโนดเริ่มเป็นที่รู้จักไปทั้งประเทศพร้อม ๆ กับข่าวอื้อฉาวเรื่อง  “เปรต” แม้อาจารย์กู้ หรือนายกิตติ  ปภัสโรบล  จอมลวงโลก  เจ้าตำหรับสร้างเปรตตุ๋นคน  สิ้นฤทธิ์สิ้นเดชถูกจับยัดเข้าห้องขังไปโรงเรียนเปรตเรียบร้อยแล้ว  แต่ชื่อของ  “ป่าคำชะโนด” ยังอยู่ในความสนใจของผู้คน  ว่ามี ลักษณะ ความเป็นมาอย่างไร  เพราะป่าแห่งนี้คือสถานที่ที่อาจารย์กู้เลือกเป็นโลเกชั่นในการสร้างสถานการณ์เปรตโดยหลอกลวงผู้คนให้เข้าไปดู           
เกาะคำชะโนดดินแดนที่หลายคนเชื่อว่าทุกตารางนิ้วมีความศักดิ์สิทธิ์  ชาวบ้านหลายชั่วอายุคนเชื่อกันว่าใต้คำชะโนดเป็นเมืองบาดาลมีพญานาค  ชื่อ พญาศรีสุทโธนาค ปกครองอยู่  มีทางขึ้นลงเชื่อมระหว่างเมืองบาดาลกับโลกมนุษย์ในดงคำชะโนด  ซึ่งเรียกกันว่าบ่อน้ำ




                คำชะโนดมีลักษณะเป็นเกาะลอยน้ำ  และมีตำนานเกี่ยวกับพญานาคโดยตรง  มีเรื่องราวแปลกประหลาดมากมาย  เป็นเรื่องโด่งดังมาแล้วทั้งประเทศไม่ว่าจะเป็นเปรตกู้และผีจ้างหนัง

มีบุคคลนิรนามไปติดต่อบริษัทหนังเร่แห่งหนึ่ง ซึ่งรับฉายหนังเร่ในตัวเมืองอุดร ให้เอาหนังกลางแปลงไปฉายที่บ้านวังทองในอัตราค่าจ้างสี่พันบาท  โดยมีสัญญาข้อหนึ่งว่าให้ฉายหนังถึงตี  4 เท่านั้น  พอถึงตี 4 ให้รีบเก็บข้าวของออกไปจากสถานที่ฉาย  อย่าอยู่จนถึงสว่าง เป็นเงื่อนไขที่ค่อนข้างจะแปลกอยู่สักหน่อย  แต่ผู้จัดการบริษัทหนังเร่ก็ไม่ติดใจอะไร  กลับจากฉายหนังพวกคนงาน เดินทางกลับมาเล่าเรื่องประหลาดให้เจ้าของฟังว่า ได้ไปฉายหนังให้ผีดู





  ผีจ้างหนัง :  มหรสพโลกวิญญาณ 



สถานที่แห่งนี้กลายเป็นสถานที่ที่รู้จักไปทั่วประเทศจากเรื่องเล่าผีจ้างหนังโดยมีบุคคลนิรนามไปว่าจ้างหน่วยฉายหนังเร่แจ่มจันทร์ภาพยนตร์ในตัวเมืองอุดรธานีไปฉายหนังในเกาะคำชะโนด   และพบว่าละแวกที่ฉายหนังนั้นไม่มีหมู่บ้านใด ๆ โดยคนในหมู่บ้านใกล้เคียงแถวนั้นก็ยืนยันว่า ไม่ได้เดินทางมาดูหนังคืนนั้น  แต่คนฉายหนังก็ยืนยันว่า ตอนดึก ๆ  มีคนมานั่งดูหนังที่ฉายเต็มไปหมด
คุณธงชัย  แสงชัย  เจ้าของหนังเร่บริษัทแจ่มจันทร์ภาพยนตร์กล่าวในบันทึกประวัติคำชะโนดของนายสวาท  บุรีเพีย  อดีตศึกษาธิการอำเภอบ้านดุง 
“เรื่องเกิดขึ้นในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2532  มีคนมาว่าจ้างให้หนังของผมไปฉายที่บ้านวังทอง อำเภอบ้านดุง  ห่างจากตัวเมืองอุดรธานีประมาณ 100 กิโลเมตร ค่าจ้างตกลงกันไว้ 4,000 บาท  มีหนังฉาย 4 เรื่อง  แต่มีสัญญาพิเศษอยู่ 1ข้อ คือ ให้ฉายถึงแค่ตี 4 เท่านั้น  ห้ามฉายถึงสว่าง  พอตี 4 ก็ให้รีบเก็บข้าวของออกจากสถานที่ฉาย   ซึ่งผมได้ฟังก็แปลกใจมากแต่ไม่ได้คิดอะไรในตอนนั้น  เพราะเห็นว่าเป็นความต้องการของผู้มาว่าจ้าง   จึงไม่ได้ซักถามถึงเหตุผล  แต่ปรกติแล้วเวลาไปฉายหนังที่อื่น ชาวบ้านมักจะให้ฉายถึงสว่างทุกเจ้าไป   
หลังจากนั้นผมก็ได้ส่งหน่วยฉายหนังไปตามที่ได้ตกลงกันไว้   ในตอนเช้าพนักงานของผมจำนวน 7 คน ซึ่งกลับมาจากฉายหนังเมื่อคืน  ก็เล่าให้ผมกับภรรยาฟังว่า เมื่อคืนไปฉายหนังให้ผีดู
เด็ก ๆ เล่าให้ฟังว่า หนังเริ่มฉายตั้งแต่ตอน 3 ทุ่ม  ในตอนหัวค่ำไม่เห็นผู้คน  ก็ยังสงสัยว่าหายไปไหนหมด  แต่พอ 3 ทุ่มก็มีคนมาเป็นจำนวนมาก  และที่แปลกคือ ผู้หญิงซึ่งนุ่งขาวห่มขาวจะนั่งอยู่ด้านหนึ่ง  ส่วนผู้ชายใส่เสื้อผ้าสีดำจะนั่งอีกข้างหนึ่ง  และคนทั้งหมดก็นั่งกันสงบเงียบเรียบร้อยเหมือนจะไม่เคลื่อนไหวตัว  และที่ยิ่งกว่านั้นคือ ไม่ว่าจะฉายหนังอะไร ก็ไม่มีการส่งเสียงเอะอะเหมือนกับฉายหนังกลางแปลงทั่ว ๆ ไป  ฉายหนังบู๊ก็เฉย  ฉายหนังตลกก็เฉย ไม่มีเสียงหัวเราะ
 อีกอย่างคือ งานนี้ไม่มีร้านขายข้าวของ จำพวกของกินเลย  โดยทั่วไปงานอื่น ๆ จะมีร้านขายขนม ขายบุหรี่   พอถึงตี 4 พวกคนดูก็ไม่รู้หายไปไหนกันหมด  หายไปเร็วเหลือเกิน    พวกเด็ก ๆ เขาก็รีบเก็บข้าวของออกจากสถานที่ฉายหนัง   พอขับรถมาถึงหมู่บ้านวังทองตอนเช้าก็แวะซื้อบุหรี่ก่อนเลย  เนื่องจากเมื่อคืนไม่มีขาย  ชาวบ้านถามว่าไปฉายหนังที่ไหนมา   เด็ก ๆ ก็บอกว่าฉายในหมู่บ้านวังทอง   แต่ชาวบ้านกลับยืนยันว่าไม่มีหนังมาฉายในหมู่บ้านเลย   
 เรื่องก็เลยยุ่งว่าเมื่อคืนไปฉายหนังที่ไหนมา  ในที่สุดเมื่อสอบถามกันจนเป็นที่เข้าใจ ชาวบ้านสรุปว่า “สงสัยพวกคุณจะไปฉายหนังที่ใน “ดงคำชะโนด”  ซึ่งเป็นสถานที่ลี้ลับที่เชื่อว่าเป็นเมืองพญานาค  มีภูตผีปีศาจสิงสถิตอยู่ ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับหมู่บ้านวังทองนี่เอง
พวกเด็ก ๆ ก็เลยเชื่อว่าถูกผีจ้างไปฉายหนังจริงอย่างที่ชาวบ้านว่า   จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผมก็อยากจะพิสูจน์ความจริงจึงเดินทางไปที่บ้านวังทอง  ผมไปที่ดงคำชะโนดซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านไปสัก 3  กิโลเมตร  แต่ที่ผมแปลกใจมากเพราะดงไม้ที่ผมมองเห็นอยู่กลางทุ่งนาห่างจากตัวถนนครึ่งกิโลเมตรนั้นเป็นดงไม้ทึบ   อย่าว่าแต่ให้ขับรถยนต์จะเข้าไปข้างในเลย  แม้แต่จะขึงตั้งจอหนังก็ยังไม่ได้ด้วย
 ผมจึงไปสอบถามชาวบ้านแถวนั้นว่า  เมื่อคืนที่ผ่านมาในหมู่บ้านวังทอง หรือหมู่บ้านใกล้เคียงมีการฉายหนังกันบ้างไหม   ทุกคนต่างก็ยืนยันว่า ไม่มีหนังเข้ามาฉายเลย   ทำให้ผมงุนงงเป็นอันมาก  ทำให้ผมต้องเดินทางกลับไปที่ดงคำชะโนดอีกครั้ง เพื่อหาข้อพิสูจน์ ว่าเด็ก ๆ ได้มาฉายหนังที่นี่จริง  ในที่สุดก็มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมเชื่อว่า  เด็ก ๆ ของผมได้เข้าไปฉายหนังในดงคำชะโนดจริง  นั่นก็คือ ตรงขอบถนนมีรอยรถยนต์แล่นผ่านลงไปในหล่มดินข้างทาง  รอยรถนั้น  แล่นผ่าเข้าไปในท้องนาซึ่งเป็นที่ลุ่มน้ำขัง   ไม่น่าเชื่อเลยว่ารถฉายหนังจะแล่นเข้าไปในดงคำชะโนดนั้นได้   
 ด้วยความประหลาดใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคุณธงชัยได้ไปนมัสการ  หลวงปู่คำตา  สิริสุทโธ เจ้าอาวาสวัดศิริสุทโธ  คำชะโนด  ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ใกล้ ๆ ดงคำชะโนด  และได้ไต่ถามถึงเรื่องนี้กับเจ้าอาวาส  ซึ่งท่านก็ได้เมตตาเล่าให้ฟังว่า
“คงเป็นเพราะช่วงนั้นเป็นเทศกาลของบรรดาวิญญาณซึ่งอาศัยอยู่ในดงไม้นี้  จึงได้ว่าจ้างให้หนังมาฉายฉลองเหมือนพวกมนุษย์   วิญญาณเหล่านั้นชาวอีสานเรียกว่า “ ผีบังบด” ในวันนั้นที่วัดไม่ได้มีการจัดงานแต่อย่างใด  แต่ในป่าคำชะโนดจะมีเสียงซู่ ๆ  เหมือนกับมีพายุพัดเข้ามาทั้ง ๆ  ที่คืนนั้นไม่มีลมใหญ่พัดมาจากไหนเลย”
“ในขณะที่หลวงปู่คำตาเล่าเรื่องนี้อยู่  ก็ปรากฏว่ามีงูตัวหนึ่งสีดำสนิท ท่าทางน่ากลัวเลื้อยเข้ามานอนขดอยู่ตรงหน้าของท่าน   ผมและภรรยาตกใจมาก   แต่หลวงปู่คำตาก็บอกว่าไม่เป็นไรหรอก  คงจะเป็นวิญญาณของผู้ที่อาศัยอยู่ในดงไม้ไม่ต้องการให้ท่านเล่าหรือเปิดเผยอะไรต่อไป  จึงได้ส่งให้งูตัวนี้มาปรากฏเพื่อเป็นการเตือน   หลังจากนั้นท่านจึงขอตัวไม่เปิดเผยรายละเอียดใด ๆ  แต่ผมก็เชื่อว่ายังมีอะไรที่แปลกน่าสนใจอีกมาก เกี่ยวกับดงคำชะโดนี้”










 
ตำนานวังนาคินทร์คำชะโนด









 คำชะโนดอยู่ห่างจากบ้านเกิดผมเพียง 10  กว่ากิโลเมตร  บ้านของผมอยู่ที่ตำบลบ้านจันทน์   ซึ่งเป็นตำบลที่ติดคืนหนึ่งในระหว่างกลางพรรษาได้ฝันว่าหลวงปู่พาเข้าไปในคำชะโนดไปดูทรัพย์สินทั้งหมดในเมืองคำชะโนด  เสร็จแล้วก็นำหลวงปู่คำตาขึ้นไปบนศาลาหลังใหญ่ซึ่งมีคนนั่งรอจำนวนมากประกาศให้ทุกคทราบ

“นี่คือลูกชายของเจ้าปู่  ต่อไปนี้ทรัพย์สินและการปกครองเมืองคำชะโนดนี้จะยกให้ลูกชาย  ขอให้ทุกคนเชื่อฟังคำสั่งและอยู่ในความปกครองของลูกชายตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”

หลวงปู่คำตาได้อาพาธและได้มรณภาพ  วันที่ 15  สิงหาคม พ.ศ. 2533

คำชะโนด :ป่าผืนสุดท้ายต้นไม้2,000ปี




http://t1.gstatic.com/images?



บนพื้นที่ราว 20 ไร่ ณ ตำบลวังทอง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี คือ ที่ตั้งของ ป่าคำชะโนด  ชาวอำเภอบ้านดุงต่างเคารพนับถือและยึดถือปู่ศรีสุทโธและคำชะโนดเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ  คำชะโนดในภาษาถิ่น คำ คือ ที่ที่มีน้ำซับไม่เคยเหือดแห้ง  เมืองคำชะโนดอธิบายให้เห็นภาพมีลักษณะเป็นเกาะลอยอยู่บนน้ำ  ภายในมีสภาพเป็นป่าพรุดิบชื้น  มีต้นไม้แปลกประหลาดที่ชาวบ้านเรียกว่าต้นชะโนด  มีลักษณะคล้ายต้นตาลผสมต้นมะพร้าวและต้นหมากอย่างละเท่า ๆ กัน ซึ่งมีอยู่ที่เดียวในโลก แต่ละต้นเรียวยาวสูงเสียดฟ้า  ส่วนพื้นดินมีสีดำเปียกชื้นตลอดเวลา มีเฟิร์นขึ้นปกคลุมหนาทึบแดดแทบจะไม่ส่องถึงพื้น  และยังมีต้นไม้ใหญ่กับต้นไม้เล็กขึ้นแซมหลายชนิด



คำชะโนดนับว่าเป็นป่าดึกดำบรรพ์ผืนสุดท้ายของประเทศไทยที่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์  เมื่อถึงฤดูน้ำหลากเกาะคำชะโนดนี้จะลอยได้ เมื่อมีน้ำท่วมบนพื้นที่หน้าวัดศิริสุทโธ  แต่ไม่ท่วมเกาะคำชะโนด  แต่ที่น่าแปลกใจคือ หากพ้นจากดงชะโนดแห่งนี้ไป ห่างกันแค่ไม่ถึง 300 เมตร ก็ไม่มีต้นชะโนดปรากฏให้เห็นแม้แต่ต้นเดียว 


นายทองอินทร์ ปักเสติ ชาวบ้านโนนเมือง ซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้ ๆ กับป่าคำชะโนด เล่าว่า
           “เคยมีคนคิดเอาต้นชะโนดไปปลูกที่อื่นนะ แต่ไม่นานก็ต้องเอากลับมาคืนที่เดิม เพราะชีวิตการงานไม่ก้าวหน้า ชีวิตครอบครัวมีแต่ความเดือดร้อน ขนาดว่าแค่เอาเมล็ดหรือส่วนใดส่วนหนึ่ง  อาจจะเป็นใบแห้ง ๆ ออกจากป่า สุดท้ายต้องเอามาคืนกันหมด”


เคยมีนักวิชาการจากกรุงเทพฯ  ได้ไปทำการสำรวจต้นชะโนดมาแล้ว  โดยให้ข้อมูลว่าต้นชะโนดที่เห็นอยู่ในเกาะคำชะโนดนำไปพิสูจน์ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์แล้วพบว่า  ต้นไม้ชนิดนี้อายุไม่ต่ำกว่า 2,000 ปี


มีพระภิกษุทำพิธีพลีขอเอามาจากเมืองคำชะโนด  เพื่อนำมาปลูกดูภายในวัด  ท่านกล่าวว่า  โดยนำเอาตั้งแต่ยังเป็นผล  เมื่อนำมาปลูกดูนั้นก็เห็นจริงว่าต้นชะโนดเป็นต้นไม้ที่โตช้ามาก  ปลูก 2 ปียังต้นเล็กเท่าต้นกล้า  ดังนั้นจึงเท่ากับเป็นการยืนยันว่าการที่นักวิทยาศาสตร์ได้กล่าวว่าต้นไม้ชนิดนี้มีอายุไม่ต่ำกว่า 2,000 ปี จึงน่าจะเป็นเรื่องจริง


                 แรกเดิมทีทางเข้าดงคำชะโนดสะพานทำขึ้นด้วยไม้  เมื่อโดนแดดโดนฝนก็ผุพังจึงมีการร่วมกันทอดผ้าป่า สร้างสะพานขึ้นใหม่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กทอดตัวยาวจากพื้นที่วัดศิริสุทโธลอดผ่านซุ้มโขงประตูเมืองเข้าไปในคำชะโนด  ปัจจุบันมีการสร้างสะพานขึ้นใหม่เป็นรูปปั้นพญานาคเจ็ดเศียรสองตัวทอดตัวบนราวสะพานเข้าไปยังคำชะโนด  ที่น่าแปลกก็คือสะพานทำไว้เป็นสองตอนไม่ได้ทอดยาวถึงเมืองคำชะโนด  จะมีช่วงที่สะพานเว้นช่วงขาดหนึ่งผ่ามือบริเวณทางเข้าเมืองคำชะโนด  ชาวบ้านเล่าว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่ต้องการให้มนุษย์กับพญานาคเชื่อมต่อกันก็เลยทำให้สะพานแตกหัก


นายอุทัย ไพเราะ อายุ 59 ปี แต่งกายในชุดสีขาวซึ่งเป็นจ้ำปู่ศรีสุทโธ(ร่างทรงทางภาคอีสาน)  เล่าว่า


“ตอนช่างมาทำสะพานเชื่อมกันเข้าไปในคำชะโนดสร้างกี่ครั้งสะพานก็เกิดพังทลาย ซ่อมกี่ครั้งก็ยังพังเหมือนเดิม  กลางคืนเจ้าปู่ศรีสุทโธก็ได้มาเข้าฝันและบอกว่า  ให้เว้นช่องขาดระหว่างสะพานไว้  เพราะว่าเส้นทางระหว่างโลกมนุษย์จะเชื่อมต่อเส้นทางเมืองบาดาลไม่ได้ และให้ถอดรองเท้าก่อนถอดหมวกด้วย  เพราะใส่รองเท้าเข้ามานั้นบางคนเหยียบสิ่งสกปรกเข้าไปในเมืองหากไม่ทำตามแล้วจะทำให้ทุกคนที่เข้ามาได้เจ็บได้ไข้   เมื่อก่อนใครจะใส่เสื้อผ้าสีแดงเข้ามาคำชะโนดไม่ได้ต้องมีอันเป็นไปทุกราย ภายหลังปู่ศรีสุทโธจึงอนุโลมให้มีผ้าสีแดงเข้ามาได้  เปลี่ยนเป็นให้ถอดรองเท้ากับหมวกไม่ให้พูดจาหยาบคายและห้ามนำสิ่งใดออกไปจากป่าคำชะโนด  เพื่อเป็นการแสดงความเคารพ  และแต่ก่อนใครมาหาปลาหาของป่าแถวนี้ต้องขอปู่ศรีสุทโธก่อน  บางคนทอดแหหาปลาบอกกับปู่ศรีสุทโธว่าขอปลาช่อนตัวใหญ่ ๆ สักตัวก็พอ ผลปรากฏว่าทอดแหก็ได้ปลาช่อนตัวใหญ่มา  ทุกคนก็จะได้ เพียง 1 ตัว เหมือนกันแถมขนาดตัวปลาช่อนยังมีขนาดเท่ากันด้วย”


ผมไปถึงทางเข้าคำชะโนดและเดินไปตามทางเข้าสะพานคอนกรีตที่สร้างใหม่  หลายปีแล้วที่ผมไม่ได้กลับมาที่นี่มันเหมือนกลับมาย้อนอดีตวันวานชีวิตที่ผ่านมา  บริเวณโดยรอบมีการปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อการท่องเที่ยว  สะพานที่สร้างเข้าไปยังคำชะโนด มีการยกราวขึ้นสูงสะพานจนมองไม่เห็นสิ่งแวดล้อมธรรมชาติทางเข้าสองข้างทางสะพาน  ผมเขย่งเท้ามองดูธรรมชาติรอบ ๆ ทางเข้าแต่ก็มองไม่ถนัดนัก  เมื่อก่อนราวสะพานเป็นเสาปูนราวเหล็กโล่งสามารถมองเห็นสภาพแวดล้อมและธรรมชาติรอบ ๆ อย่างสวยงามมาก  แต่สิ่งที่หลงเหลืออยู่ก็คือรอยขาดระหว่างโลกมนุษย์กับเมืองบาดาล 


เมื่อเดินเข้าไปในบริเวณคำชะโนดความเย็นไต่ขึ้นมาจากปลายเท้าจรดหัวทำให้ขนลุก  ป่าคำชะโนดเป็นป่าพรุที่อุดมสมบูรณ์   มีค้างคาวร้องส่งเสียงทั่วป่า  กระรอกวิ่งบนต้นชะโนดกระโดจากต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่ง  บริเวณบางจุดจะมีกลิ่นฉุนอับชื้นจากมูลสัตว์  ผมเดินเข้าไปศาลเจ้าปู่ศรีสุทโธและจุดธูปเทียนดอกไม้บูชา  ท่องคาถาบูชาเจ้าปู่ศรีสุทโธ  “กายะจิตตัง  อะหังวันทา  นาคาธิบดีศรีสุทโธ  วิสุทธิเทวา  ปูเชมิ”   ที่เขียนในป้าย  จากนั้นผมเดินไปยังบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์  ตักน้ำในบ่ออธิฐานขอพรเพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ตนเองแล้วนำน้ำมาลูบหัว


ชาวบ้านเชื่อว่าบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์คือทางขึ้นลงเชื่อมระหว่างเมืองบาดาลกับโลกมนุษย์ในดงคำชะโนด  น้ำในบ่อจะมีปริมาณเท่าเดิมอยู่อย่างนั้นและจะขังตลอดปี  ไม่เคยแห้ง  เคยมีชาวบ้านนำไม้ไผ่ยาว ๆ มาต่อกันยี่สิบกว่าลำไม่สามารถหยั่งถึงก้นบ่อน้ำได้  ชาวบ้านเชื่อว่าน้ำในบ่อนี้จะไปทะลุที่สะดือแม่น้ำโขงหรือบริเวณวัดอาฮงศิลาวาส จังหวัดหนองคาย


จากที่พ่อเล่าให้ฟัง  แรกเดิมทีบ่อน้ำศักดิ์สิทธ์มีความกว้างประมาณหนึ่งเมตรเท่านั้น  ต่อมาเกาะคำชะโนดได้เป็นที่รู้จักมากขึ้นจึงมีการขยายขอบบ่อออกขนาด 5 x 5 เมตร  ขอบบ่อหล่อคอนกรีตสูงประมาณ  60  เซนติเมตร  สามารถนำกระบวยกะลามะพร้าวก้มลงตักน้ำจากบ่อได้  ปัจจุบันมีการสร้างพญานาค 7 เศียรโอบรอบบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์  มีน้ำพ่นออกจากปากพญานาคหัวตรงกลางลงมายังบ่ออ่างน้ำวงกลมที่สร้างไว้เพื่อรับน้ำให้คนมาตักไปล้างหน้าและดื่มกิน


ที่บ่อน้ำแห่งนี้บางเวลาจะมีฟองอากาศผุดขึ้นมาคล้ายกับว่ามีสิ่งมีชีวิตบางอย่างกำลังหายใจอยู่ใต้น้ำ  ชึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นการหายใจของพญานาคจึงทำให้เกิดเป็นฟองอากาศผุดขึ้นมาให้เห็น  ต่อมามีสิ่งอัศจรรย์คือรูปปั้นพญานาคและพญาจระเข้ลอยขึ้นมาจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์  ทั้งที่รูปปั้นต้องใช้สองมือยกจึงจะยกขึ้น  นับว่าเป็นเรื่องแปลกเหลือเชื่อเป็นอย่างมาก   


น้ำในบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์เมื่ออธิฐานนำมารักษาโรคก็จะหาย   แต่ก่อนจะนำน้ำในบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปใช้นั้น  ต้องท่องคาถาบูชาสักการะเจ้าปู่ศรีสุทโธก่อน  เพื่อเป็นการขอได้อย่างถูกวิธีแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ดูแลรักษาอยู่   ทั้งยังเป็นการทำให้น้ำ              เปี่ยมไปด้วยเทวฤทธิ์จากนาคทั้งหลายที่มีฤทธิ์อันเป็นทิพย์  และที่น่าแปลกอีกอย่างหนึ่งคือเทศกาลออกพรรษาบางครั้งจะ  มีลูกไฟประหลาดพุ่งขึ้นจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์เหมือนกับบั้งไฟพญานาคที่จังหวัดหนองคาย


ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้ ๆ คำชะโนดเล่าว่า  มักจะพบเห็นสิ่งมหัศจรรย์ในมิติลี้ลับอยู่เสมอ เช่น เห็นชาวเมืองชะโนดไปเที่ยวงานบุญ มีผู้หญิงไปยืมเครื่องมือทอผ้าจากชาวบ้าน  และเห็นรอยพญานาคขึ้นภายในบริเวณวัดและใกล้ๆเกาะคำชะโนด


เมื่อคราวที่จัดงานพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา 5 รอบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท้องสนามหลวง เมื่อวันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม 2530 น้ำจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ “คำชะโนด” ได้รับเลือกไปร่วมงานพระราชพิธี ดังกล่าว


ผมเดินจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์และมานั่งไหว้อธิฐานลูบคล้อง  ซึ่งเชื่อว่าใครลูบฆ้องและเกิดเสียงแสดงว่าเป็นคนมีบุญ   ผมลูบตรงกลางหลุมฆ้องเบาปรากฏว่าเริ่มมีเสียงดังออกมา  เมื่อยิ่งลูบเร็วและแรงเสียงฆ้องยิ่งดังสนั่นก้องทั่วป่าคำชะโนด   เกาะ   
เกาะคำชะโนดยังเป็นเรื่องที่พิสูจน์ยังไม่แน่ชัด แต่ก็มีวิทยาศาสตร์ที่พยามจะพิสูจน์ว่าเกาะนี้มันลอยน้ำได้อย่างไร

วิทยาศาสตร์กับความเชื่อ

วิทยาศาสตร์มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและมีการค้นหาเพื่อจะพิสูจน์สิ่งต่าง ๆ  ครั้งหนึ่งมีการพิสูจน์บั้งไฟพญานาคที่โพนพิสัย จังหวัดหนองคาย  ว่าเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น หรือปรากฏการณ์ธรรมชาติหรืออะไรกันแน่  แต่ก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้จนวันนี้   แต่ทุกครั้งที่วิทยาศาสตร์ได้เข้ามามีบทบาทในเรื่องสิ่งต่าง ๆ นั้นจะจะต้องต่อสู้กับความเชื่อของคนในพื้นที่ที่มีมาแต่ครั้งโบราณกาลที่สืบทอดกันมา บางครั้งก็มีเรื่องขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลมาแล้ว  ส่วนคำชะโนดก็เช่นเดียวกัน    มีคณะนักวิชาการนักวิทยาศาสตร์และทีมงานจากรายการเรื่องจริงผ่านจอได้เดินทางไปสำรวจพื้นที่เพื่อหาคำตอบความมหัศจรรย์ของเกาะนี้ว่าลอยน้ำได้อย่างไร  เป็นเพราะความศักดิ์สิทธิ์หรือธรรมชาติสร้างขึ้นกันแน่

 ร.ศ.ฤดีมล  ปรีดีสนิท  นักวิชาการผู้ศึกษาวิจัยเกาะคำชะโนด  กล่าวว่า  “เกาะนี้เป็นเกาะที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ  โดยการสะสมของซากพืชซากไม้ที่ทับถมกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปีในแอ่งแห่งนี้  จากเศษผง  ซากพืชซากไม้จนกลายเป็นดินในที่สุด  ปัจจุบันมีความหนาอยู่ที่1-3  เมตร  รากของต้นชะโนดที่แผ่ออกไปในแนวนอนทำหน้าที่เกาะเกี่ยวกันช่วยพยุงเกาะแห่งนี้ให้ลอยน้ำได้”

ดร.อดิชาติ  สุรินทร์คำ  นักธรณีวิทยาจากกรมทรัพยากรธรณีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอธิบายถึงเกาะคำชะโนดนี้ว่า 

 “จะว่าไปก็เหมือนแหลมของแผ่นดินที่ยื่นออกไปแต่มันไม่มีรากเท่านั้นเองไม่มีฐานมันเหมือนเราเอาสวะมากองรวม ๆ กันแล้วมีอะไรดึงไว้ไม่ให้มันลอยไปตามน้ำ  จนรากที่มันยึดเกาะติดกัน  แล้วมีบางส่วนที่มันเชื่อมจากดินที่ยื่นออกมาจากดินหมู่บ้าน แต่ตรงดินนี้เจาะออกนิดเดียวก็จะเป็นน้ำแล้ว” 

มีการสรุปเบื้องต้นว่าในช่วงเวลาน้ำหลากเกาะนี้ก็จะลอยตัวขึ้นตามระดับน้ำหลังน้ำลดเกาะนี้ก็จะยุบตัวลงตามผิวดิน  นั้นเป็นเหตุผลที่ทำให้สะพานที่เชื่อมเกาะคำชะโนดและแผ่นดินหลักแตกหักทุกปี

ทางคณะทีมงานได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิกู้ภัยสว่างเมธาอุดรธานีเอื้อเฟื้ออุปกรณ์และนักประดาน้ำ  เพื่อที่จะดำน้ำทำการสำรวจพื้นที่ใต้เกาะคำชะโนด เพื่อหาคำอธิบายการลอยของเกาะคำชะโนดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

การดำลงไปครั้งแรกคือการดำลงไปสำรวจพื้นที่เกาะด้านล่าง  การดำลงไปใต้เกาะคำชะโนดยังไม่มีใครกล้าทำมาก่อน  เพราะชาวบ้านเชื่อกันว่าใต้น้ำมีจระเข้และปลาขนาดใหญ่ที่ดุร้ายคอยดูน่านน้ำใต้เกาะให้เจ้าปู่ศรีสุทโธอยู่   จากการสำรวจเบื้องต้นนักประดาน้ำกล่าวว่า

“ข้างล่างน้ำใสมาก เห็นแต่หางสาร่าย และสามารถเข้าไปต่อได้”

การลงไปครั้งที่สองคือการลงไปบันทึกภาพของเกาะคำชะโนด  นักประดาน้ำสองคนดำลงไปในทิศทางเดิมระยะกว่า 20 เมตร ผ่านไปประมาณ  10  นาที  ก็ได้รับสัญญาณให้ดึงเชือกกลับ  เพราะเข้าไปไม่ได้แล้วจึงดึงเชือกขอขึ้นฝั่ง

“ข้างในเป็นโพรงเข้าไปเหมือนถ้ำลอยได้  เคลียร์สะดวกทางโล่ง  พอครั้งที่ 2 ปรากฏว่ามันตันเป็นรากหญ้ายาวติดพื้นเข้าไปไม่ได้  ไม่เหมือนรอบแรกมีกิ่งไม้หญ้าบ้าง  ผมพยายามเคลียร์ออกแล้วแต่ก็เข้าไปไม่ได้   เวลาแหวกหญ้าเข้าไปเหมือนกับคนมาดึงไว้ไม่ให้เข้าไป”

นับว่านับว่าเป็นการท้าทายอย่างมากในการดำน้ำลงไปสำรวจพื้นที่ใต้เกาะคำชะโนด  จากทดลองทางวิทยาศาสตร์ทำให้รู้ภายใต้เกาะคำชะโนดว่ามีลักษณะอย่างไร  จึงทำให้เกาะนี้ลอยน้ำได้

“ครั้งแรกที่เข้าไปอาจเป็นการไปทำช่องว่างให้เกิดขึ้น  เมื่อเราทำช่องว่างเกิดขึ้นมันจะต้องปรับตัวใหม่  สวะที่อยู่ข้างบนหรือรากไม้  วัชพืชที่เกิดอยู่ในน้ำมันต้องปรับตัวใหม่  ตรงไหนมีช่องว่างมันก็ขยับเหมือนเราขยับเข้าที่  พอไปอีกทีมันก็มาปิดบังแล้ว  จะมีต้นไม้บางชนิดที่สามารถเกิดอยู่ในน้ำและบนดินที่เรียกว่าเกาะลอย  บางส่วนผมเชื่อว่ามันหยั่งลงไปชั้นดินหรือชั้นหินที่อยู่ข้างล่างใต้หนองน้ำ”  ดร.อดิชาติ  สุรินทร์คำ   กล่าวสรุป

อย่างไรก็ตามชาวบ้านเชื่อว่าดินแดนแห่งนี้เป็นดินแดนต้องห้าม  ที่บางทีเราเองไม่ควรก้าวล้ำเข้าไป  แต่การสำรวจครั้งนี้วิทยาศาสตร์มีส่วนช่วยทำให้รู้ว่าเกาะนี้ลอยได้โดยรากของต้นชะโนดหยั่งลึกลงพื้นดินใต้น้ำเกาะคำชะโนด 

ภารกิจฟื้นฟูดำรงรักษาผืนป่าคำชะโนด : แม้ว่าต้องแลกด้วยฉายาป่าอาถรรพ์





                ปี พ.ศ. 2549  ความเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของป่าคำชะโนดก็เกิดขึ้น  มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวจนเกินขอบเขต  มีการสร้างสะพานเข้าเมืองคำชะโนด  และสร้างศาลเจ้าปู่ศรีสุทโธหลังใหม่  ส่วนบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์มีการสร้างพญานาคล้อมรอบขอบบ่อ  ส่วนภายนอกนั้นมีการสร้างถนนรอบเกาะคำชะโนด  ภายในบริเวณวัดมีการสร้างพระพุทธรูปยืนปางประทานพรองค์ใหญ่สูงเสียดฟ้า  และสร้างอาคารต่างเพิ่มขึ้น  สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบต่อระบบนิเวศเป็นสาเหตุทำให้ต้นชะโนดเหี่ยวเฉาและตายลง


การนำสิ่งก่อสร้างที่เป็นวัตถุสมัยใหม่เข้าไปไว้ในป่าคำชะโนด  ล้วนแล้วแต่เป็นการทำลายและเปลี่ยนระบบนิเวศ  ขัดต่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างรุนแรง  จึงมีการระดมความคิดจากหลายฝ่าย  ทั้งทางจังหวัด  ทางอำเภอบ้านดุง  ได้เร่งหาสาเหตุและแก้ไขฟื้นฟู   บ้างก็เสนอว่าให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างนั้นออก  แต่นั้นยังไม่ใช่ทางออกที่ดี  การแก้ปัญหาทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับคนในพื้นที่นั้นด้วย 


 เมื่อถามถึงการพัฒนาการท่องเที่ยวนั้นมีผลดีหรือผลเสีย  นายเข็มพร  เพ็งสุวรรณ  ชาวบ้านมีชัย  อำเภอบ้านดุงกล่าวว่า
              “ด้านการท่องเที่ยวมีผลดีขึ้นคนรู้จัก  มีคนมาทัศนศึกษามากขึ้น    ส่วนด้านธรรมชาติต้นชะโนดมีการตายบ้างบางส่วน  เพราะน้ำท่วม  มีการแก้ไขโดยสูบน้ำจืดเข้ามารอบ ๆ เกาะคำชะโนด  และไม่ให้ทำนาเกลือใกล้ ๆ บริเวณนี้  มันเป็นผลกระทบถึง  แม้มันไม่เป็นผลกระทบโดยตรง  ตอนนี้ได้มีการนำน้ำในบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์มาขายข้างนอกบริเวณในวัดโดยการให้ผู้สนใจบูชาดพื่อเป็นสิริมงคลกับชีวิตและครอบครัว”


การพัฒนาเป็นเรื่องที่ดีแต่ต้องดูผลที่ตามมาด้วยว่าจะมีผลดีหรือผลเสียมากน้อยอย่างไร  ผมมองดูรอบ ๆ ทางเข้าสิ่งก่อสร้างเดิมๆที่เติบโตมาพร้อมกับผมได้ถูกทำลายไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นต้นดอกจานสีเหลืองที่ออกดอกบานสวยงามช่วงหน้าหนาวข้างสะพาน  ซุ้มประตูโขงทางเข้าที่ทุบทิ้ง สะพานที่ต้องพายเรือเข้าไปในคำชะโนดตอนน้ำท่วม  จะมีเหล่าบรรดาสัตว์น้ำ ปู  ปลา หอย  ปลิงควาย  ว่ายน้ำมาตอนรับคนที่เข้าไปในเมือคำชะโนดเพื่อสักการะเจ้าปู่ศรีสุทโธ  สิ่งเหล่านี้ที่เติบโตมาพร้อมกับผมมันได้หายไปหมดแล้ว  เหลือไว้เพียงแค่ความทรงจำให้ผมได้คิดถึง


 นายอุทัย ไพเราะ จ้ำปู่ศรีสุทโธ (ร่างทรงทางภาคอีสาน)   ซึ่งเป็นผู้ดูแลป่าคำชะโนด  กล่าวว่า


“ไม่เห็นด้วยกับการสร้างสิ่งใหม่ ๆ เหล่านี้  มีแต่ปูนซีเมนต์มันอาจทำให้ดินเค็มต้นชะโนดในนี้อาจตายได้ หากต้นไหนตายก็จะหักล้มลง  จึงเป็นการเปิดช่องทางลมให้พัดเข้ามาแรงเกินไป  หากไม่มีต้นไม้ใหญ่บังลมข้างนอกอาจจะทำให้ต้นไม้ข้างในโดนลมพัดหักหมด  แล้วมันจะเหลืออะไร  เคยเสนอให้ใช้หินใช้ศิลาแลงมาใช้ในการก่อสร้างมันจะไม่ขัดกับสิ่งแวดล้อมนัก  เขาก็หาว่าผมดึกดำบรรพ์เต่าล้านปี” 


พอพูดเสร็จนายอุทัยถอนลมหายใจมีสีหน้าไม่สู้ดีนัก 
              ทั้งนี้จากการสังเกตจากภายนอกเห็นชัดเจนว่าใบของต้นชะโนดที่เคยมีสีเขียวเข้มสดใส  ลักษณะเหมือนใบตาล กลับมีสีซีดลงมากจนเกือบเหลือง ส่วนปลายใบก็เหี่ยวพับลง รวมทั้งที่โคนก้านติดใบก็มีลักษณะพับลงอีก และจะเป็นเฉพาะต้นที่มีขนาดสูง ที่รายล้อมอยู่รอบๆป่า  ส่วนต้นที่อยู่ด้านใน หรือต้นขนาดเล็ก ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด และเมื่อเดินเข้าไปใกล้ เห็นชัดเจนอีกว่าน้ำที่เคยท่วมรอบ ๆ ป่า มีระดับลดลงจนเห็นผิวดิน และตลอดสองข้างสะพานเดินเข้าป่า ก็ไม่มีลักษณะชุ่มน้ำเหมือนแต่ก่อน  หากเดินลงไปพื้นจะอ่อนนุ่ม เหมือนเดินบนเลน  ขณะนี้เดินลงไปได้เหมือนเดินบนพื้นดิน ต้นชะโนดอาจจะลดจำนวนลงเรื่อย ๆ หรือไม่อาจตายหมดใน 3-4  ปี  การทำลายธรรมชาติมนุษย์ยังคงเป็นตัวต้นเหตุอันดับต้น ๆ ที่ทำให้บริเวณรอบ ๆ เกาะคำชะโนดเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนดังเช่นก่อน  เมื่อก่อนหากมองไปยังน้ำรอบ ๆ เกาะจะเห็นกอหญ้ารกรอบ ๆ เกาะ  มีพืชน้ำขึ้นแซมและจอกแหนบนผืนน้ำหนาทึบ 


 ด้านนายอดุลย์ จันทนปุ่ม นายอำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า
               “ต้นชะโนดเหี่ยวในส่วนรอบนอก ทางอำเภอได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว สาเหตุที่ทำให้ต้นชะโนดเหี่ยวเฉา น่าจะมาจากระดับน้ำลดลง อาจเกิดจากการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยปล่อยน้ำออกเพื่อสร้างถนน สะพาน เบื้องต้นอำเภอบ้านดุงได้อุดท่อระบายน้ำเพื่อไม่ให้น้ำระบายออกไป พร้อมกับทดน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียง เข้าไปทดแทนเพื่อรักษาระดับน้ำ และในทางวิชาการทางได้ประสานไปยังป่าไม้จังหวัด และทางเกษตรจังหวัด ให้มาตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริง โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีการตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว ต่อจากนั้นจะขอนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรมป่าไม้ ได้เข้ามาตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง”
            จากการที่ต้นชะโนดเหี่ยวเฉาและทยอยตาย  จึงมีการร่วมมือกันของหน่วยงานจังหวัด  เพื่อหาหนทางปรับปรุงแก้ไข ฟื้นฟูป่าแห่งนี้ให้กลับมาดำรงความอุดมสมบูรณ์โดยเร็วที่สุด  โดยมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้ามาดู  และทำการพลีขอนำต้นเมล็ดออกไปเพื่อเพาะพันธุ์  คาดว่าจะได้ต้นชะโนดเป็น 1,000  ต้น


นางสมร  สุริยะจันทร์  อาจารย์ประจำวิชาเกษตรกรรมโรงเรียนบ้านดุงวิทยา  ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมประชุมหาหนทางฟื้นฟูเกาะคำชะโนดกับทางจังหวัดอุดรธานี  กล่าวว่า


“ในส่วนทางโรงเรียน  ได้ส่งเสริมให้ให้นักเรียนเพาะพันธุ์ต้นกล้าจากเมล็ดชะโนด  ที่ขอเก็บมาจากโคนต้นชะโนด  ก่อนนำไปปลูกทดแทนกับต้นที่ล้มตายไปจากการพัฒนาที่ผิด ๆ  ปัจจุบันเรามีต้นกล้าอยู่ประมาณ  17,000  ต้น  ที่พร้อมจะเดินทางเข้าสู่ป่าคำชะโนดแล้ว”


ด้านตัวแทนประชาชนในพื้นที่  ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการฟื้นฟูป่าคำชะโนดว่า  ครั้งแรกที่มีการก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ ภายในป่า  ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่อง  แต่ก็เห็นว่ารัฐบาลได้ให้ความสนใจและให้ความสำคัญที่จะพัฒนาป่าคำชะโนดเป็นแหล่งท่องเที่ยว  ทุกคนต่างก็ดีใจ  เพราะเศรษฐกิจจะได้ดีขึ้น  จะมีงานทำและมีรายได้จากการขายของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยว 
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 23, 2012, 01:54:36 pm โดย jaravee »
บันทึกการเข้า
เว ทา สา กุ กุ สา ทา เว ทา ยะ สา ตะ ตะ สา ยะ ทา สา สา ทิ กุ กุ ทิ สา สา กุ ตะ กุ ภู ภู กุ ตะ กุ

นิรตา ป้อมนาวิน

  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรผล
  • *****
  • ผลบุญ: +20/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 1212
  • อย่างน้อยชาตินี้ขอปิดอบายภูมิ
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
Re: อาถรรพ์ป่าคำชะโนด : ป่าผืนสุดท้าย ต้นไม้ 2,000 ปี
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มกราคม 17, 2012, 02:48:37 pm »
0
 :25: :25: :25: :25:
บันทึกการเข้า
เว ทา สา กุ กุ สา ทา เว ทา ยะ สา ตะ ตะ สา ยะ ทา สา สา ทิ กุ กุ ทิ สา สา กุ ตะ กุ ภู ภู กุ ตะ กุ