ประวัติวิมุตติมรรค
วิมุตติมรรคเป็นหนังสือประเภทคู่มือสำหรับพระอาจารย์ผู้สอนกัมมัฏฐาน จึงประกอบด้วยบทความสั้นๆ ไม่มีการอธิบายขยายความในแต่ละบท ไม่มีการเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างดี ระหว่างบทความหนึ่งๆ บางบทความก็ดูเหมือนจะปรากฎขึ้นมาลอยๆ นี้คือลักษณะของหนังสือคู่มือประเภทคู่มือประกอบการสอน
ผู้แปลเชื่อว่า หนังสือนี้เกิดขึ้นในซีลอน รวบรวมไว้เป็นภาษาสีหลเพื่อใช้สอนกัมมัฏฐานในสำนักอภัยคิรีวิหารประเทศศรี ลังกา ที่เชื่อเช่นนั้นก็เพราะเหตุว่า หากหนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นในอินเดีย ก็จะเขียนเป็นภาษาบาลี หนังสือเล่มนี้ก็จะแพร่หลายมาก สำนักมหาวิหารก็คงยอมรับหนังสือนี้ว่าเป็นของกลางสำหรับพุทธศาสนิกชนทุกคน ไม่ใช่เฉพาะของสำนักอภัยคิรีวิหาร
ในสมัยนั้น สำนักอภัยคิรีวิหารรุ่งโรจน์มาก เพราะได้รับอุปถัมภกจากกษัตริย์ผู้ครองนคร มหาวิหารซึ่งเป็นวัดใหญ่กว่า สร้างโดยพระมหินทร์เกิดไม่พอใจสำนักอภัยคิรีโดยหาว่าประจบฆราวาสและไม่ยอม รับหนังสือวิมุตติมรรค
การสอนกัมมัฏฐาน โดยเฉพาะวิปัสสนากัมมัฏฐานได้มีสืบเนื่องกันมานานแล้วใ นรูปการสอนจากปากสู่ ปาก พระอาจารย์ผู้สอนท่านเป็นพระอรหันต์รู้แจ้งเห็นจริงในการปฏิบัติมาแล้ว จึงสอนได้ถูกต้องไม่ผิดพลาด ต่อมาพระอรหันต์ผู้สอนวิปัสสนากรรมฐานมีน้อยลง ก็มีการรวบรวมคำสอนวิปัสสนากรรมฐานไว้เป็นหนังสือ
หนังสือวิปัสสนากรรมฐานที่สำคัญมีสองเล่มคือ สุทธกถาและอริยวังสกถา
หนังสือสองเล่มนี้เข้าใจว่าเป็นหนังสือที่เขียนไว้สั้นๆ อาจเข้าใจและปฏิบัติตามได้ยาก สำนักอภัยคิรีวิหารจึงได้สร้างวิมุตติมรรคขึ้นมา
อีกประมาณหนึ่งร้อยปีต่อมา ท่านพระพุทธโฆษะได้เดินทางมาที่สำนักมหาวิหาร เพื่อขอแปลอรรถกถาต่างๆ อันเป็นภาษาสีหลแปลเป็นภาษาบาลี สำนักมหาวิหารจึงให้ทดลองเขียนหนังสือวิสุทธิมรรค
วิสุทธิมรรคของท่านพุทธโฆษะมีรูปแบบและเค้าโครงเช่นเดียวกับวิมุตติมรรค แต่มีรายละเอียดภาคปริยัติมากกว่า แต่เมื่อบรรยายถึงการปฏิบัติ จุดเริ่มต้นและขั้นตอนการปฏิบัติไม่ชัดเจนทำให้ปฏิบัติตามได้ยาก
ท่านพุทธโฆษะกล่าวว่า หนังสือวิมุตติมรรคดเนินตามแนวของสุทธกถา
แต่ท่านพุทธโฆษะชอบอริวังสกถามากกว่า การบรรยายของท่านพุทธโฆษะก็สลับกันระหว่างอริยวงสกถากับสุทธกถา
เวลาต่อมาเกิดมีความวุ่นวายภายในสำนักอภัยคิรีวิหาร มีการนำลัทธิอื่นเข้ามาเผยแพร่อยู่ระยะหนึ่ง
แต่ภายหลังก็ถูกทำลายและนำเอาเอกสารที่เข้ามาเผยแพร่ทำลายโดยการเผาไฟทั้งหมด
ต่อมาก็มีการวุ่นวายเกิดศึกภายในศรีลังกา พุทธศาสนิกก็แตกกระจาย หลบหนีภัยสงคราม คัมภีร์วิมุตติมรรคก็คงสาบสูญไปจากศรีลังกา อาจด้วยสาเหตุที่คัมภีร์ยังไม่ได้แปลเป็นภาษาบาลีไว้
การค้นพบวิมุตติมรรคฉบับแปลเป็นภาษาจีน ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ที่ห้องสมุดของโบสถ์นิชิเรน คาวาตานะมาชิ นากาซากิเคน นครโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นผู้บุกเบิกในการค้นหาคัมภีร์วิมุตติมรรค
ท่านโสมะเถระ (ธ.ค.๒๓ ๑๘๙๘ - ก.พ.๒๓ ๑๙๖๐) ขณะนั้นยังเป็นฆราวาสมีชื่อว่า วิคเตอร์ เอมานูเอล เพียรา พุลล (V.E.P.Pulle) ท่านเกิดในเมืองโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา บิดามารดาเป็นชาวคริสต์และศึกษาในวิทยาลัยเบเนดิค เมืองโกตาฮีนา ท่านสนใจในเรื่องชีวิตมาก มีความรู้ในวิชาแขนงต่างๆมาก
ท่านอ่านหนังสือเรื่องธรรมบทจากหนังสือเล่มนี้ ทำให้ท่านมุ่งมาค้นคว้าศึกษาพุทธศาสนาอย่างจริงจัง และมีความรู้ดีในภาษาบาลี ท่านได้บรรยายและเขียนหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาไว้มาก
งานสำคัญของท่าน คือ แปลสติปัฏฐานสูตรพร้อมด้วยอรรถกถา เป็นภาษาอังกฤษ ชื่อว่า The way of Mindfullness with commentary
เพราะต้องการความรู้ทางพระพุทธศาสนาให้มากยิ่งขึ้น ท่านพร้อมด้วยท่านเขมินถะ (ยังเป็นฆราวาส) ออกเดินทางไปประเทศจีนเพื่อค้นคว้าตำราทางพุทธศาสนา เมื่อไปถึงเซี่ยงไฮ้ก็ไม่มีสิ่งใดที่น่าศึกษา จึงเดินทางไปญี่ปุ่น ถึงนครโตเกียว ได้พบกับศาสตราจารย์นิชิกิ คิมมูระ แห่งวิทยาลัยริโช
และท่านก็ได้แนะนำให้รู้จักกับพระคุณท่าน เอ็น อาร์ เอ็ม อีฮารา ซึ่งเป็นหัวหน้าโบสถ์นิชิเรน ในเมืองโจซาจิ ซึ่งท่านผู้นี้ก็เป็นอาจารย์สอนอยู่ในมหาวิทยาลัยริโชเหมือนกัน ท่านอีฮาราได้ชวนให้ไปพักอยู่ที่ห้องรับรองของโบสถ์นั้น
บริเวณที่ใกล้เคียงกัน มีห้องสมุดเพิ่งเปิดใหม่ ท่านอีฮาราจึงชวนคณะของท่านโสมะเข้าชมห้องสมุด ในแผนกตำราพุทธศาสนาภาษาจีน
ท่านอีฮาราก็ค้นพบหนังสือสามเล่ม ว่าด้วยทางแห่งความหลุดพ้นหรือวิมุตติมรรค ท่านอีฮาราดีใจมาก ถือหนังสือเหล่านั้นไปให้คณะของท่านโสมะดู ทุกคนดีใจเป็นล้นพ้น และตกลงใจร่วมกันแปลหนังสือชุดนี้จากภาษาจีนเป็นภาษาอังกฤษทันทีใช้เวลา ประมาณสี่เดือนก็เสร็จ
ท่านโสมะจึงลาท่านอีฮารากลับโคลัมโบ ศรีลังกา ทั้งนี้เพราะประสงค์จะอุปสมบทเพื่อที่จะได้ปฏิบัติธรรมตามแนวของวิมุตติมรรค ได้เต็มที่ ระหว่างเดินทางกลับก็แวะอุปสมบทเมื่อถึงเมืองมะละแหม่ง พม่า ทายกทายิกาที่นั่นก็ได้จัดการบวชให้ท่านทั้งสอง โดยมีท่านปันทวา มหาเถระแห่งวัดตาอุงวังกีเป็นพระอุปัชฌายะ จากนั้นก็กราบลาท่านเดินทางต่อไปศรีลังกา
ท่านโสมะ เถระตั้งใจจะทบทวนฉบับแปลอีกครั้งก่อนพิมพ์ แต่ก็ถึงแก่มรณภาพเสียก่อน ธุระในการพิมพ์จึงตกเป็นท่านเขมินทะ ดังนั้นวงการพุทธศาสนาจึงได้วิมุตติมรรคกลับคืนมาเป็นสมบัติอันล้ำค่าของนักปฏิบัติธรรมต่อไป

ประวัติท่านผู้ประพันธ์
ท่านพุทธัตตะ มหานายิกามหาเถระ ในสัทธัมมปกาสิกา ของสมาคมบาลีเท็กซ์อ้างว่า ศาสตราจารย์นาไกกล่าวว่าผู้ประพันธ์วิมุตติมรรค คือท่านอุปติสสะเถระ ซึ่งมีชื่อเสียงรุ่งเรืองอยูในรัชสมัยของพระเจ้าวาสภะ (ค.ศ.๖๖-๑๐๙)
ผู้แปลต้นฉบับเป็นภาษาจีน ชื่อสังฆปาลแห่งฟูนัน ท่านไม่ใช่ชาวจีนโดยกำเนิดแต่มีความรู้แตกฉานในภาษาจีนเป็นอย่างดี ท่านเดินทางมาประเทศจีนต้นรัชสมัยของริโอ เมื่อถึงเมืองหลวงของประเทศจีน ท่านพักอยู่ที่ มหาวิหารสันนาราม แห่งโชกวันจี
ท่านมีท่าทางที่สงบ รูปร่างดี เฉลียวฉลาดและอธิบายพุทธธรรมได้ละเอียดชัดเจน แสดงพระธรรมเทศนาได้ไพเราะจับใจผู้ฟัง พระเจ้าจักรพรรดิชื่นชมมาก และแต่งตั้งให้ท่านเป็นตำแหน่งสังฆปาลแห่งฟูนัน ท่านด้รับการขนานนามว่า ดรงประทีปที่ยิ่งใหญ่แห่งฟูนัน
ท่านเป็นผู้แปลวิมุตติมรรคเป็นภาษาจีน ท่านซาบซึ้งในคัมภีร์เล่มนี้มาก ท่านมีความเชื่อมั่นว่าผู้ประพันธ์ได้เช่นนี้คงเป็นพระอรหันต์ ดังนั้นคำว่า พระอรหันต์อุปติสสะจึงเป็นชื่อของผู้ประพันธ์วิมุตติมรรคตั้งแต่นั้นมา
เนื้่อหาของหนังสือ
ผู้เรียบเรียงแปลเฉพาะภาคปัญญา คือบทที่ ๑๐ บทที่ ๑๑ และบทที่ ๑๒ เท่านั้น
ต้นฉบับภาษาอังกฤษ มี ๑๒ บท บทที่ ๑ ถึงบทที่ ๙ เป็นเรื่องของศีล ธุดงค์และสมาธิ ซึ่งมีอธิบายไว้ชัดเจนดีแล้วในหนังสือวิสุทธิมรรคของท่านพุทธโฆษะ
ส่วน ๓ บทสุดท้าย คือ บทที่ ๑๐,๑๑,๑๒ เป็นคำสอนภาคปัญญา ซึ่งวิสุทธิมรรค ของท่านพุทธโฆษะ อธิบายไว้แตกต่างจากวิมุตติมรรค
เมื่อได้ตรวจสอบกับพระไตรปิฎกแล้ว เห็นว่า วิมุตติมรรคของท่านพระอรหันต์อุปติสสะถูกต้อง จึงได้เลือกแปลเฉพาะ ๓ บทนี้
หนังสือวิสุทธิมรรคของท่านพุทธโฆษะ รจนาขึ้นก่อนที่จะศึกษาอรรถกถาพระไตรปิฎก เมื่อท่านทำวิสุทธิมรรค เสร็จแล้ว ท่านก็ศึกษาอรรถกถาพระไตรปิฎก
เมื่อเริ่มทำอรรถกถาพระสูตร เมื่อถึง มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์และเข้าสู่พระสูตรชื่อว่า "สัพพาสวสังวรสูตร" ท่านพุทธโฆษะ ก็ถึงกับอุทานว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าสอนการเจริญวิปัสสนากรรมฐานโดยใช้วิธีโยนิโสมนสิการล้วนๆ ทีเดียว
พระบรมครูทรงสอนให้เจริญวิปัสสนากรรมฐานด้วยการโยนิโสมนสิการในอริยสัจสี่ และในวิมุตติมรรคของท่านพระอรหันต์อุปติสสะก็สอนวิธีเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ตามแนวของพระสูตรนี้
ดังนั้น ผู้เรียบเรียงจึงเลือกแปลเฉพาะภาคปัญญานี้เท่านั้น
บทที่ ๑๐ ที่แปลมานี้ ว่าด้วยเรื่องปัญญา เป็นบทที่ทำหน้าที่คล้ายกับบทนำของวิปัสสนากรมฐาน โดยจะกล่าวถึงความหมายของปัญญาแบบต่างๆ โดยมุ่งเน้นหนักไปทางกุศลปัญญา โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน การอธิบายและจำแนกปัญญาของบทนี้
นอกจากจะให้ทราบความหมายของศัพท์ที่ใช้ในพุทธศาสนาแล้ว ก็ยังช่วยบอกถึงความสัมพันธ์และขั้นตอนต่างๆ ของปัญญาในการภาวนาไว้ด้วย
บทที่ ๑๑ พูดถึงความรู้สำคัญอันเป็นพื้นฐานของปัญญา (ภาวนาปัญญา) โดยกล่าวรายละเอียดถึงธรรม ๕ เรื่อง เรื่องเหล่านี้ ทางอภิธรรมรุ่นหลังนิยมเรียกว่า "ปัญญาภูมิบ้าง เรียกว่าวิปัสสนาภูมิบ้าง" ซึ่งหมายถึงพื่นฐานของวิปัสสนา หรือพื้นฐานของปัญญา
บทนี้อธิบายถึงเรื่อง ขันธ์ อายตนะ ธาตุ ปฏิจจสมุปบาท และอริยสัจสี่ เรื่องเหล่านี้ผู้ที่จะเจริญวิปัสสนากรรมฐานจะต้องมีความรู้อย่างถ่องแท้ก่อน จึงจะเจริญวิปัสสนากรรมฐานให้ได้ผลสำเร็จ
บทที่ ๑๒ ว่าด้วยเรื่องการเจริญกรรมฐานในสัจจะสี่ คือการปฏิบัติเพื่อการบรรลุสัจธรรม อันได้แก่ มรรค ผล นิพพาน
บทนี้ท่านเริ่มต้นด้วย การทบทวนความรู้จากบทที่ ๑๑ จนจบอริยสัจสี่ แล้วจึงเริ่มกระบวนการของการเจริญกรรมฐาน โดยเริ่มต้นที่การพิจารณาทุกขสัจ อันได้แก่อุปาทานขันธ์ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ จนสามารถแยกออกได้ว่าเหล่านี้ทั้งหมดเป็นแต่เพียงนามรูปเท่านั้น หามีตัวตนเราเขาที่ไหนไม่
ต่อมาพิจารณาสมุทัยสัจ ให้เห็นถึงเหตุปัจจัยของนามรูปเหล่านั้น จนกระทั่งรู้ว่า นามรูปเหล่านั้น คือทุกข์เหล่านั้น จะหมดไปได้ ก็เมื่อดับเหตุปัจจัยเหล่านั้นได้
ต่อมา ท่านก็สอนให้พิจารณาให้เห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของนามรูปเหล่านั้น
จากนั้นก็เข้าสู่อุทยัพยญาณอันเป็นจุดเริ่มต้นของวิปัสสนาญาณเรื่อยไปจนถึง อรหัต
จากนั้นท่านก็แจงแจกเรื่องกิเลส และอกุศลต่างๆ ที่ละได้ ท่านอธิบายถึงการเข้าผลสมาบัติและนิโรธสมาบัติไว้เป็นลำดับสุดท้าย
การดำเนินตามวิปัสสนาวิถี
หนังสือนี้แนะนำการใช้สมาธิควบคู่กันไปด้วย จะเห็นได้ในตอนว่าด้วยภังคญาณ
บทที่ ๑๒ ข้อ ๓๒ ท่านให้น้อมจิตเข้าสมาธิ จะทำให้เห็นการแตกดับของจิตได้โดยง่าย
ในสังขารุเปกขาญาณก็ทำนองเดียวกัน ก็ต้องใช้สมาธิสลับกับวิปัสสนา จนเมื่อพลังสมาธิกล้าแข็งเข้าคู่กับวิปัสสนาได้เมื่อใด จิตก็จะแล่นเข้าสู่อนุโลมญาณ โคตรภูญาณและมรรคญาณเมื่อนั้น
ดังนั้น ในหนังสือเล่มนี้ ท่านจึงแนะนำให้ฝึกปฏิบัติในอิทธิบาทสี่ เพื่อให้ได้ฌานที่มีพลัง (บทที่ ๑๒ ข้อ ๒) ซึ่งวิธีการเจริญอิทธิบาทสี่ก็ได้นำมาเป็นภาคผนวกของหนังสือนี้ด้วยแล้ว การแปลหนังสือนี้
ผู้เรียบเรียงพยายามรักษาเนื้อหาของต้นฉบับให้คงสภาพเดิมมากที่สุดที่จะทำ ได้ ยกเว้นเห็นว่าในต้นฉบับคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับพระไตรปิำฎกก็แก้ไขให้ตรงกับพระไตรปิฎก
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เรียบเรียงมุ่งหวังที่จะให้หนังสือนี้สามารถใช้เป็นคู่มือในการปฏิบัติ ได้อย่างแท้จริง
การแปลจึงพยายามที่จะใช้ภาษาที่ผู้อ่านจะเข้าใจได้ง่าย และนอกจากนี้ผู้เรียบเรียงยังได้เพิ่มคำอธิบายในตอนที่เข้าใจยากเอาไว้ด้วย โดยค้นหาคำอธบายเหล่านั้น จากพระไตรปิฎก อรรถกถาและแม้แต่จากวิสุทธิมรรค ของท่านพุทธโฆษะ อภิธัมมัตถสังคหะของท่านพระอนุรุท ก็นำมาใช้เพื่อประกอบคำอธิบายด้วย
การใส่คำอธิบายใช้สามวิธีด้วยกัน คือ
๑. ถ้าเป็นคำอธิบายสั้นๆ เช่นเพียงบอกความหมาย ก็จะใส่ไว้ในวงเล็บหลังคำที่อธิบายนั้น
๒. ถ้าคำอธิบายมีขนาดยาว ก็จะอธิบายไว้ในรูปเชิงอรรถข้างล่างของหน้านั้นๆ โดยวงเล็บหมายเลขเชิงอรรถต่อท้ายคำหรือประโยคนั้นๆ
๓.ถ้าคำอธิบายมีขนาดยาวมาก เช่นคำอธิบายเรื่องอกุศล กุศล ก็จะอธิบายแบบข้อสองและขอให้ไปดูเพิ่มเติมอีกในเชิงอรรถท้ายเล่ม
ที่ทำเช่นนี้ เพราะต้องการให้เนื้อหาแท้ๆ ของหนังสือสั้นกระทัดรัดตามแบบของต้นฉบับเดิม จะได้คงรักษาแรงกระตุ้นให้ผู้อ่านเร่งปฏิบัติตามของหนังสือเดิมเอาไ้ว้
ผู้แปลและเรียบเรียง ขอกราบขอบพระคุณพระศรีปริยัติโมลี (สมชัย กุสลจิตฺโต) ที่ได้กรุณาเขียนคำนิยมให้และเชื่อว่า หนังสือวิมุตติมรรคเล่มนี้จะทำให้ท่านผู้อ่านเข้าใจความหมายและวิธีการ ปฏิบัติตามแนวทางที่ถูกต้องตามพระพุทธประสงค์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า
อ้างอิง
วิมุตติมรรค ทางแห่งความหลุดพ้น(ภาคปัญญา) โดย พระอรหันต์ อุปติสสะ
แปลเป็นภาษาจีนโดย พระติปิฎก สังฆปาล แห่งยูนาน
แปลจากภาษาจีนเป็นภาษาอังกฤษ โดย พระคุณท่านเอม อีฮารา, โสมะ เถระ, เขมินทะ เถระ
แปล เรียบเรียง พร้อมด้วยคำอธิบาย โดย พันตรีนายแพทย์ชาญ สุวรรณวิภัช
http://board.palungjit.com/f45/๑-วิมุตติมรรค-ทางแห่งความหลุดพ้น-ภาคปัญญา-207471.html
ขอบคุณภาพจาก
http://www.kledthaishopping.com/,http://bp2.blogger.com/,http://www.kanlayanatam.com/,http://www.phuttha.com/,http://www.dhamaforlife.com/}http://2.bp.blogspot.com/