« เมื่อ: มีนาคม 09, 2012, 12:15:52 pm »
0
มารู้จักต้นโพธิ์กันเถอะครับ
เรื่องราวของต้นพระศรีมหาโพธิ์ น่าติดตามและน่าตื่นเต้น ชื่นชมในความเคารพศรัทธาอย่างสูง ของพุทธศาสนิกชนตั้งแต่ชั้นพระมหากษัตริย์ลงมาถึงราษฎร วันนี้ผมจึงใคร่ขอนำเรื่องราวเกี่ยวกันต้นโพธิ์ต่างๆ มาเล่าสู่กันฟังครับ...
ผมเพิ่งไปสังเวชนียสถานมาครับ จุดแรกที่เดินทางไปถึงคือพุทธคยา ได้มีโอกาสไปกราบที่พระแท่นวัชระอาสน์ ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์ได้สวดมนต์และนั่งสมาธิโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือได้มี โอกาสนั่งนิ่งๆ เงียบๆ อยู่กับตัวของตัวเองค่อนข้างนาน ได้สัมผัสความนิ่งและสงบที่ไม่ได้พบเจอมานานแล้วด้วยครับ
ในระหว่างนั้นก็เห็นคนหลายต่อหลายคน พยายามสอดส่องมองหาใบพระศรีมหาโพธิ์ ที่ร่วงหล่นเพื่อนำกลับไปบูชา เวลาที่ลมพัดเกรียวผ่านมา จะเห็นบางคนก็กางผ้าคลุมไหล่ออกรองรับ ที่เป็นนักบวชต่างๆ ก็เอาจีวรบ้าง เสื้อผ้าบ้างคลี่ออกให้กว้างเพื่อรองรับไม่ให้ใบโพธิ์ร่วงลงพื้นดิน นั่งมองไปเรื่อยๆ ก็เพลินตาจนหลุดออกจากสมาธิ เพราะสิ่งเร้าเหล่านี้ ผมเลยถือโอกาสเดินเล่นไปรอบๆ เจดีย์พุทธคยา มีป้ายบอกว่าสิ่งสำคัญที่สุดในบริเวณนี้มี 3 สิ่งด้วยกัน คือ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พระแท่นวัชรอาสน์ และพระมหาเจดีย์พุทธคยา
โดยเฉพาะเรื่องราวของต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้นน่าติดตาม และน่าตื่นเต้นชื่นชมในความเคารพศรัทธาอย่างสูงของพุทธศาสนิกชน นับตั้งแต่ชั้นพระมหากษัตริย์ลงมาถึงราษฎร รวมทั้งยังมีความเกี่ยวพันกับเรื่องราวต่างๆ ทางฝ่ายไทยของเราอีกมากมาย วันนี้ผมจึงใคร่ขอนำเรื่องราวเกี่ยวกันต้นโพธิ์ต่างๆ มาเล่าสู่กันฟังครับ 
อันต้นไม้ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราตรัสรู้นั้น แท้จริงมีนามเรียกขานกันในประเทศอินเดียว่า "อัศวัตถ์" หรือ "อัสสัตถ์" หรือ "ปิปปละ"
ส่วนที่มาเรียกว่า "ต้นโพธิ์" หรือ "ต้นพระศรีมหาโพธิ์" นั้น มาจากต้นไม้ชนิดใดก็ได้ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย นับตั้งแต่อดีตพุทธเจ้า ปัจจุบันพุทธเจ้า รวมทั้งที่ยังไม่จุติลงมา คืออนาคตพุทธเจ้าได้ใช้ประทับใต้ร่มเงาของไม้นั้น และได้ตรัสรู้ ก็จะเรียกว่า "โพธิรุกขะ" หรือ "โพธิ์" ทั้งสิ้น
เช่น พระอดีตพุทธเจ้ากกุสันโธ ประทับตรัสรู้ใต้โพธิรุกขะอันมีนามว่า ต้นมหาสิริสะ หรือ ต้นสาละใหญ่
พระอดีตพุทธเจ้าโกนาคมมีโพธิรุกขะ คือ ไม้อุทุมพร หรือ ต้นมะเดื่อ
ส่วนโพธิรุกขะพระอดีตพุทธเจ้ามหากัสสป คือ ไม้นิโครธ หรือ ต้นไทร หรือ กร่าง
และพระปัจจุบันพุทธเจ้ามหาสมณโคดมได้ประทับใต้ร่มเงาของโพธิรุกขะ คือ ต้นอัศวัตถ์ หรือ อัสสตถถะ หรือ ที่พวกเรานิยมเรียกว่าต้นโพธิ์
ส่วนพระอนาคตพุทธเจ้าที่ยังมาไม่ถึงนั้น คือ ไม้นาคะ หรือ ต้นกากทิง
ดังนั้น การที่เราเรียกนามต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าของเราตรัสรู้ว่า ต้นโพธิ์นั้น ก็มาจากคำว่า "โพธิรุกขะ" นั่นเอง หาได้เป็นนามดั้งเดิมของต้นไม้นั้นไม่
ส่วนต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ พุทธคยานี้ มีความเป็นมาที่ยาวนาน และเปี่ยมไปด้วยพลังศรัทธาอย่างยิ่ง หากปราศจากซึ่งสิ่งนี้แล้ว เราชาวพุทธในปัจจุบันคงจะไม่มีต้นพระศรีมหาโพธิ์มาให้ได้สักการะและยึด เหนี่ยวแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ เพราะต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นแรกที่ตรัสรู้นั้น ได้มีกำเนิดขึ้นมาในวันและเวลาเดียวกับที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ ถือเป็น 1 ใน 7 สิ่งที่กำเนิดมาพร้อมๆ กับพระพุทธองค์ เรียกว่า "สหชาติ"
อันประกอบด้วย พระนางยโสธรา หรือ พระนางพิมพา-มเหสีของพระพุทธองค์ พระอานนท์-ผู้เปรียบเสมือนเลขาฯ ส่วนพระองค์ อำมาตย์กาฬุทายี นายฉันนะ-ผู้ดูแลม้า ม้ากัณฐกะ-ม้าส่วนพระองค์ที่นำเสด็จไปสู่การออกทรงผนวช ขุมทรัพย์ทั้ง 4 และต้นพระศรีมหาโพธิ์-กำเนิดมาเพื่อรอรับการเสด็จมาประทับใต้ร่มเงา และตรัสรู้ ถือว่าเพื่อเป็นโพธิรุกขะประจำพระองค์
ต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้นงอกงามมาจนถึงรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์เสด็จมาบูชาอยู่เสมอๆ เนื่องจากอยู่ไม่ห่างจากนครปาฏลีบุตรของพระองค์มากนัก จนพระมเหสีองค์หนึ่งของพระองค์เกิดความอิจฉา ที่เห็นพระองค์เสด็จไปหามากยิ่งกว่าตนเอง จึงให้บ่าวไพร่เอาเงี่ยงปลากระเบนที่มีพิษร้ายแรง ไปทิ่มแทงที่ลำต้นของพระศรีมหาโพธิ์นั้น
บางตำนานก็ว่าพระนางให้คนไปตัดทำลาย แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชทอดพระเนตรเห็นต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นอันตราย ก็ทรงเป็นลมล้มลงทันที เมื่อฟื้นขึ้นก็โปรดให้ก่อกำแพงล้อมรอบโคนรากของต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้นไว้ทันที แล้วนำน้ำนมมารดราดจนหน่อใหม่งอก แต่เพียง 4 เดือนหลังจากที่ต้นพระศรีมหาโพธิ์ถูกทำลาย พระองค์ก็เสด็จสวรรคตด้วยความตรอมพระทัย
หลังจากที่หน่อพระศรีมหาโพธิ์ใหม่ ซึ่งถือเป็นรุ่นที่สองงอกงามขึ้นมาแล้ว ก็ได้เจริญเติบโตต่อมาจนถึงราว พ.ศ. 1100 พระเจ้าศศางกา กษัตริย์ฮินดู จากแคว้นเบงกอลได้ยกทัพเข้ามาทำลายพระพุทธศาสนา ณ ที่แห่งนี้ พระองค์โปรดให้ทำลายให้สิ้นซาก ทั้งตัดฟันจนเหี้ยน แล้วจึงให้ขุดรากเอาไฟลงสุมเผา และเอาน้ำอ้อยราดให้สลาย เพื่อไม่ให้มีพันธุ์เหลือ แต่เดชะบุญที่ปลายรากแก้วยังคงติดค้างอยู่ใต้ดินลึก จึงแตกหน่องอกงามขึ้นมาใหม่
หน่อพระศรีมหาโพธิ์นี้ถือเป็นรุ่นที่ สาม เมื่อเจริญสูงได้ราว 10 ฟุต พระเจ้าปูรณวรมันกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์พระเจ้าอโศกมหาราช ได้สร้างกำแพงหินล้อมรอบ และปฏิบัติดูแลอย่างดีจนหมดอายุไปตามกาล ครั้น พ.ศ. 2423 ท่านเซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลอังกฤษ ที่ปกครองอินเดียอยู่ขณะนั้น ให้จัดการดูแลต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่หมดอายุลง และชาวบ้านได้มาตัดทอนกิ่งไปทำฟืน
ท่านเซอร์ อเล็กซานเดอร์ ได้พบหน่ออ่อนของต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่สิ้นอายุขัยไปจำนวน 2 หน่อ สูงประมาณ 6 นิ้ว กับ 4 นิ้ว จึงได้นำหน่อที่สูงกว่าลงปลูกแทนที่เดิม คือด้านทิศตะวันตกขององค์พระเจดีย์พุทธคยา เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้ตามที่เคยปฏิบัติมา
ส่วนต้นที่เตี้ยกว่านั้น นำไปปลูกห่างจากต้นเดิมราว 250 ฟุต เพื่อให้ชาวฮินดูได้ไปสักการะ เพราะตามคติฮินดูเองก็ถือว่าต้นโพธิ์เป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นถึงอวตารของพระนารายณ์จากสวรรค์เลยทีเดียว ต้นโพธิ์ที่ท่านเซอร์ได้ปลูกไว้ครั้งนั้น เจริญเติบโตงอกงามสืบมาจนปัจจุบัน อย่างที่ท่านที่เคยไปพุทธคยาได้ไปกราบกันมานั่นแหละครับ
สำหรับ เรื่องการปลูกต้นโพธิ์ที่ได้เมล็ดหรือหน่อมาจากอินเดียและลังกาในสยามประเทศนั้น มีปรากฏหลักฐานมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาแล้ว ครั้งที่สำคัญควรยกมาเล่าไว้ที่นี้คือ ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ. 2275-2301) ก่อนเสียกรุงครั้งที่ 2 เพียง 9 ปี ได้นำหน่อพระศรีมหาโพธิ์มาจากลังกาและปลูกไว้ ณ วัดระฆัง ในเกาะเมืองอยุธยา แล้วทรงโปรดให้เปลี่ยนนามของวัดรนี้ใหม่เป็นวัดวรโพธิ์
ส่วนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โปรดให้คณะสมณทูตที่พระองค์ทรงส่งไปลังกานำหน่อพระศรีมหาโพธิ์กลับมาด้วย ครั้งนั้นนำมา 6 หน่อ ปลูกลงที่เมืองกลันตันทางผ่านขากลับอยุธยา 1 ต้น ปลูกที่นครศรีธรรมราชอันเป็นเมืองหลักทางใต้ในครั้งนั้นอีก 2 ต้น คือที่วัดเดิมกับวัดท่าโพธิ์ นำกลับมาถึงพระนครปลูกที่วัดมหาธาตุ 1 ต้น วัดสระเกศ 1 ต้น ส่วนอีกต้นนั้นสืบไม่ได้
ต่อมาในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อขึ้นครองสิริราชสมบัติแล้วได้ทรงรับถวายใบโพธิ์จากพุทธคยา อินเดีย ทรงมีพระราชศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง แม้จะเป็นเพียงใบโพธิ์เท่านั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุใบโพธิ์นั้นไว้ในพระปรางค์สำริดและสร้างซุ้ม ทรงปรางค์ครอบไว้ พระราชทานนามว่า พระโพธิธาตุบัลลังก์ ปัจจุบันอยู่ด้านหลังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ระหว่างหอราชกรมานุสรณ์และหอพงศานุสรณ์ หากมีเวลาก็เชิญไปกราบได้นะครับ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2408 ตกราวๆ ปลายรัชกาลที่ 4 เช่นกัน ทรงได้รับถวายเมล็ดพันธุ์ของพระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยา อินเดียเป็นจำนวนมากพอสมควร จาก ดร.ยอน สไกว (Dr.John Squiire) ชาวอังกฤษ ได้ทรงเพาะเองด้วยพระหัตถ์ และพระราชทานออกไปปลูกตามพระอารามหลวงต่างๆ ที่ยังสืบไม่ได้แน่นอน แต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานไว้ว่าน่าจะเป็นที่วัดมหาธาตุ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ วัดพระปฐมเจดีย์ นครปฐม วัดละ 1 ต้น
ในครั้งนั้นได้ทรงพระกรุณาฯ แบ่งเมล็ดโพธิ์นั้นพระราชทานให้เฉพาะพระราชโอรสทุกพระองค์ได้ทรงเพาะโดยเสด็จด้วย โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ขณะที่ยังทรงพระเยาว์ก็ได้ทรงเพาะโดยเสด็จด้วยพระองค์เองด้วย และพระราชทานไปปลูกยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนและวัดอนงคาราม เป็นรุ่นแรก โดยเฉพาะต้นที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ปลูกอยู่ข้างๆ หอพระมนต์เฑียรธรรมนั้น ในช่วงการพระราชพิธีตรุษสงกรานต์ จะได้พระราชทานน้ำสรงที่โคนต้นโพธิ์นี้ด้วยเป็นพิเศษ
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเพาะเมล็ดโพธิ์อีก และได้พระราชทานกระจายไปปลูกยังอีกหลายวัด คือ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพฯ วัดนิเวศธรรมประวัติ อยุธยา วัดอุภัยราชบำรุง วัดละ 1 ต้น และพระราชทานให้เจ้าพระยายมราช (เฉย ยมาภัย) นำไปปลูกถวายไว้ที่วัดมณีชลขันธ์ ลพบุรี 1 ต้น
ครั้นปี พ.ศ. 2443 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเมื่อคราวเสด็จอินเดียได้ ทรงรับถวายหน่อพระศรีมหาโพธิ์จากเจ้าเมืองคยาจำนวน 3 หน่อ ได้นำขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ด้วย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำไปปลูก ณ วัดเบญจมบพิตร 1 ต้น วัดอัษฎางคนิมิตร เกาะสีชัง 1 ต้น ส่วนอีกต้นนั้นยังสืบไม่ได้
ในรัชกาลปัจจุบันนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ของเราก็ได้ทรงปลูกต้นโพธิ์ ไว้หลายที่หลายครั้ง เช่น วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 ทรงปลูกที่หน้าพระอุโบสถวัดรังษีสุทธาวาส ด้านหน้าตึกมนุสนาค วัดบวรนิเวศวิหาร ในวโรกาสที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงยกฉัตรถวายพระประธานในพระอุโบสถ และอีกครั้งเมื่อ 12 กรกฎาคม 2525 ทรงปลูกต้นกล้าหรือหน่อพระศรีมหาโพธิ์จากต้นเดิมที่รัชกาลที่ 4 ทรงปลูกไว้ และมาถึงรัชกาลปัจจุบันได้เกิดโรคทรุดโทรมลงจนต้องตัดทิ้ง ณ โพธิ์ฆระ บริเวณด้านหลังวิหารพระศาสดา วัดบวรนิเวศวิหาร ในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงถวายพุ่มเทียนพรรษา
เนื่องจากต้น พระศรีมหาโพธิ์เป็นสัญญลักษณ์แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้ตรัสรู้ใต้ร่มไม้แห่งนี้เมื่อกว่า 2,500 ปีมาแล้ว การได้ไหว้กราบแต่ละครั้งจึงเสมือนหนึ่งว่าได้กราบลงเฉพาะเบื้องหน้าแห่ง องค์พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแท้จริง จึงกล่าวได้ว่าต้นโพธิ์นั้น เป็นต้นไม้อันเป็นมงคลที่สำคัญอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนาเลยทีเดียวครับ.
เรื่องโดย เผ่าทอง ทองเจือขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://www.thairath.co.th/content/edu/243858http://www.promma.ac.th/,http://travel.siamxpress.com/http://www.oknation.net/